ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
อันดับแรกปรับปรุงศีลให้ดี เมื่อปรับปรุงศีลดีแล้ว สมาธิก็ทรงตัว เมื่อสมาธิทรงตัว ปัญญามันก็เกิด นี่เป็นพื้นฐานของการเจริญฌานและวิปัสสนาญาณ
สำหรับวิปัสสนาญาณในด้านสุกขวิปัสสโก ยังไงๆ ท่านก็อย่าลืมทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน จำไว้ให้ดีว่าจะทำกรรมฐานกองต่อๆไปก็ดี หรือว่าจะเจริญวิปัสสนาญาณก็ดี ท่านจะทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้ ถ้าท่านทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานเมื่อไหร่ กรรมฐานกองอื่น วิปัสสนาญานที่จะทำก็พังหมด
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาที่ถึงการเจริญพระกรรมฐาน สำหรับวันนี้ ก็จะขอพูดในด้านของวิปัสสนาญาณ
เพราะว่าในอานาปานุสสติกรรมฐานนี่ พูดกันมาถึงด้านสมถภาวนาพอสมควร ถ้าจะถามว่าพูดจบแล้วหรือยัง ก็ต้องตอบว่าพูดมันไม่จบ ถ้าจะให้จบในอานาปานุสสติกรรมฐาน เราก็ต้องพูดกันถึงยันตายมันก็ไม่จบ
เป็นอันว่าขออธิบายเฉพาะหลักใหญ่ๆ เข้าไว้ นอกจากนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายใชัปัญญาพิจารณาเอาเองด้วย เพราะว่าการปฏิบัติไม่ว่ากรรมฐานกองใดทั้งหมด อุปสรรคทางจิตย่อมปรากฎมีขึ้นเสมอ สำหรับอุปสรรคใดๆ ที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ก็ดี หรือว่าจากทางกายก็ดี ถ้าเราไม่ยอมแพ้เสียอย่างเดียว เราก็ชนะ
อุปสรรคต่างๆ มันจะมีขึ้นได้ มันก็ต้องสลายตัวได้เหมือนกัน ต้องถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างถ้าเราเอาจิตเข้าไปจับธรรมดาเสียอย่างเดียว จิตมันก็มีความสุข การเจริญพระกรรมฐาน ความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือต้องการให้มีความสุข
ต่อนี้ไป ก็จะขอนำเอาด้านของวิปัสสนาญาณ มาแนะนำกับบรรดาท่านทั้งหลายพอสมควรแก่อัธยาศัยและตามเวลา เนื่องในด้านวิปัสสนาญาณนี้เราจะพูดกันไปหลายชีวิตมันก็ไม่จบ
หมายความว่าพูดแล้ว แล้วก็ตายไปพูด ตายแล้วก็เกิดใหม่ เกิดใหม่แล้วก็พูดใหม่ พูดใหม่ตายไปใหม่ มันก็ไม่จบ ถ้าจะพูดให้จบได้เมื่อไหร่ ต่อเมื่อท่านทั้งหลายถึงอรหัตตผล ถ้าทุกคนถึงอรหัตตผลเสียหมด ตอนนั้นวิปัสสนาญาณจบ จบเพราะอะไร จบเพราะท่านถึงแล้ว ท่านมีความเข้าใจ
สำหรับด้านวิปัสสนาญาณนี่ มีวิธีปฏิบัติถึง ๔ แบบด้วยกัน นั่นก็คือ
หนึ่ง สุกขวิปัสสโก
สอง เตวิชโช
สาม ฉฬภิญโญ
สี่ ปฏิสัมภิทัปปัตโตการอธิบายในการเจริญสมาธิเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาญาณ ที่พูดมาแล้วนั้นเป็นความมุ่งหมายให้เข้าถึงวิชชา ๓ อภิญญา ๖ และก็ปฏิสัมภิทาญานเป็นสำคัญ ฉะนั้นเวลาเมื่อท่านทั้งหลายรับฟังแล้วก็รู้สึกว่ามันหนักมาก รู้สึกว่าหนักใจจริงๆ จะทำได้หรือไม่ได้…
สำหรับในตอนต้นในด้านวิปัสสนาญาณนี่ ผมจะขอพูดด้านสุกขวิปัสสโกก่อน ความจริงสุกขวิปัสสโกแปลว่าเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยอำนาจของความสุขแบบสบาย สุขนั้นแปลว่าสบาย เราเรียกว่าทำแบบสบายๆ การทำแบบสบายๆ นี่เขาทำแบบนี้ คือว่า เราใช้อารมณ์สมาธิควบคู่กันไปกับการพิจารณาวิปัสสนา
คำว่าใช้สมาธิคู่กันไป มีบางท่านบอกว่าสุกขวิปัสสโกไม่ต้องใช้สมถะเลย ใช้แต่วิปัสสนาญาณตัวเดียว อันนี้ผิด ถ้าพูดอย่างนั้นก็แสดงว่าท่านผู้พูดไม่ได้อะไรเลย
ความจริงศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ๓ ประการนี้จะแยกกันไม่ได้
นักเจริญพระกรรมฐานนับตั้งแต่เริ่มเข้าขณิกสมาธิเป็นต้นมา จะต้องเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าจะต้องมานั่งสมาทานให้พระนำกัน คนที่ยังติดพระนำแล้วจึงมีศีล ก็แสดงว่าบุคคลนั้นไม่มีศีลเลยศีลนั้นอยู่ที่ใจ คือความงดเว้นเท่านั้น ถ้าเราสามารถงดเว้นปัญจเวร ๕ ประการหรือว่าสิกขาบท ๘ ประการที่เรียกว่าศีล ๕ หรือศีล ๘ เราไม่ละเมิดเสียแล้วก็ชื่อว่าเราเป็นผู้มีศีล ไม่ต้องรอให้พระให้ แต่ความจริงพระท่านไม่ได้ให้ ท่านให้การศึกษาเท่านั้น
เป็นอันว่านักเจริญพระกรรมฐานจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นผู้ทรงฌานก็ดี จะเป็นพระอริยเจ้าก็ดี ท่านจะบกพร่องในศีลไม่ได้ ในขณะใดชื่อว่าท่านเป็นผู้บกพร่องในศีล ก็แสดงว่าท่านเอาดีไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะอะไร
เพราะว่าถ้าศีลบกพร่องก็แสดงว่าเราตายแล้วต้องไปเกิดในอบายภูมิ แล้วก็จะเป็นผู้ทรงฌานเกิดเป็นพรหม หรือว่าเป็นผู้ทรงอุปจารสมาธิขณิกสมาธิเกิดเป็นเทวดา หรือตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานไปนิพพานจะไปได้ยังไง ในเมื่อศีลของเราบกพร่อง เราต้องเป็นสัตว์ในอบายภูมิ
ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายจงสังวรเรื่องศีลให้มาก
คำว่าสังวรนี่แปลว่าระวัง อันดับแรกต้องมีศีลบริสุทธิ์เสียก่อน ไม่ใช่บริสุทธิ์เฉพาะเวลาที่สมาทานพระกรรมฐาน ให้ศีลมันบริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออกถ้าศีลของท่านบริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออก การเจริญสมาธิก็เป็นของง่าย เพราะศีลจะมีขึ้นได้เพราะอาศัยเมตตาความรักซึ่งกันและกัน กรุณาความสงสารซึ่งกันและกัน คนที่มีจิตเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร อารมณ์เย็น จิตมีความเยือกเย็น ความฟุ้งซ่านของจิตไม่มี ความเร่าร้อนของจิตไม่มี อารมณ์ก็สบาย ในเมื่ออารมณ์สบาย มีความเยือกเย็น จิตก็ทรงสมาธิได้ดี
คือการจองล้างจองผลาญคิดประหัตประหารซึ่งกันและกัน หรือความโลภโมโหโทสัน อยากได้ทรัพย์ของคนอื่น การที่จะละเมิดความรัก หรือการจะมุสาวาทดื่มสุราเมรัยไม่มี ในเมื่ออาการ ๕ อย่างนี้ไม่มีแล้ว จิตก็มีความสบาย มีอารมณ์เป็นสุข
อันดับแรกปรับปรุงศีลให้ดี เมื่อปรับปรุงศีลดีแล้วสมาธิก็ทรงตัว เมื่อสมาธิทรงตัวปัญญามันก็เกิด นี่เป็นพื้นฐานของการเจริญฌานและวิปัสสนาญาณ
สำหรับวิปัสสนาญาณในด้านสุกขวิปัสสโก ยังไงๆ ท่านก็อย่าลืมทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน จำไว้ให้ดีว่าจะทำกรรมฐานกองต่อๆไปก็ดี หรือว่าจะเจริญวิปัสสนาญาณก็ดี ท่านจะทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้ ถ้าท่านทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานเมื่อไหร่กรรมฐานกองอื่น วิปัสสนาญานที่จะทำก็พังหมด
อานาปานุสสติกรรมฐานมีอุปมาเหมือนกับพื้นแผ่นดิน อารมณ์จิตที่จะทรงเป็นสมาธิหรือปัญญาที่จะเกิดเหมือนกับเรา ตัวเราซึ่งยืนอยู่บนแผ่นดิน ถ้าเราไม่มีแผ่นดิน เราจะยืนที่ไหน จะก้าวไปข้างหน้าจะถอยไปข้างหลัง จะนั่งจะนอนจะยืนจะเดินไม่มีที่ เพราะมันไม่มีแผ่นดิน จำไว้ให้ดีว่าอานาปานุสสติกรรมฐานนี่ทิ้งไม่ได้
นี้การทรงอานาปานุสสติกรรมฐานในด้านสุกขวิปัสสโกเขาทำกันไม่ยาก ทำง่ายๆ คือโดยไม่ต้องไปคิดถึงอานาปานุสสติกรรมฐานก็ได้ พยายามทรงจิตทำจิตให้ทรงตัว ควบคุมกำลังจิตของท่านให้อยู่ในขอบเขตของวิปัสสนาญาณ
วิปัสสนาญาณที่ผมอยากจะพูดกับท่าน วันนี้จะเอาวิปัสสนาญาณ ๙ มาพูด แต่ขอพูดสองอย่าง เพราะว่าวิปัสสนาญาณ ๙ นี่ผมทำสองอย่างเท่านั้น อีก ๗ อย่างไม่มีความหมาย อีก ๗ อย่างก็เดินเข้ามาหา ๒ อย่าง
สองอย่างก็คือ นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕
และ สังขารุเปกขาญาณ วางเฉยในอารมณ์ต่างๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นหรือว่าอาการต่างๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นกับใจก็ดี กับขันธ์ ๕ ก็ดีถ้าได้อย่างตัวนี้ก็ชื่อว่าจบวิปัสสนาญาณ ๙ ไม่ต้องไปนั่งไล่เบี้ยนับบันไดมีกี่ขั้นให้มันยุ่งไปเปล่าๆ จะไปทำตนอย่างนักวิชาการน่ะ แหม ศัพท์แสงเก่งกันจริงๆ ไล่อย่างโน้น ออกอย่างนี้ ไปอย่างนี้ ไปอย่างโน้น ไล่เบี้ย ผลที่สุดไม่ได้อะไรเลย ก็ทำไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง จะได้ประโยชน์อะไร
เขาทำอย่างนี้ คือว่า ควบคุมกำลังใจของเรา ในด้านนิพพิทาญาณ
พิจารณาดูร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี ร่างกายของสัตว์ก็ดี และก็วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกก็ดี ทั้งหมด ว่ามันไม่มีดีตามความเป็นจริงวิปัสสนานี่เขาเอาจิตเข้าไปจับหาความเป็นจริงกัน ไม่ใช่ฝืนความจริง
ความเป็นจริงมันเป็นยังไง ร่างกายของเรามันไม่มีการทรงตัว เกิดขึ้นมาแล้วมันก็เสื่อมไปทุกวันๆ เป็นเด็กมันก็คลานเข้ามาหาความเป็นหนุ่มเป็นสาว พอเป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็คลานไปหาความเป็นคนแก่ ถึงความเป็นคนแก่มันก็คลานไปหาความตาย น่ารักมั้ยเราจะรักสาวสักคน เราจะรักหนุ่มสักคน เราก็ดูอีตอนที่เขาเป็นหนุ่มเป็นสาว เราไม่เคยจะนึกถึงว่าคนที่เคยเป็นหนุ่มเป็นสาวมาก่อน แต่ว่าเวลานี้แก่แล้ว สมัยที่เขาเป็นหนุ่มเป็นสาว เขาก็สวยสดงดงาม ที่นี้ตอนแก่แล้วเราไม่มอง ทำไมจึงไม่มองเพราะเราถือว่าไม่สวย ไม่ดี ไม่เป็นที่ถูกใจ
เราก็ไปนั่งคิดว่าร่างกายของใครล่ะ มันจะทรงความงามเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ตลอดเวลา เราก็เหมือนกัน เขาก็เหมือนกัน วัตถุธาตุต่างๆ ก็เหมือนกัน บ้านเรือนโรงต่างๆ อาคารสถานที่
อย่างที่วัดของเรานี้ ใครมาเขาก็บอกว่าสวยอร่ามไปหมด ที่นี้ท่านคิดหรือว่ามันจะสวยไปตลอดกาลตลอดสมัย อีกไม่นาน สองสามปี ความเศร้าหมองมันก็จะปรากฎชัด นี่สภาพของวัตถุธาตุมันก็เป็นอย่างนี้ คนก็เป็นอย่างนี้
แม้กระทั่งสำหรับร่างกายของคนนอกจากมันจะโทรมแล้วมันก็สร้างความยุ่ง ต้องกินต้องรักษาโรค ต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ยุ่งไปหมด คิดเอาเอง อย่ามาให้นั่งพรรณนาอยู่เลย มันเสียเวลา
มองดูให้ดีว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี มันสกปรกหรือสะอาด มันมีสุขหรือว่ามันมีทุกข์ ความหิวเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การปวดอุจจาระเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หนาวเกินไป ร้อนเกินไป เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การต้องแสวงหาอาชีพทำมาหากินเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การกระทบกระทั่งกับวาจาที่เป็นที่ไม่ถูกใจ อาการที่เขาทำขึ้นมาเป็นที่ไม่ถูกใจเรา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ถ้าเราไม่บ้าเสียอย่างเดียว เราต้องตอบว่ามันทุกข์ทุกอย่าง และในเมื่อมันทุกข์ทุกอย่าง เราจะเมามันเพื่อประโยชน์อะไร น่ารักตรงไหนล่ะ
มองดูแล้วร่างกายมันเป็นศัตรูตัวสำคัญ ถ้าไปเกาะติดมันเข้า เราก็จะมีอาการแต่ความทุกข์ นี่อารมณ์นิพพิทาญาณเขามองกันอย่างนี้ ไม่ต้องไปนั่งหลับตาปี๋หรอก เดินไปเดินมา ทำงานทำการก็มองดูหาความจริง ว่าโอหนอนั่นเป็นปัจจัยของความทุกข์ อาการเหน็ดเหนื่อยที่มันเกิดขึ้นมันเป็นปัจจัยของความทุกข์
ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ แล้วเราไปติดพันร่างกายของบุคคลอื่นเขาเข้า แล้วเราไปดึงเอาสุขมาหรือเราไปดึงเอาทุกข์มา เราทุกข์เขาก็ทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์แต่เพียงแบกภาระเลี้ยงกันเท่านั้น ยังทุกข์ในขณะที่อารมณ์ไม่ตรงกันอีกด้วย
ในเมื่อรู้ว่าสภาพของร่างกายหรือวัตถุธาตุทั้งหมดในโลกมันเป็นของไม่ดี เราก็สร้างอารมณ์ความเบื่อ เบื่อที่ไม่ต้องการจะมีร่างกายอย่างนี้อีก
วิธีปฏิบัติในสมัยก่อน ผมเจริญนิพพิทาญาณ นี่ต้องขออภัยนะ อย่าคิดว่าผมอวด เอาเป็นเพียงว่าผมทำมาก่อน ผมทำแบบนี้ เห็นคนทุกคนเมื่อคุยกัน ผมถามว่าเขาสุขหรือเขาทุกข์ ถามว่าเคยป่วยไข้ไม่สบายมั้ย เขาบอก แย่เจ้าค่ะ แย่ขอรับ ป่วยโน่น ป่วยนี่ เราก็อื้ม เป็นทุกข์แล้ว
เห็นคนแต่งตัวสวยๆ ยิ่งเป็นสาวเป็นหนุ่มก็ตาม ผมจะถามทันทีว่าอาการไข้อย่างนั้นอย่างนี้มันมีกับคุณบ้างมั้ย เขาตอบว่ามี ถามว่าอารมณ์ต่างๆ ที่มันกระทบกระทั่งคุณให้เกิดความกลุ้มมีบ้างมั้ย
ถามทั้งร้อยทั้งพัน กี่หมื่นกี่แสนคน ตอบว่ามีทุกคน ในเมื่อเขารู้ว่าโรคต่างๆ ของเขามี อาการความเป็นทุกข์ของเขามี อารมณ์ที่ไม่มีการทรงตัว คือไม่ประกอบไปด้วยธรรม ไม่มีความสุขก็มี เราปรารถนาเขาเพื่ออะไร
เป็นอันว่าเราก็วางเฉยไปเสีย ตอนวางเฉยเป็นไง คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ร่างกายของเขาก็ดี ร่างกายของเราก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายอื่นก็ดี มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ความสุขมันอยู่ที่ไหน ความสุขมันอยู่ที่เราจะเข้าพระนิพพาน
นี้ผมขอพูดย่อๆ อารมณ์ที่ทำนี่ไม่ใช่ต้องหลับตา ท่านเดินไปเดินมา นั่งทำอะไรอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ แล้วก็เดินอยู่ ทำอะไรก็ตาม มองดูสภาพของความจริง
เห็นต้นหญ้าที่มันร่วงโรยลงไป ก็คิดว่าโอหนอ ชีวิตของคนเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ก็คิดมันวนไปวนมาน่ะถอนกำลังใจให้มันติด เมื่ออาการอย่างนั้นเกิดขึ้น เห็นอะไรอย่างนั้นมันเกิดขึ้น เห็นอาการของความทุกข์เกิดขึ้น ความขัดข้องเกิดขึ้น เราก็เฉย ที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ
มันอะไรจะมาก็ช่างมัน มันจะแก่ก็เชิญแก่ ใจสบายๆ ถือว่าหนีความแก่ไม่ได้ ถ้าความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น ทุกขเวทนามันมีเราก็ต้องรักษา ใจเราก็เฉย รักษาหายก็หาย ไม่หายก็ช่างมัน อยากจะตายเมื่อไหร่ก็เชิญ เกิดมาเพื่อตาย
ใครเขาด่า ใครเขานินทาเราก็เฉย เขามีปากสำหรับด่า เขามีปากสำหรับนินทา มันเรื่องของเขา ใครเขาจะชม ใครเขาจะสรรเสริญเราก็เฉย ไอ้การชมการสรรเสริญก็ดี การด่าการนินทาก็ดี เราไม่ได้เป็นไปตามปากของเขา เราจะดีหรือเราจะชั่วอยู่ที่กำลังใจของเราเท่านั้น
รวบรวมกำลังใจไว้อย่างนี้ เราก็เฉยต่ออาการทั้งหมด หนุ่มก็เฉย ไม่ดีใจในความเป็นหนุ่ม แก่ก็เฉย ไม่เสียใจในความเป็นคนแก่ มันจะตายก็เฉยเพราะว่าเราจะต้องตาย ตายแล้วไปไหน เราภูมิใจได้ว่าตายแล้วเราไปนิพพาน
ทีนี้การเจริญวิปัสสนาญาณน่ะอย่าคิดกันส่งเดช ไอ้คิดกันแบบนี้น่ะคิดดี แต่คิดไม่มีจุดหมายปลายทางนี้มันแย่ เหมือนกับเครื่องบินที่ร่อนอยู่ในอากาศ แต่หาจุดลงไม่ได้ ถ้ามันลงไม่ได้มันเสร็จ บินไปบินมา น้ำมันหมดร่วงลงมาตายทั้งคนทั้งเครื่อง ข้อนี้มีอุปมาฉันใด นักเจริญพระกรรมฐานก็เหมือนกัน
นักเจริญพระกรรมฐานที่เอาดีไม่ได้เพราะไม่มีจุดลง จุดลงในอันดับแรกก่อนที่เราจะเริ่มจับวิปัสสนาญาณ อย่าลืมนะขั้นสุกขวิปัสสโกนี่ จะนั่งสมาธิหลับตาปี๋หรือไม่นั่ง ไม่สำคัญ คุมอารมณ์พิจารณาอย่างนี้ไปแบบสบายๆ
จุดที่เราจะจับเป็นหัวหาดอันดับแรก ก็คือพระโสดาบัน นี่ การเจริญสมาธิวิปัสสนานี่เขาทำกันแบบนี้ มันถึงจะถึงเร็ว อย่าทำเปะปะๆๆ ส่งเดชไป มันไม่ได้อะไรหรอก ดีไม่ดีเดินไปไม่รู้ว่าถนนนี่อยู่ที่ไหน หล่นโครมครามลงมาแข็งขาหักหมด
เขาก็ต้องจับจุด ถ้าเจริญสมถะต้องจับอารมณ์ฌาน เจริญวิปัสสนาญาณต้องจับอารมณ์พระโสดาบันไว้ก่อน เราก็นั่งดูพระโสดาบันมีอะไร
พระโสดาบัน
มีหนึ่ง สักกายทิฐิ การพิจารณารู้สภาพว่าร่างกายของเรามันต้องตายแน่ มันไม่อยู่ตลอดกาลตลอดสมัย มันพังวิจิกิจฉา มั่นใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สงสัย แต่ทว่าการที่ไม่สงสัยนี่ต้องใช้ปัญญา
สีลัพตปรามาส เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ สำหรับฆราวาสต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์ เณรมีศีล ๑๐ บริสุทธิ์ พระมีศีล ๒๒๗ บริสุทธิ์ ก็เท่านี้ไม่เห็นจะมีอะไร
เป็นอันว่าเราใช้กำลังใจอยู่ในขอบเขตสั้นๆ ว่า
หนึ่ง เราคิดถึงความตายเป็นอารมณ์ อารมณ์ของจิตเรานี่ เราเกาะติดอะไรหนอ เกาะติดกาย ติดกาย กายมันไม่ทรงตัว ติดทำไม เราก็เกาะติดสักกายทิฐิ เอาจิตพิจารณาดูว่าเราก็ดี คนอื่นก็ดี ในโลกนี้ สัตว์ทั้งหมดตายหมด วัตถุธาตุบ้านเรือนโรงมันก็พังไปในที่สุด เราจะเมามันในชีวิตเพื่อประโยชน์อะไรประการที่สอง องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ทรงแนะนำเราให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ การที่มีศีลบริสุทธิ์นี่เป็นการกำจัดความเดือดร้อนของจิตและของกาย จะไปที่ไหนก็ย่อมเป็นที่รักของบุคคลผู้ประสพพบเห็น
ศีล ท่านกล่าวว่าหนึ่ง กิตติสัทโธ คนที่มีศีลบริสุทธิ์นี่ มีชื่อเสียงฟุ้งขจรไป ชื่อดี เสียงงาม แม้แต่คนเขาไม่เคยเห็นตัว เขาได้ยินแต่ชื่อเขายังรัก ยังชอบ กลิ่นของศีลลอยทวนลมได้ ไม่เหมือนกลิ่นของน้ำหอม คนที่มีศีลบริสุทธิ์ หอมทั้งใต้ลม หอมทั้งเหนือลม ที่ว่าหอมเพราะหอมในความดี ไม่ใช่หอมตัว ตัวน่ะไม่หอมแน่
นี้ในเมื่อเราเห็นว่าศีลดี ก็ทรงศีลให้บริสุทธิ์ ระมัดระวังอยู่ในศีล ถ้าหากเราคิดไว้เสมอว่าไม่ลืมชีวิตว่าเราจะตาย เราจะตายก็ตายสิ ฉันขอเกาะติดศีล
อย่างกับพวกอะไรหนอ ที่เขาสอนกัน หนึ่งเกาะติดประชาชน สองเกาะติดพื้นที่ สามเกาะติดแนวรบ ถ้าเกาะติดสามติดเราจะชนะ เราก็เหมือนกัน
หนึ่ง เกาะติดสักกายทิฐิ ไม่ลืมว่าร่างกายนี้มันจะตาย มีความรู้สึกว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุก็ดี พังแน่ เราไม่ขอถือเอาร่างกายของเรา ร่างกายของเขา วัตถุธาตุทั้งหมดเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง เราจะขอเอาพระนิพพานเป็นที่พึ่ง
ประการที่สอง เกาะติดคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว เห็นว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว สอนถูก สอนตรง เรามีความประสงค์ที่จะทรงอารมณ์ไว้ในคำสอนขององ์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประการที่สาม เราเกาะติดศีล รักษาอารมณ์ศีลให้บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ใจเราไม่ว่างจากศีล
ประการที่สี่ จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าจิตของเรามีการรักพระนิพพานเป็นอารมณ์จริงๆ ไม่ว่าจะยังไงๆ ใจเราก็ตั้งไว้ที่พระนิพพาน
ไม่ลืมความตาย
ไม่เมาในชีวิต
ไม่มีจิตสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีศีลบริสุทธิ์
มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
อย่างนี้เขาเรียกว่า โคตรภูญาณ เป็นจุดที่อยู่ช่วงระหว่างพระโสดากับโลกียะ โลกียฌานกับโลกุตตรฌานแต่ว่าใจของเราก้าวไปนึกถึงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นมานี้เป็นเรื่องของธรรมดา ความหวั่นไหวในคำนินทาน้อยไป ความดีใจในคำสรรเสริญน้อยไป ความสุขใจเกิดขึ้น คิดว่าเรามีพระนิพพานเป็นที่ไปแน่ อย่างนี้ท่านเรียกกันว่า พระโสดาบัน ไม่ยากเลย
ถ้าจะพูดกันให้สั้น
จิตของเรามีความเคารพในพระพุทธเจ้า
มีความเคารพในพระธรรม
มีความเคารพในพระอริยสงฆ์
ทรงศีลบริสุทธิ์
และก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เป็นปรกติ
อย่างนี้เรียกกันว่า พระโสดาบันไม่ต้องไปนั่งหลับตาเข้าฌานให้มันลำบาก เท่านี้สบายใจแล้วหรือยัง ถ้าทุกท่านทำได้อย่างนี้ ท่านเรียกกันว่าเป็นพระอริยเจ้าพระโสดาบันขั้นสุกขวิปัสสโก
เอาละสำหรับวันนี้ก็หมดเวลาเสียแล้ว ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ มีทั้งหมด ๑๘ ตอน
ตอนที่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน
ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ
ตอนที่ ๓ อุปจารสมาธิ
ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน
ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
ตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑)
ตอนที่ ๗ อารมณ์พระโสดาบัน (๒)
ตอนที่ ๘ พระสกิทาคามีมรรค
ตอนที่ ๙ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๑
ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒
ตอนที่ ๑๑ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๓
(รออ่านต่อ)
ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑
ตอนที่ ๑๓ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๒
ตอนที่ ๑๔ พระสกิทาคามีมรรค-โมหะ
ตอนที่ ๑๕ พระอนาคามีมรรค ๑
ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค ๒
ตอนที่ ๑๗ พระอรหัตตมรรค
ตอนที่ ๑๘ พระอรหัตตผล (ตอนจบ)