ผู้ถาม:- “หนูไม่ทราบว่าได้ฌานอะไรค่ะ คือว่าจิตนิ่ง แต่ว่ามองอะไรไม่เห็น”
หลวงพ่อ:- “ดีมาก…เขาเรียกว่า ฌานมัว ไอ้เรื่องของฌานเขาไม่ได้เห็นหรอกหนู การทำสมาธิไม่ใช่เรื่องของการเห็น เรื่องของการเห็นเขาต้องฝึกอีกระดับหนึ่ง คือ ในเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วต้องฝึกทิพจักขุญาณ มันจึงจะเห็น แต่ว่าการฝึกสมาธิแล้วเห็นภาพว๊อบๆ แว๊บๆ ผ่านไปผ่านมา นั่นจิตเข้าขั้นอุปจารสมาธิ ขั้นอุปจารสมาธินี้ อาจจะได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ แต่ก็แว๊บเดียว อันนี้เขาไม่ใช้ เขาไม่ถือว่าเป็นของดี ยังไม่ต้องการ
กรรมฐานน่ะมันมี ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน สองอย่างนี้ต้องควบคู่กันไป ต้องเข้าใจว่า การทำสมถภาวนาเป็นอุบายเพื่อทำให้ใจสงบ ทำจิตให้เป็นสุข ไม่ใช่ต้องการเห็น วิปัสสนาภาวนาทำให้ใจมีปัญญาขึ้น คือยอมรับนับถือกฏของความเป็นจริง
เขาต้องการแบบนี้นะ เขาไม่ต้องการเห็นหรอก ถ้าอยากเห็นก็ลืมตา ถ้าดับไฟเห็นไม่ถนัดก็เปิดไฟฟ้า จะได้เห็นทั่ว ใช่ไหม…อย่างนี้ก็พลาดจุดหมายน่ะซิ”
ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ เวลานั่งปฏิบัติสมาธิคล้ายๆ จิตตกจากที่สูง มันเป็นยังไงคะ…?”
หลวงพ่อ:- “อ๋อ…ตอนนั้นถ้าจิตมันอยู่ในฌาน มันจะมีอารมณ์ดิ่งสบาย จิตเป็นสุข ถ้าจิตพลัดจากฌานแรงเกินไป มันก็วาบเหมือนกับตกในที่สูง อาการอย่างนี้บางคนก็ประสบ บางคนก็ไม่ประสบ ถ้าป้องกันอาการอย่างนี้ไม่ให้เกิด พอเริ่มต้นจะภาวนาให้หายใจยาวๆ เหมือนกับเขาเกณฑ์ทหาร หายใจสัก ๓-๔ ครั้ง เป็นการระบายลมหยาบ ตอนเริ่มต้นมันหยาบ พอจิตเป็นสมาธิ จิตมันจะละเอียดอยู่ข้างล่าง พอเป็นฌานจิตมันละเอียดมาก มันก็ดันลมหยาบออก”
ผู้ถาม:- “แต่สังเกตดูลมหายใจบางครั้งเหมือนกับลมหยุดเบาเหลือเกินค่ะ เราควรจะกระตุ้นมันไหมคะ…?”
หลวงพ่อ:- “อย่า อย่า ความรู้สึกคล้ายว่าลมหยุดตอนนั้นจิตเป็นฌาน ๔ ลมมันไม่ได้หยุดหรอก ถ้าหยุดเราก็ตาย ถ้าเป็นฌานสูงขึ้นจะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง ความจริงลมปกติ แต่จิตมันแยกกับประสาท พอถึงปฐมฌาน จิตแยกจากประสาทนิดหนึ่ง ถ้าตามธรรมดาเราต้องการเงียบ หูได้ยินเสียงมันจะรำคาญ พอถึงปฐมฌานมันจะไม่รำคาญ พอถึงฌานที่สอง ลมจะรู้สึกเบาลงไปหน่อย พอถึงฌานที่ ๔ จะไม่มีความรู้สึกว่าหายใจ ความจริงร่างกายหายใจเป็นปกติ แต่จิตมันแยกจากประสาท จิตมันแยกห่างออกมา”
ผู้ถาม:- “ต้องปล่อยลงไปเรื่อยๆ นะคะ…?”
หลวงพ่อ:- “ปล่อยไป ถ้าจิตมันเต็มกำลังมันก็ลดของมันเอง”
ผู้ถาม:- “ดิฉันจับอานาปาค่ะ ถึงมีอารมณ์อย่างนั้น….?”
หลวงพ่อ:- “ความจริงกรรมฐานทุกกองต้องควบอานาปา ถ้าไม่งั้นจิตไม่ทรงฌาน อานาปาต้องใช้เป็นพื้นฐาน กรรมฐาน ๓๙ อย่าง เราใช้ได้ แต่ว่าต้องควบคุมอยู่กับอานาปาเสมอไป ถ้าไม่มีอานาปาควบ จิตจะเป็นฌานไม่ได้”
ผู้ถาม:- “ถ้าไม่จับอานาปา ก็ภาวนาแทนได้ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ:- “ภาวนาเฉยๆ จิตไม่เข้าถึงฌาน จะต้องมีอานาปาควบคู่กับคำภาวนา หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจออกนึกว่า “โธ” “พุทโธ” เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน แต่เรารู้ลมหายใจเข้าออกด้วยเป็นอานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าใช้คู่กันจิตจะเป็นฌานเร็ว”
ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ในขณะที่เรานั่งภาวนาไปพักหนึ่งแลัว ก็ได้เห็นแสงเป็นวงสีขาว แต่เราจับไม่นิ่ง แล้วจะทำยังไงคะ…?”
หลวงพ่อ:- “เอาอะไรจับ…?”
ผู้ถาม:- “จิตซิคะ”
หลวงพ่อ:- “ไม่มีทาง เพราะแสงนั้นไม่ใช่แสงสำหรับจับ แสงสำหรับจับต้องเป็นกสิณ ถ้าสีขาว เขียว แดง เหลือง ถ้าปรากฏขึ้นขณะภาวนา มันเป็นนิมิตของอานาปานุสสติ ไม่มีทางจับ”
ผู้ถาม:- “ที่เห็นอันนี้เหมือนดาวค่ะ”
หลวงพ่อ:- “เหมือนดาว เหมือนเดือน เหมือนพระอาทิตย์ ก็เหมือนกันแหละ คล้ายๆ กับดาวเป็นดวงๆ ใช่ไหม…?”
ผู้ถาม:- “ใช่ค่ะ”
หลวงพ่อ:- “นั่นแหละ เขาเรียกว่าเป็นนิมิตของอานาปา จับไม่ได้ เพราะอะไรจึงจับไม่อยู่ เพราะจิตเราไม่หยุด ถ้าจิตเคลื่อนนิด นั่นก็ไหวตัวหน่อย นิมิตน่ะ เป็นเครื่องวัดจิตของเราว่า ในขณะนั้นมันทรงตัวขนาดไหน และจิตแค่อุปจารสมาธิ มันไม่ทรงตัว ต้องเป็นฌาน ที่เห็นนั่นน่ะ จิตถึงอุปจารสมาธิพอดี เพราะจิตพอเริ่มเข้าสู่อุปจารสมาธิ อารมณ์เริ่มเป็นทิพย์ ที่เห็นแสงสีน่ะเบาเกินไป ถ้าอารมณ์ดีกว่านั้นจะเห็นภาพเทวดา เห็นภาพพรหมได้เลย แต่ก็แว๊บเดียวอีกนั้นแหละ พอเห็นปั๊บเราตกใจ สะดุดนิด เคลื่อนจิตไม่ทรงตัว”
ผู้ถาม:- “แล้วที่อย่างมีแสง คล้ายแสงไฟฉายวูบมาอย่างนี้ล่ะคะ…?”
หลวงพ่อ:- “ก็เหมือนกันนั่นแหละ ยี่ห้อเดียวกัน”
ผู้ถาม:- “แต่ที่เห็น มันลักษณะไม่เหมือนกันคะ หลวงพ่อ”
หลวงพ่อ:- “ก็เหมือนกันนั่นแหละ แสงต่างกัน หายครือกัน จับไม่อยู่เหมือนกัน”
ผู้ถาม:- (หัวเราะ)
หลวงพ่อ:- “ถ้านิมิตเกิดขึ้น จับไม่อยู่ ต้องเริ่มตั้งต้นด้วยกสิณ ต้องเป็นนิมิตของกสิณ จึงจะทรงตัว คือนิมิตหรือแสงหรือสีนั้น เราต้องจับไว้ก่อนตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ปล่อยลอยมา”
ผู้ถาม:- “ถ้าอย่างนั้นก็ต้องไปเริ่มต้นจับภาพกสิณ ใช่ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ:- “เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องไปทำกสิณแล้ว เพราะคนที่มีกำลังสูงด้านศรัทธามีบุญเก่า เวลานี้เขาใช้ฝึกผลของกสิณเลย ถึงได้เร็วไงล่ะ ถ้าเริ่มต้นฝึกทางกสิณ ในบาลีท่านเรียกว่า อาทิกัมมิกบุคคล หมายถึง คนทีไม่เคยได้มาเลยในชาติก่อน ต้องขึ้นต้นด้วยกสิณ อย่างนี้ช้ามาก แค่กสิณกองเดียวให้ถึงฌาน ๔ ดีไม่ดีหลายตาย ไม่ใช่ตายเดียวนะ เกิดมาชาตินี้ทำจนตาย เกิดมาชาติใหม่ทำต่ออีก กว่าจะถึงฌาน ๔ ไม่ใช่เบา หนักมาก
ทีนี้หากว่าคนที่เคยได้มาก่อน อย่างทิพจักขุญาณ ในวิสุทธิมรรคท่านบอกว่า แม้แต่มองแสงสว่างที่รอดมาจากช่องฝาหรือช่องเพดาน ก็สามารถได้ทิพจักขุญาณเลย
อย่างที่พวกเราฝึกเวลานี้ ฝึกมโนมยิทธิ มันหนักกว่า ใช่ไหม…ฝึกประเดี๋ยวได้ๆ เพราะพวกนี้เคยได้มาก่อน แต่ว่าผู้ฝึกจะต้องทราบ เวลานี้ฉันสอนคนเก่าที่ได้มาก่อนทั้งนั้นนะ คนที่ยังไม่ได้ไปหาที่อื่น ฉันขี้เกียจสอน”
ผู้ถาม:- “แล้วหนูจะทราบได้อย่างไรคะ ว่าเคยได้มาก่อน…?”
หลวงพ่อ:- “ก็ต้องดูขั้นพอใจ เขาฝึกกันแบบนี้เราพอใจหรือเปล่า ถ้าพอใจด้วยความจริงใจ อันนี้ใช่ละ ต้องเคยได้มาก่อน ไม่งั้นไม่เอาเลย ต้องดูศรัทธาตรงนี้นะ คือเห็นเขาฝึกกันเราก็อยากได้บ้าง เกิดความต้องการขึ้นมาจริงจัง อันนี้ของเก่ามันบอก”
.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๕๕-๕๙ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
ศูนย์พุทธศรัทธา
- ประวัติศูนย์พุทธศรัทธา
- ดำริในการสร้างศูนย์พุทธศรัทธาของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
- เยี่ยมชมศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๐ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๕ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๓๗ ปี /๒๕๖๕
- สมเด็จองค์ปฐม ปางพุทธลีลาประทานพร
- ตำนานเมืองขีดขิน-เมืองโบราณใกล้ศูนย์พุทธศรัทธา
- พระบูชา/วัตถุมงคล
- การเดินทางไปศูนย์ฯ
มโนมยิทธิ
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
กิจกรรมบำเพ็ญกุศล
ห้องธรรมะ/เรื่องเล่า
ลิ้งก์เว็บไซต์ที่เกี่ยวเนื่อง