หัวใจการเจริญพระกรรมฐาน

หัวใจการเจริญพระกรรมฐาน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      ให้ระงับความคิด ที่จะไปนั่งเพ่งเล็งชาวบ้านเขา คนนั้นดี คนนี้เลว ดูใจเราเฉพาะเท่านั้น ว่าใจของเรามันดี หรือว่าใจของเรามันเลว ใช้สติสัมปชัญญะควบคุมให้มีศีลบริสุทธิ์ ระงับนิวรณ์ห้าประการได้ทุกขณะ ทรงพรหมวิหารสี่

 

หัวใจการเจริญพระกรรมฐาน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

วันนี้ก็จะขอย้อนพูดถึงหัวใจของการเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา เมื่อฟังแล้วก็จำกันไว้ด้วย ตามธรรมดาพระพุทธเจ้าท่านพูดไม่ซ้ำ ตามแนวของพระพุทธเจ้ามีคำอยู่ว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นได้เพียงผู้บอก ไม่ใช่ไปยกยอปอปั้นให้ใครได้ฌานสมาบัติ

การปฏิบัติจะให้ได้ดีในเขตของพระพุทธศาสนา เรามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามหรือแนะนำว่าไม่สมควร สิ่งนั้นเราต้องเว้นเด็ดขาด ถ้าสิ่งใดที่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงสนับสนุน สิ่งนั้นต้องทำด้วยชีวิต จงพยายามทำด้วยจิตใจที่แท้จริง

การเจริญหรือปฏิบัติความดีในพระพุทธศาสนาเพื่อมรรคผล ที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ยังมีความเข้าใจผิดกันอยู่มาก ว่าการปฏิบัติด้วยอาการเครียดเป็นของดี

เราก็ต้องหันไปดู พระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จัดว่าเป็นปฐมเทศนา ที่แสดงกับท่านปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้งห้า มีท่านอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น ในสมัยเมื่อองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ เวลานั้นองค์สมเด็จพระจอมไตร ตั้งใจมาเทศน์โปรดพุทธบริษัททั้งห้า

หัวใจในการแสดงพระธรรมเทศนา เวลานั้นมีอยู่ ๓ อย่างด้วยกัน คือ
๑.อัตตกิลมถานุโยค
๒.กามสุขัลลิกานุโยค
๓.มัชฌิมาปฏิปทา
นี่สามอย่าง

เพราะว่าเวลานั้นเป็นเวลาเชื่อมระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ เดิมทีพราหมณ์ ชอบปฏิบัติตัวในด้านอัตตกิลมถานุโยค มีการทรมานตัวบ้าง นั่งไม่กินข้าวบ้าง กินข้าวเวลาเดียวบ้าง กินข้าวเฉพาะบ้านที่เขาให้บ้านเดียวบ้าง กินข้าวแต่เพียงเล็กน้อยบ้าง ไม่ยอมนอนบ้าง มีการทรมานกาย มีการอดข้าวบ้าง อย่างนี้เป็นต้น พราหมณ์เขาชอบทรมานตน

วิธีนี้ องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่ออกแสวงหาภิเนษกรมณ์ใหม่ ๆ องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ลองเหมือนกัน เพราะว่าสมัยนั้นเขาถือว่าดี องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ทำ ทำมาสิ้นเวลาหกปี จนร่างกายซูบผอมมาก เดินซวนจะล้ม เอามือลูบร่างกายรู้สึกว่าขนมันหลุดมาตามมือ แสดงว่าเลือดไม่มีจะเลี้ยง มันก็ไม่สำเร็จผล

ต่อมาองค์สมเด็จพระทศพลอาศัยที่มีบารมีแก่กล้าเต็มบริบูรณ์ จึงมีอารมณ์เกิดขึ้นทางใจว่า การบรรลุผล เห็นจะไม่ใช่มาในทางส่วน อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตน องค์สมเด็จพระทศพล จึงได้ทรงฉันพระกระยาหาร มีกำลังดีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงเอาหญ้าคาที่เขาถวาย ๘ กำ ปูลงข้างต้นโพธิ์ แล้วนั่งหันหลังพิงต้นโคนโพธิ์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทรงอธิษฐานใจว่า

ถ้าเราไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งไปก็ตามที หรือว่าชีวิตนี้จะสิ้นไป เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้

เป็นอันว่าวันนั้นเอง องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันนั้น คือวันกลางเดือนแปด ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ องค์สมเด็จพระชินสีห์ จึงได้มีพระพุทธฏีกาว่า

ดูก่อนท่านทั้งหลาย ส่วนสุดสองอย่าง เราปรารถนามรรคผล จงอย่าเข้าไปแตะต้อง คือ หนึ่ง อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติตน ด้วยความลำบาก มีการเคร่งเครียด มีการทรมานกาย

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เวลานี้เราก็นิยมกันมากสำหรับนักปฏิบัติที่ชอบผิดสาย ที่ชอบนั่งกันนานๆ ทรมานเป็นชั่วโมง ๆ ถือว่าเป็นการดี อันนี้ผิด เป็นอันว่าการทรมานกายนี่ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเห็นว่าผิด ไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล มันเครียดเกินไป

ส่วนสุดเบื้องต่ำอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ กามสุขัลลิกานุโยค

เวลาที่เรานั่งภาวนาไปก็นึกอยากจะถึงนั่น อยากจะถึงนี่ อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ ไอ้ตัวอยากนี่มันเป็นตัณหา มันเป็นกิเลส แล้วทำไมเราจึงไปอยากกัน

นี่ อาการสองอย่างนี้ องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา ทรงให้ละเสีย อย่าเข้าไปแตะต้อง ส่วนที่สมควรเป็น การบรรลุมรรคผล ได้จริง ๆ ก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา

การปฏิบัติตนพอดีพอควร นั่งมันเมื่อยก็นอน นอนไม่สบายก็ยืน ยืนไม่ถนัดก็เดิน ใช้ได้ทั้งอิริยาบถทั้งสี่ เอาแต่พอดีพอควร ไม่เกินพอดีเกินไป แล้วทำจิตใจให้ตรงเฉพาะต่ออารมณ์ที่เราต้องการ นี่อย่างนี้เขาเรียก มัชฌิมาปฏิปทา คือ นักปฏิบัติจะต้องพยายามปฏิบัติให้ตรงสายจริง ๆ นี่เป็นกฏใหญ่

แล้วต่อไปเราก็หันเข้าไปดูใน อุทุมพริกสูตร หรือพรที่พระเทวทัตขอต่อพระพุทธเจ้า มีส่วนที่เป็นอุปกิเลสหลายอย่างด้วยกัน ที่นักปฏิบัติในสมัยปัจจุบันมีความต้องการ แล้วมันก็จะไปได้อะไร ยังมีความเห็นว่า การกินข้าวหนเดียว การไม่กินเนื้อสัตว์เลย เป็นการบรรลุมรรคผล

เราก็ดูองค์สมเด็จพระทศพล สมัยนั้น พระเทวทัตขอพรต่อพระพุทธเจ้า ว่าพระที่อยู่ป่าจงอยู่ป่าอย่าเข้าบ้าน พระที่อยู่ในบ้านจงอย่าออกป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระทั้งหลายจงอย่าฉันเนื้อสัตว์ เพราะเป็นการสนับสนุนชาวบ้านให้ทำบาป เมื่อก่อนชาวบ้านอยากจะทำบุญก็เอาเนื้อสัตว์มาถวาย

อันนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาไม่ยอมปฏิบัติตาม เพราะอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ อัตตกิลมถานุโยค

เพราะว่าถ้าชาวบ้านเขากินเนื้อสัตว์ พระไม่กินเนื้อสัตว์ ชาวบ้านก็เกิดความลำบาก จะต้องทำอาหารเป็นสองประการ แล้วอีกประการหนึ่ง พระเองก็จะมีความลำบาก ลำบากด้วยอาหาร เพราะชาวบ้านเขาไม่มีจะให้

ทีนี้การบริโภคอาหาร องค์สมเด็จพระจอมไตรมีระเบียบอยู่แล้ว จะเป็นอาหารประเภทไหนก็ตาม ถ้าเว้นไว้จากที่พระวินัยบังคับ และอาหารที่เป็นโทษกับร่างกาย

ก่อนที่จะฉันอาหาร องค์สมเด็จพระจอมไตรให้พิจารณาเป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาว่าอาหารนี่ มันเป็นพื้นฐานมาจากความสกปรก พืชพรรณธัญญาหารก็สกปรก เนื้อสัตว์ก็สกปรก เรากินของสกปรกเข้าไป ร่างกายของเราก็สกปรก มันจะเอาอะไรมาสะอาด ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของสัตว์ก็ดี มีสภาพน่าเกลียด แต่ว่าเรากินไป เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น

เราจะไม่เมาชีวิต เราจะไม่เมาในร่างกาย เราจะไม่ติดในรสอาหาร ระเบียบนี้ องค์สมเด็จพระพิชิตมาร มีอยู่แล้ว

ทีนี้สำหรับในอุทุมพริกสูตร องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ทรงตรัสถึงอุปกิเลสหลายประการ รวมแล้ว ๔๐ ประการด้วยกันกว่า ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า

เจ้าจงอย่าคิดว่า บุคคลอื่นเขาโลภในอาหาร อย่าทะนงตนว่าเป็นบุคคลดี เป็นคนกินน้อยบริโภคน้อย บุคคลนั้นกินมากบริโภคมาก บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่เลือกอาหาร อย่างนี้เป็นต้น

นี่เป็นอันว่าการปฏิบัติภายนอกที่องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดา ไม่ได้ทรงสรรเสริญ เพราะไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล ทางที่จะบรรลุมรรคผลมันมีอยู่ เฉพาะอยู่ที่ใจเท่านั้น

ทำตัวให้สบาย เราไปทางไหนเข้ากับสังคมนั้นเขาได้ ถ้าหากว่าเราปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เหมือนกับสังคมนั้น ก็จะเกิดการทะนงตัว เป็นกิเลสไปว่า สมาคมนั้นสู้เราไม่ได้ สมาคมนี้สู้เราไม่ได้ สมาคมนั้นดีกว่าเรา สมาคมนี้เลวกว่าเรา กลายเป็นมานะถือตัวถือตนไป นี่เป็นอารมณ์ของอุปกิเลส ใช้ไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เป็นจำนวนมากที่บรรลุมรรคผล องค์สมเด็จพระทศพลไม่เคยสั่งให้ระงับนั่นระงับนี่ นอกจากอาการปกติ

การฉันภัตตาหารให้เป็นไปตามระเบียบที่ชาวบ้านเขานำมาถวาย เท่าที่มันมี เขามีมาแค่นี้ เราไม่เลือกอย่างโน้น ถือว่ายังอัตภาพให้เป็นไป คือ เขาให้มากก็กินมาก ให้น้อยก็กินน้อย เขาให้มากกินมากเกินไปก็ไม่ได้

การบริโภคอาหารให้เป็นไปตาม โภชเนมัตตัญญุตา การรู้จักประมาณกินอาหาร ไม่มากไม่น้อยเกินไป เอาตามสมควร

และ ไม่นั่งเพ่งโทษบุคคลอื่น นี่เป็นอารมณ์อันหนึ่ง

อีกอันหนึ่ง ต้องทำใจของเราหยุดอยู่ในจุดสงบ หมายความว่า เราเพ่งเล็งจิตของเราแต่เพียงผู้เดียว ตามพระบาลีว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเองไว้เสมอ
ว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ยังไงให้เราปฏิบัติ ห้ามไว้แบบไหนไม่ให้เราทำ นี่อันนี้ต้องปฏิบัติให้เคร่งครัด ไม่ใช่จะไปนึกเอาตามอารมณ์ที่ชาวบ้านเขาทำกัน

เห็นชาวบ้านเขาทำกัน ชาวบ้านไม่ใช่พระพุทธเจ้า ถ้าคนนั้นเขาดีจริงๆ เขาก็ต้องเป็นพระพุทธเจ้า ที่เขาสร้างแบบแผนขึ้นมาหักล้างคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่เราเป็นพุทธสาวกปฏิบัติตามไม่ได้ ถ้าขืนปฏิบัติตาม เราก็ไม่มีมรรคผลใดๆ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เพราะคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสียแล้ว

ทีนี้สำหรับอารมณ์ทางใจ

อารมณ์ทางใจ ก็มีว่า อันดับแรก องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ให้พิจารณาแต่จิตของตัวเท่านั้น จริยาของบุคคลอื่นจะเป็นยังไงก็ช่าง ที่เรียกว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง

เตือนไว้ว่าพระพุทธเจ้าสอนเราไว้แบบไหน เราทำตามนั้น พระพุทธเจ้าห้ามแบบไหน เราเว้นตามนั้น นี่เป็นประการที่เราจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ทีนี้วิธีปฏิบัติที่ให้จิตเข้าถึงฌานหรือวิปัสสนาญาณขั้นดี

จงจำไว้ว่า สมถะ แปลว่า อุบายเป็นเครื่องสงบใจ สมถภาวนา ไม่ใช่อุบายเป็นเครื่องเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นเปรต เห็นสวรรค์ เห็นภาพต่างๆ ………ไม่ใช่อย่างนั้น จำคำแปลให้ดี

สมถะ แปลว่า อุบายเป็นเครื่องสงบใจ ทำใจให้สงบจากอารมณ์ภายนอก ยึดถืออารมณ์ฝ่ายเดียวที่เราตั้งใจไว้

อันดับแรก องค์สมเด็จพระจอมไตร ให้ระงับความคิด ที่จะไปนั่งเพ่งเล็งชาวบ้านเขา คนนั้นดี คนนี้เลว ดูใจเราเฉพาะเท่านั้น ว่าใจของเรามันดี หรือว่าใจของเรามันเลว ใช้สติสัมปชัญญะควบคุม

ประการที่ ๒ ให้มี ศีลบริสุทธิ์

ประการที่ ๓ ระงับนิวรณ์ห้าประการ ได้ทุกขณะ

นิวรณ์ห้า คือ
ข้อที่ ๑ ระงับจากความปรารถนาในกามารมณ์ คือ รูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสที่เราต้องการ อารมณ์เกลือกกลั้วไปด้วยกามารมณ์ อันนี้ต้องระงับได้ทันทีทันใด แล้วก็เสมอ
ข้อที่ ๒ ระงับจากความโกรธ ความพยาบาท
ข้อที่ ๓ ระงับจากความง่วงเหงาหาวนอน
ข้อที่ ๔ อย่างวันนี้ได้ยินเสียงแว่วๆ เข้ามา เราก็ไม่สนใจในเสียง อุทธัจจะกุกกุจจะ จิตไม่ฟุ้งซ่านไปตามเสียง แล้วก็ไม่รำคาญตามเสียง จับองค์ภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยให้ทรงอยู่
และข้อที่ ๕ ไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นอกจากนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ ทรงพรหมวิหารสี่ คือ

ประการที่ ๑ มี เมตตา เป็นปกติ คิดว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เราจะเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหมดทั่วโลก ทำใจให้สบาย
ประการที่ ๒ กรุณา เรามีความสงสาร จะสงเคราะห์คนและสัตว์ให้มีความสุขตามกำลังที่เราจะทำได้
ข้อที่ ๓ มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร พลอยยินดีเมื่อบุคคลอื่นได้ดี
ข้อที่ ๔ อุเบกขา วางเฉยไว้ อย่างเสียงเขาเปิดขยายเสียงกันวันนี้ นั่นเขาถูกคอกัน เขาก็ต้องใช้เสียงประเล้าประโลม เป็นเรื่องของเขา งานการทำสมาธิจิตเป็นเรื่องของเรา

นี่ หลักใหญ่ในการเจริญพระกรรมฐาน มีเท่านี้ หากว่าเราทรงอารมณ์ได้ตามนี้แล้ว คือ ไม่ฝ่าฝืนคำตักเตือนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว แล้วก็ปฏิบัติตามคำสอน ประเดี๋ยวมันก็ได้ฌานสมาบัติ

เอ้า วันนี้เราลองสอบใจกัน วันนี้แหละดีมาก เพราะว่ามีเสียงเครื่องขยายเสียงเข้ามารบกวนยิ่งดี ไม่ใช่ของไม่ดี

อันดับแรก เราก็พยายามจับลมหายใจเข้าออก เพราะลมหายใจเข้าออกนี่ ระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต หายใจเข้ารู้อยู่หายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่หายใจออก หรือนับก็ได้ หายใจเข้าหายใจออกนับเป็นหนึ่ง ลองนับดูซิมันจะได้สักเท่าไร นับมันแค่ ๑๐ คู่พอถึง ๑๐ คู่แล้วก็ขึ้นต้นใหม่ ดูชั่วเวลา ๓๐ นาทีนี่เราจะแพ้อยู่นั่นหรือว่าเราจะชนะเสียง

ถ้าหูเราได้ยินเสียงถนัด รู้เขาร้องเพลงทุกอย่าง แต่ว่าใจไม่รำคาญ อันนี้ชื่อว่า จิตของเราเป็นปฐมฌาน

ถ้าหากว่าเสียงเราได้ยินเบาลง อารมณ์แช่มชื่นขาด คำภาวนาขาดไป อันนี้ชื่อว่าเป็นฌานที่ ๒

ทีนี้ถ้าลมหายใจเข้าออกรู้สึกว่าแผ่วเบาลงมามาก อาการตึงเป๋งร่างกายเหมือนเครียด หูได้ยินเสียงแว่วๆ น้อยๆ จิตทรงสมาธิได้ดี อันนี้เป็นฌานที่ ๓

ขณะใดถ้าภาวนาไปพิจารณาไป บังเอิญหูไม่ได้ยินเสียงเลย คิดว่าเขาเลิกไปแล้ว ใจสบาย โปร่ง อันนี้เป็นฌานที่ ๔

นี่เป็นเครื่องวัดสำหรับวันนี้ว่าการเจริญ เราเจริญพระกรรมฐานกันมาตั้งนานแล้วนี่ มีผลเป็นประการใด

เอาละ ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน พยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา ลองซ้อมใจดูนะ ว่าสมาธิเราฝึกกันมามีผลหรือไม่มีผล วันนี้มันดีมาก เป็นการซ้อมไปในตัวเสร็จ

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ธรรมโอวาท และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร