เสียงธรรม-ประวัติวันมาฆบูชา
ประวัติวันมาฆบูชา โดยย่อ
มาฆบูชา ย่อมาจาก มาฆปูรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือเดือน ๓ (ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าในปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เพราะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ
๑.พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
๒.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา ผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
๓.พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็น พระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา ๖
๔.และวันดังกล่าวตรงกับ วันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔
โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนอันเป็น หัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานในวันมาฆบูชา มีใจความสำคัญ คือ
๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส
เอตํ พุทธาน สาสนํฯ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย