ปัญหาผู้ไม่เคยฝึกมโนมยิทธิมาก่อน

ปัญหาของผู้ไม่เคยฝึกมโนมยิทธิมาก่อน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ตอบปัญหาธรรม

หลวงพ่อ:- “คำว่า มโนมยิทธิ แปลว่า มีฤทธิ์ทางใจ

มโนมยิทธิ นี่เป็นการเตรียมอภิญญา จะเรียกวิชชาสามตรง ๆ ก็เข้มเกินไป จะเรียกอภิญญาก็ยังอ่อนอยู่ เป็นการเตรียมอภิญญา เตรียมเพื่อรับอภิญญาหก

วิชชาสามจริง ๆ ไปไม่ได้ แต่เห็นได้ นั่งอยู่ตรงนี้ สามารถเห็นเทวดา เห็นพรหม เห็นพระอริยะ สามารถคุยกันได้ นั่งอยู่ตรงนี้ สามารถคุยกับเปรตได้ คุยกับอสุรกายได้ คุยกับพวกสัตว์นรกได้ แต่ก็นั่งอยู่ตรงนี้เอง

ทีนี้สำหรับ มโนมยิทธิ นี่ ก็เป็นอภิญญาทางใจส่วนหนึ่ง ต้องถือว่าเป็นกึ่งหนึ่งของ อภิญญา เพราะว่าสามารถเอาจิตไป เอากายในไป

ทว่า ถ้าเป็นอภิญญาจริงๆ เขายกตัวไปเลย จะไปสวรรค์ไปพรหม เขาเอาตัวไปเลย นั่นต้องใช้กำลังเข้มแข็งกว่า สูงกว่า แต่ว่ากันโดยผล มีผลเสมอกัน เพราะไปเห็นมาได้เหมือนกัน”

 

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ถ้าอย่างดิฉันต้องการฝึกบ้าง ต้องใช้เวลากี่วันคะ….?”

หลวงพ่อ:- “ก็สุดแล้วแต่คุณจะทำได้ ถ้าคนทำได้เร็วไม่ถึงวันก็ได้ อันนี้จริง ๆ นะ ถ้าทำได้เร็วใช้กำลังใจถูกต้อง โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิงนี่จะได้เร็วมาก เพราะพวกผู้หญิงนี่ไม่ค่อยสงสัย เพราะตัวสงสัยเป็นตัวนิวรณ์

ส่วนใหญ่จริง ๆ พวกผู้หญิงนี่ มักจะเป็นได้วันแรก นี่พูดถึงส่วนใหญ่นะ แต่พลาดมาวัน ๒ วันที่ ๓ ก็มี ใช้เวลาไม่มากหรอก เราไม่ต้องนับเดือน ไม่ต้องนับปีกัน

ถ้าคุณจะฝึก คุณต้องไปซ้อมกำลังใจเสียก่อน ถ้าซ้อมกำลังใจให้ทรงตัว มาวันแรกก็ได้ มันอยู่ที่ความเข้าใจ คือ ไม่ต้องทำอะไรมาก ทรงอารมณ์ไว้เฉย ๆ หายใจเข้า นึกว่า “นะ มะ” หายใจออก นึกว่า “พะ ธะ” ไม่ต้องทำให้มันเครียดหรอก ให้มัน ชิน เท่านั้นเอง

คำว่า “ชิน” หมายความว่า ถ้าให้เราภาวนาอย่างนี้เมื่อไร เราภาวนาได้ ไม่ต้องไปนั่งเครียดทั้งวันทั้งคืน ซ้อมให้ทรงตัวนะ”

 

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ อย่างเรามีความศรัทธาจะฝึก มโนมยิทธิ เรามีความจำเป็นไหมคะ ที่เราจะต้องรู้รายละเอียดในความหมายของคำภาวนา นะ มะ พะ ธะ

หลวงพ่อ:- “ก็ไม่ต้องไปละ อยู่ที่เดิมน่ะ ถ้าฉลาดแบบนั้น ไปไหนไม่ได้ เขาให้ภาวนา เพื่อเป็นกำลังของสมาธิเท่านั้น เขาไม่ต้องใช้ปัญญา ปัญญาเขาใช้ส่วนอื่น ถ้าขืนฉลาดแบบนั้นก็อยู่ที่เดิม

การเจริญพระกรรมฐาน เขาต้องไปตามจุด ต้องเฉพาะกิจที่เขาจะสอน ให้แจกแจงนั่น ต้องปฏิบัติในธาตุ ๔ เขาเรียกว่า จตุธาตุววัตถาน ๔ แต่อันนี้ไม่ใช่

เขาต้องการภาวนา เพื่อเป็นกำลังของจิต เพื่อให้จิตเป็นทิพย์ ชื่อเหมือนกัน แต่ใช้กิจต่างกัน

อย่างกับทัพพีเขาใช้คนหม้อข้าว เป็นทัพพีสำหรับหุงข้าว ถ้าเขาไม่มีช้อน เอามาตักข้าวเข้าปาก นี่มันกลายเป็นช้อนไป ใช่ไหม…..

นี่ก็เหมือนกัน ต้องใช้เฉพาะกิจของเขา ถ้าเรื่อยเปื่อยไปก็พัง รับรองได้เลย ถ้าเรื่อยเปื่อยไป นอกรีตนอกรอย อีกแสนชาติก็ไม่ได้ ต้องฉลาดพอดี ไม่ใช่ฉลาดเกินพอดี กิจอันนี้เขาทำเพื่ออะไร ถ้าเราจะแจงเป็นธาตุ ๔ ก็ไม่ใช่ลักษณะนี้ นั่นต้องหวลเข้าไปหาสุกขวิปัสสโก ไม่ใช่ฉฬภิญโญ หมวดแต่ละหมวดของกรรมฐาน ปฏิบัติไม่เหมือนกัน

 

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ บางคนเขาภาวนาว่า “พุทโธ” แต่ว่าทำไมเขาไปได้คะ….?”

หลวงพ่อ:- “ถ้าเขาไปได้แล้ว อะไรก็ได้ ให้มันสตาร์ทติดเสียก่อน ถ้าไปได้แล้วจริง ๆ ไม่ต้องภาวนา นึกปั๊บมันถึงเลย กำลังเขาพอ เข้าใจไหม…..

คือว่า คำภาวนาที่เราใช้กันหนัก เพราะเรายังไม่คล่อง แบบเขียนหนังสือน่ะ อ่านหนังสือวันแรก สองวัน สามวัน เขียน ตัว ก.ไม่ได้ ถ้าเขียนคล่องแล้ว นึกเมื่อไรเขียนได้เลย ใครเขาพูด ก็เขียนได้เลยเหมือนกัน ถ้าคล่องจริง ๆ ไม่ต้องภาวนา พอนึกปั๊บมันถึงทันที

 

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ บทสตาร์ทนี่ ต้อง “นะ มะ พะ ธะ” อย่างเดียวหรือคะ “สัมมาอรหัง” ได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “เอาแล้ว หาเรื่องตกร่องอีกแล้ว มันมีหลายสิบบท ไม่ใช่บทเดียว แต่ว่าบทนี้เท่านั้น ขณะที่ไปอยู่จึงจะคุยกับคนข้าง ๆ ได้ นอกนั้นเขาไปเงียบ จบจุดแล้วจึงมาเล่าสู่กันฟัง ฉันคิดว่า ถ้าไปกันเงียบ ๆ ชาวบ้านเขาจะหาว่าโกหก ฉันจะตัดตัวนี้ คือปัจจุบัน เห็นแล้วคุยได้เลย ถามทางโน้นก็บอกทางนี้ได้ทันที เขาต้องการอย่างนี้

ฉันยังจำคำแนะนำของหลวงพ่อปานได้ เมื่อก่อนฉันจะบวช ฉันบวชนี่ ฉันไม่ได้บวชตามประเพณีกับเขา บวชเพื่อพิสูจน์พระศาสนา พระศาสนาว่า สวรรค์มีจริง นรกมีจริง ฉันจะไปเที่ยว

หลวงพ่อปานท่านบอก ความต้องการของแกน้อยไป ข้าต้องการมากกว่านั้น แต่ว่าแกบวชแล้ว แกต้องรับคำสอน อย่างคนโง่ นะ

อย่างคนโง่” ก็หมายความว่า ท่านบอกตรงนี้ จุดไหน ก็ไปแค่นั้นแหละ เดี๋ยวก็ถึง อันนี้ถูกต้อง เพราะท่านรู้จักทาง ท่านก็นำตรง ถ้าเราฉลาดเกินไป ก็เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาอีก ฉันอยู่กับหลวงพ่อปานเดือนเดียว ฉันได้หมด เพราะฉันยอมโง่

อย่างลูกสาวของฉันนี่ มันฉลาดมากเกินไป อย่างนี้เขาเรียกว่า “ฉลาดหมาไม่กิน” ใช่หรือเปล่า…?”

ผู้ถาม:- “ใช่ค่ะ”

หลวงพ่อ:- “ถ้าหมากิน เอ็งหมดไปนานแล้ว”

หลวงพ่อพูดให้กำลังใจว่า:- “ค่อย ๆ ทำไปนะ ไม่ต้องใช้เวลาให้มาก ไม่ต้องไปใช้เวลาที่สงัด นั่งเล่นทำอะไรเล่นก็ตาม นึกอะไรก็ภาวนา หายใจเข้านึก “นะ มะ” หายใจออก นึกว่า “พะ ธะ” สองสามครั้งก็ได้ ถ้ามันฝืนขึ้นมาก็เลิกกัน ต้องการให้อารมณ์ชินอย่างเดียว เวลาเขาฝึกจะได้ไม่แย่งกัน ให้แยกกันเสียให้เด็ดขาด

ยามปกติเราต้องการความสุข เราภาวนา “พุทโธ” ของเราไป แต่บางขณะเช่นเวลานี้ ฉันจะเอา “นะ มะ พะ ธะ” ไม่ยอมให้ “พุทโธ” มาแย่ง ไม่กี่วันหรอก อย่างมากก็ ๒-๓ วัน

ถ้าลองจนชินดีแล้ว เราต้องการภาวนา “นะ มะ พะ ธะ” ก็ให้อยู่แค่ “นะ มะ พะ ธะ” พุทโธให้แยกไป ถ้าเราต้องการภาวนา “พุทโธ” ก็ “พุทโธ” ไปตามปกติ อันนี้ก็ใช้ได้

ค่อย ๆ ทำไปนะ อยู่ที่ความเข้าใจตัวเดียว ใครจะคุมหรือไม่คุมไม่สำคัญ ต้องภาวนาถูกต้องตามแบบเขา ไม่งั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่วางแบบไว้ซิ ถ้าภาวนาอย่างไรก็ได้ พระพุทธเจ้าจะวางแบบไว้ทำไม สอนเสียอย่างเดียวก็พอใช่ไหม….”

“พุทโธ” น่ะเป็นสายของสุกขวิปัสสโกเขา สายสุกขวิปัสสโก ไปไหนไม่ได้ ได้แต่ตัดกิเลส สายเตวิชโชก็มีคำภาวนาตั้งหลายสิบแบบ แต่ถ้า “นะ มะ พะ ธะ” เป็นการเตรียมเพื่อ อภิญญา จึงไปได้

กรรมฐานไม่ใช่ว่าทำอย่างเดียว แบบจริง ๆ มี ๔๐ แบบ ถ้าเราใช้อะไรก็ใช้แบบที่ถูกต้อง ไม่งั้นไปไม่ได้”

 

ผู้ถาม:- “สมมุติว่าหนูฝึก “พุทโธ” หลวงพ่อจะฉุดหนูไปได้ไหมคะ…..?”

หลวงพ่อ:- “ได้ ฉุดลงใต้ถุนไป ไม่มีทาง จะฉุดได้ยังไง พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ฉุดใคร หลวงพ่อจะไปฉุดเอ็งเข้า ดีไม่ดี เขาจะมาตีเอาตาย โทษหนักเสียด้วย โทษถึงประหารชีวิต เรื่องอื่นยังพอทำเนา บรรเทาโทษได้ แต่ว่าเรื่องนี้ประหารชีวิตกันเลยนะ หนอยแน่……..

ไม่ได้หรอก ไอ้หนู ต้องฝึกเอง แล้วทำไมภาวนา “นะ มะ พะ ธะ” ไม่ได้..?”

ผู้ถาม:- “รู้สึกว่ามันเหนื่อยคะ”

หลวงพ่อ:- “แล้วที่ด่าชาวบ้าน ทำไมทำได้ล่ะ…?”

ผู้ถาม:- “หนูไม่เคยด่าใครคะ ครั้งเดียวไม่เคยค่ะ…”

หลวงพ่อ:- “น่ากลัวไปล่อหลายเที่ยว”

ผู้ถาม:- (หัวเราะ)

หลวงพ่อ:- “ไอ้นี่ต้องคิดซิว่า “พุทโธ”เหมือนกับนั่งอยู่กับบ้าน ถ้าเราจะไปอเมริกา เดินไปมันก็ไม่ไหว ก็ต้องขึ้นเครื่องบินไป แบบ “นะ มะ พะ ธะ” เขาฝึกเพื่อหาเครื่องบินไป

การฝึกในพระพุทธศาสนา เขามีตั้ง ๔ ประเภท ถ้าแบบใหญ่จริง ๆ มี ๔๐ แบบ แบบย่อยอีกนับพัน

อย่าง “นะ มะ พะ ธะ” เป็นส่วนหนึ่งของ อภิญญา แต่ก็ยังไม่เข้าถึงอภิญญาจริง ต้องถือว่าเตรียมเพื่ออภิญญา นี่เขามีจำกัดนะ แต่ว่าการปฏิบัติแบบนี้ เขาก็มีหลายสิบแบบนะ ถ้าเป็นแบบเก่า คนข้าง ๆ ถามไม่ได้ ฉันก็ไม่อยากสอนใคร

ฝึกแบบนี้ ถ้าไปได้ คนข้าง ๆ สามารถถามได้ตลอดเวลา ไปถึงไหน ๆ เล่าได้ตลอดเวลา ถ้านอกจากนี้ ไปก็นั่งเงียบอยู่คนเดียว เลิกแล้วกลับมาจึงเล่าสู่กันฟัง อย่างนี้ฉันว่าของเก่านั้นของดี แต่ว่าพวกที่เขามีความสงสัย ก็จะคิดว่าพวกนี้มาโกหก

จึงไปหาแบบนี้มา แบบนี้ก็ไม่ได้สร้างเอง เป็นของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน คนข้าง ๆ สามารถถามได้ เวลานี้ไปถึงไหน แล้วจะบอกได้ตลอดเวลา หาอย่างนี้มา ๒๓ ปี กว่าจะพบตำรานี้ ไม่ใช่ค้นคว้าเองนะ ทราบอยู่ว่าของพระพุทธเจ้าท่านมี แต่ตำราที่เราฝึก เราไม่พบ กว่าจะพบก็สิ้นเวลาบวชไป ๒๓ ปี

แต่ว่าวิธีอื่นน่ะทำได้ ถ้าเพื่อส่วนตัวนี่ ทำได้ตั้งแต่พรรษาต้น แต่ว่าเราจะรู้ เราก็ต้องรู้คนเดียว เลิกมาแล้วจึงมาเล่าสู่กันฟัง ทีนี้สำหรับคนรับฟัง ก็จะหาว่าโกหก

อย่างสมมุติว่า พ่อเขาตาย แม่เขาตาย เขาถามว่าพ่อแม่เขาอยู่ที่ไหน ตามผีนี่ตามง่ายกว่าตามคน ต้องการจะพบใคร มันพบทันที ถ้าเราจะเอาให้แน่นอน เมื่อพบแล้วก็ให้เขาแสดงตัว

เวลาที่เป็นมนุษย์รูปร่างเป็นอย่างไร แสดงให้ดูซิ เวลาป่วยยังไง ผอมหรืออ้วน อาการป่วยที่คนพอจะรู้ได้ ขอให้บอก พวกที่เขาถาม เขารู้ว่าเคยป่วยแบบไหน เขาอาจจะไม่รู้ทั้งหมด รู้จุดใดจุดหนึ่งนะ เขาจะบอกให้ฟัง

ถ้าถามถึงโรค มีอยู่หลายราย เขาบอกว่า ที่หมอหรือพยาบาลบอกว่าตายด้วยโรคนั้น ๆ จริง ๆ มันไม่ใช่ เขาตายอีกโรคหนึ่ง แต่พยาบาลเขาเข้าใจว่าโรคนั้น

นี่เราต้องถามอาการที่คนอื่นจะรู้ เขาทำท่าให้ดูเสร็จเรียบร้อย แล้วก็บอกคนข้างๆว่าพบแล้ว เวลาที่มีชีวิตอยู่ รูปร่างเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม…… และอาการที่จะตายจริง ๆ มีลักษณะแบบนี้ใช่ไหม….. คนนี้สมัยที่มีชีวิตอยู่ เป็นคนใจดี หรือชอบหัวเราะ หน้าบึ้งขึงจอ อะไรก็ตาม ถามเขา เขาบอกตามความจริงทั้งหมด

คงเข้าใจแล้วนะ สำหรับท่านที่ยังมีความสงสัยในคำภาวนาและการฝึกแบบนี้ แต่ก็คงจะสงสัยอย่างอื่นอีก จึงขอนำปัญหาและคำตอบให้คลายสงสัยเสีย”

 

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ถ้าหากฝึกมโนมยิทธิสามารถขึ้นไปข้างบนได้แล้ว จะหลงวกวนอยู่บนนั้นไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “แหม…อีหนูเอ๊ย อยากให้หลงจริง ๆ ถ้ามันไปติดอยู่วิมานใดวิมานหนึ่ง แหม…ดีจริง ๆ”

ผู้ถาม:-(หัวเราะ) “ไม่หลงใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ไม่หลงหรอก”

ผู้ถาม: “แล้วที่ครูเขาแนะนำว่าไปที่วิมาน วิมานอยู่ที่ไหนคะ……….?”

หลวงพ่อ:- “ถ้าเราไปถึงพระนิพพานได้ วิมานบนพระนิพพานก็ต้องมี เมื่อไปถึงนิพพานได้ เขาจะบอก ๒ จุด เพราะว่า ครูเขาไม่มีเวลาสอนมาก ถ้าเราขึ้นไปบนสวรรค์ ดูวิมาน ของเรามีไหม…..ถ้าไม่มีก็ไปดูวิมานของเราที่พรหมมีไหม…..ถ้าไม่มีก็เหลืออยู่แห่งเดียวที่นิพพาน แสดงว่าชาตินี้ตายแล้วไปนิพพานแน่

ถ้าหากว่าวิมานที่สวรรค์ยังมีอยู่ หรือยังมีอยู่ที่พรหม และวิมานที่นิพพานมีอยู่ แสดงว่า จิตเราจับวิปัสสนาญาณได้เล็กน้อย แต่มันหมองมันไม่แจ่มใส แต่วิมานเราอยู่จุดที่แน่นอน อันนี้แจ่มใส

ถ้าวิปัสสนาญาณเราดีพอ จิตเราเข้าถึงโคตรภูญาณ วิมานข้างล่างนี่จะหายหมด มันจะเหลือหลังเดียวข้างบน ถ้าเหลือหลังเดียวข้างบน ตายแล้วมันไม่มีที่อยู่ ต้องไปอยู่หลังนั่นแหละ

ถ้าพอถึงนิพพานแล้ว ยังถามว่าไปไหนอีก ถ้าอารมณ์ใจยังพอใจในการเที่ยว ก็แสดงว่ากิเลสยังหนาอยู่ ถ้าเที่ยวไป ๆ ไม่ช้ามันจะเบื่อเที่ยว จิตมันจะรักอารมณ์อยู่จุดหนึ่ง คือ ขึ้นไปนิพพานมันก็ไม่อยากขึ้น มันอยากจะตัดขันธ์ ๕ สบาย ๆ อารมณ์จิตเป็นสุข

แต่ก็มีเกณฑ์บังคับว่า นิพพาน ต้องไปทุกวัน เพื่อให้จิตมันจับเป็นเอกัคคตารมณ์ แปลว่า จิตมันเป็นหนึ่งเดียว ต้องการอย่างเดียว คือ นิพพาน ให้มีความผูกพัน

แล้วไปนิพพานไปที่ไหน….?

นิพพานมี ๒ จุดที่เราจะไปก็คือ ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและก็วิมานของเรา ถ้าเราไม่เห็นพระพุทธเจ้า เรานึกถึงท่าน ท่านจะมาทันที คือว่า จิตอย่าปล่อยพระพุทธเจ้า ให้จิตมันเกาะไว้เป็นอารมณ์ ทีนี้ตายแล้วก็มาที่นี่แหละ

เรื่องของชีวิต มันจะตายเมื่อไรก็ช่าง คือว่าอย่าไปคิดว่ามันจะอยู่อีก ๒ ปี ตื่นขึ้นมา เราคิดว่าเราอาจจะตายวันนี้ มันถึงจะถูก อันนี้เป็น มรณานุสสติกรรมฐาน ใช่ไหม……

ถ้าวันนี้มันจะตายมันจะไปไหน ตื่นขึ้นมาปั๊บ เราคิดว่าเราจะตายวันนี้ จิตพุ่งปรู๊ดขึ้นนิพพานเลย ขึ้นไปแล้ว สัก ๒-๓ นาทีก็ช่าง ให้อารมณ์มันสดชื่น พิจารณาขันธ์ ๕ เท่านั้นแหละ

ถ้าจิตตอนเช้า เราจับเป็นอารมณ์ไว้ แล้วกลางวัน เราก็ไม่ได้นึกถึงนิพพาน มัวนั่งพูดกับเพื่อนบ้าง ทะเลาะกับเพื่อนบ้าง ขัดคอกับเพื่อนบ้าง หลบหน้าเจ้าหนี้บ้าง ตามเรื่องตามราวนะ บังเอิญตายวันนั้น มันก็ไปนิพพาน เพราะตอนเช้าเราตั้งอารมณ์ไว้แล้วใช่ไหม…..

คืออารมณ์ตอนเช้า เวลาที่จิตมันสบายตั้งอารมณ์ไว้เลย ตั้งอารมณ์ไว้ ก็อย่าตั้งไว้เฉย ๆ ไปเลย ไปนั่งอยู่ข้างหน้าพระพุทธเจ้าให้จิตมันชื่นใจ เวลานั่งข้างหน้าพระพุทธเจ้ามันสบายใจ ใช่ไหม……..ท่านสวย ท่านสว่าง ดูแล้วไม่อิ่มไม่เบื่อ อารมณ์มันก็มีความสุข คิดว่าที่นี่เป็นที่ที่เราจะมาในเมื่อขันธ์ ๕ มันพัง ให้ทำแบบนี้นะ”

 

ผู้ถาม:- “แล้วอย่างสมมุติว่า คนที่เขาฝึกได้แล้ว เขาไปได้ เขาก็เห็นวิมานของเขา แสดงว่าเขามีวิมานอยู่ ถ้าหากเราอยู่อย่างนี้ เราทำแต่ความดี เราจะมีวิมานไหมคะ……?”

หลวงพ่อ:- “เราก็มีบ้านอยู่”

ผู้ถาม:- “หนูอยากมีวิมานค่ะ”

หลวงพ่อ:- “ไปสร้างกุฏิสักหลังซิ”

ผู้ถาม:- “มีจริง ๆ หรือคะ?”

หลวงพ่อ:- “วิมานน่ะ เขามีด้วยกันทุกคน ถ้าทำความดี แต่ว่าเราจะสามารถไปเห็นวิมานของเราหรือไม่ อย่างการก่อสร้าง วิหารทาน สร้างโบสถ์ สร้างกุฏิ สร้างส้วม สร้างศาลา อะไรก็ตามเถอะ เราเอาเงินไปร่วมกับเขาด้วยความตั้งใจจริง วิมานจะปรากฏเลย เราจะรู้หรือไม่รู้อยู่ที่การฝึกจิต อย่างที่เขาฝึก “นะ มะ พะ ธะ” กัน”

หลวงพ่อ:- “เอาล่ะ สำหรับปัญหาผู้ยังไม่เคยฝึกก็มีเท่านี้ ต่อไปนี้เป็นปัญหาของผู้เริ่มฝึกใหม่ ๆ”

<< ก่อนหน้า                 อ่านต่อ >>

ขอเชิญฝึกมโนมยิทธิ ณ ศูนย์พุทธศรัทธา ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๑๒.๓๐ น.

คำถามคำตอบปัญหาเกี่ยวกับการฝึกมโนมยิทธิ โดยศูนย์พุทธศรัทธา

เรื่องนี้ถูกเขียนใน มโนมยิทธิ และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร