เรื่องการบวชชีนี้มีบางคนก็รักษาศีล ๘ ห่มผ้าขาว โกนหัว บางคนก็ไม่โกนหัวเพียงแต่นุ่งขาว ห่มขาว รักษาศีล ๘ เหมือนกัน อย่างนี้เป็นที่นิยมกันมากเรียกว่า ชีพราหมณ์ เรื่องนี้จึงมีผู้หญิงคนหนึ่ง กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า
ผู้ถาม :- “ลูกได้บวชชีพราหมณ์มา ๗ ครั้งๆ ละ ๓ วัน พระท่านเทศน์ว่าการบวชชีพราหมณ์จะได้อานิสงส์มาก อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า อานิสงส์จะได้สักประมาณเท่าไรเจ้าคะ…?”
หลวงพ่อ :- บวชชีพราหมณ์ บวชชีพุทธ บวชชีเจ๊ก ก็เหมือนกันแหละ มันอยู่ที่เรารักษาศีลบริสุทธิ์ไหม…เขาให้ชื่อว่า บวชชีพราหมณ์ ก็หมายความว่าไม่ต้องโกนหัว ศัพท์นี้ท่านวิริยังค์ท่านตั้งขึ้น ไม่ผิดอะไรหรอก
คือว่าในอันดับแรก เรารักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ รักษาได้ดีขนาดไหน…ถ้ารักษาได้ดี ถือว่าเป็นผู้ทรง สีลานุสสติกรรมฐาน ได้เป็นอันดับหนึ่ง
และประการที่ ๒ ขณะที่บวชชีพราหมณ์ เราสามารถ ระงับนิวรณ์ ไหวไหม…เรากังวลใจมากหรือเปล่า…บางขณะไม่กวนใจเลย ขณะนั้นเป็นปฐมฌาน และหลังจากนั้นมีปีติ มีความเอิบอิ่มก็เป็นทุติยฌาน คือฌาน ๒ ต่อไปถ้าจิตสงัดดีมาก เวลาภาวนาอยู่ได้ยินเสียงภายนอกเบา จิตทรงอารมณ์ดี เวลานั้นเป็นฌานที่ ๓ ต่อไปไม่รู้ลมหายใจเข้าออก จิตโพรงสว่างเป็นฌานที่ ๔ แบบนี้เป็นฌานสมาบัติ
เวลาที่บวชชีพราหมณ์ บวชมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม ถ้าจิตสามารถทรงอารมณ์ได้ ๓ ประการ คือ
๑.เห็นว่าร่างกายจะต้องตาย
๒.เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
๓.ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์
และแถมอีกนิดหนึ่ง มีนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เขาเรียก พระโสดาบันผู้ถาม :- “อย่างนี้ถ้าไม่ไปวัด จะบวชที่บ้านได้ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ได้”
ผู้ถาม :- “ไม่ต้องนุ่งขาว ห่มขาว หรือครับ…?”
หลวงพ่อ :- “นุ่งเขียวได้ ใส่แดงได้ คือว่ามันอยู่ที่การรักษาศีลเป็นอันดับแรกนะ
รักษาศีลก็ได้อานิสงส์ของศีล
๑.สีเลนะ สุคติง ยันติ เรามีศีล ใจเราก็เป็นสุขในปัจจุบัน ตายแล้วเราก็เป็นสุข
๒.สีเลนะ โภคสัมปทา ถ้ามีศีลแล้วทรัพย์มันไม่เปลือง
๓.สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ศีลทำให้อารมณ์สงบ คือดับจากกิเลสชั่วคราวนะ
นี่อานิสงส์ของศีลนะ แล้วมีสมาธิไหมล่ะ…? ถ้ามีสมาธิ ตัดอารมณ์นิวรณ์ได้ ก็มีอานิสงส์สูงขึ้นไป ถ้าเป็นฌานสมาบัติก็เป็นขั้นของพรหม ถ้าหากว่าเรามีจิตนิยมการตัดสังโยชน์ เป็นพระอริยเจ้าเป็นขั้นๆ อยู่วัดก็ได้ ถ้าไปอยู่วัดออกมาด่ามากกว่าเก่าก็ลงนรก”
ผู้ถาม :- “เพิ่ม ๒ เท่าหรือครับ…?”
หลวงพ่อ :- “หลายเท่า มีโยมคนหนึ่งแกไปประชุมพุทธสมาคมที่วัด เสร็จแล้วแกยังไม่กลับ แกบอกว่าเคยเข้ากุฏิกับเขา เขาเข้ากัน ๑ เดือน แกเข้า ๑๓ เดือน กลับออกมาแกบอกว่ากิเลสมากขึ้นกว่าเดิม ถามว่าทำไมล่ะ…แกบอกกลุ้ม
แต่นี่อยู่ที่ใจนะ คือว่าจะบวชที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ ถือการรักษาศีลดีกว่านะ ถ้าที่บ้านรักษาแค่ศีล ๕ ก็พอ เมื่อมีศีล ๕ แล้วก็ทรงสมาธิ สมาธิก็อย่าเคี่ยวเข็ญให้มันมาก เอาแค่จิตสบาย ข้อสำคัญ สังโยชน์ ๓ ละให้ได้”
บวชชีชั่วคราวหรือตลอดดี
ผู้ถาม :- “การที่ลูกถือเนกขัมมะ คือศีล ๘ กับการที่ลูกจะลาจากงานไปบวชตลอดชีวิต จะได้อานิสงส์เท่ากันไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ไม่เท่า เพราะว่าบวชตลอดชีวิตได้เวลามากกว่า ถ้าบวชเฉพาะเวลา เวลามันน้อยกว่า มีเงินไหม…ถ้าลาไปแล้วมีเงินใช้ก็ใช้ได้ แต่ไม่มีอย่าเพิ่งบวช เดี่ยวเดือดร้อน ความจริงการบวชถ้าอยู่บ้านก็บวชได้ ใช่ไหม…เราอยู่บ้านเราก็ถือศีล ๘
เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน วันธรรมดาเรารักษาศีล ๕ วันเสาร์-อาทิตย์เราก็รักษาศีล ๘ แต่ว่าถ้ามีกำลังมั่นคงออกไป ถือตลอดชีวิตก็ดี เพราะว่าคนที่จะรักษาศีล ๘ ได้จริง ต้องมีกำลังใจแท้ ต้องเป็นวิสัยของอนาคามี นิสัยอนาคามีเริ่มเข้ารักษาศีล ๘ จึงรักษาได้ ถ้าอารมณ์ถึงจริงๆ ไอ้ตัวนั้น มันเริ่มมาแล้ว”
แม่ชีเป็นพระอรหันต์
ผู้ถาม :- “ทีนี้ถ้าบวชเป็นแม่ชีแล้วสำเร็จเป็นอรหันต์ จะอยู่ได้กี่วันครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ถ้าเป็นอรหันต์นะไม่เกินพรุ่งนี้ตาย คือว่าชีหรือฆราวาสก็มีสภาพเท่ากันละ เขาไม่ได้ถือว่าเป็นภิกษุณี คำว่า ชี รักษาศีล ๕ บ้าง รักษาศีล ๘ บ้าง ฆราวาสเขาก็รักษาได้ คือว่ามีเวลาปลีกตัวออกจากบ้านไปนุ่งขาวเท่านั้นเอง และสภาวะทุกอย่างก็เหมือนฆราวาส ฉะนั้นจะทรงความเป็นอรหันต์อยู่ไม่ได้ เป็นอรหันต์ก็ต้องนิพพาน”
ผู้ถาม :- “อ๋อ…ก็เหมือนฆราวาส”
หลวงพ่อ :- “ก็เท่ากันนั่นแหละ ทำไมจะต้องไปวิตกกังวล คนที่เป็นอรหันต์จริงๆ ท่านไม่อยากอยู่ต่อไปแม้แต่ ๑ วินาทีนะ ให้มันเป็นจริงๆ เถอะ เพราะว่าอยู่นั้นไม่มีอะไรดีเลย อยู่ก็ขันธ์ ๕ มันรบกวนอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม…
ทีนี้ถ้าหากได้อรหันต์แล้วนิพพานทันทีทันใด ความสุขก็สมบูรณ์แบบ ถ้าอยู่อย่างนี้ต้องใช้สังขารุเปกขาญานระงับตลอดเวลา ไปนิพพานแล้วไม่ต้องระงับไม่ต้องระวัง อย่างนั้นดีกว่ากัน
สำหรับพระนี่กรรมหนัก พระกับเณรมีกรรมหนัก ถ้าเป็นอรหันต์แล้วยังตายไม่ได้น่ะซิ ต้องทรมานสังขารไปอีก ดีนักเมื่อไรล่ะ”
ผู้ถาม :- “ถ้าพระไปนิพพานเลยจะได้ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ไม่ได้ พระนี่ไม่ได้ ถ้านึกนิพพานเลยได้ พระสารีบุตรท่านก็อยู่ไม่นาน เพราะว่าพระสารีบุตรท่านพูดเองว่า “เราอยู่ด้วยความอึดอัด เราอยู่ด้วยความรำคาญ แต่ว่าสังขารเราไม่พัง เราจะอยู่เต็มความสามารถ จนกว่ามันจะพังของมันเอง”
เห็นไหม…ในเมื่อวาระยังมาไม่ถึง พระอรหันต์ไม่ฆ่าตัวตายแน่นอน แต่ว่าจิตท่านเป็นสุขจริง แต่ขันธ์ ๕ มันไม่สุข อย่าลืมนะพระอรหันต์ก็หิวข้าวเป็น ปวดท้องขี้เป็น ปวดท้องเยี่ยวเป็น ป่วยเป็น เป็นทุกอย่าง มันเป็นปกติของมัน แต่ว่าที่อารมณ์ท่านเป็นสุขได้ เพราะจิตท่านทรงอยู่ในสังขารุเปกขาญาน ตัวนี้ที่ทำให้พระอรหันต์เป็นสุข ใจท่านเป็นสุข แต่ขันธ์ ๕ มันไม่สุข”
ผู้ถาม :- “มีความรำคาญไหมครับ พระอรหันต์ตอนป่วย…?”
หลวงพ่อ :- “ก็ไม่ป่วยท่านยังรำคาญเลย ถ้าป่วยทำไมท่านจะไม่รำคาญ แต่ว่าใจท่านไม่ดิ้นรน ถือว่าภาวะของขันธ์ ๕ มันต้องเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม…มันจะต้องเป็นอย่างนั้นเราก็รู้แล้ว ถ้าเราไปเสียได้มันก็จะดี การคิดทำลายขันธ์ ๕ ไม่มีสำหรับพระอรหันต์
ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ถ้าความสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขแก่ชาวโลกได้ ก็ทำเต็มความสามารถ เท่านั้นเอง ถือว่าสร้างความดีทิ้งทวน แต่ผลความดีจะเพิ่มอีกน่ะไม่มีหรอก ความดีมันก็มีที่สุดแค่พระอรหันต์”
ผู้ถาม :- “เอ…ทำไมไม่เพิ่มครับ?”
หลวงพ่อ :- “น้ำมันล้นตุ่มจ้ะ…ถ้ามันเต็มตุ่มใส่เท่าไรมันก็แค่ปากตุ่มนั่นแหละ ใช่ไหม…ที่ทำไปก็เพื่อเป็นการสงเคราะห์เท่านั้นเอง แต่ก็หวังดีนะ พวกนี้ถ้าสงเคราะห์ได้ ใจท่านก็เป็นสุขนะ ดีใจที่เห็นคนอื่นเขาดี ความพอใจมีเท่านี้ล่ะ
สมมุติได้อรหันต์เดี๋ยวนี้ไปนิพพานเลย เขาจะดีใจมากเพราะอะไร…เพราะมองดูแล้วไม่มีอะไรเป็นสุข การเกิดเป็นคนหาความสุขจริงๆ สัก ๑ วินาทีมันก็ไม่มี ใช่ไหม…ไม่ปวดมันก็เมื่อย ไม่เมื่อยมันก็หิว ไม่หิวมันก็อยาก”
ผู้ถาม :- “มีแต่เรื่องตลอดเวลาเลยครับ”
หลวงพ่อ :- “ใช่ หาอารมณ์ว่างไม่ได้…”
จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๘๒-๘๗ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
ศูนย์พุทธศรัทธา
- ประวัติศูนย์พุทธศรัทธา
- ดำริในการสร้างศูนย์พุทธศรัทธาของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
- เยี่ยมชมศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๐ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๕ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๓๗ ปี /๒๕๖๕
- สมเด็จองค์ปฐม ปางพุทธลีลาประทานพร
- ตำนานเมืองขีดขิน-เมืองโบราณใกล้ศูนย์พุทธศรัทธา
- พระบูชา/วัตถุมงคล
- การเดินทางไปศูนย์ฯ
มโนมยิทธิ
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
กิจกรรมบำเพ็ญกุศล
ห้องธรรมะ/เรื่องเล่า
ลิ้งก์เว็บไซต์ที่เกี่ยวเนื่อง