บุญพระกรรมฐาน

บุญพระกรรมฐาน
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

เมื่อปี ๒๕๐๔ อาตมาไปเทศน์ที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท มีตาอะไรหรือ อีตานี่เมื่อก่อนมาอยู่กรุงเทพฯ ขึ้นไปแกก็มาเฝ้าอยู่ตลอด ถ้ายังไม่กลับเพียงใดแกก็ยังไม่กลับบ้าน ให้ลูกสาวเอาข้าวต้มมาถวายเช้า ตอนเพลเอาข้าวสวยมาถวาย ตัวแกเองต้องมาอยู่ตลอดเวลา

พอแกตายไปแล้ว ลูกสาวก็มาหาที่กรุงเทพฯ บอกว่าอยากจะทำศพพ่อและบวชน้องชายในวันเดียวกัน อยากจะให้หลวงน้าเป็นประธาน ก็เลยบอกว่า

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ข้าเป็นประธานก็ได้ แต่ว่าถ้างานเอ็ง จะมีบาปแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้นะ แม้แต่ไข่ลูกหนึ่งก็ห้ามทุบ ถึงเขาบอกว่าไข่ไม่มีตัวก็ไม่ได้ ใจมันไม่สบาย

ประการที่ ๒ เวลาจัดงานศพ ควรตั้งคนรับรองแขกให้แทนตัวเอง ใจจะได้ไม่กังวล เพราะพระให้ศีลต้องรับศีลให้จบ และตั้งใจรับศีลด้วยความเคารพ เวลาพระสวดก็ต้องตั้งใจฟังพระสวดจนจบด้วยความเคารพ เวลาถวายทานก็เหมือนกันให้ตั้งใจถวายทานด้วยความเคารพ เวลาพระเทศน์ฟังเทศน์ด้วยความเคารพ และอย่าให้มีสุรายาเมาเข้ามาเจือปน

ประการที่ ๓ มหรสพอย่ามีแม้แต่ปี่พาทย์ จงอย่ามีปี่พาทย์กลองยาว มันกินเหล้ากัน

แกก็เอาตามนั้นจริงๆ งานเรียบร้อย ตอนเช้าบวชน้องชาย ตอนสายก็ชักศพขึ้นศาลา ตอนเพลเลี้ยงพระตั้ง ๓๐ กว่าองค์ มันเลยสังฆทานไปแล้ว และก็เป็นสังฆทานเต็มอัตรา ถวายผ้าสบง ผ้าไตรจีวร เขาให้ประธานเทศน์ด้วย แต่ว่าเทศน์ ๒ องค์ กับเจ้าคุณภาวนาภิรามเถระฯ

เจ้าคุณภาวนานี้แกเป็นคนพูดยาว พอเราว่าอารัมภบทไปแล้ว ๑๐ นาที แกไปว่าเดินเรื่องต่อเกือบชั่วโมง และเราก็รำคาญ ความจริงไม่รำคาญอยากว่าก็ว่าไป เวลาเขาว่าไปเราทำใจให้สบาย จิตเป็นสมาธิ ก็เลยนึกขึ้นได้ถึงตากิ่ม เอ๊ะ…ตากิ่มมันไปไหน มองแล้วไม่เห็นมา มองดูรอบๆ พวกผีเปรตมายืนเต็มรอบศาลาไปหมด เป็นแสน

เราสงสัยตากิ่มจะเป็นอันตราย ปกติเรามา แกก็ทำบุญเต็มอัตรา มาเฝ้าอยู่ตลอด อาหารก็ถวายเช้าถวายเพล เหล้ายาปลาปิ้งแกก็ไม่กิน เราไม่รู้อดีตของแก ปัจจุบันเขาดี แกก็ดีมาประมาณ ๑๐ ปี ไม่ใช่เบาหรอก ไปย้อนถามประวัติเก่าน่าดู เรียกว่าโจรกลับใจก็แล้วกัน ทีนี้ยังมองดูไม่เห็น องค์นั้นก็ยังเทศน์ไม่จบ ก็นึกถึงท้าวมหาราช ถามว่า

“เวลานี้นายกิ่มอยู่ที่ไหน ถ้าอยู่ในช่วงเสวยทุกขเวทนาอยู่ ขออนุญาตครู่หนึ่ง เวลานี้เขาทำบุญใหญ่ให้นำมา”

ถ้าเราไปเรียกเขาเฉยๆ ไม่ได้ เราไม่มีสิทธิ์เลย ท้าวมหาราชเลยใช้ลูกน้อง ๒ คนไปบอกเจ้าหน้าที่ แล้วจึงนำมา ตอนนำมาแกไม่ได้เดินนำมา จูงโซ่สองข้างคนละเส้น นายกิ่มมากลางหน้าตาเศร้ามีความทุกข์ มานั่งข้างธรรมาสน์ เรียกอย่างไรก็ไม่เงย นั่งเฉย

จึงถามคนที่คุมมา ๒ คนว่า “ทำไมเป็นอย่างนี้”

เขาบอกว่า “กรรมมันหนักครับ”

ถามว่า “คนนี้เขาตัดสินแล้วหรือยังล่ะ?”

“ยังครับ ยังรอการตัดสินอยู่”

ถ้าตัดสินแล้วเราไม่มีสิทธิ์เหมือนกัน ถ้าลงขุมไปแล้วไม่มีสิทธิ์ รอการตัดสินนะ ในเมืองนั้น ๕๐ ปีของเรา เป็น ๑ วันของเขา แกตายไปไม่นานยังไม่ได้ตัดสิน เดิมแกชั่วจริง แต่ปลายมือแกดี ชั่วกับดีมันก้ำกึ่งกัน จะลงนรกเลยทีเดียว หรือขึ้นสวรรค์เลยทีเดียว ก็ไม่ได้ ต้องสวบสวนก่อน

ไอ้สองคนคุมมาถามว่า “วันนี้ลูกสาวทำอะไรบ้าง”

ก็เลยบอกว่า “วันนี้บวชน้องชาย ถวายสังฆทาน เลี้ยงพระ บังสุกุลเสร็จเรียบร้อย บุญใหญ่ทั้งหมด ทำไมจึงโมทนาไม่ได้”

เขาตอบว่า “ไม่มีสิทธิ์โมทนา กรรมมันหนัก”

จึงถามเขาว่า “บุญอะไรล่ะเขาถึงจะได้”

เขาชี้มาที่ฉัน เขาบอกว่า “บุญพระกรรมฐานของท่านช่วยได้”

งั้นก็ดีเลย ไม่ต้องลงทุน ถามว่า “บุญที่เขาทำมาก่อนกับบุญเวลานี้จะรวมตัวหรือไม่?”

เขาตอบว่า “รวมตัวครับ”

ก็เลยตั้งใจอธิษฐานว่า

“เอา…นายกิ่มตั้งใจฟัง บุญใดที่ฉันเคยบำเพ็ญมาแล้ว ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ผลบุญทั้งหมดที่ฉันทำมา จะให้ประโยชน์แก่ฉันเพียงใด ขอเธอจงโมทนา รับผลบุญเช่นเดียวกับฉัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

พอเท่านี้โซ่หลุดเลย ไม่ได้ปลด โซ่มันหลุดเอง คลายจากคอเลย แกก้มลงกราบ พอกราบครั้งที่ ๓ ลุกขึ้นมาสวยอร่ามเป็นเทวดา มีความสวยผิดปกติ เพราะบุญที่ลูกทำ กับบุญเก่าอันก่อน มันเข้ามารวมตัวกัน พอได้บุญอย่างใดอย่างหนึ่ง บุญก็รวมตัวกันหมด

แล้วอีตา ๒ คน เห็นตากิ่มแกสบาย ก็บอกว่า “ท่านครับ ผมก็อยากได้เหมือนกัน”

“เอ้า…แกเป็นผู้คุมเขานี่หว่า แกสบายแล้ว”

“ผมไม่สบายหรอกครับ ต้องทำงานไม่มีวันหยุด เหน็ดเหนื่อยเรื่อยๆ”

“พระยายมไม่เล่นงานข้าหรือ…?”

เขาตอบ “ไม่หรอกครับ ผมมีสิทธิ์ครับ” ถ้ามีสิทธิ์ก็เอา ตั้งใจอนุโมทนา แกก็เป็นเทวดาบ้าง อาตมาไม่ได้ลงทุนอะไร ก็ตั้งจิตอธิษฐานแบบเดียวกันกับที่ให้นายกิ่ม

ผลที่สุดตากิ่มแกก็ไปจับลูก ทักคนโน้นคนนี้ จับคอเขย่า ไม่มีใครเขาเหลียวดูหรอก แกเป็นผีจับ เขาไม่รู้เรื่อง

นี่เป็นอันว่า อานิสงส์แห่งการเจริญพระกรรมฐาน ถ้าเราจะทำบุญให้แก่คนตาย อันนี้มีประโยชน์มาก ประโยชน์ที่จะได้แก่คนตาย ก็หมายถึงว่าประโยชน์นั้นมันจะต้องถึงเราก่อน ไม่ใช่คนตายจะมีโอกาสมาโมทนาเฉยๆ เราต้องเป็นผู้ให้ เขาจึงจะได้รับ นี่แหละเรื่องของบุญ…

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๑๒๐-๑๒๔
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร