แต่ใจของพ่อยังอยู่กับใจของลูก ลูกจะไปไหนก็ชื่อว่าพ่อไปด้วย ช่วยลูกทุกประการ”
ท่านพุทธบริษัทที่อ่านหนังสือลูกศิษย์บันทึกเล่มนี้ ขอได้โปรดทราบว่าวาระที่หนังสือเล่มนี้ออกมา ก็เพราะเป็นวาระครบรอบที่หลวงพ่อของเรา คือหลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ หรือในนามปากกาที่ท่านได้เขียนหนังสือไว้ คือ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ท่านได้มรณภาพจากลูกศิษย์พุทธบริษัทไปครบวาระ ๑๐ ปี
คราวนี้พวกเราที่เป็นลูกศิษย์ที่เคารพรักท่านยิ่งชีวิต ได้จัดงานทำบุญครบรอบ ๑๐ ปี เพื่อจะถวายกุศลแด่องค์หลวงพ่อที่เป็นที่เคารพของเรา การทำบุญนั้นก็มีท่าน ดร.ปริญญา นุตาลัย ท่านได้รวบรวมให้ลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ได้จัดพิมพ์หนังสือลูกศิษย์บันทึกออกมาหนึ่งเล่ม เพื่อจะได้ระบายความระลึกนึกถึงผู้มีพระคุณยิ่งชีวิตของเรา ออกมาเผยแพร่เกียรติคุณความดีของท่านที่มีต่อพวกเรา
ส่วนตัวของอาตมาเองนั้น ได้มีชีวิตอยู่ร่วมกับหลวงพ่อประมาณ ๒๐ ปี เพราะว่าอาตมามาอยู่วัดท่าซุงนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๖ เมื่อถึง พ.ศ.๒๕๓๕ หลวงพ่อมาละสังขารจากพวกเราไป ด้วยความอาลัยอาวรณ์ ความว้าเหว่ ความหมดที่พึ่ง ความไม่มีทางไป ความเศร้าโศกสลดใจแต่ตัวอาตมาเองมีมาก สุดจะพรรณนาให้สมกับใจได้
ความที่ได้อยู่ร่วมกับท่านมา ๒๐ ปีนั้น มีความลึกซึ้ง มีความอบอุ่น มีความสุขใจ สุขจิต สุขกาย ที่ได้ร่วมรับคำสอนจากท่านผู้ที่ประเสริฐ มีอุบายในการอบรมลูกศิษย์ทุกคนที่เคารพท่าน เป็นอุบายที่ลึกซึ้ง ไม่สามารถจะหาครูบาอาจารย์ที่ไหนมาสอนเราได้ หลวงพ่อนั้นท่านเปรียบเสมือนผู้ประเสริฐเลิศจิต ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่าความที่เราเป็นคนดื้อด้าน หยาบ จิตโลภโมโทสัน ความชั่วปรากฏมาก ความดีไม่ปรากฏ
หลวงพ่อท่านได้มีวิธีอบรมสั่งสอนทุกคนให้อยู่ในศีล ให้อยู่ในการภาวนา ให้อยู่ในการเจริญวิปัสสนา จนมีจิตใจเคารพซึ่งพระรัตนตรัยด้วยความจริงใจ ชีวิตนั้นไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเลิศเลอไปกว่าการเข้าถึงซึ่งพระรัตนตรัย อาตมาก็พอรู้ว่าพระรัตนตรัยนั้น ให้ความบริสุทธิ์แก่มวลมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ ผิวพรรณ ฐานะยากดีมีจน ไม่เลือกบุคคลใกล้ชิดหรือห่างไกล ธรรมะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สว่างบริสุทธิ์ทุกเวลา
การที่จะเคารพพระรัตนตรัยด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้น หลวงพ่อของเรานั้นเป็นผู้ขวนขวาย เป็นผู้อบรมสั่งสอนด้วยวิริยะ อุตสาหะ ด้วยเมตตาบารมีของท่าน ด้วยความเหนื่อยยาก ขันธ์ห้าของท่าน สังเกต เราจะพบว่าท่านป่วยตลอด แม้แต่เวลาป่วยของหลวงพ่อท่าน พอจะทำอะไรที่จะเป็นสาระประโยชน์ได้ ท่านก็อัดเทป อบรมเป็นธรรมะ เผื่อไว้ว่าเมื่อท่านละขันธ์ห้าไปแล้ว ก็สามารถจะเอาคำสอนนั้นมาอบรมพุทธบริษัท มีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาได้
ส่วนความลึกซึ้งส่วนตัวนั้น สุดจะบรรยายออกมาจากใจได้ทุกคำ เพระอาตมาอยู่กับท่านด้วยความใกล้ชิด และดูปฏิปทาของท่านนั้นเป็นผู้ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อมวลชนทุกหมู่เหล่า บุญคุณนั้นถ้าจะบรรยายในการที่ท่านทำให้พวกเราทุกคนนั้น ถ้าจะบรรยายเป็นตัวหนังสือ กี่ปีกี่ชาติก็คงไม่หมด เรามีคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่เราให้ชีวิต ให้ร่างกาย ให้การศึกษา ให้ทรัพย์ นี่ก็หาประมาณไม่ได้แล้ว
แต่ทรัพย์ก็ดี ปัญญาความรู้ก็ดี ก็ใช้กันหมด หรือใช้กันในสังสารวัฎฎ์นี้เท่านั้น ส่วนทรัพย์ของครูบาอาจารย์ที่ให้เราใช้ไม่หมด ใช้ได้ตลอด ใช้ออกจากวัฎฎสงสารได้ ทรัพย์นี้เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่มีคุณอเนกอนันต์ ฉะนั้น บุญคุณของพ่อแม่ก็หาประมาณไม่ได้อยู่แล้ว แต่บุญคุณของหลวงพ่อพระราชพรหมยานนั้น สุดยิ่งใหญ่หาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้เลย
เพราะท่านได้อบรมสั่งสอนให้เราเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติให้ออกจากวัฎฎสงสาร ท่านพร่ำสอนให้รู้โทษของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ให้รู้การเกิดมาเป็นเทวดา ให้รู้การเกิดมาเป็นพรหม ว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง เมื่อเป็นอนิจจังแล้ว อารมณ์ก็ไม่ทุกข์ใจ เพราะมันไม่เที่ยง เมื่อไม่ถูกใจอารมณ์ก็เป็นทุกข์ เพราะอยากให้เที่ยง ขัดอารมณ์ ผลสุดท้ายก็ต้องเคลื่อนออกไปจากสิ่งที่อยู่ เรียกว่าอนัตตา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้าทรงให้ยอมรับตามความเป็นจริงว่า ผู้ที่อยู่ในโลกทั้งสามนี้ คือเป็นผู้อยู่ในโลกแห่งอนิจจัง ความไม่เที่ยง โลกแห่งความทุกขัง คืออารมณ์ไม่ถูกใจ อยู่ในโลกแห่งอนัตตา คือ ต้องเคลื่อนสลายตัวไป ไปจากสิ่งที่ครองอยู่
ฉะนั้น ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกคนพึงรู้เท่ากัน ความเป็นไปของชีวิต ความเป็นไปของวัฎฎสงสาร รู้แล้วก็ให้ทำใจละวาง เกิดนิพพิทาญาณจากวัฎฎะนี้เสีย ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความวางเสียซึ่งวัฎฎสงสารได้ ก็จะเป็นผู้ไม่มีอะไรในไตรภพนี้ คือผู้ถึงซึ่งความสุขอันหาประมาณไม่ได้
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อของเรานั้น พร่ำสอนทุกวัน ทุกเวลา ว่าการยอมรับตามความเป็นจริงเสียได้ ไม่อาลัย อาวรณ์เสียได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นเสียได้ รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงเสียได้ ผู้นั้นก็จะถึงซึ่งความสุขอันหาประมาณไม่ได้ กว่าท่านจะสอนให้เราเข้าใจ รู้แจ้งเห็นจริงได้อย่างนี้ ท่านต้องใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปี ที่ทรมานพวกเรา ทรมานคือฝืนใจให้พวกเราปฏิบัติความดี จนพวกเรามีความมั่นใจในคุณของพระรัตนตรัย
เมื่อเรามีความมั่นใจ มีความเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ ไม่เคลือบแคลงสงสัยองค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระองค์ และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย เราก็มีความสุขในจิตตามลำดับ เมื่อจะมองไปแล้ว ก็จะเห็นว่าคุณของพระรัตนตรัย คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์นั้น หาประมาณไม่ได้จริง ๆ พุทโธ อัปปมาโณ ธัมโม อัปปมาโณ สังโฆ อัปปมาโณ จริง
หลวงพ่อนั้นได้อบรมสั่งสอนพวกเรามาด้วยความลึกซึ้ง ควรที่พวกเราอยู่ภายหลังจะทดแทนความดีของท่าน ที่เหนื่อยมาตลอดชีวิตนั้นได้ ท่านสั่งสอนให้เรารวบรวมกำลังใจ ปฏิบัติซึ่งความดี มีงานสาธารณประโยชน์ เป็นต้น ท่านสั่งสอนให้เราเข้าใจและปฏิบัติตามให้จิตเป็นกุศล และทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น งานปฏิบัติธรรม งานปฏิบัติสาธารณะประโยชน์ ท่านจึงสั่งสอนว่า
“…ขอบรรดาลูกรักทั้งหลาย จงรักษาความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ งานใดที่พ่อนำลูกทั้งหลายทำ งานทั้งหลายเหล่านั้น ขอลูกรักทั้งหมดจงรักษางานนั้นไว้ด้วยหัวใจของลูกเอง คือรักษาไว้ด้วยชีวิต เพราะงานสาธารณประโยชน์เป็นกิจอันหนึ่ง ที่ทำให้คนไทยรวมตัวกัน มีความรัก มีความสามัคคีซึ่งกันและกัน และทุกคนก็จะมีความสุข
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พ่อไว้ พ่อถ่ายทอดให้แก่ลูก ทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี้ ขอลูกจงถือว่านั่นคือตัวแทนของพ่อ เพราะว่าชีวิตของพ่อนี่ พ่อไม่แน่ใจนักว่าจะมีอายุยืนยาวอีกสักกี่ปี ขอลูกทั้งหลายจงอย่าถือขันธ์ ๕ ของพ่อนี้เป็นสำคัญ ปฏิปทาใดที่เป็นที่ชอบใจ ไม่เกินวิสัยลูก ขอลูกจงทำและจงรักษาอภิญญาสมาบัติไว้
ขณะใดที่ใจของลูกยังรักษาอภิญญาสมาบัติไว้ รักษาปฏิปทาสาธารณประโยชน์ ขณะนั้นลูกจงภูมิใจว่าพ่ออยู่กับลูกตลอดเวลา ถึงแม้ว่าร่างกายกายาของพ่อจะสลายไป แต่ใจของพ่อยังอยู่กับใจของลูก ลูกจะไปไหนก็ชื่อว่าพ่อไปด้วย ช่วยลูกทุกประการ…”
ท่านสั่งสอนให้เราปฏิบัติตัวเอง ปฏิบัติตัวต่อสังคมให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นที่ชื่นใจชื่นจิตเท่านี้ งานอย่างนี้ที่เราร่วมกันทำ ก็จะพอเป็นแนวทางให้เห็นว่า ท่านสั่งสอนแล้วไม่เหนื่อยเปล่า ท่านก็คงจะดีใจ แม้ท่านจากเราไปสิบปี งานทุกส่วนที่หลวงพ่อสั่งสอนไว้ พวกเราก็ได้น้อมนำมาปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอ เสมือนว่ารวมจิตหรือรวมใจของหลวงพ่ออยู่ในใจของเราเหมือนกัน
สังเกตงานของเรามีตลอดปี ส่วนใดที่เป็นสาธารณสมบัติ พวกเราก็ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ความสะอาด แข็งแรง เจริญตา ส่วนไหนที่จะช่วยสาธารณประโยชน์ได้ พวกเราก็ร่วมใจกันทำ งานศูนย์สงเคราะห์แจกของในถิ่นทุรกันดาร ช่วยเหลือสังคม พวกเราไม่ลืมคำสอนที่พ่อแม่ได้มอบไว้ให้ เพื่อขัดเกลาความเห็นแก่ตัวให้เป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อขัดเกลาจิตใจของเราให้เอื้ออารี อ่อนโยน เราก็ฝึก เราก็ทำ
ฉะนั้นความดีที่เราร่วมกันทำนั้น เรามีใจเสมือนว่าร่วมกันทำ ตามที่พ่อแม่สั่งสอนทุกประการ การทำงานทุกสิ่งทุกอย่างที่หลวงพ่อสั่งสอนไว้ ก็ทำกัน ด้วยความเต็มใจก็ทำด้วยความรัก ความสามัคคี สังเกตดูงานแต่ละงานต่างๆ เราได้ช่วยเหลือกัน ขณะนี้ พ่อแม่คือ..หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ท่านเป็นเหมือนทั้งพ่อ ท่านเป็นทั้งแม่ ท่านอบรมสั่งสอนเรา ท่านได้จากขันธ์ห้าไปครบสิบปี เหมือนกับเดี๋ยวเดียว
แต่พวกเราอยู่ภายหลังเสมือนมีขันธ์ห้าของพ่อของแม่อยู่ ได้ดูแลพวกเราด้วยขันธ์ห้า เห็นด้วยตา กับเราแล้วเหมือนท่านได้ทิ้งสมบัติอันล้ำค่าไว้ให้ลูก ๆ ทุกคน พวกเรายังอยู่ภายหลังที่เป็นลูกที่เคารพเป็นลูกที่ดี ก็สมควรรักษาสมบัติของพ่อไว้ให้อยู่ได้ตลอดไปตามอายุ ถ้าลูกที่เลว ก็เป็นผู้ที่ผลาญสมบัติ เป็นผู้ที่ทำลายสมบัติแล้ว ทั้งทางธรรม ทางวัตถุ เป็นผู้ที่อกตัญญูต่อผู้มีคุณ ก็จะหาความเจริญไม่ได้ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า
ฉะนั้น เมื่อเราเป็นลูกที่ดีก็ควรช่วยกันสร้างสรรค์ความดี ความสามัคคีให้เกิดปรากฏแก่มวลลูกศิษย์ทุกคน เสมือนทำตัวรู้คุณพระรัตนตรัย มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีหลวงพ่อพระราชพรหมยานเป็นที่สุด
ฉะนั้นวาระนี้ลูกศิษย์บันทึกเล่มนี้ ก็อาจจะมีผู้แสดงความคิด ความรู้ ช่วยกันสร้างสรรค์หลายคน ส่วนอาตมานั้นหวังว่า ลูกศิษย์หลวงพ่อของเราทุกคน ควรสร้างสรรค์ความสุข ความสามัคคีให้เกิดแก่ครอบครัว แก่เพื่อนร่วมชีวิต แก่เพื่อนร่วมศาสนา แก่เพื่อนร่วมชาติ
หวังว่าทุกท่านคงมีความจดจำ ระลึกถึงคำสอนของหลวงพ่อที่ว่า “พ่ออยู่กับลูกตลอดเวลา ถึงแม้ว่าร่างกายกายาของพ่อจะสลายไป แต่ใจของพ่อยังอยู่กับใจของลูก ลูกจะไปไหนก็ชื่อว่าพ่อไปด้วย ช่วยลูกทุกประการ” นี่ขอให้เป็นอาขยานเอกที่จับจิตจับใจ ไปไหนก็เหมือนพ่ออยู่กับลูก ให้มีความระลึกถึงท่านอยู่เสมอ จิตใจเราก็จะมีพลัง มีกำลังใจสร้างความดีต่อ มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมต่อ ผลสุดท้ายก็จะสู่ที่ซึ่งสิ้นจากวัฎฎสงสารได้ทุกคน.
โดย พระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ จาก หนังสือลูกศิษย์บันทึก เล่ม ๕