ประสบการณ์ การปฏิบัติธรรมหลวงพ่อฤๅษีฯ

ประสบการณ์ของหลวงพ่อ
ที่ควรจะยึดถือเป็นแบบอย่าง ในการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง ตอบปัญหาธรรม

ผู้ถาม :- “เห็นหลวงพ่อเคยบอกว่า ถ้าฝึกอภิญญาต้องฝึกการเข้าฌาน ออกฌาน โดยวิธีสลับฌาน ผมก็อยากเอาบ้าง”

หลวงพ่อ :- “โอ…อย่าๆ ทำเท่าที่ได้น่ะพอแล้ว เดี๋ยวพัง อย่าไปริหากินเลยมันง่ายเมื่อไรล่ะ เขี้ยวเหี้ยนเลย ต้องคนบวมๆ จัดๆ ถึงจะได้ คนดีทำไม่ได้ จะเอาตามฉันไม่ได้ รุ่นฉันบวมๆ ทั้งนั้น บวมขั้นปริเลย อาจารย์บอกเบาๆ อย่าให้หนักนัก แต่ทีคนอื่นบอกขยันๆ เข้า ทีพวกเราบอกเบาๆ”

ผู้ถาม :- “อย่างนี้คงจะมีอดีตชาติมามากใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ก็มี อดีตชาติบ้าๆ บอๆ”

ผู้ถาม :- “หมายถึงว่า มีวิริยะมาก มีปัญญามาก”

หลวงพ่อ :- “ก็เอาจริง ถ้าไม่ได้ให้มันตาย มันติดมาตลอด”

ผู้ถาม :- “ก็ไม่ใช่บ้านี่ครับ”

หลวงพ่อ :- “บ้า ชาวบ้านเขาไปแค่นี้ เราจะไปแค่โน้น เขาเลยหาว่าบ้า”

ผู้ถาม :- “ก็เลยเป็นซุปเปอร์แมน”

หลวงพ่อ :- “เอ…ซุปเปอร์แมนมันแปลว่าอะไร…?”

ผู้ถาม :- “เหนือมนุษย์ครับ”

หลวงพ่อ :- “เอ้ย…ไม่ใช่ แค่มนุษย์นี่ละ เขาเรียกมนุษย์บวมๆ”

ผู้ถาม :- “ต้องเรียกว่ามนุษย์ที่ฉลาดเหลือเกิน ใกล้ๆ บ้า”

หลวงพ่อ :- “ก็ใช่ซิ เขาจึงถือว่าบ้าๆ บวมๆ ไงล่ะ ความจริงไม่ฉลาดเหลือเกิน คือว่าเอาจริงทุกอย่าง อะไรก็ตาม เขาถือว่ามันมีความสามารถทำได้ เราจะไม่ยอมใช้คำว่าไม่เชื่อ และจะไม่ยอมใช้คำว่าเชื่อ ต้องพิสูจน์ก่อน จนกว่าจะถึงผลนั้น

อาจารย์รุ่นก่อนท่านฉลาด ถ้าเราทำได้แค่นี้ ท่านก็ล่อไปแค่โน้น เรากวดยันป้าย ท่านก็ล่อไปอีกหน่อย กวดดะ รู้สึกว่าท่านฉลาด ก็เลยไปถามท่านว่า รุ่นก่อนๆ ทำอย่างนี้หรือเปล่าครับ ท่านบอก ไม่…มีชุดแกชุดเดียว แล้วท่านก็เลยบอกอดีต พอทำได้ท่านก็ทวนอดีตให้ดู มันต้องถึงอดีตด้วยนะ

อย่างฉันนี่มาจากพุทธภูมิ วิริยาธิกะ วิริยาธิกะนี่ต้องมีความเพียรมาก คือทุกสิ่งทุกอย่างต้องสำเร็จด้วยความเพียร สู้มันจนตาย คือกฎมันบังคับ กฎของชาติก่อน พอทำอานาปานุสสติปั๊บ พอวันที่ ๓ อานาปานุสสติเป็นฌาน ๔ พอจิตตกมาปั๊บถึงอุปจารสมาธิ ไฟลุกโชน หลวงพ่อปานท่านรู้ เรามันไม่รู้ ถึงก่อนที่จะเข้ามาบวช ต้องวิสุทธิมรรคคล่องก่อน คำว่าคล่องไม่ใช่จำ ต้องรู้ลีลา รู้นิมิต รู้สัญลักษณ์หมด ท่านสอบก่อนจึงให้บวชได้

พอโผล่มาแดงก็จับเตโชกสิณ วันที่ ๓ ก็เป็นฌาน ๔ ตัวฌาน ๔ พอมันได้ตัวหนึ่ง ตัวอื่นก็เป็นฌาน ๔ หมด ใช้แรงๆ เดียวกันเล่นไปจนหมด ๑๐ กสิณ ๑๐ กองหมดก็อสุภขึ้น ไล่ไปจนอสุภ ๑๐ หมดอนุสสติขึ้น อาหารเรปฏิกูลสัญญา ธาตุ ๔ โอ๊ะ…พรหมวิหาร ๔ พอจับปั๊บ เอ…จิตมันเริ่มหนัก ฌานนี่มันหนัก เหมือนคนมีแรงกำลังมันดีเลยเล่นอรูปฌานดีกว่า พอจับอรูปฌานเบาเหวงเลย เล่นไปเล่นมาสนุกสนานดี

ช่วงนี้ไม่ถึงครึ่งพรรษาหรอก จบ ๔๐ กอง มันของเก่าทั้งหมด ไอ้ที่ทำน่ะทำของเก่าทั้งหมด พอเล่นกรรมฐาน ๔๐ จบ ก็ลองเล่นมหาสติปัฏฐานดูทีหว่า…พอนึกสนุก แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการมากที่สุด คือวิปัสสนาญาณ นี่พุทธภูมิมันเสียตรงนี้ที่ไม่เป็นอรหันต์ได้ จะใช้เพียงแค่เล็กน้อยคุมอารมณ์ให้ทรงตัว

แต่ความจริงถ้าเป็นสาวกภูมิ อันใดก็ตามถ้าเป็นฌาน ๔ ถ้าตัดเข้าไปหาวิปัสสนาญาณเดี๋ยวก็เป็นอรหันต์ คนใดก็ตามถ้าทรงฌาน ๔ ได้เป็นปกติ สักครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงนี่นะ ไปเล่นวิปัสสนาญาณ ถ้ากำลังจิตเข้มแข็งจะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ วัน ถ้าจิตเบาหน่อย จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ เดือน ถ้าจิตย่อหย่อนที่สุดจะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ ปี นี่มันมีเกณฑ์อยู่นิดเดียว

นี่พุทธภูมิ ถ้าเป็นปรมัตถบารมีต้องเล่นหมด กรรมฐาน ๔๐ มหาสติปัฏฐาน เพื่อไปเป็นครูเขา หลังจากนั้นก็เล่นวิชชาสาม เล่นอภิญญา ตามเรื่องตามราว สนุกสนานไปตามเรื่อง

จนกระทั่งพรรษาที่ ๒๐ เศษ ตามที่หลวงพ่อปานพยากรณ์วันแรกที่เข้าไปบวช อุปัชฌาย์(พระครูรัตนาภิรมย์) เอาตาลปัตรเคาะหัวโป๊กๆ บอกไอ้พวกนี้หัวแข็งเว้ย…อุปัชฌาย์เป็นอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ คู่สวดกรรมวาจาจารย์หลวงพ่อปานเป็นพระโพธิสัตว์เต็มขั้น อนุสาวนาจารย์คือหลวงพ่อเล็กเป็นพระอนาคามี ไอ้เราไม่รู้หรอก แล้วท่านก็บอก ไอ้แกไม่ได้สึกหรอก หลวงพ่อปานท่านก็ยิ้มๆ บอก ครับ ผมก็ว่ามันไม่ได้สึกหรอก หลวงประธานฯ เข้าไปท่านก็บอกว่า ไอ้นี่จำเป็นต้องสึกก่อนนะ บวชใหม่ก็เข้าป่าเป็นอรหันต์ ท่านพูดเฉยๆ

จะเฉยยังไง ปฏิสัมภิทาญาณนี่อารมณ์ไวจะตาย เราจะนึกอะไรก็ไม่ได้ แต่เขาไม่ได้จับหรอกไอ้เครื่องเขามันดี ไม่ว่าคลื่นอะไรมามันเข้าหมด เครื่องรับพิเศษ เขาไม่ต้องตั้งใจไปจับเรานะ พอกระทบปั๊บมันขึ้นทันที โดยมากท่านพวกนี้ท่านจะไม่พูดกับคนที่ไม่ควรพูด อย่าไปนึกว่าเขาจะพูดกับคนทุกคนนะ ท่านทำโง่เก่ง เขาทำโง่ ไม่ได้โง่จริง ใช่ไหม…

แต่องค์นั้นกับหลวงพ่อปานก็น่าดูคู่ปรับกันนะ ถ้าองค์นั้น ถ้าป่วยละก็ ไม่กินยากินข้าว น้ำไม่กินนอนคลุมหัวคลุมเท้าเลย พอป่วยคราวหนึ่งหลวงพ่อปานไม่อยู่สัก ๖-๗ วัน ไปนานหลายวัน แต่ท่านป่วยมา ๖-๗ วัน มีคนไปบอกหลวงพ่อปาน ว่าเวลานี้ท่านพระครูรัตนาภิรมย์ป่วยนอนคลุมหัวคลุมเท้า ไม่กินข้าวกินปลา น้ำไม่กิน หลวงพ่อปานก็มาเปิดโปง ไอ้คลุมหัวคลุมเท้าเข้านิโรธสมาบัติ ไอ้พวกนั้นหาว่าท่านไม่ลุกป่วยหนัก ท่านป่วยไม่มากหรอก พอหลวงพ่อปานมาท่านก็ถอน ท่านรู้ก็ลืมตาแล้วก็กินยา เท่านั้นแหละ คนอื่นให้กินก็ไม่กิน

ไอ้คนก็มาบอกฉันเหมือนกัน ฉันบอกไม่ไปละ พอบอกว่าอุปัชฌาย์ป่วยหนัก สมเด็จท่านมาต้านทันที ท่านบอกว่า อย่าไปยุ่งเขานะ เขาเข้านิโรธสมาบัติ จะให้เราลงนรกซะแล้ว ก็น่าคิด ท่านนอนคลุมหัวคลุมเท้า ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ท่านไม่ลุกเลย ไม่กินข้าวกินน้ำก็ไม่กิน ใครมาเรียกก็ไม่ได้ยิน พวกวุ่นกันทั้งวัด

แต่น่าแปลกใจที่วัดของท่านทั้งวัด ไม่มีใครสนใจกรรมฐานกันเลย ดีไหม…อยู่กับพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณไม่มีใครเอาไว้เลย นี่ต้องคิด เพราะอะไร เพราะพวกนี้อิ่ม…พระอรหันต์อยู่ที่ไหนก็ไม่อดข้าว ลาภสักการะมันเกิดมากใช่ไหม…ไอ้พวกนี้เมาลาภ ปัดโถ…น่าสงสาร ไอ้เราเจริญกรรมฐานก็หาว่าบ้าๆ บอๆ เสียอีก

แต่ว่าพระในวัดท่านไม่ค่อยคุย พอฉันเดินเข้าไปเห็นหน้าก็เรียกเลย เข้าไปท่านก็คุยแต่น่าเสียดายนะ สมัยนั้นถ้ามีเครื่องบันทึกเสียงก็น่าคิดนะ คุยเรื่องที่ชาวบ้านเขาไม่ได้คุย เต๊ะท่า…เรื่องเทวดาเรอะ ข้าไป เดินเบ่ง…ท่านคุยนำเรา “ไอ้แกวันนั้นไปเดินต๊อกๆใครเขาเดินยังงั้นวะ มันต้องเดินเร็วๆ” ถามหลวงพ่อรู้รึ…ท่านบอก นึกว่าข้าตาคนแก่จะไม่ดีรึ

ท่านตาดีทุกอย่าง ท่านเป็นช่าง ไอ้คนหนึ่งทำงานบนหลังคาโบสถ์ ให้ตัดไม้พอจรดเรื่อยไปปั๊บ ท่านบอกยาวไป ขยับเข้ามาอีกหน่อย ขยับมาอีกนิด เฮ้ย…สั้นไป อีกนิดหนึ่ง พอตัดปั๊บใส่ปั๊วะพอดีเลย ตายาว

เราก็สงสัยมาหลายหน ไปถามหลวงพ่อปานว่าอุปัชฌาย์ทำไมตาดี ท่านบอก “ฮึ…ฮึ…เขาไม่ใช้ตานอก เขาใช้ตาใน” ซวยเลยเรา ถามว่า ท่านใช้ฌานหรือ…ท่านบอก ใครเขาใช้ฌาน ก็ถามเทวดาช่างท่านวิษณุกรรม ก็คอยบอกยาวไปสั้นไป เรามันโง่ทุกอย่าง คิดว่าพวกที่ได้ทิพจักขุญาณต้องใช้กำลังจิตของตนเอง ความจริงเขาไม่ใช้ ถ้าคนไหนใช้คนนั้นโง่ ไม่ช้าก็เสื่อม

ฉันพอได้ใหม่ๆ ก็ใช้ พอ ๓ วัน สมเด็จท่านก็มาเตือนบอกว่ากำลังจิตอย่าใช้มากนักซิ แต่ก็ต้องซ้อมเพื่อความคล่องตัว แต่ว่าอย่าใช้ ต้องรวบรวมกำลังฌานให้สูง รวบรวมกำลังทิพจักขุญาณให้มาก

แต่ว่าวิธีใช้ ตั้งแต่เช้าเราก็ต้องดูกว่าจะถึงหลับ วันนี้จะมีอะไรบ้าง วันนี้จะมีใครมากี่คน มีเรื่องอะไรบ้างก็บันทึกเลย มันมีผิดมีถูก มันไม่ถูกทั้งหมด ที่ผิดนั่นใจเราเสีย คือตั้งอารมณ์ฌานไม่พอ

ทีนี้เราต้องจำไว้ว่ามันถูกเพราะอารมณ์แบบไหน ต้องดูกำลังใจแจ่มใสแบบไหน ทรงตัวขนาดไหน เป็นเอกัคคตารมณ์แบบไหน ต้องจำจุดนี้ไว้ พอได้จุดนี้ปั๊บก็ใช้อารมณ์ดูตั้งแต่เช้ายันหลับแล้วมันจะตรง พอวันหลังมันนึกปั๊บมันใสดี เอาเลย บางทีผิดถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องจำอารมณ์ไว้เฉพาะเลย ถ้าอารมณ์ไม่ถึงขนาดอย่าใช้เด็ดขาด นี่ใช้เองนะ แต่ถึงงั้นท่านบอกไม่ควรใช้ ไม่ช้าก็เสื่อม แล้วควรจะถาม เวลาถามก็ถามเฉพาะคน ถ้าเรื่องแบบไหนถามพระพุทธเจ้า ก็ต้องถามเฉพาะพระพุทธเจ้า ไปเชื่อคนอื่นไม่ได้ ประเดี๋ยวก็เป๋

และก็ถ้าพระพุทธเจ้าเราเคยเห็นในลักษณะไหน ต้องจำลักษณะให้ดีนะ ถ้าเปลี่ยนลีลานี่ไม่ใช่นะ ถ้าผิดลีลาไปละก็ตัวปลอมแน่ มาแล้วเขาลอง เดี๋ยวไม่เทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง โดยเฉพาะเทวดาชั้นจาตุฯ เพราะการปฏิบัติเขาถือว่าเป็นครูประจำ ชั้นนี้อริยะพระอนาคามีมีเยอะ มาลอง

พอนึกจะพบพระพุทธเจ้าก็มาลองเลย สว่างจ้า เรามองๆ ดู แต่ว่าจะสังเกตได้ว่าหนาไปนิด คือตัวจะบางใสแต่หนาไปหน่อย พระพุทธเจ้าปลอมนี่รีบปั้น มาถึงพูดจาเพราะมาก ถ้าไม่สังเกตจริงๆ เหมือนพระพุทธเจ้า พูดไปพูดมาก็ถามว่า “วันนี้พระองค์ทำไมหนามากไป” เขาบอก “รู้ว่าหนารึ…หนาก็ไม่ใช่ซิ…” โผล่หน้ามาแล้วบอกว่าถ้ายังงี้ใช้ได้ๆ ต้องเป็นคนช่างสังเกต ไม่งั้นเขาลวงตาย นี่ท่านมาสอน โดยมากชั้นจาตุมหาราชเป็นเพื่อนกันมาก เพราะฉันเคยอยู่ชั้นนี้มาก่อน

และเรื่องของนิพพานเขาก็โง่ๆ กันอยู่เยอะ อันดับแรกที่จิตเข้าถึงโคตรภูญาณ มันก็เห็นนิพพานได้ ถ้าเราฝึกวิชชาสาม หรืออภิญญาหก มันสบายเห็นได้แต่ไปไม่ได้ ถึงได้พอหลุดจากโคตรภูมันก็ไปได้ ก็ไปแค่องค์ปัจจุบัน

พระพุทธเจ้าก็ดี สถานที่ของท่านก็ดี มองแล้วมันไม่เหนื่อยใช่ไหม…มันบอกไม่ถูกไม่รู้จะเล่ายังไง ความไม่มีสีหลากสีนี่ไม่มี เป็นเหมือนเพชรสีน้ำมันก๊าด หรือว่าแพรวพราวสว่างเฉพาะองค์พระพุทธเจ้าตามพระบาลี ถ้าเอาพระอาทิตย์ไปตั้งไว้สักแสนดวงก็ยังสว่างไม่เท่า อันนี้ฉันเชื่อ เพราะว่าแสงสว่างแห่งอาทิตย์นี่เรามองมันยังมัวอยู่ ถ้าเข้าไปถึงวิมานของท่าน วรกายของท่านสว่างมากจัด

คือภาพของนิพพานนี่ไม่มีโกนหัว ถ้าเห็นโกนหัวนี่ ก็หมายความว่าเราเคยเห็นภาพพระแบบนี้ ขึ้นไปทีแรกก็ต้องเห็นแบบนี้ ใช่ไหม…เดี๋ยวจะหาว่าไม่ใช่นิพพานเสียอีก ก็ต้องเห็นภาพที่เราเคยเห็น และเมื่ออารมณ์เราเชื่องดีแล้ว จิตใจผ่องใส อุปาทานหมด ถ้ายังเห็นภาพเป็นพระแสดงว่ายังมีอุปาทานอยู่ คือเรายังมีอุปาทานอยู่ ท่านก็ต้องแสดงแบบนั้น เดี๋ยวเราจะหาว่าไม่ใช่พระ

ไอ้คำว่า อุปาทาน คือตัวยึด ว่าถ้าพระก็ต้องมีสภาพเป็นแบบนั้น ถ้าพระสงฆ์ก็ต้องมีสภาพนั้นจริงในเมืองมนุษย์ ถ้าพระในสวรรค์ในพรหม ในพระนิพพานนี่ไม่มี เขามีเครื่องแบบต่างหาก พอถึงเทวดาแล้วภาพพระก็หาย แต่ที่เราไปเห็นท่านก็แสดงให้เห็นเป็นภาพพระ ถ้าขึ้นภาพอื่นเขาบอกไม่ใช่ละ เป็นยังงั้น

แบบฉันเห็นเทวดาครั้งแรก เขาลือกันว่าเทวดารวย ฉันเห็นจนสะบัดเลย มีแต่ผ้านุ่ง เสื้อไม่มี มีแต่สังวาลย์สองเส้น หมดท่า…ถามแกว่า เป็นเทวดาแน่หรือ แกบอกว่านี่ละเทวดาแท้ ก็ท่านเห็นเทวดาข้างโบสถ์แบบนี้ ผมก็มาแบบนี้ นี่ละตัวอุปาทาน”

ผู้ถาม :- “ทำไมหลวงพ่อต้องฝึกทั้ง ๔ สายล่ะครับ คือ สุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต…?”

หลวงพ่อ :- “ความจริงมันไม่ต้องทำถึง ๔ สายหรอก สายเดียวก็พอแล้ว แต่เราไม่หมดสงสัยนี่ ใช่ไหม…ไม่งั้นคุยกับพวกเขามันไม่เข้าใจ อ่านแค่หนังสือมันไม่เข้าใจจริงๆนะ เรื่องของด้านจิตใจ ถ้าอ่านหนังสืออย่างเดียวยังหยาบมาก แค่ฌาน ๒ นี่พังแล้ว เราดูตำราคล่อง เป็นครูเขาด้วย เคยเทศน์ด้วย ตั้งแต่ฌานต้นจนถึงนิพพานเราพูดได้ พอทำจิตถึงฌาน ๒ พังเลย ไม่รู้ ฌานที่ ๑ มันมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ใช่ไหม…พอถึงฌานที่ ๒ ตัดวิตกวิจารออกไป เหลือปีติ สุข และเอกัคคตา พอทำเข้าจริงๆ ปั๊บ พอถึงฌาน ๒ มันหยุดภาวนา เราเลยไม่รู้เรื่องเลย พอหยุดไปพอจิตมันตกปั๊บ อุ๊ยตายจริงลืมภาวนานี่หว่านี่ ไม่รู้ว่าเข้าฌาน ๒ แค่นี้แค่ฌานโลกีย์ยังแย่ ถ้าสูงขึ้นไปยิ่งแย่ใหญ่”

ผู้ถาม :- “มันไม่เป็นมารใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่ใช่มาร มันเข้าใจผิดว่าคือเข้าฌาน ๒ เขาตัดวิตก วิจาร ใช่ไหม…พอมันตัดเข้าจริงๆ เราไม่รู้ว่าตัด วิตก-ตรึก วิจาร-ตรอง ใช่ไหม…แต่ความจริงไอ้ตัวภาวนานี่มันทั้งตรึกทั้งตรอง พอเข้าถึงฌาน ๒ ปั๊บ มันตัดของมันเอง เราก็เข้าใจผิดคิดว่าหลับ แค่นี้เองไม่ถึงแค่ไหนเลย แค่ประถมปีที่ ๒ ตายแล้ว

จึงบอกว่า ถ้าปฏิบัติไม่ถึงแล้ว อย่าไปคุยกันเลย ท่านได้ขั้นไหน เราถามท่านอธิบายขั้นนั้นเลยไปท่านไม่อธิบาย อธิบายเท่าไรก็ผิด ฉะนั้นท่านที่ได้พระโสดาบัน ถ้าไปถามอารมณ์ของพระสกิทาคามี พระอนาคามี ท่านไม่ตอบ ท่านพูดแค่นั้น ถ้าถามต่อไปท่านไม่พูด ถ้าพูดผิดแน่

แต่ความจริงพวกสาวกภูมินี่เขาสบาย ถ้าเป็นฝ่ายสุกขวิปัสสโกนะ เขาก็เรียนกันแค่นั้นละ เรียนง่ายๆ จุดใดจุดหนึ่ง ไม่ต้องเอาทั้งหมด แต่ว่าถ้าเราจะเรียนเตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต ต้องเรียนมากหน่อย ถ้าจะเรียนถึงขั้นเตวิชโชขึ้นไป ต้องละเอียดนิดหนึ่ง ต้องไปมั่วสุมกับนิวรณ์ ๕ ประการให้คล่อง แล้วต้องไปคบหาสมาคมกับกสิณ ถ้าหากว่าไม่ไปคบกับกสิณ ไม่มีทางได้วิชชาสามใช่ไหม…

ถ้าเป็นอาทิกัมมิกบุคคล คือผู้ที่ยังไม่เคยได้มาก่อน ต้องไปเริ่มต้นใช้กสิณ ๓ อย่าง กสิณไฟ กสิณสีขาว กสิณแสงสว่าง แต่ว่าคนที่ฝึกมาแล้วในกาลก่อนกสิณอะไรก็ใช้ได้ เพราะเคยได้มาแล้ว

อันนี้หมายความว่าจะต้องได้ถึงฌาน ๔ แล้วจะมาปล้ำอารมณ์ให้ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณกับทิพจักขุญาณไม่ใช่ของง่ายเลย ใช้เวลาเยอะ ต้องใช้ความเพียรอย่างหนัก ต้องใช้ความบ้าพอ ถ้าบ้าไม่พอไม่ได้ ต้องใช้อารมณ์เกินกว่าคนธรรมดา หมายความว่าเราจะต้องไม่หนักใจ ไอ้เรื่องความทุกข์ยากลำบากในการฝึก ไม่หนักใจสู้สะบัด แล้วต้องมั่นใจในกำลังใจของตนเอง

ประการที่ ๒ ไม่เห็นความสำคัญของชีวิต จุดนี้แหละที่เป็นจุดที่มีความสำคัญที่สุด ไม่ว่าฌานชั้นไหนละ ถ้ายังมีความห่วงในชีวิต ไม่มีทาง

บางทีร่างกายดีๆ พอนั่งปุ๊บท้องมันเสียดอืดขึ้นมาแล้ว ฉันเคยโดนหลายหน มันไม่อืดเฉยๆ มันแน่นจุกขึ้นมาหน้าอก ทำท่าจะตาย ทำไงก็ไม่หาย ลองดูซิว่าไม่หายก็กินยาเรื่อย กินยาก็ไม่หาย ดมยาก็ไม่หาย ผลที่สุดจุดธูปจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัยบอก เออ..มึงพังได้ก็ดี กูจะได้สบายเสียที เป็นขี้ข้ามานานแล้ว เอ้า…เอาเลย รวบรวมกำลังใจ พอจับลมหายใจเข้าออกมันหายเลย ไอ้นี่เขาเรียกอะไรรู้ไหม…ขันธมาร

การป่วยไข้ไม่สบาย การปวดโน่นเจ็บนี่ เขาเรียก ขันธมาร ขันธ์คือร่างกาย มารคือผู้ฆ่า อาการทางร่างกายมันเกิดขึ้นมา เป็นการฆ่ากำลังใจที่จะก้าวเข้าสู่ความดี

ถ้าเราแพ้มันตอนนี้เราพัง นี่ถ้าคนดีเขาไม่ไหวแล้ว หายใจไม่ออก อึ้ดๆๆ ไม่ไหวเลิกเดี๋ยวตาย แต่คนบ้าบอก เอ้า…จะตายก็ช่างมัน พอมันเห็นเราบ้ากับมัน มันก็ไม่เอา ไปเลย นี่หลายวาระที่มีอาการแบบนี้ บางทีนั่งๆไป หวัดก็ไม่เป็น ดันเสือกหายใจไม่ออกเสียอีกแล้ว จมูกตันมาเฉยๆ ก็หายานัตถุ์หายาดม มันก็ไม่หาย ถ้าเชื้อสายของการเป็นหวัดมันมีอยู่ เราก็ไม่ว่า ไอ้นี่มันดีโปร่งๆ สบายทั้งกายและใจ โปร่งหมด พอเริ่มจับจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิมันมาเลย พอมันมาปั๊บคลายอารมณ์มาหน่อย ยอมแพ้มันนิดเอายาที่เคยใช้ทำไปซิ ไม่มีความหมาย

ไอ้นี่มาอีกแล้วเคยเจอะบ่อยๆ เลยบอก เอาเลยเพื่อนเอ๋ย…ตามสบายเถอะ ถ้าเอ็งอยากจะทรมานขันธ์ ๕ ก็ทรมานเถอะ แต่เอ็งอย่าทรมาน ข้า คือ จิต ไม่มีทาง ร่างกายพังเมื่อไร กูสบายเมื่อนั้น จับอารมณ์ตึ๊ก โน่นเผ่นพรวดไปนอนบ้านสบาย ใช่ไหม…ตอนนั้นบ้านอยู่แค่พรหม เพราะว่ายังเป็นพุทธภูมิ ขึ้นไปนอนกระดิกเท้าสบายโก๋ มองมาข้างล่าง เน่าแล้วยังหว่า ไม่เน่าก็นอนต่อไป”

ผู้ถาม :- “ครับ อย่างผมแค่ปฏิบัติก็ย่ำแย่ ปริยัติก็ย่ำแย่ เพราะว่าไม่ค่อยมีเวลาครับ”

หลวงพ่อ :- “ไอ้ปริยัตินี่ ถ้ายัดมากๆ นี่แย่นะ ถ้าอย่างนี้ดี อย่างนี้เขาเรียกคนฉลาด ถ้ารู้ตัวว่าแย่รู้ตัวว่าน้อย อันนี้เป็นความฉลาดของคน ถ้าคนโง่จริงๆ เขาจะไม่รู้ตัวว่าเขาน้อย

พระพุทธเจ้าบอกว่า คนใดรู้สึกตัวว่าเป็นพาล คนนั้นเป็นบัณฑิต พาลนี่เขาแปลว่าโง่ ถ้าคนโง่จริงมันไม่รู้ตัวว่ามันโง่ มันคิดว่าฉลาดตลอด ตามคำพังเพย “ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งโตยิ่งเซอะ” ใช่ไหม…

อย่างกับพระอภิธรรมนี่นะ ถ้าดูในพระไตรปิฎกแล้ว ปวดหัวตายเลย ฉันอ่านได้หน้าสองหน้าแล้วก็วางเลย แต่ว่าพอทำกรรมฐาน ทำไปๆ เรื่อยๆ มาตามลำดับ พอถึงจุดก็ไปอ่านดูอภิธรรมง่ายนิดเดียว เป็นงั้นไปอีก เมื่อก่อนนี่ฉันไปเรียนบาลี ฉันไปอ่านอภิธรรมฉันปวดหัว เพราะอารมณ์มันไม่ถึง เดี๋ยวนี้ไปดูอภิธรรมง่าย ปัดโธ่…ก็มีอยู่ ๓ ตัวเท่านั้น เทศน์ทั้งหมดก็มีอยู่ ๓ คำ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา มีเท่านี้แหละ แล้วท่านอธิบายขยายออกไป ขยาย ๓ ตัวนี่เท่านั้นนะ ไม่มีอะไร

กุสลา ธัมมา ธรรมที่เป็นกุศล
อกุสลา ธัมมา ธรรมที่เป็นอกุศล
อัพยากตา ธัมมา ธรรมที่เป็นอัพยากฤต คือพระนิพพาน

บาป บุญ นิพพาน ๓ ตัวนี่เอง นั่งอ่านกันเกือบตาย เรียน ๙ ปริเฉท ผลที่สุดเลยถูกเฉดเป็นแถวๆ หมด พอได้ ๙ ปริเฉทก็เบ่ง เป็นมานะ ลงนรกเลย

วันนั้นไปที่บ้านคุณเสริม ยายคนนั้นเขาเรียนปริเฉท ๘ อายุ ๔๐ เศษ ท่าทางดี หน้าตาพอใช้ได้ เขาถามโน่นถามนี่ บอกว่าเขาเรียนปริเฉท ๘

ก็เลยบอกว่า อย่างแกนี่เรอะ ก็ปฐมฌานยังไม่ได้ จะเอาอภิธรรมอะไรมาพูดกันละ ยังลงนรกอยู่นี่ เลยไปเลย เขาพูดเราก็รู้แล้วว่ายังไม่ได้ปฐมฌาน ไอ้ฌานนี่ ถ้าฉันจะเบ่งละก็ ไม่ใช่เบ่งทับเขานะ เห็นหน้าปั๊บนี่ พอได้ยินชื่อปั๊บก็รู้เรื่องอะไร แค่ได้ยินชื่อเท่านั้นแหละ ถ้าเราจะเอาจริงๆ

เมื่อก่อนนี้ใครพูดถึงใครไม่ได้ พอพูดถึงชื่อปั๊บฉันเห็นใจทันที ฉันชอบเล่นเจโตปริยญาณ ฉันคล่องกว่าอย่างอื่นหมด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะฉันต้องเล่นคนเดียว อีตอนจุดหลังฉันไม่มีใครเลยนะ ครูบาอาจารย์ท่านก็ตายไปแล้ว ใช่ไหม…อีจุดนั้นยังไม่ได้เอา มาเอาตอนหลัง ตอนนั้นเขามีเรื่องที่ชัยนาทนี่ ขึ้นมาเกี่ยวกับคดีของพระก็เห็นพระเน่า สืบไปสืบมาที่ไหนได้ มีสังฆมนตรี ๒ องค์เป็นด้าม เอ๊ะ…พระเลวขนาดสังฆมนตรี ก็ต้องเลวกันหมด บอกพระเน่าแบบนี้ไม่เอา ขอลา ลาแล้วก็เรียนจากสมเด็จโดยตรง

ท่านมาสอนไม่มานั่งจ้ำจี้จ้ำไช ท่านพูดอะไรไปแล้วอย่าไปถามอีกนะ พูดไปแล้วท่านจะไม่ซ้ำอีกเลย ท่านพูดช้า ให้นอน หากินทางนอน เราพวกพญานาค บอกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปให้เข้าห้อง เมื่อก่อนนี้รับแขกไปถึงหกทุ่ม จวนสี่ทุ่มให้แขกกลับ ก็จุดธูปเทียน พอสี่ทุ่มท่านมาถึงทันที เวลาท่านแน่นอน สว่างจ้าเต็มห้อง พอถึงบอกนอนแล้วท่านก็สอน คุณคิดตามฉันพูด ท่านพูดช้าๆ เราก็คิดตาม พอตีสองท่านก็เลิก เลิกแล้วเราก็หลับ

พอตื่นเช้าเวลาเดินบิณฑบาตก็ทบทวน เห็นคนเห็นอะไรก็คิดตามที่ท่านสอน จับไปเลยแล้วก็กลางคืนท่านมาต่อ ท่านพูดนิดเดียวแต่ก็ซ้ำไปซ้ำมา พระพุทธเจ้าเทศน์นี่ท่านต้องย้อนอีกที ย้อนเก็บ ทวนไปทวนมา คำพูดนิดเดียวท่านจะใช้เวลามากให้เราเข้าใจ

พอสอนไปเสร็จจุดแรกเสร็จเดือนหนึ่ง ก็บอกว่าต่อนี้ไปฉันไม่มา ๓ เดือน ถ้าสิ่งที่สอนไปแล้วทั้งหมด เธอยังไม่สามารถทำได้เด็ดขาดตลอดชีวิต ฉันจะไม่ยอมสอนตลอดชีวิต เราก็นึกในใจไม่มาก็ได้ ก็เสร็จตั้งแต่ท่านสอนไปแล้ว แล้วท่านก็หายไปพักไม่นานหรอก

เราก็เดินเกะๆ กะๆ ยิ่งสอนเรื่องราคะจริต-ตัดกามฉันทะนะ เราก็หาคนสวย แต่ถ้าสอนตัดกามฉันทะนี่ ไอ้สาวๆ สวยๆ มาวันยังค่ำ มาต้องสวยนะ มาขนาดที่คนเราเรียกว่าสวย มากันทุกรุ่น รับรองตั้งแต่เช้ายันเย็นไม่ขาดพวกนี้เลย ไอ้นั่นเขาไม่ได้มาเอง มาจากไหนก็ไม่รู้ เขาเอามาลอง มาลองว่าใจเราจะจับไหม แต่นี่เราไม่มีอะไร บางทีคนแต่งตัวสวยๆ มาขึ้นกราบๆ ปั๊บก็ถาม หนู…เวลามีประจำเดือนปวดท้องไหมหว่า…บอกว่าปวด เราก็นึกในใจว่าไม่เป็นเรื่องละ ทุกข์ทั้งนั้น

เขาก็หาจุดของความทุกข์ไง สวยหรือไม่สวย รวยหรือไม่รวย หนุ่มหรือแก่ เป็นทุกข์ทั้งนั้น ถ้าจับอริยสัจตัวนี้ได้ อารมณ์มันก็ไม่ติด ไม่ใช่เราไปแกล้งถามเขา เราถามเพื่อการศึกษาของตนเอง เอาอารมณ์ตัด เพื่อให้อารมณ์มันทรงอยู่ในอริยสัจ

อันนี้พอตัดปฏิฆะ ไอ้คนในวัดนั่นแหละมันด่าสะบัด ด่าทุกวัน ด่าตรงบ้างด่าเฉียดบ้าง แหม…มันเลวจริงๆ ถ้าไม่เหมือนของมันนี่ไม่ได้ พวกนี้มันลงนรกกันเป็นแถวๆ มันมีมานะ นี่ไม่ได้แช่งนะ อารมณ์เขาลงนรกแน่นอน

พอตัดปฏิฆะไปเสร็จ ท่านมาสอน งวดแรกนี่ท่านสอนถึงอนาคามีเลยนะ แล้วก็บอกว่าภายใน ๓ เดือน ถ้าเธอยังทำไม่ได้ ฉันจะไม่มาเลยตลอดชีวิต งวดที่ ๒ สอน อรหันต์ๆ มีอะไร เรื่องเล็ก รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ไม่มีความหมาย นิ้วก้อยเขี่ยๆ ก็หล่น

รูปราคะ อรูปราคะ รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ไม่ใช่ของวิเศษที่ทำให้เราพ้นทุกข์ เป็นแต่เพียงกำลังเพื่อก้าวเข้าไปตัดกิเลสให้ถึงอรหันต์เท่านั้น อันนี้เป็นของง่าย เราก็รู้อยู่แล้ว

ทีนี้ไอ้ตัว มานะ นี่เป็นตัวระยำ ยังมีมานะอยู่จึงถือว่านี่ดี ตัวมานะนี่เราก็ขี้เกียจ ฉันไปยุ่งอะไร หมูหมาฉันเป็นเพื่อนกับมันมาตั้งแต่เด็ก จะไปมีมานะอะไร

แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านว่า จงอย่าถือตัวเกินไป แต่จะไปจับหูจับตัวผู้หญิงได้หรือ ไอ้นี่ต้องถือว่าฉันเป็นพระนะ เป็นพระถูก ถ้าเราไม่มีจิตกำหนัด เราไม่อาบัติ แต่ว่าเพศของพระมันควรรึ จงอย่าถือตัวเกินไป หมายความว่ายังให้ถือตัวอยู่ แต่ถือให้เหมาะสมกับสภาวะ ไม่ใช่ว่าเอ็งอย่ามายุ่งนะข้าเป็นพระ เลยอดข้าวเลย คือมันเกินพอดี

อย่างป่วยพยาบาลจะไปฉีดยาไม่ได้ มันเลยไป ก็อย่าเสือกเลวซิ เขาจะอุ้มไปไหนก็อุ้มไป ก็อย่าไปนึกว่าเขาเป็นผู้หญิงซิ ก็เท่านั้นแหละ ไอ้นี่ไม่ใช่เคร่งพอดี มันเกินพอดี ใช่ไหม…คือจิตกำหนัดไม่มี มันไม่เป็นอาบัติ ภิกษุมีจิตกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส ถ้าไม่มีจิตกำหนัด แบกมันไปก็ได้ ก็หมดเรื่องหมดราว

ไอ้ลูกเป็นพระ แต่แม่ป่วย จับไม่ได้ตายห่าไปเลย ไม่ต้องเป็นแม่ อย่างไอ้พวกสาวนี่นะถ้ามันชักแหงกๆ จะไปกำหนัดกับผีอะไร คนจะตายโหงแล้ว แต่อย่างไอ้โม่งที่ลงหนังสือพิมพ์นี่ไม่แน่นะ

อย่างเด็กเกิดใหม่ๆ เป็นผู้หญิงจับได้ไหม…ถ้าจับจะมีจิตกำหนัดอะไร แต่ว่าท่านบอกเป็นอนามาส ไม่ควรจับเพราะเป็นเพศหญิงต้องถือตัว บอกไม่เป็นไรๆ มันเป็นเด็กค่ะๆ บอกไม่ได้หรอกเพราะมันเป็นผู้หญิง นี่เขาถือตัวนิดว่าเป็นพระ มันไม่ควร ไม่ใช่ไปถือว่านี่ฉันหนึ่งในตองอูแล้วนะ แกไม่ถึงฉัน นี่ห่วยแล้ว

ก็มีใครมาเล่าให้ฟัง พวกวัดที่ จ.สมุทรปราการ เขามาที่นี่บ่อยๆ เขาเห็นเราคุยสนุกแบบนี้คุยเล่นกัน เขาไปถามหลวงปู่สิมว่า “หลวงพ่อฤๅษี ทำไมท่านไม่เคร่ง” หลวงปู่สิมเลยบอก “นี่เลิกพูดต่อไปนะ” เขาถามทำไม “อย่าพูดอย่างนี้ต่อไปนะ ท่านไม่ใช่พระธรรมดาแล้วนะ” ตั้งแต่วันนั้นเลิก เขาเห็นว่าเราต้องนั่งตัวเป๋ง ยังงั้นไม่มีทางหรอก ลูกศิษย์เหลือ ๒ คน อันนี้มันก็เป็นเรื่องลีลา

แต่เวลาธรรม เห็นฉันเล่นหรือเปล่า ฉันตวาดคนเอาง่ายๆ เวลาฉันสอนธรรม เรื่องธรรมฉันไม่เกรงใจคน ถ้าไม่ดีฉันตีพังไปเลย

พระพุทธเจ้าท่านก็มีสนุก ท่านไปเล่นซ่อนหากับท่านท้าวผกาพรหม เห็นไหม…ท่านเอาทุกท่านะพระพุทธเจ้า เข้าคนกลุ่มไหนท่านก็เอาแบบนั้น ใช่ไหม…”

ผู้ถาม :- “ครับ ผมเข้าใจแล้วครับ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๓ หน้า ๘๙-๑๐๔ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร