เรื่องของคนขี้โมโห

เรื่องของคนขี้โมโห โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ หนูเป็นคนขี้โมโหค่ะ…”

หลวงพ่อ :- “ถ้า ขี้ โมโหดี เพราะเราไม่ได้โมโห”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “โมโหร้ายมากค่ะ แต่ว่าแป๊บเดียวหาย…”

หลวงพ่อ :- “โมโหร้าย ดี แต่ว่าอย่าร้ายตามโมโห ให้โมโหมันร้ายอย่างเดียว ถ้าโมโหแป๊บเดียวหาย เช้ามืดเราก็รีบโมโหเลย บอก “เอ็งโมโหเฉพาะเวลานี้นะ เวลาอื่นห้ามโมโห”

ถ้าแป๊บเดียวหายเขาเรียกว่า โทสะจริต เกิดโมโหไวหายเร็ว ที่หายเร็วแสดงว่าตัวยับยั้งมันมาก

เราก็ต้องพยายาม พอตื่นมาตอนเช้าคิดว่าวันนี้เราจะไม่โมโหใคร ตั้งใจไว้เลย แต่มันอดเผลอไม่ได้นะ มันเป็นของธรรมดา ทีนี้ถ้าเผลอ พอจะหลับเราก็นั่งนึก วันนี้เราโมโหใครบ้างหรือเปล่า บังเอิญถ้าโมโห เราก็คิดใหม่ว่าจะไม่โมโหอีก อย่างนี้ไม่ช้าก็หาย”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ถ้าแกล้งทำเป็นโมโห แล้วพูดคำหยาบออกไป อย่างนี้จะเป็นไรไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไอ้แกล้งทำเป็นโมโหนี่ เป็นลีลา แม้กระทั่งพระอรหันต์ท่านก็ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น พระพุทธเจ้ามีลีลาว่า นิคคัยหะ ปัคคัยหะ ถ้าดีเราก็ยกย่องสรรเสริญ ถ้าไม่ดีก็ถูกขับออกไป ท่านทำก็เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของคนอื่น อันนี้ไม่ใช่โทสะแท้ เขาไม่ถือว่าเป็นเรื่องโทสะ เป็นเรื่องลีลาของการปกครอง

ก็เหมือนกับการแสดงละคร คนนี่มีนิสัย ๒ ประเภท คือ คนนิสัยหยาบ ต้องขู่บังคับ ถ้าคนที่มีนิสัยละเอียด ต้องปลอบ แบบนี้แสดงว่าคนนั้นเขามีนิสัยหยาบ เราแสดงออกแบบนั้น ความจริงเนื้อแท้เราไม่มีอะไร แต่เราทำเพื่อผลงาน อันนี้ไม่เสียหาย

ถ้าเข้าไปในสมาคมขี้เมา เรากินโซดาเราก็เมาเท่าเขา ทำเสียงเป็นเมา อาจจะเมากว่าคนกินเหล้าอีกนะ ทำเสียงดังกว่า เขาเรียกว่าต้องทำตามเขาไป แต่เนื้อแท้จริงๆ เราไม่เมา แต่เราก็ไม่ขัดกับสังคมใช่ไหม…”

ผู้ถาม :- “แล้วอย่างคนดื้อละคะ หนูรู้สึกว่าตัวเองดื้อมาหลายชาติค่ะ จะแก้ไขยังไงดีคะ…?”

หลวงพ่อ :- “รู้หรือว่าดื้อนะ รู้ยังไงว่าดื้อมาหลายชาติ…?”

ผู้ถาม :- “เดาเอาค่ะ”

หลวงพ่อ :- “ไอ้คนรู้ว่าดื้อนี่ แสดงว่าคนนั้นไม่ดื้อ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า คนใดก็รู้ตัวว่าเป็นพาล คนนั้นเป็นบัณฑิต คำว่า พาล แปลว่า โง่ คนไหนรู้ตัวเองโง่ คนนั้นเป็นคนฉลาด บัณฑิต เขาแปลว่า คนฉลาด”

ผู้ถาม :- “อย่างกับตั้งใจจะไม่พูด ไม่ทำอะไรให้ใครกระทบกระเทือนใจก็ห้ามใจไว้ไม่ได้”

หลวงพ่อ :- “อ๋อ…นั่นเป็นของธรรมดา หนู ต้องค่อยๆ ยั้งมันนะ เราจะตั้งใจยับยั้งทีเดียวมันไม่ได้ แต่ว่าถ้าพลาดขึ้นมา หรือเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ก็คิดว่าครั้งต่อไปเราจะไม่ทำอีก ถ้าสักวันหนึ่งข้างหน้ามันเผลออีก รู้ตัวอีก ก็ยับยั้งอีก ต้องทำบ่อยๆ แบบนี้มันถึงจะทรงตัวนะ

ถ้าเราคิดว่า เราจะไม่ทำอะไรเลยให้เป็นเครื่องเสียหายกระทบกระเทือนให้มันอยู่ตัว ก็แสดงว่า พอนึกปั๊บก็ให้เป็นพระอรหันต์เลยซิ มันก็ยาก ใช่ไหม…?

อย่างนี้ดี ถ้าเรารู้แบบนั้น แสดงว่าอารมณ์ยับยั้งมันมีเยอะแล้ว เพราะตามปกติคนที่เขามีกิเลสหนาจริงๆ เขาจะไม่รู้ว่าเขาสร้างความเดือดร้อน สำหรับเรา ทำไปแล้ว เรามีความรู้สึกภายหลังว่าคนอื่นเดือดร้อน รู้สึกว่าเป็นการไม่สมควร แสดงว่ากำลังกิเลสตกไปมากแล้ว ก็ค่อยยั้งมันไปนะ หนักๆ เข้ามันก็อยู่ตัวเอง”

ผู้ถาม :- “ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๓ หน้า ๕๘-๖๐ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร