พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๓

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๓
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      สำหรับอารมณ์จิตที่เป็นฌานในพรหมวิหาร ๔ ก็คือว่ามีอารมณ์อยู่อย่างนี้เป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหวต่ออาการใดๆ ที่เข้ามากระทบกระทั่งใจ แทนที่จะเกลียด แทนที่จะโกรธ เราก็ยังมีเมตตา ความรัก เรามีความกรุณา ความสงสาร มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาเขา เมื่อเขาพลาดพลั้งเราไม่ซ้ำเติม เฉย ถือว่าเป็นกฏของกรรม นี่ว่ากันโดยอาการของการทรงพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นฌาน

คำว่าฌานนี้ไม่ใช่นั่งหลับตา ฌานนั่งหลับตาน่ะ มันฌานไม่จริง ฌานจริงๆ นั้นก็คือว่า อารมณ์มันทรงอยู่เป็นปกติ หลับตาหรือลืมตา พูดอยู่ คุยอยู่ ทำงานอยู่ จิตใจเยือกเย็นมีความสุข ปรารถนาที่จะเกื้อกูลบุคคลที่มีความทุกข์ให้มีความสุข นี่ชื่อว่าฌานของพรหมวิหาร ๔ คือ อารมณ์ ๔ ประการนี่ต้องทรงตัว

 

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๓
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

ท่านโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้บรรดาท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว โปรดตั้งใจสดับเรื่องราวของพรหมวิหาร ๔ ต่อไป สำหรับการเจริญพระกรรมฐานเพื่อหวังมรรคผล หรือว่าเพื่อฌานสมาบัติ หรือว่าเพียงแค่จิตสงบ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน อย่าลืมกฎสำคัญในพระพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ว่า บุคคลใดที่คล่องในอิทธิบาท ๔ หมายความว่าเป็นผู้มีความชำนาญในอิทธิบาท ๔ บุคคลผู้นั้นจะทำอะไรก็ตาม จะมีผลสำเร็จทุกอย่าง

ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายที่ตั้งใจสร้างความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความดีที่ท่านทั้งหลายตั้งใจทำกัน นั่นก็คือ ความดีแห่งการหมดทุกข์ แต่ทว่าท่านทั้งหลายจงอย่าลืมความรู้สึกของท่าน คือ สติสัมปชัญญะและปัญญา ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะทำอะไร ใช้สติเป็นเครื่องระลึก ใช้สัมปชัญญะเป็นเครื่องรู้ตัว ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเสียก่อน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าแม้แต่การสอนพระกรรมฐาน เราสอนกันอยู่เป็นปกติ ฟังกันเป็นปกติ แต่ก็ยังมีความรู้สึกอยู่ว่า บางท่านขาดสติสัมปชัญญะอยู่มาก และบางรายก็ไร้ทั้งสติสัมปชัญญะและก็ปัญญา อาการที่แสดงออกมาจากการพูดก็ดี จากการกระทำก็ดี บางทีก็ทำให้คนอื่นคลายศรัทธาปสาทะ การผิดพลาดในการปฏิบัติในงานย่อมมีเป็นของธรรมดา แต่ทว่าถ้าหากว่าท่านผู้นั้นทำไปเพราะอาศัยไม่มีเจตนาร้าย ก็ยังไม่ควรจะติ

และอีกประการหนึ่ง การจะติ หรือการจะแนะนำ การจะเตือน ก็จงใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อน ว่าเราควรจะพูดอย่างไร ให้เพื่อนร่วมสำนักกันมีความเข้าใจว่า จริยาอย่างนั้นหรือการกระทำอย่างนั้นมันไม่ดี และก็ควรใช้วาจาประเภทสัมโมทนียกถา เราติแต่ว่าแกมชม หรือว่าชมแต่ว่าแกมติ ให้คนนั้นรู้สึกว่าการกระทำของเขาเป็นการทำผิด แต่ทว่าอย่าให้ถึงกับสะเทือนใจเกินไป เว้นไว้แต่ว่าถ้าใช้วาจาอย่างนี้ นิสัยคนหยาบย่อมไม่รับฟัง ไม่รับการปฏิบัติ นั่นจึงควรใช้วาจาที่หนัก เพราะว่านิสัยคนหยาบ ถ้าปลอบก็รู้สึกว่าจะไม่รู้สึกตัว ก็ต้องใช้ขู่ตะคอก นี่เป็นเรื่องธรรมดา

อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่าจริยาของเรามี ๒ อย่าง คือ นิคคัยหะ ปัคคัยหะ ถ้าใครดีเราก็ชมเชย ถ้าไม่ดีเราก็ข่มขู่ แต่ว่าจริยาที่องค์สมเด็จพระบรมครู ก่อนที่จะข่มขู่ด้วยอาการรุนแรง มักจะหาเหตุหาผลแวดล้อมมาพูดให้เข้าใจก่อน ถ้าไม่เชื่อ องค์สมเด็จพระชินวรก็ใช้ปัพพาชนียกรรม คือ ขับออกไปจากสถานที่ ดูตัวอย่าง เช่น พระวักกลิ เป็นต้น ซึ่งองค์สมเด็จพระทศพลทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้พระวักกลินั่งเฉย ๆ ชมเฉย ๆ อยู่ถึง ๓ ปี แต่ว่าพระวักกลิก็เอาความดีอะไรไม่ได้ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงลงโทษด้วยปัพพาชนียกรรม คือขับออกจากสำนัก

ฉะนั้น พวกเราเหล่าพุทธบริษัท คือ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทุกคนจงรู้ตัวของตนว่า วาจาที่กล่าวออกไปก็ดี และการที่เราทำออกไปก็ดี มันดีหรือว่ามันเลว การทำลายจิตใจของบรรดาเพื่อนสหธรรมมิกด้วยกัน ให้ท้อแท้จากการบำเพ็ญกุศล นี่ชื่อว่าใจของเราหมองหม่นด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลธรรม หรือจะว่ากันไปอีกที ก็ขาดพรหมวิหาร ๔ ซึ่งเรากำลังศึกษากันอยู่

สำหรับพรหมวิหาร ๔ นี้ เมื่อวันที่แล้วได้พูดมาถึง ลักษณะของพรหมวิหาร และให้ตั้งใจไว้ในขั้นพระโสดาบัน คือว่า พรหมวิหาร ๔ นี้ ท่านบอกว่าต้องทรงฌาน คำว่าทรงฌานในพรหมวิหาร ๔ นี่ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทพึงทราบ ไม่ใช่เราจะไปนั่งภาวนาว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้านั่งภาวนาอย่างนี้ล่ะก็ กี่แสนชาติ พรหมวิหาร ๔ ก็ไม่ทรงฌาน

สำหรับอารมณ์ที่จะทรงฌานให้เป็นปกติ นั่นก็คือ อานาปานุสสติกรรมฐาน เราจะควบกับพุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน หรือว่าอุปสมานุสสติกรรมฐาน ก็ได้ ตามใจชอบ เวลาที่เราต้องการทรงจิตสงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็ใช้อารมณ์มาคิด สำหรับพรหมวิหาร ๔ นี้จะมีการทรงฌานเพราะอาการคิด คือใคร่ครวญน้อมจิตจากอารมณ์ชั่วมาเป็นอารมณ์ดี อารมณ์ชั่วก็คือ ความโหดร้าย คิดจะประทุษร้ายบุคคลอื่น คิดจะกลั่นแกล้งบุคคลอื่น เกลียดชัง หวังจะทำให้เขามีความทุกข์ แต่ทว่า พรหมวิหาร ๔ นี่เป็นปัจจัยแสวงหาความสุขทั้งเราและทั้งเขา

ความจริงเรื่องพรหมวิหาร ๔ นี้ ดูเหมือนว่าผมจะพูดมาสักหลายสิบครั้งแล้ว แต่ว่ายังมีบางท่านที่เป็นผู้ไร้ปัญญา ไร้สติสัมปชัญญะ ยังใช้สติสัมปชัญญะก็ดี ปัญญาก็ดี และก็ปราศจากความใคร่ครวญพิจารณา ยังมีอยู่ อาการอย่างนี้น่าสงสารองค์สมเด็จพระบรมครู คือ พระพุทธเจ้าที่พร่ำสอนพวกเรามา กว่าจะได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ องค์สมเด็จพระพิชิตมารต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป จนกว่าบารมีจะเต็ม เอาความรู้อย่างนี้มาสอนเรา แต่ว่าถ้าพวกเราคนใดคนหนึ่งไม่คำนึงถึงความดี ที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสอน ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องกลับไปลงอเวจีมหานรกตั้งต้นกันใหม่

ต่อแต่นี้ไปจะกล่าวถึง วิธีการทรงฌานในพรหมวิหาร ๔ คือว่าจิตของเรามี ๒ อารมณ์ บางอารมณ์มันเป็นอารมณ์ชอบคิด บางคราวชอบคิด แต่บางคราวชอบสงบ

ถ้าเวลาที่จิตของเราต้องการความสงบ เราก็ยึดอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นพื้นฐาน ให้จิตทรงตัว แต่การที่ท่านจะภาวนาว่าอย่างไรร่วมด้วย อันนี้ผมไม่ห้าม เพราะว่าคำภาวนาเป็นเครื่องโยงจิตให้ทรงสมาธิ บางท่านไม่ต้องการภาวนา ก็ใช้แต่เพียงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ทั้ง ๒ แบบ คือ แบบมหาสติปัฏฐานสูตร หายใจเข้าหายใจออกรู้อยู่ หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ อย่างนี้ตามแบบมหาสติปัฏฐานสูตร

ถ้าตามแบบกรรมฐาน ๔๐ ใช้กำหนดรู้ลมหายใจ ๓ ฐาน เวลาหายใจเข้า ลมกระทบจมูก-รู้ กระทบหน้าอก-รู้ กระทบศูนย์เหนือสะดือ-รู้ เวลาหายใจออกลมกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูก หรือว่าริมฝีปากก็รู้ เอาจิตจับจุดเพียงแค่นี้ ประเดี๋ยวเดียวจิตก็ทรงฌาน ถ้าหากว่าจะภาวนาว่ายังไงด้วยก็ตามใจหรือไม่ภาวนาเลยก็ตามใจ ทำเพื่อให้จิตสงบ ให้จิตทรงตัว

ทีนี้บางขณะจิตต้องการคิด ในพรหมวิหาร ๔ ต้องใช้อารมณ์คิด คิดหาเหตุหาผลว่า คนและสัตว์ทุกคนในโลกนี้ มีเรา เป็นต้น ไม่ต้องการความทุกข์ เราต้องการแต่ความสุข เราไม่ต้องการศัตรู เราต้องการความเป็นมิตร เรื่องคิดไม่ต้องไปคิดถึงคนอื่น คิดถึงเรา กิริยาเช่นใดหรือวาจาเช่นใด ที่คนอื่นใดเขาทำกับเรา เราไม่ชอบ ก็จงมีความรู้สึกว่าอาการวาจาหรือกิริยาเช่นนั้น ถ้าเรากระทำกับคนอื่น คนอื่นก็ไม่ชอบเหมือนกัน

นี่การศึกษาธรรมะในศาสนาขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์ เขาสอน เขาคิดเข้ามาหาตัว เอาใจเราเป็นเครื่องวัด ว่าเราต้องการความเมตตาปรานีจากคนอื่นฉันใด บุคคลทั้งหลายก็ต้องการความเมตตาปรานีจากเราเหมือนกัน ตอนนี้เห็นว่าพอจะมีความเข้าใจ

ฉะนั้น อารมณ์ใจของเราก็คิดไว้เสมอว่า เราจะรักคนและรักสัตว์นอกจากตัวเราเหมือนกับเรารักตัวเรา เราจะสงสารเขาเหมือนกับที่เราต้องการให้คนอื่นเขาสงสารเรา เราจะรักเขาเหมือนกับที่เราต้องการให้เขารักเรา เราจะสงสารเขาคือผู้อื่นทั้งหมดเหมือนกับเราต้องการให้เขาสงสารเรา เราจะไม่อิจฉาริษยาใครเมื่อบุคคลอื่นใดใครได้ดี หรือว่าสมมุติว่าถ้าเรามีลาภสักการะ เรามีความดี ถ้าคนอื่นมาแสดงความยินดีด้วยเราก็พอใจ ฉะนั้นเวลาที่ใครเขาได้ดี แทนที่เราจะอิจฉาริษยา เราก็พลอยยินดีกับความดีของเขา ทำใจให้มันสบาย แบบนี้

และอีกประการหนึ่ง จะมีอะไรก็ตามทีที่มันมีอารมณ์ขัดข้องใจ เป็นไปตามสภาวะของโลก เช่น ความแก่ ความป่วย ความตาย อารมณ์ที่เราชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง การพลัดพรากจากของคนรักของชอบใจ มันเกิดขึ้น มันของประจำโลก ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา

โดยคิดไว้เสมอว่า เมื่อเกิดมาแล้วต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความแก่ไปได้ เราจะต้องมีความป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ เราจะต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความตายไปได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นไปได้

ทำใจให้มันมีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมดา หรือเมื่ออาการอย่างนั้นปรากฏขึ้น อารมณ์เราก็ปกติ ไม่มีการหวั่นไหวใดๆ ทั้งหมด มีอารมณ์เฉย ๆ ไม่กระทบกระทั่งใจ เป็นอันว่าอย่างนี้เรียกว่าอุเบกขา

หรือว่าโลกธรรมใด ๆ มันเกิดขึ้น ความมีลาภเกิดขึ้นหรือลาภสลายตัวไป การได้ยศมา ยศสลายตัวไป ความสุขจากกามารมณ์โลกีย์วิสัยเกิดขึ้น สุขนั้นสลายไปมีทุกข์มาแทน ได้รับคำนินทาหรือได้รับคำสรรเสริญ อาการอย่างนี้เกิดขึ้นกับเรา เราก็มีความเฉย ๆ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถือว่าเป็นธรรมดาของชาวโลก เกิดมาอย่างนี้ มันต้องกระทบกระทั่ง ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นไปได้ อย่างนี้ชื่อว่า พรหมวิหาร ๔ ของเราครบถ้วน

ถ้าเราถูกนินทาว่าร้าย แทนที่เราจะโกรธ เรากลับสงสารคนที่เขาว่าเรา เขานินทาเรา เพราะว่านั่นเขาสร้างศัตรู เพื่อสร้างความทุกข์ และก็นั่งคอยดูว่าคนเขานินทาว่าร้ายเรา เขาจะหาความสุขอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจิตใจของเราทรงพรหมวิหาร ๔ อยู่เป็นปกติ เขาคิดทำลายเราประเภทไหน อาการอย่างนั้นนั่นแหละ มันจะเข้าถึงกับเขาภายในไม่ช้า ที่โบราณท่านกล่าวว่า “การตบมือข้างเดียวไม่ดัง” หรือว่า “การถ่มน้ำลายรดฟ้า มันก็ลงหน้าตัวเอง” แทนที่เราจะโกรธ เรากลับสงสารว่าเขาไม่น่าจะทำเขาอย่างนั้น

สำหรับอารมณ์จิตที่เป็นฌานในพรหมวิหาร ๔ ก็คือว่ามีอารมณ์อยู่อย่างนี้เป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหวต่ออาการใด ๆ ที่เข้ามากระทบกระทั่งใจ แทนที่จะเกลียด แทนที่จะโกรธ เราก็ยังมีเมตตา ความรัก เรามีความกรุณา ความสงสาร มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาเขา เมื่อเขาพลาดพลั้งเราไม่ซ้ำเติม เฉย ถือว่าเป็นกฏของกรรม นี่ว่ากันโดยอาการของการทรงพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นฌาน

คำว่า ฌาน นี้ไม่ใช่นั่งหลับตา ฌานนั่งหลับตาน่ะ มันฌานไม่จริง ฌานจริง ๆ นั้นก็คือว่า อารมณ์มันทรงอยู่เป็นปกติ หลับตาหรือลืมตา พูดอยู่ คุยอยู่ ทำงานอยู่ จิตใจเยือกเย็นมีความสุข ปรารถนาที่จะเกื้อกูลบุคคลที่มีความทุกข์ให้มีความสุข นี่ชื่อว่าฌานของพรหมวิหาร ๔ คือ อารมณ์ ๔ ประการนี่ต้องทรงตัว จะทรงตัวได้เพราะอะไร เพราะว่าใจของเราทรงอิทธิบาท ๔ คือ

ฉันทะ เรามีความพอใจในพรหมวิหาร ๔

วิริยะ อาการอย่างไรที่เขาจะขัดข้อง คือความโหดร้ายของใจมันจะมีขึ้น อารมณ์อิจฉาริษยามันจะมีขึ้น อย่างนี้เราต้องใช้วิริยะ ความเพียร เตือนใจว่านั่นมันเป็นความเลวของจิต มันไม่ใช่สถานะที่สร้างความเป็นมิตร สร้างความสุข หาความทุกข์มาให้ตน อารมณ์ที่เป็นอกุศลอย่างนี้ จะต้องไม่มีสำหรับเรา เพียรทำลายมันเสีย

จิตตะ เอาใจจดจ่อ มีความรู้สึกนึกอยู่เสมอในเรื่องของ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่าไปท่องแบบนี้นะ เรื่องของความรัก ความสงสาร ความไม่อิจฉาริษยาใคร ใจวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง

ดูตัวอย่างพระพุทธรูป ทำใจของเราให้เหมือนใจพระพุทธรูป พระพุทธรูปท่านยิ้มตลอดเวลา หนาวก็ยิ้ม ร้อนก็ยิ้ม ใครเขาเอาอะไรไปถวายก็ยิ้ม เขาไม่ถวายก็ยิ้ม เขาด่าท่านก็ยิ้ม เขาชมท่านก็ยิ้ม พระพุทธรูปไม่มีจิตวิญญาณ แต่ทว่าเราที่มีจิตวิญญาณ ควรทำอาการของใจ คือวางเฉยเช่นเดียวกับพระพุทธรูป

นี่ว่ากันถึงอารมณ์ของการทรงฌานของพรหมวิหาร ๔ แต่ว่าการทรงฌานเพียงเท่านี้ยังดีไม่พอ เพราะอะไร ดีไม่ได้ ยังไม่ใช่พระอรหันต์หนิ นี้เราก็ต้องทรงให้มันดีไปกว่านั้น

ทีนี้เมื่อกี้นี้เราพูดคำว่าเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร ต่อแต่นี้ไปเราก็มาสร้างความรัก สร้างความสงสารในตัวเราให้มาก ทำอารมณ์ก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอนาคามี สำหรับพระสกิทาคามีนี่ผมไม่พูดถึง ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าคนที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ถ้าทรงพรหมวิหาร ๔ จริง ๆ นี่ การเป็นพระโสดาบันกับสกิทาคามีอยู่ในกระเป๋า ไม่ต้องมีอะไรมาก พระอริยะ ๒ ระดับนี้อยู่ในกระเป๋าแน่นอน เป็นอันว่าได้กันแน่ ไม่มีทางที่จะหลีกพ้นไปได้

ถ้าหากว่าทรงพรหมวิหาร ๔ จริง ๆ นะ ต้องเป็นพระอริยเจ้าขั้นนี้ได้จริง ๆ ถ้าทรงไม่จริง มันก็ลงนรกกันเท่านั้นแหละ ขาดพรหมวิหาร ๔ ตัวใดตัวหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรหมวิหาร ๔ นี่ถ้าเราพร่องตัวใดตัวหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง นั่นคือเราลงนรกแน่ พรหมวิหาร ๔ ผมได้บอกแล้วว่าเป็นอาหารเลี้ยงจิตในด้านศีล เลี้ยงสมาธิ เลี้ยงปัญญา เป็นอันว่าการเจริญพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นพระอรหันต์ง่ายที่สุด ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ามีแต่สภาพเย็น

ต่อไปเราก็มานั่งคิดเมตตาใจของเรา เมตตา คือรักใจเรา กรุณา สงสารใจเรา มุทิตา คือพลอยยินดีกับใจของเรา อุเบกขา วางเฉยกับใจของเรา

ผมพูดแบบนี้นี่ ดีไม่ดีนักปราชญ์เขาจะหาว่าผมบ้า แต่ความจริงผมก็พร้อมแล้วที่จะยอมรับความเป็นบ้า เพราะอะไร เพราะผมบ้ามานานแล้ว ผมเป็นคนชอบบ้า บ้าแบบไหน ประเดี๋ยวจะคิดว่าออกนอกลู่นอกทาง ถ้าอาการอย่างใดที่ชาวโลกเขาต้องการกัน ถ้าอาการอย่างนั้นเราไม่ทำอย่างเขา เขาก็หาว่าเราบ้า อย่างคนเขากินเหล้าเราไปนั่งพูดธรรมะ เขาก็หาว่าเราบ้า คนเขาคุยธรรมะกันอยู่ เราไปกินเหล้าในวงธรรมะ เขาก็หาว่าเราบ้า อาการอย่างไรถ้าไม่เหมือนสังคมนั้น ๆ เขาก็หาว่าเราบ้า

ตอนนี้เราก็มาบ้ากัน บ้ารักใจตัวเอง บ้าสงสารใจตัวเอง บ้ายินดีกับใจของตัวเอง บ้าวางเฉยกับใจของตัวเอง บ้าตรงไหนล่ะ เราก็มานั่งเมตตาจิตของเราว่า โอหนอ การปรารถนาในกามารมณ์ ปรารถนาในการครองคู่ ที่เขาถือว่าการแต่งงานเป็นความสุขน่ะ เราต้องพิจารณาดูซิ คนที่เขาแต่งงานน่ะมันสุขหรือว่ามันทุกข์ ดูคนที่เขาแต่งงานแล้วกิจการงานมันก็ต้องเพิ่มขึ้น ก่อนที่เขาจะแต่งงานกัน เขาเลือกแล้ว สวยแล้ว ดีแล้ว วิเศษแล้ว แข็งแรงดีแล้ว แต่ว่าแต่ละคนทรงสภาพอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่ช้าก็แก่ลงไปทุกวัน ๆ และคู่วิวาห์นั้น เขานั่งยิ้มกันอยู่ตลอดวันตลอดคืนหรือเปล่า ดีไม่ดีแกก็นั่งทะเลาะกันให้เราฟัง ถ้าเขามีลูกมีหลานขึ้นมา มันสร้างความสุขหรือว่าสร้างความทุกข์ หาความจริงก็แล้วกัน

ดูของจริง คือของจริงเขามีให้เราดู ว่าคู่วิวาห์แต่ละคู่น่ะ เขาสุขหรือว่าเขาทุกข์ มองหากันเอง อยู่คนเดียวทำอะไรได้ตามใจชอบ ถ้ามีคู่ครอง เราจะต้องเอาใจคู่ครอง จะทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างตามใจเราชอบไม่ได้ แล้วคู่ครองทุกคู่เขาเคยทะเลาะกันมั๊ย คู่ครองทุกคู่เคยต้องลำบากยากเย็นเพราะอำนาจของคู่ครองมีมั๊ย การมีบุตรมีธิดาน่ะมันมีความสุขหรือความทุกข์ มีบุตรธิดาคือมีลูกหญิงลูกชาย เป็นอันว่าอาการทั้งหลายเหล่านี้เป็นอาการของความทุกข์ ถ้าไม่รู้จักทุกข์ล่ะก็ ไปนั่งจ้องมองดูเขา

แล้วก็มาตัดสินใจกำลังใจเรา ว่าเราจะมาหลงใหลใฝ่ฝันกับกามารมณ์ด้วยเรื่องอะไร เพราะร่างกายของคนมีสภาพสกปรก หันเข้าไปจับกายคตานุสสติกรรมฐาน และก็หันเข้าไปจับอสุภกรรมฐาน ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ตอนนี้เห็นจะไม่ต้องว่ามาก จนกระทั่งกำลังใจของเราคิดว่า คนทุกคนมีร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายเต็มไปด้วยสภาพสกปรก การอยู่สองครองคู่เต็มไปด้วยความทุกข์ มันหาความสุขไม่ได้ เราจะปล่อยใจของเราให้ไปหลงระเริงอยู่ในกามารมณ์เพื่อประโยชน์อะไร

ถ้าเรารักใจของเรา เราก็ห้ามใจมันไว้ว่า สิ่งนี้มันเป็นทุกข์ ถ้าเราสงสารใจของเรา เราก็ห้ามใจมันไว้ว่า อย่าไปยุ่งกับความทุกข์ มันไม่ใช่แดนของความสุข ถ้าเราสามารถห้ามมันได้ จิตมันทรงตัว จนกระทั่งไม่มีอารมณ์เข้าไปเกี่ยวข้อง เราก็ยินดีกับจิตของเราที่เรียกว่ามุทิตา ต่อมาก็ใช้สังขารุเปกขาญาณ คือ อุเบกขา วางเฉย จนกระทั่งอารมณ์ของเรามีความรู้สึกว่า เห็นเพศตรงกันข้าม เราไม่มีความรู้สึกนึกจะรักอยากจะครองคู่ แต่จิตเมตตาจิตสงสารมีอยู่ ปรารถนาจะเกื้อกูลเขาให้มีความสุขในฐานะที่ทรงตัว

ถ้าจิตใจของท่านทั้งหลายสามารถทรงได้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเข้าไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ในการที่จะเป็นพระอนาคามี อย่าลืมนะ ค่อย ๆ ทำไปไม่ง่าย ถ้ามันไม่แน่ใจ ก็ต้องหันไปจับกายคตานุสสติกรรมฐาน กับอสุภกรรมฐาน กับสักกายทิฏฐิ บวกกัน ถอยหลังไปฟังตอนต้น ๆ ก็แล้วกัน พูดไปมันก็มากความเปล่า ๆ อธิบายมาแล้ว

เอาล่ะ บรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว เวลานี้เวลาที่จะพูดหมดไปแล้ว ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อยู่ในอิริยาบถที่ท่านต้องการ เห็นว่ามันเป็นความสุข จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร สวัสดี.

พรหมวิหาร ๔     ตอนที่ ๑    ตอนที่ ๒    ตอนที่ ๓    ตอนที่ ๔    ตอนที่ ๕    ตอนที่ ๖    เสียงธรรม

เรื่องนี้ถูกเขียนใน พรหมวิหาร ๔ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร