ปัญหาเครื่องรางของขลังและพระบรมสารีริกธาตุ

ปัญหาเครื่องรางของขลังและพระบรมสารีริกธาตุ
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ปัญหาเรื่องนี้ได้นำคำตอบของหลวงพ่อ มาเพื่อความกระจ่างของความหมายที่อยู่ในความรู้สึกของท่านพุทธศาสนิกชนบางท่าน ที่ยังเข้าใจไม่ครบถ้วน ในความหมายของคำว่า เครื่องรางของขลัง ซึ่งในปัจจุบันนี้บางท่านมีความเข้าใจไปว่า พระที่ชอบแจกเครื่องรางของขลังจะทำให้คนติดอยู่ในวัตถุว่าหลงใหลงมงาย ปัญหานี้โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา นำมาถามกันอยู่เสมอ ซึ่งหลวงพ่อท่านได้กรุณาอธิบายว่า

“ความมุ่งหมายในการใช้พระคล้องคอ โดยมากพวกเรามักจะเข้าใจผิดกัน ที่พระท่านทำพระไว้ให้คล้องคอ ก็หมายถึงว่า บุคคลใดที่มีใจเคารพในพระพุทธเจ้า มีใจเคารพในพระธรรม มีใจเคารพในพระอริยสงฆ์ แต่ทว่ามีกำลังใจที่เข้าถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ ยังอ่อนอยู่

ฉะนั้นจึงได้ทำรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าก็ดี รูปเปรียบของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ดี ที่เป็นที่เคารพนบถือห้อยคอไว้ ถ้าหากว่าเรานึกถึงพระท่านไม่ออก จะได้นำพระขึ้นมาดู รูปนี้เป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแนะนำให้เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามระบอบแห่งความดีที่เรียกกันว่า พระธรรมวินัย

นี่เป็นความจริง เป็นความมุ่งหมายของผู้ทำ ต้องการอย่างนี้ หมายความว่า คนที่มีพระห้อยคอ ก็ควรจะทำใจอย่างพระ หรือมิฉะนั้นคนที่มีพระห้อยคอ ก็ควรจะทำตามที่พระแนะนำ ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่ว่าพวกเราก็กลับมาพลิกแพลงเสีย เอาพระไปตีกับชาวบ้านเขา ไปยุให้พระตีกัน

พระที่นำมาห้อยคอนี่ พระท่านทำขึ้นมา ก็ด้วยอาศัยอำนาจของพระพุทธานุภาพนะ อำนาจของพระพุทธานุภาพนี่ สามารถที่จะช่วยคนที่ไม่ถึงอายุขัย ให้พ้นจากอันตรายได้

ที่เรียกว่า พระเครื่อง อันนี้ใช้ได้ แต่ถ้าหากจะเรียก เครื่องรางของขลัง อันนี้ใช้ไม่ได้ พระทุกองค์ท่านทำมาไม่ใช่ของขลัง ท่านทำมาด้วยวิชาที่เขาเรียกว่า พุทธศาสตร์ ไม่ใช่ ไสยศาสตร์

พุทธศาสตร์ กับ ไสยศาสตร์ มีค่าต่างกัน
พวก ของขลัง นี่เป็น ไสยศาสตร์ เขาทำมาเพื่อทำลาย
สำหรับ พุทธศาสตร์ เขาทำมาเพื่อการสงเคราะห์ เพื่อให้บุคคลที่มีพระประเภทนี้ไว้ ถ้ามีจิตใจเคารพในคุณพระรัตนตรัย ถ้าไม่ถึงอายุขัย ถ้าอันตรายของชีวิตถึงจะเกิดขึ้น ก็สามารถปลอดภัยจากอันตรายนั้นได้”

(ต่อไปนี้เป็นคำตอบปัญหาของหลวงพ่อในเรื่องนี้)

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ อ่านประวัติหลวงพ่อปานแล้วมีความรู้สึกว่า ถ้าเรามีวัตถุมงคลที่มีพลังสูง เช่น ยันต์เกราะเพชร ก็ดีนะคะ ตอนที่ลาวปล่อยของมาแล้ว ของอื่นแตกหมด แต่ยันต์เกราะเพชรนี้อยู่ ไม่เป็นไร ทำให้นึกอยากได้ของที่แจ๋วๆ อย่างนั้นค่ะ”

หลวงพ่อ :- “จะเอาเพชรสีอะไรล่ะ สีน้ำมันก๊าด? จะไปยากอะไร

ยันต์เกราะเพชร บทเสกกับบทเขียนก็มี พระพุทธคุณ คือ อิติปิโส บทต้น แล้วก็ทุกวันต้องบูชาด้วย อิติปิโส ๑ จบ

มีพระองค์ไหนก็เหมือนกัน หรือมีพระคล้องคอ เวลาสวด อิติปิโส ก็นึกถึงบารมีของพระพุทธเจ้า ห้องที่สองนึกถึงบารมีพระธรรม ห้องที่สามนึกถึงบารมีพระอรหันต์ทั้งหลาย

พวกบูชายันต์เกราะเพชร ก็ต้องใช้บทนี้เป็นประจำ ถ้าไม่ใช้ประจำ ฉันก็ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มครองได้นะ”

ผู้ถาม :- “ก็แสดงว่ายังมีวัตถุมงคลที่มีพลังสูงจริง”

หลวงพ่อ :- “มันอยู่ที่เราด้วย ทำมาให้ดีแล้ว เราดีเท่าของหรือเปล่า ถ้าเรามีความเข้มแข็ง แล้วเราก็ดีเท่าของ อย่างเขาเอารถยนต์มาให้เรา เราใช้ไม่เป็น รถยนต์ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยใช่ไหม…เขาให้มาแล้ว เราก็ใช้ให้ถูกทางด้วย ก่อนที่จะใช้ก็ต้องหาน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเผาอะไรพวกนี้ใช่ไหม…

ก็เหมือนกัน เมื่อได้พระมาแล้ว นึกน้อมความดีของพระ นึกถึงความดีของพระ ไม่มีอะไรมาก อิติปิโส บทเดียวพอ ทุกๆ วัน ตอนเช้าตื่นขึ้นมานึกถึงบารมี นึกถึงพระที่เรามีอยู่”

ผู้ถาม :- “บางคนห้อยพระราคาเป็นแสนก็ตาย”

หลวงพ่อ :- “ถ้าถึงวาระก็ต้องตาย ความจริงที่ให้มีพระคล้องคอ ท่านมีความหมาย ให้ทำใจเป็นพระ ว่าเราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสอนในหลักใหญ่ ๓ ประการ

๑.สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง พวกเธอทั้งหลาย จงอย่าทำความชั่วทุกอย่าง
๒.กุสะลัสสูปะสัมปะทา จะสร้างแต่ความดี
๓.สะจิตตะปริโยทะปะนัง จงทำจิตให้ผ่องใสจากกิเลส

แล้วก็ลงท้ายว่า
เอตัง พุทธานะสาสะนัง เราขอยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์ สอนอย่างนี้เหมือนกันหมด

นี่ท่านต้องการทำจิตให้เป็นพระ ไม่ใช่เอาพระไปตีกับชาวบ้าน บางทีพาพระไปขโมยเขาเสียอีก พระขโมยของตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป ศีลขาดหมดแล้ว พาพระไปกินเหล้าเป็นปาจิตตีย์ พาพระไปเล่นการพนัน พระก็ถูกสึก ไมไหว ใช่ไหมคุณ”

(และปัญหาข้อสุดท้ายเรื่อง พระบรมสารีริกธาตุ)

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ กระผมมี พระธาตุ อยู่องค์หนึ่ง เราจะมีวิธีดูยังไงครับ จึงจะรู้ว่าเป็นของพระองค์จริง…?”

หลวงพ่อ: “ฉันไม่ดูเลย ฉันคิดว่าจะบูชาอะไรก็ตาม ถ้าใจเรานึกถึงพระพุทธเจ้าก็ใช้ได้หมด จะมัวไปนั่งติดธาตุอยู่ทำไม เราหาองค์ท่านไม่ดีรึ ใช่ไหม…เรามีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ แต่ไม่นึกถึงท่านเลย จะเกิดประโยชน์อะไร

ประโยชน์จริงๆ ก็คือว่า ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้าเพียงใด นั่นผลจึงจะเกิด ถ้าเรามีอยู่ เราไม่เคารพ ก็ไม่มีความหมาย ดีไม่ดีจะเกิดเป็น การปรามาส เข้าอีก จะซวยใหญ่ ใช่ไหม…ว่าตรงไปตรงมานะ

แต่ว่าถ้าเรามีอยู่จริง เราเคารพจริง ก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวดีเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ดี เอาอย่างนี้ดีกว่า จริงหรือไม่จริงเราก็ไหว้ เรานึกถึงพระพุทธเจ้าก็หมดเรื่อง ยังไงๆ ก็ถึงพระพุทธเจ้าแน่”

ผู้ถาม :- “ถ้าหากว่าบ้านมี ๒ ชั้น แล้วเอาพระพุทธรูปไว้ข้างล่าง ถ้ามีคนเดินผ่านชั้นบนจะเป็นไรไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราไม่ได้ตั้งใจปรามาส ก่อนขึ้นก็ไหว้ ขอขมาอภัยท่าน”

ผู้ถาม :- “แต่ถ้าหากเป็นพระธาตุนี่เอาไว้ชั้นล่าง ไม่ได้ใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “มันก็ครือกัน แล้วแต่ถ้าหากว่าไม่มีความจำเป็นอะไร ก็เอาไว้ชั้นบนก็ดี ใจจะได้สบาย พระพุทธรูปก็เหมือนกัน แต่ถ้าจำเป็นกรณีพิเศษ เราเดินขึ้นไปโดยไม่มีใจปรามาสก็ไม่เป็นไรนะ”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๑๑๑-๑๑๕ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน ปัญหาเครื่องรางของขลังและพระบรมสารีริกธาตุ

ปัญหาการเข้าทรง

ปัญหาการเข้าทรง โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ อยากจะกราบเรียนถามว่า ผีที่มาเข้าทรง มันมาเข้าทางไหนคะ?”

หลวงพ่อ :- “คุณให้เข้าทางไหนล่ะ ฉันไม่เคยเห็นเข้าใครเลยนี่ ถ้าเข้าไปเหม็นขี้ตาย”

ผู้ถาม (หัวเราะ)

หลวงพ่อ :- “นั่นเขาไม่ได้เข้า เราใช้ศัพท์ผิดเองต่างหาก เขาอยู่ข้างนอก แต่เขาใช้กำลังจิตบังคับคน ฉันเคยเห็นเขาอยู่นอก อย่างเป็นผีเข้าก็ดี เจ้าทรงก็ดี เขาอยู่ข้างนอก ถ้าเป็นเทวดาอยู่สูงกว่า เขาใช้กำลังจิตบังคับ คือกำลังจิตคนนั้นสู้ไม่ได้

คุณจะเห็นว่าคนที่ผีเข้าก็ดี คนที่เข้าทรงก็ดี พวกนี้ตกใจง่าย จิตใจอ่อน ถ้าไม่ตกใจง่าย จิตใจอ่อน ไม่มีทางเข้าได้ เราใช้ศัพท์ว่าเข้า แต่ความจริงเขาไม่ได้เข้า”

ผู้ถาม :- “แล้วทำไม จะต้องมีวิญญาณอื่นเข้ามาแทรกแซง ขอให้เป็นร่างทรง ทำไมต้องเป็นแบบนี้…?”

หลวงพ่อ :- “ถามว่าทำไมจะต้องมาทรง ฉันไม่รู้นะ ต้องให้ตายเสียก่อน แต่ว่าการทรงนี้เราต้องสังเกตนะ ที่เขามาเข้าทรงเราอย่าไปตำหนิว่าเขาไม่ดี หรือว่าเขาทรงเราอย่าเพิ่งชมเขาว่าดี ต้องดูเหตุผล คือว่าเหตุผลที่เขาพูดออกมา เขาสั่งออกมา จะมีผลตามที่เขาพูดไหม

เพราะว่าพวกที่เข้ามาทรงเป็นคนหลายชั้น ถ้าเป็นอสุรกาย หรือสัมภเวสี นี่เขาก็มีความสามารถตามที่เขาสามารถ เขารู้ได้แต่ว่ามันระยะสั้นๆ และถ้าเป็นอากาศเทวดา เขาจะมีความสามารถสูงกว่านั้น และถ้าเป็นพรหม ก็มีความสามารถสูงกว่า

เราจะสังเกตได้ว่าถ้าเป็นพรหม เขาจะมาเฉพาะวัน ถ้ามาวันนี้ เขาจะบอกวันไหนเขาจะมาอีก แต่เขาไม่มาทุกวัน และใช้เวลาน้อย เขาพูดน้อย

สมมุติว่าเขาจะมารักษาใคร เขาจะบอกเลยว่า วันนั้นจะมีคนเป็นโรคอะไรมา เขาจะเตรียมยาไว้เลย แล้วก็วันที่เขาบอกไม่มา อย่าไปเชิญเขานะ เขาไม่มา

ทีนี้คนทรงที่มีเทวดาและพรหมมาทรง อันนี้ก็มีแทรกได้เหมือนกัน เราก็ไม่โทษคนทรง เพราะคนทรงเป็นคนใจอ่อน คือใครเข้าก็ได้ง่ายๆ บางทีพอเริ่มเชิญ เทวดาประจำหรือพรหมประจำตัว แทรกมันมาก่อน

เคยถามเหมือนกันว่าทำไมปล่อยเขาเข้ามา เขาเข้าไปแล้วนี่ เขาก็เคารพกันอยู่แล้ว เขาเกรงใจเหมือนกัน แต่ตัวแทรกนี่เขาก็มีความสามารถ ป่วยไข้ไม่สบายเขาก็รักษาได้ ถามอะไรเขาก็บอกได้ เขามีสภาพเป็นทิพย์เหมือนกัน”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๑๐๙-๑๑๐ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน ปัญหาการเข้าทรง

ปัญหาการบริโภคเนื้อสัตว์

ปัญหาการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “เรื่องการถวายอาหารพระนะครับหลวงพ่อ เวลาอุบาสิกานำอาหารไปถวายพระ แล้วก็เอาอาหารพวกเนื้อสัตว์ไปถวาย จะบาปไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ถามไม่ละเอียดนี่ อาตมาตอบไม่บาปเลยก็ได้ คือ เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าแล้วและไปซื้อมา เราไปบังคับให้เขาฆ่าเมื่อไรล่ะ ใช่ไหม…?”

ผู้ถาม :- “ถ้าเราไม่กิน เขาก็ไม่ฆ่า”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเขาไม่ฆ่าเราก็ไม่ซื้อ เราไม่ซื้อเขาก็ฆ่า เราไม่ซื้อคนอื่นซื้อ เขาก็ฆ่า ถ้าเราสั่งให้เขาฆ่าซิ “วันนี้ไก่ ๓ ตัวนะ” “วันนี้ขอหมูให้ฉัน ๑ ขานะ” “พรุ่งนี้จะแต่งลูกสาว เอาวัว ๓ ตัว หมู ๓ ตัวนะ” อย่างนี้บาป ตั้งแต่เริ่มสั่ง พระยายมบันทึกแล้ว บันทึกตั้งแต่สั่งแล้ว ถ้าตายไปก่อน รับวัวรับหมูนะ ลงเลย”

ผู้ถาม :- “ก็หมายความว่า บาปเฉพาะ คนสั่งฆ่า กับ คนฆ่า…”

หลวงพ่อ :- “คนไหนฆ่าสัตว์คนนั้นก็บาป คนไหนสั่งคนนั้นก็บาป เราซื้อที่เขาฆ่ามาขาย กินเท่าไรเราก็ไม่บาป เพราะไม่เป็นบาป พระพุทธเจ้าจึงไม่ห้าม ที่ไม่ห้ามเพราะว่าเขาฆ่าเป็นปกติอยู่แล้ว

คำว่า บาป นี้แปลว่า ชั่ว บุญ แปลว่า ดี ทำชั่วแปลว่าบาป ทำดีเรียกว่าบุญ ทีนี้ชีวิตเขามีอยู่เราไปฆ่าเขา ชีวิตของเรา เราก็ไม่ต้องการให้คนอื่นเขาฆ่า ถ้าเราไปฆ่าเขาเราก็เป็นคนชั่ว

ฉะนั้นถ้าเขาไปฆ่ามาแล้ว เราไปซื้อกิน อันนี้ไม่ชั่ว เพราะไม่ได้สั่งให้เขาฆ่า แต่ว่าถ้าเอาเนื้อมาแล้วบอก “เฮ้ย พรุ่งนี้เพิ่มหน่อยซีเว้ย” ทีนี้เอาแน่ ต้องว่ากันอย่างนี้นะ”

ผู้ถาม :- “มีคนเขาบอกว่า การฆ่าสัตว์ คนฆ่าไม่บาปเท่าไร แต่คนกินบาป และเขายังบอกอีกว่า ถ้าไม่กินแล้วใครจะฆ่า”

หลวงพ่อ :- “คิดเอาเองมากกว่า คนกินเขาไม่ได้สั่งให้ฆ่า นี่เขาฆ่าขาย ถ้ามีขายเขาก็ซื้อกิน จะไปโทษคนกินเขาไม่ได้หรอก ถ้าคนกินสั่งให้เขาฆ่า อันนี้จึงบาป ไม่งั้นพระพุทธเจ้าคงจะห้ามพระฉันเนึ้อสัตว์ นี่เขาว่ากันเอาเอง ไม่ถูกหลักเกณฑ์อะไรหรอก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราถือเจตนาเป็นตัวกรรม เจตนา แปลว่า ตั้งใจ ถ้าตั้งใจคิดจะฆ่า แล้วลงมือฆ่า อันนี้บาปแน่”

ผู้ถาม :- “ถ้ารับประทาน อาหารมังสวิรัติ จะตัดกิเลส ได้หรือเปล่าคะ…?”

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน ปัญหาการบริโภคเนื้อสัตว์

อุปฆาตกรรม-กรรมตัดรอน

อุปฆาตกรรม โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ อุปฆาตกรรม หมายความว่าอย่างไรคะ…?”

หลวงพ่อ :- “คำว่า อุปฆาตกรรม หมายถึงว่า กรรมที่มาตัดรอนระหว่างชีวิต คือ มันยังไม่หมดอายุขัยก็ตายเสียก่อน แทนที่จะมีอายุครบ ๖๐ ปีตามอายุขัย แต่อายุ ๓๐-๔๐ ปี กรรมที่เป็นอกุศลกรรม คือที่เราทำบาปไว้แต่ชาติก่อน ด้วยจากปาณาติบาตมาตัดชีวิตเสียก่อน”

ผู้ถาม :- “มีวิธีที่จะพ้นกรรมประเภทนี้ไหมคะ อย่างเช่น ถ้าเรา ปล่อยปลา หรือ สะเดาะเคราะห์ อะไรพวกนี้แหละค่ะ…?”

หลวงพ่อ :- “ปล่อยปลา นี่เขาถือว่าตัดอุปฆาตกรรมได้ เราปล่อยสัตว์ให้รอดนี่มันจะกันได้ แต่ที่ให้หมอดูไป สะเดาะเคราะห์ หมอบอกว่าต้องเสียเท่านั้นเท่านี้ พอสะเดาะเคราะห์เสร็จหมอหมดเคราะห์ไป ๓-๔ หมื่น คนที่สะเดาะเคราะห์เพิ่มเคราะห์ไป ๓-๔ หมื่น เป็นไง…เราก็เอาแบบของเรานั่นแหละ ได้ผลแน่นอนกว่า”

ผู้ถาม :- “ปล่อยปลาอะไรดีคะ…?”

หลวงพ่อ :- “เขาไม่จำกัดว่าปลาอะไร แต่ว่าปลานั้นจะมันต้องไม่ตาย ต้องเป็นปลาที่มีชีวิต”

ผู้ถาม :- “บางคนเขาก็บอกว่า ปลาที่เราปล่อยแล้วจะทานไม่ได้ใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าปลานั้นมันจะต้องตาย เราก็เอาไปปล่อย เพื่อเป็นการช่วยชีวิต จะเป็นปลาอะไรก็ตาม สัตว์อะไรก็ตาม เราปล่อยให้มันรอดชีวิต เป็นเมตตาจิตใช่ไหม จะต้องไปนั่งเลือกทำไม บางคนเลือกปล่อยปลานั้นปลานี่ บางทีไอ้ปลาไม่ค่อยจะตายก็ปล่อย”

ผู้ถาม :- “แล้วเราจะปล่อยแทนคนอื่นได้ไหม…?”

หลวงพ่อ :- “ได้…แต่ว่าเขาไม่มีผลนะ”

ผู้ถาม :- “ถ้าเราปล่อยแล้ว เราอุทิศส่วนกุศลได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเขายังไม่ตาย ไปอุทิศส่วนกุศลเขาจะได้รับยังไงล่ะ เราเอาแบบนี้ซิ เราก็เอาปลาไปให้เขาซิ บอกว่าตั้งใจปล่อยปลานะ ฉันหาปลามาปล่อย ให้ปลามันรอดชีวิต เท่านั้นแหละ ถ้าเขาอนุโมทนา คือยินดีด้วยความเต็มใจ เป็นอันว่าเราปล่อยสัตว์ด้วยมีจิตเมตตา คิดจะช่วยให้รอดพ้นจากการถูกขังก็ดี เห็นว่ามันจะต้องตายก็ดี อันนี้เป็นของดี เป็นการช่วยชีวิตเขา และเราก็รอดพ้นจากอุปฆาตกรรมด้วย”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๙๘-๙๙ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน อุปฆาตกรรม-กรรมตัดรอน

๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๕ วันมรณภาพหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

      ร่วมใจกันน้อมรำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาล อันหาประมาณมิได้ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) ที่มีต่อลูกหลานและศิษยานุศิษย์ ในวโรกาสครบรอบวันมรณภาพของหลวงพ่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๕

ประวัติหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)

เกิด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๐ เดิมชื่อสังเวียน เป็นบุตรคนที่ ๓ ของนายควง นางสมบุญ สังข์สุวรรณ เกิดที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี มีพี่น้อง ๕ คน เมื่ออายุ ๖ ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาล วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ เมื่ออายุ ๑๕ ปี เข้ามาอยู่กับท่านยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรีในสมัยนั้น และได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ อายุ ๑๙ ปี เข้าเป็นเภสัชกรทหารเรือ สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ พออายุครบบวช

อุปสมบท วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ วัดบางนมโค โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิหารกิจจานุการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เล็ก เกสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อายุ ๒๑ ปี สอบได้นักธรรมตรี
อายุ ๒๒ ปี สอบได้นักธรรมโท
อายุ ๒๓ ปี สอบได้นักธรรมเอก

ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๘๑ ได้ศึกษาพระกรรมฐานจากครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิเช่น หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก, พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค, พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน, พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า, หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน(วัดคลองมะดัน) และหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ

พ.ศ.๒๔๘๑ เข้ามาจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี เพื่อเรียนบาลี ต่อมาสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ได้ย้ายมาอยู่ที่วัดอนงคาราม หลังจากนั้นได้เป็นรองเจ้าคณะ ๔ วัดประยูรวงศาวาส เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค และย้ายไปอยู่อีกหลายวัด

พ.ศ.๒๕๑๑ จึงมาอยู่วัดท่าซุง บูรณะซ่อมสร้างและขยายวัดท่าซุง จากเดิมมีพื้นที่ ๖ ไร่เศษ จนกระทั่งเป็นวัดที่มีบริเวณพื้นที่ประมาณ ๒๘๙ ไร่

พ.ศ.๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุธรรมยานเถร

พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

มรณภาพ ตุลาคม ๒๕๓๕ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤๅษี) ได้อาพาธด้วยโรคปอดบวมอย่างแรง และติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และมรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๕ เวลา ๑๖.๑๐ น.

ปฏิปทา ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบทอยู่ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤๅษี) ได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ

ทางด้านชาติ ได้สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน จัดตั้งธนาคารข้าว ออกเยี่ยมเยียนทหารหาญของชาติและตำรวจตระเวณชายแดนตามหน่วยต่างๆ เพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ และแจกอาหาร ยา อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และวัตถุมงคลทั่วประเทศ

ทางด้านพระศาสนา ได้สั่งสอนพุทธบริษัทศิษยานุศิษย์ให้มุ่งพระนิพพานเป็นหลัก โดยให้ประพฤติปฏิบัติกาย วาจา ใจ ในทาน ในศีล ในบารมี ๑๐ ทัศ และมหาสติปัฏฐานสูตร ได้พิมพ์หนังสือคำสอนกว่า ๑๕ เรื่อง และบันทึกเทปคำสอนกว่า ๑,๐๐๐ เรื่อง นอกจากนี้ยังได้แสดงธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว นอกจากนี้ยังเดินทางไปสงเคราะห์คณะศิษย์ในต่างจังหวัดและต่างประเทศทุกๆ ปี

ทางด้านวัตถุ ท่านได้ช่วยสร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนามากกว่า ๓๐ วัด รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูวัดท่าซุงด้วยเงินกว่า ๖๐๐ ล้านบาท ได้สร้างพระไตรปิฎก หนังสือมูลกัจจายน์ และถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ไตร

ทางด้านพระมหากษัตริย์ ท่านได้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ศูนย์ฯนี้ได้ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ งานของศูนย์ฯ รวมทั้งการแจกเสื้อผ้า อาหาร และยารักษาโรคแก่ราษฎรผู้ยากจน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ การส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วย การให้ทุนนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน การบริจาคทุนทรัพย์ให้แก่มูลนิธิและโรงพยาบาลต่างๆ ฯลฯ

นับได้ว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤๅษี) เป็นปูชนียบุคคลผู้อยู่ด้วยความกรุณาเป็นปกติ พร่ำสอนธรรมะและสิ่งที่เป็นประโยชน์และสงเคราะห์เกื้อกูลมหาชนด้วยเมตตามหาศาล สมกับเป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรส แท้องค์หนึ่ง

โพสท์ใน ธรรมะหลวงพ่อฤาษีฯ | ติดป้ายกำกับ | 2 ความเห็น

หลวงพ่อเล่าเรื่องเมืองนิพพาน

หลวงพ่อเล่าเรื่องเมืองนิพพาน โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

วันหนึ่งสมเด็จท่านพามาที่วิมานนิพพาน ที่มันกว้างลิ่ว และบ้านนี่นะ นานๆ จะได้ไปสักที ส่วนมากก็ไปนั่งป๋ออยู่ที่วิมานพระพุทธเจ้า ถ้าเราไปอยู่ที่นั่นแล้ว เวลาเราตายมันจะไปไหน อาตมาเป็นคนเกาะ พุทธานุสสติกรรมฐาน เป็นอารมณ์ตลอดเวลา ถ้าวันไหนไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า วันนั้นตายดีกว่า มันจะเป็นยังไงก็ตาม ยิ่งป่วยยิ่งไข้ยิ่งหนัก ป่วยนิดเดียวจิตจะไม่ยอมคลาดจากพระพุทธเจ้า เราถือว่าถ้าเราเกาะพระพุทธเจ้าอยู่ มันจะตายลงนรกก็ยอม ท่านคงไม่ยอมให้ลง

แล้วท่านก็พาไปดูที่วิมาน ชี้ให้ดูบอกว่า “คณะของคุณมันมาก เพราะคุณใช้เวลาบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป และเป็นฝ่ายวิริยาธิกะ”

เป็นอันว่าคณะของเราที่ตามกันมาเป็นระยะ ไอ้ที่เขาหนีไปนิพพานแล้วนับไม่ถ้วน พวกนั้นขี้ขลาดสู้เราไม่ได้ ไอ้เราต้องมาตกระกำลำบาก ช่วยกันวิ่งโน่นวิ่งนี่ ไอ้ที่จะกินก็ยังไม่มี แต่ยังพยายามหาเลี้ยงคนอื่น ใช่ไหม…?

วันนี้มีเวลาลองสอบดูนิดหนึ่ง ถามว่า “คณะของข้าพระพุทธเจ้ามีกี่สาย จากหลังบ้านไปนี่”

ท่านบอกว่า “มี ๓๗ สาย”

ถามว่า “สายหนึ่งมีระยะยาวเท่าไร…?”

ท่านบอกว่า “สองแสนโยชน์ของนิพพาน”

แล้วก็ไปดู เห็นทั้งหมด ๓๗ สาย สองฝั่งของถนน วิมานเต็มหมด มันไม่มีจุดพร่อง สายหนึ่งประมาณ ๒ แสนโยชน์ แต่ละสาย ๓๗ คูณด้วย ๒ วิมานมันจะตั้งสายละสองฝั่งถนน ๓๗ ถนนยาวเหยียด ถนนกลายเป็นแก้วแพรวเป็นประกายสวยสดงดงามไปหมด บอกไม่ถูก วิมานแต่ละหลังก็แพรวพราวหาที่ติไม่ได้เลย หัวหน้าทีมตั้งบ้านใหญ่อยู่ด้านหน้า ต่อไปก็มีถนนซอยเข้าไป

ทางด้านของนิพพานนี่ เขาอยู่กันเป็นกลุ่มๆ อย่างกลุ่มของพระกกุสันโธ ท่านก็อยู่กลุ่มหนึ่ง วิมานของพระพุทธเจ้าก็ตั้งข้างหน้า บริวารก็เป็นสายอยู่ข้างหลัง พระโกนาคม ท่านก็อยู่กลุ่มหนึ่ง พระพุทธกัสสป ก็ตั้งอยู่จุดหนึ่ง ของสมเด็จพระสมณโคดม ท่านก็ตั้งอยู่จุดหนึ่ง

ตอนนี้ของอาตมาก็เป็นจุดที่แปลก วิมานตั้งอยู่ในเกณฑ์เรียงของพระพุทธเจ้า ใหญ่คล้ายคลึงกัน แต่สวยสู้ของท่านไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่ในฐานะที่ปรารถนาพุทธภูมิมาสิ้นระยะเวลา ๑๖ อสงไขยกับแสนกัปพอดี แต่ว่าต้องเกิดไปอีก ๗ ที ทนไม่ไหวไม่เอา แค่นี้พอ รอเกิดอีก ๗ ครั้ง ก็ในกัปนี้แหละ และต้องไปรอองค์ที่ ๒๒ หลังจากพระศรีอาริย์ ต้องไปนั่งรออยู่ชั้นดุสิต ไม่ไหวเปิดดีกว่า ฉะนั้นกลุ่มของพวกเราจึงมีวิมานตั้งอยู่ในระหว่างกลุ่มของพระพุทธกัสสป และกลุ่มของพระสมณโคดม

เป็นอันว่าหาจุดพร่องไม่ได้ตามสายของพวกเรา วิมานสวยไม่เต็มที่ มีอยู่มากพอสมควร แต่ก็ไม่เต็มสาย ที่วิมานสวยไม่มากก็เพราะว่า จิตของบุคคลใดถ้ารักพระนิพพาน วิมานจะปรากฏที่นั่น แต่ถ้าจิตใจของท่านผู้นั้น ยังไม่ถึงอรหัตผลเพียงใด วิมานจะสวยไม่เต็มที่ ไอ้จิตกับวิมานมันสวยเท่ากัน เดินไปจึงรู้ เป็นอันว่าวิมานมันนั่งคอยอยู่ เป็นอันว่าคนที่ติดตามมาไม่พลาดพระนิพพาน

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน หลวงพ่อเล่าเรื่องเมืองนิพพาน