สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๔ คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๔
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม-ปกิณกะธรรม

สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกะธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑.อย่าทิ้งการระลึกนึกถึงอนุสสติ ๑๐ ประการ ให้พิจารณาและใคร่ครวญอยู่เสมอ จักทำให้จิตทรงตัวอยู่ในความดี และมีความมั่นคงในพระนิพพานยิ่งๆ ขึ้นไป (อนุสสติ ๑๐ คือ พุทธา ธัมมา สังฆา สีลา จาคา เทวตา กายคตา มรณา อุปสมา และอานาปา)

๒.การฟังเทศน์ ฟังธรรมโดยใช้อิทธิบาท ๔ หลวงพ่อฤๅษีท่านเทศน์ตอน ๐๔.๐๐ น.ความว่า

(๑) การเจริญสมาธิ อย่าไปสนใจว่าจะได้ฌานอะไร เพราะตัวอยากนำหน้าเป็นกิเลส ผลจะไม่ได้ดี

(๒) ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์สันโดษ ทำให้ดีที่สุด ได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น รักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุขเป็นสำคัญ อย่าให้ขาดทุน

(๓) การปฏิบัติจริงๆ คือ ทำอารมณ์ปัจจุบันให้ดีเข้าไว้ ให้อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา อย่าให้ออกนอกทาง แล้วทุกอย่างจะดีเอง

(๔) การพิจารณาเป็นธรรมด้วยอิทธิบาท ๔ ให้พิจารณาตามแนวนี้ คือ
ฉันทะ ปฏิบัติได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น อย่าให้ขาดทุน(สันโดษ)
วิริยะ ทำความเพียรให้ดีที่สุดในทางสายกลาง ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป (ใช้พรหมวิหาร ๔ เป็นหลัก)
จิตตะ เอาจิตจดจ่อเป็นสมาธิอยู่กับพระธรรมนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ระวังอย่าให้เรื่องอื่นเข้าแทรก
วิมังสา ใช้ปัญญาใคร่ครวญตามพระธรรมนั้นๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ในปัจจุบันนั้น

๓.อย่าไปสนใจกับจริยาของผู้อื่น ให้พึงเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น สาระสำคัญนั้นไม่มี แล้วหันมาดูใจตนเองให้มาก ด้วยการระมัดระวังใจ อย่าเผลอไปในด้านไม่ดี และอย่าไปให้ความสนใจสิ่งภายนอก ให้ตัดลงตัวธรรมดาให้มาก

๔.ไม่มีใครหลีกเลี่ยงกฎของกรรมไปได้ ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ นี้อยู่ อาทิเช่น ฟันหักเกิดขึ้นกับร่างกายก็เป็นธรรมดา พึงจะต้องยอมรับว่า จักต้องมีการเสียเงินค่าทำฟันปลอมขึ้นมาใหม่ เป็นของธรรมดาเช่นกัน และการต้องเสียเงินก็เป็นความทุกข์ นี้เป็นอริยสัจที่ควรฝึกจิต

ให้ยอมรับนับถือว่า ขันธ์ ๕ นี้ย่อมพร่องอยู่เป็นนิจ เป็นกฎธรรมดาที่มันย่อมเสื่อมลงไปทุกๆ ขณะ แล้วในที่สุดมันก็ต้องตาย ให้พึงทำใจเหมือนกับยอมรับว่า ฟันซี่นี้มันจักต้องหักเป็นธรรมดา ทรัพย์จำเป็นต้องจ่ายก็ต้องจ่าย อย่าไปมีอารมณ์เสียดาย เพราะถึงวาระจำเป็นที่จะต้องเสียทรัพย์ ก็ต้องเสียทรัพย์เป็นธรรมดา

๕.ทำอะไรก็จงอย่าใจร้อน ให้ค่อยๆ ทำไป พร้อมทั้งพิจารณาดูว่า ควรหรือไม่ควรที่จักทำอย่างนั้น และเมื่อมีความใจเย็นบวกกับการพิจารณาอย่างรอบคอบ งานทั้งหมดก็จักออกเป็นผลดีเสียส่วนใหญ่ ทุกอย่างต้องใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนแล้วจึงทำ ในเมื่อใจเย็นก็จักเห็นผลของงานที่ออกมาเป็นที่น่าถูกใจ

และจงอย่าห่วงงานที่ค้างอยู่ เพราะไม่มีใครสามารถทำงานทางโลกได้เสร็จสมบูรณ์ ทำแล้วก็ต้องเวียนกลับมาทำซ้ำใหม่ จักช้าหรือเร็วเท่านั้น ให้ทำใจเย็นๆ และทำงานไปตามอัธยาศัย ในทางสายกลาง ผ่อนสั้น ผ่อนยาว แล้วทุกอย่างก็จักดีเอง ความลุล่วงของงานก็จักปรากฏ

๖.ร่างกายไม่มีแก่นสารก็จริงอยู่ แต่ในขณะที่จิตนี้ยังอาศัยร่างกายอยู่ เป็นที่พักพิง เป็นที่อาศัย และหาความรู้ให้เท่าทันขันธ์ ๕ จึงจำเป็นที่จักต้องมี เพื่อประโยชน์ในการบำรุงธาตุ มิใช่ทำอะไรไปตามกิเลส โดยไม่รู้เท่าทันธาตุ ก็บังเกิดความเบียดเบียน ทำให้ธาตุบกพร่อง ธาตุชำรุด สร้างทุกขเวทนาให้เกิดกับร่างกายโดยใช่เหตุ และเมื่อร่างกายเกิดทุกขเวทนา ก็ย่อมทำให้จิตผู้มีสภาพรู้ต้องพลอยเวทนาไปด้วย

๗.ให้รักษากำลังใจ ทำทุกอย่างโดยไม่หวังผลตอบแทน ดังนั้นจึงพึงทำใจปล่อยวางใน ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ด้วย ให้เห็นธรรมดาให้มากที่สุดเท่าที่จักเห็นได้ และพึงจำไว้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่กับความเสื่อม แล้วดับไปในที่สุด จงจำประโยคนี้เอาไว้ให้ดีๆ จำจนขึ้นใจแล้วนำไปเจริญเป็นวิปัสสนาญาณ อันแปลว่าญาณเป็นเครื่องรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

จงรู้จักไตรลักษณ์แล้วปล่อยวางไตรลักษณ์ อย่าไปเสียใจกับไตรลักษณ์ ให้เห็นไตรลักษณ์เป็นเรื่องธรรมดา จงจำไว้ว่าจักทำเพื่อละ เพื่อปล่อย เพื่อวาง จงอย่าเกาะสิ่งใดๆ ในโลกนี้ หรือโลกหน้า โลกพรหม โลกเทวดา จงอย่าเกาะ ให้เห็นปกติธรรมของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในความเสื่อม แล้วก็ดับไป

เมื่อฟังคำสอนถึงจุดนี้แล้วก็คิดว่า ร่างกายเสื่อมนี้เป็นธรรมดาที่แก้ไขไม่ได้ แต่จิตที่เสื่อมอยู่นี้ ควรจะแก้ไขอย่างไร

ทรงตรัสว่า กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ให้พิจารณาดูว่าอะไรเป็นต้นเหตุของการเสื่อมของจิต แล้วนำต้นเหตุนั้นมาพิจารณาตามความเป็นจริง ให้จิตยอมรับนับถือกฎของกรรม แล้วจักแก้ไขต้นเหตุที่ทำให้จิตเสื่อมได้

๘.การมีอารมณ์เบื่อหน่าย ก็ควรจักเบื่อหน่ายตามความเป็นจริง มิใช่เบื่อหน่ายด้วยความเศร้าหมองหดหู่ของจิต การเบื่อหน่ายจักต้องวางอารมณ์ให้ถูก ศึกษาอารมณ์ให้ดีด้วย จักได้รู้ว่าอารมณ์ที่แท้นั้นเป็นอย่างไร การนี้จักทำให้การปฏิบัติทางจิตก้าวหน้าขึ้น

 

รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น

 

สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๑-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๒-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๓-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๔-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๘
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๐
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๑
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๔
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๕

เรื่องนี้ถูกเขียนใน คำสอนสมเด็จองค์ปฐม และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร