ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๑)

หลวงพ่อฤๅษี ตอบปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน

ผู้ถาม:- “ทางที่ทำให้ดับทุกข์นั้น จะต้องเป็นทางสมถะทางเดียวใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ดับทุกข์ไปได้หลายทางหนู ถ้าดับทุกข์ถาวร คือทำกรรมฐานทางเดียว ถ้าดับทุกข์ชั่วคราว เชือดคอตายก็ดับทุกข์ แล้วไปทุกข์ใหม่ ใช่ไหม…?”

ผู้ถาม:- “กรรมฐาน คืออะไรคะ…?”

หลวงพ่อ:- “กรรมฐานมันรวม ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน ตัวที่ทำให้เกิดอารมณ์จิตไม่ฟุ้งซ่าน ทำให้สมาธิทรงตัว เขาเรียกว่า สมถกรรมฐาน ตัวที่ใช้ปัญญารู้เท่าทันสภาวะตามความเป็นจริง ไม่หลงสภาวะของโลก นี่เป็น วิปัสสนากรรมฐาน สองอย่างนี้ เราเรียกว่า กรรมฐาน เข้าใจหรือยัง…?”

ผู้ถาม:- “เข้าใจแล้วค่ะ แต่ว่ามีอีกเรื่องหนึ่งนะคะ เมื่ออาทิตย์ก่อนหนูไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่า คนที่หัดภาวนาอย่าหลับตา ถ้าหลับตาแล้วจะหลับไปเลย ให้ลืมตาแล้วพยายามดึงสายตาเข้ามาเรื่อยๆ จนใกล้ๆ ปลายจมูกแล้วให้เพ่งอยู่อย่างนั้น วันหนึ่งหนูก็ลองทำดู ภาวนาว่า พุทโธๆๆ แล้วพยายามดึงสายตาเข้ามาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าไม่ได้ภาวนา ทีแรกหนูก็เห็นภาพลางๆ เหมือนคนนั่งแบบหนู นั่งหันหน้ามาทางหนู หนูตกใจรีบลุกขึ้นทันที อย่างนี้เป็นการหลอนหรือคิดไปเองคะ…?”

หลวงพ่อ:- “แล้วคิดไปเองหรือเปล่าล่ะ…?”

ผู้ถาม:- “ไม่ได้คิดค่ะ”

หลวงพ่อ:- “อ้าว…ไม่ได้คิด แต่ถามว่าคิดไปเองหรือเปล่า”

ผู้ถาม:- “คือหนูมองเพลินไป คิดว่ามันคิดไปเองค่ะ…”

หลวงพ่อ:- “ไม่ใช่หรอก มันเป็นของจริง เราไม่ได้คิดไว้ก่อนนี่ ตอนนั้นก็ต้องถือว่า จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ จึงเป็นภาพขึ้นได้ ถ้าจิตต่ำกว่าอุปจารสมาธิก็ดี หรือสูงกว่าอุปจารสมาธิก็ดี มันไม่เห็น”

ผู้ถาม:- “แล้วทำไมเหมือนกับเราไม่มีจิต ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลยคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ก็บอกแล้วว่าระหว่างนั้นจิตเข้าสู่อุปจารสมาธิอยู่ จิตเราบังเอิญเข้าจังหวะพอดี ตามธรรมดาเรามีสมาธิอยู่แล้วทุกคน ไม่ใช่ว่าไม่มี ถ้าเราเกิดมาไม่มีสมาธิ มันพูดกันไม่รู้เรื่องหรอก ใช่ไหม…คิดว่าจะกินข้าว ดีไม่ดีไปเข้าส้วม นี่ไม่มีสมาธิ สมาธิคือการตั้งใจ ตั้งใจว่าจะทำอะไรนี่เป็นสมาธิ”

ผู้ถาม:- “แสดงว่าเรามีสมาธิ จึงจะเห็นใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “แต่ต้องพอดีนะ สมาธิมันมีหลายอย่างนะ มี ขณิกสมาธิ คือสมาธิเล็กน้อย อุปจารสมาธิ ก็หมายถึงสมาธิใกล้เฉียดฌาน และ อัปนาสมาธิ ก็หมายถึงฌาน ฌานแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น ฌาน ๑,๒,๓,๔ แต่จุดที่เราจะเห็นจริงๆ คือ อุปจารสมาธิ จุดนี้จุดเดียว”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ถ้าขณะภาวนา หลับตาได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “หลับตาหรือลืมตาก็ใช้ได้หมด ถ้าเราไม่นึกถึงตาไม่นึกถึงยาย ก็ลืมทั้งตาทั้งยาย ใช่ไหม…ลืมตาหรือหลับตาไม่มีความหมายหรอกหนู…การเจริญพระกรรมฐานมิใช่หลับตาเสมอไป ถ้าเราลืมตามองเห็นอย่างอื่นมันฟุ้งซ่านก็หลับตาเสีย ถ้าหลับตาแล้วจิตมันซ่านเกินไปก็ลืมตา

เวลานั่ง นั่งหน้าพระพุทธรูป เวลาหลับตาภาวนาแล้วฟุ้งซ่าน ให้ลืมตามองดูพระพุทธรูป ถ้าจิตเรานึกว่าพระพุทธรูป นี่เป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าคิดว่าพระพุทธรูปนี่มีสีเหลือง ก็เป็น ปิตกสิณ เลยได้ ๒ อย่างควบใช่ไหม… คือว่า การเจริญพระกรรมฐาน เราฝึกที่ใจ ไม่ใช่ฝึกที่ตา สมาธิมันอยู่ที่ใจใช่ไหมล่ะ…”

ผู้ถาม:- “หนูอ่านเจอในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เขียนว่าการนั่งสมาธิจะต้องมีความพร้อม คือพร้อมทั้งตัวเองและสภาวะแวดล้อมด้วย อย่างเช่นต้องการความสงบสภาพแวดล้อมก็ต้องสงบด้วย และตัวเราเองต้องสงบด้วย สงบทั้งข้างในและข้างนอก”

หลวงพ่อ:- “ไม่ต้องอธิบายหรอกหนู เป็นอรหันต์แล้ว หลวงพ่อยอมแล้ว แหม…ตำรามันแน่จริง ๆ อ่านจบทำได้ตามนั้น ก็ไม่ต้องไปฝึกแล้ว”

ผู้ถาม:- “ทำไม่ได้หรือคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ทำได้ยังไง เขายกช้างมาให้แบก สงบนอกสงบใน หมายความว่าเป็นอรหันต์แล้ว”

ผู้ถาม:- “แล้วเวลานั่งสมาธิ จิตจะสบายขึ้นใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ก็สุดแล้วแต่เรา เวลานั้นเราทรงอารมณ์ดีหรือไม่ดี ถ้าดีก็สบายขึ้น ถ้าไม่ดีก็กลุ้มขึ้น”

ผู้ถาม:- “หนูเคยนั่งที่บ้าน พอนั่งภาวนาไปครู่หนึ่ง รู้สึกมันเครียดค่ะ”

หลวงพ่อ:- “นั่นทำไม่ถูก หนู”

ผู้ถาม:- “ไม่ถูกยังไงคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ก็ทำเหนื่อย”

ผู้ถาม:- “แล้วจะทำยังไงคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ถ้าเครียดเกินไป เราตั้งอารมณ์เสียใหม่ หายใจยาวๆ ๒-๓ ครั้ง ก็หายเครียด แล้วเริ่มภาวนาใหม่”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ บางครั้งขณะภาวนาจิตใจมันฟุ้งซ่านมากค่ะ จะแก้ไขอย่างไรดีคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ถ้ามันฟุ้งซ่านจนกระทั่งคุมใจไม่ติด อันนี้ต้องเลิกเหมือนกัน ถ้ามันเป็นอย่างนี้ก็อย่าฝืนไปภาวนาเข้า ปล่อยมันไปตามสบาย มันอยากจะคิดอะไรก็เชิญมัน เราต้องรู้จักยืดหยุ่น พระพุทธเจ้าท่านแนะไว้ ๒ นัย คือ ถ้ามันฟุ้งจริงๆ ก็ปล่อยใจให้คิดไปตามต้องการ อีกอันหนึ่งก็เลิกเสีย

เวลาที่เราปล่อยใจไปตามอารมณ์ อีกสักครู่เดียวไม่นานมันก็เลิกคิด พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเหมือนม้าพยศ กอดคอให้มันวิ่งไปจนเหนื่อย เหนื่อยแล้วก็บังคับให้มันทำตามต้องการ จิตใจก็เหมือนกัน สติตั้งใจ ถ้ามันเลิกคิดเมื่อไร เราจะภาวนาและพิจารณาต่อไป เริ่มจับอารมณ์ใหม่ คราวนี้มันทรงอารมณ์ดิ่งจริงๆ ละเอียดและสุขุมมากอยู่นาน บางทีครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงกว่า นี่เป็นวิธีเอาชนะความฟุ้งซ่านและรำคาญ”

.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๔๓-๔๖ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร