หลวงพ่อฤาษีฯ สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน ๒

หลวงพ่อฤาษีฯ สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ

      องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ แนะนำให้เราใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน ก็เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งหรือว่าประหัตประหารอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต ฉะนั้นต่อไปท่านจะเจริญสมถะกองไหนก็ตาม จะเจริญภาวนากองไหนก็ตาม หรือว่าจะเจริญวิปัสสนากองใดก็ตาม จะเว้นอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้

 

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑

ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับวันนี้ก็ขอปรารภ เรื่องอานาปานุสสติกรรมฐาน ต่อไป สำหรับการเจริญพระกรรมฐาน ท่านจะจับกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตาม เช่น อานาปานุสสติกรรมฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติ เราก็มักจะปฏิบัติควบกับพุทธานุสสติกรรมฐาน การทำอย่างนี้ไม่ใช่ของผิด เป็นของถูก เขาเป็นพระอรหันต์กันมามากแล้ว

ก็ขอเตือนว่าท่านจะใช้กรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตาม จงใช้กองนั้นให้ถึงอรหัตตผล ในเมื่อเราเริ่มทำสมถะกองใด จงใช้สมถะกองนั้นให้ถึงอรหัตตผล

คือว่าไม่ต้องเที่ยววิ่งไปหาที่โน่นวิ่งไปหาที่นี่อีก ไอ้ความดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่จิตของเรา ทราบไว้แต่เพียงเท่านี้ การพลั้งพลาดที่ผ่านมาแล้วจงถือว่าเป็นครู คำว่าพลั้งพลาดในที่นี้ เพราะว่าเราใช้เวลามาก แต่ทว่าผลแห่งการปฏิบัติมีผลน้อย

ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าขาดความเข้มแข็งของจิต ถ้าพูดตามประสาชาวบ้านเขาถือว่าไม่เอาจริงเอาจัง สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าศึกษา มีความเมาในตน มีความเมาในจิต เมาในราคะ เมาในโลภะ เมาในความโลภ และก็เมาในความโกรธ เมาในความหลง ก็เพราะว่าเมา จึงไม่สามารถจะทำจิตให้เบาบางจากกิเลสได้

เหตุที่จะมา อย่างเดียวก็คือ ขาดความเอาจริงเอาจัง จรณะ ๑๕ ฟังแล้วไม่ปฏิบัติ บารมี ๑๐ ฟังแล้วไม่สนใจ อิทธิบาท ๔ ฟังแล้วก็วางไว้ พรหมวิหาร ๔ ฟังแล้วก็ทิ้งไป ที่เราไม่สามารถจะก้าวเข้าไปสู่ระดับของความดีได้ เพราะว่าขาดคุณธรรมประเภทนี้

ฉะนั้น ถ้าหากว่าการขาดคุณธรรมประเภทนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าพวกเราเป็นอาภัพพะบุคคล เป็นบุคคลที่เอาดีไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนไม่ได้

แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่สายเกินไป คำว่าอาภัพพะบุคคลนั้น หมายความว่า บุคคลที่ไม่เอาจริงเอาจัง เราก็กลับเสียใหม่ได้ กลับเป็นคนจริงคนจังเสีย

การเจริญพระกรรมฐานถึงขั้นอรหัตตผลไม่ใช่ของยาก เพราะไม่มีการลงทุน เราลงแต่กำลังใจอย่างเดียว ฉะนั้นถ้ากำลังใจเข้มแข็ง ก็หมดเรื่องกัน ไม่มีอะไรหนักสำหรับท่านที่มีอารมณ์ใจเข้มแข็ง และก็เป็นคนมีความฉลาด ฉลาดในที่นี้ต้องหลีกจากกิเลส จงอย่าเอากิเลสมาฉลาด

จำพุทธภาษิตที่ว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง กล่าวโทษโจทก์ความผิด อย่าไปโยนความผิด อย่าไปโยนโทษให้ไปอยู่กับใคร

ถ้าความเร่าร้อนในใจเกิดขึ้นกับเรา เราต้องแสวงหาความผิดของตนเอง กล่าวโทษโจทก์ตนเองไว้เสมอ ถ้าเราไม่เลว ไม่มีความเร่าร้อน ถ้าหาความเลวในชาตินี้ไม่ได้ ก็ต้องไปค้นคว้าหาความเลวในชาติต่อๆ กันมา

ในเมื่อเราพบหรือไม่พบ ในที่สุดเราก็ยกประโยชน์ให้แก่ขันธ์ ๕ เพราะว่าเรามีขันธ์ ๕ เราจึงมีความเร่าร้อน ถ้าเราไม่มีขันธ์ ๕ เราไม่ติดอยู่ในขันธ์ ๕ คือขันธ์ ๕ ของเรา เราไม่ติดในขันธ์ ๕ ของบุคคลอื่น เราไม่ติดในทรัพย์สินทั้งหลายทั้งหมดในโลก เราจะมีทุกข์มาจากที่ไหน

ผลที่สุดเราก็มายกโทษให้แก่ใจของเรา ว่าใจเรามันเลว ใจเราชอบเกาะสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นสาระ ถ้ากำลังใจของท่านทรงได้แบบนี้ ความเป็นอรหันต์เป็นของไม่ยาก และใช้เวลาไม่นาน

กำลังใจของท่านต้องดูตัวอย่าง เมื่อสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ที่ควงไม้ศรีมหาโพธิแต่คราวนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตั้งอธิษฐานจิตว่า เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งลงไปก็ตามที ชีวิตินทรีย์ของเราจะสลายไปก็ตาม ถ้าเราไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้

ความจริงน้ำพระทัยขององค์สมเด็จพระชินสีห์ตอนนี้ ท่านต้องจำและก็ทำตามด้วย อย่าทำตนเป็นอาภัพพะบุคคล

สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐาน เราเริ่มทำใหม่ๆ รู้สึกว่าจะเป็นของยากไปนิดหนึ่ง คำว่ายาก ก็คือกำลังใจของเรายังเข้มแข็งไม่พอ

ความจริงงานที่ผ่านมาสำหรับผม ผมมีความเข้าใจถึงความยาก ความลำบากในการเจริญพระกรรมฐานในเบื้องต้น แต่ทว่าความยากความลำบากของผมดูเหมือนว่ามันจะมีอยู่ ๓ วันเท่านั้น ในความรู้สึกในด้านของสมถะภาวนา

อันนี้โปรดอย่าคิดว่าผมเป็นพระอรหันต์ภายใน ๓ วันนับแต่บวช และก็จงอย่าคิดว่าผมเป็นพระอรหันต์เสียแล้ว ถ้อยคำใดๆที่เป็นคำสอน ขอให้ถือว่าเป็นคำสอนมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็มาอธิบายสู่กันฟัง

แต่ขอทุกท่านจงอย่าหลงตัว ว่าเป็นผู้ทรงฌานเป็นพระอริยเจ้า ความเป็นพระอริยเจ้าไม่ต้องประกาศ เห็นหน้าปั๊บ รู้จัก ได้ยินชื่อ ก็รู้ว่าเป็นพระอริยเจ้า หากว่าท่านยังไม่เป็น และก็หลงว่าเป็นนี่มันจะซวย ไม่ต้องประกาศเขา ความดีอยู่ที่เรา เราไม่ได้บวชเพื่อการบูชาของชาวบ้าน เราบวชเพื่อความดับไม่มีเชื้อ

มาพูดกันถึงด้านอานาปานุสสติกรรมฐานที่มันมีความหนักไปหน่อย นั่นก็คือในตอนต้นที่เราเริ่มปฏิบัติ อาศัยที่ใจของเรามันหยาบมาก่อน อาศัยที่อารมณ์ของเรามันหยาบมาก่อน อาศัยที่เราไม่ได้ใช้สติสัมปชัญญะควบคุมกำลังใจ อารมณ์ใจมันเชื่องกับความคิดที่ไม่มีขอบเขต

ตอนนี้ ในเมื่อองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ แนะนำให้เราใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน ก็เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งหรือว่าประหัตประหารอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต ฉะนั้น ต่อไปท่านจะเจริญสมถะกองไหนก็ตาม จะเจริญภาวนากองไหนก็ตาม หรือว่าจะเจริญวิปัสสนากองใดก็ตาม เป็นอันว่า ส่วนนั้นๆ กรรมฐานกองนั้นๆ จะเว้นอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้

อันดับแรก ขอให้ทุกท่านทำอานาปานุสสติกรรมฐานให้เข้าถึงฌาน ๔ เอากันจริงกันจัง อย่าสักแต่ว่าทำ

ความกลุ้มมันจะเกิดขึ้นนิดหน่อย เพราะว่าใหม่ๆ เราจะควบคุมกำลังใจให้มันทรงอยู่ ใจมันก็คอยจะแยกไปโน่นแยกไปนี่ คิดโน่นคิดนี่ คิดป้วนเปี้ยน เรียกว่านอกรีตนอกรอย อย่างนี้อย่าเพิ่งตกใจว่าเราจะไม่ดี

ถ้าบังเอิญ เราทำกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกควบพุทธานุสสติกรรมฐานไปได้สักนาทีสองนาที จิตนี้ไม่เกิดอารมณ์พล่าน แล้วต่อมามีความรู้สึกกลัวว่า โอ หนอ นี่ใจเราออกนอกลู่นอกทางไปแล้วหรือ เราก็ดึงอารมณ์เข้ามา ดึงอารมณ์เข้ามาจับอานาปานุสสติกรรมฐานให้เป็นปรกติ กับพุทธานุสสติกรรมฐานควบคู่กัน ประเดี๋ยวหนึ่งมันก็ไป มันไปเรารู้ตัวเราก็จับมันมาใหม่

การทำอย่างนี้จงอย่าทำแต่เฉพาะเวลาที่ได้ยินคำสอน จงใช้เวลาของท่านตลอดวัน ที่ทำงานอยู่ พูดอยู่ กินอยู่ ขี้อยู่ เยี่ยวอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ ใช้เวลาเป็นปรกติ

คำว่าเวลาเป็นปรกติ จะถามว่า เวลาพูดรู้ลมหายใจเข้าออกได้หรือ เวลาพูดนั่นจริงๆ เราจะขาดเฉพาะภาวนาเท่านั้น

การกำหนดรู้ลมหายใจหายใจออกเป็นของไม่ยาก เพราะอะไรจึงว่าไม่ยาก ถ้าหากว่าเรารู้ไปด้วย มันเป็นของไม่ยาก มันไม่ได้ห้ามปากของเราพูด

เวลาทำงานจะรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย มันก็ไม่ห้ามมือเราทำ เวลาเราจะเดินไปไหน เราจะรู้ลมหายใจเข้าออก มันก็ไม่ได้ห้ามเดิน

เป็นอันว่าลมหายใจเข้าหายใจออก เราก็ลืมบ้างไม่ลืมบ้างเป็นของธรรมดา แต่ทว่าท่านทั้งหลายมีความเข้มแข็งของจิต ตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนจริงๆ อาการของอารมณ์อานาปานุสสติจะรู้สึกว่าไม่ยาก

แต่ทว่าเวลาที่ท่านทั้งหลายจะฝึกไป ผมขอแนะนำว่า ควรจะตั้งเวลาทรงฌานไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ในขณะที่จิตของท่านเข้าถึงฌาน ด้วยอำนาจพุทธานุสสติกรรมฐานหรือว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน

ในตอนนี้ ผมจะพูดเฉพาะอารมณ์ของอานาปานุสสติกรรมฐาน แต่ทว่าเวลาที่ท่านว่างจากคำพูด พูดคุย เวลาที่พอที่จะภาวนาได้ หายใจเข้านึกว่าพุท หายใจออกนึกว่าโธ ไม่ใช่เป็นของแปลก เป็นของดี ถ้าภาวนาไม่ได้ ปากมันต้องพูด ใจมันต้องคิดอย่างอื่น ก็ใช้แต่อานาปานุสสติกรรมฐาน

อานาปานุสสติกรรมฐานจะทำให้ท่านสบายใจ มีความสุข จงอย่าลืมว่าวันทั้งวัน ผมไม่ได้บอกให้ท่านคิดเรื่องอื่น ให้คิดถึงอานาปานุสสติกรรมฐาน

หากว่าจะมีคำถามเข้ามาว่า ถ้าจะทำงาน ถ้ากำหนดรู้อานาปานุสสติกรรมฐานคือลมหายใจเข้าออก งานมิเสียเหรอ

ผมก็ขอตอบว่า งานที่ท่านทำ มันจะเป็นงานที่ดีที่สุด เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ละเอียด เป็นอารมณ์ทรงสติสัมปชัญญะ ขณะที่เราจะคิดงาน ก็วางอานาปานุสสติกรรมฐานสักครู่หนึ่ง ใช้การคิดพิจารณา

แต่ความจริงคนที่เขาคล่องแล้ว เขาไม่ทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน เพราะว่าขณะที่จับอานาปาฯอยู่ ใช้ขนาดต่ำๆ แค่อุปจารสมาธิ ตอนนั้นอารมณ์จิตมันเป็นทิพย์ เมื่ออารมณ์จิตเป็นทิพย์ ปัญญามันก็เกิด ในเมื่อปัญญาเกิด งานที่ท่านจะทำมันจะมีอะไรยาก

ขอจงพยายามทำกันให้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกี้นี้พูดไปว่า เวลาที่เจริญไป ขอท่านทั้งหลายตั้งเวลากำลังฌานไว้ด้วย นั่นก็คือหาเวลาตั้งไว้ ด้วยการนับก็ดี หายใจเข้าหายใจออกนับเป็น ๑ หายใจเข้าหายใจออกนับเป็น ๒ ก็นับไปเลยก็ได้ถึง ๑๐

และตั้งจิตไว้ว่าตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ นี่ จะไม่ยอมให้จิตของเราแลบไปสู่อารมณ์อื่น ถ้ามันไปสู่อารมณ์อื่นเมื่อไหร่เราจะตั้งต้นใหม่ทันที และหากว่าถ้าถึง ๑๐ แล้วจิตของเราดี มีความสุข เราก็ยังไม่เลิก ตั้งต่อไปอีก ๑๐

เมื่อถึง ๑๐ แล้วยังดีอยู่ เราก็ยังไม่เลิก ต่อไปอีก ๑๐ ในระยะใหม่ๆ แค่ ๑๐ ต้นมันก็ไม่สามารถจะควบคุมได้ แต่เราก็ต้องนำน้ำใจขององค์สมเด็จพระจอมไตรมาใช้ ว่าแค่ ๑๐ ต้นจิตยังซ่านอยู่ สมเด็จพระบรมครูทรงดำริว่า เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งไปก็ตามที ชีวิตินทรีย์จะตายไปก็ตาม ถ้าเราไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ลุกจากที่นี่

เราก็จงคิดว่าถ้า ๑ ถึง ๑๐ นี้เอาดีไม่ได้ จะให้มันตายไปเสียเลย จิตพล่านนิดเริ่มตั้งต้นใหม่ รักษาอารมณ์ใจให้เข้าถึงสุข อย่างนี้เป็นจุดหนึ่ง

แต่เมื่อนานๆไป ถึงครึ่งเดือนแล้ว ถ้าหากว่าท่านยังทำแค่ ๑๐ ผมก็ถือว่าเลวเกินไปสำหรับผ้ากาสาวพัสตร์ หรือว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิงที่อยู่ในเขตนี้ เมื่อถึงเวลา ๑๕ วันผ่านไป ท่านทั้งหลายยังรักษาอารมณ์ถึง ๑๐ ก็คิดว่าไม่ควรจะอยู่ในที่นี้ มันเลวเกินไปสำหรับเขตของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะอะไร

เพราะผมทำมาก่อน ผมรู้ อย่ามาอ้างเหตุอ้างผลใดๆทั้งหมด การอ้างเหตุอ้างผลกับบุคคลที่ผ่านมาแล้วมันไม่เกิดประโยชน์ ทำไม แค่นับ ๑ ถึง ๑๐ มันเป็นเวลานิดเดียว ที่เขาใช้กันกว่าจะถึง ๗ วัน นับ ๑ เป็น ๑๐๐ แล้ว บางที ๒๐๐ ๓๐๐ จิตมันยังสบาย ทำให้มันคล่อง

ถ้าเราทำกันทั้งวัน ไอ้ความยุ่งของจิตมันไม่มี ความโลภมันก็ไม่เกิด ความรักในอารมณ์ต่างๆ ก็ไม่เกิด ความโกรธความพยาบาทมันก็ไม่เกิด ความหลงมันก็ไม่เกิด มันจะเกิดมายังไง เพราะจิตมันมีสภาพรับอารมณ์อารมณ์เดียว

ในเมื่อจิตมันรับอารมณ์ที่เป็นกุศล ทรงสติสัมปชัญญะด้วยอานาปานุสสติกรรมฐาน แล้วอะไรมันจะเข้ามาอีก ที่มันเข้ามาได้เพราะว่า พวกท่านทั้งหลายมีหน้าที่แต่เพียงฟัง ดีไม่ดีกำลังสอนอยู่อย่างนี้ก็ไม่ฟัง ไปฟังวิทยุเสียบ้าง ไปนั่งคุยกันเสียบ้าง ไปทำงานกันเสียบ้าง นั่นแสดงถึงความเลวอย่างหนักของพวกท่านจึงไม่ได้ดี

อันนี้ผมขอพูดแต่เฉพาะคนที่ไม่สนใจ สำหรับท่านที่ดีก็มีอยู่มาก ที่สามารถปราบปรามอารมณ์ร้ายที่มีอยู่ในจิต ความหยาบในจิตหมดไปเหลือแต่ความละเอียด

คนที่มีความหยาบในจิตหมดไป เหลือแต่กองธรรมที่ละเอียด จะดูว่าเขามีความขยันขันแข็งในการงาน จิตใจเขาไม่ได้ฟุ้งซ่านไปในด้านโลกียธรรม มีความมุ่งมั่นโดยเฉพาะว่างานที่ทำนี่มันเป็นอามิสบูชา และการตั้งใจปฏิบัติงานโดยไม่คิดสินจ้างรางวัล มันเป็นปฏิบัติบูชา เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน

หรือที่เราเรียกว่า พุทธัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง เรียกว่า การถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดจนกว่าจะเข้านิพพาน เป็นอย่างนี้

ที่พูดอย่างนี้จะถือว่าไปยกยอปอปั้นหลอกใช้คน ดูน้ำใจของเขาว่าเขาทำงานน่ะเขาทำเพื่อตัวหรือว่าทำเพื่อพระพุทธศาสนา เขาไม่เคยรับฟังว่าจะจ้างเท่าไหร่ ให้รางวัลเท่าไหร่ เขาก็ทำกันด้วยความเต็มใจ การทำอย่างนี้เป็นพุทธบูชา คือเป็นปฏิบัติบูชาตรงในพระพุทธเจ้า กระทำในทรัพย์สินขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่เขาทำกันอย่างนี้ ผมก็ทำมาอย่างนี้ ไม่เห็นว่างานทำลายพระกรรมฐาน เวลาหยิบงานขึ้นมา จิตใจก็ตั้งหน้าโดยเฉพาะในการงานที่เราทำ สำหรับพระที่รักษาสมบัติของพระพุทธศาสนามีการผลัดเวรเปลี่ยนกัน นี่เป็นพุทธัง ชีวิตังจริง ธัมมัง ชีวิตัง สังฆัง ชีวิตังจริงเหมือนกัน เพราะว่ายอมพลีความสุขส่วนตัว เอามารักษาทรัพย์สินของพระศาสนา

เวลาท่านเดินไปเดินมาน่ะ ก็ใช้การเดินเป็นเขตของการจงกรม อย่าปล่อยให้ใจมันเสียเวลา เวลานั่งอยู่ก็จับอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นปรกติ ความจริงงานประเภทนี้ได้กำไรมาก

๑.รักษาทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงความกตัญญูต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.ใช้โอกาสใช้สมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาไปด้วย ช่วยกำลังใจให้มีความสุขเข้าถึงอารมณ์ฌาน

เป็นอันว่า สำหรับวันนี้ ก็ขอแนะนำท่าน ในส่วนที่จะใช้อานาปานุสสติกรรมฐานกับพุทธานุสสติกรรมฐานควบคู่กันไป แต่ว่างานเฉพาะนี้เป็นงานเฉพาะของอานาปานุสสติกรรมฐาน คือจงพยายามใช้กำลังใจให้อยู่ขอบเขต มีความเด็ดเดี่ยว ถือว่าทำไม่ได้ให้มันตายไป

พระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านบรรลุมรรคผล ท่านก็เป็นคนมีสิบนิ้วเหมือนเรา สองมือสิบนิ้ว มือละห้านิ้ว มีอาการ ๓๒ เหมือนเรา ถ้าดูตามประวัติของท่านแล้ว เรากับท่านไม่ต่างกันอะไรนัก เว้นไว้แต่ว่าเรามีกำลังใจเท่าท่านหรือไม่เท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอน ก่อนจะนอนจับลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ จนกว่าจะหลับไป ให้มันหลับไปด้วยการดูลมหายใจเข้าออก ตื่นขึ้นมาใหม่ๆ จะลุกขึ้นมาหรือไม่ลุกก็ตาม เวลาเช้ามืด ใช้อารมณ์ใจให้มันถึงที่สุดทุกวัน

นี่ความจริงผมสอนมาแล้วนะเรื่องนี้นะ เห็นบางท่านที่ผลุบๆ โผล่ๆ น่ะ เป็นอันว่ารู้ ผมรู้ว่าท่านเหล่านั้นไม่ได้สนใจอะไร เป็นที่น่าเสียดาย ชีวิตของท่านที่ตายแล้วมันจะต้องลงนรก เราจะประมาทกันเพื่อประโยชน์อะไร เห็นว่าพระพุทธศาสนาไม่ดีก็สึกไป มันก็หมดเรื่อง ฆราวาสก็เหมือนกัน เห็นว่าเขตพระศาสนาไม่ดีก็ออกไปเสียก็หมดเรื่อง อย่ามาอยู่ให้เปลีองที่ของพระศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร

เพียงแค่รักษากำลังใจเท่านี้ ยังถือว่าลำบาก มันก็ควรแล้วที่จะต้องไปลากโคลนทำงานให้สบายใจตามอัธยาศัยของตน นี่การพูดอย่างนี้ จะถือว่าด่าใครไม่ใช่ เพราะต้องการให้ดี รักษากำลังใจนั้น มันเสียอะไรบ้าง

เวลาเดินไปบิณฑบาต ก้าวเท้าซ้ายหายใจเข้า ก้าวเท้าขวาหายใจออก ทำมันไปจนกว่าจะบิณฑบาตจนกลับ แค่นี้จิตมันก็ทรงฌานแบบสบายๆ อย่าไปหาเวลาที่ไหน

ไอ้ที่เรื่องปรารภอะไรอย่างอื่นภายนอก จงรู้ตัวว่าเราบวชมาเพื่อ นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตังกาสาวัง คะเหตวา เราอธิษฐานว่า ขอรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

ฉะนั้นทางใดก็ตามที่เป็นปัจจัยของพระนิพพานเราต้องทำให้ได้ เราต้องชนะใจ อย่าลืมว่าวันเดียวสองวันมันไม่ชนะ ทำไปมันทุกวันมันต้องถึงคำว่าชนะ คำว่าไม่ชนะไม่มี ถ้าเรามีความพยายาม

ชาวนาน่ะเขาไถนาด้วยควายตัวเดียวไถคันเดียว เนื้อที่ ๓๐-๔๐ ไร่ เขาทำได้ เพราะว่าเขาใช้รอยไถน้อยๆ แต่ว่าไถบ่อยๆ ไม่ยอมหยุด ข้อนี้มีอุปมาฉันใด

แม้แต่อานาปานุสสติกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน มันจะกลุ้มมันจะกลัดประการใดก็ตามที เราถือว่ากิจนี้เป็นกิจที่เราจะต้องทำ ยอมตายมันซะสิ ถ้ามันทำไม่ได้ให้มันตายไป เดินไปเดินมาอย่าทิ้งอารมณ์อานาปานุสสติ เดินไปก็ใช้เท้าเป็นเครื่องวัด ก้าวไปเท้าซ้ายหายใจออก ก้าวไปขวาหายใจเข้า เอามันอย่างนี้เรื่อยๆ ไป อย่าไปนั่งนึกนั่งคิดอะไร

ถ้าท่านทำกันอย่างนี้จริงๆ ผมให้เวลาอย่างเลวที่สุด เพียงแค่เดือนเดียว อารมณ์ฌานในอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นของท่าน สำหรับที่จิตใจของท่านทั้งหลายเข้าสู่อารมณ์ฌาน จะเป็นฌานไหนก็ตาม ฌานก็ดี อุปจารฌานก็ดี ใจของท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีแต่ความเรียบร้อยของจิต มีอารมณ์แนบสนิทในด้านของกุศล ทั้งการจะทำการจะพูดการจะคิดของแต่ละบุคคลเต็มไปด้วยอารมณ์ที่เยือกเย็น ปราศจากเวร ปราศจากภัย ไม่เดือดร้อนในกิจการงานใดๆ ที่มันจะเกิดกับเราหรือมันจะหมดไปจากสภาพของเรา

เอาละ สำหรับวันนี้ ก็ขอเตือนกันไว้แต่เพียงเท่านี้ สำหรับวันพรุ่งนี้จะได้พูดถึงอารมณ์ของฌาน ในขณะที่ท่านทั้งหลายเอาจิตของท่านก้าวเข้าไปสู่ระดับอานาปานุสสติกรรมฐานที่เป็นฌาน แล้วก็อย่าลืมว่า เฉพาะอานาปานุสสติกรรมฐานนี้ ผมจะแนะนำท่านถึงอรหัตตผล จะได้ทราบว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระทศพลแต่ตอนก่อนที่เราปฏิบัติ ควรทำให้ได้ถึงอรหัตตผลได้ทุกจุด

เอาละ ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านทั้งหลาย จงตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าที่ท่านจะเห็นว่า เวลานั้นเป็นการสมควร เพราะว่าผมไม่ให้เวลากับท่าน ให้ท่านทำตามอัธยาศัยของท่าน.

— จบ ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ —

 

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ มีทั้งหมด ๑๘ ตอน

ตอนที่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน
ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ
ตอนที่ ๓ อุปจารสมาธิ
ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน
ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
ตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑)
ตอนที่ ๗ อารมณ์พระโสดาบัน (๒)
ตอนที่ ๘ พระสกิทาคามีมรรค
ตอนที่ ๙ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๑
ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒
ตอนที่ ๑๑ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๓
(รออ่านต่อ)
ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑
ตอนที่ ๑๓ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๒
ตอนที่ ๑๔ พระสกิทาคามีมรรค-โมหะ
ตอนที่ ๑๕ พระอนาคามีมรรค ๑
ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค ๒
ตอนที่ ๑๗ พระอรหัตตมรรค
ตอนที่ ๑๘ พระอรหัตตผล (ตอนจบ)

 

ฟังเสียงธรรม-หลวงพ่อฤาษีฯ สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน ๑๘ ตอน

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อสอนอานาปานสติ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร