ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒
วันนี้พูดกันถึงว่าสกิทาคามีมรรคในด้านของกามฉันทะ เราหาทางตัดกามคุณ โดยอารมณ์ที่เห็นว่ารูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เป็นของดี เรามานั่งพิจารณากันดู ว่ามันดีจริงๆ หรือว่ามันเลว มันทรงตัวหรือเปล่า มันจะทรงตัวสวยสดงดงามอยู่ตามนั้น มันจะหอมหวลยวนใจอยู่ตามนั้น มันจะมีรสอร่อยในการสัมผัสอยู่ตามนั้น มันมีมั้ย
ในที่สุดเราก็มองเห็นว่ามันไม่มี ไม่มีอะไรทรงตัวเป็นปรกติ มันมีการเคลื่อนไปเพื่อสลายตัว มันมีสภาพนำมาซึ่งความทุกข์
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายและพระโยคาวจรทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งท่านพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย เวลานี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ก็เป็นวาระที่ท่านทั้งหลาย จะเริ่มใช้อารมณ์จิตของท่านให้เป็นประโยชน์ เพื่อตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน
สำหรับเมื่อวันวานนี้ กระผมได้พูดถึงเรื่องของ นิพพิทาญาณ ในหมวดของอานาปานุสสติกรรมฐาน ความจริงก็ยังไม่จบ แต่ทว่าจะขอย้อนรอยถอยหลังสักนิดหนึ่งว่า การเจริญพระกรรมฐานที่จะให้ได้ดี ไม่ใช่ว่าเราจะตั้งหน้าตั้งตาทำแต่สมาธิอย่างเดียว หรือว่าจะทำแต่วิปัสสนาญาณอย่างเดียว ถ้าทำแบบนี้ไม่มีผล
การที่จะปฏิบัติให้มีผลจริงๆ นั่นก็คือ ต้องมีอารมณ์สำรวมอยู่เสมอ
คำว่า สำรวม ก็ได้แก่ การระมัดระวัง คือ
หนึ่ง ระวังศีล อย่าให้บกพร่อง
สอง ระวังสมาธิ อย่าให้เคลื่อน
สาม ระวังปัญญา อย่าให้ใช้ไปในด้านของอกุศล
ถ้าท่านทั้งหลายระวังอยู่อย่างนี้เป็นปรกติ ผลแห่งการปฏิบัติไม่เป็นของยากและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิทธิบาท ๔
ฉันทะ มีความพอใจในอารมณ์กรรมฐานที่เราจะพึงปฏิบัติ
วิริยะ มีความขยันหมั่นเพียร รุกไล่กิเลสให้มันพินาศไป
จิตตะ สนใจในเรื่องการเจริญกรรมฐานโดยตรง
วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาควบคุมจิต ว่าเวลานี้จิตของเราตกอยู่ในสภาวะอะไร ตกอยู่ในสภาพของกุศลหรืออกุศล
เป็นอันว่าถ้าท่านทั้งหลายมีอิทธิบาท ๔ ครบถ้วน การเจริญกรรมฐานเป็นของไม่ยากและประการต่อไปก็คือ การเข้าใจ ฟังแล้วคิด คิดแล้วทดลองในการปฏิบัติ การทดลองในการปฏิบัติต้องเป็นการทดลองอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเล่น หากว่าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้เป็นปรกติ ก็เป็นอันว่าการเจริญกรรมฐานเป็นเรื่องเล็กไม่ใช่เรื่องใหญ่
ต่อนี้ไป ก็จะขอเตือนบรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย ว่าการเจริญกรรมฐานที่ดีจริงๆ เราต้องมีศีลบริสุทธิ์เป็นปรกติ อย่าใช้อารมณ์ที่เป็นอกุศลภายนอก กายวาจาให้อยู่ในธรรม อย่าทำกายวาจาให้เข้าไปถึงด้านอกุศล นั่นแสดงว่าจิตมันเลว ถ้าจิตดี กายวาจามันก็ดี ถ้าจิตเลว กายวาจามันก็เลว เราเกิดมาเวลานี้เราต้องการความดีหรือว่าต้องการความเลว ถ้าเราต้องการความดี ก็พยายามทรงความดีไว้ เอาจิตใจคุมไว้ในด้านของความดี วิธีปฏิบัติพระกรรมฐานให้ใช้อารมณ์พิจารณากับอารมณ์ทรงตัวสลับกันไป
เพราะวันนี้จะพูดถึงสังขารุเปกขาญาณ วิธีทรงตัวก็คือ ควบคุมอารมณ์ใจให้เป็นสมาธิตามที่ท่านปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทนี้เป็นบทของอานาปานุสสติกรรมฐาน
และก็อานาปานุสสติกรรมฐานนี่ ท่านจะทำกรรมฐานหมวดใดก็ตาม จะต้องใช้อานาปานุสสติกรรมฐานขึ้นต้นไว้เสมอ ถ้าหากว่าท่านทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานเมื่อไร นั่นหมายความว่ากรรมฐานของท่านจะสลายตัว คือ ศีลก็ไม่ทรงตัว ศีลที่ทรงตัวเขาเรียกว่าสีลานุสสติกรรมฐาน สมาธิก็ไม่ทรงตัว สมาธิทรงตัวเขาเรียกจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิด
นี่เราจะต้องคุมอารมณ์สมาธิ วิธีการคุมอารมณ์สมาธิก็มีทั้งสองแบบ แบบที่หนึ่งคือ ทรงอารมณ์จิตให้หยุด คำว่าหยุดหมายความว่า ใช้คำภาวนาหรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้เป็นปรกติ โดยไม่คิดถึงอารมณ์อื่นใด อย่างนี้เรียกว่าทรงให้หยุด และสมาธิในด้านของการหยุด คือ จิตมันหยุดคิดเรื่องอื่น คิดเฉพาะกิจที่เราจะพึงกระทำ คือคิดถึงคำภาวนา คิดถึงลมหายใจเข้าออกโดยเฉพาะ คำว่าหยุดนี่ไม่ใช่หยุดเลย หยุดอารมณ์อื่น คือทรงอารมณ์ไว้โดยเฉพาะ นี่เป็นแบบหนึ่ง
อีกแบบหนึ่ง ก็ใช้การพิจารณาในด้านกรรมฐานที่จะพึงมีสำหรับการภาวนา หรือว่าด้านวิปัสสนาญาณ คือพิจารณานะครับ ไม่ใช่ภาวนา พิจารณาใคร่ครวญหาเหตุหาผล หาผลเพื่อการละ เมื่อการพิจารณามันเฟื่องเกินไป จิตจะฟู จะออกนอกลู่นอกทาง ก็ทิ้งการพิจารณาเสีย หันเข้ามาจับอารมณ์หยุด คือ อานาปานุสสติควบกับคำภาวนา ว่ายังไงก็ได้ตามใจท่าน จนกระทั่งจิตทรงอารมณ์ตัวดีแล้ว ก็มีความเยือกเย็นดี คลายอารมณ์มาใช้การพิจารณา ถ้าทำสลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ ความเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์เป็นของไม่ยาก อย่าลืมว่าทุกท่านต้องมีอิทธิบาท ๔ ครบถ้วน
วันนี้ขอย้อนรอยถอยหลังไปหานิพพิทาญาณสักนิดนึง ความจริงวิปัสสนาญาณนี่มี ๙ แต่ผมนำมาพูดกับพวกท่านเพียง ๒ ก็เพราะว่าเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่หนัก และก็มีความสำคัญน้อย ความสำคัญใหญ่ในด้านการปฏิบัติ เราก็จับนิพพิทาญาณให้ได้
วันนี้พูดกันถึงว่าสกิทาคามีมรรค ในด้านของกามฉันทะ เราหาทางตัดกามคุณ โดยอารมณ์ที่เห็นว่ารูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เป็นของดี เรามานั่งพิจารณากันดูว่ามันดีจริงๆ หรือว่ามันเลว สิ่งที่เราปรารถนานั่นคืออะไร สิ่งที่เราปรารถนาจริงๆ คือความผ่องใสของรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส
รูปสวย เราชอบ เสียงเพราะ เสียงที่ไพเราะเป็นประโยคจับใจ เราชอบ กลิ่นหอม เราชอบ รสอร่อย เราชอบ สัมผัสเป็นที่ถูกใจ เราชอบ แต่ว่าสิ่งที่เราชอบนั้น มันทรงตัวหรือเปล่า มันจะทรงตัวสวยสดงดงามอยู่ตามนั้น มันจะหอมหวลยวนใจอยู่ตามนั้น มันจะมีรสอร่อยในการสัมผัสอยู่ตามนั้น มันมีมั้ย มีอะไรบ้างในการทรงตัวแบบนี้
ในที่สุดเราก็มองเห็นว่ามันไม่มี ไม่มีอะไรทรงตัวเป็นปรกติ มันมีการเคลื่อนไปเพื่อสลายตัว รูปสวยเดี๋ยวก็เศร้าหมอง เสียงเพราะผ่านไป เสียงของบุคคลคนเดียวกัน เดี๋ยวก็เพราะ เดี๋ยวก็ไม่เพราะ เวลาเขารักเขาชอบใจ เสียงมันก็เพราะ เวลาเขาโกรธหรือเขาเกลียด เสียงมันก็ไม่เพราะ กลิ่นก็เช่นเดียวกัน มันจะหอมตลอดกาลตลอดสมัยได้ไหม มันก็หอมไม่ได้ หอมผ่านจมูกไปแล้วก็หายไป ดีไม่ดีเก็บไว้นานๆ กลายเป็นกลิ่นเหม็น รสที่สัมผัสปลายลิ้นกับกลางลิ้น พอถึงโคนลิ้นมันก็หายไป
การสัมผัสระหว่างเพศ เราปรารถนากันมากว่ามันเป็นสุข แต่ดูคนที่เขามีคู่ครอง เขาสร้างสุขหรือเขาสร้างทุกข์ ความเป็นอิสระของเราไม่มี ถ้าเรามีคู่ครอง เพราะว่าจะต้องมีความห่วงใยในคู่ครองเป็นปรกติ ถ้ามีลูกหลานเหลนขึ้นมาเป็นยังไง ถ้าสภาพของบุคคลที่เป็นคู่ครองของเรา เขาจะสาว เขาจะหนุ่ม สวยสดงดงามตลอดเวลาหรือเปล่า อย่าลืมมองดูคนแก่บ้าง คนที่แก่น่ะเขาหนุ่มเขาสาวกันมาแล้วทั้งนั้น แต่ในที่สุดเมื่อสภาพความแก่เกิดขึ้น มันมีสภาวะเป็นอย่างไร
นั่งมองโลกนี้ว่ามันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การมีคู่ครองเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นึกเอาเอง เพราะว่าทุกคนมีปัญญา ว่ากันโดยนัยแล้ว ไม่มีอะไรทรงตัว มันมีสภาพนำมาซึ่งความทุกข์ แล้วมันน่ารักน่าปรารถนา แล้วก็น่าเบื่อ ใช้ปัญญาพิจารณาดูให้ดี เป็นอันว่าเบื่อ ท่านจะเบื่อหรือไม่เบื่อ แต่ผมเบื่อ ผมถือว่าผมเบื่อแล้ว และก็เบื่อถึงที่สุดของจิต ไม่เคยคิดไม่เคยปรารถนา เพราะว่าเห็นคนก็เหมือนเห็นซากศพ เห็นวัตถุที่มีอาการผ่องใส ก็สลดใจว่ามันผ่องใสไม่นาน เพราะว่าเห็นมันมามาก ผ่านชีวิตมาหลายสิบปี มีความเข้าใจดีในเรื่องนี้
นี้สำหรับท่านจะเบื่อหรือไม่เบื่อ เมื่อนิพพิทาญาณเกิดขึ้น ก็มีหลายคนอยากจะตาย หากว่าท่านจะถามผมว่าอยากตายมั้ย เวลานั้นมันอยากตายจริงๆ เห็นคนเลวเบื่อ เห็นสัตว์เลวเบื่อ เห็นวัตถุธาตุทั้งหลายเบื่อ เห็นบริวารเลวก็สะอิดสะเอียน เห็นเพื่อนเลวก็รังเกียจ รวมความว่าเราหาคนดีกันไม่ได้
คำว่าหาคนดีกันไม่ได้ บางทีเขามีนิสัยดี มีจริยาดี มีจิตซื่อตรง แต่ร่างกายของเขามันไม่ดี ร่างกายของเขามันเดินเข้าไปหาความผุความพัง เดี๋ยวก็เป็นโรคอย่างนั้น เดี๋ยวก็มีอาการอย่างนี้ ความแปรปรวนมันเกิด เลยพบความไม่ดี ก็เลยเบื่อ
บริษัทบริวารก็เหมือนกัน ทุกคนเขาอาจจะเป็นคนดี แต่เขาเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้จริงจัง ไม่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย เพราะว่าเขาต้องตกอยู่ในสภาพของ อนิจจัง-หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง-ความทุกข์มันยุ่งกับเขา อนัตตา-ในที่สุดเขาก็ตาย เป็นอันว่าที่พึ่งของเรา จะพึ่งใครก็ตาม เขาก็แก่ลงไปทุกวัน เขาก็ป่วยทุกวัน เขาก็ตายทุกวัน เป็นอันว่าเราก็จำจะต้องเบื่อ เพราะสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารัก มันมีสภาพเป็นอย่างนั้น เขาเองเขาก็ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่ากฎธรรมดามันบังคับ
ในเมื่อความเบื่อเกิดขึ้นมากๆ ก็อยากจะตาย ในสมัยพระพุทธเจ้า พระจ้างปริพาชกฆ่าเสียหลายสิบองค์ ให้ฆ่าตนและก็ให้เครื่องบริขารเป็นเครื่องรางวัล ฉะนั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารจึงได้ทรงแนะนำว่า ท่านทั้งหลายเมื่อพิจารณากายแยกออกเป็นชิ้นเป็นส่วนแล้ว จงรวมเข้าไว้ก่อน คำว่ารวมเข้าไว้ก่อนก็หมายความว่า อย่าเพิ่งทิ้งมัน ถ้าถึงเวลา มันพังของมันเอง ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา นั่นก็คือใช้สังขารุเปกขาญาณ
ถ้าเป็นญาณในโลกียฌาน เราเรียกว่า อุเบกขา แปลว่าวางเฉยในอารมณ์ แต่ว่าในด้านวิปัสสนาญาณ เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ คือ ใช้ปัญญารู้ตามความจริง แล้วก็มีความวางเฉยในเรื่องของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ของเรา ขันธ์ ๕ ของเขา เราก็เฉยหมด เฉยเพราะว่าอะไร
เพราะว่ามันจะพังก็ช่างมัน มันไม่พังก็ช่างมัน มันจะหนุ่มก็ช่างมัน มันจะสาวก็ช่างมัน มันจะป่วยก็ช่างมัน มันจะแก่ก็ช่างมัน มันจะตายก็ช่างมัน ทำไมจึงช่าง ก็เพราะธรรมดาเขาเป็นอย่างนั้น ทำจิตของเราให้สบาย ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ถือว่าธรรมดามันเป็นอย่างนี้ เราไม่มีทางจะเลี่ยง อาการมันเกิดขึ้น จิตเราไม่วุ่นวาย จะเกิดยังไงก็ช่าง ถือว่าขันธ์ ๕ อันนี้ไม่ช้ามันก็พัง พังเมื่อไหร่เราไปนิพพานเมื่อนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราก็หันเข้ามาถึงเรื่องกามฉันทะ ในสกิทาคามีมรรคและสกิทาคามีผล เรายังตัดกันไม่ได้เด็ดขาด ในเรื่องกามฉันทะ หรือโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ แต่ก็บรรเทาลงมาก คล้ายๆ กับจะได้อานาคามีผล
ที่นี้วิธีที่เราจะระงับมันได้จริงๆ อย่าลืมว่า ต้องใช้กรรมฐาน หนึ่ง กายคตานุสสติและอสุภกรรมฐาน ประจำใจไว้เสมอ ให้มีความรู้สึกทรงตัว เรื่องความรักในเพศหยุดที เรียกว่าหยุดกันเสียที เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ สิ่งที่เรารักมันสกปรก ตามที่พูดมาแล้วอย่าย้ำให้มากเลย ในเมื่อมันสกปรกโสโครกอย่างนั้น จะเอาอะไรมาดี
แล้วก็นำมรณานุสสติกรรมฐานเข้ามา ว่าคนที่เรารักนี่ไม่ช้าก็ตาย ตายแล้วมันน่ารักตรงไหน เป็นอันว่าคนที่เรารัก ก็คือเรารักส้วมเคลื่อนที่นั่นเอง มันเต็มไปด้วยความสกปรก เต็มไปด้วยความโสโครก และในที่สุดก็ต้องมาเป็นผีตาย และร่างกายของเราก็มีสภาพอย่างนั้น ในเมื่อเรากับเขามีสภาพเสมอกัน ต่างคนต่างสกปรก ต่างคนต่างไม่ทรงตัว ต่างคนต่างตาย จะมานั่งรำพึงรำพันด้วยความรักมันด้วยประโยชน์อะไร ใจก็วางเฉย
จะมายังไงก็ช่าง เห็นคน ทำจิตให้สภาพเหมือนเห็นศพ เห็นผิวพรรณก็ดูภายใน แม้แต่ผิวพรรณเขาก็สกปรก มันไม่ได้สะอาด ที่นี้สภาวะของจิตมีความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายนี่มันท้อแท้ใจ เราก็ทำใจวางเฉยในสังขารุเปกขาญาณ ว่าสภาพความสกปรกอย่างนี้ สภาพวุ่นวายของความรักอย่างนี้ มันไม่มีสำหรับเราแล้ว เราจะไปยุ่งอะไร ใครจะมา ใครจะไปยังไง เราก็เฉย
อันดับแรกอยู่ลืมว่า มึงมากูมุด คำว่ามึงมากูมุด มึงหยุดกูแหย่ มึงแย่ก็ตี มึงหนีกูตาม มึงมากูมุดนั่น หมายถึงว่า ถ้าเห็นว่าสภาวะที่เราจะพึงรับเป็นกามฉันทะ เราก็มุดเข้าไปหา อสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติ แล้วจับสักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร เป็นธาตุ ๔ ที่ตัณหาสร้างขึ้น ใช้เป็นเรือนร่างชั่วคราว ใจก็มีอารมณ์สบาย เมื่อจิตมีอารมณ์สบาย ใจมันเฉย อารมณ์มันเบา
อย่าลืมนะครับ อารมณ์ของสมถะที่เป็นฌาน มันก็มีสภาพคล้ายๆ ความเป็นอรหันต์เหมือนกัน แต่อารมณ์หนัก แนบแน่น หนักหน่วง แต่อารมณ์ตัดจริงๆ เป็นอารมณ์เบา มีความสบายๆ เฉยๆ เหมือนกับไม่มีอะไรมาถ่วงใจ ใจเบา ใจสบาย ความรักในระหว่างเพศมันไม่มี
อาการอย่างนี้เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ ในเฉพาะกามฉันทะที่เราจะพึงตัด แต่อย่าลืมว่าอารมณ์ของพระสกิทาคามี ยังตัดกามฉันทะไม่ได้เด็ดขาด แต่ทว่าก็สามารถที่จะระงับอารมณ์ไว้ได้มาก นานๆ จะมีอารมณ์เกิดสักครั้งหนึ่ง ในเรื่องของการมีความรู้สึกในกามารมณ์
นี้เป็นอันว่าเราเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณ อารมณ์ใจสบาย สบายในตอนนี้เรียกว่าเบาลงไปมาก ความรู้สึกในระหว่างเพศ มันจะมีขึ้นมาบ้างสำหรับพระสกิทาคามี แต่ว่ามีแล้วมันถอยหลังเร็ว ถอยไปไหน มันหลบเข้าไปหาอสุภสัญญา อย่าลืมนะขอรับ อันนี้ต้องทำกันให้ชิน จะว่าเห็นหรือไม่เห็น มีความรู้สึกเท่ากัน ถ้าอารมณ์รักเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ผลักให้มันล้มไปเมื่อนั้น
ใจเรา ผมอยากจะพูดว่า คำว่า มึงมากูมุด เราควรจะพูดใหม่ว่า กูมุดตั้งแต่มึงยังไม่มา มุดตรงไหน มุดเข้าไปอยู่ในอสุภสัญญา คือ ในอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติ จิตจับอารมณ์ให้ทรงตัวไว้ นั่งนึก นอนนึก จิตพิจารณาอยู่ว่า ใครหนอในโลกนี้ที่จะมีร่างกายสะอาด ร่างกายของบุคคลใดที่เป็นปัจจัยของความสุข มันไม่เป็นปัจจัยของความทุกข์
สมมติว่าเราจะมีคู่ครองสักคน ปรกติในยามเช้าตื่นขึ้นมา เราเข้าห้องน้ำห้องส้วม ไม่เข้าไม่ได้ เสร็จแล้วล้างปากล้างหน้า ต่อมาก็รับประทานอาหาร ทำกิจการงานทุกอย่างก็จะหมดวัน เมื่อสิ้นวันสิ้นเวลาแล้ว เราก็นอนพัก สิ้นงาน ตื่นมาก็ทำงานใหม่ ที่นี้เราจะหาคู่ครองสักคน ที่ได้มาครองแล้วงานทุกอย่างไม่ต้องทำ หน้าไม่ต้องล้าง ปากไม่ต้องล้าง ข้าวไม่ต้องกิน มันสะอาดผ่องใส มันอิ่มอยู่ตลอดเวลา เรามีคู่ครองแล้ว เราจะต้องไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ถ้าหาได้อย่างนี้แล้วก็ควรจะหา
ถ้าบังเอิญหาไม่ได้อย่างนี้ เราก็มุดอยู่ในอสุภสัญญากับกายคตานุสสติกรรมฐาน บวกกับสักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่ช้ามันก็พัง เราติดอยู่ในร่างกาย ในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ก็ชื่อว่าเราติดอยู่ในทุกข์ เราหาความสุขไม่ได้ จนกระทั่งมีอารมณ์ใจเย็น เย็นสบาย ไม่วิตกไม่กังวลเรื่องความรักในระหว่างเพศ ไม่วิตกไม่กังวลในเมื่อพบรูปสวย เราก็เห็นว่ามันไม่สวย ฟังเสียงไพเราะ เราเห็นว่ามันเป็นอนัตตา มันหายไป กระทบกลิ่นที่หอมหวานหอมหวลยวนใจ เราก็ถือว่ากลิ่นเดี๋ยวก็หายไปด้วยอำนาจของลม
แล้วหากว่าจะมีการสัมผัส ก็ถือว่านี่เรากระทบซากของผี แต่จิตใจของเรายิ้มอยู่เสมอ ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นมาร ที่เราเรียกกันว่ากิเลสมาร จนกระทั่งจิตใจของบรรดาพวกท่านทั้งหลาย นานๆ จะมีอารมณ์ราคะเกิดสักครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมีความรู้สึกตัว จิตบอกว่านี่มึงมาอีกแล้วหรือ เจ้าภัยใหญ่ เจ้าตัวร้าย มาอีกแล้วหรือ จิตมีความรู้สึกอย่างนี้ ในที่สุดอารมณ์ก็สิ้นไป
เมื่อความรักในเพศ หรือความรักในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เกิดขึ้นเมื่อใด อารมณ์ใจคือปัญญา โผล่ขึ้นมาตัดทันทีทันใด อย่างนี้เราเรียกกันว่าสกิทาคามีผลในด้านของราคะจริต จิตที่มีความรักสวยรักงาม แต่ยังนะขอรับ ยัง ยังไม่เต็มสกิทาคามีดี เพราะเราเริ่มตัดกันเพียงแค่ราคะ แต่ก็อย่าลืมว่าถ้าเราจะตัดกิเลสตัวใดตัวหนึ่ง ที่มันเป็นตัวนำ ในราคะก็ดี ในโลภะก็ดี ในโทสะก็ดี ในโมหะก็ดี ถ้าตัวใดตัวหนึ่งมันพังลงไปแล้ว ทุกตัวมันก็พลอยพังด้วย เพราะมันไม่สามารถจะช่วยกันพยุงได้
รากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย องค์สมเด็จพระจอมไตร กล่าวว่ามีอยู่ ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือว่าโลภะ โทสะ โมหะ มันเป็นโต๊ะ ๓ ขา ในเมื่อมันหักไปสักขา อีก ๒ ขาก็ไม่สามารถจะยันได้ฉันใด รากเหง้าของกิเลสทั้ง ๓ ประการนี่ก็เช่นเดียวกัน หากว่าท่านทั้งหลายทำลายราคะเฉพาะตัวนี้ให้พินาศไป จนกระทั่งกำลังใจทรงเป็นอุเบกขาญาณ ไม่หวั่นไหวในรูปเสียงกลิ่นรสและสัมผัส อย่างนี้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาค ระวังให้ดีนะครับ บางทีท่านไม่อยู่แค่สกิทาคามี และบางทีท่านก็ไม่อยู่ในเขตพระอนาคามี ดีไม่ดีปุบปับเป็นอรหันต์ทันที
เอาละสำหรับวันนี้ มองดูเวลาก็หมดแล้ว ขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงพากันตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามที่ท่านเห็นว่าสมควรแก่เวลา ถ้าชอบใจอย่างไหน ทำอย่างนั้น ชอบใจอิริยาบถอย่างไหน ทำอย่างนั้น เรื่องอิริยาบถนี่บอกกันมาเป็นปรกติ ว่าจะนั่งก็ได้ จะนอนก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ แต่ก็ยังมีหลายรายไม่มีความพอใจ เป็นที่น่าเสียดาย เอาละเวลาหมดแล้ว สำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ มีทั้งหมด ๑๘ ตอน
ตอนที่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน
ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ
ตอนที่ ๓ อุปจารสมาธิ
ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน
ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
ตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑)
ตอนที่ ๗ อารมณ์พระโสดาบัน (๒)
ตอนที่ ๘ พระสกิทาคามีมรรค
ตอนที่ ๙ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๑
ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒
ตอนที่ ๑๑ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๓(รออ่านต่อ)
ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑
ตอนที่ ๑๓ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๒
ตอนที่ ๑๔ พระสกิทาคามีมรรค-โมหะ
ตอนที่ ๑๕ พระอนาคามีมรรค ๑
ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค ๒
ตอนที่ ๑๗ พระอรหัตตมรรค
ตอนที่ ๑๘ พระอรหัตตผล (ตอนจบ)