พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๖

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๖
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      สำหรับวันนี้จะไม่พูดอารัมภบทมาก เพราะเป็นวันจบ เป็นอันว่าเรื่องของการเจริญพรหมวิหาร ๔ เป็นพระอรหันต์ง่าย เป็นอรหันต์เพราะเรารักตัวของเราเอง เราสงสารตัวของเราเอง เรารักตัวเรา ก็คือเราก็ไม่ทำความชั่ว เพราะความชั่วมันเป็นเหตุแห่งความเร่าร้อน เราสงสารตัวเรา เราก็ระวังไม่ให้ความชั่วมันเกิดขึ้น

ข้อที่สาม มีจิตอ่อนโยน คือกำลังจิตไม่แข็งไม่กระด้าง ใครเขาทำดีทำชั่วช่างเขา เราพยายามรักษากำลังใจของเราให้บริสุทธิ์ อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งหมด อารมณ์ที่มันมาจากกระแสเสียงก็ดี มาจากอาการทางกายก็ดี ทั้งอารมณ์ภายนอกและอารมณ์ภายใน

 

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๖
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับเวลานี้ ท่านทั้งหลายได้พากัน สมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปขอท่านทั้งหลายได้โปรดตั้งใจสดับในเรื่องของเมตตา คือ พรหมวิหาร ๔ ในขั้นสุดท้าย

ความจริงพรหมวิหาร ๔ นี้ ผมได้พูดไว้แล้วว่า ถ้าหากว่าท่านผู้ใดตั้งใจจริง มีอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ มีความพากเพียรต่อสู้กับอารมณ์ที่เป็นข้าศึก จิตตะ สนใจฝักใฝ่ในเรื่องนั้นอย่างแท้จริงคือพรหมวิหาร ๔ วิมังสา ใช้ปัญญาดูว่า อารมณ์ที่ผ่านมาภายนอก เป็นอารมณ์ของความดี หรือว่าเป็นอารมณ์ของความชั่ว ถ้าเป็นอารมณ์ของความดี เราก็รับ ถ้าเป็นอารมณ์ของความชั่ว เราก็ไม่รับ ถ้าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายทรงอิทธิบาท ๔ นี้ครบถ้วน สำหรับพรหมวิหาร ๔ ก็จะสามารถทำให้ท่านทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ได้โดยรวดเร็ว

จงอย่าลืมธรรมะอีกข้อหนึ่งว่า เราจะแก้กิเลสตัวไหน กิเลสตัวนั้นมันเข้ามายุ่งกับใจเราเสมอ เพราะมันเป็นข้าศึก ถ้าหากว่าเราจะแก้ความโลภ ทรัพย์สมบัติมันจะเกิดขึ้นมามาก โดยที่คาดไม่ถึง ถ้าจิตของเราไปติดทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านั้น แสดงว่าเราก็แพ้กิเลส ถ้าหากว่าเราจะแก้ราคะ ความรักในเพศ และความสวยสดงดงาม นั่นจะพบกับแขกที่มีเพศตรงกันข้าม มีลักษณะท่าทางสวยงามสง่าผ่าเผย เต็มอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สิน มีจริยาเพียบพร้อมเป็นที่น่ารักมายั่วยวน ถ้าจิตใจของเราไม่คล้อยตามไป ชื่อว่าเราชนะ ถ้าเราคล้อยตามไป มีความพอใจ เราก็แพ้แก่กิเลส

เวลานี้บรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ กำลังเจริญพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ของความชั่ว ในขณะที่เราทรงพรหมวิหาร ๔ นี่ก็เป็นการตัดกิเลสตัวสำคัญ คือโทสะ ก็จงระมัดระวังว่า การที่เกิดโทสะการที่ไม่คาดฝัน จะมีมาถึง เราอยู่เฉยๆ อาจจะมีคนแกล้งมาหาเรื่องก็ได้ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ผมประสบมามากในขณะที่ฝึก แต่ว่าเราก็ผ่านมาได้แบบสบายๆ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับกำลังใจ หรือ อิทธิบาท ๔ อย่างเดียว

สำหรับวันนี้จะไม่พูดอารัมภบทมาก เพราะเป็นวันจบ การเจริญพรหมวิหาร ๔ ของท่าน ผมได้กล่าวมาแล้วถึงขั้นอนาคามีผล คือว่า การเจริญพรหมวิหาร ๔ เป็นพระอนาคามีไม่ยาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเรามีเมตตา ความรัก รักใคร รักเรานี่แหละเป็นตัวสำคัญ กรุณา ความสงสาร เราสงสารใคร เราสงสารตัวเรา มุทิตา มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยา คือไม่มีอารมณ์เครียดในเมื่อความดีมันเข้ามาถึง อุเบกขา วางเฉย เฉยต่ออารมณ์ภายนอก เฉยต่ออารมณ์ภายใน เฉยต่ออาการของขันธ์ ๕ ความจริงการเจริญพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นพระอรหันต์ได้ง่าย

ที่ผมว่ารักเราน่ะเพราะอะไร เพราะว่าถ้าจิตของเราไปติดในกามฉันทะ ก็ชื่อว่าเราเป็นคนไม่รักตัวเราเอง เพราะกามฉันทะ เป็นกามคุณ ๕ ก็คือ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ อันนี้มันเป็นของไม่ดี อะไรที่ไหนมันสวยจริง กลิ่นที่ไหนมันหอมเสมอ รสที่ไหนอร่อยเรื่อยตลอดวันตลอดสมัย สัมผัสเพียงเหตุเกิดความสุขใจ แต่มันทุกข์อะไรบ้าง นี่มันเป็นของไม่ดี ถ้าเรารักตัวเราจริงๆ เราก็ไม่ไปยุ่งกับราคะคือความรัก

สำหรับโลภะ ความโลภ ความร่ำรวย มันเป็นของดี หรือว่ามันเป็นของเลว เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข หรือเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ เราจะมองกันจริงๆ คนที่รวยก็แก่ ก็ป่วย ก็ตาย ด้วยกันทุกคน และก็มีอารมณ์เร่าร้อน ทรัพย์สินทั้งหลายที่เขารวบรวมไว้ได้ ไม่มีใครนำไปได้เมื่อเวลาตาย หากว่าเราไปติดรวย ก็แสดงว่าเราไม่รักตัวเอง การที่เราจะรักตัวเอง เราต้องเป็นคนวางภาระในความต้องการร่ำรวยเสีย

นี่มาอารมณ์โกรธ อารมณ์โกรธนี่เป็นอารมณ์ของความเร่าร้อน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย เราจะฆ่าเขา เขาก็ตาย เราจะแกล้งให้เขามีทุกข์ เขาก็มี ถ้าเราไม่ฆ่าเขา เขาก็ตาย เราไม่กลั่นแกล้งเขามีทุกข์ เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ฉะนั้นจะต้องไปทำทำไม ถ้าเรารักตัวเรา ก็อย่าสร้างโทสะ ความโกรธ ให้มันเกิดขึ้น มันสร้างความเร่าร้อนเปล่าๆ ไม่ได้เกิดประโยชน์ ใครจะบ้า ก็ให้เขาบ้าไปตามเรื่องตามราว

เป็นอันว่า คนที่ทำให้เราโกรธ เราคิดว่านั่นเขาบ้า บ้าตรงไหน บ้าชีวิต บ้าฐานะ บ้าความเป็นอยู่ เพราะอะไร เพราะคนโกรธก็มีอาการเหมือนคนบ้านั่นเอง ยามปกติคนทุกคน ต้องการความสงบเสงี่ยม ต้องการความเรียบร้อย แต่ทว่าความโกรธเกิดขึ้น สติสัมปชัญญะแห่งความดีมันก็หายไป มันก็เหลือแต่ความเลว มันหลั่งไหลมานอกหน้า นี่ถ้าเราสงสารตัวเราเอง เราก็จงอย่าโกรธ เพราะถ้าเราไม่โกรธเราก็ไม่บ้า

ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์ด่าพระพุทธเจ้าต่อหน้าธารกำนัล องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ก็ทรงเฉย พราหมณ์ชี้หน้าบอกว่า พระสมณโคดม แกแพ้ข้าแล้ว พระพุทธเจ้าทรงถามว่า แพ้ตรงไหน พราหมณ์จึงตอบว่า ฉันด่าแก แกไม่ด่าตอบข้า แกแพ้ข้า สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสว่า พราหมณะ ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตคิดว่า ถ้าใครเขาด่า ตถาคต ถ้าตถาคตไปด่าตอบคนนั้น แสดงว่าตถาคตน่ะเลวกว่าคนนั้น

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงด่าพราหมณ์อย่างหนัก พราหมณ์มีปัญญารู้สึกตัว คิดว่าตัวผิดไปเสียแล้ว จึงนั่งกระหย่ง ถวายนมัสการองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว แล้วกล่าวว่า ภาษิตที่ท่านตรัสวันนี้เป็นของดีมากประเสริฐมาก คล้ายกับหงายหม้อกำลังคว่ำอยู่ ให้ปากชูขึ้นรับน้ำฝน แล้วจึงน้อมจิตใจของตนขอบวชในพระพุทธศาสนา เพราะอาศัยที่รู้ตัวว่าชั่วของพราหมณ์ ไม่ช้าพราหมณ์ก็ได้สำเร็จอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลเบื้องสูงในพระพุทธศาสนา

นี่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราควรจะศึกษากัน จงคิดว่าคนที่มีความโกรธก็คือคนบ้า บ้าในชีวิต บ้าในฐานะ เมาในศักดิ์ศรี ซึ่งมันไม่เป็นของดี ไม่เป็นของจริง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกขัง ถ้าเราเมา เราก็เป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา ในที่สุดเราก็ตาย จะแบกยศถาบรรดาศักดิ์ไปทางไหนกัน

เป็นอันว่าเรื่องของการเจริญพรหมวิหาร ๔ เป็นพระอรหันต์ง่าย เป็นอรหันต์เพราะเรารักตัวของเราเอง เราสงสารตัวของเราเอง เรารักตัวเรา ก็คือเราก็ไม่ทำความชั่ว เพราะความชั่วมันเป็นเหตุแห่งความเร่าร้อน เราสงสารตัวเรา เราก็ระวังไม่ให้ความชั่วมันเกิดขึ้น

ข้อที่สาม มีจิตอ่อนโยนคือ กำลังจิตไม่แข็งไม่กระด้าง ใครเขาทำดีทำชั่วช่างเขา เราพยายามรักษากำลังใจของเราให้บริสุทธิ์ อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งหมด อารมณ์ที่มันมาจากกระแสเสียงก็ดี มาจากอาการทางกายก็ดี ทั้งอารมณ์ภายนอกและอารมณ์ภายใน

อารมณ์ภายนอก หมายถึงว่า ตาสัมผัสรูป ไม่สนใจในรูป หูสัมผัสเสียง ไม่สนใจในเสียง จมูกสัมผัสกลิ่น ไม่สนใจในกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส ไม่สนใจในรส กายสัมผัสแตะต้อง ไม่มีความสนใจในการสัมผัส นี่เรียกว่าเป็นอารมณ์มาจากทั้งภายนอกและภายใน อารมณ์ภายนอก เราชอบใจในรูป ชอบใจในเสียง อารมณ์ภายในได้กำลังใจที่เข้าไปชอบ เห็นรูปสวยเราชอบ รูปเป็นอารมณ์ภายนอก ความรู้สึกเป็นอารมณ์ภายใน เราวางเสียให้หมด ถ้าเรารักตัวเรา

นี่ถ้าเราเจริญพรหมวิหาร ๔ จริงๆ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าเราจะรักใคร เราต้องรักตัวเราก่อน ถ้าเราสงสารเขา เราก็สงสารเราก่อน เราจะช่วยเขา ก็ช่วยตัวเราก่อน อย่างภาษิตโบราณท่านได้กล่าวว่า ถ้าจะเอาเตี้ยไปอุ้มค่อม มันก็ไม่มีความหมาย ต่างคนต่างเตี้ยด้วยกัน คนที่จะอุ้มคนขึ้นมาได้ให้มันพ้นพื้นดิน คนที่อุ้มต้องมีกายสูงกว่าใหญ่กว่าบุคคลที่ถูกการอุ้ม ฉันใด แม้แต่การปฏิบัติในพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็เหมือนกัน เราจะทำให้ชาวบ้านเขาเป็นสุข เราต้องทำใจของเราให้ถึงความสุขเสียก่อน

มาตอนนี้ เราก็มาพูดกันว่า เราจะทำอย่างไรล่ะ มันถึงจะสุขจริง ๆ ก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ทุกวันที่เราลืมตาขึ้นมา จงมองดูพรหมวิหาร ๔ เป็นอันดับแรก และก็ดูอิทธิบาท ๔ ดูบารมี ๑๐ ทั้ง ๔ ประการนี้ ให้มันอยู่ครบถ้วน และก็จรณะ ๑๕ จากนั้นไป จัดจิตใจให้มันสบาย แล้วก็มานั่งไล่เบี้ยสังโยชน์ ๑๐ ประการ

ตอนนี้เรามานั่งไล่เบี้ยกันแล้ว สังโยชน์ ๑๐ ประการเบื้องต้น คือ ๕ อย่างที่มีความร้ายแรงและหนักเราผ่านมาแล้ว ได้แก่ สักกายทิฏฐิ อันดับต้น มีความรู้สึกว่า เราจะตาย แล้วก็วิจิกิจฉา การสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีในเรา คำว่าไม่สงสัยหมายความว่า พระพุทธเจ้าห้ามอย่างไหน เราละอย่างนั้น ทรงสนับสนุนอย่างไหนปฏิบัติอย่างนั้น มีในเราแล้ว สีลัพพตปรามาส เรามีศีลบริสุทธิ์ กามฉันทะ เราตัดมันได้แล้วจากอนาคามี ปฏิฆะ อารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ คือ บุคคลใดเขาจะกลั่นแกล้งให้สร้างความโกรธ เราไม่โกรธในเขา ให้อภัยทาน อย่างนี้เราชนะมันแล้ว

ต่อแต่นี้ไปก็ไปทบทวนสังโยชน์อีก ๕ ประการ ที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอนุสัย อันเป็นกำลังใจที่คลำยากสักนิดหนึ่ง สังโยชน์ ๕ ประการหลังก็คือ

หนึ่ง รูปราคะ การหลงใหลใฝ่ฝันในรูปฌาน คือ เมาในการเข้าฌาน เห็นว่าการเข้าฌานนี่เป็นของประเสริฐ เป็นของเลิศ เป็นของดี พอที่จะโอ้อวดใครต่อใครเขาได้ว่า เราทรงฌานได้ดี ใช้เวลานาน การเมาในรูปฌาน อย่างนี้ไม่ดีแน่ เพราะว่า รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ทั้งสองประการนี้ เป็นแต่เพียงบันไดหรือเครื่องรองรับที่จะก้าวไปสู่พระนิพพาน ถ้าจิตใจของเรายับยั้งอยู่แค่รูปฌานแล้ว รูปฌานนั้นก็ใช้ไม่ได้

ท่านทั้งหลายถ้าจะทิ้งรูปฌานหรืออรูปฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้รูปฌานหรือได้อรูปฌานด้วยก็ตาม ได้ฌานอะไรก็ตาม จะต้องทรงฌานไว้เสมอ ไม่ใช่ว่าถ้าเราจะไม่เมาในรูปฌานและอรูปฌานแล้ว เราไม่เกาะรูปฌานและอรูปฌาน มันก็ไม่ถูก เรื่องฌานนี้ต้องเกาะ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังทรงใช้ ในสมัยที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระที่เป็นอรหันต์ทุกองค์ ก็ต้องทรงฌานเป็นปกติ

ตัวฌานของพระอริยเจ้าเรียกว่าโลกุตตรฌาน กำลังฌาน ฌานัง แปลว่า การเพ่ง หรือว่า การตั้งใจ กำลังใจพ้นจากสภาวะของโลก นั่นก็คือไม่ติดอยู่ในกามฉันทะ ไม่ติดในโลภะ ไม่ติดอยู่ในความโกรธ ความพยาบาท ไม่ติดอยู่ในความหลง เป็นกำลังฌานที่ตั้งใจตรงเฉพาะพระนิพพาน ฉะนั้น

การที่ไม่ติดในรูปฌานและอรูปฌาน แทนที่จะติดอยู่โดยเฉพาะว่ารูปฌานและอรูปฌานเป็นของดี สามารถทรงกำลังจิตให้มั่นคง จิตเราจะตั้งตรงไว้เฉพาะรูปฌานและอรูปฌาน อย่างนี้เราไม่เอา เราก็เปลี่ยนไปว่า ใช้กำลังใจให้เป็นฌาน แต่ฌานนี้อยู่ในอุปสมานุสสติกรรมฐาน คือ เอาอุปสมานุสสติกรรมฐานเข้ามาเป็นอารมณ์

อุปสมานุสสติกรรมฐานก็คือนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ เห็นว่าโลกนี้เป็นทุกข์ เทวโลกและพรหมโลกเป็นสุขจริง แต่สุขไม่นาน หมดบุญวาสนาบารมีเมื่อไหร่ ก็ต้องลงกลับมาเกิดกันใหม่ มันก็ยุ่งกันอีก เป็นทุกข์ เราไม่ต้องการ ฉะนั้นฌานในที่นี้ให้ตั้งไว้ในอุปสมานุสสติกรรมฐาน จิตใจมีความพอใจในพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้ชื่อว่าไม่หลงในรูปฌานและอรูปฌานนะ

ต่อไปก็มานะ การถือตัวถือตน ทรงตรัสว่าอย่าถือตัวเกินไป คำว่าถือตัวเกินไปนี่ไม่เกินพอดี ไอ้ตัวนี่ต้องถือ รักษาศักดิ์ศรีในฐานะของตน เวลานี้เราเป็นคน จะไปกินข้าวกับหมาน่ะมันไม่ได้ หรือว่าเราเป็นในฐานะพุทธศาสนิกชน ถ้าเราเป็นพระเราจะวิ่งเล่นกับเด็ก มันก็ไม่สมควร หรือว่าถ้าเราเป็นเณร เราจะกินข้าวเย็น ขึ้นต้นไม้เล่นเหมือนลิง มันก็ใช้ไม่ได้ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายเป็นผู้ทรงศีล จะทำตนอย่างกับชาวบ้านที่เขาปราศจากศีล นั่นก็ไม่ถูก

คำว่า ถือตัวนี่ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า อย่าถือตัวเกินไป คำว่าเกินไป มันก็แสดงว่ายังมีคำว่าถืออยู่ คือให้ถืออยู่ให้สมควรแก่ฐานะที่เราทรงอยู่ ไม่ใช่ไปรังเกียจชาวบ้าน เห็นว่าเราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีกว่าเขา คนนั้นชั่ว คนนี้ดี ปล่อยเขา เราทรงอารมณ์ไว้ตามอัธยาศัย ในฐานะที่เราเป็นนักพรต ทรงเนกขัมมะบารมี แปลว่าถือบวช

คำว่า เนกขัมมะบารมี แปลว่าถือบวชนี่ บวชจะห่มผ้าเหลืองหรือไม่ห่มผ้าเหลืองก็ได้ นุ่งผ้าลาย นุ่งผ้าสี ก็ได้ ถ้าใจเป็นพระ ใจปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าพระ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นมา ท่านเรียกว่าพระ คือ เริ่มเข้าเขตของความดีที่เรียกว่าประเสริฐ ฉะนั้น การถือตัวถือตนที่เรียกว่ามานะ จงวางเสีย แต่ว่าจงถือไว้แต่พอควร ให้สมควรแก่ฐานะของตน

ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระทศพล พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระพุทธเจ้าเป็นจอมอรหันต์ ท่านก็วางพระองค์ของท่าน ให้เหมาะสมในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ทรงถือสาหาความใคร ใครเอาอาหารดีมาให้พระองค์ พระองค์ก็ฉัน อาหารที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าเลว ให้มาแล้วพระองค์ก็ฉัน เวลาฉันก็ไม่เคยจะต้องหาแท่นที่ประทับเสมอไป ที่ไหนก็ได้

อย่างนางปุณณทาสีเอาแป้งจี่ คือ เอาปลายข้าวกับรำผสมกันตำให้แหลก ชุบน้ำ ทำเป็นแผ่นปิ้งแล้วก็ห่อชายพกมา เมื่อสวนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เธอถวาย สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงรับ ก็เห็นว่า เธอแก้ออกมาจากชายพกแล้วก็ใส่บาตร พระพุทธเจ้าก็รับ ไม่ได้รังเกียจ เธอก็นึกว่า พระพุทธเจ้าคงจะฉันของดีจากบ้านเศรษฐี มหาเศรษฐี ระหว่างเป็นมหากษัตริย์

สมเด็จพระบรมทรงสวัสดิโสภาคย์ ให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิตรงข้างทาง และก็ทรงฉันแป้งจี่เดี๋ยวนั้น นางปุณณทาสีดีใจเกือบตาย ในที่สุดฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเพียงแค่สั้นๆ เธอก็ได้พระโสดาบัน เห็นไหมล่ะ นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงถือพระองค์ว่าเป็นพระพุทธเจ้า วางลีลาให้เหมาะสม แต่ทว่าไม่ถือตัวเกินไป จนกระทั่งคนเขาให้อะไรตามทางก็ไม่รับ ให้ของเลวไม่กิน นั่นพอนางปุณณทาสีนึกเท่านั้น สมเด็จพระภควันต์ทรงนั่งที่ตรงนั้น แล้วก็ฉันเลย

อย่างนี้ถ้าเราจะมองกันไป สำหรับคนเมาในชีวิต เมาในศักดิ์ศรี จะเห็นว่า องค์สมเด็จพระมหามุนีนี้ น่ากลัวว่าจะไม่เป็นเรื่อง วางตนไม่เหมาะสม ฉะนั้น ความจริงท่านวางตัวเหมาะสมแล้ว ท่านไม่ได้ไปคลุกคลีกับนางปุณณทาสี ไม่ได้ไปจับมือถือแขน แต่ทว่าพระองค์ทรงโปรดปรานว่า เธอเป็นคนจน เธอทำบุญเท่านี้ก็ดีแล้ว ขึ้นชื่อว่าทำบุญทำกุศล ลูขัง วาปณียตังวา ของปราณีตก็ตาม หรือว่าของเลวก็ตาม ของราคาถูก ถ้าใจของท่านผู้ทำบุญมีจิตเป็นกุศลจริงๆ ก็มีอานิสงส์มาก นี่การวางตัว ก็ต้องดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค

และโดยเฉพาะอีกท่านหนึ่ง ก็คือ พระสารีบุตร พระสารีบุตรนี่เป็นเสน่ห์ของคนทุกชั้น ตั้งแต่คนแก่หงำเหงือก จนไปถึงเด็กเล็กๆ ท่านวางตัวสม่ำเสมอ เข้าไปในที่ใด ก็ทำตัวเสมอกับบุคคลนั้น เข้าไปบ้านไหนก็ตาม เด็กเล็กก็จูงหน้า ดึงแขน ดึงขา ดึงหน้าดึงหลัง บางคนก็ขี่คอ ห้อยคอ โหนคอ ก็ตามใจ พระสารีบุตรไม่ได้ว่าอะไร ท่านรักษากำลังใจของเด็ก ถือว่าเป็นคน เข้าถึงคน เป็นคนดี นี่การกระทำอย่างพระสารีบุตรนี้ ก็ควรจะเอาตัวอย่าง แต่ทว่าอย่าไปเล่นกับเด็ก เราแสดงถึงความเมตตากับเด็ก นี่เป็นการวางตัวนะ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่า เราหมดการถือตัวถือตน เป็นการตัดสังโยชน์มาถึง ๘ ข้อ ใกล้จะเป็นอรหันต์

ต่อไปองค์สมเด็จพระทศพลกล่าวว่า อุทธัทจะ ความฟุ้งของจิต เห็นไหมละ เคยบอกแล้วว่าเป็นอนาคามียังมีอารมณ์ฟุ้ง และการฟุ้งของอนาคามีนี่ ไม่ได้ฟุ้งลง มันฟุ้งขึ้นหรือฟุ้งทรงตัว ก็ได้แก่ ในการบางครั้งอาจจะมีอารมณ์คิดว่า เราทรงความเป็นอนาคามีแล้วนี่ องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์กล่าวว่า เราตายจากความเป็นคนแล้ว ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม เราก็บำเพ็ญบารมีนิพพานบนนั้น ดีไม่ดีจิตจะคิดสั้นลงไปนิดว่า ช่างมันเถอะเอาแค่นี้ก็พอ แต่ทว่าชีวิตของเรายังมีอยู่ เราจะรอเพื่อทำในการต่อไปนั้น ไม่สมควร การทำงานทุกอย่างให้เสร็จเสียเดี๋ยวนี้ นั่นแหละดี

ฉะนั้น อารมณ์ฟุ้งของพระอนาคามีมีแค่นี้ แล้วก็ตัดใจโดยเฉพาะ ใช้อุปสมานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ มีความนิยมว่า เราต้องการนิพพานในชาตินี้ จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่มุ่งหวังอะไรทั้งหมด มนุษย์โลกก็ดี พรหมโลกก็ดี เทวโลกก็ดี ไม่เป็นที่นิยมสำหรับเรา อย่างนี้ก็ถือว่าตัดอารมณ์ฟุ้งไปได้แล้ว สบาย

ต่อมา องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงตรัสว่า ตัดอวิชชา อวิชชานี่แยกเป็นธรรมะออกได้ ๒ อย่าง คือ ฉันทะกับราคะ ไม่ยาก ถึงตอนนี้ไม่อะไรยาก มันหมดแล้ว ฉันทะกับราคะ ก็คือ ฉันทะ มีความพอใจในความเป็นมนุษย์ มีความพอใจเป็นเทวดา มีความพอใจเป็นพรหม อันนี้ไม่มีสำหรับเรา ราคะ เห็นว่ามนุษยโลกสวย เทวโลกสวย พรหมโลกสวย ไม่มีสำหรับเรา เราต้องการพระนิพพาน

อารมณ์อย่างนี้ จะตัดได้อย่างไร ตัดได้เพราะอาศัยอารมณ์เมตตาจิต คือ มีอารมณ์เย็น หวนกลับเข้าไปตัดจุดเดียว ไม่ต้องตัดทั้งหมด คือ ตัดจุดเดียวที่สักกายทิฏฐิ มาพิจารณาร่างกายว่า ร่างกายมันเป็นเรา เป็นของเราหรือเปล่า ร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อธิบายมามากแล้ว มันเป็นธาตุ ๔ ธาตุ ๔ นี้ มันมีการเกิด แล้วก็มีการเสื่อม แล้วก็สลายตัว

เมื่อร่างกายนี้ มันไม่เป็นเรา ไม่เป็นของเรา แล้วร่างกายของคนอื่นล่ะ ถ้าเราไปรักเขา ไปแต่งงานกับเขา ไปอยู่กับเขา มันจะอยู่กันได้ ตลอดกาล ตลอดสมัยไหม และมีอะไรบ้างที่ร่างกายของเขา จะพยุงร่างกายของเราไม่ให้แก่ พยุงร่างกายของเราไม่ให้ป่วย พยุงร่างกายของเราไม่ให้ตาย พยุงร่างกายของเราไม่ให้มีทุกข์ มันทำได้ไหม มันทำไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่สนใจในมันเสีย จะสนใจทำไม ไม่ช้ามันก็พัง จะตายเมื่อไหร่ก็เชิญ เมื่อมันตายเสียได้เมื่อไหร่ เราไปนิพพานเมื่อนั้น

ขอบรรดาท่านบริษัททุกท่าน ในตอนนี้ต้องทบทวนสังโยชน์ ๑๐ ประการอยู่เสมอ เรียกว่าทบทวนกันทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทบทวนข้อต้นว่า ร่างกายไม่เป็นเรา ไม่ใช่เรา เพราะไม่ใช่เรานี่ เป็นธาตุ ๔ เป็นเพียงร่างที่อาศัยชั่วคราว แล้วเราจะเกาะมัน เพื่อประโยชน์อะไร มันเดินเข้าไปหาความตาย เราก็รู้ คนอื่นเขาตายให้เป็นครูถมไป ชาตินี้ชาติเดียวเป็นชาติสุดท้าย ที่เราจะเมากายแบบนี้ ร่างกายของคนอื่นเราก็ไม่ถือเป็นสาระ สมบัติทั้งปวงในโลกทั้งหมด ปรากฏว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ตายแล้วเอาไปไม่ได้ ปล่อยมันไป มันจะไปทางไหนก็ตามใจมัน จิตใจของเราก็ไม่มีการผูกพันในร่างกายของเราด้วย ไม่มีความผูกพันในร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ไม่มีการผูกพันในวัดถุธาตุทั้งหลายด้วย คิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มีชีวิตอยู่ก็ใช้มัน ตายแล้วก็เลิกกัน จิตก็เป็นสุข

อารมณ์ในตอนนี้ สำหรับอารมณ์ที่เข้าถึงอรหัตผล บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน อารมณ์จะมีความเบา จะกระทบกับอารมณ์อะไรทั้งหลายก็ตาม มันมีความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่งว่าเป็นธรรมดา ถูกเขาด่าก็ถือว่า คนที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่พ้นการนินทาด่าว่า เป็นธรรมดาของชาวโลก พอประสบกับคำสรรเสริญ ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่จิตใจไม่หวั่นไหว ใจปกติ ที่เขาบอกว่า บัณฑิตมีอารมณ์ไม่ขึ้นไม่ลง คือ ไม่หวั่นไหว ไม่โกรธ เขาด่าก็ไม่โกรธ เขาชมก็ไม่ยินดี เพียงเท่านี้แหละ บรรดาท่านพุทธบริษัท ขึ้นชื่อว่าพรหมวิหาร ๔ ช่วยให้ท่านเป็นอรหันต์ได้ สำหรับพรหมวิหาร ๔ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ จบแล้ว

ต่อแต่นี้ไป ขอสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อยู่ในอิริยาบถที่ท่านเห็นว่าสบาย เจริญสมถภาวนา พิจารณาและภาวนาไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี

พรหมวิหาร ๔     ตอนที่ ๑    ตอนที่ ๒    ตอนที่ ๓    ตอนที่ ๔    ตอนที่ ๕    ตอนที่ ๖    เสียงธรรม

เรื่องนี้ถูกเขียนใน พรหมวิหาร ๔ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร