ประวัติศูนย์พุทธศรัทธา

ประวัติการก่อตั้งศูนย์พุทธศรัทธา
สำนักปฏิบัติพระกรรมฐานสาขาวัดท่าซุง

      คณะพุทธศรัทธา เกิดจากการรวมตัวของศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณ“หลวงพ่อพระราชพรหมยาน”(หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอบ้านหมอ,พระพุทธบาท,ท่าเรือ และท่าลาน จังหวัดสระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยารวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ได้ร่วมกันจัดรายการธรรมทัศนาจรนำสมาชิก-ผู้มีจิตศรัทธา ไปบำเพ็ญกุศลตามวัดต่างๆทางภาคเหนือ,ภาคกลาง,ภาคอิสาน,ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีการทำบุญถวายสังฆทาน ทอดกฐิน-ผ้าป่าและฟังธรรมโอวาทจากพระสุปฏิปันโน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรม

โดยได้เริ่มจัดเป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฏาคม ๒๕๒๑ นำผู้มีจิตศรัทธาไปบำเพ็ญกุศล ถวายสังฆทาน-ฟังธรรมกับหลวงพ่อพระครูวิโรจน์ธรรมาจารย์ วัดอริยวงศาราม จ.ราชบุรี จากนั้นก็จัดรายการธรรมทัศนาจรเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คณะพุทธศรัทธา ได้จัดรายการธรรมทัศนาจร ไปบำเพ็ญกุศลกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่วัดท่าซุง เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ ต่อมาก็ได้พาคณะเดินทางไปบำเพ็ญกุศล และปฏิบัติพระกรรมฐาน(มโนมยิทธิ)กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เป็นประจำทุกปีและปีละหลายครั้ง

ต่อมาได้ชักชวนสมาชิกที่ฝึก “มโนมยิทธิ” ได้แล้ว มารวมตัวกันเพื่อปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยอาศัยสถานที่ตามวัดต่างๆ เริ่มแรกก็ไปฝึกกันที่พระอุโบสถวัดไก่จ้น อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะแรกมีกันไม่กี่คน ได้ชักชวนผู้สนใจมาฝึก ผู้ที่ฝึกได้แล้วก็ไปชักชวนกันมามากขึ้น ต่อจากนั้นก็ย้ายไปปฏิบัติตามวัดอื่นๆ ที่มีสมาชิกอยู่ในบริเวณนั้นและมีจิตศรัทธาในการปฏิบัติ เช่น วัดหัวหิน วัดสะตือ วัดบัวงาม วัดกลาง วัดไก่เส่าฯ บางครั้งก็ใช้สถานที่ตามโรงเรียนต่างๆ ฝึกกรรมฐานกัน ระยะหลังสุดก่อนซื้อที่ดินสร้างศูนย์พุทธศรัทธา ได้ไปปฏิบัติกันที่โรงเรียนวัดกลาง อ.ท่าเรือ

จากการไปขอใช้สถานที่ต่างๆ ปฏิบัติธรรมนั้น แม้เจ้าของสถานที่จะเต็มใจให้ใช้ แต่ก็ไม่สะดวกเท่าที่ควร เนื่องจากบางครั้งได้กราบนิมนต์พระมาเจริญศรัทธา หรือมีกิจกรรมบำเพ็ญกุศลต่างๆ ดังนั้นคณะพุทธศรัทธาจึงคิดที่จะหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม โดยพยายามหาสถานที่ที่มีความสงบเงียบ บรรยากาศร่มรื่น เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

จนกระทั่งในปี ๒๕๒๘ จึงได้พบสถานที่ที่เหมาะสม อยู่ติดริมทะเลสาปบ้านหมอ เป็นสถานที่ที่สงบเงียบ ร่มรื่นบรรยากาศดีเพราะอยู่ริมน้ำ ที่ดินด้านหน้าอยู่ติดถนนสายท่าเรือ-พระพุทธบาท สะดวกในการเดินทาง และอยู่ห่างจากตัวอำเภอและตลาดบ้านหมอเพียง ๓ ก.ม.

เมื่อได้ติดต่อเรื่องที่ดินเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มโครงการสร้างสำนักปฏิบัติพระกรรมฐานขึ้น โดยจัดแบ่งที่ดินเป็นแปลงๆ และได้ชักชวนสมาชิกที่มีกำลังศรัทธาและมีกำลังทรัพย์พอร่วมกันซื้อกันคนละแปลงสองแปลง ได้ตั้งชื่อว่า “ศูนย์พุทธศรัทธา” ตามชื่อของคณะฯ  และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๘ ระยะแรกได้สร้างกุฏิขึ้นมา ๑ หลังใช้เป็นที่ปฏิบัติพระกรรมฐาน ต่อมาในปี ๒๕๒๙ ได้สร้างศาลาเพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลและปฏิบัติพระกรรมฐาน

จนกระทั่งในปี ๒๕๓๒ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระสุธรรมยานเถระ(หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)ได้เมตตามาโปรดที่ศูนย์พุทธศรัทธา คณะกรรมการของศูนย์ฯ ได้ร่วมกันถวายที่ดิน และหลวงพ่อได้เมตตารับศูนย์พุทธศรัทธาเป็นสำนักปฏิบัติพระกรรมฐานสาขาวัดท่าซุง

หลวงพ่อพระสุธรรมยานเถระ เป็นองค์ประธานในพิธีบวงสรวงสมโภช
พระประธานประจำศูนย์ฯ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๒

ดำริในการสร้าง ศูนย์พุทธศรัทธา
ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ หลังจากเครียดจากงานที่คนแก่ทำแล้วเข้าที่พัก ร่างกายมันก็รวนตามปกติของมันคือ มันปวดท้อง มีอาการคลื่นไส้ ร้อนภายในท้อง วันนี้รู้สึกว่าอาการทุรนทุรายมากเป็นพิเศษ ด้วยเมื่อวันก่อนๆ มันมีอาการดีขึ้นมากแล้ว ถ้าพูดตามความเป็นจริงแล้ว ร่างกายดีขึ้นมาก อาการส่วนอื่นดีหมดทุกอย่างเหลือส่วนท้องเพียงส่วนเดียว ตามคำพยากรณ์ของท่านไม่ผิด แต่วันนี้มันรวนเป็นพิเศษ เมื่อมันรวนหนักก็จำต้องพึ่งกำลังใจ พยายามรักษาอารมณ์ใจแน่นสนิทเป็นพิเศษ อารมณ์ใจแน่นมากไม่มีอาการเคลื่อนไหวในอารมณ์ นิวรณ์เกาะไม่ติด เมื่ออารมณ์แนบสนิท อาการทางกายก็รู้สึกว่าเบาลง

เมื่ออารมณ์คลายอารมณ์หยาบออกแล้ว เคลื่อนเข้าสู่อารมณ์ละเอียด จิตสว่างขึ้น มีอาการคล้ายร่างกายย้ายสถานที่ อาการอย่างนี้เป็นนิมิต คือ มีอาการคล้ายความฝัน มีความรู้สึกว่าออกไปจากที่เดิม ไปนอนอยู่ที่ตึกเก่าๆ หลังหนึ่ง เป็นตึกใหญ่มาก นอนตะแคงขวาอยู่บนเตียงเก่าๆ ภาวนาคาถาที่ภาวนาเป็นปกติ จิตสงบมาก มีอารมณ์แน่น ซึ่งอารมณ์อย่างนั้นเป็นอารมณ์ญาณที่มีวิปัสนาญาณผสมอยู่น้อย จึงมีอารมณ์แน่น เวลานั้นมีความรู้สึกว่า

ทางด้านหลังห่างออกไปประมาณ ๑๐ เมตร มีพระสงฆ์องค์หนึ่งท่านนั่งอยู่ เราไม่สนใจใครทั้งหมด สนใจแต่สมาธิอย่างเดียว ขณะที่มีอารมณ์แน่นสนิทด้านกำลังสมาธิอยู่นั้น มีผู้คนเอาของราคาแพงมาให้มากมาย มีทั้งของใช้และเครื่องประดับ มีทอง เพชรพลอยที่ประดับแล้วมากมาย นอนคิดว่าเมื่อเรากลับวัด เราจะขนไปได้อย่างไร คิดว่ามีคนสัก ๑๐๐ คนก็ยังขนไม่ไหว จึงตัดสินใจตามที่เคยปฏิบัติมาเป็นปกติว่า สมบัติเกิดขึ้นที่ใดให้อยู่ที่นั้น เช่นไปวัดไหน เขาถวายเงินทองก็ถวายไว้วัดนั้น อาการอย่างนี้ทำเป็นปกติ

ควายตามอาละวาด

เมื่อตกลงใจตามนั้นแล้ว อารมณ์กังวลในทรัพย์สินก็ไม่มี เวลานั้นเกิดความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ แต่ก็เกิดมีความรู้สึกว่ามีควายตัวหนึ่งมายืนอยู่ข้างหลัง พร้อมกันนั้นก็มีความรู้สึกว่ามีมือๆ หนึ่งมาอุดที่ทวารหนักกันอุจจาระออก เมื่อหันหลังไปดูปรากฏว่าควายตัวนั้นกลายเป็นคน เป็นชายร่างผอมผิวดำสูงโปร่ง ปากแหว่งตรงจมูกลงมา เธอเอามืออุดทวารหนักเอาไว้ อุดแรงมาก ต้องใช้กำลังดิ้นสะบัดอยู่นาน เธอจึงเลิกอุดแล้วหายไป

มีเสียงบอกตามที่ถาม

เมื่อคนๆ นั้นหายไปแล้ว ก็เกิดอาการสงสัยว่า ควายกลายเป็นคนและมาอุดทวารหนักเพราะอะไร ก็มีเสียงกังวาลไพเราะมากตอบว่า “เพราะกรรมควายของเธอ” เมื่อฟังแล้วก็เกิดสงสัย คิดว่าเราเคยเกิดเป็นควายหรือ เสียงนั้นตอบว่า “ไม่ใช่” จึงถามเสียงนั้นว่า ที่บอกว่ากรรมควายนั้นหมายความว่าอย่างไร เสียงนั้นพูดว่า “เธอดูโทรทัศน์เรื่องสงครามเก้าทัพหรือเปล่า” ก็ตอบว่า ไม่ได้ดู เพราะอารมณ์คนแก่เหลาเหย่อย่างนี้ ดูละครไม่ไหวเพียงดูข่าวก็พอแล้ว

เสียงนั้นพูดว่า “สงครามที่เกิดแต่ละคราว การนำทหารออกรบมีจำนวนนับหมื่นอย่างสงครามเก้าทัพ ต้องใช้เนื้อวัว ควายเป็นอาหารมื้อละกี่ตัว” จึงถามเสียงนั้นว่า ฉันมีส่วนคุมทหารออกรบในสมัยสงครามเก้าทัพหรือ เสียงนั้นกลับตอบว่า “เกือบทุกชาติที่เกิดมาแล้ว ยกเว้นชาตินี้ เธอเคยเป็นแม่ทัพใหญ่บ้าง แม่ทัพรองบ้าง เป็นพ่อเมืองบ้าง แต่ละชาติรบตลอดทุกชาติ จึงต้องใช้เนื้อวัว ควาย เนื้อไก่ เนื้อปลา นับจำนวนไม่ไหว เป็นอาหารเลี้ยงทหาร กรรมนั้นตามสนองเธอเวลานี้ โดยเฉพาะที่เป็นโรคถ่ายไม่ออก ล้างก็ไม่ใคร่ออกนั้น เป็นโรคกรรมควาย”

เมื่อฟังเสียงนั้นแล้วก็อ่อนใจ เจ้ากรรมควายนี้ มันทรมานมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๒๕ หลายปีมาแล้ว ถามเสียงนั้นว่า กรรมควายจะชำระอย่างไรได้ เสียงนั้นตอบว่า “บวชเณร ๑๒๓ หรือ ๑๒๕ รูป และบวชชีกรรมบทสิบนั่น ให้เขาด้วยซิ” ก็รับปากกับเสียงนั้นว่า ถ้าอย่างนั้นไม่หนักใจ ขอแบ่งให้เธอด้วย จึงถามเสียงนั้นอีกว่า กรรมที่ตามสนองหมดเท่านี้หรือ เสียงนั้นหัวเราะกังวาลมากแล้วตอบว่า “ยังมีอีกมาก เตรียมตัวรับให้ดีเถอะ” บอกเสียงนั้นว่า ถ้าอย่างนั้นฉันจะปล่อยให้ร่างกายมันตาย เพื่อหลบเศษกรรม เสียงนั้นตอบว่า “ไม่มีทางหลบไปอย่างนั้นได้หรอก คำสั่งที่ให้อยู่ต่อ รออยู่แล้ว”

เมื่อทางออกเพื่อพ้นเศษกรรมไม่มี จึงถามเสียงนั้นว่า ถ้าถอยไม่ออก จะมีทางใดบ้างที่เพิ่มเติมจากการบวชเณร ลูกชายและให้ลูกหญิงรักษาศีลกรรมบทสิบ เพราะมีนักเรียนชาย รับอาสาบวชเณร ๑๒๓ คน นักเรียนทั้งหมดนี้เลี้ยงอย่างลูก มีความรู้สึกว่าเธอเป็นลูก นักเรียนชายก็คือลูกชาย และนักเรียนประจำหญิง ๘๐ คน เธอรับอาสาถือศีลกรรมบทสิบ ทั้งนี้ไม่ได้บอกนักเรียบไปกลับ เพราะถ้าพวกเธอสมัครบวชเณรและรักษาศีลอีก ที่พักจะไม่พอจึงไม่ได้บอกพวกเธอ คิดว่าถ้าบอกพวกเธออีก ส่วนใหญ่คงสมัครบวชเณรและรักษาศีลอีก

สร้างสถานที่ชำระจิต

เมื่อถามในการหาทางชำระหนี้กรรมเพิ่มเติมอีก เสียงนั้นตอบว่า “สร้างสถานที่ชำระจิตใจให้สะอาด” ถามท่านว่า สร้างวัดใช่ใหม เสียงนั้นตอบว่า “ไม่จำเป็น ถ้าวัดที่สร้างนั้นไม่รู้จักชำระจิตใจ สร้างไปก็เสียเงินเปล่า ได้ไม่เท่าเสีย ควรสร้างสถานที่เจริญกรรมฐานและมีอำนาจควบคุมโดยตรงอย่าหาคนอื่นมาเป็นเจ้าสำนักควบคุมจะต้องสะเทือนใจเหมือนที่ผ่านมาแล้วมากมาย” เมื่อคุยกับเสียงนั้นถึงตอนนี้แล้ว เสียงนั้นบอกว่า “พอแล้วนะเวลาคุยกันหมดแล้ว” แล้วเสียงนั้นบอกมาอีกว่า “ถ้าเธอสงสัยว่า เสียงนี้เป็นเสียงของใคร เธอจงทราบว่า เสียงนี้คือเสียงพ่อของเธอ” สบายไปเลย

ลอยไม่ขึ้น

เมื่อทราบวาระของกรรมตามสนอง รู้สึกหนักใจตัวเอง ขอทุกท่านพึงทราบว่า ไม่มีใครหลบกรรมได้ จึงหาทางออกด้วยการไปตามที่ต้องการ เวลานั้นมันเบื่อหมดทุกอย่าง เป็นอันว่าเคลื่อนไม่ได้ ในที่สุดก็เข็ญสุดกำลังพอออกได้ แต่มีร่างกายหยาบมาก ขอหยุดเรื่องนิมิตไว้เพียงเท่านี้ เพราะเรื่องยาวมาก เกรงว่าผู้อ่านจะรำคาญ

ตัดสินใจสร้างสำนักกรรมฐาน

วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๒ ถึงเวลาที่กำหนดจะไปท่าลาน พาเด็กนักเรียนไปชมโรงงานปูนซิเมนต์ท่าหลวง แต่ทว่าผู้เขียนเอง อยากจะไปชมสถานปฏิบัติกรรมฐานที่คณะศิษย์ท่าลานสร้างขึ้น รู้สึกว่าที่นี่มีศรัทธาแข็งแรงมาก งานก่อสร้างไม่เคยขอร้องและรบกวนเลย แต่ยังกลับนำปัจจัยและสิ่งของมาถวายมากมาย ก่อนจะไปได้ถามพระท่านว่ามีคนมากไหม พระท่านบอกว่า มีคนมามาก จึงเอาแหนบทองไปเพื่อแจก ๘๐๐ แหนบ ล๊อกเก็ต ๔๐๐ รวมแล้วคิดเป็นเงิน ๑๖,๔๐๐ บาท

เมื่อแจกจริงๆ กลับไม่พอแก่ท่านผู้มา ล๊อกเก็ตเคยแจกแก่ผู้ถวายสังฆทานชุดเล็ก ก็ต้องเปลี่ยนเป็นแจกแหนบแทน คราวต่อไปขอรับรองว่าจะเอาแหนบและล๊อกเก็ตไปให้พอ กำหนดไปเที่ยวหลังคือวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ มีหลายท่านบอกว่า ถ้าไปวันเสาร์หรืออาทิตย์ จะพบคนมากกว่านี้ ความจริงไปวันไม่ว่างนี้ดี เพื่อรู้กำลังใจแน่นอนกว่า

เงินที่ทำบุญวันนั้น

๑.ทำบุญซื้อที่ดินสร้างอาคาร ๑๔,๕๕๐ บาท
๒.ผาติกรรมสังฆทาน ๕๗,๙๙๐ บาท
๓.บูชาวัตถุมงคล ๕,๓๖๐ บาท
๔.ขายอาหารถวายทำบุญทั้งหมด ๕,๔๕๕ บาท
๕.ซื้อหนังสือธรรมะ ๒,๒๔๐ บาท
๖.ทำบุญถวายเป็นส่วนองค์หลวงพ่อ ๒๘,๔๑๐ บาท
รวมเงินทำบุญวันนั้นทั้งหมด ๑๑๑,๐๐๕ บาท

เงินทำบุญทั้งหมดนี้ ไม่ได้นำมาบำรุงวัดท่าซุง คงมอบไว้เพื่อเป็นทุนซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างต่อไป มีเงินส่วนหนึ่งที่นำกลับมาวัด คือ เงินถวายเพื่อสร้างพระปัจเจกพุทธเจ้าและเงินที่ใส่ย่ามเมื่อเดินออกมา รวมเงินที่รับมาวัดทั้งหมด ๘,๘๕๐ บาท รวมเงินที่ทุกท่านทำบุญวันนั้นทั้งหมด ๑๒๒,๘๕๕ บาท

ทั้งหมดนี้ใช้เวลาทำบุญจริงๆ ตั้งแต่ ๑๐.๐๐ น.ถึง ๑๓.๑๐ น.เศษ เมื่อเห็นว่าแม้เป็นวันธรรมดาซึ่งต่างคนต่างก็มีงานต้องทำ ยังอุตสาห์เสียสละเวลาที่จะพึงมีรายได้ มารวมกันและทำบุญ เป็นปัจจัยบอกถึงกำลังใจที่เป็นมหากุศลอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจสร้างสำนักปฏิบัติกรรมฐานที่นี่ มีกำหนดส่วนใหญ่ให้แล้วเสร็จไม่เกิน ๓ ปี คือ

๑.สร้างอาคารหลังคาแบนเป็นฐานรับ และสร้างอาคารเหมือนอุโบสถอยู่เบื้องบน


แบบศาลาแท่นพระอุโบสถ หลวงพ่อให้สร้างชั้นบนเป็นมณฑป ชั้นล่างเป็นศาลาปฏิบัติธรรม

สำหรับอาคารตามข้อ ๑ นั้น ชั้นล่างที่เป็นห้องโถง เป็นศาลาทำบุญหรือห้องฝึกกรรมฐานเบื้องต้น ชั้นบนที่มีรูปเป็นพระอุโบสถ เป็นที่เจริญกรรมฐานของท่านที่ฝึกคล่องแล้ว

๒.สร้างอาคารที่อาศัย ชั้นล่างเป็นห้องโถง เป็นที่ฉันอาหารของพระและรับแขกวันธรรมดา ชั้นบนมีห้องนอน ๑๐ ห้อง ขนาดห้องลึก ๘ เมตร กว้าง ๔ เมตร รวม ๑๐ ห้อง มีห้องโถงพอสมควร พอเป็นที่รวมสนทนากันได้ มีห้องส้วมห้องน้ำไม่น้อยกว่า ๖ ห้อง

สถานที่แห่งนี้เป็นสำนักปฏิบัติพระกรรมฐาน ขึ้นตรงกับวัดท่าซุง เนื้อที่ไม่จำเป็นต้องครบ ๖ ไร่ มีที่พอปลูกอาคารก็ใช้ได้ เมื่อทำการก่อสร้างและร่วมปฏิบัติกันจริงจังแล้ว เรื่องขยายเนื้อที่มีคนช่วยเอง ปัจจุบันขอให้เร่งรัดการก่อสร้างซึ่งสำคัญกว่าซื้อที่ เพราะเท่าที่มีอยู่แล้วรู้สึกว่าจะพอสร้าง

มุมการก่อสร้าง

มุมการก่อสร้างนี้ มีความสำคัญมาก เพราะถ้าไปถูกมุมมหาทุกขตะเข้า จะมีแต่ความแร้นแค้นยากจนทั้งสถานที่ปฏิบัติ และคนที่มาร่วมทำบุญ แต่ถ้าถูกมุมมหาเศรษฐี สถานที่ปฏิบัติก็ดี ผู้ร่วมทำบุญก็ดี จะมีความเป็นอยู่คล่องตัวมาก เคยสังเกตการณ์เรื่องมุมการก่อสร้างนี้มาแล้ว ๔๐ ปีเศษ ไม่เคยผิด มุมที่ส่งผลมี ๘ มุม แต่มุมที่สมควรมี ๒ มุม คือมุมมหาเศรษฐี กับมุมสารีบุตร ฉันชอบมุมมหาเศรษฐีมาก เพราะคณะที่ทำบุญร่วมไม่ยากจน

ให้วัสดุก่อสร้างเริ่มต้น


๑.ให้ปูนซิเมนต์ ๑๐๐ ตัน
๒.ให้เหล็ก ๒๐ ตัน

หมายเหตุ
ปูนและเหล็กให้ตามราคาที่ซื้อใด้ในปัจจุบัน แต่ถ้าคณะกรรมการซื้อได้ถูกกว่า ก็จะได้ปูนหรือเหล็กมากกว่าที่กำหนดให้ เพราะจะขออนุญาตญาติโยมและลูกหลานขอเอาเงินที่ถวายเพื่อใช้สอยส่วนตัวไปซื้อปูนและเหล็กซึ่งมีมูลค่าประมาณสามแสนเศษ และถ้าทำงานเข้มแข็งเอาจริงเอาจัง และพอจะหาได้จะให้อย่างนี้ ๓ ปี และปีหนึ่งๆ จะกำหนดทำบุญร่วมกันครั้งหนึ่ง ถ้าบังเอิญได้เงิน ก็จะร่วมสร้างสถานที่นี้จนแล้วเสร็จ

ท่านที่อ่านแล้ว จะร่วมทำบุญมากน้อยได้ตามกำลังทรัพย์และศรัทธา ส่งเงินทำบุญทางธนาณัติก็ได้ ขอให้บอกว่า ร่วมสร้างสำนักกรรมฐานท่าลาน

อาคารทำดังนี้

ศาลาแท่นพระอุโบสถ

๑.ทำพื้นติดดิน กว้าง ๒๐ วา เทหลังคาแบบเหมือนศาลา ๒ ไร่

๒.พระอุโบสถอยู่ชั้นบน ให้ทำเป็นอาคาร ๔ มุข ความกว้างของห้องกว้าง ๔ เมตร เหมือนกันทั้งศาลาและพระอุโบสถ รูปร่างอย่างนี้มีความประสงค์ให้มีรูปเหมือนวิมาน มุขแต่ละด้านกว้าง ๘ เมตร รูปทรงให้ช่างพิจารณาออกแบบให้เหมาะสม

๓.ที่ดินที่นี่ดูแล้วมีความแข็งพอไม่ต้องตอกเข็มก็ได้ ให้ทำเท้าช้างก้นเสา ๒.๕ เมตร ใช้คานดึงเข็มแผ่น เมื่อขณะที่จะเทพื้น ให้เทพร้อมกับคานให้เอาเหล็ก ๔ หุน เป็นเหล็กยืนของพื้น สอดเข้าไปในคานแล้วเทพร้อมกัน คานจะดึงพื้นอย่างนี้เรียกว่า คานดึงเข็มแผ่นจะไม่มีทรุด

กุฏิที่อาศัย

๑.เทพื้นเกาะคานเหมือนศาลา

๒.กว้างห้องละ ๔ เมตร เหมือนกันพื้นใช้กว้าง ๖ ห้อง ทำเป็นห้องนอน ๒ แถวลึกห้องละ ๘ เมตร ถ้าสงสัยให้ดูที่อาคารรับแขก ห้องนอนด้านละ ๕ ห้อง

๓.ยาว ๑๐ ห้อง เป็นห้องนอน ๕ ห้อง เว้นด้านตะวันตกไว้ ๒ ห้อง เอาไว้เป็นห้องโถง พอนั่งคุยกันได้ ๒ ห้อง อีกห้องหนึ่งทำห้องส้วมห้องน้ำ ควรมีห้องส้วมห้องน้ำ ชั้นละไม่น้อยกว่า ๖ ห้อง ทำด้านตะวันตกตรงกัน

๔.หลังคาของห้องพระให้เทแบนก่อน ต่อไปจะทำเป็นหลังคาทรงไทยแฝด ๓ หลังก็ได้ใส่ช่อฟ้าหน้าบันได้

หมายเหตุ
โดยเฉพาะชั้นล่างของศาลาและกุฏิ ควรทำให้เสร็จในปีแรก จะได้มีที่ไว้รับแขก ส่วนรายละเอียดนอกจากนี้ เอาไว้หารือกันเพราะไม่มีอะไรน่าหนักใจ ควรรีบลงมือทำ เงินที่รับสองครั้งคือเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ เอาเป็นเงินลงทุนเริ่มต้นก่อน ส่วนปูน ๑๐๐ ตัน เหล็ก ๒๐ ตัน ให้ไปเบิกที่ฉันได้ ตามที่สั่งซื้อแล้ว เป็นคราวๆ หรือจะหาเงินจากใครสำรองจ่ายไปก่อน แล้วเอาใบรับเงินไปเบิกที่ฉันได้ เพราะเงินมีพร้อมแล้ว แต่ต้องให้ทันเวลาธนาคารทำงาน

หมายเหตุ
ให้ลงมือเทเสาไปก่อนแล้วกำหนดงานวางศิลาฤกษ์เพื่อรวบรวมทุนเมื่อฉันมีเวลาว่าง

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์พุทธศรัทธา
ตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓

ตั้งแต่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๘ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ครบรอบ ๒๕ ปีในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ ศูนย์พุทธศรัทธาได้มีการบำเพ็ญกุศลรวมทั้งการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เรื่อยมา ในปี ๒๕๓๒ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระสุธรรมยานเถระ” ได้เมตตามาโปรดศิษยานุศิษย์และพุทธบริษัท ณ ศูนย์พุทธศรัทธา และได้เมตตารับศูนย์พุทธศรัทธาเป็นสำนักปฏิบัติพระกรรมฐาน ขึ้นตรงต่อวัดท่าซุง ได้โปรดให้สร้างศาลาปฏิบัติธรรมและกุฏิอำนวยการขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ชำระจิต

สิ่งก่อสร้างและถาวรวัตถุต่างๆ ของศูนย์ฯ รวมทั้งที่ดินคิดเป็นมูลค่าเป็นตัวเงินที่ได้จ่ายไปแล้ว ตั้งแต่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๘ จนถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นจำนวนเงินประมาณ ๓๗ ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากแรงศรัทธาของคณะกรรมการและสมาชิกของศูนย์พุทธศรัทธา รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง) ได้ร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และถวายเพื่อบูชาพระคุณอันไพศาลของพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี) ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑.งานก่อสร้างถาวรวัตถุ

๑.๑ กุฏิกองทุนศูนย์ฯ

เป็นถาวรวัตถุหลังแรกของศูนย์ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๒๘ ได้ต่อเติมและปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


ภาพกุฏิกองทุน ถาวรวัตถุหลังแรกของศูนย์พุทธศรัทธา


ภาพกุฏิกองทุน ณ ปัจจุบัน

๑.๒ ศาลาพระภาวนาวิสุทธิคุณ

เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ โดยได้รับความเมตตาจาก หลวงพ่อพระภาวนาวิสุทธิคุณ(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี)เป็นองค์ประธานในพิธี ในปี ๒๕๕๓ ได้มีการปรับปรุงทำฝ้าเพดานและติดมุ้งลวดทั้งหลัง เพื่อใช้เป็นที่พักเพิ่มเติมของผู้มาบวชเนกขัมมะบารมีซึ่งมีมากขึ้นทุกปี


ศาลาพระภาวนาวิสุทธิคุณ ศาลาปฏิบัติธรรมหลังแรกของศูนย์พุทธศรัทธา


ปรับปรุงทำฝ้าเพดานและติดมุ้งลวดเรียบร้อยแล้ว

๑.๓ กุฏิอำนวยการ

เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี ๒๕๓๒ ตามที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานได้มีบัญชาให้สร้างควบคู่กับศาลาหลังใหญ่ ใช้เป็นกุฏิรับรองพระที่ทางศูนย์พุทธศรัทธานิมนต์มาเจริญศรัทธา

๑.๔ ตึกกรรมฐาน

เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี ๒๕๓๕ ใช้สำหรับเป็นที่พักของผู้ที่มาปฏิบัติพระกรรมฐาน ชั้นบนเป็นห้องพักรับรองคนได้ประมาณ ๖๐ คน ชั้นล่างทำเป็นโรงอาหาร

๑.๕ ศาลาพระสุธรรมยานเถระ

เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๒ เป็นศาลาแท่นพระอุโบสถ ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานได้มีบัญชาให้สร้างขึ้น ชั้นล่างใช้เป็นศาลาบำเพ็ญกุศลและชั้นบนเป็นมณฑปจัตุรมุข หลวงพ่อได้เมตตามาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๒

และได้มีพิธีเททองหล่อพระนาคปรก หล่อรูปเหมือนหลวงปู่ปาน รูปเหมือนหลวงพ่อฤาษีฯ และพิธียกช่อฟ้าเอกมณฑปจตุรมุข เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา โดยพระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ เจ้าอาวาสวัดท่าซุง เมตตามาเป็นประธานในพิธี


แบบศาลาพระสุธรรมยานเถระ


๑๗ ก.ย.๓๒ พระเดชพระคุณหลวงพ่อกำลังเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ศาลาพระสุธรรมยานเถระ


พระเดชพระคุณหลวงพ่อกำลังวางแผ่นศิลาฤกษ์ ศาลาพระสุธรรมยานเถระ


๑๒ ส.ค.๕๓ พระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ จุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวง เริ่มพิธีเททองหล่อพระ


พระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ เป็นประธานในพิธียกช่อฟ้าเอก มณฑปจตุรมุข

หน้าบันมณฑปจตุรมุข

 
ทิศตะวันออกเป็นรูปสมเด็จองค์ปฐม                               ทิศใต้เป็นรูปเหมือนหลวงปู่ปาน

 
ทิศตะวันตกเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อฤาษีฯ                           ทิศเหนือเป็นตราศูนย์พุทธศรัทธา


มณฑปจตุรมุข ภาพถ่ายล่าสุดเมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓

ภายในมณฑปจตุรมุข เป็นที่ประดิษฐาน สมเด็จองค์ปฐม ทรงเครื่องพระเจ้าจักรพรรดิ สมเด็จองค์ปัจจุบัน รูปหล่อหลวงปู่ปาน และรูปหล่อหลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง พร้อมบุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ


สมเด็จองค์ปฐม ทรงเครื่องพระเจ้าจักรพรรดิ


บุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในมณฑปจตุรมุข


ผอบคริสตอลและเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจุบัน รูปหล่อหลวงปู่ปาน-หลวงพ่อฤาษีฯ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจุบัน ปิดทองประดับเพชรที่ซุ้มเรือนแก้วเสร็จแล้ว
รอช่างมาปั้นบัวและทำผ้าทิพย์ก็จะเสร็จสมบูรณ์

๑.๖ หอพระประดิษฐานพระนาคปรก

ศูนย์พุทธศรัทธา ได้จัดให้มีพิธีเททองหล่อพระนาคปรก และหล่อรูปเหมือนหลวงปู่ปาน และหลวงพ่อฤาษี เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ และสร้างหอพระขึ้นบริเวณทิศตะวันตกของมณฑปจตุรมุข เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระนาคปรก


พระนาคปรก


หอพระประดิษฐานพระนาคปรก

๑.๗ กุฏิกรรมฐาน

ใช้สำหรับเป็นที่พักปฏิบัติธรรมเวลามีงานบวชเนกขัมมะบารมี เป็นกุฏิถาวร ๕ หลัง และกุฏิชั่วคราว ๕ หลัง

๒.สร้างพระพุทธรูป

ศูนย์พุทธศรัทธาและผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาหลายองค์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

๒.๑ สมเด็จองค์ปฐม ทรงเครื่องพระเจ้าจักรพรรดิ ขนาดหน้าตัก ๓ ศอก
ประดิษฐาน ณ มณฑปจตุรมุข


สมเด็จองค์ปฐม ก่อนปิดทองประดับเพชร


สมเด็จองค์ปฐม ปิดทองประดับเพชรแล้ว

๒.๒ สมเด็จองค์ปฐม ปิดทองประดับเพชร ขนาดหน้าตัก ๓๐ นิ้ว
ประดิษฐานในศาลาพระสุธรรมยานเถระ(หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)

๒.๓ สมเด็จพระพุทธกัสสป ขนาดหน้าตัก ๘ ศอก

๒.๔ สมเด็จพระสมณโคดม (หลวงพ่อใหญ่) ขนาดหน้าตัก ๔ ศอก
ประดิษฐานในศาลาพระสุธรรมยานเถระ (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)

๒.๕ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
ประดิษฐานในมณฑปจตุรมุข

๒.๖ พระปางปฐมเทศนา
สร้างถวายพระราชกุศลครบ ๕๐ ปีทรงผนวช

๒.๗ พระทันใจปางปฐมเทศนาพร้อมปัญจวัคีย์
เป็นตราสัญลักษณ์ของศูนย์พุทธศรัทธา นอกจากสร้างพระแล้ว
ได้สร้างฉัตรปิดทองประดับเพชรและปลูกต้นโพธิ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

๒.๘ พระชำระหนี้สงฆ์ทันใจ หน้าตัก ๔ ศอก
สร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในหนึ่งวัน
ได้มีพิธีสร้างเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา
ต่อไปต้องหาทุนเพื่อที่จะปิดทองคำแท้
เพื่อทุกคนที่ร่วมสร้างจะได้มีอานิสงส์ในการชำระหนี้สงฆ์สมบูรณ์

๒.๙ สร้างพระพุทธรูปบรรจุในพระมหาเจดีย์
เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสืบทอดพระพุทธศาสนา ดังนี้

๑.พระพุทธรูปขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว
ถวายหลวงปู่ครูบาชัยวงษาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน จำนวน ๒๕๐ องค์

๒.พระพุทธรูปขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว
ถวายพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี จำนวน ๒๕๐ องค์

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันสร้าง พระพุทธรูปบรรจุในพระมหาเจดีย์ พระพุทธรูปเพื่อชำระหนี้สงฆ์ พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ถวายพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา สมเด็จองค์ปฐม(จำลอง) ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ๕ นิ้ว ๒ นิ้ว และพระผงสำหรับติดผนังในมณฑปจัตุรมุข รูปหล่อหลวงปู่ปาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หลวงปู่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี และรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

๓.งานก่อสร้างทั่วไป

มีโรงครัว, โรงเก็บของ, ห้องสมุดศูนย์, ห้องน้ำ-ห้องส้วม, โรงจอดรถ, กำแพง, ถนน, ถังเก็บน้ำใช้, ถังเก็บน้ำฝน, ท่อระบายน้ำ, ขยายเขตไฟฟ้าและโทรศัพท์, เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ บันไดท่าน้ำ รวมทั้งวัสดุคุรุภัณฑ์ต่างๆ


ในปี ๒๕๕๓ มีผู้มาบวชเนกขัมมะบารมีเพิ่มเป็นจำนวนมาก จึงได้สร้างห้องน้ำเพิ่มขึ้นอีก ๑๕ ห้อง

๔.ที่ดินศูนย์พุทธศรัทธา

ได้มาจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาค ถวายพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) เพื่อใช้สำหรับสร้างสำนักปฏิบัติพระกรรมฐาน น้อมถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาพระคุณหลวงพ่อ โดยมีรายนามผู้บริจาค ดังนี้

๑.คณะพุทธศรัทธาร่วมกันบริจาค ๑ ไร่ ๑ งาน ๕๓.๕ ตารางวา
๒.คุณสมพร พิสมัยและครอบครัว ๑๖๓ ตารางวา
๓.คุณสมพร พิสมัยและคุณสอาด พูลสวัสดิ์ ๑๐๕ ตารางวา
๔.คุณมนัส-คุณสมพร เพ็ญสุวรรณ ๖๕ ตารางวา
๕.คุณวรรณพร สุวรรณทรัพย์ ๖๒ ตารางวา
๖.คุณจำนงค์ ภู่ม่วง ๕๕ ตารางวา
๗.คุณพงษ์แก้ว น้อยวงษ์ ๔๖.๕ ตารางวา
๘.คุณศิรินันท์ บุญมากุล ๖๑ ตารางวา
๙.น.อ.สำรวย-คุณสุพิศ สุขเจริญ ๑๔๒ ตารางวา
๑๐.คุณประชุม สุรพันธ์เดชาชัย ๖๘ ตารางวา
๑๑.คุณสำราญ-คุณเฉลียว สังข์สุวรรณ ๑๐๒ ตารางวา
๑๒.คุณชนะ สิริไพโรจน์ และครอบครัว ๒๖๖ ตารางวา
๑๓.อ.วิภาพร วิรัชกุล,คุณสมภพ วังวิทยาฯ ๒๓๔ ตารางวา
๑๔.คุณเบ็ญจรงค์ จันทร์เรือง บริจาคที่ดินทำถนนเข้าศูนย์ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่

รวมที่ดินทั้งสิ้น ๗ ไร่ ๓ งาน ๒๓ ตารางวา เป็นเงิน ๔,๒๓๗,๖๓๓.๐๐ บาท

๕.กิจกรรมบำเพ็ญกุศล

๕.๑ การปฏิบัติพระกรรมฐาน

ศูนย์พุทธศรัทธาได้จัดให้มีการปฏิบัติพระกรรมฐานเป็นประจำทุกวันศุกร์ เริ่มเวลาประมาณ ๑๙.๓๐ น. ได้นิมนต์พระสุปฏิปันโนมาเจริญศรัทธา-ถวายสังฆทาน-ฟังธรรม ทุกวันศุกร์ที่ ๑ และ ๓ ของเดือน และมีการฝึกมโนมยิทธิ เป็นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เริ่มเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.


ทำวัตรสวดมนต์และเจริญพระกรรมฐานทุกวันศุกร์ ๑๙.๓๐ น.


ฝึกมโนมยิทธิทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ๑๒.๐๐ น.

๕.๒ การนิมนต์พระสุปฏิปันโนมาโปรดพุทธบริษัทที่ศูนย์ฯ

ศูนย์พุทธศรัทธาได้กราบอาราธนา พระสุปฏิปันโนมาเจริญศรัทธา มีการบำเพ็ญกุศล ถวายสังฆทาน–ฟังธรรม อบรมกรรมฐาน ในงานบำเพ็ญกุศลต่างๆ ของศูนย์ฯ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี ๒๕๒๘ มาจนถึงปัจจุบัน

๑.หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
๒.หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข จ.สิงห์บุรี
๓.หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ธัมมชโย วัดทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่
๔.หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต จ.หนองคาย
๕.หลวงพ่อพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี
๖.หลวงพ่อพระธรรมปิฏก วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี
๗.หลวงพ่อพระราชสุเมธี วัดภูตูมวนาราม จ.เลย
๘.หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ วัดเพชรบุรี จ.สุรินทร์
๙.หลวงพ่อคำพอง ติสโส วัดพัฒนาราม จ.อุดรธานี
๑๐.หลวงปู่เส็ง วัดบางนา จ.ปทุมธานี
๑๑.หลวงพ่อกัสสปมุนี วัดปิปผลิวนาราม จ.ระยอง
๑๒.หลวงพ่อทวี ชุติณธโร วัดโรงช้าง จ.พิจิตร
๑๓.หลวงพ่อบุญเย็นประกาสิต สำนักพระเจ้าพรหมมหาราช จ.เชียงใหม่
๑๔.หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง จ.สระบุรี
๑๕.หลวงพ่อเฮ็น วัดดอนทอง จ.สระบุรี
๑๖.หลวงปู่ทิม วัดพระขาว จ.พระนครศรีอยุธยา
๑๗.หลวงปู่จันทา ถาวโร วัดป่าเขาน้อย จ.พิจิตร
๑๘.หลวงปู่นาค วัดหนองโป่ง จ.สระบุรี
๑๙.หลวงพ่อวรรณา ปิยธโร วัดดอนพุด จ.สระบุรี
๒๐.หลวงพ่อประเสร็ฐ โอภาโส วัดโคกกระต่ายทอง จ.พระนครศรีอยุธยา
๒๑.หลวงพ่อเสงี่ยม วัดใหม่สันติธรรม จ.ลพบุรี
๒๒.หลวงพ่อแหร่ม วัดมะขามเรียง จ.สระบุรี
๒๓.หลวงพ่อพระครูวิชาญชัยคุณ วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท
๒๔.หลวงพ่อพระครูวิจารย์วิหารกิจ วัดสุขุมาราม จ.พิจิตร
๒๕.หลวงพ่อสุวัจน์ วัดถ้ำเขาปรางค์ จ.ลพบุรี
๒๖.หลวงพ่อครูบาศรีนวล ธัมมาวุธโธ วัดเพลง จ.นนทบุรี
๒๗.หลวงพ่อพระครูสุวรรณสารคุณ วัดปัญจาภิรมย์ จ.สระบุรี
๒๘.หลวงพ่อเจริญ วัดไทยงาม จ.สระบุรี
๒๙.พระอาจารย์วิชัย เขมิโย วัดถ้ำผาจม จ.เชียงราย
๓๐.พระอาจารย์คูณ ติกขวีโร วัดอุดมวารี จ.เชียงราย
๓๑.พระอาจารย์โชติ อาภัคโค วัดภูเขาแก้ว จ.อุบลราชธานี
๓๒.หลวงพ่อเทพ ถาวโร วัดป่าเทพเนรมิต จ.ลพบุรี
๓๓.พระครูปลัดอนันต์ พทธฺญาโณ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
๓๔.พระอาจารย์บุญรัตน์ กันตจาโร วัดโขงขาว จ.เชียงใหม่
๓๕.หลวงพ่อประสิทธิ์ วัดป่าหมู่ใหม่ จ.เชียงใหม่
๓๖.หลวงพ่อกิตติศักดิ์ กิตติสาโร วัดป่าหนองหลุบ จ.ขอนแก่น
๓๗.หลวงตาปานทอง วัดป่าจุฬามณี จ.ลพบุรี
๓๘.พระอาจารย์บุญลือ วัดจำปา จ.พระนครศรีอยุธยา
๓๙.พระครูมหานคราภิรักษ์ วัดมเหยงค์ จ.พระนครศรีอยุธยา
๔๐.พระอาจารย์อำนวย วัดรามพงศาวาส จ.พระนครศรีอยุธยา
๔๑.พระอาจารย์ทอง วัดโคกกระต่ายทอง จ.พระนครศรีอยุธยา
๔๒.พระอาจารย์วิทยา กัลยาณธัมโม วัดราษฏร์บำรุง จ.สิงห์บุรี
๔๓.พระครูพิศาลธรรมโฆษิต วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี
๔๔.พระมหาสุชาติ ปภัสสโร วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี
๔๕.พระมหาพรเทพ นันทจันโท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี
๔๖.พระมหาสายชล ถานุตตโร วัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี
๔๗.พระมหาวิชัย อมโร วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี
๔๘.พระมหาเสงี่ยม วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี
๔๙.พระมหาประกิจ อภินันโท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี

๕.๓ รายการธรรมทัศนาจร

คณะพุทธศรัทธา ได้จัดรายการธรรมทัศนาจร พาพุทธบริษัทไปบำเพ็ญกุศลตามวัดต่างๆ เป็นประจำตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน(ปี ๒๕๕๓) ได้จัดไปแล้วทั้งหมด ๓๐๐ กว่าครั้ง มีการถวายสังฆทาน ทอดกฐิน–ผ้าป่า และฟังธรรมโอวาทจากพระสุปฏิปันโนตามภาคต่างๆ จนสมาชิกเกิดความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา มีจิตศรัทธาในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

๕.๔ งานบวชเนกขัมมะบารมี

คณะพุทธศรัทธา ได้จัดให้มีงานบวชเนกขัมมะบารมีขึ้นปีละ ๔ ครั้ง เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ในวันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา ถวายพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยเริ่มจัดครั้งแรกในปี ๒๕๓๐ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน(ปี ๒๕๕๓) ได้จัดไปแล้วจำนวน ๖๙ ครั้ง

เมื่อวันวิสาขบูชา ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ศูนย์พุทธศรัทธาได้จัดงานเนกขัมมะบารมีครั้งที่ ๖๘ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฏก เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี ได้เมตตามาเป็นองค์ประธานในพิธี

๕.๕ งานทอดกฐินและผ้าป่าประจำปี

คณะพุทธศรัทธา ได้จัดงานทอดกฐินและผ้าป่าเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา ๒๙ ปี โดยในระยะแรกได้จัดทอดปีละ ๒ วัด ต่อมาเมื่อเริ่มสร้างศูนย์ฯ ได้จัดทอดเฉพาะวัดท่าซุงเพียงวัดเดียว และพร้อมกันนี้ได้จัดทอดผ้าป่า ณ ศูนย์พุทธศรัทธาด้วย

๕.๖ โครงการอบรมสมาธิเยาวชน

คณะพุทธศรัทธา ได้จัดให้มีการอบรมสมาธิให้แก่เด็กนักเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษา เพื่อปลูกฝังเยาวชนของชาติให้ยึดมั่นในคุณธรรม เป็นการสนับสนุนโครงการแผ่นดินธรรม-แผ่นดินทอง อันเป็นอุดมการณ์ที่สำคัญของชาติ เน้นให้เยาวชนเป็นคนดี มีระเบียบวินัย กตัญญูต่อบิดามารดาและผู้มีพระคุณ อีกทั้งยังนำแนวทางในการปฏิบัติไปใช้ในชีวิตประจำวัน


เด็กนักเรียนเข้าร่วมอบรมปฏิบัติสมาธิ ณ ศูนย์พุทธศรัทธา

กำหนดการกิจกรรมบำเพ็ญกุศลประจำปี

กิจกรรมบำเพ็ญกุศลประจำปี
ศูนย์พุทธศรัทธา
สำนักปฏิบัติพระกรรมฐานสาขาวัดท่าซุง
อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี

    ปฏิบัติพระกรรมฐาน ทุกวันศุกร์ งด เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด19

ศูนย์พุทธศรัทธา ได้จัดให้มีการบำเพ็ญกุศล ทำวัตรสวดมนต์ ถวายสังฆทาน ฟังธรรมโอวาทจากพระสุปฏิปันโน และปฏิบัติพระกรรมฐานเป็นประจำทุกวันศุกร์ เริ่มเวลาประมาณ ๑๙.๓๐ น.(มีพระสุปฏิปันโนมาเจริญศรัทธา ทุกวันศุกร์ที่ ๑ และ ๓ ของเดือน)

    ฝึกมโนมยิทธิ ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์
ศูนย์พุทธศรัทธา ได้จัดให้มีการฝึกมโนมยิทธิ เป็นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น.(ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์ ที่ตรงกับงานบุญของศูนย์)
ท่านที่สนใจจะเข้าร่วมฝึกมโนมยิทธิ กรุณาโทรฯแจ้งล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวก

    งานบวชเนกขัมมะบารมี งด เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด19
ศูนย์พุทธศรัทธา ได้จัดให้มีการบำเพ็ญกุศล บวชใจเพื่อสะสมบารมีในด้านเนกขัมมะขึ้นเป็นประจำ ปีละ ๔ ครั้ง
๑.งานบวชเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา วันมาฆบูชา เดือนกุมภาพันธ์
๒.งานบวชเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา วันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม
๓.งานบวชเพื่อถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม
๔.งานบวชเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช
ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม

    งานทอดผ้าป่าประจำปี งด เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด19
ศูนย์พุทธศรัทธา ได้จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลทอดผ้าป่าประจำปีขึ้นในวันวิสาขบูชา เพื่อหาทุนในการก่อสร้างมณฑปจตุรมุข ซึ่งยังขาดทุนทรัพย์อีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับผ้าป่าประจำปีจะจัดเป็นพิเศษกว่าปกติ โดยจะจัดให้มีผ้าป่ากองพิเศษ และจะพิมพ์ซองบอกบุญมายังสมาชิกของศูนย์ที่เคยมาบวชปฏิบัติธรรม และผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน
ส่วนงานบวชเนกขัมมะบารมีทุกครั้งจะมีการทอดผ้าป่าด้วยเป็นประจำ

    พิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและสรงน้ำพระ
ศูนย์พุทธศรัทธา ได้จัดงานทำบุญวันสงกรานต์เป็นประจำ โดยกำหนดในวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี จะมีพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ สรงน้ำพระ และจัดเป็นงานวันกตัญญูคือมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้บรรพบุรุษและผู้มีพระคุณต่อศูนย์ฯ ที่ล่วงลับไปแล้ว

    รายการธรรมทัศนาจร งด เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด19
ศูนย์พุทธศรัทธา ได้จัดรายการธรรมทัศนาจร นำสมาชิกเดินทางไปบำเพ็ญกุศล ถวายสังฆทาน และฟังธรรมโอวาทจากพระสุปฏิปันโนตามภาคต่างๆ มีภาคเหนือ ภาคอิสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก โดยทางศูนย์ฯได้จัดทำปฏิทินบำเพ็ญกุศล แจกให้สมาชิกทราบเป็นประจำ

    รายการเสียงธรรม งดกิจกรรมนี้
ศูนย์พุทธศรัทธา ได้จัดรายการ “เสียงธรรมจากศูนย์พุทธศรัทธา” ทางวิทยุชุมชน คลื่น เอฟ เอ็ม ๙๙.๗๕ เม็กกะเฮริ์ท วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ เริ่มเวลา ๐๖.๐๐ น.ถึง ๐๗.๐๐ น.