การเจริญมหาสติปัฏฐาน

การเจริญมหาสติปัฏฐาน โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “แล้วเรื่องมหาสติปัฎฐานสูตร หมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องเจริญอยู่เป็นนิจใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “อ๋อ…ใช่ๆ มหาสติปัฎฐานสูตร หมายความว่าเป็นทางตรงแน่วไปนิพพาน ถ้าเราจะอ่านทั้งหมดมันก็พัง จำไม่ได้ เขาต้องดูจุดสุดท้าย คือ ใช้อารมณ์ตัดจริงๆ เขาใช้อารมณ์ไม่หนัก เบาๆ ถ้าเราไม่เข้าใจก็มาอ่านหนังสือทุกตัว ไปไม่รอด

ในมหาสติปัฎฐานทั้งหมดแหละ ลงท้ายตัวเดียว พอลงท้าย ก่อนจะสอนว่า เธอทั้งหลายจงอย่าสนใจกายในกาย คือกายของเราเอง

คำว่า ไม่สนใจ นี่เวลามีชีวิตอยู่เราสนใจ เราเลี้ยงมัน เรากินยา หาอาหาร มันหนาวมันร้อนเราก็ต้องประคับประคองอีก ถือว่าเป็นของธรรมดา

แต่ไอ้คำว่า ไม่สนใจ ในที่นี้หมายความว่า ถ้ามันสิ้นลมปราณแล้วเมื่อไหร่ เราไม่สนใจมันอีก ถือว่ามันมีโทษ เวลานี้เราถือว่าเรามาเกิด เรามาเกิดเพราะถูกขัง เพราะทำความผิดมา แล้วไอ้ความผิดเช่นนี้ การตัดสินใจผิด มันจะไม่มีข้างหน้า เรายอมรับโทษที่เราหลงผิดมาในกาลก่อนแต่ชาติเดียว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ตัดสินใจแค่นี้ และต้องการพระนิพพาน

ความจริงเขาดูตัวสุดท้าย พระพุทธเจ้าสอนต้องดูตัวลง บางทีท่านเทศน์ชาดก เทศน์เสียยาวเหยียด อ่านเสียหลายวันก็ไม่จบ แต่เนื้อหาจริงๆ ท่านลงท้ายด้วย อริยสัจ ทุกเรื่อง ความมุ่งหมายจริงๆ ของท่าน คือต้องการอริยสัจ

อริยสัจ สัจจะ คือความจริง ความจริงที่ทำให้บุคคลเป็นพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระอริยเจ้า ก็ได้แก่ ทุกข์ ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันผสมกันเป็นเรือนร่าง ด้วยกำลังของ ตัณหา เป็นผู้สร้างขึ้นมา เพราะอารมณ์ชั่วเดิม คือจิตเราไม่สะอาด จึงต้องมีร่างกายแบบนี้

ทีนี้เรารู้ว่า ชาตินี้เรามีร่างกายนี้มันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ก็จริงแหล่ แต่ให้มันทรงตัวตลอดก็ยังดี แต่มันก็ไม่ทรงตัว มันเคลื่อนไหว มันทรุดตัวลงทุกวัน และในที่สุดมันก็ตาย ถ้าเราต้องการร่างกายประเภทนี้อีก กี่ชาติก็ตามเราก็มีสภาพแบบนี้ เราก็ไม่หมดทุกข์ และไอ้แดนที่หมดทุกข์ มันมีอยู่แดนหนึ่งคือนิพพาน

และการจะไปนิพพาน ไปได้ยังไง ถ้าตัดตัวยอดจริงๆ การจะไปนิพพาน คือไม่ห่วงร่างกายตัวเดียว คือ ตัดสักกายทิฏฐิ มันตัดตัวเดียว

ทีนี้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ตัดตัวท้ายตัวเดียว คือ ไม่สนใจกับร่างกาย เห็นว่าร่างกายเราก็ไม่ดี ร่างกายของคนอื่นก็ไม่ดี วัตถุธาตุทั้งหมดในโลกก็ไม่มีอะไรดี แต่ว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ เราต้องอาศัยมัน เราต้องประคับประคอง ถ้าร่างกายนี้พังเมื่อไร เราก็ไม่ห่วงกัน เท่านี้ง่ายๆ ไม่ยากนะ”

เห็นทุกข์ตัวเดียว

หลวงพ่อ :- “แต่ไอ้คำว่า ไม่ยาก น่ะมันพูดได้นะ แต่ว่าการจะปลดจะเปลื้องต้องค่อยๆทำ อย่าหักโหม ดูเหตุดูผล เห็นทุกข์เสียตัวเดียวเท่านั้นแหละพอ เห็นทุกข์ จงอย่าเมาในทุกข์ อย่าตกใจในทุกข์ เห็นว่ามันเป็นทุกข์จริง โลกนี้มันเป็นทุกข์

แต่ที่เราอยู่ในโลกนี้ เราจำเป็นจะสนองความต้องการของมัน แต่จิตตัวหนึ่งเราหวังตัดทุกข์ คือไม่ต้องการมันอีก ไอ้ตัวนี้มันทุกข์อยู่แล้วเราไม่กลุ้ม

สมมติว่าเราถูกไปจับขัง เรามีโทษถูกขัง ไอ้โทษประเภทนี้เราถูกขัง เราจะไม่ทำอย่างนี้ต่อไป เราก็จะไม่ถูกขัง เมื่อพ้นมาแล้ว

นี้ก็เหมือนกัน ที่เรามาเกิดได้ เดิมทีเดียวมันมีเหตุ ๔ ประการที่นำให้เรามาเกิด ได้แก่ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม

กิเลส คืออารมณ์ชั่วของจิต ที่เราเศร้าหมองเพราะจิตมันชั่ว มันจึงปรากฏ นี่เป็นมิจฉาทิฎฐิ ไอ้ตัว มิจฉาทิฎฐิ ทำให้เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี ถ้าเราเข้าใจว่าของชั่วเป็นของดี ของดีเป็นของชั่ว ของชั่วเป็นของดี อุปาทาน ก็เลยจับยึดมั่นว่าไอ้ของชั่วที่เราคิดว่าดีน่ะ ทำมันไปตามนั้น เกาะมันว่าดี

ตัณหา ตัวอยาก เมื่อมันเห็นว่าชั่วเป็นดี ดีเป็นชั่ว เราต้องการชั่ว มันก็อยากได้ อยากได้ก็ทำ ทำตามนั้น ตัวยึดมั่นเข้าไว้ พอยึดมั่นแล้วก็ปฏิบัติตาม ปฏิบัติตามเป็นเหตุให้เราเกิด”

พรหมวิหาร ๔

หลวงพ่อ :- “ทีนี้มาชาตินี้ เมื่อเรามีความเข้าใจว่า ไอ้กิเลสเป็นความเศร้าหมอง เป็นความชั่วของจิตว่ามันไม่ดี ก็ควรจะทำจิตให้ผ่องใส จิตผ่องใสตัวแรกที่มีความสำคัญ ถ้าตัวนี้ทรงกำลังใจ มันจะได้ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นก็คือมี พรหมวิหาร ๔

พรหมวิหาร ๔ นี่ถ้ายืนลงในจิตของใคร คนนั้นลงนรกไม่เป็น ลงไม่ได้แน่นอน เขาไม่ให้ลง ถ้าลงไปเขาขับขึ้นมา ลงไม่ได้ไม่มีสิทธิ์

คือว่าอารมณ์ของเราให้ทราบอยู่ ให้มี เมตตาจิต เราจะไม่เป็นศัตรูกับใครเลยในโลก ทั้งคนและสัตว์เราจะเป็นมิตรที่ดีของเขา แต่ว่าเขาจะเป็นศัตรูกับเราน่ะเป็นเรื่องของเขา เราหวังดีแต่เขาหวังร้าย อย่างนี้เราต้องใช้ อุเบกขา วางเฉยเข้าไว้ ถ้าเราพูดกับเขา เขาโกรธเราก็หยุดพูด เราใช้อุเบกขาตัวท้าย แต่ว่าเราไม่ได้โกรธ

กรุณา ความสงสาร จิตคิดไว้เสมอว่าใครเขาทุกข์ยากลำบาก ถ้าไม่เกินวิสัยของเราที่จะช่วยให้เราพร้อมที่จะช่วย ถ้าเราช่วยได้ด้วยทรัพย์สิน เราจะให้ทรัพย์สิน ทรัพย์สินไม่มี เราจะให้กำลังกาย กำลังกายให้ไม่ได้เราให้ด้วยปัญญา แต่ทั้งนี้ถ้าเขารับความช่วยเหลือจากเรา ถ้าเราให้การช่วยเหลือกับเขา เขาโกรธเรา เราต้องวางเฉย เราไม่โกรธตอบ เราไม่ช่วย เพราะช่วยไม่ได้

ต่อมา มุทิตา ตัวสุดท้าย เราไม่มีจิตคิดอิจฉาริษยาใคร ใครได้ดีเรายินดีด้วย

ถ้าอารมณ์ ๔ ประการนี้ทรงตัวอยู่จริงๆ ศีลก็บริสุทธิ์ ศีลก็ไม่บกพร่องเลย ถ้าเราจะทำสมาธิ สมาธิก็ทรงตัว อารมณ์แจ่มใส ไม่มีมัวหมอง ถ้าสมาธิไม่มัวหมอง ปัญญา คือวิปัสสนาก็เกิด เท่านี้เอง”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๕๔-๕๘ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร