วัตถุประสงค์ของการฝึกมโนมยิทธิ
เพื่อให้นักปฏิบัติทุกท่าน พิสูจน์พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า นรก สวรรค์ พรหม นั้นมีจริงหรือไม่ พระนิพพานสูญจริงหรือ และเป็นการปฏิบัติทางลัดให้เข้าสู่พระนิพพานได้โดยเร็วขึ้น ไม่ใช่ฝึกเพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อเป็นการโอ้อวดบุคคลอื่น หรือเพื่อไปเป็นหมอดูให้ชาวบ้าน
จุดประสงค์ให้ทุกท่านตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน โดยเริ่มเป็นพระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ นักปฏิบัติทุกท่านควรศึกษา สังโยชน์ ๑๐ และบารมี ๑๐ ให้เข้าใจ และอารมณ์ของพระอริยเจ้าตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงปลาย
ฉะนั้นนักปฏิบัติเมื่อได้แล้ว ควรฝึกฝนให้ชำนาญทุกอิริยาบถ โดยกำหนดจิตของตนไปเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระชินวรอยู่เป็นประจำ
การวางอารมณ์ ขณะเวลาปลอดเสียง
๑.ตัดความกังวลห่วงใยใดๆ ทั้งหลายให้หมดสิ้น และตั้งจิตแผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งปวง ตั้งจิตไว้ว่า เราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน
๒.กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก พร้อมทั้งพิจารณาว่าเราเกิดมาเพื่อตาย ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้เป็นของสกปรก ไม่เที่ยง เป็นปัจจัยของความทุกข์ทั้งหลายและเสื่อมสลายไปในที่สุด ดินแดนที่มีความสุขอมตะคือพระนิพพาน ให้จิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์
๓.เมื่อพิจารณาจิตสบายแล้ว ก็ใช้คำภาวนาว่า “นะ มะ พะ ธะ” พร้อมกับกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้าว่า “นะ มะ” เวลาหายใจออกว่า “พะ ธะ” ภาวนาแบบสบายๆ อย่าบังคับให้ช้าหรือเร็วเกินไป (เมื่อรู้สึกอึดอัดให้หายใจเข้าช้าๆ หายใจออกช้าๆ ๓-๔ ครั้ง ก็จะหายเอง)
เมื่อหมดเวลาปลอดเสียงแล้ว ถ้าครูเข้าไปให้คำแนะนำ ขอให้นักปฏิบัติหยุดภาวนา วางอารมณ์เบาๆ แบบสบายๆ อย่าปักอารมณ์สมาธิให้แน่น จะเสียผล ตั้งใจฟังคำแนะนำ และปฏิบัติโดยพิจารณาตามไปด้วยทันที (ตั้งใจพิจารณาให้เห็นจริงด้วยปัญญา)
เมื่อจิตสามารถเคลื่อนตัวได้แล้ว การตอบคำถามให้ตอบตามความรู้สึกสัมผัสทางจิตก่อน มิใช่ เอาตาไปเห็น หรือ เอาหูไปฟังเสียง
ถ้าครูถามว่ามีความรู้สึกว่าเห็นอะไร ความรู้สึกของจิตแรกว่าอย่างไรให้ตอบอย่างนั้นทันที อย่าไปลังเลสงสัย ถ้ามีอารมณ์ไม่แน่ใจ อารมณ์ลังเลสงสัยที่มาขวางอยู่ ท่านบอกว่าเป็นอารมณ์เลวที่กั้นความดี มาขวางอยู่ นักปฏิบัติควรศึกษาให้เข้าใจ และตัดอารมณ์สงสัยให้หมดไป
ขณะฝึกจิตมีสมาธิ อารมณ์จิตย่อมเป็นทิพย์
เป็นการสัมผัสจริง ไม่ใช่เกิดจากความนึกคิดของเราที่จะสร้างขึ้น
ขณะฝึกตอบผิดหรือถูกยังไม่สำคัญ ขณะฝึกขอให้มีความมั่นใจในตนเอง ถือแบบปฏิบัติแบบโง่ๆ ไปก่อน ถ้าครูถามว่ารู้สึกเห็นเป็นสีอะไร ความรู้สึกของจิตแรกบอกสีขาว เราก็ตอบว่าสีขาวทันที อย่าใช้อารมณ์ที่สองหรือคิดต่อจะเกิดอุปาทาน
ข้อนี้ท่านนักปฏิบัติควรศึกษาให้เข้าใจ และควรระวังไว้ให้มาก เริ่มต้นฝึกไปแบบมืดๆ แบบตาบอดคลำช้างไปก่อน เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ และชำนาญขึ้น ก็สามารถจะสัมผัสความเป็นทิพย์ได้ชัดเจน เหมือนตาเห็น (สภาพเห็นของจิตมีวงจำกัดมาก ฉะนั้นจึงต้องขออาราธนาบารมีขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสมอ)
ข้อควรปฏิบัติในเวลาปกติ สำหรับท่านที่ปฏิบัติได้แล้ว
ควรรักษาไว้ให้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ให้ทรงตัว โดยจำอารมณ์ตอนขณะฝึกได้ครั้งแรกๆ
และท่านที่กำลังฝึกปฏิบัติอยู่ ควรสำรวจตนเองเสมอว่า เราบกพร่องในข้อไหนในด้านศีล สมาธิ ปัญญา (สำหรับท่านที่มาปฏิบัติใหม่ หัวข้อธรรมะบางข้ออาจยังไม่เข้าใจ ให้ศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน)
ควรระวังอารมณ์ของนิวรณ์ ๕ คือ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสระหว่างเพศ, ความโกรธความพยาบาท, ความง่วง, ความฟุ้งซ่าน, อารมณ์สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๕ อย่างนี้ ขณะปฏิบัติให้ละโดยเด็ดขาด
และในเวลาปกติระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ควรกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และใช้คำภาวนา “นะ มะ พะ ธะ” สลับกับการพิจารณาร่างกาย ให้จิตสะอาด แล้วไปกราบนมัสการพระพุทธเจ้าที่แดนพระนิพพาน ทำเสมอๆ หัดทำให้คล่องทุกอิริยาบถได้ยิ่งดี
เพราะหลวงพ่อท่านแนะนำว่า การที่เราจะเคลื่อนจิตไปได้นั้น ต้องอาศัยกำลังของสมาธิ การที่เราจะเห็นภาพได้ชัดเจน ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณ และนักปฏิบัติทุกท่านที่ต้องการให้ได้ผลดี ต้องรักษา ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ทรงตัวในระดับเดียวกันจึงจะได้ผลเต็มที่