ผู้ถาม:- “ผมอยากจะถามหลวงพ่อหน่อยครับ คือตอนที่นั่งสมาธินี่นะครับ จิตมันอยู่ที่ไหนครับ…?”
หลวงพ่อ:- “เวลานั่งสมาธินี่ จิตมันอยู่ที่ใจโยมใช่ไหม..?”
ผู้ถาม:- “แต่กระผมได้ยินเขาบอกว่า อยู่ที่ระหว่างคิ้วบ้าง อยู่ที่ปลายจมูกบ้าง ผมก็ยังสงสัยอยู่ครับ”
หลวงพ่อ:- “นั่นเขาเอาอารมณ์เข้าไปจับ คือว่าอารมณ์เข้าไปจับมันที่ไหนก็ได้นะ แต่ว่าตามปกติแล้วพระพุทธเจ้าตรัส ท่านให้จับอยู่ตรงลมหายใจเข้าออก นี่เป็นพุทธพจน์นะ เป็นของพระพุทธเจ้าจริง ๆ เวลาทำสมาธิถ้าทิ้งลมหายใจเข้าออก สมาธิกองอื่น ๆ จะเกิดไม่ได้เลย นี่เราเรียกว่า อานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าทิ้งกรรมฐานกองนี้แล้ว กองอื่น ๆ ทำไม่ได้เลย”
ผู้ถาม:- “ระหว่างที่นั่งลงไปแล้ว ไอ้จิตมันก็คอยคิดแต่เรื่องงานเรื่องการ อันนี้จะทำยังไงครับ…?”
หลวงพ่อ:- “อันนี้เป็นธรรมดาโยม เขาเรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ มันเป็นธรรมดาของจิต จิตมันมีสภาพดิ้นรน คิดอยู่เสมอ และเวลาที่เราทำสมาธิก็ต้องเผลอบ้างเป็นธรรมดา ถ้าจะไม่มีการเผลอเลย มีการทรงตัวจริง ๆ เวลานั้นจิตต้องอยู่ในช่วงของฌาน ๔ อันนี้เป็นเรื่องจริง ๆ นะ”
ผู้ถาม:- “วิธีจะดับ จะดับอย่างไรครับ…?”
หลวงพ่อ:- “ผูกคอตายก็ได้”
ผู้ถาม:- (หัวเราะ)
หลวงพ่อ:- “ไอ้คำว่า ดับ ในที่นี้นะคือ ให้จิตหยุดจากอารมณ์ โยมทำไม่ได้หรอก โยมทำจริง ๆ โดยไม่คิดอะไรอื่นไม่ได้ เพราะยังไม่อยู่ในฌาน ๔ และไอ้จิตของเราถ้าให้มันอยู่ในฌาน ๔ จริง ๆ ก็ยาก เพราะว่าต้องให้จิตเข้าถึงฌาน ๔ ก่อน ถ้าเป็นฌาน ๑,๒,๓ ก็ยังดิ้นอยู่ ยังส่ายอยู่
เอาอย่างนี้ดีกว่า การเจริญพระกรรมฐานถ้ามุ่งแบบนี้มันไม่สำเร็จหรอก มุ่งเอาแต่สบายใจ ทำเวลาไหน สบายแค่ไหนพอใจแค่นั้น คือเราไม่ตั้งอารมณ์ไว้ก่อน ถ้าตั้งอารมณ์ไว้ก่อนว่าวันนี้เราต้องการฌาน ๓ ฌาน ๔ วันนั้นจะไม่ได้อะไรเลย มันเกร็งเกินไป ถ้าตั้งใจมากวันนั้นโยมทรงตัวไม่อยู่ จะต้องใช้แบบพระพุทธเจ้าที่เรียกกันว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทำแบบปานกลาง วันไหนสบายใจแค่ไหน วันนั้นเราทำแค่นั้น พอใจแค่นั้น
การที่จะให้จิตได้จริง ๆ ต้องฝึกโดยการตั้งเวลา ถ้าทำสมาธิได้พอสมควรแล้ว ก็เริ่มตั้งเวลา ถ้าฌานน้อย ๆ ก็สัก ๓ นาที หรือใช้นับลูกประคำ ตั้งแต่ ๑ ถึง ๒๐ ในช่วง ๒๐ ไม่ให้จิตไปไหนเลย ถ้าจิตเราวอกแวกไปไหนนิดหนึ่ง เราตั้งต้นนับใหม่ ภาวนาว่า พุทโธ ก็ได้ สัมมาอรหัง ก็ได้ ภาวนาไปจบก็ดึงไปเม็ดหนึ่ง ในช่วง ๒๐ เม็ด เราจะไม่ยอมให้จิตคิดเรื่องอื่นเป็นอันขาด นอกจากคำภาวนา ถ้ามันเริ่มคิดก็ตั้งต้นใหม่ ทำอย่างนี้ ค่อยทำไป ถ้าเห็นจิตจะเฟื่องเลิกเสีย ทำอย่างนี้จนชิน จนกระทั่งหลายวันจิตไม่ไปไหน ก็ขยับไป ๓๐ เม็ด ให้มันทรงตัวจริง ๆ ตอนหลังการทรงฌานสบายมาก”
ผู้ถาม:- “นอกจากเราจะใช้คำว่า พุทโธ หรือ สัมมาอรหัง เราจะใช้คำภาวนาอย่างอื่นได้ไหมครับ เช่น วิระทะโย หรือเป็นคำภาวนาแบบภาษาไทย”
หลวงพ่อ:- “อันนี้อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้หมดนี่คุณ เป็นสมถะ อาตมาไม่ได้ห้าม สัมมาอรหัง ก็เป็น พุทธานุสตติกรรมฐาน ถึงแม้ วิระทะโย กล่าวถึงพระ ก็ใช้ได้หมด เป็นกุศลเหมือนกัน”
ผู้ถาม:- “ถ้าหากว่า นึกถึงครูบาอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งได้ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ:- “ได้ ถ้าครูบาอาจารย์องค์นั้นเป็นพระสงฆ์ ก็เป็น สังฆานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระธรรม เป็น ธัมมานุสสติกรรมฐาน แต่ไอ้ตอนนึก ถ้าเห็นว่าจิตมันซ่านเกินไป ก็ใช้คำภาวนาสั้น ๆ แทน ทั้งสองอย่างอนุญาตให้ทำได้หมด เพราะถูกต้องตามแบบ”
ผู้ถาม:- “เวลาไปชวนเขาทำสมาธิ บางคนเขาบอกว่า กลัวเป็นบ้า กลัวจะไปเห็นของน่าเกลียดน่ากลัว อันนี้เป็นความจริงไหมครับ…?”
หลวงพ่อ:- “ความจริงการเจริญสมาธิไม่มีอะไรน่ากลัว อย่าลืมว่าถ้าจิตเราดีแล้ว อย่างน้อยที่สุดจิตต้องเข้าถึงอุปจารสมาธิ มีปีติถึงจะเห็นภาพ แต่ภาพที่เราเห็นในสมาธินั้นเป็นภาพสวย เป็นภาพน่ารัก ไม่ใช่ภาพน่ากลัว ที่ว่าเป็นบ้าน่ะ ก็เพราะฝืนอาจารย์ ฝืนพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าบอกว่าการปฏิบัติต้องเว้นส่วนสุด ๒ อย่างคือ
๑.อัตตกิลมถานุโยค อย่าเครียดเกินไป
๒.กามสุขัลลิกานุโยค อย่าอยากเกินไปต้องใช้ มัชฌิมาปฏิปทา คือต้องทำกลาง ๆ แบบสบาย ๆ ไม่บ้านะ”
(แหม…ไอ้คนกลัวดีนี่มีเยอะจัง ทั้ง ๆ ที่เป็นของดี ถ้าไม่ดีก็คงไม่มีใครเขาแนะนำ ทีมีคนไปชวนกินเหล้า ไม่เห็นกลัวกันบ้างน่าแปลกแฮะ)
.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๔๙-๕๒ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
ศูนย์พุทธศรัทธา
- ประวัติศูนย์พุทธศรัทธา
- ดำริในการสร้างศูนย์พุทธศรัทธาของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
- เยี่ยมชมศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๐ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๒๕ ปี ผลการดำเนินงานและกิจกรรมของศูนย์ฯ
- ครบรอบ ๓๗ ปี /๒๕๖๕
- สมเด็จองค์ปฐม ปางพุทธลีลาประทานพร
- ตำนานเมืองขีดขิน-เมืองโบราณใกล้ศูนย์พุทธศรัทธา
- พระบูชา/วัตถุมงคลของศูนย์พุทธศรัทธา
- การเดินทางไปศูนย์ฯ
มโนมยิทธิ
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
กิจกรรมบำเพ็ญกุศล
ห้องธรรมะ/เรื่องเล่า
ลิ้งก์เว็บไซต์ที่เกี่ยวเนื่อง