ผู้ถาม :- “การทอดผ้าป่า บางแห่งเขามีชะนีกับพุ่มไม้ แต่ที่วัดท่าซุงนี่ไม่เห็นมีอะไรเลย อานิสงส์จะสู้มีชะนีได้หรือเปล่าคะ…?”
หลวงพ่อ :- “สู้ไม่ได้หรอก เพราะไม่มีร้อง “ผัวโว้ยๆๆ” คือว่า ผ้าป่านี่นะ เดิมทีเดียวพระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้ถวายสังฆทาน ท่านบอกว่าถวายของไม่เจาะจงรูปหนึ่งรูปใด มีอานิสงส์มากเป็นสังฆทาน
ทีนี้ต่อมาญาติโยมมีน้อย พระมาก แกจะประเคนองค์ใดองค์หนึ่งก็เกรงใจองค์อื่น เลยเอาแบบนี้ก็แล้วกัน เราไม่เจาะจงพระ เอาไปแขวนตามต้นไม้ใกล้กุฏิหรือป่าช้า ถ้าพระองค์ไหนมาพบ ชักเอาไปก็ถือว่าเป็นสังฆทาน เขาถือตามรูปนี้นะ
ต่อมาญาติโยมอยู่ไกลป่า เลยตัดกิ่งไม้มา ชะนีก็ชะนีปลอม คือไม่มีความจำเป็นนะ ถวายผ้าป่าก็คือการถวายสังฆทานนั่นเอง ก็ทำมันตรงไปตรงมา ก็หมดเรื่อง”
ผู้ถาม :- “ที่วัดท่าซุง ชอบใจอยู่อย่างครับ คือไปถึงก็ถวายได้เลย ไม่ต้องไปว่า อิมานิ อิมาแนะ สู้สะดวกนิของหลวงพ่อไม่ได้”
หลวงพ่อ :- “จะไปว่าอะไร เขาตั้งใจมาตั้งแต่บ้านแล้ว ที่นำน่ะหมายถึงหลายๆคนด้วยกัน ต้องว่านำ ดีไม่ดีหัวหน้าว่ามากเกินไป รำคาญ บุญหล่นอีก อันที่จริงพระท่านก็ทราบแล้วว่าเป็นสังฆทาน ผู้รับองค์เดียวไม่มีสิทธิ์ใช้แต่ผู้เดียว”
ผู้ถาม :- “ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งมักจะหาเงินเข้าโรงเรียนโดยการทอดผ้าป่า ผ้าไตรจีวร เสร็จแล้วก็แบ่งถวายพระเล็กน้อย ส่วนใหญ่ก็เข้าโรงเรียน ลูกมีความไม่สบายใจ เกรงว่าบุญอันนี้จะไม่สมบูรณ์แบบ เกรงว่าจะเป็นของสงฆ์ไปด้วย ลักษณะอย่างนี้ อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า ได้บุญมากกว่าหรือบาปมากกว่าเจ้าคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ความจริงถ้าบอกเขาตรงๆว่าจะไปช่วยโรงเรียนนะ แล้วก็บอกว่าส่วนหนึ่งก็จะถวายพระ ถ้าทำตามนั้นอานิสงส์สมบูรณ์แบบ พูดตรงไปตรงมานะ โกงไปโกงมาไม่ได้ หมายความว่าส่วนใดถวายพระ นั่นเป็นสังฆทานแท้ ส่วนใดที่ให้โรงเรียน ก็เป็นทานบารมีไป เป็นทานส่วนบุคคลนะ อานิสงส์ต่ำหน่อย”
ผู้ถาม :- “เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ กระผมเป็นหัวหน้าจัดทอดผ้าป่าหลายครั้ง ได้เงินเป็นจำนวนมาก แต่เวลาเดินทางไปผมก็ซื้อขนมเลี้ยงกันในรถ เลี้ยงเหล้าเลี้ยงอาหารกันก็หลายครั้ง ตอนนี้ผมหูตาสว่างเมื่อได้พบหลวงพ่อ จึงอยากจะชดใช้เวรกรรมที่กระทำไว้ จึงขอปรึกษาหลวงพ่อว่า เราควรจะเพิ่มดอกเบี้ยเท่าใด พระยายมจึงจะอโหสิครับ…?”
หลวงพ่อ :- “เอ…เดี๋ยวๆ ขอคิดค่าติดต่อ ได้ตังค์แล้วตอนนี้ (หัวเราะ) มิน่าเล่าตอนนั่งสมาธิท่านลุง (พระยายม) ถึงได้ขึ้นมา ถาม “มีเรื่องอะไรลุง” บอก “วันนี้มีธุระ” อันนี้จริงๆ นะ”
ผู้ถาม :- “แสดงว่าท่านรู้ล่วงหน้าหรือครับ..?”
หลวงพ่อ :- “ใช่ ท่านรู้ว่าฉันจะได้สตางค์ เอายังงี้ก็แล้วกันนะ ประเดี๋ยวก่อน คนที่ไปกินด้วยกันคือพวกเดียวกันหรือเปล่า พวกออกสตางค์หรือเปล่า ต้องดูก่อนนะ ถ้าเงินที่อื่น คนอื่นด้วย ก็ควรชำระหนี้สงฆ์ไป
ถ้าหากว่าคนที่ไปเป็นคณะ เราเรี่ยไรเฉพาะคณะนั้นนะ แล้วไปด้วยกัน ซื้อแบ่งกันกิน อันนี้ไม่เป็นไร ต่างคนต่างกิน ลงก็ลงด้วยกัน แต่คนไม่ลง คือว่าเรี่ยไรเฉพาะคนนั้น เขาทราบอยู่ อันนี้ไม่เป็นไร ถ้าเอาเงินจากคนอื่นไปด้วย อันนี้ควรจะชำระหนี้สงฆ์”
ผู้ถาม :- “ต้องเป็นวัดที่เราเคยไปทอดใช่ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “วัดไหนก็ได้ เข้าเขตสงฆ์ก็แล้วกัน ใครทำบ่อย ก็จัดการแก้ไขเสีย”
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ การทอดผ้าป่า กับ การทอดกฐิน อย่างไหนได้อานิสงส์มากน้อยกว่ากันคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ความจริง ผ้าป่า กับ กฐิน เป็นสังฆทานด้วยกันทั้งคู่นะ แต่ถ้าว่าอานิสงส์โดยเฉพาะ กฐินได้มากกว่า เพราะว่ากฐินมีเวลาจำกัด จะทอดตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ แต่อานิสงส์ได้ทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ทอดก็ได้ พระผู้รับก็ได้ พระผู้รับมีอำนาจคุ้มครองพระวินัยได้หลายสิกขาบท ทำให้สบายขึ้น
ต้นเหตุแห่งการทอดกฐินนี้ ก็มีนางวิสาขาเป็นคนแรก ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติการจำพรรษา เพื่อป้องกันพระไปเดินเหยียบต้นพืชต้นข้าว ที่ชาวบ้านเขาปลูกไว้ในฤดูฝนไม่ให้เสียหาย
ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุชาวปาฐา ๓๐ รูป เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ในเวลานั้นพระสงฆ์ทั้งหลายมีผ้าจำกัดเพียง ๓ ผืนเท่านั้น เมื่อมาถึงในขณะที่นางวิสาขาเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่พอดี เห็นพระมีผ้าสบงจีวรเปียกโชกด้วยน้ำฝนและน้ำค้าง จึงได้กราบทูลขอพรแด่พระพุทธเจ้าว่า “หลังจากออกพรรษาแล้ว ขอบรรดาประชาชนทั้งหลาย มีโอกาสถวายผ้าไตรจีวรแก่คณะสงฆ์ด้วยเถิด” พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุมัติ
ส่วน ผ้าป่า ก็เป็นสังฆทาน แต่อานิสงส์จะน้อยไปนิดหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างก็เป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่เป็นสังฆทานเฉพาะกิจ กับสังฆทานไม่เฉพาะกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าป่า ผู้ให้ก็ได้อานิสงส์ ผู้รับก็มีอานิสงส์แต่เพียงแค่ใช้
เป็นอันว่าทั้งสองอย่างนี้ ถือว่าอานิสงส์การทอดกฐินมากกว่าผ้าป่า แต่ว่าการทอดกฐินปีหนึ่งครั้งเดียว ผ้าป่าทอดได้ตั้งหลายครั้ง อานิสงส์ผ้าป่าย่อมได้มากกว่านะ”
ผู้ถาม :- “แล้ว องค์กฐิน ที่แท้จริงเป็นอย่างไรคะ…?”
หลวงพ่อ :- “องค์กฐินจริงๆ คือ ผ้าไตร นอกนั้นเป็นบริวาร เวลากรานกฐินจริงๆ เรากรานกันแต่ผ้า การถวายก็ไม่ยาก เรามีผ้าจีวรผืนหนึ่ง หรือว่าสบงผืนหนึ่ง หรือว่าสังฆาฏิผืนหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เขาเรียกว่า จุลกฐิน หรือจะถวายทั้งไตรก็ได้ เขาเรียกว่า ปกติกฐิน แต่ถ้าถวายไตรจีวรครบทั้งวัด เรียกว่า มหากฐิน
ฉะนั้นจะถวายมากก็ได้ ถวายน้อยก็ได้ อานิสงส์เท่ากัน โดยเฉพาะวัดท่าซุง จัดเป็นกฐินสามัคคี เป็นเจ้าภาพร่วมกันทุกคน ได้อานิสงส์เท่ากันหมด
สำหรับ การทอดกฐิน ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์ คือพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระปทุมุตตระ ท่านเคยเทศน์วาระหนึ่ง สมัยที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เป็นมหาทุคคตะ
คำว่า มหาทุคคตะ นี้จนมาก เป็นทาสของคหบดี ได้ไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าว่า อานิสงส์กฐินนี้มีมาก ท่านจึงกลับไปชวนนาย แต่นายก็มอบหมายทรัพย์สมบัติให้ท่านเป็นผู้จัดการทุกอย่าง ท่านมหาทุคคตะอยากมีส่วนร่วมทานนี้ด้วย แต่ไม่มีอะไร มีแต่เสื้อผ้าเก่าๆ ของตนที่มีติดตัวอยู่เพียงชุดเดียว จึงนำไปแลกที่ร้านในตลาด มีด้าย ๑ กลุ่ม เข็ม ๑ เล่ม เอามาร่วมในการทอดกฐินกับเจ้านาย เพื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล
พระองค์ทรงตรัสว่า คนถวายผ้ากฐินหรือร่วมในการถวายกฐินทานครั้งหนึ่ง จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอรหันต์ก็ได้
แต่ถ้าหากว่ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด อานิสงส์จะให้ผลทานแก่ผู้นั้น เมื่อตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดา แล้วก็จะลงมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปกครองโลก ๕๐๐ ชาติ บุญน้อยลงมา จะเป็นพระมหากษัตริย์ ๕๐๐ ชาติ เป็นมหาเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ เป็นอนุเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ เป็นคหบดี ๕๐๐ ชาติ
แต่คนที่ทอดผ้ากฐิน หรือว่าร่วมในการทอดผ้ากฐินครั้งหนึ่งก็ดี บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันจะหมดก็ปรากฏว่า ท่านเจ้าของทานไปนิพพานก่อน”
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๙-๑๔ (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)