สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๑-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๑
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม-ปกิณกะธรรม

สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกะธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑.จงอาศัยการกระทบให้เป็นประโยชน์ของการตัดกิเลส เห็นทุกข์มากเท่าไหร่ ยิ่งเบื่อทุกข์มากขึ้นเท่านั้น จิตจักปล่อยวางทุกข์ลงได้ในที่สุด แต่ต้องอาศัยปัญญาพิจารณาประกอบไปด้วย มิฉะนั้น เห็นทุกข์ก็จักเกาะทุกข์ ก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ ถ้าหากมีปัญญาก็จักปล่อยวาง เนื่องด้วยเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง การที่จักพ้นทุกข์ได้ จักต้องรู้จักพิจารณาใช้ปัญญาใคร่ครวญอยู่เสมอ จึงจักปล่อยวางได้

๒.พิจารณาร่างกาย พิจารณาอารมณ์ ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป อย่าเอาความไม่เที่ยงมาเกาะติดอยู่ในจิตให้เป็นทุกข์ พยายามรักษาอารมณ์เกาะพระนิพพานให้มาก ๆ อย่าห่วงใคร อย่ากังวลกับเหตุการณ์ใด ๆ ทั้งปวง ตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อพระศาสนา เพื่อพระนิพพานจุดเดียว ปล่อยวางเรื่องภายนอกลงเสียบ้าง แม้ชั่วขณะหนึ่งก็ยังดี เพราะยังไม่ใช่พระอนาคามีผล การเจริญพระกรรมฐานให้หมั่นฝึกให้ได้ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าทำอะไรอยู่ก็ให้จิตจับมาเป็นกรรมฐานให้ได้ การเผลอนั้น ย่อมยังมีอยู่เป็นธรรมดา พยายามประคองจิต อย่าให้หวั่นไหวกับเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบมากนัก แล้วจักมีความสุขขึ้นในจิต

๓.ร่างกายไม่ใช่สาระแก่นสารที่สำคัญก็จริงอยู่ แต่บุคคลใดจักพ้นไปจากร่างกายได้ ก็จักต้องพิจารณาให้เห็นความจริงของร่างกาย จักพูดแต่ปากหรือพูดเอาแต่สัญญานั่นย่อมไม่ได้ เพราะเท่ากับมีแต่ความจำ ไม่ช้าไม่นานก็ลืม ผิดกับคำว่าอธิปัญญา คือ เห็นอยู่ในความเป็นจริงตามปกติ บุคคลใดที่จักพ้นจากร่างกายได้ ตถาคตขอยืนยันว่าจักต้องพิจารณาร่างกายให้เห็นตามความเป็นจริง จนกระทั่งจิตเข้าถึงคำว่า เอกัตคตารมณ์ หมายความว่าเห็นจริงตามนั้นอยู่เป็นปกติ จึงจักพ้นจากร่างกายนี้ไปได้

๔.มองเห็นร่างกายแล้ว ให้ดูอารมณ์ของจิต ที่ยึดเกาะร่างกายในส่วนไหนบ้าง การมีอาการถูกกระทบกระทั่งใจ ก็เนื่องด้วยร่างกายเป็นเหตุ ใครจักเกลียด จักโกรธ จักแกล้ง จักติ จักชม ก็เนื่องด้วยร่างกายเป็นต้นเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นการพิจารณารูปและนาม จักต้องย้อนไปย้อนมา จึงจักเกิดปัญญารู้เท่าทันรูป-นามตามความเป็นจริงได้ จงอย่าละความเพียรในการปฏิบัติ พึงเร่งรัดกำลังใจของตน ให้ตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณารูป-นามอยู่เสมอ นั่นแหละคือหนทางที่จักไปพระนิพพานได้

๕.การป้องกันคุณไสยทำร้ายกายและจิตไม่ให้สงบ จักต้องไม่มีอารมณ์ปฏิฆะหรือโกรธ เพราะการภาวนาคาถาต่าง ๆ เพียงเพื่อป้องกันเท่านั้น เจ้าไม่ได้ต่อสู้เพื่อทำร้ายเขา ให้ทำจิตให้สงบ ไม่คิดเป็นศัตรูกับใครเข้าไว้ อย่าโกรธ อย่าอาฆาต ภาวนาเพื่อต่อสู้ไป เพื่อป้องกันเท่านั้นเป็นพอ และจำไว้ อย่าใช้บารมีของตนเองในขณะที่ภาวนาต่อสู้ ให้กำหนดจิตขอบารมีพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ หรือพระอริยสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ จักทำให้เจ้าปลอดภัยจากอำนาจคุณไสยทั้งปวง และจงอย่าคิดว่าตนเองเก่ง ถ้าคิดว่าตนเองเก่งเมื่อไหร่ ดีเมื่อไหร่ พระทุกองค์ก็จักไม่ช่วยเจ้า

๖.ร่างกายที่เห็นอยู่นี้เป็นสมบัติของโลก ไม่มีใครสามารถเอาไปได้ โลกนี้ทั้งโลกกอปรไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง มีความสลายตัวไปในที่สุด เจ้าจักยึดถือร่างกายเป็นสรณะที่พึ่งก็ไม่ได้ จักยึดถืออะไรในโลกเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ พิจารณาถึงจุดนี้ ฝึกฝนจิตให้รู้จักกับคำว่าธรรมดาให้มาก และยอมรับคำว่าธรรมดาให้มาก และจงรู้จักคำว่าไม่เบียดเบียนร่างกายตนเองให้มากจนเกินไป และรู้จักเมตตาร่างกายตนเองด้วย เพื่อความอยู่เป็นสุขของจิตผู้อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ และอย่ากังวลกับสิ่งภายนอกให้มาก จงเป็นผู้มีธุระน้อย หาความพอดีให้กับกายและจิตให้มาก ๆ จึงจักพบกับความสุขอย่างแท้จริง

๗.การอาศัยความกระทบกระทั่งของอารมณ์เป็นเครื่องวัดกำลังใจที่จักตัดกิเลส นั่นแหละเป็นของจริง ได้ก็รู้ ตกก็รู้ ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา อะไรที่เข้ามาในชีวิตก็จักต้องทนได้ เพราะต้องการที่จักไปพระนิพพาน ต้องทนได้กับทุก ๆ สภาวะ ให้ตรวจบารมี ๑๐ เข้าไว้ ขาดตัวใดตัวหนึ่งก็ต้องทำตัวนั้นให้เต็ม อย่าให้พร่องแม้แต่หนึ่งนาที แล้วการเจริญพระกรรมฐานก็จักคล่องตัวเอง ทำกำลังใจให้สงบ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจักดีขึ้นเองอย่าหวั่นไหวในการกระทบ สิ่งใดรู้ว่าแพ้ก็ให้แพ้ไป ตั้งกำลังใจกันใหม่ แผ่เมตตาให้มาก ๆ การปฏิบัติอย่าเครียด คือเอาจริงเอาจังเกินไป อารมณ์ต้องเบา ๆ สบาย ๆ จงอย่าสนใจกรรมหรือการกระทำของผู้อื่น ให้ดูแต่กรรมของตนเองเป็นที่ตั้ง ดูกาย-วาจา-ใจของตนเอง เพียรให้อยู่ในศีล-สมาธิ-ปัญญา เท่านั้น อารมณ์เผลอย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา ได้สติก็ตั้งต้นดึงเข้ามาใหม่

๘.เหตุการณ์บ้านเมืองเวลานี้ไม่ดี ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าใครดีใครเลว เพราะกฎของกรรมเป็นของตายตัว จึงมิใช่ของแปลก เป็นเรื่องธรรมดาของกฎของกรรม นักปฏิบัติเพื่อต้องการพ้นทุกข์ จงเห็นกฎของธรรมดาเหล่านี้ให้มาก และยอมรับนับถือกฎของธรรมดาด้วย จิตจึงจักสงบเย็นลงไม่โทษเขาหรือโทษใคร ให้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงไว้เสมอ และจงอย่าได้มีความประมาทในชีวิต พร้อมตายและซ้อมตาย เพื่อเอาจิตเข้าสู่พระนิพพานไว้ ด้วยความไม่ประมาท ให้จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดาให้มาก แล้วจิตจักเป็นสุข

รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น

สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๑-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๒-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๓-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๔-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๘
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๐
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๑
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๔
เสียงธรรม-ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๕

เรื่องนี้ถูกเขียนใน คำสอนสมเด็จองค์ปฐม และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

4 ตอบกลับไปที่ สุดยอดแห่งธรรมชุดที่ ๑-คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

  1. สาธุ…ลูกขอโมทนาด้วยครับ

  2. ร่วมอนุโมทนาบุญ……สาธุ

  3. yoioy พูดว่า:

    น้อมจิตน้อมใจกราบสมเด็จองค์ปฐมฯ สาาาาธุ

  4. Ksorn พูดว่า:

    ของอนุโมทนาบุญด้วยค่ะ สาธุ สาธุ

ความเห็นถูกปิด