หลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ถ้าจิตเราจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์นี่นะคะ แล้วเวลาจะตายเราจะมีสติไหมคะ? ”
หลวงพ่อ:- “อ้าว..ถ้าเราจับเป็นอารมณ์ เวลานั้นมีสตินี่ เพราะเวลานั้นอารมณ์มันสูงจัด การจับพระนิพพานนี่ท่านเรียก “อุปสมานุสสติกรรมฐาน” ถ้าจับเป็นอารมณ์ ถ้าเวลาเริ่มป่วยเอาจิตจับไว้เลยนะ ทีนี้ในช่วงกลางระหว่างป่วยมันจะดิ้นตูมตาม อย่างไรก็ตาม จิตมันจะไม่ปล่อย
มีพระอยู่องค์หนึ่งท่านอายุมากแล้ว ท่านใช้อารมณ์แบบนี้นะ แล้วต่อมาท่านเป็นโรคกระเพาะ ท่านดิ้นถึงกับทะลึ่งพรวดๆ ก็เข้าไปหาท่าน พอจับตัวท่านปั๊บท่านก็หยุด พอเผลอหน่อยเดียวเอาอีกแล้ว แล้วก็สักครู่หนึ่ง ท่านก็หยุดดิ้น ไม่ใช่ดิ้นนะ ถึงกับโดดเลยนะ แน่น ตอนนั้นพอโดดแล้วก็เงียบ เงียบ รู้สึกสบาย พอสบายสัก ๒๐ นาที ไม่มีอะไรเลย อาการปกติ ท่านก็ลืมตาถามว่า “เพลหรือยัง” แล้วฉันก็มองดูนาฬิกาบอกว่า “ยังเหลืออีก ๒ นาที” ก็หลับตาไปอีกทีก็ ๕ โมงพอดี
นี่ก็หมายความว่า จิตมันมีสภาพจำ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้จิตจับอยู่จุดใดจุดหนึ่ง จับจุดนั้นแต่อย่างเดียว มันจะไปเฉพาะที่นั่น
ทีนี้เวลาที่ท่านตายไปแล้วก็ตามท่าน ก็ตามดูว่าไปอยู่จุดไหน อันนี้เป็นพยานได้ พระ ๒ องค์ ฆราวาสอีกคนหนึ่ง ฆราวาสก็มีสภาพแบบเดียวกัน ตอนต้นมาฝึกกรรมฐานบอกว่า
“อย่าสนใจในรูป ให้สนใจนิพพานอย่างเดียว สวรรค์ก็ดี พรหมก็ดี ไม่มีความหมาย”
ถ้าเราตั้งใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าบังเอิญตายแล้วไม่ถึงนิพพานมันจะต่อทันที เพราะอารมณ์เดิม จิตมันไปใช่ไหม..จิตมันรัก
ทีนี้แกก็มีสภาพแบบนั้น อีกประมาณสัก ๒๐ นาทีแกจึงสงบ พอสงบประเดี๋ยวยิ้ม ยิ้มสักครู่หนึ่งก็ตาย พอตายก็ตามไปดูที่นั่นละ ใช่ไหม.. ”
ผู้ถาม:- “ป่วยแบบนั้นไม่รู้สึกตัวนะคะ จิตเขาอยู่ที่ไหนคะ?”
หลวงพ่อ:- “ก็อยู่ที่จิต”
ผู้ถาม:- “ยังอยู่กับร่างกายใช่ไหมคะ?”
หลวงพ่อ:- “ถ้าหากว่ามันยังไม่ตายมันยังอยู่”
ผู้ถาม:- “มันได้รับความรู้สึกไหมคะ.?”
หลวงพ่อ:- “ไอ้นั่นเป็นเรื่องของประสาท ความรู้สึกประสาทมันใช้งานไม่ได้ แต่จิตมันใช้งานได้อยู่ ประสาทมันอยู่เหนืออำนาจจิต บังคับประสาทไม่ได้ ก็อย่างที่ดิ้นตูมๆ มันเรื่องของประสาทดิ้น จิตมันไม่ยอมดิ้นด้วย
ทีนี้ประเภทที่ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว อย่างภาษาหมอเขาเรียก “โคม่า” หรือคนโบราณเขาเรียก “ตรีทูต” อันนี้จิตมันยังทำงานอยู่”
ผู้ถาม:- “เวลาพูดกับเขา เขาไม่ได้ยิน”
หลวงพ่อ:- “ไม่ได้ยินเพราะประสาทไม่ทำงาน มันไม่รับเสียง คือประสาทมันใช้งานไม่ได้ แต่จิตมันยังทรงตัว”
ผู้ถาม:- “แต่จิตก็ยังยึดอารมณ์อยู่”
หลวงพ่อ:- “ยังอยู่ จิตนี่ไม่ปล่อย พอเริ่มต้นป่วยใหม่ๆ ถ้าจิตยึดอะไรอย่างมั่นคง มันจะยึดตลอด ฉันเคยเห็นมาหลายรายการแล้วนะ”
ผู้ถาม:- “ที่หลวงพ่อบอก “เอกัคคตารมณ์” หมายความว่าอย่างไรคะ.?”
หลวงพ่อ:- “ที่ท่านเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์อันเดียว คือทำอารมณ์ที่เป็นกุศลให้มันเป็นอย่างเดียวโดยเฉพาะ ที่เขาเรียกว่า “เอกัคคตารมณ์” และจิตมันมีสภาพจำ
เราจะสังเกตได้จุดหนึ่ง ถ้าว่าเราเคยเจริญสมาธิจิต แต่ว่าไม่เคยฝึกกรรมฐานโดยตรง ถ้าจิตมันมีอารมณ์โปร่งสบาย บางทีภาพเดิมมันขึ้นมา นี่ล่ะจิตมันมีสภาพจำ ฉะนั้น ถ้าหากว่าเราให้มันจำในของกุศล มันก็จำตลอด บางขณะเราอาจจะพูดไม่ดีกับเพื่อนบ้าง ไม่พอใจเพื่อนบ้าง ท่านบอกว่าก็ช่างมัน คือ ถืออารมณ์เดิม
เช้าน่ะตั้งอารมณ์ให้ดี เพราะช่วงนั้นจิตมันสะอาด ตื่นมาตอนเช้า
๑.ได้พักผ่อนดีแล้ว
๒.อารมณ์สบาย ก็ให้ตั้งอารมณ์ไว้เฉพาะกิจ มันจะจำตลอดวัน ถ้าตูมตามขึ้นมามันก็ไปจุดนั้นเลยฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราใช้ อนุสติ ซึ่งมี ๑๐ แต่ ๑๐ นี้ความหมายก็ดีทั้งหมด แต่ที่ดีจริง ๆ ก็คือ อุปสมานุสสติ คือ นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ คนประเภทนี้จะต้องมีนิสัยเป็นพุทธจริต พุทธจริตนี่เขาเป็นคนฉลาด ถ้าคนไม่ฉลาดก็ไม่เอา สอนเท่าไรก็ไม่เอา แม้แต่อยู่กับพระพุทธเจ้าก็ยังไม่เอาเลย “นิพพานัง” หรือ “นิพพานะ สุขัง” ก็ว่ามันไป
“ตอนเช้ามืดไม่ต้องภาวนาก็ได้ตั้งจิตไปเลย นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงพระอริยสงฆ์ พรหมและเทวดาทั้งหมดตลอดจนท่านผู้มีคุณ ขอจงเป็นพยานแก่ข้าพเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาแล้วทั้งหมด หรือจะทำในกาลข้างหน้าก็ตาม ไม่ต้องการอย่างอื่น ต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน จิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้แหละ
ตอนที่ภาวนา เราจะภาวนาว่าอะไรก็ได้ ที่เราคล่องตัว ใช่ไหม…ง่ายไหมล่ะ…ไอ้ที่ว่าง่ายน่ะ ฉันไม่ได้สร้างขึ้นมาเองนะ ในพระสูตรจากพระไตรปิฎกมีเยอะ”
.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง
สาธุ นิพพานะ สุขัง สาธุ