เรื่องกฎของกรรม

เรื่องกฎของกรรม โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

เรื่องตัดกรรม

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อ ตัดกรรมได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ตัดกรรมนี่มันตัดไม่ได้หรอก กรรมที่เป็นกุศลก็ตัดไม่ได้ กรรมที่เป็นอกุศลก็ตัดไม่ได้ นี่พูดตามพระพุทธเจ้านะ

แต่ว่าที่เราทำดีนี่ คือสร้างกรรมดีที่เป็นกุศลมากขึ้น หนีกรรมที่เป็นอกุศล คือกรรมที่เป็นอกุศลมันมีอยู่ แต่เราสร้างกรรมดีที่เป็นกุศล กรรมที่เป็นอกุศลก็ตามช้าลง เราฝึกวิ่งหนีให้มันเร็วเข้า ใช่ไหม…”

ผู้ถาม :- “อย่างนี้ก็ไม่มีทางหมดบาปน่ะซิคะ…?”

หลวงพ่อ :- “การจะทำให้หมดบาปน่ะไม่มีทางหรอก ในทางพระพุทธศาสนามีอยู่ทางเดียวคือ ทำบุญหนีบาป ใช้กำลังบุญให้สูงขึ้น ความชั่วที่มันเป็นบาปกรรมอยู่มันก็ตามทันยากหน่อย ใช่ไหม…

แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันก็สบาย ตัดกรรมจริงๆ แต่ว่าเศษของกรรมยังมีอยู่บ้าง แต่กรรมก็ไม่สามารถจะดึงให้เราลงนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้

แต่ถ้ามาเป็นมนุษย์ ถ้าเรามีโทษปาณาติบาต มันก็ทำให้เราป่วยบ้าง
ถ้ามีโทษอทินนาทานอยู่ ก็ทำให้ของหาย ไฟไหม้ ขโมยลัก น้ำท่วม ลมพัด
ถ้าเราเคยมีโทษกาเมสุมิจฉาจาร คนใต้บังคับบัญชาเราก็หัวดื้อ ไม่เชื่อฟัง
ถ้าเราเคยมีโทษมุสาวาท พูดโกหกเขา เราพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อ
ถ้ากินเหล้าเมายามาก่อน ก็เป็นโรคประสาทบ้าง เป็นคนบ้าบ้าง มันก็แค่นี้

แต่ว่าถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว มันไม่ถึงบ้าแค่มึนๆ ไปหน่อย นี่เป็นโทษจากเศษของกรรม”

ผู้ถาม :- “ถ้าสร้างพระพุทธรูปปางนิพพาน จะหนีกรรมได้ไหมคะ”

หลวงพ่อ :- “หนีกรรมได้ เป็นการสร้างกำลังความดีให้สูงเข้าไว้”

ผู้ถาม :- “ยังงั้นเราก็สร้างพระมากๆ ซิคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ประเดี๋ยววัดไม่มีที่เก็บอีก มีกรรมอีก ต้องไปสร้างตึกให้พระอยู่อีก เอาไหม…?”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ)

หลวงพ่อ :- “สร้างพระมากๆ เป็นพุทธบูชา เป็นพุทธานุสติไม่ดีเรอะ…ในกรรมฐาน ๔๐ กอง ท่านบอกว่า กำลังพุทธานุสตินี่เป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่ากองอื่นที่สุด และรวดเร็วกว่าอย่างอื่น”

บุคคล ๔ ประเภทในโลก

ผู้ถาม :- “เคยได้ยินหลวงพ่อบอกว่า คนที่เกิดมาในโลกนี้แบ่งเป็น ๔ ประเภท แล้วพวกที่มีปฏิภาณดี จัดอยู่ในประเภทไหนคะ…?”

หลวงพ่อ :- “พวกที่มีปฏิภาณดีอยู่ในพวก อุคฆฏิตัญญู พูดแต่เพียงหัวข้อก็เข้าใจเลย ส่วนอีก ๓ พวกคือ

วิปจิตัญญู พวกนี้พูดย่อๆ ยังไม่เข้าใจ ต้องขยายต้องอธิบายหน่อยจึงจะเข้าใจ

เนยยะ พวกนี้หน้าหนานิดๆ ต้องตีแร ๆ หน่อยจึงเจ็บ สอนได้แค่กามาวจรสวรรค์

ปทปรมะ พวกนี้พูดยังไงๆ ก็ไม่รู้เรื่อง แต่ประเภทพูดครั้งแรกแล้วไม่รู้เรื่อง จะถือว่าเป็นพวกปทปรมะไม่ได้นะ คือว่าต้องขึ้นอยู่กับวาระจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าตกอยู่ในวาระของอกุศลพระพุทธเจ้าท่านไม่สอน เมื่อเวลาที่กุศลให้ผลพระพุทธเจ้าจึงจะสอน ถ้าเชื้อเป็นปทปรมะจริงๆ ไม่มีทางไปนิพพาน พอพูดมาก็กลัว เพราะไม่เข้าใจ”

ผู้ถาม :- “พวกที่มีปฏิภาณดีนี่ต้องเป็นคนฉลาดใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไอ้ตัวปฏิภาณนี่คือความฉลาด พวกปฏิภาณนี่มีปัญญาพิเศษเกินกว่าปัญญาธรรมดา มันมีความว่องไวมากกว่า ปัญญาธรรมดาต้องใช้อารมณ์ใคร่ครวญ ส่วนปฏิภาณนี่ไม่ต้องใช้ ปั๊บเดียวได้เลย เขาพูดมาสามารถแก้ปัญหาได้ทันที จึงเรียกว่าปฏิภาณ”

กรรมดีหรือกรรมชั่วให้ผล

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ คนเราเกิดมานี่นะครับ ต้องสร้างทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว อันนี้เป็นเพราะว่าเนื่องจากผลของกรรมเก่า หรือว่าเราสร้างขึ้นใหม่ครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ทั้งใหม่ทั้งเก่า คือกรรมเก่าบางอย่างมันให้ผลในชาติปัจจุบัน บางอย่างให้ผลในชาติต่อไป บางอย่างอีกหลายชาติจึงจะให้ผล เราเกิดมานี่เราทำแต่กรรมดีอย่างเดียวหรือเปล่าล่ะ เคยทำความชั่วบ้างไหม…?”

ผู้ถาม :- “เคยครับ”

หลวงพ่อ :- “ทีนี้ผลที่รับนี่ไม่แน่ ฉันตอบไม่ได้ว่าผลที่ได้รับเป็นกรรมใหม่หรือกรรมเก่า”

ผู้ถาม :- “สิ่งที่เรากระทำลงไปเป็นสิ่งไม่ดี เป็นกรรมเก่าที่เราทำไม่ดี หรือว่าเราสร้างของเราใหม่ครับ…?”

หลวงพ่อ :- บางทีเราก็สร้างใหม่ เพราะเราขยันสร้าง อย่าไปโทษเก่าเสมอไปเลย โทษปัจจุบันดีกว่า คือทุกสิ่งทุกอย่างโทษปัจจุบันไว้ดีกว่า ป้องกันตัวไว้ บางอย่างก็อาศัยกรรมเก่าที่เราทำมา มันให้ผลจึงมีความเห็นผิด บางอย่างสิ่งแวดล้อมมันเกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้เราเห็นผิด ก็คิดว่าไอ้กรรมเก่ามันแค่ไหนก็ช่างมัน ไม่สนใจ ทำกรรมใหม่ให้ดีไว้เสมอๆ ดีกว่าอย่าไปคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว กรรมเก่ามันจะเลวมันจะชั่วก็ช่างมัน

อย่าลืมว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ได้เพราะอาศัยความดีหลายอย่าง

๑.เราเคยมีศีล ๕ บริสุทธิ์ หรือมีกรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์ เราจึงเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ได้

๒.เรามีทรัพย์สินเพราะเราเคยให้ทาน

๓.เรามีปัญญาคิดอะไรได้บ้าง เพราะเราเคยอบรมในด้านความดี ในด้านธรรมมาก่อน

เราต้องคำนึงของ ๓ อย่างนี้ เพราะมันเป็นความดีเดิม

ในเมื่อเราเป็นมนุษย์ได้แล้ว เราจะกลับไปเป็นสัตว์นรกอีกไหม…

ถ้าเราทำลายศีลข้อใดข้อหนึ่ง นั่นแสดงว่ามันจะกลับไปนรกอีก

ประการที่ ๒ เราเกิดมาเป็นคนตระหนี่ เป็นคนดีพอกลับไปเราก็ต้องกลับไปแก้ผ้าใหม่

และประการที่ ๓ เราทำลายสติสัมปชัญญะของเราให้มันเสื่อมทรามลง เป็นการทำลายของเดิมที่เราก่อมาแล้วให้สลายตัวไป ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วจะดีขึ้น

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสั่งสอน อย่าตามนึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว และจงอย่าคำนึงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง พยายามรักษาความดีปัจจุบัน

ถ้าปัจจุบันของเราดี เพราะอารมณ์ของเราจริงๆ ไม่มีอดีตไม่มีอนาคตหรอก มันมีแต่ปัจจุบัน คือให้มีความรู้สึกว่าเดี่ยวนี้อยู่เสมอ คืออารมณ์ทำเป็นอาจิณกรรม ถึงแม้ว่าครั้งละเล็กละน้อยมันก็ชิน อาจิณกรรมถ้าเป็นฝ่ายอกุศล มันมีโทษถึงอนันตริยกรรมได้ แต่ถ้าอาจิณกรรมฝ่ายกุศลมันก็มีผลมหันต์เหมือนกัน

ถ้าเราไม่ตามนึกถึงมัน เรามุ่งหน้าทำแต่ความดี อันดับเลวที่สุดถ้าเราเป็นพระโสดาบัน กรรมที่ไม่ดีนั้นจะให้ผลลงอบายภูมิไม่ได้ มันจะให้ผลแต่เพียงว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ไหม่เท่านั้น มันตัดอบายภูมิ ใช่ไหม…ได้กำไรตั้งเยอะ ดีไม่ดีเป็นอรหันต์เสียชาตินี้หมดเรื่องหมดราวไปเลย เพราะมันเหลือแค่เศษกรรม ใช่ไหม…ดอกเบี้ยมันนิดหน่อย เอาอย่างนั้นนะ

จำไว้แค่นี้ก็แล้วกันนะ เอาเวลานี้ให้มันดีอยู่เสมอ อย่าไปเอาเวลาอื่นนะ เวลาปัจจุบันนี้เมื่อความรู้สึกยังมีอยู่ ให้จิตมันว่างจากอารมณ์ที่เป็นอกุศล ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทรง อนุสสติ

อนุสสติ แปลว่า การตามนึกถึง คือให้นึกถึงความดีอยู่เสมอ

อนุสสติ ก็มี พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ กายคตานุสสติ อุปสมานุสสติ และ อานาปานุสสติ

ถ้าเราตามนึกถึงอนุสสติอย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นเรื่องของความดี ทีนี้ความดีที่เราจะไปชำระหนี้ความชั่วเดิมให้หมดไป ถ้าจะไปนิพพานรับรองไม่ได้ไปแน่ เพราะอะไร เกิดทุกชาติก็สร้างเรื่อย เสริมความชั่วอยู่เสมอ ทีนี้ทางพระพุทธศาสนาเราไม่มีการล้างบาป แต่ว่าในทางพุทธศาสนาให้สร้างกำลังจิตในด้านความดีให้มีกำลังสูงเพื่อหนีบาปให้พ้นไป ถ้าจิตติดด้านความดีฝ่ายสูงมันก็มี ๔ ขั้น คือ

๑.พระโสดาบัน
๒.พระสกิทาคามี
๓.พระอนาคามี
๔.พระอรหันต์

กรรมของพระอรหันต์

ผู้ถาม :- “พระอรหันต์ที่ไปนิพพานท่านหมดกรรมที่เป็นอกุศลไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่มีพระองค์ไหนหมดกรรมที่เป็นอกุศลกรรม ที่เป็นอกุศลกรรมของท่าน ถ้าจะเขียนชื่อใส่ปี๊บก็ไม่หมด ที่ท่านไปนิพพานได้ ไม่ใช่หมดกรรมที่เป็นอกุศลนะ แต่ทว่าสร้างอารมณ์ที่เป็นกุศลละเอียด จนกระทั่งอกุศลมันตามไม่ทัน

ถ้ารอใช้กรรมที่เป็นอกุศลน่ะไม่มีทาง เราลงนรกเกือบทุกชาติ ตายแล้วลงนรกขึ้นมาเป็นมนุษย์ บี้มดบ้างบี้อะไรต่ออะไรบ้างลงไปใหม่ ใช้หนี้หมดก็ขึ้นมาบี้อีกก็ลงใหม่ ไม่ต้องไปใหนล่ะ ใช่ไหม…สร้างใหม่ตลอดไอ้เก่าก็ใช้หนี้ไม่หมด ไปไหม…จะไปฝากพระยายมให้ เวลานี้ท่านเปิดบัญชีรับสมัครไม่จำกัดนะ”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “ไม่ละครับ”

กฎของกรรมของนายแดง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ หนูเคยอ่านเรื่องกฏของกรรมเรื่องหนึ่ง คือนายแดงเป็นคนเนรคุณพ่อแม่ และเคยทุบตีพ่อแม่ พอแกมีลูกออกมาลูกก็มีอาการเหมือนกับพ่อค่ะ คงจะเป็นกฏของกรรมของนายแดง แต่หนูคิดว่าลูกของนายแดงจะต้องมีบาปเหมือนกันใช่ไหมคะ?”

หลวงพ่อ :- “ก็ไม่ใช่บาป”

ผู้ถาม :- “แล้วกฏของกรรมจะบันดาลให้เป็นอย่างไรคะ?”

หลวงพ่อ :- “นายแดงเป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณพ่อแม่ ตีพ่อตีแม่นายแดงก็เป็นคนมีจิตเลว ฉะนั้นเด็กที่จะต้องมาเกิดด้วยก็ต้องเป็นเด็กเลวๆ มาเกิด คือว่าเด็กที่จะมาเกิดร่วมกันส่วนใหญ่จะต้องมีศรัทธาเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน เสมอกับพ่อแม่ จึงจะสู่ครรภ์เข้าในตระกูลนั้นได้

แต่ว่าไอ้กรรมที่เป็นอกุศลย่อมให้ผลต่างวาระ บางทีตอนเป็นเด็กๆ แกดี ตอนโตอาจเลวไปชั่วขณะหนึ่งก็ได้ หมายความว่ากรรมที่เป็นอกุศลเดิมเข้ามาสิงจิตในช่วงกลางนะ และในช่วงหนึ่งของชีวิต เขาอาจจะมีดีในตอนปลายมือก็ได้ เพราะว่าตอนต้นๆ พ่อเลวแม่เลว แต่เขาอาจมีดีอยู่ เป็นเพราะช่วงของกรรมเขาเกิดมาในช่วงนั้น กรรมที่เป็นอกุศลมันให้ผลไปก่อน แต่ว่ากรรมที่เป็นกุศลคือความดีมันอาจจะมาทีหลัง”

กฎของกรรมของพระองคุลีมาร

ผู้ถาม :- “อย่างนั้นพระองคุลีมารที่ต้องเป็นโจรฆ่าคนเอานิ้วมือ ก็คงเป็นกฏของกรรมใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “อันนี้เป็นกฏของกรรม คือถอยหลังจากชาตินี้ไป ๑ ชาติ ก่อนที่จะเกิดมาเป็นคน ท่านเกิดเป็นควายป่า ภายหลังถูกฆ่า คนทั้งหมดมีพันคนเศษที่ร่วมกันตีให้ตาย พอดีลงไปแล้วก่อนจะสิ้นใจตายแกก็ลืมตาดู “ไอ้พวกนี้มันมาก กูคนเดียวมึงรุมฆ่ากู ถ้าชาติหน้ามีจริงกูขอฆ่ามึงบ้าง” นี่เป็นเวรที่จองกันไว้

พอเกิดมาอีกชาติหนึ่ง พ่อตั้งชื่อให้ว่า อหิงสกกุมาร แปลว่ากุมารผู้ไม่เบียดเบียน พอเกิดมาแล้วสติปัญญาดี ท่านเป็นคนดีมาก ต่อมาพ่อส่งไปเรียนศิลปวิทยา ภายหลังเพราะความดีของท่าน ถูกลูกศิษย์ด้วยกันกลั่นแกล้ง ยุยงให้อาจารย์ออกอุบายให้ไปเรียน วิษณุมนต์ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องยกครูก่อน โดยจะต้องฆ่าคนให้ได้ถึงพันคนจึงจะเรียนได้

ท่านก็เลยตกลงยกครูโดยการไล่ฆ่าคน ฆ่าได้ ๑ คน ก็เอานิ้ว ๑ นิ้ว แต่ว่าคู่ปรับยังมีอีกคนเดียว ถ้าได้อีกนิ้วเดียวก็ครบคู่ปรับพอดี และคู่ปรับที่จะต้องฆ่าก็คือแม่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่า ถ้าอหิงสกกุมารฆ่าแม่จัดเป็นอนันตริยกรรม มรรคผลจะไม่ได้เลย ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต้องการว่าคนที่จะดีก็ขอให้ดีต่อไป ไม่ให้ความชั่วเข้ามาทับถม จึงเสด็จไปโปรด

เพราะกรรมที่เป็นกุศลเดิมให้ผล ท่านจึงรู้สึกตัววิ่งเข้าไปกราบพระพุทธเจ้า ภายหลังท่านก็ขอบวชแล้วก็ได้เป็นอรหันต์”

กฎของกรรมของภรรยานายเรือ

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งค่ะ บัณฑิตผู้นี้เป็นผู้พิพากษาค่ะ ก็ตัดสินคดีเกี่ยวกับศีลข้อ ๓ นี่ค่ะ ก็ปล่อยคนที่เป็นชู้ไป ภรรยาก็เลยโกรธ บอกว่าตัดสินไม่ยุติธรรม ด่าว่าใหญ่เลย ตัวสามีก็เลยโมโห พูดถึงความหลังขึ้นมาว่า แล้วแกล่ะคนดีเรอะ เขาพูดถึงคืนวันนั้น ภรรยาเสียใจก็เลยผูกคอตาย อยากจะถามหลวงพ่อว่า บัณฑิตผู้นี้จะต้องไปใช้เวรภรรยาในสภาพอย่างไรคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ก็ภรรยาเขาผูกคอตายเอง นั่นก็เป็นกฏของกรรมของเขา”

ผู้ถาม :- “แต่มันเป็นคำพูดที่รุนแรงนี่คะ ที่ทำให้ภรรยาเขาฆ่าตัวตาย”

หลวงพ่อ :- “ความจริงไม่แรงหรอกถ้าคนธรรมดา นี่กฏของกรรมมันบังคับ ก็มีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง มีหญิงคนหนึ่งไปในเรือสำเภา เกิดอับปาง เขาก็หาคนที่เป็นกาลกิณี ก็ได้หญิงคนที่เป็นเมียของเจ้าของเรือเขาก็จับโยนลงน้ำไป

เรื่องนี้มีพระไปพบเข้าก็มาถามพระพุทธเจ้าว่า เป็นเพราะกรรมอะไร พระพุทธเจ้าก็ทรงเล่าประวัติเดิมว่า หญิงคนนี้เดิมมีสามี ต่อมาสามีก็ตาย ตัวก็ตายก็มาเกิดใหม่ ตัวผู้หญิงคนนี้เขาสร้างความดีไว้มากกว่าสามี ก็มาเกิดเป็นลูกคหบดี แล้วสามีก็ไปเกิดเป็นสุนัข ไอ้อารมณ์เดิมที่มีความผูกพันก็เกิดมีความรักหวงแหน จะไปไหนก็ไปด้วย จนกระทั่งชาวบ้านเห็นผู้หญิงขึ้นมา มีหมาตามมาด้วย เขาก็ล้อ “เฮ้ย…พวกเรา…พรานสุนัขมาแล้ว” เธอก็อาย

วันหนึ่งเธอไม่รู้จะทำไง เลยคิดจะฆ่าหมาตัวนี้โดยเอาห่วงคล้องคอ เอาไปถ่วงจับโยนน้ำ ไอ้กรรมตัวนี้นี่เอง มาเกิดชาติหลังหมาตัวนั้นมาเป็นนายสำเภา แกก็มาเป็นภรรยา พอเรือมันอับปางก็จับสลากกันว่าใครเป็นกาลกิณี จับกี่ครั้งๆ ก็ได้แก่เมีย จึงจำเป็นต้องจับโยนน้ำไป นี่กรรมมันสนองแบบนี้ เขาถือว่ากรรมสนองกรรม

ฉะนั้นกฏของกรรมเดิมต้องทวน ก็ใช้อตีตังสญาณซิ นี่อ่านหนังสือแล้วก็ใช้อตีตังสญาณถอยหลังไป แต่ว่าอย่าไปถอยเองเหนื่อย ถามพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกองค์ท่านไม่ใช้กำลังของตัวเอง แต่พวกที่ใช้กำลังของตัวเองก็คือพวกฌานโลกีย์ ถ้าหากเป็นพระอริยะชั้นสูงเขาไม่ใช้ เขารู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู แปลว่า รู้ทุกอย่าง ถามท่านตรงๆ แล้วขอดูภาพ อันนี้แม่นยำตรงตามเป็นจริง และการถามพระพุทธเจ้าก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี พระอรหันต์ก็ดี ทั้งหมดนี้ถามซ้ำไม่ได้ ถ้าหากท่านบอกมายังไงก็ต้องเชื่อตามนั้น ไอ้โลกที่จะพูดกันไม่ค่อยรู้ประสา มีโลกเดียวเท่านั้น โลกมนุษย์ ใช่ไหม…”

กฎของกรรมของพระโมคคัลลาน์

ผู้ถาม :- “ค่ะ เรื่องกฏของกรรมดิฉันเชื่อ และก็ได้นิทานเรื่องนี้แหละ เอาไปเล่าให้กับคนที่มีปัญหาอย่างนี้ฟัง รู้สึกว่าพอเขาฟังแล้ว ทำให้ใจดีขึ้นมากมาย แต่ตัวเองกลับมากลัวเรื่องกรรมพัวพัน”

หลวงพ่อ :- “ไม่เป็นไรหรอก มันขึ้นอยู่ที่กฏของกรรม อย่างพระโมคคัลลาน์ ท่านเป็นคนดีจะตาย เกิดจากความเป็นเด็กก็เป็นคนดี จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ แต่พอมาเป็นพระอรหันต์บั้นปลายของชีวิตต้องถูกทุบ นี่ท่านก็ไม่พ้นกฏของกรรม กรรมอะไร…

เมื่อเกิดชาติที่แล้วนั้นท่านทุบพ่อแม่ แต่ไม่ถึงตาย ตายแล้วท่านไปเสวยผลในอเวจี เมื่อท่านใกล้จะนิพพานเศษกรรมตัวนี้ก็มาสนอง โจรมาล้อม ๒ ครั้ง ท่านหนีไป พอมาล้อมครั้งที่สาม ท่านก็ทราบกฏของกรรมเดิมว่า เมื่อเกิดชาติที่แล้ว เราทุบพ่อแม่แต่ไม่ถึงตาย ฉะนั้นไอ้กรรมตัวนี้มันจะมาสนองก็ยอมรับมัน ดูซิว่าท่านเป็นอรหันต์ที่มีฤทธิ์มากพระพุทธเจ้าท่านยกย่อง ก็ยังไม่พ้น”

ผู้ถาม :- “ต่อไปนี้ไม่กล้วแล้วค่ะ เพราะถ้ากลัวแล้วเราคงไม่ยอมช่วยเหลือใครเลย ดิฉันขอกราบเรียนถามหลวงพ่อเท่านี้แหละค่ะ”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๓ หน้า ๔๘-๕๘ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร