วันหนึ่งสมเด็จท่านพามาที่วิมานนิพพาน ที่มันกว้างลิ่ว และบ้านนี่นะ นานๆ จะได้ไปสักที ส่วนมากก็ไปนั่งป๋ออยู่ที่วิมานพระพุทธเจ้า ถ้าเราไปอยู่ที่นั่นแล้ว เวลาเราตายมันจะไปไหน อาตมาเป็นคนเกาะ พุทธานุสสติกรรมฐาน เป็นอารมณ์ตลอดเวลา ถ้าวันไหนไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า วันนั้นตายดีกว่า มันจะเป็นยังไงก็ตาม ยิ่งป่วยยิ่งไข้ยิ่งหนัก ป่วยนิดเดียวจิตจะไม่ยอมคลาดจากพระพุทธเจ้า เราถือว่าถ้าเราเกาะพระพุทธเจ้าอยู่ มันจะตายลงนรกก็ยอม ท่านคงไม่ยอมให้ลง
แล้วท่านก็พาไปดูที่วิมาน ชี้ให้ดูบอกว่า “คณะของคุณมันมาก เพราะคุณใช้เวลาบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป และเป็นฝ่ายวิริยาธิกะ”
เป็นอันว่าคณะของเราที่ตามกันมาเป็นระยะ ไอ้ที่เขาหนีไปนิพพานแล้วนับไม่ถ้วน พวกนั้นขี้ขลาดสู้เราไม่ได้ ไอ้เราต้องมาตกระกำลำบาก ช่วยกันวิ่งโน่นวิ่งนี่ ไอ้ที่จะกินก็ยังไม่มี แต่ยังพยายามหาเลี้ยงคนอื่น ใช่ไหม…?
วันนี้มีเวลาลองสอบดูนิดหนึ่ง ถามว่า “คณะของข้าพระพุทธเจ้ามีกี่สาย จากหลังบ้านไปนี่”
ท่านบอกว่า “มี ๓๗ สาย”
ถามว่า “สายหนึ่งมีระยะยาวเท่าไร…?”
ท่านบอกว่า “สองแสนโยชน์ของนิพพาน”
แล้วก็ไปดู เห็นทั้งหมด ๓๗ สาย สองฝั่งของถนน วิมานเต็มหมด มันไม่มีจุดพร่อง สายหนึ่งประมาณ ๒ แสนโยชน์ แต่ละสาย ๓๗ คูณด้วย ๒ วิมานมันจะตั้งสายละสองฝั่งถนน ๓๗ ถนนยาวเหยียด ถนนกลายเป็นแก้วแพรวเป็นประกายสวยสดงดงามไปหมด บอกไม่ถูก วิมานแต่ละหลังก็แพรวพราวหาที่ติไม่ได้เลย หัวหน้าทีมตั้งบ้านใหญ่อยู่ด้านหน้า ต่อไปก็มีถนนซอยเข้าไป
ทางด้านของนิพพานนี่ เขาอยู่กันเป็นกลุ่มๆ อย่างกลุ่มของพระกกุสันโธ ท่านก็อยู่กลุ่มหนึ่ง วิมานของพระพุทธเจ้าก็ตั้งข้างหน้า บริวารก็เป็นสายอยู่ข้างหลัง พระโกนาคม ท่านก็อยู่กลุ่มหนึ่ง พระพุทธกัสสป ก็ตั้งอยู่จุดหนึ่ง ของสมเด็จพระสมณโคดม ท่านก็ตั้งอยู่จุดหนึ่ง
ตอนนี้ของอาตมาก็เป็นจุดที่แปลก วิมานตั้งอยู่ในเกณฑ์เรียงของพระพุทธเจ้า ใหญ่คล้ายคลึงกัน แต่สวยสู้ของท่านไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่ในฐานะที่ปรารถนาพุทธภูมิมาสิ้นระยะเวลา ๑๖ อสงไขยกับแสนกัปพอดี แต่ว่าต้องเกิดไปอีก ๗ ที ทนไม่ไหวไม่เอา แค่นี้พอ รอเกิดอีก ๗ ครั้ง ก็ในกัปนี้แหละ และต้องไปรอองค์ที่ ๒๒ หลังจากพระศรีอาริย์ ต้องไปนั่งรออยู่ชั้นดุสิต ไม่ไหวเปิดดีกว่า ฉะนั้นกลุ่มของพวกเราจึงมีวิมานตั้งอยู่ในระหว่างกลุ่มของพระพุทธกัสสป และกลุ่มของพระสมณโคดม
เป็นอันว่าหาจุดพร่องไม่ได้ตามสายของพวกเรา วิมานสวยไม่เต็มที่ มีอยู่มากพอสมควร แต่ก็ไม่เต็มสาย ที่วิมานสวยไม่มากก็เพราะว่า จิตของบุคคลใดถ้ารักพระนิพพาน วิมานจะปรากฏที่นั่น แต่ถ้าจิตใจของท่านผู้นั้น ยังไม่ถึงอรหัตผลเพียงใด วิมานจะสวยไม่เต็มที่ ไอ้จิตกับวิมานมันสวยเท่ากัน เดินไปจึงรู้ เป็นอันว่าวิมานมันนั่งคอยอยู่ เป็นอันว่าคนที่ติดตามมาไม่พลาดพระนิพพาน
สมเด็จท่านตรัสต่อไปว่า ทุกคนที่เอาจริง ที่ตามแกมาตั้ง ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป มันมีที่อยู่กันหมดแล้ว คำว่าถอยหลังไม่มี
ประการที่สองให้เตือนไว้ว่า ในระหว่างชีวิตที่ยังไม่ตาย ใครจะปฏิบัติดีบ้างปฏิบัติชั่วบ้าง ขณะใดที่เราสร้างความดีเพราะจิตมันดี แต่บางครั้งจิตมันจะเศร้าหมองลงไปให้มีแต่ความวุ่นวาย นั่นต้องถือว่าเป็นเรื่องของกรรมที่เป็นอกุศลของชาติก่อนเข้ามาบันดาล แต่เรื่องนี้เราจะแพ้มันในระยะต้น เวลาตายน่ะไม่มีหรอก มันจะทำร้ายได้ชั่วคราวเท่านั้น เราจะให้มันในขณะที่มีชีวิตทรงอยู่เท่านั้น ถ้าใกล้ตายจริงๆ ไม่สามารถจะสังหารจิตเราได้
เมื่อใกล้จะถึงความตาย พอจิตเข้าถึงจุดนั้น ไอ้กิเลสไม่สามารถเข้ามายุ่งได้เลย เพราะว่ากรรมที่เป็นกุศลใหญ่ที่บำเพ็ญมาแล้วจะเข้าไปกีดกันหมด กรรมที่เป็นอกุศลเข้าไม่ถึง
อาตมารับรองผลว่าทุกคนไม่ไร้สติ และไม่ไร้ความดีที่ปฏิบัติ เพราะอะไร? เพราะไปตรวจบ้านมาแล้วสบายใจ หมดเรื่องหมดราวเสียที ตามธรรมดาเราจะตำหนิกัน บางคนก็เห็นว่ามานั่งกรรมฐานกัน มาศึกษากัน กลับไปก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง เอะอะโวยวาย ก็ถือว่าเป็นการชำระหนี้ชำระสินกันไป ถือว่าช่างมันไป ท่านบอกว่าไปบอกเขานะ เพื่อความมั่นใจ
เป็นอันว่าทุกคนที่มีวิมานอยู่ที่นิพพานละก็ ควรจะภูมิใจว่าเราเข้าถึงกิจสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้ว ขึ้นชื่อว่าการถอยหลังกลับไปสู่อบายภูมิ ย่อมไม่มี ถึงแม้ว่าในชาตินี้เราจะประมาทพลาดพลั้งในด้านอกุศลกรรมเป็นธรรมดา ก็แต่ว่า จิตเราก็ต้องหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ ถือว่าขันธ์ ๕ ไม่มีความหมายสำหรับเรา ว่า ช่างมัน ช่างมัน เอาไว้ อารมณ์ดีก็ช่างมัน เวลาคันก็ช่างเผือก หมดเรื่องหมดราว อย่างนี้สลับกันไปสลับกันมา
คำว่า ฌาน ก็คือ อารมณ์ชิน จิตมันชินอยู่อย่างนั้น จิตมันก็ตั้งอยู่ในอารมณ์พระนิพพานโดยเฉพาะ จิตก็เข้าถึงพระโสดาบัน เรื่องสกิทาคา อนาคา อรหันต์ เป็นของไม่ยาก ยากอยู่ที่พระโสดาบันเท่านั้น
สมเด็จท่านตรัสเรื่องพระศาสนาว่า “การขึ้นคราวนี้ กว่าจะลงของพระพุทธศาสนา คนที่จะบรรลุมรรคผล คราวนี้นับโกฏิเหมือนกัน และจะไปโทรมเอา พ.ศ.๔๕๐๐ ช่วงนี้จะขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปไม่ช้า คำว่าพระนิพพานจะพูดกันติดปาก ชินเป็นของธรรมดา จะเห็นเป็นเรื่องปกติ”
ถ้าเราจะถอยหลังไปจากนี้ ๒๐ ปี จะเห็นว่าจิตใจของคนเวลานี้ต่างกันเยอะ พูดถึงด้านความดีนะ เวลานี้ฟังแล้วทุกคนอยากไปนิพพาน สังเกตที่จดหมายมาบอกอยากจะไปนิพพานทั้งนั้น
และจากนี้ไปอีกไม่ถึง ๒๐ ปี จะมีพระอริยเจ้านับแสน ไม่ใช่ฉันสอนเป็นผู้เดียวหรอกนะ คือว่าเขาสอนกันโดยทั่วๆ ไป แต่ว่ากลุ่มเราจะมาก หมายถึงว่าอาจจะไม่มีตัวมา แต่มีหนังสือ มีเทป กาลเวลามันเข้ามาถึง เวลานี้คนที่เข้าถึงมุมง่ายแล้ว กำลังใจมันตีขึ้นมา ถามว่าตอนก่อนทำไมไม่ให้สอนแบบนี้ ท่านบอกว่า คนมันหาว่าง่ายเกินไป มันเลยไม่เอาเลย จะต้องยากๆ แต่พวกของแกไม่มีใครเหลือ ท่านชี้จุดเลย ก็เลยดีใจ
แล้วท่านก็บอกว่า “ต่อไปภาระมันจะหนัก ต้องวางพื้นฐานไว้”
ท่านก็บอกว่า “พระองค์อื่นเขาก็มีความสามารถ ไม่ใช่ไม่มี แต่สงสัยว่าคนที่เรียนกรรมฐาน ๔๐ กับมหาสติปัฏฐานจนครบกันนี่มีกี่องค์ หมายถึงว่าทำได้ถึงฌาน ๔ หมด”
บอก “ไม่เคยถามชาวบ้านเขาเลย”
ท่านบอก “ไม่มีหรอก ปัจจุบันนี้ไม่มีใครเขาจบ มันเหลืออยู่แกคนเดียว ท่านปานก็ตายเสียแล้ว”
ท่านบอกว่า “ผู้ที่จะทรงกรรมฐาน ๔๐ นี่ ต้องเป็นฝ่ายพุทธภูมิถึงขั้นปรมัตถบารมี ถ้ายังไม่เต็มปรมัตถบารมีนี่ยังไม่ได้กรรมฐาน ๔๐ ครบ พระโพธิสัตว์ต้องเรียนวิชาครู”
ท่านก็ถามว่า “คุณทำไมไม่หมั่นขึ้นมา”
ก็บอกว่า “เหนื่อยเต็มที ร่างกายเพลียมากก็ต้องชำระตัว เกรงว่าจะประมาท”
ท่านถามว่า “คนอย่างแกยังมีคำว่าประมาทหรือ…?”
เลยบอกท่านว่า “มี”
ท่านถามว่า “ทำไมว่ามี…?”
ก็เลยบอกว่า “ยังไม่รู้ตัวว่าดี”
ท่านบอกว่า “เออ ใช้ได้”
คือว่าถ้ารู้ตัวว่าดีเมื่อไร ก็เลวเมื่อนั้น รู้ตัวว่าเราวิเศษแล้ว เราประเสริฐแล้ว เราสำเร็จแล้ว ทุกข์มันก็เกิด แต่ว่าอารมณ์จิตถึงระดับนี้แล้ว มันก็คิดยังงั้นไม่ได้แล้วนะ เรื่องตัวนี้ชำระกันอยู่ตลอดวันเป็นปกติ คำว่า ชำระ ก็หมายความว่า พิจารณาเห็นว่า ร่างกายไม่มีความหมาย โลกนี้ไม่มีความหมาย คำว่าไม่มีความหมายมันติดอารมณ์
สมเด็จท่านตรัสต่อไปว่า “งานสาธารณะประโยชน์ มันเป็น ปรมัตถบารมี อย่างสูงสุด อันนี้จะทำให้เร็วที่สุด ทำให้เร่งรัดพวกเราให้เร็วที่สุด ท่านบอกว่าให้คุณบอกลูกหลานไว้ จะได้รู้ว่าเป็นจุดที่มีกำลังแรงให้เข้าถึงได้เร็วที่สุด เป็นการบั่นทอนไอ้กฎของกรรมต่างๆ ที่มันคอยกั้นขวางเรา งานนี้มันเป็นเมตตา กฎของกรรมมันก็ดันไม่อยู่”
ต่อไปเรื่อง สมเด็จองค์ปฐม ซึ่งทรงพระนามว่า พระพุทธสิกขี พระพุทธเจ้านี่มีชื่อซ้ำกันนะ อย่าง เรวัติ ก็มีชื่อซ้ำกัน พระพุทธสิกขี นี่องค์ปฐมจริงๆ วันนั้นพบท่านเข้า พบจริงๆ สมัยที่ พล.อ.ท.อาทร โรจนวิภาต อยู่ที่นครราชสีมา
วันนั้นไปนั่งกรรมฐานกันเห็นพระพุทธเจ้าท่านเยอะ ยืนสองแถวพนมมือ เราคิดว่าพระพุทธเจ้าไหว้ใครไม่มี ใช่ไหม…ก็เลยถามหลวงพ่อปานว่า มีเรื่องอะไรกัน ท่านบอกว่า “ประเดี๋ยวพระพุทธเจ้าองค์ปฐมจะเสด็จ”
องค์ปฐม หมายถึง องค์แรกสุด ไม่มีครูสำหรับท่านเลย ต้องบำเพ็ญบารมีอย่างหนัก ต้องเข้มแข็ง เดี๋ยวท่านเดินมากลาง พระพุทธเจ้ายืนสองข้างพนมมือตลอดสวยสว่าง จิตเราเลยสว่างเห็นอะไรชัดหมด
จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๓ หน้า ๔๒-๔๗ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
สมเด็จองค์ปฐม ท่านเป็น พระพุทธเจ้าพระองค์แรกของโลก ทรงพระนาม สมเด็จพระพุทธสิกขี เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วมากมายนับได้แสนองค์ ฉะนั้นพระนามของพระองค์จึงซ้ำกัน โดยเฉพาะพระนาม สมเด็จพระพุทธสิกขี มีด้วยกัน ๕ พระองค์ จึงได้ขนานนามของสมเด็จองค์ปฐมว่า สมเด็จพระพุทธสิกขีที่ ๑ จึงนับได้ว่า พระพุทธองค์ทรงเป็น สมเด็จองค์ปฐมบรมครู อย่างแท้จริง
สมัยที่พระพุทธองค์ได้ทรงอุบัติในโลกมนุษย์ ซึ่งขณะนั้นคนมีอายุขัยประมาณ ๘ หมื่นปี พระพุทธองค์ทรงผนวชออกมหาภิเนษกรมณ์ เมื่อพระชนมายุได้ ๔ หมื่นปี หลังจากผนวชได้ ๒ หมื่นปี จึงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์แรกของโลก พระพุทธองค์ทรงโปรดเวไนยสัตว์ประมาณ ๒ หมื่นปี จึงได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน
พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาอันยาวนานถึง ๔๐ อสงไขยกัปเศษ ในการบำเพ็ญพระบารมี เพื่อแสวงหาพระโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาอันยาวนานในการบำเพ็ญพระบารมี เนื่องจากพระพุทธองค์เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรก จึงไม่มีแบบอย่างที่จะให้พระพุทธองค์ได้ศึกษาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ ระยะเวลาที่บำเพ็ญพระบารมีจึงใช้ถึง ๔๐ อสงไขยกัปเศษ
ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๑๑ คืนหนึ่ง พระเดชพระคุณหลวงพ่อกำลังสอนพระกรรมฐาน และเมื่อเสร็จจากการแนะนำ ก็ได้ทำสมาธิ ก็เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนปรากฏขึ้น คือ เห็นพระพุทธเจ้าในปางพระนิพพานทรงยืนสองแถวยาวเหยียดไปข้างหน้าแล้วก็พนมมือ
พระเดชพระคุณหลวงพ่อมีความรู้สึกในใจว่า บางทีอาจจะเป็นอุปาทาน เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยก้มศีรษะให้ใคร แม้แต่บ้านเรือนเล็กๆ หลังคาตํ่าๆ หากพระพุทธองค์เสด็จเข้าไป หลังคาก็จะสูงขึ้นเอง แต่เวลานี้เห็นพระพุทธเจ้ายืนพนมมือ เมื่อนึกเพียงนี้ ก็เห็นภาพหลวงปู่ปานปรากฏขึ้นข้างหน้า หลวงปู่ปาน ท่านบอกว่า
“คุณ…ไม่ใช่อุปาทาน ประเดี๋ยวพระพุทธเจ้าองค์ปฐมจะเสด็จมา”
อีกประมาณ ๕ นาที ปรากฏว่ามีพระพุทธเจ้าอีกองค์ รูปร่างท่านใหญ่โตมาก สูงมาก มาในรูปของปางพระนิพพาน เดินมาระหว่างช่องกลาง พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ก้มศีรษะแสดงความเคารพ พอพระองค์เดินไปถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ทรงตรัสว่า
“ข้าจะนั่งที่ไหนหว่า… ในเมื่อไม่มีที่นั่ง ข้าก็เอาหัวแกเป็นแท่นก็แล้วกัน”
พระพุทธองค์ก็เลยนั่งบนหัวของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ แล้วทรงตรัสกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า
“นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก่อนที่แกจะสอนพระกรรมฐานก็ดี จะพูดธรรมก็ดี บอกฉันก่อน ฉันจะให้พูดตอนไหน จะให้เทศน์ตอนไหน ให้ว่าตามนั้น”
เป็นอันว่าเมื่อใดก็ตาม ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเทศน์ก็ดี สอนพระกรรมฐานก็ดี สอนธรรมก็ดี พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ไม่เคยได้พูดตามใจคิดเลย เป็นเพราะพระพุทธองค์ท่านดลใจให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูด และแนะนำธรรม ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของทุกคน เพราะพระพุทธองค์ท่านอาจจี้จุดเฉพาะคนใดคนหนึ่ง แต่บางคนอาจจะไม่ถูกใจก็ได้ นี่เป็นเรื่องธรรมดา พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็คิดว่า เมื่อพระพุทธองค์ท่านมีบุญคุณอย่างนี้ จึงคิดที่จะหล่อรูปของท่าน
ต่อมาเมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้เจริญพระกรรมฐานแล้ว จึงได้อาราธนาสมเด็จองค์ปฐมขอพบ พระพุทธองค์ท่านก็ปรากฏให้เห็น ทรวดทรงสวยงามมาก หน้าของท่านอิ่มเหมือนรูปไข่ แก้มอิ่ม ทรงยิ้มน้อยๆ ริมฝีปากไม่บุ๋ม ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าที่เขาปั้นกัน จะพบว่าช่างเขาปั้นแก้มตรงปากจะบุ๋มลงไป
แล้วสมเด็จองค์ปฐมก็แสดงรูปร่างสมัยเป็นมนุษย์ และก็เปลี่ยนมาเป็นปางพระนิพพาน พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ถามว่า ถ้าจะปั้นรูปของพระองค์ จะให้ปั้นแบบไหน จะให้ปั้นปางพระนิพพานหรือมนุษย์
พระพุทธองค์บอกว่าให้ปั้นแบบนี้ก็แล้วกัน พระพุทธองค์ทรงแสดงภาพให้ดู เป็นเหมือนกับพระพุทธรูป และมีเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช รูปที่ทรงให้ปั้นไม่เหมือนกับรูปจริงของท่าน แต่พระองค์ท่านต้องการให้ปั้นแบบที่ท่านต้องการ
พระพุทธองค์ได้มาแสดงภาพให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อดูถึง ๓ วันติดๆ กัน วันละประมาณ ๑ ชั่วโมง พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ได้ดูอย่างละเอียด แต่ก็คิดในใจว่า ช่างเขาปั้น แต่เขาไม่เห็นภาพ เขาจะปั้นได้ไม่เหมือน จึงได้ขอบารมีพระองค์ท่าน เวลาช่างปั้น ขอได้โปรดดลใจ ให้เป็นไปตามพระพุทธประสงค์ พระองค์ท่านก็ยอมรับ
คัดย่อจาก หนังสือมรดกของพ่อ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม(วัดท่าซุง) จ.อุทัยธานี