คุณสมบัติของพระโสดาบัน

คุณสมบัติของพระโสดาบัน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      พระโสดาบันที่แท้จริง อารมณ์ที่ทรงได้ก็คือ มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ มีศีล ๕ บริสุทธิ์ มีจิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ ฉะนั้นท่านทั้งหลายที่อ่านอยู่ที่นี้ อันดับแรก ให้วัดกำลังจิตของท่านว่าความดีขั้นพระโสดาบันแล้วหรือยัง ถ้าเวลานี้ทำไม่ได้ เมื่อไรเราจะทำได้

 

คุณสมบัติของพระโสดาบัน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

บรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อไปก็เป็นวาระที่บรรดาท่านพุทธบริษัทจะศึกษาในขั้นอริยผล แต่ความจริงเรื่องของพระโสดาบัน เราก็แนะนำกันมาแล้ว ทั้งระดับเข้มข้นและทั้งระดับอ่อนที่สุด

คำว่า เข้มข้น ก็ได้แก่ เอกพีชี คำว่า เอกพีชี ก็หมายความว่า ถ้าชาตินี้เป็นพระโสดาบัน ชาติหน้าเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวเป็นอรหันตผล

ก็จงอย่าลืมว่าคนเป็นพระโสดาบันแล้ว บางทีก็ไม่ต้องรอเวลามากนัก ขณะที่นั่งทรงจิตอยู่ในขั้นโสดาบันนั้นเอง ท่านกล่าวว่า ถ้ามีอารมณ์ไม่ท้อถอย ก็ทำให้จิตให้เข้าถึงอรหัตผลในขณะเดียวกัน เรียกว่าในที่นั่งเดียวกัน

คำว่า ที่นั่งเดียวกัน ก็หมายถึงว่าในขณะที่นั่งนั่นแหละ ยังไม่ลุกจากที่ ทำจิตให้เข้าถึงความเป็นอรหัตผลเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ยังไม่ขอพูด เพราะเป็นกำลังใจของบุคคล คือ ไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำเรื่องกำลังใจ แนะนำกันไม่ได้ เว้นไว้แต่คนที่มีกำลังใจเข้มแข็ง

วันนี้ก็ขอย้อนต้นอีกนิดหนึ่ง เพื่อทวนผลแห่งการปฏิบัติของบรรดาท่านพุทธบริษัท

อันดับแรก พระโสดาบัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นผู้มีปัญญาเล็กน้อย เป็นผู้มีสมาธิเล็กน้อย มีศีล ๕ บริสุทธิ์ เคารพพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์

เป็นอันว่าพระโสดาบันไม่มีอะไรมาก เคยพูดไว้ในหลายสถาน พระโสดาบันก็คือชาวบ้านชั้นดีนั้นเอง แต่ที่เรียกว่า พระโสดาบัน ก็คือว่า เป็นผู้มีกระแสหรืออารมณ์จิตเข้าถึงพระนิพพาน เป็นบุคคลที่ไม่ถอยหลัง เดินก้าวไปตามลำดับ

จากพระโสดาบันไปเป็นพระสกิทาคามี ไปอนาคามี และอรหันต์ นี่พูดถึงเดินช้า ๆ ถ้าคนที่เดินเร็ว ๆ จากพระโสดาบันแล้วก็ถึงพระอรหันต์เลย เรื่องจะถอยหลังลงมากลับเป็นปุถุชนคนธรรมดาอีกไม่มี สำหรับพระอริยเจ้า

พระโสดาบันที่แท้จริง อารมณ์ที่ทรงได้ ก็คือ
๑.มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
มีความเคารพในพระธรรม
มีความเคารพในพระสงฆ์
๒.มีศีล ๕ บริสุทธิ์
๓.มีจิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์

สำหรับอารมณ์จิตท่านที่เข้าถึง เอกพีชี มีความเข้มแข็ง แนะนำเพียงเท่านี้ก็ได้ เป็นของไม่ยาก เว้นไว้แต่ว่าท่านที่มีอารมณ์จิตอ่อนหรือพวกปทปรมะ พวกปทปรมะนี่พระพุทธเจ้าไม่สอน เพราะว่าถ้าขืนสอนก็เหนื่อยเปล่า ซึ่งไม่มีประโยชน์

ฉะนั้นท่านทั้งหลายที่อ่านอยู่ที่นี้ อันดับแรก ให้วัดกำลังจิตของท่านว่า ความดีขั้นพระโสดาบันแล้วหรือยัง ถ้าเวลานี้ทำไม่ได้ เมื่อไรเราจะทำได้ กำหนดเวลาไว้ให้สั้นที่สุด เพราะว่ามันของปกติธรรมดา ซึ่งไม่มีอะไรเป็นของยาก ไม่มีอะไรเป็นของหนัก

ถ้าอยากทราบว่า เรามีความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ก็ดูกำลังใจของเรา เพราะว่า พระโสดาบัน ไม่ใช่เป็นบุคคลผู้ถือมงคลตื่นข่าว เขาว่าดีไหนก็ไปนั้น เขาเฮไหนไปนั้น วิเศษที่ไหนก็ไปที่นั้น แต่ความจริงต้องการให้ท่านมีกำลังใจแน่วแน่ แม้แต่ท่านจะอยู่บ้านของท่านเอง ไม่จำเป็นต้องมาที่วัด

คำว่า ไป หมายความว่าฮือตามข่าวลือกัน เขาลือว่าดีที่ไหนก็ไปที่นั้น ไปแล้วก็ยังไม่พอใจ เขาลือต่อว่าที่โน่นดีกว่าไปที่โน่นอีก

ก็เป็นอันว่าเป็นคนที่มีกำลังไม่แน่นอนอย่างนี้ ยังถือว่าไม่ได้มีความเคารพในองค์พระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง ถ้ามีความเคารพพระพุทธเจ้า ถ้ามีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ เราต้องไปศึกษาที่ไหนกัน แล้วการที่จะทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์มันยากนักรึ ศีล ๕ ที่เราพึงทำมันก็เป็นของที่เราจำได้ขึ้นใจ เมื่อมีอารมณ์เราปฏิบัติอย่างนี้เพื่อพระนิพพาน

นี่เนื้อแท้จริงๆ พระโสดาบันมีเท่านี้ ใม่ใช่ของยาก ถ้าท่านสดับ บอกว่ายาก ทำยาก ก็รู้สึกสลดใจ เพราะ

ท่านเกิดมาได้ เพราะท่านมีศีล ท่านมีทรัพย์สินได้ เพราะอาศัยบริจาคทาน ท่านมีสติปัญญามาได้ เพราะอาศัยการเคารพในพระรัตนตรัย แต่มาชาตินี้กลับว่าสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ยาก ทำไม่ได้ ท่านต้องกลับไปอบายภูมิใหม่

เป็นอันว่าคุณธรรมของพระโสดาบันเพียงเท่านี้ เรียกว่าย้อนกัน ต่อไปก็จะพูดถึงเครื่องประดับใจของพระโสดาบัน

เครื่องประดับใจของพระโสดาบัน นั้นก็คือ

๑.ไม่ลืมความตาย คิดถึงความตายเป็นปกติ มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่มีความตายเป็นของเที่ยง อย่างไรเราตายแน่

และความตายนี่ไม่ได้บอกว่าจะตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายกลางคืน ท่านกำหนดไว้เพียงแค่นี้ ไม่ใช่คิดว่าอีก ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี จะพึงตาย ถ้าคิดอย่างนั้นจัดว่าเป็นไกลจากความเจริญของจิต เป็นอันว่าอารมณ์เข้าเขตอบายภูมิเสียแล้ว เพราะประมาทในชีวิต

พระโสดาบันท่านคิดแต่เพียงว่าวันนี้น่ะอาจจะตาย แต่ว่าตายเวลาไหนยังไม่รู้ นี่เราคุยกันเวลานี้พูดไม่ทันจบ ตายเสียก็ตายไปก็ได้ ถ้าเวลาอ้าปากจะพูด ไม่ทันจะพูดตายเสียก็ได้ เขาคิดเฉพาะวันนั้นว่าวันนี้จะต้องตาย

ในเมื่อเราจะต้องตายแล้ว เราจะยอมรึ ตายไปลำบากเราจะเอารึ เพราะเวลานี้เราได้แสงสว่างจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อารมณ์จิตจับมั่น

บุคคลใดเคารพในคุณพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ บุคคลนั้นจะไม่ลงอบายภูมิ นี่อันดับแรกยึดเข้าไว้ก่อนเป็นทุนประจำใจ

ประการที่ ๒ ยอมรับนับถือคุณรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ ก็คือ เคารพในศีล ๕ ไม่ละเมิดศีล ๕

ถ้าเรายังละเมิดในศีล ๕ อยู่ จะบอกว่าเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ ยังไม่ได้ ยังฝ่าฝืนคำแนะนำสั่งสอนกันอยู่ เขาเรียกว่าเป็นคนหัวดื้อรั้น ไม่เชื่อกัน

ถ้าเคารพจริง รักกันจริง เชื่อกันจริง ก็ต้องปฏิบัติไม่ฝ่าฝืน ต้องทรงศีลให้บริสุทธิ์ นี่จัดว่าเป็นทุน ถ้าเราตายเวลานี้เราจะไม่ไปอบายภูมิ

เป็นอันว่านี่เป็นเครื่องประดับอันแท้จริง ๆ ก็คือ การเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ และก็ มีศีล ๕ บริสุทธิ์ นี่เนื้อแท้ของ พระโสดาบัน เป็นตัวแก่น หรือว่าเป็นเสา หรือว่าตัวอาคาร

ทีนี้เครื่องประดับของพระโสดาบันต้องมี ไม่ว่าอะไรทั้งหมดถ้าไม่มีเครื่องประดับมันก็ไม่สวย คนเราถ้ารูปร่างหน้าตาจะสวย ทรวดทรงจะดีอย่างไรก็ตาม ถ้าเดินแก้ผ้าโทงๆ มันก็แลดูไม่น่ารัก มันต้องมีเครื่องประดับ อย่างน้อยก็ต้องมีผ้าหุ้มกาย จะสีสดหรือสีไม่สดก็ตาม นี่ประการหนึ่ง ก็มีเครื่องประดับอย่างอื่นเข้ามาพอกเข้ามาด้วย เพิ่มเติมเข้ามาอย่างนี้ก็จะแลดูงามสง่า น่ารัก น่าชม น่านิยม น่าทัศนา

ข้อนี้อุปมาฉันใด แม้อารมณ์พระโสดาบันก็เหมือนกัน ถ้ามีความรู้สึกแต่เพียงว่า เคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ มีศีล ๕ บริสุทธิ์ รู้สึกว่าอารมณ์จิตมันแห้งแล้งเต็มที แต่ถ้าเป็นคน ประเภทแก้ผ้าเดิน

อันนี้เราก็มีอารมณ์ประดับอีกอันหนึ่ง ก็คือ มรณานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ไม่ประมาทในชีวิต

จงอย่าคิดว่าเราจะมีชีวิตถึงวันพรุ่งนี้ ถ้าเรามีความรู้สึกว่าเรามีชีวิตถึงวันพรุ่งนี้ ก็รู้สึกว่าประมาทมากเกินไป จงคิดว่าวันนี้แหละเราอาจจะตาย แต่ว่าเวลาไหนยังไม่แน่ จิตจะได้ยึดอารมณ์ความดีเข้าไว้ อันนี้เป็น มรณานุสสติกรรมฐาน

เครื่องประดับอันดับที่ ๒ ที่มีความสำคัญ พระโสดาบันท่านกล่าวว่า มีสมาธิพอสมควรเล็กน้อย และมีปัญญาไม่มากนัก องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เครื่องประดับอันดับต่อไปก็คือ จาคานุสสติกรรมฐาน

คำว่า จาคานุสสติกรรมฐาน ก็ดี มรณานุสสติกรรมฐาน ก็ดี สีลานุสสติกรรรมฐาน คือระลึกถึงศีลเป็นอารมณ์ก็ดี พุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ก็ดี ธัมมานุสสติ นึกถึงพระธรรมเป็นอารมณ์ก็ดี

จงอย่าลืมว่าเป็นอารมณ์คิดทั้งหมด ไม่ใช่อารมณ์ทรงตัว คือไม่ใช่ปักหลักหลับตากันอย่างเดียว ต้องใช้ทั้งเวลาหลับตา ทั้งเวลาลืมตา เวลาอยู่สงัด เวลาอยู่ในฝูงชน เวลายามว่าง เวลาการงานเข้ามาถึง ต้องใช้อารมณ์นี้ทั้งหมด เรียกว่า ไม่ยอมลืมพระพุทธเจ้า ไม่ยอมลืมพระธรรม ไม่ยอมลืมพระสงฆ์ ไม่ยอมลืมศีล ไม่ยอมลืมความตาย

เครื่องประดับอีกชิ้นหนึ่งนั้นก็คือ จาคานุสสติ เราจะเห็นตามประวัติว่า ท่านที่เป็นพระโสดาบัน ท่านพวกนั้นไม่มีความหวงแหน

คำว่า ไม่หวง หมายความว่า มีกำลังใจดี ไม่ใช่ว่ามีอะไรให้หมด แต่ว่าให้ในเขตที่ควรแก่การเคารพ

ถ้าหากว่าเขตใดก็ตามเป็นเขต อุดมเขต หรือบุคคลใดก็ตามเป็น ปูชนียบุคคล

อุดมเขต หมายถึง เขตที่ทรงความสุขสูงสุด ได้แก่ เขตของพระรัตนตรัยก็ดี

ปูชนียบุคคล บุคคลที่ควรแก่การบูชาก็ดี หรือว่าเป็นบุคคลผู้ควรแก่การสงเคราะห์ เช่น คนที่ได้รับความยากลำบาก

อันนี้พระโสดาบันไม่หวงทรัพย์สินของตน แต่ว่าจะไม่ใช่ทุ่มเทจนหมดตัว ท่านเป็นคนที่ปัญญา ไม่ใช่มีบาทให้บาท มี ๑๐ บาทให้ ๑๐ บาท มี ๑๐๐ บาทให้ ๑๐๐ บาท อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าให้อย่างนั้นแล้วเดือดร้อนภายหลังด้วย อย่างนี้ไม่ใช่อารมณ์ของพระโสดาบัน เป็นอารมณ์ของคนโง่ เพราะว่าพระโสดาบันท่านไม่โง่ เพราะว่าพระโสดาไม่โง่ เป็นคนฉลาด

ทีนี้ จาคานุสสติกรรมฐาน มีการนึกถึงทานการบริจาคอยู่เป็นปกติ นึกถึงทานการบริจาคอยู่เป็นปกติ นึกถึงการให้ทาน มีกำลังใจเสมอว่า เราจะสงเคราะห์บุคคลอื่นให้มีความสุขตามกำลังที่เราจะพึงทำได้

ถ้าเรามีทรัพย์ เราจะให้ทรัพย์ เราไม่มีทรัพย์เราสามารถให้กำลังได้ เราจะให้กำลังช่วยงาน ถ้ากำลังไม่มี ทรัพย์ไม่มี เราก็จะแนะนำให้ท่านผู้นั้นมีความสุข ตามที่เราสามารถจะพึงแนะนำได้ กำลังของพระโสดาบันจดจ่ออยู่ในเรื่องของ จาคานุสติกรรมฐาน อย่างนี้

และอย่าคิดว่า จาคานุสสติกรรมฐาน นี่จะต้องไปทำเวลาสงัด มานั่งนึกว่าเราจะให้คนนั้น เราจะให้คนนี้ เราจะให้คนโน้น อย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนี้เขาเรียกว่าเปลือกของจาคานุสสติกรรมฐาน

เนื้อแท้จริงๆของ จาคานุสสติกรรมฐาน นี้ไม่ต้องนั่งหลับตาก็ได้ ให้อารมณ์จิตมันทรงตัวว่า เราพร้อมในการที่จะสงเคราะห์บุคคลและสัตว์ให้มีความสุข ขณะใดได้มีการสงเคราะห์ ขณะนั้นมีการชื่นบานของจิตปรากฏ อย่างนี้ท่านเรียกว่า พระโสดาบัน แน่

ถ้าเราจะพูดกันไปว่า การนั่งนึกมันจะมีผลหรือ ถ้าว่านั่งนึกมันมีผลเพราะว่าตั้งใจจะทำ ตัวอย่างนางวิสาขา มหาอุบาสิกาเป็นพระโสดาบัน ท่านให้ทานไม่อั้น แต่ว่าทานของท่านต้องอยู่ในเขตดี คือในเขตของพระรัตนตรัย

ถ้าพระสงฆ์มีความลำบากเพียงใด นางวิสาขาไม่ยอม เรียกว่าอดใจไม่ได้ ต้องให้ ต้องสงเคราะห์ เช่น ภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า มาตอนออกพรรษามันเปียกจัด ผ้าจีวรเปียกหมด สมัยนั้นเขาให้กัน ๓ ตัว คือ จีวร สบง สังฆาฏิ ไม่มีผ้าผลัด นางวิสาขาก็ขอพระพุทธเจ้าถวายผ้าวัสสิกสาฎก พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต อย่างนี้เป็นต้น

เป็นอันว่าทนไม่ไหว เห็นคนดีมีทุกข์ ท่านทนไม่ได้ แต่ต้องระวัง พระก็พระเถิด ถ้าเป็นพระชั่ว ท่านก็ไม่สงเคราะห์เหมือนกัน ตัวอย่างเราจะเห็นได้ว่า สำนักของนางวิสาขาก็ดี ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดี ไม่สงเคราะห์พระชั่ว

ตัวอย่าง ในสมัยหนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมพระเรวตะ น้องชายพระสารีบุตร พระเรวตะอยู่ในป่า เป็นเด็กอายุแค่ ๗ ขวบ ได้อรหัตผลเป็นปฏิสัมภิทาญาณ

ก่อนที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารจะเสด็จไปถึง พระเรวตะก็เนรมิตป่าให้เป็นเมือง เป็นเมืองแก้ว แพรวพราวด้วยเครื่องประดับ อาคารทั้งหมดเป็นแก้วทั้งหมด เป็นสถานที่มีความสุขสบาย

พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั้งหลายประมาณ ๒๐,๐๐๐ รูป เทวดาทั้งหลายก็แปลงกายเป็นคนมาบำเพ็ญกุศล เป็นเหตุให้พระแก่ ๒ องค์นินทาพระพุทธเจ้า เวลานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ พระก็กลับหมด (จะขอลัดตัดเฉพาะตอนปลาย)

ต่อมาบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็นั่งสนทนาพรรณนาความดีของพระเรวตะ ว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการ เข้าไปอยู่ในป่าก็สามารถมีเมืองแก้วเป็นที่อยู่ แต่ภิกษุแก่ ๒ องค์ กลับนินทาสมเด็จพระบรมครู คือ นินทาพระพุทธเจ้า หาว่าท่านพระพุทธเจ้าเห็นแก่หน้าบุคคล เพราะว่า

๑.พระเรวตะเป็นน้องชายพระสารีบุตร จึงได้ไปเยี่ยม
๒.พระเรวตะอยู่ในเมืองแก้วแพรวพราวไปด้วยเครื่องประดับ มีความงามในตัวเมือง มีคนก็สวย มีอาหารก็ดี มีคนบำเพ็ญกุศลทำบุญทำทานมาก สงเคราะห์มาก จึงได้ไป

ไม่ได้รู้ว่าที่นั้นความจริงเป็นป่าชัฏ พระเรวตะเนรมิตขึ้นด้วยอำนาจของฤทธิ์

บรรดาพระทั้งหลายมีความเห็นไม่ตรงกัน เวลาที่ไปบ้านของนางวิสาขา พระพวกเพื่อนก็พรรณาความดีของพระเรวตะให้นางวิสาขาฟัง นางวิสาขาก็ทำบุญด้วย ทำกุศลสงเคราะห์ด้วยประการทั้งปวง

พระพวกหลังไปนั่งนินทาพระพุทธเจ้าให้นางวิสาขาฟัง ในที่สุดวันนั้นนางวิสาขาเขาไม่ใส่บาตรให้กิน อารมณ์ของพระโสดาบันไม่บูชาชั่ว บูชาดี

บรรดาท่านพุทธบริษัทที่มาวัดวันนี้ มากันทำไม จิตของท่านเคยคิดไหมว่าที่มาคราวนี้จะมารับจ้างวัด ทำงานทุกอย่างต้องการค่าจ้าง ต้องการรางวัลเท่านั้นเท่านี้ มีหรือเปล่า ทุกคนที่มาไม่เคยมีใครบอกว่า มาคราวนี้ต้องการค่าจ้าง ต้องการรางวัล เป็นอันว่าทุกท่านมาด้วยจาคานุสสติกรรมฐานด้วยกันทั้งหมด

อันดับแรก กำหนดจิตว่าเราจะช่วยงานวัดให้เป็นไปด้วยดี การมาคราวนี้ ทุนวัดให้เป็นไปด้วยดี การมาคราวนี้ ทุนวัดให้เป็นค่ารถค่าเรือก็ไม่มี ค่าจ้างแรงงานก็ไม่มี และยังไม่เคยกำหนดรางวัลอะไรให้สักนิดหนึ่งว่า ทำงานเสร็จจะให้รางวัลอะไร อย่างนี้ก็ไม่เคยปรารภ แล้วท่านมาทำไม นึกถึงกำลังจิตของเราว่า เรามาทำไมกัน

ที่มาจริงๆ คือเครื่องประดับใจ จาคานุสสติกรรมฐาน อันนี้เป็นตัวแท้ ไอ้ตัวนั่งนึกน่ะมันไม่แท้ ตัวทำนี่แหละเป็นตัวจริงๆ ไอ้ตัวนั่งนึก ฝึกให้จิตมันทรงอารมณ์ ให้อยากทำ และเต็มใจทำ ถึงเวลาจะทำก็ทำจริงๆ แต่ว่าเวลานี้ท่านทำจริงใจในด้าน จาคานุสติกรรมฐาน จาคะ เขาแปลว่า สละ หรือว่า ละ

ประการที่สอง ท่านต้องละทรัพย์สินในบ้านของท่าน บุคคลในบ้านของท่าน อันเป็นที่รัก ที่ห่วงใย ที่หวงแหน ตัวออกจากบ้านมา ถ้ากำลังใจไม่เข้มแข็งมันมาไม่ได้ บ้านที่รัก ทรัพย์สินที่หาได้ยาก ข้างหลังมันจะเป็นอย่างไร ก็ไม่รู้เสียแล้ว เมื่อก้าวออกจากบ้าน

ก่อนจะออกจากบ้านน่ะ จ่ายก่อนไปวัด คราวนี้ควรจะมีอะไรไปบ้าง นี่ควรจะมีอะไรบ้าง นี่ละอีกแล้ว สละอีกแล้ว ทรัพย์สินเป็นที่รัก จ่ายโน่น จ่ายนี่ จ่ายนั้น ถึงแม้ว่าจะมาเพื่อตัวเรา แต่ว่ามาเพื่อกิจอื่น ไม่ใช่กิจของส่วนตัว ต้องถือนั้นเป็น จาคะ

ประการที่สาม เมื่อจะมาเสียค่าพาหนะ นี่มันเสียเงินอีกแล้ว ละอีก เงินตัวนั้นเราไม่ได้เสียดายเลย เป็นตัวละเด็ดขาด เมื่อมาถึงวัด ทั้งเงินก็ดี ทั้งของก็ดี แรงกายก็ดี แรงปัญญาก็ได้ดี ทุกคนทำงานไม่ย่อท้อ หวังจะสนับสนุนพระพุทธศาสนา

จิตไปจับอะไร จับพระพุทธเจ้า จับพระธรรม จับพระสงฆ์ จับศีล จับทาน เพราะเราไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าเราจะตายเมื่อไรก็ได้ อันนี้เป็น จาคานุสสติกรรมฐานแท้ ที่บรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติ

เป็นอันว่าเครื่องประดับของพระโสดาบันในด้านมรณานุสสติกรรมฐานที่เราทำนี่ กลัวจะตายไปจน ต้องการตายแล้วเป็นคนรวย การให้ทานตายแล้วรวย ถ้าไม่รวยทรัพย์เรารวยวาสนาบารมี ดีไม่ดีก็รวยพระนิพพาน อย่างเลวที่สุดเราก็เป็นเทวดา อย่างกลางเราก็ไปพรหม อย่างสูงสุดก็ไปนิพพาน

ถ้า ละ ตัวเดียวแท้ๆ ปรากฏในใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างทำเพื่อตัดกิเลส คือโลภะที่มีอยู่ในจิตใจ ไม่ให้มันสถิตอยู่ในใจ ตัวนี้หวังได้พระนิพพาน

เป็นอันว่าอารมณ์ของท่านพุทธบริษัททุกท่านวันนี้ ขณะที่เรามาทำรวมกัน ตั้งใจว่าจะทำไปตลอดงาน เป็นตัว ละ ใน จาคะ ตัวสูงสุดในเขตพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็น ปรมัตถบารมี

จากหนังสือ ธรรมปฎิบัติเล่ม ๑๖ หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ธรรมโอวาท และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

6 ตอบกลับไปที่ คุณสมบัติของพระโสดาบัน

  1. เสขะ บุคคล พูดว่า:

    มรณานุสติ จะยอมไม่ลืมเด็ดขาด ….

  2. ฉัตร พูดว่า:

    สาธุ อนุโมทนาครับ

  3. man พูดว่า:

    อนุโมทนาครับ สาธุๆๆ

  4. Name (required) พูดว่า:

    ……สาธุ……..กราบนมัสการหลวงพ่อครับ
    ขอแชร์นะครับ

  5. Setthapoom Buathong พูดว่า:

    สาธุครับ

  6. kaewkaow พูดว่า:

    อนุโมทนาสาธุ แด่หลวงห่อค่ะ …. และขออนุญาต กอปปี้ไปไว้และอัดสำเนาน่ะค่ะ

ความเห็นถูกปิด