คำสอนสมเด็จองค์ปฐม-ปกิณกะธรรม
สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกะธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้
๑.ร่างกายที่เห็นอยู่นี้ อยู่ได้เพราะธาตุ ๔ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ทั้งภายนอก-ภายใน และเป็นภาระที่หนักหนา (ภาราหะเวปัญจักขันธา) อันทำให้จิตต้องดิ้นรนเสาะหาปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงห่อหุ้มร่างกายนี้ บุคคลใดเห็นทุกข์ของการมีภาระอันเนื่องจากร่างกายนี้ บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงอริยสัจข้อต้น และจากการพิจารณาจนเห็นสาเหตุของจิตดิ้นรนด้วยตกอยู่ในห้วงของ กามตัณหา-ภวตัณหา-วิภวตัณหา ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงอริยสัจข้อสมุทัย และเมื่อได้ปฏิบัติในมรรคปฏิปทาอันมีองค์แปด หรือศีล-สมาธิ-ปัญญา จนจิตเข้าถึงนิโรธ ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงอริยสัจ ๔ อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นบุคคลใดทิ้งอริยสัจ ๔ บุคคลนั้นไม่สามารถที่จักเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้เลย
๒.การเจ็บป่วยไม่สบายเป็นกฎของธรรมดา เพราะไม่มีใครหนีการเจ็บไข้ไปได้ ให้พยายามแยกกาย แยกเวทนา แยกจิต(เจตสิกหรืออารมณ์ของจิต) แยกธรรมหรือกรรม ว่าไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา เราคือผู้อาศัยในสิ่งเหล่านี้อยู่ ก็ให้สักแต่ว่าเป็นเพียงผู้รู้ เป็นเพียงผู้อาศัย อย่าไปยึดมาเป็นตัวตนของใคร เพราะสิ่งเหล่านี้มีเกิดขึ้นมาได้ เพราะการมีร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไม่มีร่างกาย ความร้อน-หิว-กระหาย-เจ็บป่วย-ไม่สบาย-การถูกกระทบกระทั่งใจก็ไม่มีแล้ว อะไรเป็นเหตุของการมีร่างกาย ต้นเหตุคือตัณหา ๓ กามตัณหา-ภวตัณหา-วิภวตัณหา ในเมื่อความเป็นจริงของร่างกายเป็นเช่นนี้ เราไปฝืน ไม่อยากให้มันเป็นไป ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะความโง่ที่ไม่รู้เท่าทันสภาวะธรรม หากขยันพิจารณาธรรมจุดนี้ให้ดีๆ อย่างต่อเนื่อง สักวันหนึ่งข้างหน้าก็จักตัดอารมณ์ของการเป็นทาสของตัณหาได้
๓.จิตที่ไปติดข้องอยู่กับกรรม จึงต้องไปเสวยกรรมดีและกรรมชั่ว สภาวะกรรมหรือธรรม เกิดแล้วก็ดับไป จิตที่ยังเกาะกรรมดี คือ บุญ ก็ไปสู่สุคติ คือสวรรค์-พรหม เป็นต้น จิตที่เกาะกรรมชั่ว คือ บาปอกุศล ก็ไปสู่ทุคติ คืออบายภูมิ ๔ จึงเวียนว่ายตายเกิดไปตามกฎของกรรมที่ตนกระทำไปนั้นๆ สำหรับพระอรหันต์ ชื่อว่าหมดกรรม เพราะท่านเห็นทั้งสภาวะโลก และ สภาวะธรรม ล้วนไม่เที่ยง เกิด-ดับๆ อยู่อย่างนั้น กรรมที่เป็นอกุศลท่านไม่ทำอีกต่อไป หมดกรรมเพราะไม่มีการจุติเกิดขึ้นกับท่านอีก ทุกอย่างท่านทำไปตามหน้าที่ สงเคราะห์คน-สัตว์ ชี้หนทางพ้นทุกข์ เผยแพร่ธรรมไปตามหน้าที่ แต่ท่านหาได้ติดอยู่ในบุญเหล่านี้ไม่ บุญหรือบาปก็ไม่ข้องอยู่ กรรมก็ไม่ข้องอยู่ ยังมีร่างกายอยู่กฎของกรรมเก่าๆ ตามมาสนองก็เรื่องของมัน บุญหรือบาปไม่มีสิทธิ์ที่จักนำท่านไปเกิดอีก
๔.อนึ่ง คำว่า จิตไม่ใช่เรา จุดนี้คือนาม หรือเจตสิก อันมี เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ (ทรงอธิบายถึงกาย(รูป)-เวทนา-จิต-ธรรม ซึ่งไม่เที่ยงเกิดดับๆ ตลอดเวลา คำว่าจิต คือเจตสิกหรืออารมณ์ของจิต มิใช่ตัวจิต หรือนาม ๔ ตัวที่อาศัยรูปอยู่ ซึ่งจริงๆ ก็คือขันธ์ ๕ หรือร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยรูปหนึ่งกับนามอีก ๔ คือ เวทนา-สัญญา-สังขาร และวิญญาณ) ธรรมอีกจุดหนึ่งที่เข้าใจยาก คือ อทิสสมานกายนี้ไม่ใช่เรา ธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นปัจจัตตัง ปฏิบัติถึงแล้วจึงจะรู้ได้เอง หรือถึงแล้วรู้เอง ยังไม่ถึงก็ยังรู้ไม่ได้จริง และรู้ได้เฉพาะตนของใครของมัน ตามระดับของจิตในจิต และธรรมในธรรม ผมขออนุญาตอธิบายว่า ให้ยึดพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลัก เพราะเที่ยงแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงอีก ที่ทรงตรัสไว้ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา
เรื่องกายของจิต หรือรูปในนามนี้ก็เช่นกัน ทรงตรัสเป็นสมมุติธรรมว่า อทิสสมานกาย กายของจิต หรืออทิสสมานกายนี้มันก็ไม่เที่ยง ตราบใดที่ยังตัดกิเลสไม่หมดเป็นสมุจเฉทปหาน คือสังโยชน์ ๑๐ ประการยังไม่หมด หรือความโลภ-โกรธ-หลงยังไม่หมด หรือตัณหา ๓ ยังไม่หมด อทิสสมานกายก็ยังไม่เที่ยง ยังเปลี่ยนแปลงไปตามกรรมที่จิตทำไว้ เช่น อทิสสมานกายเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรืออบายภูมิ ๔ ในฝ่ายกรรมชั่วที่เป็นอกุศล ในฝ่ายกรรมดีที่เป็นกุศล อทิสสมานกายก็เปลี่ยนแปลงไปตามกรรมดี เป็นมนุษย์-เป็นเทวดา-เป็นนางฟ้า-เป็นพรหมตามกรรมดี ก็ล้วนยังไม่เที่ยง ไม่ทรงตัว ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเราไม่ได้ จนกว่าจิตดวงนั้นจะอยู่เหนือกรรม ทั้งดี ทั้งชั่วอย่างถาวร มิใช่ชั่วคราว แค่หลุดพ้นได้ชั่วคราวเป็นปทังควิมุติ เช่น ระงับนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้ชั่วคราว จิตเป็นฌาน เป็นสมาธิ แต่ยังฆ่ายังตัดกิเลสไม่ได้จริงๆ
ขอสรุปว่า พระอรหันต์เท่านั้นที่จิตท่านพ้นดี-พ้นชั่วอย่างถาวร จิตท่านก็มีสิทธิ์เข้าสู่แดนพระนิพพานได้อย่างถาวรเช่นกัน อทิสสมานกายของท่านจึงจะเที่ยง ไม่มีเปลี่ยนแปลงอีก เป็นพระวิสุทธิเทพ เทพที่มีอทิสสมานกายบริสุทธิ์คงทน-ถาวร-มั่นคง เที่ยงตลอดกาล ภูมิจิต-ภูมิธรรมของผม มีแค่ระดับสัญญาและปัญญา ยังมิใช่ตัวปัญญาแท้ๆ ยังมีสัญญาปนอยู่ เพราะยังตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการไม่ได้หมด ก็อธิบายได้แค่นี้
๕.สถานที่วิเวกก็มีความสำคัญในการปฏิบัติธรรม จิตที่มีสมาธิคือจิตวิเวกที่ต้องอาศัยสถานที่วิเวกด้วย จึงจักมีความตั้งมั่นอยู่ในใจ ฟังอะไรก็รู้เรื่อง ไม่เสียสมาธิไปกับเสียงจ๊อกแจ๊กจอแจ แต่ก็พึงเห็นเป็นของธรรมดา เลี่ยงได้ก็พึงเลี่ยง แต่ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ ก็จำเป็นที่จักต้องชน ชนในที่นี้ มิได้หมายความถึงการไปสู้รบตบมือ หรือไปพอใจหรือไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่สับสนวุ่นวายนั้น แต่หมายถึง รักษาอารมณ์ของใจให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา จิตสงบ จิตเป็นสุข ไม่ดิ้นรนเดือดร้อนไปด้วยกรณีทั้งปวง
อนึ่งให้รู้ความสำคัญในความวิเวกนั้น มีความสำคัญในการปฏิบัติมากขนาดไหน พึงดูตถาคตเจ้าก่อนที่จักบรรลุอภิเษกพระสัมมาสัมโพธิญาณ พระปัญจวัคคีย์ได้หลีกห่างออกไป ทรงอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว พราหมณ์ถวายหญ้าคาเป็นที่รองนั่ง หลังจากรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาแล้ว สถานที่นั้นก็วิเวก มิได้ประกอบด้วยคนหมู่ใหญ่ เมื่อกำหนดกายตั้งตรง กายก็วิเวก ปราศจากกิจอื่นๆ ที่ต้องทำโน่นทำนี่อีก แล้วดำรงจิตให้มั่นกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก จุดนี้จิตก็วิเวกอีก จึงต้องมีความสำคัญในการบรรลุโมกขธรรม
ที่ตรัสนี้เพื่อให้พวกเจ้าได้พิจารณาและปฏิบัติตามแบบอย่างจึงจักได้ผล หากยังชมชอบคลุกเคล้าอยู่ด้วยคนหมู่มาก ด้วยเพลิดเพลินไปด้วยคำสรรเสริญหรือนินทา หรือการสนทนาธรรม ด้วยอารมณ์ปรุงแต่ง จุดนั้นกายปราศจากการวิเวก วจีกรรมก็มาก เพราะมโนกรรมเป็นผู้ปรุงแต่งคำพูดออกมา ความสงบของใจก็ไม่มี การปฏิบัติก็บรรลุได้ยาก ตรัสเท่านี้ก็ให้พิจารณาดูตัวเอง ดูกาย ดูวาจาของตนเอง อย่าลืมมโนเป็นใหญ่ กายกับวาจาย่อมมีใจเป็นผู้บงการ ดีหรือเลวก็สำเร็จที่ใจนั่นแหละ
๖.ให้เห็นธรรมดาของคนอันแปลว่าวุ่นวาย และเป็นธรรมดาอยู่ดีที่คนเมื่อได้ยินที่ไหนว่ามีของดี มีพระดีก็จักแห่ไปที่นั่น แล้วคนมีมารยาทก็มีมาก คนไม่มีมารยาทก็มีมาก การรู้กาลเทศะก็มิใช่ว่าจักมีได้ง่ายในคน เรื่องเหล่านี้จักต้องใช้การพิจารณา แล้วหมั่นปล่อยวาง อย่าไปคิดหรือกล่าวตำหนิเอาไว้ในใจ จักไปเอาอะไรกับคน เสียผลของการปฏิบัติธรรมเปล่าๆ
๗.ให้มั่นใจในพุทธคุณ-ธรรมคุณ-สังฆคุณ ปัญหาใดๆ ถ้าหากไม่เกินวิสัยในกฎของกรรม ให้ขอบารมีพุทธคุณ-ธรรมคุณ-สังฆคุณ ย่อมขจัดปัดเป่าแก้ไขได้ พุทธคุณ คือคุณของผู้รู้ อันหมายถึงพระตถาคตเจ้า เป็นผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบาน ดังนั้น บุคคลใดไม่ลืมพุทธคุณ ก็พึงกระทำตามให้ถึงซึ่งพุทธคุณด้วยธรรมคุณ คุณของพระธรรม อันหมายถึงทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค นั่นแหละ บุคคลผู้ปฏิบัติถึงซึ่งพุทธคุณและธรรมคุณ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ด้วยกำลังใจเต็ม ก็ได้ชื่อว่าถึงซึ่งสังฆคุณใน ๔ ระดับ คือ พระโสดาบัน-พระสกิทาคา-พระอนาคา-พระอรหันต์
คุณทั้งสามประการของพระรัตนตรัยในบวรพระพุทธศาสนานี้ ผู้ใดถึงแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความสุข และจักสุขยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งเข้าถึงซึ่งแดนเอกันตบรมสุข คือพระนิพพานเป็นที่ไปนั่นแหละ ให้มองดูจิต-ดูกายของตนนั่นแหละเป็นสำคัญ ถ้ามุ่งต้องการปฏิบัติให้พ้นทุกข์ได้จริง อย่าเพ่งโทษในจริยาของผู้อื่น ให้เห็นความร้อนในจิตของตนเองให้มาก และเห็นโทษของความร้อนในจิตนั้น ก็จักปฏิบัติฝึกจิตของตนให้พ้นไปจากความร้อนได้ในที่สุด
๘.อารมณ์เบื่อจัดเป็นปฏิฆะ เพราะจิตไม่ยอมรับกฎของธรรมดา (จิตฝืนโลก-ฝืนธรรม) ให้ค้นคว้าหาสาเหตุของอารมณ์เบื่อ (ด้วยอริยสัจ หรือด้วยสังฆคุณ) แล้วจักมีกำลังใจพิจารณาไปจนถึงที่สุดของสาเหตุนั้น ถ้าจิตยอมรับจักวางอารมณ์เบื่อหน่ายนั้นลงไป จนถึงยอมรับกฎของธรรมดา จิตสงบไม่ดิ้นรน มีความสุขมาก ค่อยๆ ทำไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ แล้วจักได้ผลตามนั้น
๙.อย่ากังวลใจกับการเดินทาง เมื่อย่างเท้าออกจากวัด-จากบ้าน-จากที่อยู่อาศัย ให้ตัดอารมณ์กังวลทิ้งไปทันทีทันใด ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง การเดินทางให้รักษาอารมณ์จิตให้ดีๆ กำหนดพุทธคุณ-ธรรมคุณ-สังฆคุณ หรือพระไตรลักษณ์เป็นที่พึ่ง รู้พระนิพพานเข้าไว้เป็นอารมณ์ รู้โทษของการมีกังวล แม้แต่เล็กน้อยก็ไม่สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ เพราะขาดความผ่องใสของจิต ผู้ปฏิบัติธรรมที่ดีจักต้องหมั่นตรวจสอบอารมณ์อยู่เสมอ หมั่นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดใจกังวลโดยเร็วที่สุด ด้วยอริยสัจหรือธรรมคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอามรณานุสสติขึ้นมาตั้งมั่น คอยเตือนตนอยู่เสมอว่า ความเศร้าหมองของจิต (จิตไม่ผ่องใส) ทำให้ไปพระนิพพานไม่ได้
๑๐.คนจักพ้นทุกข์ได้ก็ต้องเห็นทุกข์ก่อน คนเห็นกิเลสที่ยังเกาะกินใจตนอยู่ ก็คือคนเห็นทุกข์ เห็นปัญหา เห็นอุปสรรค ก็คือคนเห็นอริยสัจ หรือเห็นพระธรรม เห็นธรรมคุณ ผู้มีปัญญาทุกคนจักเอาทุกข์ เอาปัญหา เอาอุปสรรคทุกอย่างมาเป็นกรรมฐานได้หมด หาประโยชน์ได้หมด ในทุกสภาวะการณ์ โดยนำมาพิจารณาเข้าหาอริยสัจหมด เป็นธรรมคุณ ก็จักตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้ในที่สุด
๑๑.รักษาอารมณ์ของจิตให้ดีๆ ประคองใจไว้เป็นสำคัญ อย่าไปฝืนกรรมของใคร แล้วอย่าไปแก้ไขคนอื่น ให้แก้ไขใจตนเองนี้แหละ จึงจักถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา จุดนี้มีความจำเป็นต้องพูดซ้ำ เพราะพวกเจ้าส่วนใหญ่มักจักไปแก้ไขบุคคลอื่น ผิดหลักธรรมอย่างยิ่ง ไปทำอย่างนั้นก็เท่ากับไปเพิ่มกิเลสให้กับจิตของตนเอง จักต้องพยายามมีสติให้ตั้งมั่น ถือธุระไม่ใช่เข้าไว้ให้มาก ๆ ไม่ใช่หน้าที่ให้ปล่อยวางทันที ยกเว้นมีการเกี่ยวข้องโดยกรรมต่อกัน ก็พึงกระทำกันเพียงแต่หน้าที่เท่านั้น สำหรับทางจิตใจ พยายามไม่เกี่ยวข้องกับใคร ปล่อยวางเพื่อความผ่องใสของจิตให้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้ กฎของกรรมใดๆ เข้ามาถึง ก็ถือว่าชดใช้กรรมเก่าให้เขาไป อย่าไปต่อกรรมในเมื่อปรารถนาจักไปพระนิพพาน แม้จักทำได้ยาก ก็จักต้องทำให้ได้
๑๒.พวกโทสะจริต ให้พยายามฝึกจิตให้เยือกเย็น แล้วพึงพิจารณาโทษของโทสะจริตให้มาก พยายามทรงอารมณ์จิตให้อยู่ในคำภาวนาให้มาก พร้อมกำหนดอานาปาให้มากด้วย หลังจากรู้ลม-รู้ภาพพระแล้ว ก็จักมีอารมณ์เย็นขึ้น อย่าลืมจิตต้องเย็น สงบก่อน จึงค่อยพิจารณาทุกข์อันเกิดจากโทสะจริตนั้น จิตยิ่งเย็นก็ยิ่งเห็นทุกอย่างได้ชัดขึ้นเท่านั้น และจงอย่าลืมว่า พุทธานุสสติ พุทโธอัปมาโณ คุณของพระพุทธเจ้าหาประมาณมิได้ คนฉลาดไม่มีใครทิ้งพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะพระอรหันต์ท่านยังไม่ทิ้ง แล้วพวกเจ้าเป็นใคร ให้คิดเอาเอง
๑๓.ร่างกายไม่ดี ก็ให้เห็นเป็นธรรมดา หรือร่างกายดีอันเนื่องจากธาตุ ๔ มีความทรงตัวแค่ระยะหนึ่ง ก็ให้เห็นเป็นของธรรมดา แล้วจงอย่าคิดว่าร่างกายจักทรงตัวอยู่อย่างนั้นเสมอไป ร่างกายไม่ดีก็ไม่เที่ยง ร่างกายดีก็ไม่เที่ยง มันมีแต่ความแปรปรวนหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกวัน หรือทุกขณะจิต นั่นคือธรรมดาของร่างกาย แล้วในที่สุดร่างกายนี้ก็มีความแก่และมีความตายเป็นธรรมดา หมั่นพิจารณาให้เห็นกฎของธรรมดาให้มาก จิตใจจักได้มีความสุข หรือแม้กระทั่งการถูกด่า-ถูกนินทา หรือถูกสรรเสริญเยินยอ ก็เป็นเรื่องธรรมดา เหล่านี้ หมั่นพิจารณาธรรมดาให้มาก แล้วจักมีการยอมรับ ในกฎของธรรมดาทั้งปวง จิตใจจักสงบและเป็นสุข ให้พยายามรักษาอารมณ์พิจารณาเหล่านี้ให้มาก
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๑-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๒-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๓-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๔-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๘
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๐
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๑
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๔
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๕