โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง
ผู้ถาม :- “ดิฉันขอเรียนถามว่า การอุปสมบทบรรพชา มีอานิสงส์อย่างไรบ้างคะ…?”
หลวงพ่อ :- “การอุปสมบทบรรพชา นี้มีอานิสงส์พิเศษ ผิดกับอานิสงส์อย่างอื่น เช่น การสร้างวิหารทานก็ดี การถวายสังฆทานก็ดี การทอดผ้าป่า ทอดกฐินก็ดี อานิสงส์อย่างนี้บุคคลที่จะพึงได้ต้องโมทนาก่อน”
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อช่วยกรุณาอธิบายเพิ่มเติมอีกหน่อยเถิดค่ะ”
หลวงพ่อ :- “หมายความว่า ถ้าบุตรธิดาของตนบำเพ็ญกุศลให้แก่บิดามารดา แต่บิดามารดาไม่ได้โมทนาในกุศลนั้น ย่อมไม่ได้ แต่ว่าการอุปสมบทบรรพชานี้แปลกกว่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาทรงแสดงไว้ว่า สมมุติว่าบุตรชายของท่านผู้ใดออกจากครรภ์มารดา วันนั้นบิดามารดาก็จากกัน ลูกกับพ่อ ลูกกับแม่ ย่อมไม่รู้จักกัน เวลาที่บุตรชายอุปสมบทบรรพชา บิดามารดาก็ไม่ทราบ แต่ว่าบิดามารดาย่อมได้อานิสงส์โดยสมบูรณ์
คำว่า อุปสมบท หมายความว่า บวชเป็นพระ
คำว่า บรรพชา หมายความว่า บวชเป็นเณร
ท่านที่บวชเป็นพระด้วยตนเอง จะมีอานิสงส์อยู่เป็นเทวดาหรือพรหม ๖๐ กัป
สำหรับบิดามารดา จะได้อานิสงส์คนละ ๓๐ กัป
สำหรับคนที่ไม่ใช่พ่อแม่ เป็นเจ้าภาพให้บวช จะได้อานิสงส์คนละ ๑๒ กัป ต่อ ๑ องค์
สำหรับท่านที่ได้ทำบุญอุปสมบท ช่วยเขาคนละบาทสองบาท หรือช่วยกันด้วยกำลังแรง อย่างนี้มีอานิสงส์องค์ละ ๘ กัป
สำหรับท่านผู้บวชเป็นเณร บวชแล้วมีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตามระบอบพระธรรมวินัย เมื่อตายจากความเป็นคน ถ้ามีจิตของตนเป็นกุศล แต่ว่าไม่สามารถทรงจิตเป็นฌาณ ท่านผู้นั้นจะเสวยความสุขบนสวรรค์ ได้ถึง ๓๐ กัป
ถ้าหากว่าทำจิตของตนให้ได้ฌาณสมาบัติ ก่อนตายจากความเป็นคน จะเกิดเป็นพรหม มีอายุถึง ๓๐ กัป เช่นเดียวกัน
สำหรับบิดามารดาได้คนละ ๑๕ กัป”
ผู้ถาม :- “เวลา กัปหนึ่ง เขานับกันอย่างไรคะ…?”
หลวงพ่อ :- “คำว่า กัปหนึ่ง นั้น มีปริมาณนับเป็นปีไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบไว้ว่า สมมติว่ามีภูเขาลูกหนึ่งเป็นหินล้วน ไม่มีดินเจือปน ถึงเวลา ๑๐๐ ปี เทวดาเอาผ้าเนื้ออ่อนเหมือนสำลี มาปัดยอดเขานั้นครั้งหนึ่ง ทำอย่างนี้ ๑๐๐ ปี ปัด ๑ ครั้ง จนกระทั่งหินนั้นหมดไป เหลือแต่ดินล้วน นั่นจึงจะมีอายุครบ ๑ กัป”
ผู้ถาม :- “ถ้าลูกชายมีภรรยาแล้ว จะได้อานิสงส์ลดลงไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ที่เขาลือกันว่า ถ้าลูกไปมีเมียเสียก่อนแล้วไปบวช พ่อแม่ได้อานิสงส์น้อยนั้น ไม่จริงหรอกโยม บุญของพ่อของแม่ลดกันไม่ได้”
ผู้ถาม :- “ถ้าหากว่าบวชไม่ครบพรรษา จะบวช ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน ได้ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “จะบวช ๑ เดือน ๒ เดือน หรือ ๗ วัน ก็ได้ ถ้าหากปฏิบัติดี บวช ๒-๓ วันมันก็ดี ถ้าบวชเลว นานเท่าไร ก็ยิ่งลงอเวจีลึกเท่านั้น ก็ไม่มีความหมาย
การบวช พระพุทธเจ้าทรงวางแบบไว้ แต่พระที่เขาถือว่ามีศักดิ์ศรีกลับปฏิบัติเลว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์ ทรงมีกฎไว้ว่า คนที่จะบวชจะต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๓ เดือนก่อน ในฐานะที่เป็นคนภายนอก จะต้องมาศึกษาพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติ ถ้า ๓ เดือนยังไม่ดี ยังไม่ให้บวช ถ้าอยู่ต่อไปอีก ๓ เดือน ถ้ายังไม่ดี ก็ยังไม่ให้บวช ถ้าอยู่ต่อไปอีก ๓ เดือน ถ้า ๓ เดือน ๓ วาระ ยังไม่ดี ห้ามบวชตลอดชีวิต”
ผู้ถาม :- “เดี๋ยวนี้ไม่เห็นเขาเข้าวัดกันเลยค่ะ เวลาขานนาค พระคู่สวดก็สอนเสียทั้งหมด”
หลวงพ่อ :- “ถ้าเป็นที่วัดฉัน ไม่ให้บวชเลย”
ผู้ถาม :- “คนเดี๋ยวนี้ต้องทำมาหากิน ถึงเวลาจะบวช ก็บวชไปตามประเพณี ไม่ได้มีเวลาศึกษาระเบียบวินัยข้อวัตรปฏิบัติเสียก่อน บวชอย่างนี้จะได้ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ได้…โยม ได้อเวจี บวชวันแรกก็หมดจากความเป็นพระแล้ว พระไม่ได้อยู่ที่ผ้าเหลือง และพระก็ไม่ได้อยู่ที่การโกนผม
คำว่า พระจริงๆ อันดับแรกเป็นพระปลอมก่อน ที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า สมมติสงฆ์ นั่นก็คือ พระที่ปฏิบัติตามวินัยครบถ้วนทุกสิกขาบท พระพุทธเจ้ายังไม่เรียก พระ นะ ทรงเรียกว่า สมมติสงฆ์ พลาดนิดเดียวก็ไปนรก
และการที่จะบวชเข้าไป ถ้าในคณะสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวงการอุปสมบท ถ้าเป็นอาบัติปาราชิก หรือสังฆาทิเสสองค์หนึ่ง สังฆกรรมนั้นเสีย คนที่บวชนั้นไม่เป็นพระหรอก เป็นเณร เสร็จอีก ถ้าไปนั่งรวมฉันร่วมกับพระก็บาปกินตลอด
แล้วก็มาอีกระดับหนึ่ง ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย เขาเรียกว่า สาธุภิกขุ คือนักบวชชั้นดี ถ้าได้ฌานสมาบัติเป็นฌานโลกีย์ ก็ยังเรียกว่า สมมติสงฆ์ ถือว่าเป็นกัลยาณชน จะเป็น พระจริงๆ ได้ก็ต่อเมื่อท่านผู้นั้นเป็น พระโสดาบัน”
ผู้ถาม :- “การบวชให้อยู่วัดก่อนบวช คือการท่องบ่นสวดมนต์ แล้วก็ปฏิบัติพระ ใช่ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “การอยู่วัดก่อนบวช เขาไม่ได้สวดมนต์เฉยๆ เขาจะต้องเจริญพระกรรมฐาน และต้องปฏิบัติให้อารมณ์จิตดีด้วย คือเข้าถึงธรรมพอไหม ถ้าไม่พอไม่ให้บวช พระพุทธเจ้าทรงสั่งไว้แบบนี้นะ ถ้ารู้สึกว่ายาก ก็ตัดสินใจไม่ให้บวชเลย ก็หมดเรื่อง ถ้าพิจารณาแล้วว่าควร จึงให้บวช
ขึ้นชื่อว่า บวช นี้มีความหมายมากเหลือเกิน ใครมีลูกชายก็อยากจะให้บวช แต่ถ้าบวชแล้วไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย ก็น่าหนักใจเหมือนกัน แทนที่จะได้บุญกุศลมหาศาล ก็จะพาลให้ลงนรก มันไม่คุ้มกันเลย
และอีกประการหนึ่ง การจะบวชลูกหลานเข้าไว้ในพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจจะเอาบุญ คือทำกันตามพระเพณีเป็นสำคัญ พอเริ่มจัดงานก็มีการฆ่าไก่บ้าง ฆ่าปลาบ้าง ฆ่าหมูบ้าง ฆ่าวัว ฆ่าควายบ้าง เอาสุราเมรัยมาเลี้ยงกันบ้าง
ถ้าท่านทั้งหลายจัดการอุปสมบทบรรพชา หรือว่าบำเพ็ญกุศลส่วนใดส่วนหนึ่งก็ดี ทำกันตามประเพณีแบบนี้ ก็จะได้ชื่อว่าไม่มีอานิสงส์อะไรเลย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะมีเจตนาชั่ว คือเริ่มต้นก็ทำบาปก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า
ถ้าจิตเป็นอกุศล กุศลใดๆ ที่ตนคิดว่าจะทำ มันก็ไม่ปรากฏ
ในกาลใด ถ้าเราจะบำเพ็ญกุศลบุญราศรีให้ปรากฏเป็นผลดี ก็ขอให้กาลนั้นเป็นการที่บำเพ็ญบุญกุศลจริงๆ
ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง จงเว้นกรรมที่เป็นอกุศลเสียให้หมด งดสิ่งที่เป็นกรรมชั่วทุกประการ อย่าให้ปรากฏมี เวลาเริ่มงานขึ้นมาสักที กรรมใดที่เป็นอกุศล เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ดี การเลี้ยงสุราก็ดี อย่างนี้จงงดไว้ ตั้งใจไว้เฉพาะบำเพ็ญกุศล อย่างนี้จึงเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ทีนี้สมมติว่าลูกหลานที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ยินดีในการปฏิบัติความดีในด้านพระธรรมวินัย ยินดีในการเจริญพระกรรมฐาน เกิดความชุ่มชื่นในการปฏิบัตินั้น อานิสงส์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบไว้ว่า
ท่านผู้ใดก็ดี อุปสมบทบรรพชาเข้ามาแล้วในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งทำจิตให้ว่างจากกิเลส เพียงวันหนึ่งชั่วขณะจิตเดียว
นี่หมายความว่า วันหนึ่งมีเวลา ๒๔ ชั่วโมง เวลานอกนั้นจิตก็ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ แต่ว่าตอนปฏิบัติพยายามควบคุมกำลังใจ ไม่พลั้งพลาดจากพระธรรมวินัย หรือเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม ในวันนั้นทำสมาธิจิตให้เกิดขึ้น จะเป็นทรงอารมณ์สมาธิก็ตาม หรือจิตผ่องใสทางด้านวิปัสสนาญาณก็ตาม วันหนึ่งเพียงชั่วขณะจิตเดียว จิตโปร่งจริงๆ ขณะนิดเดียว นาทีหนึ่ง หรือสองนาทีก็ตาม แต่ว่าทำได้ทุกวัน ไม่จำกัดเวลา อย่างนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
ท่านผู้นั้น บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา แม้แต่เพียง ๑ วัน ก็ย่อมมีอานิสงส์ดีกว่าพระที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาตั้ง ๑๐๐ ปี มีศีลบริสุทธิ์ไม่บกพร่อง แต่ก็ไม่ได้เคยเจริญสมาธิจิตเลย
ท่านบอกว่า อานิสงส์อันนี้ จะคูณด้วยกำลังของแสน เพราะอาศัยอารมณ์ที่มีความชื่นบาน มีความผ่องใส มีความพอใจ มีธรรมปีติ อาศัยลูกชายของตน ประพฤติดี ประพฤติชอบ ในระบอบพระธรรมวินัย ทุกคนจะมีอานิสงส์มากขึ้น หมายความว่า ถ้าเป็นเทวดาหรือพรหม ก็มีรัศมีกายผ่องใสขึ้น จะเพิ่มความสุขยิ่งขึ้น”
ผู้ถาม :- “ดิฉันมีลูกชายอยู่คนหนึ่ง ก็อยากจะให้บวช แต่เมื่อได้ฟังหลวงพ่อพูดถึงพระไปนรกกันเยอะ เลยคิดว่าไม่ต้องบวชก็ได้ เอาแค่เจริญพระกรรมฐานดีกว่า แต่อีกใจหนึ่งก็เสียดายที่ไม่ได้เป็นญาติของพระศาสนา”
หลวงพ่อ :- “โอ้ย…อย่า อย่า ถ้าไม่ได้บวช เป็นญาติของพระศาสนาง่ายกว่า ถ้าบวชเป็นญาติกับนรกง่าย
คำว่า บวช บวชนี่มันหนัก พระพุทธเจ้าบอกว่า “บรรพชาเป็นของหนัก” พระโผล่ปุ๊บ เข้ามาแล้ว อันดับแรก ศีล สมาธิ ปัญญา เริ่มต้นเลย จะไปรออีก ๓ วันน่ะ มันไม่ได้ เขาเรียก ปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่ชาวบ้านต้องบูชาต้องกราบไหว้
ไอ้ลูกเวลาไม่ได้บวช ก็ไหว้พ่อ ไหว้แม่ ไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย ใช่ไหม…พอบวชวันนั้น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มาไหว้ทันที นี่มันจะตกนรกกันก็ตรงนี้และ ที่หนักกว่ากันก็ตรงนี้แหละ เห็นชัดๆ พระพุทธเจ้าเรียก “สามัญผล” ฉะนั้นนักบวชสมัยนี้ลงนรกง่ายกว่าสมัยก่อน
และอีกประการหนึ่ง พระนี่กินข้าวง่ายเมื่อไรล่ะ ต้องพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญาก่อน ไม่กินเพื่อติดในรสติดในกลิ่นติดในสี จะไม่กินเพื่อความอ้วนพี จะไม่กินเพื่อความผ่องใส จะกินเพื่อทรงชีวิตอยู่เท่านั้นเอง ต้องปฏิบัติตามนี้นะ”
ผู้ถาม :- “ถ้าพระทำแบบนี้กันมากๆ ก็ตกนรกเยอะซิคะ…”
หลวงพ่อ :- “พระนี่ลงนรก ๙๙% ท่านมีบุญมากกว่าฆราวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหาเรปฏิกูลสัญญา สมภารก็ไม่รู้ อุปัชฌาย์ก็ไม่รู้ ลูกศิษย์รู้มากก็ซวย ก็ลงด้วยกันทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ภิกษุผู้บริโภคอาหาร อันมีผู้ถวายด้วยความเลื่อมใส แล้วไม่พิจารณาเสียก่อน เมาในรสอาหารนั้น สู้กินก้อนเหล็กที่เขาเผาแดงจนลุกโชนเสียดีกว่า เพราะกินถึงปากปากพัง ถึงคอก็คอพัง ถึงท้องก็ท้องพัง มันร้อนก็ตาย พอตายแล้วก็เลิกร้อน ส่วนภิกษุที่ฉันอาหารโดยไม่พิจารณาเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา ตายแล้วลงนรก มันร้อนนานแสนนานกว่า
การบวชนี่ไม่แน่นักว่าจะไปสวรรค์ ส่วนใหญ่ลงนรกหมด ดีไม่ดีชวนพ่อแม่ลงไปด้วย ถ้าปฏิบัติไม่ดีตามพระวินัย ครูบาอาจารย์ตักเตือนเข้าก็โกรธ ไปบอกพ่อแม่พี่น้อง ไม่ได้เอาเรื่องที่ถูกทำโทษไปบอก เอาแต่ความดีไปบอก พ่อแม่พี่น้องก็พากันโกรธว่าพระด่าพระ
อย่าง พระกปิละ บวชมาแล้วท่านทรงพระไตรปิฎก แต่ยังไม่ได้ มันเสือกระดาษ ก็มีลูกศิษย์ลูกหามาก ลาภสักการะก็เกิดมาก ความทนงตนก็เกิดขึ้น ต่อมาสอนไปสอนมา ก็สอนคัดค้านคำสอนพระพุทธเจ้า เช่น ตายแล้วสูญ นรกสวรรค์ไม่มี เป็นต้น พระตักเตือนเข้าก็โกรธ ทีนี้แม่กับน้องสาวก็พลอยโกรธไปด้วย ตายแล้วต่างคนต่างลงอเวจีมหานรก เห็นไหม…
การบวชนี่กรรมหนักมาก ถ้าพลาดนิดเดียว อาบัติปาราชิก
อาบัติปาราชิก มี ๔ สิกขาบท คือ
๑.เสพเมถุนกับสตรี
๒.ฆ่ามนุษย์ให้ตาย
๓.ลักทรัพย์ตั้งแต่ราคา ๑ บาทขึ้นไป
๔.อวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนสิกขาบทที่ขาดง่ายที่สุด คือ ลักของราคา ๑ บาทขึ้นไป ขาดจากความเป็นพระทันที ข้อนี้ระวังให้มาก คนเขาทำบุญเรื่องนี้ แต่เอาไปให้อีกเรื่องหนึ่ง เสร็จ…
และอีกประการหนึ่ง การแสดงอาบัติ เขาต้องบอกเหตุว่าเราทำอะไรมา ไม่ใช่ว่ากันตามภาษาบาลีเลอะไป จริงๆ แล้วในพุทธกาล เขาต้องบอกจุดที่เป็น คือเราไปละเมิดอะไรมาบ้าง บอกพระด้วยกัน ถ้าอยู่ในคณะสงฆ์ ต้องบอกในคณะสงฆ์ ที่ทำกันทั่วไป เป็นภาษาบาลีนี่มันไม่ถูก ถ้าไม่ถูก การเปลื้องอาบัติก็ไม่สมประสงค์ และก็ลงท้ายว่า
นะ ปุเนวัง กะริสสามิ ผมจะไม่ทำอย่างนี้อีก
นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ ผมจะไม่พูดอย่างนี้อีก
นะ ปุเนวัง จินตะอิสสามิ ผมจะไม่คิดอย่างนี้อีกทีนี้เวลาที่เราแสดงอาบัติ ต้องตั้งใจจริงว่า ไอ้ความชั่วประเภทนี้ เราจะไม่ทำอีก เราจะไม่พูดอีก เราจะไม่คิด อย่างนี้อาบัติที่เป็น มันจึงจะยับยั้ง
การแสดงอาบัติ อย่าคิดว่าอาบัติหมดไปนะ แผลที่เป็น มันก็เป็นแผลตามเดิม ความชั่วแก้ไขไม่ได้ แต่ว่าเราไม่ทำ มันก็เป็นการยับยั้งความชั่ว ไม่กำเริบหรือมากกว่านั้น เราตั้งใจคิดว่า เราจะไม่เป็นอาบัติดีกว่า”
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๖๐-๖๙ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)