โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง
ผู้ถาม :- “มีคนฝากให้มาถามหลวงพ่อว่า พ่อแม่ไม่ค่อยทำบุญ แต่เป็นคนดี คนซื่อ ถ้าบุตรหลานทำบุญให้ แล้วจะใส่ชื่อของท่านด้วย อยากทราบว่า ท่านจะได้หรือไม่ครับ…?”
หลวงพ่อ :- “เขาโมทนาด้วยหรือเปล่า ถ้าลูกไปบอกว่า “พ่อ(หรือแม่) ฉันทำบุญให้แล้ว” ถ้าท่านยินดีด้วย ท่านได้แน่นอน ถ้าบอก “กูไม่รู้โว้ย” ด่าตะเพิด อันนี้ไม่ได้แน่”
ผู้ถาม :- “อย่างเวลาที่เลิกพระกรรมฐานแล้ว ก็มีคนไปถวายสังฆทานกับหลวงพ่อ แต่หนูไม่มีของ ก็ยกมืออนุโมทนาด้วย อย่างนี้จะมีอานิสงส์ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “อานิสงส์ที่จะพึงได้ ก็คือ ปัตตานุโมทนามัย เป็นผลกำไรจากการเจริญพระกรรมฐานไม่ต้องลงทุน ถ้าตั้งใจจริงถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เจ้าของได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราได้ครั้งละ ๙๐ ผ่านไป ๑๐ คน เราได้ ๙๐๐ มากกว่าเจ้าของ เอ้า! เยอะจริงๆ มันทำบารมีให้เต็มเร็ว เร็วมาก
การโมทนา เขาแปลว่า ยินดีด้วย ต้องยินดีด้วยความจริงใจนะ สักแต่ว่าสาธุ มันไม่ได้อะไร คำว่า สาธุ ไม่จำเป็นต้องออกเสียง ไม่จำเป็นต้องยกมือไหว้ก็ได้ เอาใจยินดีใช้ได้เลย
และการแสดงความยินดี มันก็คือ มุทิตา เป็นตัวหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ นี่บุญตัวใหญ่ ที่่พระพุทธเจ้าบอกว่า
จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา
ถ้าก่อนตายจิตเศร้าหมอง ก็ไปอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้นจิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา
ถ้าก่อนตายจิตผ่องใส ก็ไปสู่สุคติ หมายถึง สวรรค์ก็ได้ พรหมก็ได้ นิพพานก็ได้ สุดแล้วแต่กำลังใจของเราและการโมทนานี้ทำให้ชุ่มชื่นใจ ใช่ไหม…เขาทำดีเรายินดีด้วย ยินดีกับความดีของเขา ไม่ช้าเราก็ดีตามเขา เพราะเราเห็นเขาดี เราก็ชอบดีใช่ไหม…แต่อย่าไปชอบดีเฉยๆ นะ ต้องทำดีด้วยนะ ทำบุญด้วยตนเองบ้าง”
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ ปัตตานุโมทนามัย กับ ไวยาวัจจมัย นี่เหมือนกันไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ไวยาวัจจมัย เขาแปลว่า ขวนขวายในกิจการงาน เช่น เขาส่งสตางค์มาทำบุญ เราช่วยส่งต่อ หรือพวกที่ช่วยขนสังฆทาน นี่ก็พลอยได้บุญไปด้วย มีอานิสงส์ต่ำกว่าบวชเณรนิดหนึ่ง ไม่เบานะ
แต่ ปัตตานุโมทนามัย ไม่ต้องลงทุน แต่พวกถือมานี่ ยังต้องออกแรงนะ พวกโมทนานี่ไม่ต้องออกแรงเลย แต่อย่าลืมนะ ว่าเอาแค่โมทนาอย่างเดียวไม่ดีนะ ต้องอาศัยคนต้นตลอด ถ้าไม่ได้อาศัยคนต้นจริงๆ จะสำเร็จมรรคผลไม่ได้ เช่นเดียวกับพระนางพิมพา ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าตลอด”
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๓๕-๓๖ (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)