อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป

อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ การสร้างพระพุทธรูป กับ การถวายปัจจัย อย่างไหนมีอานิสงส์ดีกว่าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “การสร้างพระพุทธรูป จัดว่าเป็น พุทธบูชา ถ้าในเรื่องกรรมฐานจัดเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าตายจากคนไปเกิดเป็นเทวดา มีรัศมีกายสว่างไสวมาก

ถ้า ถวายปัจจัย ถวายเป็นของสงฆ์ จัดว่าเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา จัดเป็น จาคานุสสติกรรมฐาน เกิดมาชาติหน้าก็รวย

การสร้างพระถวาย ด้วยอำนาจพุทธบูชา ทำให้มีรัศมีกายมาก เป็นคนสวยตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พุทธบูชา มหาเตชะวัณโต การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก

แต่ถ้ามีอำนาจแต่ขาดสตางค์ก็อดตายนะ ใช่ไหม…แต่งตัวเป็นจอมพลแต่ไม่มีสตางค์ในกระเป๋า แย่นะ… อีกแบบหนึ่ง มีสตางค์มากๆ แต่ขาดอำนาจราชศักดิ์ ก็โดนโจรปล้นอีก ฉะนั้นทำมันเสีย ๒ อย่างเลยดีไหม…?”

ผู้ถาม :- “ดีค่ะ…แต่ได้ยินเขาว่า ถ้าสร้างพระพุทธรูปนี่ควรสร้างพระประธานจึงมีบุญมาก”

หลวงพ่อ :- “ก็เขียนไว้ซิ สร้างพระประธาน องค์เล็กองค์ใหญ่ก็เขียนไว้ ก็เป็นพระพุทธรูปเหมือนกัน เราสร้างก็ได้บุญแล้ว ใครไปโยนทิ้งก็ซวยเอง”

ผู้ถาม :- ถ้าหากว่าจะย้ายพระประธาน ไปบูชาเป็นพระประธานวัดอื่น จะได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “เรื่องของบูชาสำหรับที่วัดนี่ ถือว่าเขาถวายมาเพื่อบูชา ตั้งอยู่ที่ใดก็ตาม ถ้าพระย้ายไปที่อื่นนอกเขต ถือว่าย้ายเจดีย์ ทางวินัยท่านปรับอาบัติ และถ้าของนั้นเขาถวายสงฆ์ เขามีเจตนาเฉพาะจุดนั้น ถ้าเราเอาไป ถือว่าขโมยของสงฆ์ อันดับแรกเขาลงบัญชีอเวจีไว้ก่อน ของสงฆ์นี่แม้แต่เศษกระเบื้อง ถ้านำไปก็ลงบัญชีอเวจีเลย”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อเจ้าคะ การสร้างพระพุทธรูป ทำด้วยโลหะกับทำด้วยปูน อย่างไหนจะดีกว่ากันเจ้าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเป็นเจตนาของฉันนะ ชอบให้ทำด้วยปูนมากกว่า ปั้นด้วยปูนแล้วปิดทอง เพราะอะไรรู้ไหม…เพราะพระปูนไม่มีใครขโมย พระโลหะเผลอหน่อยเดียว คนตัดเศียรแล้ว ดีไม่ดีเอาไปทั้งองค์ ฉะนั้นปูนดีกว่า มีอานิสงส์เท่ากัน ราคาถูกกว่า ทนทาน และรักษาง่ายกว่า”

หลวงพ่อ :- “การสร้างพระพุทธรูปนี่เป็นพุทธบูชา เป็นพุทธานุสสติในกรรมฐาน ๔๐ กอง ท่านบอกว่ากำลังพุทธานุสสติ เป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่ากองอื่น ก็เห็นจะจริง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่นิพพานนี่ และท่านก็เป็นต้นตระกูลของพระนิพพาน ใช่ไหม…

ทีนี้ถ้าเราต้องการสร้างให้สวยตามที่เราชอบ เห็นแล้วก็ทำให้จิตใจสดชื่น จิตมันก็นึกถึงพระอยู่เสมอ ถ้าจิตนึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอยู่เสมอ ก็จัดเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าใจเราเกาะพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ตายแล้วลงนรกไม่เป็น ฉะนั้นถ้าหากโยมเห็นว่าพระที่ทำด้วยโลหะสวยกว่า ชอบมากกว่า โยมก็สร้างแบบนั้น”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ถ้าหากว่าเราเดินไปเช่าตามร้าน กับการจ้างเขาหล่อให้แล้วเททองเอง อานิสงส์จะได้เท่ากันไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “กุศลน้อยกว่าที่เขาทำสำเร็จแล้ว เพราะว่าเราต้องเหน็ดเหนื่อย ดีไม่ดีหัวเสีย ที่เขาทำเสร็จแล้วนะ เราก็เลือกดูเอาตามชอบใจ ใช่ไหมล่ะ วิธีการแบบนั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลยนี่ ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย บางทีไอ้ตัวร้อนตัวเหนื่อยนี่มันตัดเลย

ทำบุญทุกอย่าง ทำให้จิตสบาย กายสบาย อันนี้ถือว่ามีผลสูง ถวายสังฆทานนี่มีค่าสูงมาก การที่นิมนต์พระมาเลี้ยงข้าวที่บ้าน ๔-๕ องค์ อานิสงส์เป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่ดีไม่ดีมันน้อยกว่าอย่างนี้ เพราะยุ่งกว่า ดีไม่ดีคนแกงบ้าง คนต้มบ้าง เราไม่ชอบใจก็โมโห ไอ้ตัวโมโหนี่แหละมันตัด ใช่ไหม…?”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ถ้าเรามีพระบูชา เราควรจะหันหน้าไปทางทิศไหนคะ…?”

หลวงพ่อ :- “พระบูชาที่นิยมกัน เขาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถ้าหันไปทางทิศใต้กับทิศตะวันตก สตางค์ไม่เหลือใช้ ลองดูก็ได้”

ผู้ถาม :- “เป็นเพราะเหตุใดคะ…?”

หลวงพ่อ :- “อันนี้ฉันไม่รู้ละ รู้แต่ว่าสมัยหลวงพ่อปาน ถ้าลูกศิษย์ท่านหันหน้าพระพุทธไปทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ ท่านบอกว่าควรหันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ”

ผู้ถาม :- “แล้วอย่างพระพุทธรูปที่บอกว่ายังไม่ เบิกพระเนตร หมายความว่าอย่างไรคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้ายังไม่เบิกพระเนตร แสดงว่ายังไม่มีลูกตา พระองค์ไหนมีลูกตาแล้ว พระองค์นั้นเบิกพระเนตรแล้ว ใช่ไหม…?”

(ผู้ถามหัวเราะ)

หลวงพ่อ :- “ฉันว่ามันเป็นพิธีสมัยก่อนโน้นละมั้ง คือเขาปั้นพระพุทธรูปแล้ว ยังไม่ได้ทำลูกตา เลยหาช่างมาทำลูกตามากกว่า เวลานี้ก็เลยเอาวิธีการนั้น พระที่วัดฉันไม่ต้องเบิกเนตร เห็นท่านมีตาทุกองค์ ใครเขาถามว่าเบิกพระเนตรหรือยัง…ฉันไม่ทำละ มีแล้วนี่…ควรจะเบิกเนตรเราให้ดีเท่าเนตรท่านดีกว่า ใช่ไหม…?”

ผู้ถาม :- “แล้วถ้าหากว่าเรามีพระพุทธรูป แต่พระเนตรท่านปิด อย่างนี้ต้องเบิกพระเนตรไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “เอาละซิ ขืนไปเบิกเข้า ตาท่านฉีกแน่ บาป ต่อไปชาติหน้า ตาเหลือก”

ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “คือท่านหลับตานั่งสมาธิค่ะ”

หลวงพ่อ :- “เขาทำหลับตาก็ปล่อยให้หลับตา ทำสมาธิก็ต้องหลับตาใช่ไหม…?”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ การถวายพระพุทธรูปองค์เล็กๆ กับถวายพระประธานองค์ใหญ่ๆ พระประธานในโบสถ์น่ะครับ จะมีอานิสงส์เหมือนกันหรือเปล่าครับ…?”

หลวงพ่อ :- “เหมือนกัน คือเขียนเหมือนกัน เขียนว่า อานิสงส์ ถวายพระพุทธรูป…แต่ว่าเราไปเทียบกันไม่ได้นะ สุดแล้วแต่กำลังใจ ถ้าคนที่เขามีฐานะน้อยเขามีเงินจริงๆ แค่สร้างพระพุทธรูปขนาด ๓ นิ้ว ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ แต่ว่ากำลังใจเขามั่นคง ฐานะมันแค่นั้น ก็มีอานิสงส์สูง ถือว่าเขาทำดีที่สุดของฐานะอยู่แล้วใช่ไหม…

สร้างพระประธานในโบสถ์ อานิสงส์ก็คือสร้างพระพุทธรูป ถ้าหากว่าเจ้าของคิดว่าสร้างเพื่ออวดชาวบ้าน ก็สู้สร้างองค์เล็กๆ ไม่ได้ เพราะคิดด้วยจิตบริสุทธิ์”

ผู้ถาม :- “แล้วถวายพระประธานเพื่อแก้บนเล่าครับ คือว่าลูกชายง่องๆ แง่งๆ ใจไม่ค่อยดี ก็คิดว่าถ้าหากลูกชายแข็งแรงดี จะถวายพระประธานประจำอุโบสถสักองค์หนึ่ง จะแตกต่างกับถวายพระประธานเนื่องในการไม่แก้บนไหมครับ…?”

หลวงพ่อ :- “ต้องดูเจตนาก่อน เราแก้บน แต่ตั้งเจตนาให้ถูกนะ ถือว่าสร้างพระพุทธรูปไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อสักการะของคนและพระ มันจะมีอานิสงส์เหมือนกัน แต่ถ้าคิดว่านี่เพราะลูกเราไม่ตาย เพราะการถวายพระพุทธรูปอย่างนี้ อานิสงส์น้อยมาก เพราะเรามีการแลกเปลี่ยน

เราบนก็จริงแหล่ แต่คิดว่าการสร้างพระพุทธรูปนี่ สร้างไว้เป็นที่สักการะของคนและพระเณร ก็ถือว่าเราสร้างไว้ในพระพุทธศาสนา ไม่ถือเป็นการแลกเปลี่ยน ถ้าคิดว่าการแก้บน มันเป็นการแลกเปลี่ยน แต่ว่าเราบนไว้จริง แต่ว่าเจตนาเราตั้งไว้อีกหน่อยหนึ่ง”

ผู้ถาม :- “เรื่องพระประธานผ่านไป ทีนี้เรื่องพระแตก มีบางคนเขาบอกว่า ห้อยพระที่แตกหรือหัก ลูกเมียจะทะเลาะกัน พระศุกร์จะเข้าพระเสาร์จะแทรก บางคนถึงขนาดเอาเศียรพระหักๆแตกๆ ไปไว้ตามต้นโพธิ์ ตามวัด ความจริงเป็นยังไงครับหลวงพ่อ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าจะให้แน่ คุณก็ลองห้อยดูก่อน ใครได้พระสมเด็จแตกๆ มาให้ฉันทีเหอะ ฉันเอาหมด…ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก มันจะด่ากันเองน่ะ เลยไปโทษพระใช่ไหม…

แต่ว่าที่เห็นเขาถือกัน ก็คือพระพุทธรูป ถ้าชำรุด เขาไม่บูชาไว้ที่บ้าน อันนี้ไม่มีตำรา อาจจะมีประสบการณ์ก็ได้นะ แต่พวกที่โบราณเขาเขียนบอกไว้ ต้องระวังหน่อย บางทีมีประสบการณ์ แต่หาเหตุมาไม่ได้ ก็ต้องเชื่อเหมือนกัน

อย่างสมัยหลวงพ่อปาน ถ้าลูกศิษย์ท่านหันหน้าพระพุทธไปทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ อันนี้ไม่มีเรื่องทะเลาะกัน แต่สตางค์ไม่เหลือใช้ ท่านบอกว่าควรหันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ ทีนี้หากเราเห็นว่าชำรุด เราตกแต่งให้ดีก็คงจะดีมั้ง”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อขอรับ ได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อจะสร้างแท่นพระ สำหรับพระพุทธรูปข้างพระอุโบสถวัดท่าซุงนั้น อยากจะทราบว่าการสร้างแท่นพระมีอานิสงส์อย่างไรขอรับ…?”

หลวงพ่อ :- “สร้างแท่นก็เหมือนกับสร้างพระพุทธรูป คือแท่นพระพุทธรูปเขาบกพร่องอยู่ เราทำให้เต็ม อย่างนางวิสาขาหรือพระสิวลี อานิสงส์ไม่ใช่เล็กน้อยนะ อานิสงส์ใหญ่มาก คนจะรวยแล้วนะ วาสนาบารมีจะสูง สร้างแท่นพระ หนุนพระให้สูงน่ะ แล้วพระพุทธเจ้าด้วยนะ เราฐานะก็จะดีขึ้น”

ผู้ถาม :- “ดิฉันและน้องๆ ได้สร้างพระพุทธรูปปิดทองฝังเพชร ขนาด ๓๐ นิ้ว ถวายเป็นพุทธบูชา ไปไว้ที่วัดท่าซุง พอถวายแล้ว หลวงพ่อให้พรว่า “ขอให้รวยทุกคน รวยเท่าพระพุทธเจ้านะลูก” กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า รวยเท่าพระพุทธเจ้าเขารวยแบบไหนเจ้าคะ…?”

หลวงพ่อ :- “จะเอาแบบไหนล่ะ จะเอาแบบทรัพย์มาก หรือจะเอาแบบกิเลสหมด…?”

ผู้ถาม :- “ตอนนี้เอาทรัพย์ก่อนก็แล้วกันค่ะ เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี”

หลวงพ่อ :- “พระพุทธเจ้านี่รวยมากเพราะกิเลสหมดนะ คือว่าพระพุทธเจ้าใครบอกไม่มีทรัพย์สินน่ะไม่ถูกหรอก ที่นั่งอยู่ที่นี่ ทรัพย์ที่นำมาให้ เป็นของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนะ ฉันไม่คิดว่าเป็นของฉัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ไหนไม่เคยจน อย่างวิหารของนางวิสาขาเขาสร้างราคาเท่าไร ก็รวมความว่าพระพุทธเจ้ามีทรัพย์สินมากราคาเป็นล้านๆ โกฏิ เอารวยแบบนั้นก็แล้วกันนะ…”

หลวงพ่อมักจะให้พรอย่างนี้เสมอว่า รวย…รวย…รวย

หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๑-๘ (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป

ความเป็นมาของคาถาเงินล้าน

ความเป็นมาของคาถาเงินล้าน
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

หลวงพ่อ :- ก่อนที่มาอยู่วัดท่าซุงนะ ฉันอยู่กระต๊อบ เงินร้อยก็หายากสำหรับคนทำบุญ คาถาวิระทะโย ก็ทำเรื่อยๆ ไป ต่อมาท่านก็มาหา ก็บอกว่าคาถาบทนี้นะ ที่เขาทำพระวัดพนัญเชิญองค์แรก มีเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านไปนั่งกรรมฐานและเสกด้วยคาถาบทนี้ ๓ ปี ท่านให้ดูตัวอย่างวัดพนัญเชิง เงินขาดไหม…ฉันก็ทำมาเรื่อย

มาอีกปีหนึ่งกำลังบวงสรวง ท่านบอกว่า คาถาบทนี้ เป็นคาถาเงินแสนนะ ก็ใช้คาถาบทนั้นมาประมาณครึ่งปี คนมาทอดกฐินผ้าป่าได้เงินเป็นแสน นี่เห็นชัดนะ

แล้วต่อมาอีกปีหนึ่ง ท่านบอกว่า คาถาบทนี้ เป็นคาถาเงินล้านนะ ให้ว่าต่อเนื่องกันไป แล้วไปลง คาถาวิระทะโย ต่อมาก็จริงๆ เพราะปี ๒๕๒๗ ก็ใช้เงิน เดือนเป็นล้าน ซึ่งไอ้อย่างนี้เราก็คิดไม่ออก ต้องค่อยๆ ใจเย็นๆ

เวลาว่าไป อย่าไปว่าหวังเอาลาภ คือต้องภาวนาด้วยนะ ถ้าทางที่ดีเวลาภาวนากรรมฐาน พอจิตสบายน่ะต่อเลย เพราะเวลากรรมฐานนี่จิตเป็นฌาน ใช่ไหม… เอาอย่างนี้ดีกว่า เวลาฝึกมโนมยิทธิออกไปให้ได้นั้น ออกไปเดี๋ยวเดียวก็ได้ ออกไปได้นี่จิตเป็นฌาน ๔ เข้าเขตพระนิพพานได้ จิตสะอาดถึงที่สุด กลับลงมาต่อด้วยคาถาบทนี้เลย มากน้อยก็ช่าง ให้หลับไปเลย คือถ้าจิตสะอาดมากผลก็เกิดเร็ว

ก็สงสัยเหมือนกันนะ เมื่อปี ๒๕๒๖ ท่านบอกว่า ปี ๒๕๒๗ มีอะไรบ้างก็ตุนๆ ไว้บ้างนะ ปี ๒๕๒๘ จะเครียดมาก การค้าของใครถ้าทรงตัวได้ก็ถือว่าดีไว้ก่อน อันนี้ท่านบอกว่า “ถ้าลูกเราจะจนก็จนไม่เท่าเขา”

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน ความเป็นมาของคาถาเงินล้าน

อานิสงส์คาถาพระปัจเจกโพธิ์

อานิสงส์คาถาพระปัจเจกโพธิ์
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ในปัจจุบันนี้ภาวะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ ตามบริษัทห้างร้านต่างๆ ต่างคนต่างบ่นกันพึมพำ ชาวบ้านหรือก็หนักใจ เมื่อพูดถึงเรื่องจนก็ทำให้นึกถึง คาถาวิระทะโย

พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ
วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา
วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มานีมามะ พุทธัสสะ สวาโหมฯ

คาถาบทนี้มีความสำคัญมาก พวกเราทุกคนควรจะทำให้ได้เป็นพื้นฐานไว้ก่อน คาถาบทนี้ทำขึ้นน้อยๆ ถ้าเงินมันขาดมือจะชดใช้กันทัน ถ้าหากทำขึ้นเต็มอัตรา เงินจะเหลือใช้ แต่ต้องทำเป็นสมาธินะ

การทำสมาธินี่ไม่ต้องนั่งก็ได้ ถ้าว่างตอนไหนก็นึกว่ามันเรื่อยไป ขายของอยู่ ทำงานอยู่ พอว่างนิดก็ว่าไป เดินไปนึกขึ้นได้ก็ว่าไป

คาถาวิระทะโย นี้ใครทำเป็นสมาธิได้ ถ้าทำถึงอุปจารสมาธิ ตอนนี้เงินไม่ขาดตัวแน่ ถ้ามีความจำเป็นมากจริงๆ มักจะหาได้ทัน ถ้าเข้าถึงขั้นปฐมฌานตอนนี้ละขังตัว ไม่ใช่พอใช้นะ เหลือใช้เลย แต่ต้องทำได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปนะ

คาถาบทนี้มีคนใช้ได้ผลมาเยอะแล้ว คนที่ใช้ได้ผลคนแรกสุดคือ นายห้างขายยาตราใบโพธิ์ ที่ว่าเป็นคนแรกเพราะอะไร เพราะตอนนั้น หลวงพ่อปาน ท่านไปเรียนมาจาก ครูผึ้ง ซึ่งอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มาจากพระธุดงค์องค์หนึ่ง และพระธุดงค์องค์นี้ท่านก็บอกมาว่าเป็น คาถาของพระปัจเจกพุทธเจ้า

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์คาถาพระปัจเจกโพธิ์

อานิสงส์การอุปสมบทบรรพชา

อานิสงส์การอุปสมบทบรรพชา
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “ดิฉันขอเรียนถามว่า การอุปสมบทบรรพชา มีอานิสงส์อย่างไรบ้างคะ…?”

หลวงพ่อ :- “การอุปสมบทบรรพชา นี้มีอานิสงส์พิเศษ ผิดกับอานิสงส์อย่างอื่น เช่น การสร้างวิหารทานก็ดี การถวายสังฆทานก็ดี การทอดผ้าป่า ทอดกฐินก็ดี อานิสงส์อย่างนี้บุคคลที่จะพึงได้ต้องโมทนาก่อน”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อช่วยกรุณาอธิบายเพิ่มเติมอีกหน่อยเถิดค่ะ”

หลวงพ่อ :- “หมายความว่า ถ้าบุตรธิดาของตนบำเพ็ญกุศลให้แก่บิดามารดา แต่บิดามารดาไม่ได้โมทนาในกุศลนั้น ย่อมไม่ได้ แต่ว่าการอุปสมบทบรรพชานี้แปลกกว่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาทรงแสดงไว้ว่า สมมุติว่าบุตรชายของท่านผู้ใดออกจากครรภ์มารดา วันนั้นบิดามารดาก็จากกัน ลูกกับพ่อ ลูกกับแม่ ย่อมไม่รู้จักกัน เวลาที่บุตรชายอุปสมบทบรรพชา บิดามารดาก็ไม่ทราบ แต่ว่าบิดามารดาย่อมได้อานิสงส์โดยสมบูรณ์

คำว่า อุปสมบท หมายความว่า บวชเป็นพระ

คำว่า บรรพชา หมายความว่า บวชเป็นเณร

ท่านที่บวชเป็นพระด้วยตนเอง จะมีอานิสงส์อยู่เป็นเทวดาหรือพรหม ๖๐ กัป

สำหรับบิดามารดา จะได้อานิสงส์คนละ ๓๐ กัป

สำหรับคนที่ไม่ใช่พ่อแม่ เป็นเจ้าภาพให้บวช จะได้อานิสงส์คนละ ๑๒ กัป ต่อ ๑ องค์

สำหรับท่านที่ได้ทำบุญอุปสมบท ช่วยเขาคนละบาทสองบาท หรือช่วยกันด้วยกำลังแรง อย่างนี้มีอานิสงส์องค์ละ ๘ กัป

สำหรับท่านผู้บวชเป็นเณร บวชแล้วมีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตามระบอบพระธรรมวินัย เมื่อตายจากความเป็นคน ถ้ามีจิตของตนเป็นกุศล แต่ว่าไม่สามารถทรงจิตเป็นฌาณ ท่านผู้นั้นจะเสวยความสุขบนสวรรค์ ได้ถึง ๓๐ กัป

ถ้าหากว่าทำจิตของตนให้ได้ฌาณสมาบัติ ก่อนตายจากความเป็นคน จะเกิดเป็นพรหม มีอายุถึง ๓๐ กัป เช่นเดียวกัน

สำหรับบิดามารดาได้คนละ ๑๕ กัป”

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน อานิสงส์การอุปสมบทบรรพชา

บุญพระกรรมฐาน

บุญพระกรรมฐาน
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

เมื่อปี ๒๕๐๔ อาตมาไปเทศน์ที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท มีตาอะไรหรือ อีตานี่เมื่อก่อนมาอยู่กรุงเทพฯ ขึ้นไปแกก็มาเฝ้าอยู่ตลอด ถ้ายังไม่กลับเพียงใดแกก็ยังไม่กลับบ้าน ให้ลูกสาวเอาข้าวต้มมาถวายเช้า ตอนเพลเอาข้าวสวยมาถวาย ตัวแกเองต้องมาอยู่ตลอดเวลา

พอแกตายไปแล้ว ลูกสาวก็มาหาที่กรุงเทพฯ บอกว่าอยากจะทำศพพ่อและบวชน้องชายในวันเดียวกัน อยากจะให้หลวงน้าเป็นประธาน ก็เลยบอกว่า

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ข้าเป็นประธานก็ได้ แต่ว่าถ้างานเอ็ง จะมีบาปแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้นะ แม้แต่ไข่ลูกหนึ่งก็ห้ามทุบ ถึงเขาบอกว่าไข่ไม่มีตัวก็ไม่ได้ ใจมันไม่สบาย

ประการที่ ๒ เวลาจัดงานศพ ควรตั้งคนรับรองแขกให้แทนตัวเอง ใจจะได้ไม่กังวล เพราะพระให้ศีลต้องรับศีลให้จบ และตั้งใจรับศีลด้วยความเคารพ เวลาพระสวดก็ต้องตั้งใจฟังพระสวดจนจบด้วยความเคารพ เวลาถวายทานก็เหมือนกันให้ตั้งใจถวายทานด้วยความเคารพ เวลาพระเทศน์ฟังเทศน์ด้วยความเคารพ และอย่าให้มีสุรายาเมาเข้ามาเจือปน

ประการที่ ๓ มหรสพอย่ามีแม้แต่ปี่พาทย์ จงอย่ามีปี่พาทย์กลองยาว มันกินเหล้ากัน

แกก็เอาตามนั้นจริงๆ งานเรียบร้อย ตอนเช้าบวชน้องชาย ตอนสายก็ชักศพขึ้นศาลา ตอนเพลเลี้ยงพระตั้ง ๓๐ กว่าองค์ มันเลยสังฆทานไปแล้ว และก็เป็นสังฆทานเต็มอัตรา ถวายผ้าสบง ผ้าไตรจีวร เขาให้ประธานเทศน์ด้วย แต่ว่าเทศน์ ๒ องค์ กับเจ้าคุณภาวนาภิรามเถระฯ

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ , | ปิดความเห็น บน บุญพระกรรมฐาน

อานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน

อานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ผู้ถาม :- “คำว่า สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน มีความหมายแตกต่างกันอย่างไรครับ?”

หลวงพ่อ :- “สมถะนี่เป็นจุดเริ่มต้นทำจิตให้เป็นสมาธิ ท่านมีความหมายว่าทำจิตให้สงบจากนิวรณ์ ๕ สำหรับวิปัสสนาเป็นการใช้ปัญญา พิจารณาร่างกาย เพื่อตัดกิเลส มันต่างกันตรงนี้

การทำจิตให้เป็นสมาธิ ก็เพื่อไม่ให้จิตวุ่นวาย เมื่อจิตไม่วุ่นวายแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณา คือยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง เกิดมาแล้วมันก็ต้องแก่ เมื่อทรงชีวิตอยู่มันก็ป่วยไข้ไม่สบาย มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เมื่อมีชีวิตอยู่ต้องมีการนินทาสรรเสริญ กระทบกระทั่ง และในที่สุดเราก็ตาย นี่เป็นของธรรมดา ถ้าอาการอย่างนี้มันเกิดขึ้นกับเรา เราจะไม่หวั่นไหวในอารมณ์ ถือว่ามันเป็นธรรมดาของการเกิด”

ผู้ถาม:- “สมถะนี่ตัดกิเลสได้ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ:- “ยังตัดกิเลสไม่ได้ แต่ว่าระงับได้”

ผู้ถาม:- “มันแตกต่างกันอย่างไรครับ…?”

หลวงพ่อ:- “คำว่าระงับ ก็เปรียบเหมือนกับเรามีสัตว์ร้ายอยู่ตัวหนึ่ง ถ้ามันจะกัดเรา วิธีระงับ ก็คือจับมันมัดหรือกดมันไว้ ไม่ให้ทำร้าย ส่วนคำว่าตัดหรือวิปัสสนาญาณนั้น ก็หมายถึงฆ่าสัตว์ร้ายนั้นไม่ให้มีฤทธิ์ต่อไป เข้าใจไหม…?”

อ่านเพิ่มเติม

โพสท์ใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน อานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน