ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๒)

หลวงพ่อฤๅษี ตอบปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน

ผู้ถาม:- “ขอนมัสการครับ กระผมขอทราบว่า สภาวะจิตสงบ จิตเป็นสมาธิ จิตเป็นภวังค์ จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ มีสภาวะแตกต่างกันอย่างไรครับ…?”

หลวงพ่อ:- “ถามมา ๔ ข้อ แต่ตอบได้ ๒ ข้อ มันแตกต่างกันแค่ จิตเป็นภวังค์ อย่างเดียว นอกนั้นอย่างเดียวกัน จิตสงบ จิตเป็นสมาธิ จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ก็คือ จิตเป็นสมาธิ ก็หมายความว่าจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

อย่างโยมอยากจะไปขโมยควายเขา ตั้งใจว่าควายบ้านนี้กูขโมยแน่ นี่เป็นสมาธิ คือตัวตั้งใจอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเขาเรียกว่าสมาธิ แต่ว่าสมาธิแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาสมาธิ กับ มิจฉาสมาธิ ตั้งใจขโมยควายเขา เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าตั้งใจสร้างความดี เป็นสัมมาสมาธิ”

ผู้ถาม:- “ตามที่กระผมอ่านในตำรา เขาบอกว่าจิตขึ้นมารับอารมณ์ชั่วขณะจิต พอหมดไปแล้วบอกว่าจิตเป็นภวังค์ แต่ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ จึงขอเรียนถามหลวงพ่อว่า จิตเป็นภวังค์ หมายความว่าอย่างไรครับ…?”

หลวงพ่อ:- “คำว่า ภวังค์ นี่ก็คืออารมณ์ปกติ ส่วนมากคนมักเข้าใจกันผิด พอจิตตกมีสภาพวูบดิ่ง จิตทรงตัว บอกว่าเป็นภวังค์ อย่างนี้ไม่ใช่นะ พูดง่ายๆ อารมณ์ธรรมดานี่แหละ อารมณ์ไม่ได้ความนี่เอง

เอาเรื่องง่ายๆ ไม่ดีกว่าหรือ…พระพุทธเจ้าท่านสอนง่ายกว่านี้มีเยอะ ทำไมถึงชอบยากๆ กินหมูมีกระดูกมาก กินปลามีก้างมาก มันจะดีรึ

เอาอย่างนี้ดีกว่า ทำยังไงที่จะไม่ให้จิตคบกับนิวรณ์ ๕ ได้ มีประโยชน์มากกว่าตั้งเยอะ อย่างที่โยมว่าอีกหลายชาติก็ยังไม่ถึงนิพพาน ระวังมันจะมีมานะ ไปนั่งเถียงกัน แกไม่รู้จักขณะจิต พังเลย เราแย่ คนที่คิดน่ะแย่ มานะนี่หยาบมาก ยกยอดทิ้งไปเลย ไปงั้นไม่มีทางไป

ที่ว่ามานะ ฉันอ่านมาแล้ว ฉันหมุนมาแล้ว จึงเลิก โยมยังไม่เลิก เพราะว่าศัพท์ประเภทนี้มันเหมาะสำหรับคนสมัยนั้น คนสมัยนี้ไม่ควรจะใช้ศัพท์สมัยนั้นมาก เพราะว่าอุปนิสัยของคนไม่เท่าคนสมัยนั้น คำสอนแต่ละคำสอนแต่ละช่วงจะเหมาะสำหรับคนแต่ละสมัย คนที่สั่งสมอบรมมาดีแล้ว ถ้าเราไปพูดยาวแทนที่จะดี กลับทำให้รำคาญ เพราะคนพวกนี้ใกล้เต็มที่ ไอ้คนจะถึงประตู ไปอธิบายต้นทางมันก็รำคาญ ใช่ไหม…ว่าไง โยม มีอะไรอีกไหม…?”

ผู้ถาม:- “ขออาราธนาหลวงพ่อเทศน์เรื่อย ๆ ไปครับ”

หลวงพ่อ:- “ฉันก็เหนื่อยน่ะซิ เครื่องกัณฑ์มีรึยังล่ะ นิมนต์เทศน์ก็ต้องติดเครื่องกัณฑ์ ถ้าอธิบายไม่ต้องติด”

ผู้ถาม:- “นิมนต์หลวงพ่ออธิบายต่อไปเรื่อย ๆ ครับ”

หลวงพ่อ:- “เอายังงี้ดีกว่า คิดแต่เพียงว่า เราจะทำอย่างไร จึงจะวางภาระในขันธ์ ๕ เสียได้ เอาตรงนี้แหละ นั่งดูว่าร่างกาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย ควรจะมีอีกไหม ถ้าเราต้องการมันอีก เกิดมากี่ชาติ เราก็มีสภาพแบบนี้ มีทุกข์แบบนี้ ทำยังไงจึงจะไม่มีทุกข์ ที่จะไม่มีทุกข์ได้ ก็คือ

๑.ตัดโลภะ ความโลภ โดยการให้ทาน เจริญจาคานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์
๒.ตัดโทสะ ความโกรธ ให้ทรงพรหมวิหาร ๔ หรือ กสิณ ๔ หรือ ตัดมานะ ความถือตัวถือตน ว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา
๓.ตัดโมหะ ความหลง โดยการใช้ปัญญาพิจารณา และยอมรับนับถือตามความเป็นจริง คือว่าเกิดมาแล้วก็ต้องมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มันเป็นธรรมดา ก็เท่านี้แหละ ยากไหม…?”

ผู้ถาม:- “ฟังดูก็ไม่ยากหรอกครับ แต่ทำไม่ค่อยจะได้ แต่ก็จะพยายามครับ”

.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๔๗-๔๙ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร