อุปฆาตกรรม-กรรมตัดรอน

อุปฆาตกรรม โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ อุปฆาตกรรม หมายความว่าอย่างไรคะ…?”

หลวงพ่อ :- “คำว่า อุปฆาตกรรม หมายถึงว่า กรรมที่มาตัดรอนระหว่างชีวิต คือ มันยังไม่หมดอายุขัยก็ตายเสียก่อน แทนที่จะมีอายุครบ ๖๐ ปีตามอายุขัย แต่อายุ ๓๐-๔๐ ปี กรรมที่เป็นอกุศลกรรม คือที่เราทำบาปไว้แต่ชาติก่อน ด้วยจากปาณาติบาตมาตัดชีวิตเสียก่อน”

ผู้ถาม :- “มีวิธีที่จะพ้นกรรมประเภทนี้ไหมคะ อย่างเช่น ถ้าเรา ปล่อยปลา หรือ สะเดาะเคราะห์ อะไรพวกนี้แหละค่ะ…?”

หลวงพ่อ :- “ปล่อยปลา นี่เขาถือว่าตัดอุปฆาตกรรมได้ เราปล่อยสัตว์ให้รอดนี่มันจะกันได้ แต่ที่ให้หมอดูไป สะเดาะเคราะห์ หมอบอกว่าต้องเสียเท่านั้นเท่านี้ พอสะเดาะเคราะห์เสร็จหมอหมดเคราะห์ไป ๓-๔ หมื่น คนที่สะเดาะเคราะห์เพิ่มเคราะห์ไป ๓-๔ หมื่น เป็นไง…เราก็เอาแบบของเรานั่นแหละ ได้ผลแน่นอนกว่า”

ผู้ถาม :- “ปล่อยปลาอะไรดีคะ…?”

หลวงพ่อ :- “เขาไม่จำกัดว่าปลาอะไร แต่ว่าปลานั้นจะมันต้องไม่ตาย ต้องเป็นปลาที่มีชีวิต”

ผู้ถาม :- “บางคนเขาก็บอกว่า ปลาที่เราปล่อยแล้วจะทานไม่ได้ใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าปลานั้นมันจะต้องตาย เราก็เอาไปปล่อย เพื่อเป็นการช่วยชีวิต จะเป็นปลาอะไรก็ตาม สัตว์อะไรก็ตาม เราปล่อยให้มันรอดชีวิต เป็นเมตตาจิตใช่ไหม จะต้องไปนั่งเลือกทำไม บางคนเลือกปล่อยปลานั้นปลานี่ บางทีไอ้ปลาไม่ค่อยจะตายก็ปล่อย”

ผู้ถาม :- “แล้วเราจะปล่อยแทนคนอื่นได้ไหม…?”

หลวงพ่อ :- “ได้…แต่ว่าเขาไม่มีผลนะ”

ผู้ถาม :- “ถ้าเราปล่อยแล้ว เราอุทิศส่วนกุศลได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเขายังไม่ตาย ไปอุทิศส่วนกุศลเขาจะได้รับยังไงล่ะ เราเอาแบบนี้ซิ เราก็เอาปลาไปให้เขาซิ บอกว่าตั้งใจปล่อยปลานะ ฉันหาปลามาปล่อย ให้ปลามันรอดชีวิต เท่านั้นแหละ ถ้าเขาอนุโมทนา คือยินดีด้วยความเต็มใจ เป็นอันว่าเราปล่อยสัตว์ด้วยมีจิตเมตตา คิดจะช่วยให้รอดพ้นจากการถูกขังก็ดี เห็นว่ามันจะต้องตายก็ดี อันนี้เป็นของดี เป็นการช่วยชีวิตเขา และเราก็รอดพ้นจากอุปฆาตกรรมด้วย”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๙๘-๙๙ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร