ผู้ถาม :- “เรื่องการถวายอาหารพระนะครับหลวงพ่อ เวลาอุบาสิกานำอาหารไปถวายพระ แล้วก็เอาอาหารพวกเนื้อสัตว์ไปถวาย จะบาปไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ถามไม่ละเอียดนี่ อาตมาตอบไม่บาปเลยก็ได้ คือ เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าแล้วและไปซื้อมา เราไปบังคับให้เขาฆ่าเมื่อไรล่ะ ใช่ไหม…?”
ผู้ถาม :- “ถ้าเราไม่กิน เขาก็ไม่ฆ่า”
หลวงพ่อ :- “ถ้าเขาไม่ฆ่าเราก็ไม่ซื้อ เราไม่ซื้อเขาก็ฆ่า เราไม่ซื้อคนอื่นซื้อ เขาก็ฆ่า ถ้าเราสั่งให้เขาฆ่าซิ “วันนี้ไก่ ๓ ตัวนะ” “วันนี้ขอหมูให้ฉัน ๑ ขานะ” “พรุ่งนี้จะแต่งลูกสาว เอาวัว ๓ ตัว หมู ๓ ตัวนะ” อย่างนี้บาป ตั้งแต่เริ่มสั่ง พระยายมบันทึกแล้ว บันทึกตั้งแต่สั่งแล้ว ถ้าตายไปก่อน รับวัวรับหมูนะ ลงเลย”
ผู้ถาม :- “ก็หมายความว่า บาปเฉพาะ คนสั่งฆ่า กับ คนฆ่า…”
หลวงพ่อ :- “คนไหนฆ่าสัตว์คนนั้นก็บาป คนไหนสั่งคนนั้นก็บาป เราซื้อที่เขาฆ่ามาขาย กินเท่าไรเราก็ไม่บาป เพราะไม่เป็นบาป พระพุทธเจ้าจึงไม่ห้าม ที่ไม่ห้ามเพราะว่าเขาฆ่าเป็นปกติอยู่แล้ว
คำว่า บาป นี้แปลว่า ชั่ว บุญ แปลว่า ดี ทำชั่วแปลว่าบาป ทำดีเรียกว่าบุญ ทีนี้ชีวิตเขามีอยู่เราไปฆ่าเขา ชีวิตของเรา เราก็ไม่ต้องการให้คนอื่นเขาฆ่า ถ้าเราไปฆ่าเขาเราก็เป็นคนชั่ว
ฉะนั้นถ้าเขาไปฆ่ามาแล้ว เราไปซื้อกิน อันนี้ไม่ชั่ว เพราะไม่ได้สั่งให้เขาฆ่า แต่ว่าถ้าเอาเนื้อมาแล้วบอก “เฮ้ย พรุ่งนี้เพิ่มหน่อยซีเว้ย” ทีนี้เอาแน่ ต้องว่ากันอย่างนี้นะ”
ผู้ถาม :- “มีคนเขาบอกว่า การฆ่าสัตว์ คนฆ่าไม่บาปเท่าไร แต่คนกินบาป และเขายังบอกอีกว่า ถ้าไม่กินแล้วใครจะฆ่า”
หลวงพ่อ :- “คิดเอาเองมากกว่า คนกินเขาไม่ได้สั่งให้ฆ่า นี่เขาฆ่าขาย ถ้ามีขายเขาก็ซื้อกิน จะไปโทษคนกินเขาไม่ได้หรอก ถ้าคนกินสั่งให้เขาฆ่า อันนี้จึงบาป ไม่งั้นพระพุทธเจ้าคงจะห้ามพระฉันเนึ้อสัตว์ นี่เขาว่ากันเอาเอง ไม่ถูกหลักเกณฑ์อะไรหรอก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราถือเจตนาเป็นตัวกรรม เจตนา แปลว่า ตั้งใจ ถ้าตั้งใจคิดจะฆ่า แล้วลงมือฆ่า อันนี้บาปแน่”
ผู้ถาม :- “ถ้ารับประทาน อาหารมังสวิรัติ จะตัดกิเลส ได้หรือเปล่าคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ถ้าตัดได้จริง พระพุทธเจ้าคงยอมตามที่พระเทวทัตขอพรแล้ว ฉันลองมา ๓ ปี เมื่อบวชใหม่ๆ ฉันไม่กินเนื้อสัตว์ด้วย แล้วฉันหนเดียวด้วย และฉันไม่บอกชาวบ้านด้วย ถ้าบอก ชาวบ้านก็ต้องทำอาหารลำบาก ก็ไปบิณฑบาตธรรมดา แต่เนื้อสัตว์เราไม่กิน บางวันไม่มีอะไรมาให้เลย ก็กินเกลือกับหัวหอม กินผักเป็นอาหาร
ลองมา ๓ ปี ไม่เห็นกิเลสมันลดเลย แต่ว่าถ้าไม่กินได้นี่ดีนะ ฉันสรรเสริญถ้าเป็นฆราวาสนะ เพราะว่าจะได้ไม่กังวลเรื่องเนื้อสัตว์ จิตของเราก็ตัดบาปไปจุดหนึ่ง ใช่ไหม…
ใน ปฐมบัญญัติ ของสิกขาบท สังฆาทิเสส ข้อที่ ๑๐ มีเรื่องเล่าว่า พระเทวทัต เข้าไปหาพระโกกาลิกะ โอ้โฮ…นี่อยู่อเวจีทั้งคู่ ใครไปอเวจี ไปมองๆ ดูนะ พระเทวทัตยืนกางแขนกางขา โกกาลิกะนั่งชันเข่า หอกเสียบสบายๆ แล้วก็พระกฏโมรกติสสกสะ พระที่เป็นบุตรของนางขัณฑเทวี และพระสมุทททัต ชักชวนให้พระสงฆ์แตกกัน
ใครบ้างล่ะ…พระเทวทัต เป็นหัวหน้าโจก โกกาลิกะ รองประธาน พระกฏโมรกติสสกสะ และพระสมุทททัต ชักชวนให้สงฆ์แตกกัน พร้อมทั้งบอกแผนการที่จะเสนอแผนการให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น มี ๕ ข้อ ซึ่งเข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไม่อนุญาต และตนจะนำข้อเสนอขึ้นประกาศแก่มหาชน
ข้อเสนอ ๕ ข้อนั้นคือ อันนี้ฟังให้ดีนะ ข้อนี้ดีมาก เวลานี้คนที่ปฎิบัติผิดมีเยอะ ไปหลงผิดว่าที่เราทำนี่ดีนี่หว่า ข้อเสนอของพระเทวทัต ๕ ข้อ เวลานี้พระสาวกของพระเทวทัตก็มีเยอะเหมือนกัน ถือว่า ๕ ข้อที่พระเทวทัตขออนุญาตนี้ นึกว่าเป็นของดีกันนัก สงสารชาวบ้าน
ข้อเสนอของเทวทัต ๕ ข้อ คือ
๑.ภิกษุพึงอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าละแวกบ้านต้องมีโทษ หมายความว่า พระทุกองค์ที่บวชแล้ว ห้ามเข้าหมู่บ้านโดยเด็ดขาด ต้องอยู่เฉพาะในป่า ห้ามโผล่หน้าเข้ามาในบ้าน
๒.ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต เป็นวัตร หมายถึง ปฎิบัติ ต้องบิณฑบาตตลอดชีวิต ผู้ใดรับนิมนต์ไปฉันตามบ้านต้องมีโทษ นี้เป็นความต้องการของพระเทวทัต รู้แล้วว่าทำไม่ได้ แต่แกล้งขอ
๓.ภิกษุพึงใช้ผ้าบังสุกุล หมายความว่าผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าเศษผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะบ้าง ตามที่ต่างๆ บ้าง ตามที่เขาพันผีไว้บ้าง นำมาซัก นำมาย้อม มาปะติดปะต่อเป็นจีวรจนตลอดชีวิต ผู้ใดรับจีวรที่ชาวบ้านถวาย ต้องมีโทษ
๔.ภิกษุพึงอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ผู้ใดเข้าที่มุงที่บังที่มีหลังคาต้องมีโทษ
๕.ภิกษุไม่พึงฉันเนึ้อสัตว์ ผู้ใดฉันต้องมีโทษ
เห็นไหม…การขอนี่ เขาขอเพื่อเป็นการลบล้างไม่ใช่ทำได้ ภิกษุเหล่านั้นเห็นมีทางชนะร่วมด้วยว่า พระพุทธเจ้าแพ้แหงๆ พระเทวทัตต้องชนะการเสนอญัตติแบบนี้ พระเทวทัตจึงได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลข้อเสนอ ๕ ประการนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อน เทวทัต ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ป่า ก็จงอยู่ป่า
ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ในละแวกบ้าน ก็จงอยู่ในละแวกบ้าน
ผู้ใดปรารถนาจะเที่ยวบิณฑบาต ก็จงเที่ยวบิณฑบาต
ผู้ใดปรารถนาจะใช้ผ้าบังสุกุล ก็จงใช้ผ้าบังสุกุล
ผู้ใดปรารถนาจะใช้ผ้าไตวจีวรจากฆราวาสถวาย ก็จงรับได้
เราอนุญูาตที่นอนที่นั่ง ณ โคนไม้ตลอด ๘ เดือน หมายความว่าที่ไม่ใช่ฤดูฝน เป็นฤดูหนาว หรือฤดูแล้ง ถ้าจะไปยังงั้นก็ได้
เราอนุญาตเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์โดย ๓ ส่วน คือ
๑.ไม่ได้เห็นเขาฆ่า
๒.ไม่ได้ยินเขาฆ่าเพื่อถวายพระ
๓.ไม่ได้รังเกียจคิดว่าเนื้อสัตว์นึ้น่ากลัวเขาฆ่าเพื่อเรา เช่น เขาฆ่าเจาะจงเพื่อจะให้ภิกษุบริโภคพระเทวทัตดีใจที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ยอมรับสมเจตนา จึงได้เที่ยวประกาศให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ยอมอนุญาตข้อเสนอที่ดีของตน ทำให้คนที่มีปัญญาทราม คนไร้ปัญญูาบางคนเห็นว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มักมาก
โอ้โฮ…ดีจริงๆ นะ พระผู้มีพระภาคเจ้ามักมาก แล้วใครจะมักน้อยอีก แต่คนที่เข้าใจเรื่องดี กลับติเตียนพระเทวทัต เอาแล้วซิ…นี่พระไม่ดีทำให้ชาวบ้านแตกกัน ความทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้เรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวนพระเทวทัตเป็นสัตย์แล้ว จึงได้ทรงติเตียนและทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
ห้ามภิกษุพากเพียรเพื่อทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เมื่อภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง ภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศเป็นการสงฆ์ เพื่อเลิกข้อประพฤตินั้นเสีย ถ้าสวดถึง ๓ วาระยังไม่เลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
จำไว้ให้ดีนะ นี่บท ๕ ข้อนี้ ทวนเสียอีกทีนะ
๑.ภิกษุพึงอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าละแวกบ้านต้องมีโทษใครเขาจะทำ
๒.ภิกษุพึงถือบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต ถูกรับนิมนต์ฉันตามบ้านต้องมีโทษ
๓.ภิกษุพึงใช้ผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าเศษผ้าที่เขากองทิ้งไว้ หรือผ้าห่อผีห่อคนตายตลอดชีวิต ถ้ารับผ้าที่เขาถวายต้องมีโทษ
๔.ภิกษุต้องอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ตลอดฤดูน้ำฤดูฝนไม่รู้ ถ้าเข้าบ้านที่มีหลังคาต้องมีโทษ
๕.ภิกษุไม่ฉันเนื้อสัตว์ ผู้ใดฉันมีโทษ
ทั้ง ๕ ข้อนี้พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตนะ เมื่อเห็นคนด้วยเมื่อเจอะพระเขาทำอย่างนี้นะ ละก็ญาติโยม อย่าถือว่าเขาเป็นคนเคร่งครัดนะ ต้องถือว่าเขาเป็นคนละเมิดพระดำรัสสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แล้วกัน…”
ผู้ถาม :- “กระผมเป็นฆราวาสกินอาหารมื้อเดียว ทำอย่างนี้โดยตลอด ไม่ทราบว่าจะมีอานิสงส์เป็นไปข้างหน้าอย่างไรครับ…?”
หลวงพ่อ :- “อานิสงส์ปัจจุบัน คือ
๑.เปลืองอาหารน้อย เพราะกินเวลาเดียว
๒.มีเวลาทำงานมากขึ้น ข้างหน้าต่อไปอานิสงส์ใหญ่ คือตาย…ก็แค่กินเวลาเดียว ยังวัดฐานะอะไรไม่ได้เลย อย่าไปนึกว่ามันดีเด่นกับใครเขานะ กินเวลาเดียว กิน ๒ เวลา กิน ๓ เวลา มีความหมายเสมอกัน สำคัญว่า ใจตัดกิเลสได้หรือเปล่า เขาเอากันตรงนั้น ถ้าถือแค่กินนี่มันเป็น มานะทิฏฐิ เป็นกิเลสหยาบมาก อีกอย่างหนึ่งตายเร็วมาก อย่าไปนึกว่าดีนะ และถ้านั่งคุยว่านี่ฉันกินเวลาเดียว เสร็จเลย โอ้อวด นี่เป็น มานะกิเลส พังเลย”
ผู้ถาม :- “อย่างนี้แทนที่จะไปดี ก็เลยไป…”
หลวงพ่อ :- “ก็ไปดี หมายความว่าก่อนจะไปก็เปลืองน้อย เพราะฉะนั้นอย่าถือเป็นเรื่องสำคัญนะ กินเวลาเดียว ๒ เวลา กินเนื้อสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์ นี่อย่านะ อย่าถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ต้องตอบอย่างหลวงปู่แหวน
เคยมีคนมาเล่าให้ฟัง มีคนหนึ่งแกบอกหลวงปู่แหวนว่า
“เวลานี้ผมถือมังสวิรัติครับ ไม่กินเนื้อสัตว์”หลวงปู่แหวนท่านบอก
“วัวควายกินหญู้าตั้งนาน ไม่เห็นเป็นพระอรหันต์ซักตัว”ตอบนำสมัย ไม่ไช่ทันสมัย ถ้าเรื่องเป็นความจริงตามนั้น แต่การกินไม่มีความหมายในการปฎิบัติ แต่ปฎิบัติจริงๆ มันขึ้นอยู่กับ
๑.เข้าถึง สะเก็ดพระศาสนา แล้วหรือยัง
๒.เข้าถึง เปลือก เข้าถึง กระพี้ เข้าถึง แก่น แล้วหรือยัง
เข้าถึงแก่นนี่ยังใช้ไม่ได้นะ ยังเป็นเหยื่อของอบายภูมิ จะต้องเข้าถึง พระโสดาบัน เป็นอย่างต่ำ เขาวัดกันตรงนี้ อย่าไปวัตกันแค่กิน”
ผู้ถาม :- “คนทำบุญให้ทานที่กินเนื้อสัตว์ กับคนทำบุญให้ทานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ อันไหนจะได้อานิสงส์มากกว่ากันคะ…?”
หลวงพ่อ :- “อานิสงส์แบบไหนล่ะ อานิสงส์ไปนรก หรืออานิสงส์ไปสวรรค์ อานิสงส์มันมี ๒ อย่าง ทำบาปก็มีอานิสงส์จะลงขุมไหนแน่ ถ้าทำบุญก็มีอานิสงส์ อย่างเลวก็ไปสวรรค์ อย่างกลางไปพรหม อย่างดีที่สุดไปนิพพาน
คนที่ไม่ทำบุญเลยแม้ไม่กินเนื้อสัตว์ก็มีสิทธิ์ไปอยู่กับเทวทัตได้ มีไหมคนไม่ทำบุญเลย คนที่ทำบุญไม่กินเนื้อสัตว์ อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์นะ พระที่ฉันเนื้อสัตว์ไปนิพพานนับไม่ถ้วน เขาไม่ได้กินสัตว์เป็น เขาซื้อมากินไม่มีบาป”
ผู้ถาม :- “ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เพราะว่าไปมองเห็นเนื้อสัตว์ แล้วมีเลือดมีคาว เลยกินไม่ได้เจ้าค่ะ”
หลวงพ่อ :- “อย่างนี้ไม่เป็นไร ถ้าเห็นว่าสกปรก เป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา อันนี้เป็นปัจจัยให้บรรลุพระอนาคามีหรือพระอรหันต์
นี่เป็นพื้นฐานใหญู่นะ ถ้าเห็นแบบนั้นเกิด นิพพิทาญาณ แล้วนิพพิทาญาณเป็นปัจจัยให้ได้พระอนาคามี ต่อไปถ้าเว้นจริงเป็น สังขารุเปกขาญูาณ เป็นอรหันต์
คนที่จะเป็นอรหันต์ได้ ถ้าไม่คล่องในบทนี้เป็นไม่ได้ มี กายคตานุสสติ กับ อสุภกรรมฐาน เป็นพื้นฐาน”
พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ไม่เสวยและฉันเนื้อสัตว์เป็นต้น
๑.ต้องไม่ฉันเนื้อสัตว์ ๑๐ ประการ มีเนื้อมนุษย์ เป็นต้น
๒.เนื้อนั้นจะต้องเป็นปวัตตมังสะ คือ ที่เขาขายแกงกินกันตามปกติของเขา โดยพระไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจสงสัยว่าเขาฆ่าเนื้อเจาะจงถวายตน
๓.ก่อนการฉันอาหารเนื้อทุกคราว จะต้องพิจารณาเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ไห้ฉันเนื้อต้องห้ามข้างต้น
จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๙๙-๑๐๘ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
ศูนย์พุทธศรัทธา
- ประวัติศูนย์พุทธศรัทธา
- ดำริในการสร้างศูนย์พุทธศรัทธาของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
- เยี่ยมชมศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๐ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๕ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๓๗ ปี /๒๕๖๕
- สมเด็จองค์ปฐม ปางพุทธลีลาประทานพร
- ตำนานเมืองขีดขิน-เมืองโบราณใกล้ศูนย์พุทธศรัทธา
- พระบูชา/วัตถุมงคล
- การเดินทางไปศูนย์ฯ
มโนมยิทธิ
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
กิจกรรมบำเพ็ญกุศล
ห้องธรรมะ/เรื่องเล่า
ลิ้งก์เว็บไซต์ที่เกี่ยวเนื่อง