พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
อรหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชา จรณสัมปันโน สุคโต โลกวิทู อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ สัตถา เทวมนุสสานัง พุทโธ ภควา พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการนี้ บรรดาพุทธศาสนิกชนระลึกนึกถึง จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน คือตั้งอารมณ์ข่มนิวรณ์ปรารภถึงความดีของพระพุทธเจ้า
การระลึกตามแบบพระพุทธคุณ ๙ อย่างนี้ เป็นการระลึกถึงผลที่พระองค์ทรงบรรลุ จะไม่นำมาเขียนไว้เห็นท่าจะไม่เหมาะ ขอนำมาเขียนไว้เพื่อทราบดังต่อไปนี้
๑.อรหัง
คำว่า อรหัง นี้ แปลว่า ท่านผู้ไกลจากกิเลส หมายความว่า พระพุทธองค์ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่ในพระหฤทัยเลย เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องจริง ๆ
อารมณ์กิเลสที่พระอรหังหรือที่เรียกว่าพระอรหันต์ละได้นั้น มี ๑๐ อย่าง คือ
ก.สักกายทิฎฐิ
เห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในกาย กายไม่มีในเรา
ท่านละ ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์บุคคล เราเขาเสียได้“โดยเห็นว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงแต่ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันชั่วคราว เป็นที่อาศัยของนามธรรม คือ
เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์คืออารมณ์วางเฉยจากอารมณ์สุขทุกข์
สัญญา มีความจดจำเรื่องราวที่ล่วงมาแล้ว
สังขาร อารมณ์ชั่วร้ายและอารมณ์เมตตาปรานีสดชื่น อันเกิดต่ออารมณ์ที่เป็นกุศลคือความดี และอารมณ์ที่เป็นอกุศลคือความชั่ว ที่เรียกกันว่า อารมณ์เป็นบุญและอารมณ์เป็นบาปที่คอยเข้าควบคุมใจ
วิญญาณ คือ ความรู้หนาว ร้อน หิวกระหาย เผ็ดเปรี้ยวหวานมันเค็ม และการสัมผัสถูกต้อง เป็นต้น
วิญญาณนี้ไม่ใช่ตัวนึกคิด ตัวนึกคิดนั้นคือจิต วิญญาณกับจิตนี้คนละอัน แต่นักแต่งหนังสือมักจะเอาไปเขียนเป็นอันเดียวกัน ทำให้เข้าใจเขว ควรจะแยกกันเสีย เพื่อความเข้าใจง่าย
อีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามาอาศัยกายและไม่ตายร่วมกับร่างกาย สิ่งนั้นก็คือ จิต
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ ตายร่วมกับร่างกาย คือกายตายก็ตายด้วย
แต่จิตที่เข้ามาอาศัยกายนี้ เข้ามาอาศัยชั่วคราวเมื่อกายตั้งอยู่ คือดำรงอยู่ร่วมพร้อมกับ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตก็อาศัยอยู่ แต่ถ้าขันธ์ ๕ มีร่างกายเป็นประธานตายแล้ว จิตก็ท่องเที่ยวไปแสวงหาที่อาศัยใหม่
คำว่า เรา ในที่นี้ ท่านหมายเอาจิตที่เข้ามาอาศัยกาย เมื่อท่านทราบอย่างนี้ ท่านจึงไม่หนักใจและผูกใจว่า ขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา
เราไม่มีในกาย กายไม่มีในเรา
เรา คือ จิตที่เข้ามาอาศัยในกายคือขันธ์ ๕ นี้ ขันธ์ ๕ ถ้าทรงอยู่ได้รักษาได้ก็อาศัยต่อไป ถ้าผุพังแล้วท่านก็ไม่หนักใจ ไม่ตกใจ ไม่เสียดายห่วงใยในขันธ์ ๕ ท่านปล่อยไปตามกฎของธรรมดา
เสมือนกับคนอาศัยรถหรือเรือโดยสาร เมื่อยังไม่ถึงเวลาลง ก็นั่งไป แต่ถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไร ก็ลงจากรถจากเรือ โดยไม่คิดห่วงใยเสียดายรถ หรือเรือโดยสารนั้น
เพราะทราบแล้วว่ามันไม่ใช่ของเรา เขาก็ไม่ใช่เรา เราก็ไปตามทางของเรา ส่วนรถเรือโดยสารก็ไปตามทางของเขา ต่างคนต่างไม่มีห่วงใย
พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านมีความรู้สึกอย่างนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมอรหันต์ พระองค์มีความรู้สึกอย่างนี้
ท่านนักปฏิบัติ ที่ระลึกถึงพระคุณข้อนี้ ก็ควรทำความพอใจตามที่พระองค์ทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ จะเป็นเครื่องบั่นทอนกิเลสลงได้มาก จนเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์อย่างพระองค์”
ข.วิจิกิจฉา
พระอรหันต์ท่านเชื่อมั่นในธรรมปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว โดยไม่เคลือบแคลงสงสัยและปฏิบัติตามด้วยศรัทธายิ่ง
ค.สีลัพพตปรามาส
ท่านรักษาศีลเป็นอธิศีล คือ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่แนะให้ใครละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล
ฆ.ละกามฉันทะ
คือความยินดีในกามารมณ์ ท่านหมดความรู้สึกทางเพศเด็ดขาด มีอสุจิเหือดแห้ง ความรู้สึกพอใจในกามารมณ์ไม่มีในความรู้สึกของท่านเลย
ง.พยาบาท
ท่านตัดความโกรธความพยาบาทได้สิ้นเชิง มีแต่ความเมตตาปรานีเป็นปกติ
จ.รูปราคะ
ท่านตัดความสำคัญในรูปฌานว่าเลิศเสียได้ โดยเห็นว่ารูปฌานนี้เป็นกำลังส่งให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ตัวมรรคผลนิพพาน
ฉ.อรูปราคะ
ท่านตัดความเห็นว่าเลิศในอรูปฌานเสียได้ โดยเห็นว่าอรูปฌานนี้ก็เป็นเพียงกำลังส่งให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณเช่นเดียวกับรูปฌาน
ช.มานะ
ท่านตัดความถือตัวถือตนว่า เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีกว่าเขาเสียได้ โดยวางอารมณ์เป็นอุเบกขา คือเฉย ๆ ต่อยศถาบรรดาศักดิ์และฐานะความเป็นอยู่ เพราะทราบแล้วว่าไม่มีอะไรยั่งยืนตลอดกาล
ซ.อุทธัจจะ
ท่านตัดอารมณ์ฟุ้งซ่าน ที่คิดนอกลู่นอกทางเสียได้ มีอารมณ์ผ่องใส พอใจในพระนิพพานเป็นปกติ
ฌ.ท่านตัดอวิชชา
คือ ความโง่ออกเสียได้สิ้นเชิง ท่านหมดความพอใจในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยที่คิดว่าเป็นสมบัติยั่งยืนได้สิ้นเชิง
ท่านเห็นว่า ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นมีเกิดแล้วก็เสื่อมในที่สุด ก็ต้องทำลาย ฉะนั้น อารมณ์ของท่านจึงไม่ยึดถืออะไรมั่นคง มีก็ใช้ เมื่อสลายตัวไปก็ไม่มีทุกข์
ท่านตัดความกำหนัดยินดีในสมบัติของโลกเสียทั้งหมด ไม่มีเยื่อใยรักใคร่หวงแหนอะไรทั้งหมด แม้แต่สังขารของท่าน
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกองค์มีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านที่เจริญอนุสติข้อนี้ เมื่อใคร่ครวญตามความดีทั้งสิบประการนี้เสมอ ๆ ทำให้อารมณ์ผ่องใสในพระพุทธคุณมากขึ้น เป็นเหตุให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไม่ยากนัก
๒.สัมมาสัมพุทโธ
แปลว่า ตรัสรู้เองโดยชอบ ความหมายนี้ หมายความว่า พระองค์ทรงรู้อริยสัจ ทั้ง ๔ คือ
รู้ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
รู้สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการ คือ
๑.กามตัณหา ทะยานอยากได้ในสิ่งที่ยังไม่เคยมี อยากให้มีขึ้น
๒.ภวตัณหา สิ่งใดที่มีอยู่แล้ว อยากให้คงสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่อยากให้เก่า ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง
๓.วิภวตัณหา อยากให้สิ่งที่จะต้องสลายตัวนั้นที่เป็นไปตามกฎธรรมดา มีความปรารถนา ไม่ให้กฎธรรมดาเกิดขึ้น คือ ไม่อยากให้สลายและไม่อยากเสื่อม ไม่อยากตายนั่นเอง ความรู้สึกอย่างนี้ เป็นความรู้สึกที่ฝืนกฎธรรมดา เป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรงทราบนิโรธะ คือความดับสูญไปแห่งความทุกข์
และ ทรงทราบมรรค คือปฏิปทาที่ปฏิบัติให้เข้าถึงความทุกข์คือทุกข์นั้นสูญสิ้นไป ได้แก่ทรงทราบมรรคคือข้อปฏิบัติ ๘ ประการดังต่อไปนี้
๑.สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
๒.สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ
๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔.สัมมากัมมันโต มีการงานชอบ
๕.สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ
๖.สัมมาวายาโม ความพยายามชอบ
๗.สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘.สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบในมรรคคือข้อปฏิบัติที่จะให้เข้าถึงความดับสูญไปแห่งทุกข์นี้ ย่อลงเหลือสาม คือได้แก่
ศีล การรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อย ตามขอบเขตของสิกขาบท
สมาธิ การดำรงความตั้งมั่นของจิต ที่ไม่เป็นเวรเป็นภัยต่อสังคม คือดำรงฌานไว้ด้วยดี เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ
ปัญญา ได้แก่การเจริญวิปัสสนาญาณจนรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดา ไม่มีอารมณ์คิดที่จะฝืนกฎธรรมดานั้น๓.วิชชา จรณสัมปันโน
แปลว่า พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ ทรงมีความรู้รอบและความประพฤติครบถ้วน
วิชชา แปลว่า ความรู้ หมายถึง รู้ในวิชชาสามที่สามัญชนไม่สามารถจะรู้ได้ คือ
๑.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงมีความรู้ในการระลึกชาติที่ล่วงแล้วมาได้อย่างไม่จำกัด ไม่มีผู้อื่นใดจะระลึกชาติได้มากเท่าพระองค์ และพระองค์ทรงมีความชำนาญในการระลึกชาติได้อย่างเยี่ยม
๒.จุตูปปาตญาณ พระองค์ทรงมีความรู้ความเกิดและความตายของสัตว์ โดยทรงรู้ว่า สัตว์ที่ตายไปแล้วนี้ไปเกิด ณ ที่ใด มีความสุขความทุกข์เป็นประการใด เพราะผลกรรมอะไรเป็นเหตุ และทรงทราบว่า สัตว์ที่ตายไปแล้วนี้มาจากไหน ที่มีความสุขความทุกข์อยู่นี้ เพราะอาศัยกรรมอะไรเป็นเหตุ
๓.อาสวักขยญาณ ทรงรู้วิชชาที่ทำอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นไป
จรณะ หมายถึง ความประพฤติ พระองค์มีความประพฤติครบถ้วนยอดเยี่ยม ท่านประมวลความประพฤติที่พอจะนำมากล่าวไว้ได้โดยประมวลมี ๑๕ ข้อด้วยกัน คือ
๑.สีลสัมปทา พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยศีล คือ ทรงปฏิบัติในศีลไม่บกพร่อง
๒.อินทรียสังวร ทรงระมัดระวังในการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ
๓.โภชเนมัตตัญญุตา ทรงรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
๔.ชาคริยานุโยค ทรงประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่ คือ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนบริบูรณ์
๕.สัทธา ทรงมีความเชื่อมั่นในผลการปฏิบัติ ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย
๖.หิริ ทรงมีความละอายต่อผลของความชั่วทั้งมวล
๗.โอตตัปปะ ทรงเกรงกลัวต่อผลของความชั่วทั้งมวล
๘.พาหุสัจจะ ทรงสั่งสมวิชาการต่าง ๆ ด้วยการศึกษามาแล้วด้วยดี
๙.วิริยะ ทรงมีความเพียรไม่ท้อถอย โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
๑๐.สติ ทรงมีสติสมบูรณ์
๑๑.ปัญญา มีปัญญารอบรู้ในวิทยาการทุกแขนง และทรงรู้แจ้งในอริยสัจ โดยที่มิได้ศึกษาจากผู้ใดมาในกาลก่อน ทรงค้นคว้าพบด้วยพระองค์เอง
๑๒.ปฐมฌาน ทรงฝึกฌาน จนได้ปฐมฌาน
๑๓.ทุติยฌาน ทรงฝึก จนได้ฌานที่สอง
๑๔.ตติยฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนได้ฌานที่สาม
๑๕.จตุตถฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนทรงฌานที่ ๔ ไว้ได้ด้วยดีเป็นพิเศษทั้งหมดนี้จัดเป็น จริยา คือ ความประพฤติของพระองค์ อันเป็นแบบอย่างที่บรรดาพุทธสาวก จะพึงปฏิบัติตามให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพื่อผลไพบูลย์ในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล เพราะพระองค์ทรงมีความประพฤติอย่างนี้ จึงทรงบรรลุมรรคผล หากพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระองค์ปฏิบัติตาม ก็มีหวังได้บรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน
๔.สุคโต
แปลว่า เสด็จไปดีแล้ว หมายความว่า พระองค์เสด็จไป ณ ที่ใด พระองค์นำแต่ความสุขไปให้เจ้าของถิ่น
คือนำความรู้อันเป็นเหตุของความสุขไปให้ ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด ใครก็ตามบูชาพระองค์แล้ว ไม่เคยผิดหวังที่จะได้รับความสุขในทางปฏิบัติ
๕.โลกวิทู
แปลว่า รู้แจ้งโลก หมายความว่า โลกทุกโลก มียมโลกคือโลกแห่งการทรมาน ได้แก่นรก เปรต อสุรกาย เป็นต้น มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก และพระนิพพานอันเป็นดินแดนพ้นโลก พระองค์ทรงทราบตลอดหมดสิ้น แม้แต่ปฏิปทาที่จะให้ไปเกิดในโลกนั้น ๆ
๖.อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ
แปลว่า เป็นนายสารถีผู้ฝึก ไม่มีนายสารถีใดมีความสามารถฝึกได้เสมอเหมือนพระองค์
ทั้งนี้หมายความถึงการฝึกธรรมปฏิบัติ พระองค์ทรงมีญาณพิเศษ ที่เรียกว่า เจโตปริยญาณ ทรงรู้ใจคนว่าผู้นี้ควรสอนอย่างไรจึงได้ผล พระองค์ทรงฝึกสอนตามที่รู้ด้วยพระญาณนั้น จึงมีความสามารถฝึกได้ดีเป็นพิเศษ
๗.สัตถา เทวมนุสสานัง
แปลว่า พระองค์ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์
ทั้งนี้หมายความว่า การสั่งสอนเพื่อมรรคผลนั้น พระองค์มิได้ทรงสั่งสอนแต่มนุษย์เท่านั้น แม้เทวดา และ พรหม พระองค์ทรงสั่งสอน
การสอนมนุษย์ท่านอาจไม่สงสัย แต่การสอนเทวดานั้นท่านอาจจะแปลกใจ ข้อนี้ขอให้อ่านพุทธประวัติจะทราบว่า พระองค์ทรงสั่งสอนเทวดาและพรหมเป็นปกติเกือบทุกวัน เช่นเดียวกับสอนมนุษย์เหมือนกัน
๘.พุทโธ
แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้วได้เหมือนกัน
ความหมายถึงคำว่า พุทโธ ก็มีอย่างนี้ คือ หมายถึงพระองค์ทรงรู้พระองค์ ด้วยความเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
๙.ภควา
แปลว่า ผู้มีโชค
หมายถึง พระองค์เป็นผู้มีโชคก่อนใคร ๆ ที่พระองค์เป็นผู้รู้เท่าทันอวิชชา คือความโง่เขลาเบาปัญญา ความโง่ไม่สามารถครอบงำพระองค์ได้โดยอาศัยที่พระองค์ทรงค้นพบอริยสัจ ๔ จึงสามารถทำลายอำนาจอวิชชาคือความโง่ให้สลายตัวไปเสียได้ เหลือไว้แต่ความฉลาด หลักแหลม ความโง่ไม่สามารถจะบังคับบัญชาพระองค์ให้หลงใหลไปในอำนาจกิเลสและตัณหาได้ต่อไป พระองค์ทรงพบความสุขที่ยอดเยี่ยม ไม่มีความสุขอื่นยิ่งกว่า ความสุขที่ว่านี้ คือ พระนิพพาน
พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการนี้ พระอาจารย์รุ่นเก่าท่านประพันธ์ไว้ให้บรรดาพุทธศาสนิกชนระลึกนึกถึง จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน คือตั้งอารมณ์ข่มนิวรณ์ปรารภถึงความดีของพระพุทธเจ้า
เมื่อพระโยคาวจร คือท่านนักปฏิบัติพระกรรมฐานได้คำนึงถึงความดีของพระพุทธเจ้า ตามที่เขียนมานี้ ทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่ง หรือจะนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าในลักษณะอื่น แต่เป็นไปตามแบบพระพุทธจริยาแล้ว จนจิตมีความเคยชิน ระงับนิวรณธรรมห้าประการเสียได้ จิตตั้งอยู่ในอุปจารสมาธิแล้ว เจริญวิปัสสนาญาณ ท่านว่าท่านผู้นั้นสามารถจะชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ เพราะอาศัยความเลื่อมใสในพระพุทธจริยา จัดว่าเป็นผู้มีโชคอย่างยิ่ง คือจะได้สำเร็จมรรคผลได้โดยฉับพลัน
คำสอน พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
อรหัง …
อรหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชา จรณสัมปันโน สุคโต โลกวิทู อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ สัตถา เทวมนุสสานัง พุทโธ ภควา….