พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๒

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๒
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      สำหรับคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐานในวันนี้ ก็จะขอนำเอาเรื่องของ พรหมวิหาร ๔ มาแสดงแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท

สำหรับพรหมวิหาร ๔ นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เป็นพระกรรมฐานกลางจริงๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พรหมวิหาร ๔ ย่อมเป็นกำลังของฌาน เป็นอาหารของศีล เป็นอาหารของฌาน และ เป็นอาหารของวิปัสสนาญาณ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพรหมวิหาร ๔ เป็นกรรมฐานเย็น คือต้นเหตุของกรรมฐาน

 

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๒
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

สำหรับคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐานในวันนี้ ก็จะขอนำเอาเรื่องของ พรหมวิหาร ๔ มาแสดงแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท สำหรับพรหมวิหาร ๔ นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เป็นพระกรรมฐานกลางจริงๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พรหมวิหาร ๔ ย่อมเป็นกำลังของฌาน เป็นอาหารของศีล เป็นอาหารของฌาน และ เป็นอาหารของวิปัสสนาญาณ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพรหมวิหาร ๔ เป็นกรรมฐานเย็น คือต้นเหตุของกรรมฐาน

พรหมวิหาร ๔ ก็คือ
หนึ่ง เมตตา ความรัก เมื่อเรามีความรักที่ไหน ต่างคนต่างรักกัน ใจก็เย็น

และ ข้อที่สอง พรหมวิหาร ๔ ที่เรียกกันว่า กรุณา มีความสงสาร ถ้าทุกคนต่างคนต่างก็มีความสงสารเกื้อกูลซึ่งกันและกันสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ก็เป็นอารมณ์เย็น ความเร่าร้อนมันก็ไม่มี

ประการที่สาม มุทิตา พรหมวิหารมีปัจจัยให้เกิดความไม่อิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน มีการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และก็มีใจดี คือ ยินดีในเมื่อบุคคลอื่นได้ดี เมื่อเห็นใครเขาได้ดีแล้ว เราก็ยินดีด้วย ดีใจด้วย พร้อมรับเอาความดีของผู้ที่ทรงความดีแล้วมาปฏิบัติ เพื่อผลของความดีของตน อันนี้อีกประการหนึ่ง เป็นปัจจัยให้มีความเยือกเย็น

แล้วก็ประการที่สี่ พรหมวิหาร ๔ มี อุเบกขา คำว่า อุเบกขา ในที่นี้ แบ่งเป็นหลายชั้น แต่จะขอพูดสั้นๆ ไว้ก่อน นั่นก็คือ มีอาการวางเฉยต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ หมายความว่า ใครเขาจะด่า เขาจะว่า เขาจะนินทา เราก็เฉย จิตสบาย ใครเขาจะชม เขาจะสรรเสริญ เราก็เฉย ไม่รู้สึก คำว่าไม่รู้สึก ลอย ไปตามคำ ถ้อยคำของบุคคลนั้น จิตใจมีความเป็นปกติ ไม่ขึ้น ไม่ลง ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ก็เป็นอาการของความสุข

รวมความว่า พรหมวิหาร ๔ นี้ เป็นอารมณ์เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข ทีนี้การบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา เราทำกันเพื่อความสุข คือ สุขทั้งที่มีชีวิตอยู่ แล้วก็สุขเมื่อตายไปแล้ว เมื่อเรามีชีวิตอยู่เรามีความสุข ตายไปเกิดที่ไหนก็ตามมันก็มีความสุข

ฉะนั้น พรหมวิหาร ๔ นี้จึงชื่อว่าเป็นอาหารใหญ่สำหรับใจในด้านของความดี คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ ย่อมมีศีลบริสุทธิ์ คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ ก็ย่อมมีฌานสมาบัติตั้งมั่น คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ ก็อาศัยใจเยือกเย็น ปัญญาก็เกิด

เมื่อพูดเพียงเท่านี้ หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทที่มีกำลังใจใช้ปัญญา ก็จะได้ทราบชัดว่า พรหมวิหาร ๔ นี้เป็นพื้นฐานแห่งความเป็นพระอริยเจ้าแน่นอน แต่ว่าก่อนที่จะพูดอะไรอย่างอื่น ก็ขอเตือนบรรดาท่านพุทธบริษัทไว้ก่อนว่า การเจริญสมาธิ คำว่าสมาธิก็คือการตั้งใจ จงตั้งใจไว้ในเขตของความเป็นพระอริยเจ้า อย่าตั้งใจส่งเดช มันจะเสียเวลา ขาดทุนเปล่า

การตั้งใจไว้ในเขตความเป็นพระอริยเจ้าก็คือ คิดไว้เสมอว่าชีวิตของเราจะต้องตาย และความตายไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีวันเวลาแน่นอน คนเกิดก่อนตายทีหลังคนเกิดทีหลังก็ถมไป คนเขาเกิดพร้อมเรา เขาตายไปก่อนเรา ก็ถมไป

จงคิดว่าความตายจะมีแก่เราในวันนี้ แล้วก็พยายามสั่งสมความดี นั่นคือ ใช้ปัญญาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า ความดีของพระธรรม ความดีของพระอริยสงฆ์ พิจารณาดูว่าควรเคารพนับถือไหม แล้วก็ต่อไป ตั้งใจทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ สำหรับศีล ๕ นี้่เป็นศีลของพระโสดาบันกับสกิทาคามี สำหรับพระเณรต้องทรงศีลตามฐานะของตนให้บริสุทธิ์ และก็มีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์

จุดที่เราจะรู้ว่าเราเป็นพระโสดาบันหรือไม่ ก็อยู่ที่กำลังใจทรงศีลหรือเปล่า ถ้าศีล ๕ ของเราไม่บกพร่อง ใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ท่านเป็นพระโสดาบัน

นี้การทรงสมาธิจิตนี่ จะต้องทรงไว้ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าไปนั่งภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ อิติปิโส ภควา ส่งเดช อย่างนั้นน่ะเป็นของดี ไม่ใช่ไม่ดี แต่ว่าดีไม่มาก หมายความว่า ดีอย่างนั้น เราก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด จงเอาจิตจับจุดที่เราจะเกาะเข้าถึงพระนิพพานไว้ อันดับแรก อย่างน้อยที่สุดในชีวิตนี้ก็ควรจะได้พระโสดาบัน

ถ้าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายคิดว่า การทรงความเป็นพระโสดาบันตามที่กล่าวมาแล้วเมื่อกี้นี้ มีอยู่ในกำลังใจของท่าน หลังจากนั้นก็ก้าวไปจับจุดอรหันต์เลย คือ มีกำลังใจคิดว่าเราจะตัดกามฉันทะ ความพอใจในเพศ ด้วยอสุภกรรมฐาน กับกายคตานุสสติ เราจะตัดความโกรธ ด้วยอำนาจพรหมวิหาร เราจะไม่ยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ร่างกายของเรา ร่างกายของชาวบ้าน และวัตถุธาตุต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เมื่อยังทรงชีวิตอยู่ เราต้องหา เราต้องใช้ ตายไปแล้วก็เลิกกัน ไม่ต้องการอะไรกับมัน

ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านตั้งใจไว้อย่างนี้ จึงจะสมกับเจตนาที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตั้งใจบำเพ็ญบารมีมาเพื่อสอนเรา ทรงใช้เวลาถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป

สำหรับต่อนี้ไปก็จะได้พูดถึงพรหมวิหาร ๔ ความจริงสิ่งนี้เป็นของไม่ยาก พรหมวิหาร ๔ หรือว่าอะไรก็ตาม ความจริงจิตของเรามันคบกับความเลวมามาก ที่ว่าคบกับความเลวมามาก มันไม่ได้หมายความว่า จะคบแต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เราเกิดกันมานับชาติไม่ถ้วน ถ้าจะใช้เวลาเป็นอสงไขยกัป มันก็นับอสงไขยกัปไม่ได้แน่นอน เพราะเวลานี้ การเกิด การตาย เราผ่านมาแล้วทุกระยะ มันไม่มีการสิ้นสุด เกิดเป็นมนุษย์ มันก็เป็นทุกข์ เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ มันก็เป็นทุกข์ เกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ก็ยังมีอารมณ์ไม่หมดทุกข์ เพราะว่าถ้าสิ้นบุญวาสนาบารมี ก็จะต้องกลับมาเกิดเป็นคน และเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน วนไปเวียนมาอย่างนี้ มันก็ไม่มีอาการหมดทุกข์ นี่เราทุกข์กันมา หาที่สุดไม่ได้แล้ว

เวลานี้มาพบศาสนาขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ทรงชี้ทางให้เราหมดทุกข์ คือ ก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน แต่ว่าเริ่มต้น อย่าลืม อย่าทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นการควบคุมอารมณ์ให้ทรงตัว แล้วก็อย่าลืมความตาย อย่าลืมเคารพในคุณพระรัตนตรัย อย่าลืมทรงศีลให้บริสุทธิ์ อย่าลืมนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ ว่าเราตายคราวนี้ เราจะไปนิพพาน ใครเค้าจะหาว่าเราบ้าเราบอก็ช่าง การบ้าเพื่อแสวงหาความดี ก็เป็นการสมควร ถ้าบ้าเพื่อแสวงหาความชั่ว ไม่ควรบ้า ถ้าจะบ้าไปนิพพานนี่ พยายามบ้าให้มาก มันจะได้มีความสุข

ทีนี้ดินแดนแห่งพระนิพพานที่เราจะไป จุดสำคัญจุดใหญ่ อยู่ที่พรหมวิหาร ๔ ต้องฝืนกันหน่อยนะ สำหรับกำลังใจ เพราะว่าใจเรามันชั่วมานาน ชั่วเพราะอำนาจกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม กิเลส คือ อารมณ์วุ่นวายที่ไม่ตั้งอยู่ในความดี ตัณหา มีความทะยานอยากแบบโง่ๆ อยากลักอยากขโมยเขา อยากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยากแย่งคนรัก อยากโกหกมดเท็จ อยากดื่มสุราเมรัย ตะเกียกตะกายหาที่สุดมิได้ด้วยความโลภ นี่มันอยากเลว

ตัณหาคือความอยาก ตัณหามีกิเลสเข้ามาช่วยก็เลยอยากแบบนั้น อุปาทาน ยึดมั่นด้วยกำลังใจว่า ทำอย่างนั้นเป็นของดี จึงเกิดการกระทำความชั่วขึ้น ที่เขาเรียกว่า อกุศลกรรม จึงทำด้วยความไม่ฉลาด เราจึงมีความลำบากมาถึงวันนี้ ต่อนี้ไปเราตัดทิ้งมันเสียเถอะ อานาปานุสสดิกรรมฐาน พยายามทรงไว้ ให้จิตอยู่ในขอบเขตที่เราต้องการ

มาพิจารณาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร นั่นก็คือ เมตตา-ความรัก ในพรหมวิหารข้อที่หนึ่ง ความจริงเป็นของง่ายนะ แต่ว่าการแผ่เมตตา-ความรัก เรามีความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอว่า เราไม่เป็นศัตรูกับใคร ในโลกนี้ โลกหน้า โลกผี โลกเทวดา โลกนรก โลกสวรรค์ โลกพรหม เราไม่เป็นศัตรูกับใครทั้งหมด คิดเสียว่า อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นกับเรา ทั้งๆที่เราทำความดี แต่ว่าผลสนองให้กับเรา เป็นปัจจัยแห่งความเร่าร้อน นั่นถือว่าเราใช้หนี้กรรมเขาไป ชาตินี้เราไม่ได้ทำเขา ชาติก่อนเราคงทำเขา เมื่อเขาจะมารับผลของเขาคืน ก็คืนเขาไปตามอัธยาศัย ใครเขาจะด่า เราก็เฉย ยิ้ม เพราะเราได้มีโอกาสใช้หนี้แล้ว ใครเขาจะนินทา เราก็ยิ้ม ใครเขาจะกลั่นแกล้ง ก็ช่าง ตั้งหน้าตั้งตาทำความดี

ถ้านอกจากนั้นก็มีจิตน้อมไปในความเมตตาว่า โอหนอ คนทั้งหลายเหล่านี้ ทำไมจึงได้โง่อย่างนี้ ถ้าเขาด่าเรา แล้วก็เราด่าตอบ เขาจะมีความสุขหรือความทุกข์ เราเป็นมิตรกับเขา เขามีความสุข เพราะเรากับเขารักกัน แต่ถ้าว่าเขาประกาศตนเป็นศัตรูกับเรา เราก็ไม่ประกาศตนเป็นศัตรู แต่ว่าตัวเขาเหล่านั้น เขาจะมีความสุขไหม เขาก็มีความทุกข์ เพราะว่าเขาคิดว่าเราเป็นศัตรูกับเขา เขาจะต้องระแวงอันตรายที่เราจะทำกับเขานั้น แสดงว่าเขาสร้างความทุกข์ของเขาเอง

คนเลวกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะว่าการประกาศตนเป็นศัตรูกับคนอื่น บางทีคนอื่นยังไม่คิดว่าจะทำอันตรายเขา แต่เขาคิด เขาคิดว่า คนที่เขาด่าไว้ เขาว่าไว้ เขานินทาไว้ เขากลั่นแกล้งไว้ จะทำอันตรายกับเขา คนประเภทนี้ ใจของเขาไม่มีความสุข ใจเรามีรู้สึกอย่างไร เราไม่เปลี่ยน เราถือว่าเขาเป็นทาสของความชั่ว ความชั่วเป็นนายของเขา คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม แทนที่เราจะเกลียด เราก็รัก

ในด้านของกรุณา เมตตาคือความรักมีอยู่ สงสารเขาว่า เขากับเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน เขาเกลียดทุกข์ รักสุข แต่ว่าทำไมเขายังทำเหตุของความทุกข์ ก็เพราะว่าเขาเป็นคนโง่ หรือดีไม่ดีเขาก็เป็นคนบ้า โบราณท่านบอกว่า อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา นี่เราไม่ถือคนบ้า เราไม่ว่าคนเมา เราไม่โกรธเขา ถึงแม้ว่าเขาจะโกรธ เราก็ยังมีความเมตตาปรานีในเขา

แต่ทว่าจงระวัง ในขณะใดที่เราไม่สามารถจะสงเคราะห์ ให้เขาเข้าใจในความดีได้ ตอนนั้นเราต้องงดเว้น อย่าไปแนะนำ อย่าไปสรรเสริญ อย่าไปให้การช่วยเหลือ เพราะว่าอารมณ์ของเขาเศร้าหมอง ถ้าเราไปทำอย่างนั้น เขาจะคลั่งมาก เขาจะหาว่าเราประชดประชัน ตอนนี้ที่โอกาสที่เรายังช่วยเขาไม่ได้ เราก็วางเฉยด้วยอำนาจของอุเบกขา ใจเราก็เป็นสุข ถ้าเขาด่ามา เขาแกล้งมา ใจเราไม่โกรธ เราก็ควรจะภูมิใจว่า คุณธรรมสำคัญที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงให้กับเรา เราทรงได้แล้ว นั่นคือ เมตตา-ความรัก กรุณา-ความสงสาร และก็ อุเบกขา-ตัวความวางเฉยในด้านของอารมณ์

นี่สำหรับตัวกรุณานี่ก็เหมือนกัน เมตตาความรักเรามี แต่ว่ากรุณานี่ ถ้าดีไม่ดี มันก็เกินขอบเขต เราจะสงสาร เราจะเกื้อกูลเขา นี่ต้องดูให้เป็นการควร ไม่ใช่เกินพอดี ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่พระเทวทัตรับฟังคำสั่งสอนของพระองค์ พระองค์ก็ทรงให้การแนะนำสั่งสอนด้วยความเมตตาปรานีอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อพระเทวทัตเกิดความหยิ่งยะโส คิดคดทรยศจะกบฎต่อพระองค์ ตอนนี้พระพุทธเจ้าหยุดสอน เพราะว่าถ้าขืนสอน ขืนสงเคราะห์ พระเทวทัตก็ไม่รับ พระองค์ก็ทรงอุเบกขา วางเฉยไว้ นี่ตัวกรุณา นี่ต้องวางใจให้มันเหมาะสม คือความสงสารมีอยู่ แต่โอกาสไม่สมควร นี่เราต้องเว้น

ข้อที่ ๓ มุทิตา การไม่อิจฉาริษยาเขา เป็นของดี จิตใจเราเป็นสุข เห็นใครเขาได้ดี ก็ไปนั่งพิจารณาว่า ฐานะเขาเสมอกับเราในขั้นเดิม มีความรู้เช่นเดียวกัน มีร่างกาย มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน แต่ทำไมกิจการงานเขาจึงก้าวหน้าไปไกล เขาดีมาได้เพราะอะไร เขาดีเพราะความขยันหมั่นเพียร ฉันทะ-รักในงานนั้น วิริยะ-มีความเพียร จิตตะ-มีจิตใจจดจ่อในการทำงาน วิมังสา-ก่อนจะทำก่อนจะพูดก็ใช้ปัญญาพิจารณาก่อน

เมื่อเขาทรงคุณธรรม ๔ ประการอย่างนี้ ความดีพุ่งไปข้างหน้าของเรา เราก็ไม่อิจฉาเขา เราก็นั่งมอง ว่าอ๋อ เขาดีแบบนี้หรือ ในเมื่อเขาดีได้ เราก็ดีได้ เขาเกิดมาเป็นคน มีอวัยวะอาการ ๓๒ เราก็มีเท่าเขา มีมือมีเท้าเหมือนกัน มีจิตมีใจเหมือนกัน ถ้าเขาดีได้ด้วยประการดังนี้ เราก็จะดีบ้าง ไม่ใช่อิจฉาเขา และไม่ใช่แข่งกับเขา เห็นว่าผลของความดีเป็นปัจจัยของความสุข เราก็ทำตามเขา นี่เราว่ากันถึงว่าการฝึกในเบื้องต้น

ความเมตตากรุณา ทั้ง ๒ ประการนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสอนว่า ในอันดับแรก อย่าเพิ่งแผ่เมตตาไปในบุคคลที่เราคิดว่าเป็นศัตรู ต้องยับยั้งไว้ก่อน แผ่เมตตาคือความรัก กรุณา-ความสงสาร ไปในบุคคลกลุ่มเดียวกัน ที่มีกำลังใจเสมอกัน เป็นกลุ่มคนที่เรารัก และกลุ่มคนที่เราไม่เกลียด ที่คิดว่าไม่เป็นศัตรู เพราะว่าอันดับแรกถ้ามุ่งหน้าไปหาศัตรูแล้ว ก็จิตมันจะหวั่นไหว

จนเมื่อกำลังใจของเรามั่นคงดีแล้ว ต่อไปเราก็มองดูองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสงเคราะห์ไม่เลือกบุคคลใด เพราะกำลังใจเข้มแข็ง ความจริงพระเทวทัตเป็นศัตรูของพระองค์มานับแสนกัป จะนับอสงไขยกัป พระพุทธเจ้าก็รู้ แต่ตอนที่พระเทวทัตเข้ามาขอบวชกับองค์สมเด็จพระบรมครู พระองค์ก็ไม่ทรงถือโทษ กลับให้การอุปสมบท สอนให้ได้อภิญญาสมาบัติ

นี่น้ำพระทัยขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ เห็นศัตรูเป็นมิตร มีจิตประกอบไปด้วยความเมตตาปรานี สมเด็จพระชินสีห์ ไม่ได้หวง ไม่ได้ห้าม ไม่ได้กลั่นไม่ได้แกล้งใครเขา พระพุทธเจ้าทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น ตอนนี้ต้องขอให้ใจมันสูงเสียก่อนนะ กำลังใจเข้มแข็งเสียก่อน

ทีนี้เราก็มาว่ากันถึงผลของพรหมวิหาร ๔ พรหมวิหาร ๔ ถ้าความรักของเรามันทรงตัวทรงจิตใจ เห็นหน้าใครที่ไหนก็ตาม เราก็รักเหมือนกับรักตัวเรา จะเป็นชาติเดียวกัน ภาษาเดียวกัน คนละชาติ ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างประเทศ ต่างลัทธิ ต่างศาสนา ต่างอะไรทั้งหมดก็ช่าง พอมองเห็นหน้าก็คิดว่า โอ้หนอ เขานี้เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายสำหรับเรา เรากับเขามีสภาวะความต้องการเหมือนกัน คือ เกลียดทุกข์ แล้วก็รักสุข จิตเราก็มีความเมตตาปรานี ไม่คิดจะเป็นศัตรูกับเขา

และนอกจากนั้น น้ำใจของเราก็คิดไว้เสมอว่า ถ้าหากว่าเขามีทุกข์เมื่อไหร่ ถ้าไม่เกินวิสัยสำหรับเรา เราจะสงเคราะห์ทันที นี่น้ำใจของเราเป็นอย่างนี้ แต่ว่าการสงเคราะห์ต้องดู ว่าควรหรือไม่ควร อย่าดีเกินไป เอาดีแค่พระพุทธเจ้า ใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อน

อย่างกับคนที่เราให้การสงเคราะห์พึ่งพิง อาศัยในสถานที่ใกล้เคียง อาศัยมีอาชีพจากเราเป็นสำคัญ แต่ว่าเขาผู้นั้นยังประกาศตนเป็นศัตรู อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมครูบอกว่า อย่าเพิ่งเมตตาเขา แต่ว่าเราก็ไม่ประกาศตนเป็นศัตรู จิตสงสาร แต่ยังกรุณายังเกื้อกูลอะไรไม่ได้ เพราะว่ากำลังใจของเขายังเลว เขายังไม่ยอมรับ เหมือนกับฝนที่ตกลงมา แต่ว่าชาวบ้านนำตะกร้าไปรองน้ำฝน ฝนจะเมตตาปรานีกับเค้าเพียงใดก็ตามที ตะกร้ามันรับน้ำฝนไม่อยู่ นี่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงคิดอย่างนี้

ทีนี้ถ้าหากว่า ความรักได้แก่เมตตา กรุณาได้แก่ความสงสาร มุทิตาได้แก่จิตอ่อนโยน อุเบกขา-ตัววางเฉย ๔ ประการนี้ ถ้าทรงอยู่ในจิต สิ่งใดที่มันจะเกิดกับเรา สิ่งที่จะเกิดกับเราอย่างนั้นก็คือ หนึ่ง ความเป็นพระโสดาบัน สอง สกิทาคามี สาม อนาคามี จะมาอยู่ที่เราได้อย่างง่ายๆ

ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่า เมตตากับกรุณาทั้งสองประการ ถ้ามีประจำใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เรารักเราสงสาร เราฆ่าใครได้ไหม เรารักเราสงสาร เราลักเราขโมยเขาได้ไหม เรารักเราสงสาร เราแย่งคนรักเขาได้ไหม เรารักเราสงสาร เราจะโกหกมดเท็จเขาได้หรือเปล่า ถ้าเรารักเราสงสาร กับคนที่เราอยู่ เราจะทำลายสติสัมปชัญญะของเราให้ฟั่นเฟือน โดยการดื่มน้ำเมาได้หรือเปล่า

ในที่สุด ศีล ๕ ประการนี้เราทำไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเรารัก เราสงสารคนที่เรารัก สัตว์ที่เรารักที่เราสงสาร เราฆ่าเราก็ฆ่าไม่ได้ เราตั้งใจจะทรมานทำร้าย เราก็ทำไม่ได้ เรารักเราสงสาร เราขโมยก็ไม่ได้ ขโมยยังไง ก็รักเขานี่ สงสารเขานี่ ขโมยเขามา เขาก็อด เราก็ทำไม่ได้ เรารักเราสงสารเขา เขารักกันอยู่ เราจะไปแย่งคนรักเขาอย่างไร รักสงสาร แล้วต้องการให้เขามีความสุข ถ้าเราไปโกหกเขา เขาก็มีความทุกข์ เราทำไม่ได้ เป็นอันว่า การดื่มสุราเมรัยใช้ปัจจัยไม่เกิดประโยชน์ เราก็ไม่ทำ

เป็นอันว่า เมตตากับกรุณา ทั้งสองประการเป็นปัจจัยให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เป็นผู้ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์ ถ้ากำลังใจสูงก็ทรงศีล ๘ บริสุทธิ์ เมื่อศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่บกพร่อง จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ความตายเราไม่ต้องพูดกันก็ได้ เพราะคนที่ทรงศีลบริสุทธิ์ เพราะคนรู้ตัวว่าจะตาย อาศัยความดีของศีลเป็นสำคัญ ถ้าจิตของท่านก้าวไปอีกนิดหนึ่ง คิดว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร เป็นปัจจัยของความทุกข์ ความสุขจริงๆ ก็คือนิพพาน จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงตรัสว่า ท่านเป็นพระโสดาบันหรือสกิทาคามี

เห็นหรือยังบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน พรหมวิหาร ๔ โผล่ขึ้นมาแผลบเดียว ก็ปรากฏว่าก้าวไปจับเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันหรือสกิทาคามี แต่สำหรับวันนี้ เวลามันหมดเสียแล้ว ขอสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนา และพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้เวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี.

พรหมวิหาร ๔     ตอนที่ ๑    ตอนที่ ๒    ตอนที่ ๓    ตอนที่ ๔    ตอนที่ ๕    ตอนที่ ๖    เสียงธรรม

เรื่องนี้ถูกเขียนใน พรหมวิหาร ๔ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร