ตำนานเมืองขีดขิน-เมืองโบราณใกล้ศูนย์พุทธศรัทธา

ตำนานเมืองขีดขิน
ตั้งแต่สมัยพระเจ้ารามราช พระเจ้าพรหมมหาราช
ตามพงศาวดาร

ในศุภวาระที่ศูนย์พุทธศรัทธาได้ก่อตั้งมาครบ ๒๕ ปี ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ นี้ ขอนำประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์พุทธศรัทธา ซึ่งตามพงศาวดารได้มีความเกี่ยวเนื่องกับ พระเจ้ารามราช-พระนางเจ้าจามเทวี และพระเจ้าพรหมมหาราช บูรพมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ต่อชนชาติไทย

ตำนานเมืองขีดขิน (รามปุระนคร-เสนาราชนคร-เมืองปรันตปะ)
โดยย่อตามพงศาวดารเหนือ

      เมืองขีดขิน หรือ รามปุระนคร หรือเสนาราชนคร ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางแห่งมหาอำนาจ มีอาณาเขตการปกครองกว้างใหญ่ไพศาล มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่า ๑,๔๒๗ ปีมาแล้ว มีกษัตริย์ที่ปกครองดินแดนแห่งนี้หลายพระองค์ รวมทั้งพระเจ้ารามราชและพระนางเจ้าจามเทวี ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปกครองรามปุระนคร(หรือเสนาราชนคร)

เจ้าชายรามราช ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงจามเทวี และในปีพุทธศักราช ๑๑๙๘ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครองรามปุรนคร (ปัจจุบันคือเมืองขีดขินเมืองเก่าแห่งบ้านคูเมือง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี) อาณาประชาราษฏร์ต่างจุดประทีปโคมไฟเฉลิมฉลองทั่งทั้งพระนครอย่างสมพระเกียรติและยิ่งใหญ่ ทั้งสองพระองค์ทรงปกครองรามปุรนครด้วยทศพิธราชธรรม บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ ไพร่ฟ้าประชาราษฏร์อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยพระเมตตาบารมีเสมอมา


พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี


พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช มหาราชพระองค์แรกของชาติไทย

กาลเวลาสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าพรหมมหาราช ตามพงศาวดารเหนือ (ฉบับพระวิเชียรปรีชา(น้อย) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าไกรสรราช” พระราชโอรสของพระเจ้าศรีธรรมปิฏกหรือ พระเจ้าพรหมมหาราชแห่งนครโยนกเชียงแสน พระราชบิดาส่งพระองค์ลงมา ครองเมืองละโว้ ภายหลังปี พ.ศ. ๑๕๐๐ อันเป็นเมืองลูกหลวงทางใต้ในสมัยนั้น พระองค์เสกสมรสกับพระนางสุลเทวี ราชธิดาแห่งกรุงศรีสัชนาลัย ทรงมีพระโอรส ๑ องค์ พระนามว่า “พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช” ซึ่งในเวลาต่อมาถูกส่งไปครองเมืองเสนาราชนครปี พ.ศ.๑๗๕๕

ตามหลักฐานกล่าวว่าเมืองเสนาราชนครตั้งอยู่ห่างจากเมืองละโว้ ๑๐๐ เส้น จากการตรวจสอบของคณะโบราณคดีของกรมศิลปากร ได้สัญจรมาสำรวจเส้นทางเสด็จนมัสการพระพุทธบาทและถนนฝรั่งส่องกล้อง ได้ไปชมเมืองโบราณแห่งนี้ และสัญนิษฐานว่า เมืองโบราณแห่งนี้เป็นเมืองเสนาราชนคร ตามพงศาวดารเหนือจริง เพราะเมืองโบราณแห่งนี้ ก็อยู่ห่างจากเมืองละโว้ ๑๐๐ เส้น เมืองโบราณดังกล่าว ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านหมอ ไปทางเหนือประมาณ ๖๐๐ เมตร และห่างจากศูนย์พุทธศรัทธาประมาณ ๓๐๐ เมตร บริเวณนี้ยังปรากฏเป็นคูเมือง กำแพงเมืองวัดโดยรอบประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร สภาพคูเมืองฝังลึกมาก หลักฐานการก่ออิฐสอปูนยังปรากฏอยู่บ้าง


ศาลหลักเมือง ของเมืองขีดขินในปัจจุบัน


ทรากนครขีดขินโบราณ

เคยมีคนขุดค้นพบวัตถุโบราณหลายชิ้น เช่นรูปนายทวารบาล รูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งทำด้วยศิลาเป็นต้น ปัจจุบันวัตถุโบราณดังกล่าวได้นำไปประดิษฐานไว้ในวิหารเล็ก หลังมณฑปพระพุทธบาท

พระเจ้าไกรสรราช ได้ครองเมืองละโว้ ประมาณปี พ.ศ. ๑๗๔๙ และได้สวรรคตในปี พ.ศ. ๑๗๖๒ รวมสิริเสวยราช ๑๓ ปี อย่างไรก็ดีเมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช แห่งเมืองเสนาราชนคร หาได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองละโว้แทนไม่ ทั้งนี้เพราะพระองค์ต้องรับภาระปกครองดูแลเมืองอโยธยา ซึ่งเป็นมรดกทางฝ่ายมเหสีอีกโสดหนึ่งด้วย

อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช ยังทรงเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า “พระเจ้าสายน้ำผึ้ง” อันพระราชเทวีมเหสีนั้นเล่า ก็ทรงเป็นราชธิดาแห่งพระเจ้าหลวง ผู้ครองเมืองอโยธยา ตามประวัติศาสตร์ปรากฏว่า พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราชมีบุญญาธิการมาก ชื่อเสียงเกียรติคุณเลื่องลือไปไกล ถึงกับพระเจ้ากรุงจีนได้ยกราชธิดาคือ “พระนางสร้อยดอกหมาก” ให้ แต่ยังไม่ทันได้เศกสมรสกัน พระนางก็ด่วนสิ้นพระชนม์เสียก่อน พระองค์จึงสร้างวัดพนัญเชิงขึ้นเป็นที่ถวายพระเพลิงศพ วัดนี้สร้างขึ้นก่อนที่พระเจ้าอู่ทองเสด็จมาสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีถึง ๒๓ ปี


วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา

เมืองเสนาราชนคร ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า เป็นเมืองลูกหลวงของเมืองละโว้ พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช ทรงมีราชโอรส ๑ องค์ พระนามว่า พระเจ้าธรรมมิกราช สมัยนั้นเมืองละโว้กับเมืองเสนาราชสองเมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นแหล่งการค้าและการศึกษาศิลปวิทยาที่มีชื่อเสียง ตามพงศาวดารโยนกยังกล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหง, พ่อขุนเม็งราย, พญาคำเมือง สมัยที่เป็นพระยุพราชฝ่ายเหนือ เคยเสด็จลงมาศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองละโว้

พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราชขึ้นครองเมืองเสนาราชนครเมื่อ พ.ศ. ๑๗๕๔ สวรรคต พ.ศ. ๑๗๙๕ พระโอรสพระนามว่า “พระเจ้าธรรมมิกราช” ได้ขึ้นครองเมืองเสนาราชนครสืบต่อมา

เรื่องราวจากพงศาวดารต่างๆ นี้ ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับสถานที่ตั้งของศูนย์พุทธศรัทธาในปัจจุบัน ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลจากหนังสือ สืบค้นภูมิบ้านภูมิเมือง ของสภาวัฒนธรรม อำเภอบ้านหมอ จ.สระบุรี

เรื่องราวต่อจากนี้เป็น บันทึกจากความทรงจำของ คุณชนะ สิริไพโรจน์ เกี่ยวกับ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) กับพระเจ้ารามราช และวัดรามพงศาวาส

ย้อนหลังไปประมาณ ๒๐ กว่าปี วันหนึ่งผมได้รับโทรศัพท์จากพี่ปรีชา พึ่งแสง ศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อ โทรมาว่าท่านแม่ศรีให้ค้นหาวัดในละแวกท่าลานที่เป็นวัดมอญ จากที่ได้ค้นหาและสอบถามก็ได้ทราบว่า มีอยู่วัดหนึ่งเป็นวัดมอญและยังมีชุมชนชาวมอญอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านย่อมๆ ชื่อ วัดรามพงศาวาส

ผมได้โทรแจ้งให้พี่ปรีชาทราบข้อมูล ก็ได้รับการตอบกลับมาว่าเป็นวัดที่ท่านแม่ศรีให้ค้นหามา ทราบภายหลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า วัดรามพงศาวาสแห่งนี้เป็นวัดที่พระเจ้ารามราชทรงผนวช

และต่อมาได้รับแจ้งจากพี่ปรีชา ว่าหลวงพ่อจะมาเยี่ยมที่วัดราม พวกเราที่ท่าลานก็ดีใจกันมาก และได้ไปติดต่อกับพระอาจารย์อำนวย เจ้าอาวาสวัดรามพงศาวาสแจ้งให้ท่านทราบ ท่านดีใจมากเพราะมีความเคารพศรัทธาในองค์หลวงพ่ออยู่แล้ว (ขออภัยสำหรับข้อมูลเนื่องจากนานมากแล้วจำวันเดือนปีที่หลวงพ่อมาไม่ได้ และภาพที่ถ่ายไว้ก็ค้นหาไม่เจอ)


พระอาจารย์อำนวย เจ้าอาวาสวัดรามพงศาวาส

เมื่อถึงกำหนดวันที่นัดหมาย คณะของหลวงพ่อมีรถตู้และรถเก๋งหลายคัน ได้เดินทางมายังวัดรามพงศาวาส คณะพุทธศรัทธาและสาธุชนที่ทราบข่าว ก็มาต้อนรับหลวงพ่อกันแน่นวัด ศาลาของวัดรามก็อยู่ในสภาพเก่ามาก โดยเฉพาะชานศาลาคนนั่งกันเต็ม ญาติโยมพุทธบริษัทก็ได้เข้ามากราบและทำบุญกับหลวงพ่อกันมากมาย

หลวงพ่อได้คุยกับพระอาจารย์อำนวย และถามถึงต้นสะตือ ท่านบอกว่าสมัยพระเจ้ารามราชมาบวช มีต้นสะตือใหญ่อยู่ริมน้ำ พระอาจารย์อำนวยก็กราบเรียนหลวงพ่อว่า สมัยก่อนเคยมี แต่เนื่องจากตรงที่ตั้งวัดราม ติดกับแม่น้ำป่าสักและเป็นคุ้งน้ำ น้ำก็กัดเซาะตลิ่งนานเข้าๆ ทำให้ต้นสะตือที่อยู่ริมน้ำ ถูกน้ำกัดเซาะ จนต้นสะตือล้มลงและไหลพัดไปกับแม่น้ำ

ตามกำหนดการหลวงพ่อจะฉันเพลที่วัดราม จากนั้นก็จะเดินทางต่อไปแวะที่พระราชวังบางปะอิน ในระหว่างที่กำลังทำบุญถวายปัจจัยกับหลวงพ่อก็เกิดเหตุขึ้น ชานศาลาซึ่งเก่ามากก็เกิดเสียงดังลั่น คล้ายจะพังลง แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจเพราะชานศาลาไม่พัง ถ้าพังลงคงต้องมีคนบาดเจ็บหลายคน เพราะนั่งกันเต็ม ตอนนั้นได้แต่แปลกใจ แต่ไม่ทราบสาเหตุ

จนหลังจากหลวงพ่อกลับไปหลายวันแล้ว ผมได้พบกับลุงประสิทธิ์ ท่านเป็นชาวมอญแต่อยู่กรุงเทพ มาร่วมทำบุญด้วย ท่านเล่าให้ฟังว่า วันที่หลวงพ่อมาที่วัดราม ท่านนั่งติดกับหลวงพ่อ พอมีเสียงไม้ลั่นคล้ายชานศาลาจะพังคลืนลงไป ลุงประสิทธิ์ก็ได้ยินหลวงพ่อพูดมาคำเดียว “หยุด” ชานศาลาที่จะพังก็หยุดจริงๆ ตามวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อ ลุงประสิทธิ์บอกว่าแกเคารพและศรัทธาหลวงพ่อมาก…

วันนั้นหลวงพ่อและคณะศิษย์ได้ออกเดินทางต่อไปยังพระราชวังบางปะอิน คณะพุทธศรัทธาก็ขับรถตามขบวนหลวงพ่อไปด้วย.

เรื่องนี้ถูกเขียนใน มุมมองศูนย์ฯ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

2 ตอบกลับไปที่ ตำนานเมืองขีดขิน-เมืองโบราณใกล้ศูนย์พุทธศรัทธา

  1. หนิง พูดว่า:

    รออ่านตอนต่อไปค่ะ

  2. สุวารี พูดว่า:

    ใช่ค่ะ รอฟังอยู่นะคะ ขอบคุณค่ะ

ความเห็นถูกปิด