ปัญหาธรรมของฆราวาสผู้ครองเรือน

ปัญหาธรรมของฆราวาสผู้ครองเรือน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

ความดีที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันและกัน

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ ความดีที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันและกัน เหมาะที่จะปฏิบัติสำหรับฆราวาส ควรจะใช้ธรรมะข้อใดครับ…?”

หลวงพ่อ :-“ความดีที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันและกันนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเพื่อฆราวาสปฏิบัติ ท่านเรียกว่า สังคหวัตถุ คือ การสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มี ๔ ข้อด้วยกัน คือ

๑.ทาน การให้ การแบ่งปันของที่มีและพอจะมีให้กัน ได้แก่ ผู้ที่ขาดแคลน ถึงแม้จะไม่ครบถ้วน แต่ก็เป็นเหตุให้เกิดความรักแก่ผู้ที่ได้รับ

๒.ปิยวาจา คือ พูดเพราะ อ่อนหวาน ทำให้ผู้รับฟังให้สบายใจ เป็นเหตุให้เกิดความรัก ความสบายใจอีกอย่างหนึ่ง

๓.สมานัตตตา ไม่ถือตัวเกินไป ทำตนเสมอ ไม่รังเกียจซึ่งกันและกัน โดยฐานะ โดยตระกูล โดยความรู้ เป็นต้น เมื่อไม่ถือตัววางตัวสนิทสนม ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความรัก ความสามัคคี

๔.อัตถจริยา ช่วยงานที่เพื่อนทำไม่ไหว ด้วยความเต็มใจจะสงเคราะห์ ไม่ทวงความดีที่ทำให้ อย่างนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดความรัก ความสามัคคี

เมื่อต่างคนต่างรัก สนิทสนมกัน ด้วยอาศัยเหตุ ๔ ประการนี้ ต่างก็มีความสุข ความสบาย ทั้งกายและใจ”

ฤกษ์การแต่งงาน

ผู้ถาม :- “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้เช่นไรในเรื่องการแต่งงาน ขอหลวงพ่อช่วยโปรดอธิบายด้วยครับ และฤกษ์ดีของพระพุทธเจ้า ให้ทำเช่นไรจะเป็นมงคลครับ…?”

หลวงพ่อ :- “เรื่อง ฤกษ์การแต่งงาน พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส ท่านได้แต่เพียงแนะนำผู้แต่งงานว่า

สามีควรปฏิบัติต่อภรรยา คือ
-ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา
-ไม่เหยียดหยามดูหมิ่นภรรยา
-ไม่นอกใจภรรยา คือไม่เจ้าชู้
-มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ แต่คอยเตือนเมื่อเธอเผลอตัว
-ให้เครื่องแต่งตัวตามฐานะ ผู้หญิงชอบยกย่องและรางวัลแม้มีค่าน้อยก็พอใจ

ถ้าทำได้อย่างนี้ ไม่มีเรื่องทะเลาะกัน

ส่วนภรรยาต้องปฏิบัติต่อสามีเช่นกัน คือ
-จัดงานดี ต้องดีตามที่ตนเห็นว่าดี และเป็นความดีที่มีความพอใจร่วมกันทั้งสามี และผู้ใหญ่ และญาติโยมของสามีด้วย ถ้าดีคนเดียวประเดี๋ยวพัง
-สงเคราะห์คนข้างเคียงสามีด้วย
-ไม่เจ้าชู้นอกใจสามี
-รักษาทรัพย์ดี รู้จักเก็บหอมรอมริบ ไม่สุรุ่ยสุร่าย
-และขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานทุกอย่าง

ถ้าสามีภรรยาคู่ใดทำได้อย่างนี้ ฤกษ์ดีตลอดเวลา แต่งตามพิธีหรือแต่งกันเองก็ฤกษ์ดี ไม่ต้องไปหาหมอให้ฤกษ์หรอกนะ”

นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา

ผู้ถาม :- “ลูกขอกราบรบกวนหลวงพ่อ คือว่าเวลาก่อนจะออกจากบ้านไปทำงานหรือไปไหน ก็ต้องกราบพระและพ่อแม่ อธิษฐานขอให้ลูกปลอดภัย และเวลาทำวัตรเช้า-เย็น ก็บอกพ่อและแม่ให้ฟัง หรือบางทีก็พูดถึงแม่บ่อย ๆ ด้วยความคิดถึง แต่มีคนทักท้วงว่า “ไม่ควรจะพูดถึง เพราะจะทำให้แม่กังวลและเป็นห่วง” ก็เลยมีปัญหาอยากจะถามหลวงพ่อว่า ควรจะทำอย่างไรคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ปฏิปทาที่บอกมาทำถูกแล้ว เรื่องที่คนพูดว่า เป็นการรบกวนพ่อแม่ ที่จริงเป็น การกตัญญู ที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญมากกว่า การสนองความดีของท่าน ด้วยการนึกถึง หรือกล่าววาจาถึงท่าน เป็นการสรรเสริญความดี ไม่ลืมความดีที่ท่านอุปการะมา เป็นความดีอย่างเลิศ และถ้ายิ่งปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านด้วยเช่นกัน ทั้ง ๒ ประการ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นยอดของคนดี

ตามพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา แปลว่า ท่านผู้ใดท่านอุปการะมาในกาลก่อน การตอบสนองท่านด้วยความดี พระองค์ตรัสว่า เราเรียกคนนั้นว่าเป็นคนดี

เมื่อคุณทำความดีแล้ว ทำไมจะต้องคิดว่ารบกวนท่านล่ะ การนึกถึง การกราบไหว้ ไม่ใช่รบกวน เป็นการทำความดีที่หาได้ยาก ขอให้ทำต่อไปนะ จะได้มีกำลังใจเป็นสุข คนที่ไม่ลืมความดีของท่านผู้มีคุณ คนประเภทนี้มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง หาทางตกต่ำยาก เป็นที่รักของสังคมคนดีนะ”

ผู้ถาม :- “กราบขอบพระคุณค่ะ”

อารมณ์กลุ้มจะพาลงนรก

อีกท่านหนึ่งถามว่า :- “หลวงพ่อคะ หลวงพ่อเคยบอกว่า กลุ้มนี่ลงนรกใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ใช่”

ผู้ถาม :- “ถ้าหากว่าเรากลุ้มกับผู้มีพระคุณ อย่างเช่นบิดา มารดา เวลาท่านป่วย อย่างนี้ล่ะคะ…?”

หลวงพ่อ :- “กลุ้มเวลาปกติไม่เป็นไร ถ้ากลุ้มเวลาใกล้จะตายนี่ซิ หมายถึงว่าเวลาใกล้จะตาย อย่าให้ใจมันกลุ้ม ถ้าจิตมันจะออกจากร่าง ถ้ากลุ้มจุดนี้ มีจุดเดียว ที่ท่านบอกว่า จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา ถ้าก่อนตายจิตกลุ้ม อารมณ์เศร้าหมอง ก็ไปทุคติ

ความกลุ้มนี้ มันต้องกลุ้มทุกคนละ ใช่ไหม…คนที่ไม่กลุ้มเมื่อยามปกติ มีคนเดียวคือพระอรหันต์ ในเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วไม่กลุ้ม อย่างพระโสดาบันก็ต้องกลุ้ม พระสกิทาคาก็ยังมีกลุ้ม พระอนาคตมีก็ยังมีกลุ้ม แต่ว่าท่านกลุ้มในยามปกติ แต่เวลาจะตายจริง ๆ ท่านไม่กลุ้ม ใช่ไหม…

การกลุ้มในฐานะเราหวังดีต่อบิดามารดา แต่บังเอิญไปขัดใจกับท่าน ก็เป็นของธรรมดา แต่ว่าเวลาที่เราจะตาย จุดนั้นน่ะเขาถือ เวลาที่จะตายอย่างเดียวนะ แล้วก็ตายทันที ถ้าหากว่าเรากลุ้มอยู่เป็นปกตินี่ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หายไป ใช่ไหม…ฉะนั้นก็ฝึกระบายความกลุ้มซิ

อารมณ์กลุ้ม จงพยายามอย่าให้มันมี พยายามแก้ไขอารมณ์นั้นให้เสมอ ๆ ถ้ากลุ้มมันมีอยู่ พยายามฝืนความกลุ้ม ถือว่ามันเป็นกฎธรรมดาของการเกิด ถ้าเกิดมาแล้ว มีใครบ้างไหมที่ไม่พบอารมณ์อย่างเรา ทุกคนต้องประสบทั้งนั้น

ทีนี้เราก็หาทางตัดมัน ถือว่าเป็นของธรรมดา สิ่งใดควรจะต้องทำเราต้องทำ สิ่งที่มันจะต้องกระทบ เราต้องหาทางแก้ไขเท่าที่มันจะทำได้ ต้องพยายามฝึกไว้เสมอ ๆ ถ้าไม่ฝึกแบบนี้ไว้ มันต้องพบกับอารมณ์ขัดใจแน่นอน ทุกคนต้องมี

-ถ้าเป็นลูกบ้าน กลุ้มแค่ลูกบ้าน
-เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ก็กลุ้มมากกว่าลูกบ้าน
-ถ้าเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็กลุ้มมากกว่าพ่อบ้านแม่บ้าน
-ถ้าเป็นกำนัน ก็กลุ้มมากกว่า เพราะภาระมันหนัก

ทีนี้เราก็ต้องคิด ถ้าอะไรมันเกิดขึ้นมันเป็นความทุกข์สำหรับเรา อย่างเราขัดข้องทางการเงิน เราก็ต้องมองคนที่เขาต่ำกว่าว่า คนที่จนกว่าเรามันมี อย่างนี้จะสร้างความภูมิใจให้ดีขึ้น อย่าไปมองคนสูงเสมอ มองที่เขาสูงกว่าเราก็ใจเสีย ต้องมองจุดที่ต่ำกว่าเรา ถ้าเรากลุ้มเราลำบากขนาดนี้ คนที่กลุ้มคนที่ลำบากกว่าเรายังมีอยู่ และถือว่าเราก็ยังดีอยู่

รวมความแล้วไม่มีอะไร ที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้คนรู้จักกฎของธรรมดา คือ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา เมื่อยอมรับทราบมัน ถ้าสิ่งนั้นมากระทบ เราจะได้ไม่กลุ้ม.”

.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๓๘-๔๒ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

หนึ่งความเห็นตอบกลับที่ ปัญหาธรรมของฆราวาสผู้ครองเรือน

  1. apirat พูดว่า:

    คือผมไปอ่านเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิ กับรัตนะทั้ง 7 มาครับ แล้วรู้ว่าจักรแก้วมีแค่อันเดียว แล้วถ้าเกิดมี พระเจ้าจักรพรรดิเกิดขึ้นมา 2 คน พร้อมกัน มันจะเป็นยังไงครับ

ความเห็นถูกปิด