ดำริในการสร้างศูนย์พุทธศรัทธาของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

ดำริในการสร้างศูนย์พุทธศรัทธา
ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)

วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๒ หลวงพ่อพระสุธรรมยานเถระได้เมตตา
รับศูนย์พุทธศรัทธาเป็นสำนักปฏิบัติพระกรรมฐานสาขาวัดท่าซุง

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ หลังจากเครียดจากงานที่คนแก่ทำแล้วเข้าที่พัก ร่างกายมันก็รวนตามปกติของมันคือ มันปวดท้อง มีอาการคลื่นไส้ ร้อนภายในท้อง วันนี้รู้สึกว่าอาการทุรนทุรายมากเป็นพิเศษ ด้วยเมื่อวันก่อนๆ มันมีอาการดีขึ้นมากแล้ว ถ้าพูดตามความเป็นจริงแล้ว ร่างกายดีขึ้นมาก อาการส่วนอื่นดีหมดทุกอย่างเหลือส่วนท้องเพียงส่วนเดียว ตามคำพยากรณ์ของท่านไม่ผิด แต่วันนี้มันรวนเป็นพิเศษ เมื่อมันรวนหนักก็จำต้องพึ่งกำลังใจ พยายามรักษาอารมณ์ใจแน่นสนิทเป็นพิเศษ อารมณ์ใจแน่นมากไม่มีอาการเคลื่อนไหวในอารมณ์ นิวรณ์เกาะไม่ติด เมื่ออารมณ์แนบสนิท อาการทางกายก็รู้สึกว่าเบาลง

เมื่ออารมณ์คลายอารมณ์หยาบออกแล้ว เคลื่อนเข้าสู่อารมณ์ละเอียด จิตสว่างขึ้น มีอาการคล้ายร่างกายย้ายสถานที่ อาการอย่างนี้เป็นนิมิต คือ มีอาการคล้ายความฝัน มีความรู้สึกว่าออกไปจากที่เดิม ไปนอนอยู่ที่ตึกเก่าๆ หลังหนึ่ง เป็นตึกใหญ่มาก นอนตะแคงขวาอยู่บนเตียงเก่าๆ ภาวนาคาถาที่ภาวนาเป็นปกติ จิตสงบมาก มีอารมณ์แน่น ซึ่งอารมณ์อย่างนั้นเป็นอารมณ์ญาณที่มีวิปัสนาญาณผสมอยู่น้อย จึงมีอารมณ์แน่น เวลานั้นมีความรู้สึกว่า

ทางด้านหลังห่างออกไปประมาณ ๑๐ เมตร มีพระสงฆ์องค์หนึ่งท่านนั่งอยู่ เราไม่สนใจใครทั้งหมด สนใจแต่สมาธิอย่างเดียว ขณะที่มีอารมณ์แน่นสนิทด้านกำลังสมาธิอยู่นั้น มีผู้คนเอาของราคาแพงมาให้มากมาย มีทั้งของใช้และเครื่องประดับ มีทอง เพชรพลอยที่ประดับแล้วมากมาย นอนคิดว่าเมื่อเรากลับวัด เราจะขนไปได้อย่างไร คิดว่ามีคนสัก ๑๐๐ คนก็ยังขนไม่ไหว จึงตัดสินใจตามที่เคยปฏิบัติมาเป็นปกติว่า สมบัติเกิดขึ้นที่ใดให้อยู่ที่นั้น เช่นไปวัดไหน เขาถวายเงินทองก็ถวายไว้วัดนั้น อาการอย่างนี้ทำเป็นปกติ

ควายตามอาละวาด

เมื่อตกลงใจตามนั้นแล้ว อารมณ์กังวลในทรัพย์สินก็ไม่มี เวลานั้นเกิดความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ แต่ก็เกิดมีความรู้สึกว่ามีควายตัวหนึ่งมายืนอยู่ข้างหลัง พร้อมกันนั้นก็มีความรู้สึกว่ามีมือๆ หนึ่งมาอุดที่ทวารหนักกันอุจจาระออก เมื่อหันหลังไปดูปรากฏว่าควายตัวนั้นกลายเป็นคน เป็นชายร่างผอมผิวดำสูงโปร่ง ปากแหว่งตรงจมูกลงมา เธอเอามืออุดทวารหนักเอาไว้ อุดแรงมาก ต้องใช้กำลังดิ้นสะบัดอยู่นาน เธอจึงเลิกอุดแล้วหายไป

มีเสียงบอกตามที่ถาม

เมื่อคนๆ นั้นหายไปแล้ว ก็เกิดอาการสงสัยว่า ควายกลายเป็นคนและมาอุดทวารหนักเพราะอะไร ก็มีเสียงกังวาลไพเราะมากตอบว่า “เพราะกรรมควายของเธอ” เมื่อฟังแล้วก็เกิดสงสัย คิดว่าเราเคยเกิดเป็นควายหรือ เสียงนั้นตอบว่า “ไม่ใช่” จึงถามเสียงนั้นว่า ที่บอกว่ากรรมควายนั้นหมายความว่าอย่างไร เสียงนั้นพูดว่า “เธอดูโทรทัศน์เรื่องสงครามเก้าทัพหรือเปล่า” ก็ตอบว่า ไม่ได้ดู เพราะอารมณ์คนแก่เหลาเหย่อย่างนี้ ดูละครไม่ไหวเพียงดูข่าวก็พอแล้ว

เสียงนั้นพูดว่า “สงครามที่เกิดแต่ละคราว การนำทหารออกรบมีจำนวนนับหมื่นอย่างสงครามเก้าทัพ ต้องใช้เนื้อวัว ควายเป็นอาหารมื้อละกี่ตัว” จึงถามเสียงนั้นว่า ฉันมีส่วนคุมทหารออกรบในสมัยสงครามเก้าทัพหรือ เสียงนั้นกลับตอบว่า “เกือบทุกชาติที่เกิดมาแล้ว ยกเว้นชาตินี้ เธอเคยเป็นแม่ทัพใหญ่บ้าง แม่ทัพรองบ้าง เป็นพ่อเมืองบ้าง แต่ละชาติรบตลอดทุกชาติ จึงต้องใช้เนื้อวัว ควาย เนื้อไก่ เนื้อปลา นับจำนวนไม่ไหว เป็นอาหารเลี้ยงทหาร กรรมนั้นตามสนองเธอเวลานี้ โดยเฉพาะที่เป็นโรคถ่ายไม่ออก ล้างก็ไม่ใคร่ออกนั้น เป็นโรคกรรมควาย”

เมื่อฟังเสียงนั้นแล้วก็อ่อนใจ เจ้ากรรมควายนี้ มันทรมานมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๒๕ หลายปีมาแล้ว ถามเสียงนั้นว่า กรรมควายจะชำระอย่างไรได้ เสียงนั้นตอบว่า “บวชเณร ๑๒๓ หรือ ๑๒๕ รูป และบวชชีกรรมบทสิบนั่น ให้เขาด้วยซิ” ก็รับปากกับเสียงนั้นว่า ถ้าอย่างนั้นไม่หนักใจ ขอแบ่งให้เธอด้วย จึงถามเสียงนั้นอีกว่า กรรมที่ตามสนองหมดเท่านี้หรือ เสียงนั้นหัวเราะกังวาลมากแล้วตอบว่า “ยังมีอีกมาก เตรียมตัวรับให้ดีเถอะ” บอกเสียงนั้นว่า ถ้าอย่างนั้นฉันจะปล่อยให้ร่างกายมันตาย เพื่อหลบเศษกรรม เสียงนั้นตอบว่า “ไม่มีทางหลบไปอย่างนั้นได้หรอก คำสั่งที่ให้อยู่ต่อ รออยู่แล้ว”

เมื่อทางออกเพื่อพ้นเศษกรรมไม่มี จึงถามเสียงนั้นว่า ถ้าถอยไม่ออก จะมีทางใดบ้างที่เพิ่มเติมจากการบวชเณร ลูกชายและให้ลูกหญิงรักษาศีลกรรมบทสิบ เพราะมีนักเรียนชาย รับอาสาบวชเณร ๑๒๓ คน นักเรียนทั้งหมดนี้เลี้ยงอย่างลูก มีความรู้สึกว่าเธอเป็นลูก นักเรียนชายก็คือลูกชาย และนักเรียนประจำหญิง ๘๐ คน เธอรับอาสาถือศีลกรรมบทสิบ ทั้งนี้ไม่ได้บอกนักเรียบไปกลับ เพราะถ้าพวกเธอสมัครบวชเณรและรักษาศีลอีก ที่พักจะไม่พอจึงไม่ได้บอกพวกเธอ คิดว่าถ้าบอกพวกเธออีก ส่วนใหญ่คงสมัครบวชเณรและรักษาศีลอีก

สร้างสถานที่ชำระจิต

เมื่อถามในการหาทางชำระหนี้กรรมเพิ่มเติมอีก เสียงนั้นตอบว่า “สร้างสถานที่ชำระจิตใจให้สะอาด” ถามท่านว่า สร้างวัดใช่ใหม เสียงนั้นตอบว่า “ไม่จำเป็น ถ้าวัดที่สร้างนั้นไม่รู้จักชำระจิตใจ สร้างไปก็เสียเงินเปล่า ได้ไม่เท่าเสีย ควรสร้างสถานที่เจริญกรรมฐานและมีอำนาจควบคุมโดยตรงอย่าหาคนอื่นมาเป็นเจ้าสำนักควบคุมจะต้องสะเทือนใจเหมือนที่ผ่านมาแล้วมากมาย” เมื่อคุยกับเสียงนั้นถึงตอนนี้แล้ว เสียงนั้นบอกว่า “พอแล้วนะเวลาคุยกันหมดแล้ว” แล้วเสียงนั้นบอกมาอีกว่า “ถ้าเธอสงสัยว่า เสียงนี้เป็นเสียงของใคร เธอจงทราบว่า เสียงนี้คือเสียงพ่อของเธอ” สบายไปเลย

ลอยไม่ขึ้น

เมื่อทราบวาระของกรรมตามสนอง รู้สึกหนักใจตัวเอง ขอทุกท่านพึงทราบว่า ไม่มีใครหลบกรรมได้ จึงหาทางออกด้วยการไปตามที่ต้องการ เวลานั้นมันเบื่อหมดทุกอย่าง เป็นอันว่าเคลื่อนไม่ได้ ในที่สุดก็เข็ญสุดกำลังพอออกได้ แต่มีร่างกายหยาบมาก ขอหยุดเรื่องนิมิตไว้เพียงเท่านี้ เพราะเรื่องยาวมาก เกรงว่าผู้อ่านจะรำคาญ

ตัดสินใจสร้างสำนักกรรมฐาน

วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๒ ถึงเวลาที่กำหนดจะไปท่าลาน พาเด็กนักเรียนไปชมโรงงานปูนซิเมนต์ท่าหลวง แต่ทว่าผู้เขียนเอง อยากจะไปชมสถานปฏิบัติกรรมฐานที่คณะศิษย์ท่าลานสร้างขึ้น รู้สึกว่าที่นี่มีศรัทธาแข็งแรงมาก งานก่อสร้างไม่เคยขอร้องและรบกวนเลย แต่ยังกลับนำปัจจัยและสิ่งของมาถวายมากมาย ก่อนจะไปได้ถามพระท่านว่ามีคนมากไหม พระท่านบอกว่า มีคนมามาก จึงเอาแหนบทองไปเพื่อแจก ๘๐๐ แหนบ ล๊อกเก็ต ๔๐๐ รวมแล้วคิดเป็นเงิน ๑๖,๔๐๐ บาท

เมื่อแจกจริงๆ กลับไม่พอแก่ท่านผู้มา ล๊อกเก็ตเคยแจกแก่ผู้ถวายสังฆทานชุดเล็ก ก็ต้องเปลี่ยนเป็นแจกแหนบแทน คราวต่อไปขอรับรองว่าจะเอาแหนบและล๊อกเก็ตไปให้พอ กำหนดไปเที่ยวหลังคือวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ มีหลายท่านบอกว่า ถ้าไปวันเสาร์หรืออาทิตย์ จะพบคนมากกว่านี้ ความจริงไปวันไม่ว่างนี้ดี เพื่อรู้กำลังใจแน่นอนกว่า

เงินที่ทำบุญวันนั้น

๑.ทำบุญซื้อที่ดินสร้างอาคาร ๑๔,๕๕๐ บาท
๒.ผาติกรรมสังฆทาน ๕๗,๙๙๐ บาท
๓.บูชาวัตถุมงคล ๕,๓๖๐ บาท
๔.ขายอาหารถวายทำบุญทั้งหมด ๕,๔๕๕ บาท
๕.ซื้อหนังสือธรรมะ ๒,๒๔๐ บาท
๖.ทำบุญถวายเป็นส่วนองค์หลวงพ่อ ๒๘,๔๑๐ บาท
รวมเงินทำบุญวันนั้นทั้งหมด ๑๑๑,๐๐๕ บาท

เงินทำบุญทั้งหมดนี้ ไม่ได้นำมาบำรุงวัดท่าซุง คงมอบไว้เพื่อเป็นทุนซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างต่อไป มีเงินส่วนหนึ่งที่นำกลับมาวัด คือ เงินถวายเพื่อสร้างพระปัจเจกพุทธเจ้าและเงินที่ใส่ย่ามเมื่อเดินออกมา รวมเงินที่รับมาวัดทั้งหมด ๘,๘๕๐ บาท รวมเงินที่ทุกท่านทำบุญวันนั้นทั้งหมด ๑๒๒,๘๕๕ บาท

ทั้งหมดนี้ใช้เวลาทำบุญจริงๆ ตั้งแต่ ๑๐.๐๐ น.ถึง ๑๓.๑๐ น.เศษ เมื่อเห็นว่าแม้เป็นวันธรรมดาซึ่งต่างคนต่างก็มีงานต้องทำ ยังอุตสาห์เสียสละเวลาที่จะพึงมีรายได้ มารวมกันและทำบุญ เป็นปัจจัยบอกถึงกำลังใจที่เป็นมหากุศลอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจสร้างสำนักปฏิบัติกรรมฐานที่นี่ มีกำหนดส่วนใหญ่ให้แล้วเสร็จไม่เกิน ๓ ปี คือ

๑.สร้างอาคารหลังคาแบนเป็นฐานรับ และสร้างอาคารเหมือนอุโบสถอยู่เบื้องบน


แบบศาลาแท่นพระอุโบสถ หลวงพ่อให้สร้างชั้นบนเป็นมณฑป ชั้นล่างเป็นศาลาปฏิบัติธรรม

สำหรับอาคารตามข้อ ๑ นั้น ชั้นล่างที่เป็นห้องโถง เป็นศาลาทำบุญหรือห้องฝึกกรรมฐานเบื้องต้น ชั้นบนที่มีรูปเป็นพระอุโบสถ เป็นที่เจริญกรรมฐานของท่านที่ฝึกคล่องแล้ว

๒.สร้างอาคารที่อาศัย ชั้นล่างเป็นห้องโถง เป็นที่ฉันอาหารของพระและรับแขกวันธรรมดา ชั้นบนมีห้องนอน ๑๐ ห้อง ขนาดห้องลึก ๘ เมตร กว้าง ๔ เมตร รวม ๑๐ ห้อง มีห้องโถงพอสมควร พอเป็นที่รวมสนทนากันได้ มีห้องส้วมห้องน้ำไม่น้อยกว่า ๖ ห้อง

สถานที่แห่งนี้เป็นสำนักปฏิบัติพระกรรมฐาน ขึ้นตรงกับวัดท่าซุง เนื้อที่ไม่จำเป็นต้องครบ ๖ ไร่ มีที่พอปลูกอาคารก็ใช้ได้ เมื่อทำการก่อสร้างและร่วมปฏิบัติกันจริงจังแล้ว เรื่องขยายเนื้อที่มีคนช่วยเอง ปัจจุบันขอให้เร่งรัดการก่อสร้างซึ่งสำคัญกว่าซื้อที่ เพราะเท่าที่มีอยู่แล้วรู้สึกว่าจะพอสร้าง

มุมการก่อสร้าง

มุมการก่อสร้างนี้ มีความสำคัญมาก เพราะถ้าไปถูกมุมมหาทุกขตะเข้า จะมีแต่ความแร้นแค้นยากจนทั้งสถานที่ปฏิบัติ และคนที่มาร่วมทำบุญ แต่ถ้าถูกมุมมหาเศรษฐี สถานที่ปฏิบัติก็ดี ผู้ร่วมทำบุญก็ดี จะมีความเป็นอยู่คล่องตัวมาก เคยสังเกตการณ์เรื่องมุมการก่อสร้างนี้มาแล้ว ๔๐ ปีเศษ ไม่เคยผิด มุมที่ส่งผลมี ๘ มุม แต่มุมที่สมควรมี ๒ มุม คือมุมมหาเศรษฐี กับมุมสารีบุตร ฉันชอบมุมมหาเศรษฐีมาก เพราะคณะที่ทำบุญร่วมไม่ยากจน

ให้วัสดุก่อสร้างเริ่มต้น
๑.ให้ปูนซิเมนต์ ๑๐๐ ตัน
๒.ให้เหล็ก ๒๐ ตัน

หมายเหตุ
ปูนและเหล็กให้ตามราคาที่ซื้อใด้ในปัจจุบัน แต่ถ้าคณะกรรมการซื้อได้ถูกกว่า ก็จะได้ปูนหรือเหล็กมากกว่าที่กำหนดให้ เพราะจะขออนุญาตญาติโยมและลูกหลานขอเอาเงินที่ถวายเพื่อใช้สอยส่วนตัวไปซื้อปูนและเหล็กซึ่งมีมูลค่าประมาณสามแสนเศษ และถ้าทำงานเข้มแข็งเอาจริงเอาจัง และพอจะหาได้จะให้อย่างนี้ ๓ ปี และปีหนึ่งๆ จะกำหนดทำบุญร่วมกันครั้งหนึ่ง ถ้าบังเอิญได้เงิน ก็จะร่วมสร้างสถานที่นี้จนแล้วเสร็จ

ท่านที่อ่านแล้ว จะร่วมทำบุญมากน้อยได้ตามกำลังทรัพย์และศรัทธา ส่งเงินทำบุญทางธนาณัติก็ได้ ขอให้บอกว่า ร่วมสร้างสำนักกรรมฐานท่าลาน

อาคารทำดังนี้

ศาลาแท่นพระอุโบสถ

๑.ทำพื้นติดดิน กว้าง ๒๐ วา เทหลังคาแบบเหมือนศาลา ๒ ไร่

๒.พระอุโบสถอยู่ชั้นบน ให้ทำเป็นอาคาร ๔ มุข ความกว้างของห้องกว้าง ๔ เมตร เหมือนกันทั้งศาลาและพระอุโบสถ รูปร่างอย่างนี้มีความประสงค์ให้มีรูปเหมือนวิมาน มุขแต่ละด้านกว้าง ๘ เมตร รูปทรงให้ช่างพิจารณาออกแบบให้เหมาะสม

๓.ที่ดินที่นี่ดูแล้วมีความแข็งพอไม่ต้องตอกเข็มก็ได้ ให้ทำเท้าช้างก้นเสา ๒.๕ เมตร ใช้คานดึงเข็มแผ่น เมื่อขณะที่จะเทพื้น ให้เทพร้อมกับคานให้เอาเหล็ก ๔ หุน เป็นเหล็กยืนของพื้น สอดเข้าไปในคานแล้วเทพร้อมกัน คานจะดึงพื้นอย่างนี้เรียกว่า คานดึงเข็มแผ่นจะไม่มีทรุด

กุฏิที่อาศัย

๑.เทพื้นเกาะคานเหมือนศาลา

๒.กว้างห้องละ ๔ เมตร เหมือนกันพื้นใช้กว้าง ๖ ห้อง ทำเป็นห้องนอน ๒ แถวลึกห้องละ ๘ เมตร ถ้าสงสัยให้ดูที่อาคารรับแขก ห้องนอนด้านละ ๕ ห้อง

๓.ยาว ๑๐ ห้อง เป็นห้องนอน ๕ ห้อง เว้นด้านตะวันตกไว้ ๒ ห้อง เอาไว้เป็นห้องโถง พอนั่งคุยกันได้ ๒ ห้อง อีกห้องหนึ่งทำห้องส้วมห้องน้ำ ควรมีห้องส้วมห้องน้ำ ชั้นละไม่น้อยกว่า ๖ ห้อง ทำด้านตะวันตกตรงกัน

๔.หลังคาของห้องพระให้เทแบนก่อน ต่อไปจะทำเป็นหลังคาทรงไทยแฝด ๓ หลังก็ได้ใส่ช่อฟ้าหน้าบันได้

หมายเหตุ
โดยเฉพาะชั้นล่างของศาลาและกุฏิ ควรทำให้เสร็จในปีแรก จะได้มีที่ไว้รับแขก ส่วนรายละเอียดนอกจากนี้ เอาไว้หารือกันเพราะไม่มีอะไรน่าหนักใจ ควรรีบลงมือทำ เงินที่รับสองครั้งคือเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ เอาเป็นเงินลงทุนเริ่มต้นก่อน ส่วนปูน ๑๐๐ ตัน เหล็ก ๒๐ ตัน ให้ไปเบิกที่ฉันได้ ตามที่สั่งซื้อแล้ว เป็นคราวๆ หรือจะหาเงินจากใครสำรองจ่ายไปก่อน แล้วเอาใบรับเงินไปเบิกที่ฉันได้ เพราะเงินมีพร้อมแล้ว แต่ต้องให้ทันเวลาธนาคารทำงาน

หมายเหตุ
ให้ลงมือเทเสาไปก่อนแล้วกำหนดงานวางศิลาฤกษ์เพื่อรวบรวมทุนเมื่อฉันมีเวลาว่าง

เรื่องนี้ถูกเขียนใน มุมมองศูนย์ฯ และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร