หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ตอบปัญหาธรรม
ผู้ถาม:- “บางคนเขาก็มาปรารภว่า มาครั้งแรกทำไมจึงฝึกไม่ได้…?”
หลวงพ่อ:- “พวกที่ไม่ได้ มันยัง ตั้งอารมณ์ไม่ถูก เขามีสิทธิ์ได้ มาถึงปุ๊บเดียว จะให้มันได้ ความเข้าใจมันยังไม่ดี ที่เรียกว่า ยังไม่เข้าใจ
บางคนก็ใช้ตาดูบ้าง บางคนก็ใช้ฌานหนักเกินไป มันก็ไม่ถูกจุด สูงเกินไปนิด ต่ำเกินไปนิด ก็ไม่ได้ ต้องพอดี ๆ คือว่า
ตอนจับทีแรก มันต้องอยู่แค่อารมณ์อุปจารสมาธิ เพราะอันนี้เป็นวิชชาสาม พอจับภาพได้ปุ๊บ บังเกิดความมั่นใจ จิตเป็นฌาน”
ผู้ถาม:- “ดิฉันก็เหมือนกันค่ะ เวลามีครูมาสอบถาม ว่าเห็นอะไรบ้างหรือยัง ก็ไม่เห็นอะไรทั้งนั้นเลย ตอบก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่เห็นอะไร ไม่เจออะไร ไม่ทราบว่าจะทำยังไงดี”
หลวงพ่อ:- “อันนี้มันเป็นอย่างนี้โยม มันเป็นอารมณ์ที่ไม่ชินนะ ทีนี้ที่เห็นนั้น เราไม่ใช้ตา มันเป็นกำลังของทิพจักขุญาณ ทิพจักขุญาณเบื้องต้น มันมัวเต็มที แล้วเราก็เห็นว่า เราจะต้องเห็นทางตา
คำว่า ทิพจักขุญาณ แปลว่า มีความรู้คล้ายตาทิพย์ มันเกิดเฉพาะความรู้สึก ไม่ใช่ลูกตาเห็น
นั่นมันเป็นอันดับก่อนที่จะก้าวขึ้น ถ้าตอนนี้เราจับอารมณ์นั้นได้ เมื่อเราจับได้แล้ว ครูเขาสนับสนุนโดยการพิจารณาตัดขันธ์ ๕ บ้าง นึกถึงบารมีของพระพุทธเจ้าบ้าง และทำความรู้สึกเข้าหาพระจุฬามณี ตอนนี้จิตมันจะเริ่มเป็นฌาน ความรู้สึกที่ว่าเห็น มันจะมีความใสขึ้น ดีขึ้น ยิ่งกว่าเดิมหน่อยหนึ่ง หรือบางคนก็ดีมาก
ทีนี้ถ้าหากว่า ความรู้สึกที่ว่าเห็น ที่เราเรียกว่า ทิพจักขุญาณ จะดีมากดีน้อยขนาดไหน มันขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของจิตในเวลานั้น
ถ้าในเวลานั้น ความรู้สึกของจิตมันล้างกิเลสไปได้มากเทียบเท่ากับพระสกิทาคามี หรือพระอนาคามี เฉพาะในเวลานั้นนะ ไม่ได้หมายความว่า เป็นเสียจริง ๆ เลยนะ คือ เวลานั้น จิตมันสะอาดเทียบเท่ากับพระสกิทาคามีหรือพระอนาคามี ความรู้สึกที่เห็นมันชัดมาก การเคลื่อนไหวเร็วมาก ถ้าฝึกใหม่ ๆ ก็อยากเห็นชัดอย่างนี้ละ”
อีกคนหนึ่งอยากเห็นชัดเหมือนกัน ถามว่า
ผู้ถาม:- “ที่หนูทำอยู่เวลานี้ก็พอจะเห็นบ้างแต่ว่ายังไม่ชัด หนูอยากจะไปเห็นชัด ๆ ค่ะ จะทำอย่างไรคะ…?”หลวงพ่อ:- “ถ้าอยากไปก็แสดงว่าไม่อยากไป ถ้าอยากไปมันเป็นนิวรณ์ คืออุทธัจจะกุกกุจจะ มันคอยตัด อย่าอยากไปนะ ให้ทำแบบสบาย ๆ เราพอใจในผลที่เราได้มาแล้วในตอนก่อน จะได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้ารักษาอารมณ์ให้สว่างอย่างนี้มีผล
อย่าลืมว่าอภิญญาจริง มันยังมีเวลาอีก ๑๙ ปี กำลังอภิญญาจึงจะเข้ามาถึง ตอนนี้อภิญญาเล็ก แล้วก็พยายามฝึกไปเรื่อย ๆ นะ
ถ้าต้องการจะให้เห็นแจ่มใส ให้หมั่นจับภาพพระให้ใส เป็นประกายแก้วอยู่เสมอ วันหนึ่งสักครั้งหนึ่ง ให้เป็นประจำ ก่อนหลับก็ได้ ถ้าทำอย่างนี้ละก็ ท่านบอกว่าถ้าถึงวาระอีก ๗ วันตาย ตอนนั้นจะพบพระหรือเทวดาเป็นประกายใสปลอดโปร่ง และจิตใจจะจับอยู่ในภาพนั้น และวาระนั้นนั่นแหละ จิตใจจะตัดในที่สุด คือ จิตจะตัดเข้าอรหัตผล ตายแล้วไปนิพพานทุกคน ถ้าอยากเห็นชัดละก็ ตายแล้วไปถึงนิพพานชัดแจ๋วทุกคน”
ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ การนึกปั๊บเห็นปั๊บแต่เป็นภาพเดิม อย่างนี้เป็นสัญญาใช่ไหมคะ.?”
หลวงพ่อ:- “ไม่ใช่ เป็นสัญญาไม่ได้ คือว่าคนที่เขาชำนาญเขาไม่นั่งป๋อหลอหรอก อย่างฉันนึกปั๊บได้เลย บางทีไม่ทันจะนึกละ ไปแล้ว”
ผู้ถาม:- “ขึ้นไปถึงเลยหรือคะ..?”
หลวงพ่อ:- “ไปถึงเลย คือ มันจะเป็นสัญญาไม่ได้ สัญญามันได้แต่นั่งนึกเอา สัญญาก็นั่งจำแต่ภาพ เราเคยเห็นพระพุทธเจ้าในลักษณะไหน เราเคยเห็นวิมานของท่านในลักษณะไหนบ้าง วิมานของเราในลักษณะไหนบ้าง เรานั่งนึก อันนี้เป็นสัญญา
พอเรารวบรวมกำลังใจปั๊บแล้วไป อันนี้เป็นอภิญญา มันไม่ใช่สัญญา”
ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ หนูนั่งทีไร เห็นไม่เต็มองค์ เห็นแค่เศียร เวลาขึ้นไปข้างบน เห็นวิมาน มีหลังคาสูง ๆ แต่เข้าไม่ได้ค่ะ ทำยังไงหนูจะเข้าไปได้คะ…?”
หลวงพ่อ:- “ตัดสินใจให้มันแน่นอน อารมณ์ไม่เด็ดขาดจริงยังห่วงขันธ์ ๕ อยู่ ยังห่วงร่างกาย ยังห่วงลูกยังห่วงฝาละมี(สามี) อะไรพวกนี้ ยังห่วงอย่างนี้ เข้าไม่ได้หรอก
ถ้าก่อนที่จะขึ้น ต้องตัดสินใจให้มันเด็ดขาด การเห็นภาพไม่ชัด มันบอกได้เลยว่า เราตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่ต้องไปเปิดตำราที่ไหน นี่เป็นเครื่องวัด”
ผู้ถาม:- “แต่ฝึกครั้งแรกขึ้นไปเห็นชัดมากค่ะ…”
หลวงพ่อ:- “วันแรกเขาสอน เราไปตามเขา พอเขาทิ้ง ก็ชักห่วงหน้าห่วงหลัง พอออกไปหน่อย เอ… ไอ้โอ๋ไปไหนหว่า อยู่กับใคร…ก็ยังถือว่าดี
ควรจะตัดสินใจให้มันเด็ดขาด ตอนเช้ามืด ควรจะตัดสินใจไปเลยว่า ชีวิตนี้มันทรงตัวอยู่ขนาดไหน ก็ช่างมันเถอะ ถ้าตายเมื่อไหร่ ขอไปนิพพาน เอาให้แน่นอน ถ้าตั้งอารมณ์ดีจริง ๆ ถ้าตั้งใจแบบนั้น ทีหลังเห็นเต็มองค์ไม่ยาก”
ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ เวลาฝึกมโนมยิทธิ บางวันก็อารมณ์ดี ขึ้นไปก็เห็นแจ่มใส แต่มันดีเป็นพักๆค่ะ”
หลวงพ่อ:- “อารมณ์ดีเป็นพัก ๆ นี่ถูก คือว่า ที่เป็นพัก ๆ เพราะว่า ร่างกายมันยังเกาะขันธ์ ๕ ถ้าเหนื่อยเกินไป เพลียเกินไป อันนี้อารมณ์จะมัวได้
แล้วก็ประการที่ ๒ ถ้ามันป่วยขึ้นมา มันจะทำให้ประสาทสั่นคลอนนิดหนึ่ง โดยที่เราไม่รู้ตัว อันนี้มัวได้
แล้วก็ประการที่ ๓ รวบรวมกำลังใจยังไม่เต็มที่ ก็ขึ้นเลย อันนี้มัวได้
การใช้กำลังอภิญญานี่ เราจะถือความสว่างมากสว่างน้อยไม่สำคัญ สำคัญว่า กำลังจิตของเรา เข้าถึงจุดหมายปลายทางไหม เขาถือตัวนี้ เป็นตัวสำคัญนะ
เพราะว่าเรายังมีขันธ์ ๕ อยู่ เราจะให้ทรงตัวอยู่เป็นปกติ มันไม่ได้แน่ พระอรหันต์ ยังไม่ได้เลย
บางคนก็มาบ่นให้ฟัง “ฝึกได้แล้ว พอกลับไปบ้าน ก็มืดไปมัวไป” ก็ต้องไปดูว่ามันมืดเพราะอะไร มืดเพราะศีลบกพร่องหรือเปล่า ถ้าศีลบกพร่อง เราเข้าพระจุฬามณีไม่ได้
ถ้าบอกว่ามืดเพราะสมาธิต่ำ ไม่ใช่ ถ้าสมาธิต่ำ มันไม่แสดงอาการของการมืด แต่การเคลื่อนของจิตมันจะช้าลง การมืดหรือสว่างมันอยู่ที่วิปัสสนาญาณ
ศีล เป็นภาคพื้น สมาธิ เป็นกำลังเดินทาง วิปัสสนาญาณ เป็นคบเพลิงสำหรับส่องทาง ทั้ง ๓ อย่างนี้ต้องขนานกัน
แต่ว่าบางทีศีลดี สมาธิดี วิปัสสนาญาณดี แต่ว่าร่างกายไม่ดี อันนี้ก็มืดเหมือนกัน
แต่หลวงพ่อไม่งั้นนะ ถ้าร่างกายไม่ดียิ่งสว่าง เพราะว่าถ้าร่างกายไม่ดี จิตมันจะดีทันที พอเริ่มป่วยนี่ จะป่วยมากน้อยก็ตาม จิตมันจะรวมตัวทันที พร้อมใส่กระเป๋าเตรียมตัวเดินทางใช่ไหม…
จำไว้นะ ไม่ใช่พอป่วยร้องอ๋อย ๆ คือว่า ร่างกายมันจะคราง มันจะร้อง มันจะเจ็บ มันจะปวด มันเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย ไม่ใช่ว่าถือธรรมดา แล้วร่างกายจะไม่เจ็บไม่ปวด อันนั้นไม่ถูก
แม้แต่พระอรหันต์ทุกองค์ท่านก็เจ็บ ท่านก็รู้ว่าร่างกายเจ็บ ร่างกายหนาว ร่างกายร้อน ท่านก็รู้ ร่างกายป่วยไข้ไม่สบาย ท่านก็รู้ แต่ว่าท่านไม่ได้ทุกข์ จิตท่านไม่กังวล ท่านก็รักษาพยาบาล ท่านหิวท่านก็กิน ท่านร้อนท่านก็หาเครื่องเย็น ท่านหนาวท่านก็หาเครื่องอุ่น หาได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น ถ้าหาไม่ได้ก็แค่นั้นแหละ แค่นี้เอง”
หลวงพ่อ:- “เอาละ คงจะพอเข้าใจแล้วนะ ต่อไปนี้เป็น ปัญหาของผู้ฝึกได้แล้ว”