หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
นักเจริญวิปัสสนาญาณที่หวังผลจริง ไม่ใช่นักวิปัสสนาทำเพื่อโฆษณาตัวเองแล้ว ท่านว่าต้องเป็นผู้ปรับปรุงบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วนด้วย ถ้าบารมี ๑๐ ยังไม่ครบถ้วนเพียงใด ผลในการเจริญวิปัสสนาญาณจะไม่มีผลสมบูรณ์
บุคคลที่ทำลายพระศาสนา
เป็นนิสัย ไม่ควรมีในหมู่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นการดูแคลนพระพุทธศาสนาเกินไป พูดกันตรง ๆ ก็ว่า ไม่มีความเชื่อถือจริง และไม่ใช่นักปฏิบัติจริง ปฏิบัติตามเขา พอได้ชื่อว่าฉันก็ปฏิบัติวิปัสสนา คนประเภทนี้แหละที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม เพราะทำไปไม่นานก็เลิก แล้วก็เอาความไม่จริงไม่จังของตนเองนี่แหละไปโฆษณา บอกว่าฉันปฏิบัตินานแล้ว ไม่เห็นมีอะไรปรากฏ เป็นการทำลายพระศาสนาโดยตรง
ฉะนั้นนักปฏิบัติแล้ว ควรตั้งใจจริงเพื่อมรรคผล ถ้ารู้ตัวว่าจะไม่เอาจริง ก็อย่าเข้ามายุ่งทำให้ศาสนาเสื่อมทรามเลย ต่อไปนี้จะพูดถึงนักปฏิบัติที่เอาจริง
ก่อนพิจารณาวิปัสสนา
ทุกครั้งที่จะเจริญวิปัสสนา ท่านให้เข้าฌานตามกำลังสมาธิที่ได้เสียก่อน เข้าฌานให้ถึงที่สุดของสมาธิ ถ้าเป็นฌานที่ ๔ ได้ยิ่งดี ถ้าได้สมาธิ ๆ ไม่ถึงฌาน ๔ ก็ให้เข้าฌาน จนเต็มกำลังสมาธิที่ได้
เมื่ออยู่ในฌานจนจิตสงัดดีแล้ว ค่อย ๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณทีละขั้น อย่าละโมบโลภมาก ทำทีละขั้น ๆ นั้น จนเกิดเป็นอารมณ์ประจำใจ ไม่หวั่นไหวเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่กำเริบแล้ว จึงค่อยเลื่อนไปฌานต่อไปเป็นลำดับ
ทุกฌานปฏิบัติอย่างเดียวกัน ทำอย่างนี้จะได้รับผลแน่นอน ผลที่ได้ต้องมีการทดสอบจากอารมณ์จริงเสมอ อย่านึกคิดเอาเองว่าได้ เมื่อยังไม่ผ่านการกระทบจริง ต้องผ่านการกระทบจริงก่อน ไม่กำเริบแล้วเป็นอันใช้ได้
ธรรมเครื่องบำรุงวิปัสสนาญาณ
นักเจริญวิปัสสนาญาณที่หวังผลจริง ไม่ใช่นักวิปัสสนาทำเพื่อโฆษณาตัวเองแล้ว ท่านว่าต้องเป็นผู้ปรับปรุงบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วนด้วย ถ้าบารมี ๑๐ ยังไม่ครบถ้วนเพียงใด ผลในการเจริญวิปัสสนาญาณจะไม่มีผลสมบูรณ์
บารมี ๑๐ นั้น มีดังต่อไปนี้
๑.ทาน
คือ การให้ ต้องมีอารมณ์ใคร่ต่อการให้ทานเป็นปกติ ให้เพื่อสงเคราะห์ ไม่ให้เพื่อผลตอบแทน ให้ไม่เลือกเพศ วัย ฐานะ และความสมบูรณ์ เต็มใจในการให้ทาน เป็นปกติ ไม่มีอารมณ์ไหวหวั่นในการให้ทาน
๒.ศีล
รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ศีลไม่บกพร่อง และรักษาแบบอุกฤษฏ์ คือ ไม่ทำศีลให้ขาดหรือด่างพร้อยเอง ไม่ยุคนอื่นให้ละเมิดศีล ไม่ดีใจเมื่อคนอื่นละเมิดศีล
๓.เนกขัมมะ
การถือบวช คือ ถือพรหมจรรย์ ถ้าเป็นนักบวช ก็ต้องถือสิกขาบทอย่างเคร่งครัด ถ้าเป็นฆราวาส ต้องเคร่งครัดในการระงับอารมณ์ที่เป็นทางของนิวรณ์ ๕ คือ ทรงฌานเป็นปกติ อย่างต่ำก็ปฐมฌาน
๔.ปัญญา
มีความคิดรู้เท่าทันสภาวะของกฎธรรมดา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นปกติ
๕.วิริยะ
มีความเพียรเป็นปกติ ไม่ท้อถอยในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล
๖.ขันติ
อดทนต่อความยากลำบาก ในการฝืนใจระงับอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ อดกลั้น ไม่หวั่นไหว จนมีอารมณ์อดกลั้นเป็นปกติ ไม่หนักใจเมื่อต้องอดทน
๗.สัจจะ
มีความจริงใจ ไม่ละทิ้งกิจการงานในการปฏิบัติความดีเพื่อมรรคผล
๘.อธิษฐาน
ความตั้งใจ ความตั้งใจใด ๆ ที่ตั้งใจไว้ เช่น สมัยที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เข้าไปนั่งที่โคนต้นโพธิ์ พระองค์ทรงอธิษฐานว่า ถ้าเราไม่ได้สำเร็จพระโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้ แม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป หรือชีวิตจะตักษัยคือสิ้นลมปราณก็ตามที พระองค์ทรงอธิษฐานเอาชีวิตเข้าแลก แล้วพระองค์ก็ทรงบรรลุในคืนนั้น
การปฏิบัติต้องมีความมั่นใจอย่างนี้ ถ้าลงเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วสำเร็จทุกราย และไม่ยากเสียด้วย ใช้เวลาก็ไม่นาน
๙.เมตตา
มีความเมตตาปรานีไม่เลือก คน สัตว์ ฐานะ ชาติตระกูล มีอารมณ์เป็นเมตตาตลอดวันคืนเป็นปกติ ไม่ใช่บางวันดีบางวันร้าย อย่างนี้ไม่มีหวัง
๑๐.อุเบกขา
ความวางเฉยต่ออารมณ์ที่ถูกใจ และอารมณ์ที่ขัดใจ อารมณ์ที่ถูกใจรับแล้วก็ทราบว่า ไม่ช้าอาการอย่างนี้ก็หมดไป ไม่มีอะไรน่ายึดถือ พบอารมณ์ที่ขัดใจก็ปลงตกว่า เรื่องอย่างนี้มันธรรมดาของโลกแท้ ๆ เฉยได้ทั้งสองอย่าง
บารมี ๑๐ นี้ มีความสำคัญมาก ถ้านักปฏิบัติบกพร่องในบารมี ๑๐ นี้ แม้อย่างเดียว วิปัสสนาญาณก็มีผลสมบูรณ์ไม่ได้
ที่ว่าเจริญกันมา ๑๐ปี ๒๐ ปี ไม่ได้อะไรนั้น ก็เพราะเป็นผู้บกพร่องในบารมี ๑๐ นี่เอง ถ้าบารมี ๑๐ ครบถ้วนแล้ว ผลการปฏิบัติเขานับวันสำเร็จกัน ไม่ใช่นับเดือนนับปี
ฉะนั้น ท่านนักปฏิบัติเพื่อมรรคผลต้องสนใจปฏิบัติในบารมี ๑๐ นี้ ไม่ให้บกพร่องเป็นกรณีพิเศษ