ตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑)
ฉะนั้น ขอทุกท่านหวังความเป็นพระโสดาบัน ขอทุกคนจงอย่าเว้นนึกถึงความตาย พิจารณาความดีเข้าไว้ ทรงพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วน เมื่อพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วนเพียงใด ชื่อว่าท่านทั้งหลายทรงศีลบริสุทธิ์
แถมจิตอีกนิดหนึ่งว่าเราขอไปพระนิพพานเป็นที่สุด ชีวิตนี้เป็นชีวิตสุดท้ายสำหรับเรา การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ไม่พึงเป็นที่ปรารถนาของเรา เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
สำหรับเวลานี้ ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ศัพท์ว่า อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจัจชามิ ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับท่านนักปฏิบัติเพื่อความดี จะเป็นพระก็ตาม เป็นเณรก็ตาม อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม จำถ้อยคำนี้ไว้ให้มันดี จำแล้วจิตก็ต้องคิดต้องทำตามด้วย
คำว่า มอบกายถวายชีวิต นั่นหมายถึงว่า ยอมรับนับถือคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำสั่งก็ได้แก่ศีล คือวินัยก็ดี ศีลก็ดี เป็นคำสั่งที่พระพุทธเจ้า ทรงให้ละเว้นจากความชั่วเบื้องต้น อันนี้ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ทั้งภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตั้งใจไว้ให้มั่นว่า ถ้าเราละเมิดศีล มันเป็นของไม่ดี เป็นปัจจัยให้เกิดความเร่าร้อน
อีกประการหนึ่ง รากเหง้าของกิเลส ได้แก่ ความรักใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสก็ดี หรือว่า ความโลภ โลภอยากจะมีทรัพย์สิน เพิ่มพูนทรัพย์สินให้มากมายก็ดี ความโกรธ ความพยาบาทจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกันก็ดี หรือว่า หลงตัว เราจะไม่ตาย หลงตัวเราเป็นคนดีไม่ใช่คนเลวก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้เราละเสีย
ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายที่ประกาศตนว่า อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจัจชามิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงพยายามอดกลั้น ความรักในระหว่างเพศ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ความโลภ อยากจะร่ำรวย ความโกรธ ความหลง
คำว่า อดกลั้น นี่หมายความว่า ทำจิตให้เป็นสมาธิ ได้แก่อารมณ์เป็นฌาน ฌานโลกีย์มีอำนาจแค่อดกลั้นเท่านั้น อันดับต่อไปเมื่ออดกลั้นได้แล้ว ก็พยายามห้ำหั่นกิเลสทั้ง ๓ ประการ ที่มีอยู่ ๔ ข้อนี่
ราคะกับโลภะ มีสภาพอันเดียวกัน ที่ผมพูดแยกออกไปก็เพื่อความเข้าใจเท่านั้น พยายามห้ำหั่นให้มันหมดสิ้นไป จงทำตัวทำใจให้ประกอบไปด้วยความสุขในด้านของความดี หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่ลืมบทข้อนี้ คือว่าแทนที่เราจะว่าเป็นประเพณีน่ะมันเสียเวลาเปล่า
ชีวิตของเราล่วงไปๆ ทุกวันๆ มันใกล้ความตายเข้ามาทุกที ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายจงทรงไว้ซึ่งความดี สิ่งใดที่มันชั่วมาแล้วก็ให้มันแล้วกันไป อย่ารื้อฟื้นคืนมันขึ้นมา เพราะความชั่วมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้ประณามท่านใดท่านหนึ่ง เพราะขึ้นชื่อว่าคน ที่เกิดมาในโลกนี้ ที่ไม่เคยทำความชั่วไม่มี
เวลานี้เราเข้ามาอยู่ในเขตขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเขตของความดี เราก็ควรทรงความดีให้เต็มภาคภูมิ นี่อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่นักปฏิบัติที่จะทำได้ดีจริงๆ น่ะ เขาไม่ลืมคำนี้ ให้คำนี้มันก้องอยู่ในจิตทุกเวลา
ในเมื่อมันก้องแล้วค่อยๆ จับจริยาอารมณ์ของจิตว่ามันชั่วตรงไหน จิตจะมีความรักในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสหรือเปล่า จิตเรามีความโลภหรือเปล่า จิตเรามีความโกรธ ความพยาบาท จองล้างจองผลาญบุคคลอื่นหรือเปล่า จิตเรามีความหลงในความประพฤติชั่วของในตัวของเราที่เข้าใจว่าเราประพฤติดีหรือเปล่า
ทุกวันนี้เราคอยจับดูอารมณ์ของจิต ตามพระบาลีที่กล่าวว่า อัตตนา โจทยัตตานัง ซึ่งแปลเป็นใจความว่า จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดตนเองไว้เสมอ อันนี้เราคิดหรือเปล่า หรือคิดว่าเราดี ถ้าเราคิดว่าเราดีเมื่อไหร่ เราก็เลวเมื่อนั้น
ต่อแต่นี้ไปก็จะพูดถึงอานาปานุสสติกรรมฐาน เวลานี้เรากำลังศึกษาอานาปานุสสติกรรมฐาน และสิ่งที่ผมพูดมาแล้วเมื่อสักครู่นี้ที่ผ่านมา มันเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า บางท่านจะคิดว่ามันไม่เกี่ยวไม่ข้องกันเลย แต่ความจริงมันเกี่ยว มันเกี่ยวตรงไหน
เกี่ยวตรงที่ว่าถ้าเราทรงอานาปานุสสติกรรมฐานได้ กรรมฐานนี้มีนิมิตเครื่องหมายโดยเฉพาะลมหายใจเข้าออก และลมหายใจเข้าออกนี้ ส่วนมากคนเราเกิดมาแล้วไม่ได้สนใจกับลม เพราะว่าร่างกายมันทำงานของมันเป็นปรกติ
ถ้าหากว่าเราไปสนใจกับลม ถ้ารู้ลมเข้าลมออกอยู่เป็นปรกติ อารมณ์แห่งความหลงในกามคุณ ๕ มันก็ไม่มี อารมณ์ความหลงไปในเรื่องของความโลภ มันก็ไม่มี จะหลงอยู่ใน ความโกรธ ความหลง มันก็ไม่มี เพราะจิตมันติดงาน คือรู้ลมเข้าลมออก เป็นอันว่าจิตของท่านเป็นฌานสมาบัติ เมื่อฌานสมาบัติเกิดขึ้น ปัญญามันก็เกิด
ขอได้โปรดทราบ ที่ไม่สามารถจะทำปัญญาให้ดีขึ้นได้ เพราะใจของท่านไม่เป็นสมาธิ ปัญญาที่มันดีขึ้นได้มีอะไร ที่เราจะรู้ว่าปัญญาดีปัญญาชั่ว ก็เอาจิตของเราเข้าไปวัดกับอารมณ์ของพระโสดาบัน
ความจริงเรื่องนี้ เราพูดย้ำกันไปย้ำกันมา ฟังกันทุกวัน ผมเห็นว่าเป็นของไม่ยากสำหรับคนดี แต่เป็นของหนักสำหรับคนเลว โปรดจำไว้ด้วยว่าคำว่าพระโสดาบันเป็นของไม่ยาก
เมื่อวันก่อนที่ผ่านมาก็ได้พูดเรื่องของพระโสดาบัน วันนี้เราย้อนถอยหลังไปสักนิดหนึ่ง ว่าเวลานี้เราทรงความเป็นพระโสดาบันได้แล้วหรือยัง หรือว่าจิตของเรายังวุ่นวายอยู่กับความชั่ว คนที่มีอารมณ์จิตไม่วุ่นวายกับความชั่ว นั่นก็คือพระโสดาบัน
พระโสดาบันมีอะไร
นึกถึงความตายเป็นอารมณ์
มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระอริยสงฆ์ โดยไม่สงสัยในคำสั่งสอนของท่าน
มีศีล ๕ บริสุทธิ์
จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดามากขึ้น หมายความว่า ความหวั่นไหวในโลกธรรม ๘ ประการมีน้อย ใครเขาจะด่าจะว่าก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครเขาจะชมก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา อะไรก็ตามมันมาก็ธรรมดาไปหมด ความหวั่นไหวของพระโสดาบันยังมีอยู่บ้าง แต่ว่าพระโสดาบันก็มีความอิ่มใจ ที่คิดว่าเราเกิดแล้วในชาตินี้ไม่เสียทีเกิด เราสามารถจะรวบรวมความดีไว้ได้ คือ หนึ่งสักกายทิฐิแบบเบา ก็ได้แก่ ไม่เมาในชีวิต คิดว่าเราจะต้องตาย
เมื่อเราจะต้องตายก็ต้องหาทางสร้างความดี ใช้ปัญญาพิจารณาคำสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์ จนกระทั่งมีความเข้าใจไม่สงสัย อย่างนี้เรียกว่า เคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์
เมื่อไม่สงสัยก็ตัดใจตรงลงเฉพาะด้านของความดี คือ มีศีลบริสุทธิ์ เฉพาะฆราวาสมีศีล ๕ บริสุทธิ์ สามเณรมีศีล ๑๐ บริสุทธิ์ พระมีศีล ๒๒๗ บริสุทธิ์
จิตมีความรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ คิดไว้อย่างเดียวว่าตายคราวนี้จุดที่เราจะพึงไปนั่นคือเราต้องการพระนิพพาน
อารมณ์ขั้นต้นของพระโสดาบันเพียงเท่านี้ มันยากนักหรือ ความจริงสำหรับคนชั่วยาก สำหรับคนดีไม่ยาก เพราะว่าคนชั่วน่ะจะสอนยังไงก็ตามก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ฟังแล้วก็ฟังเฉยๆ มีความทะนงตนคิดว่าตนเป็นคนดีเป็นปรกติ ไม่ได้มองความชั่วของตัว
สำหรับการที่เราจะทำให้ศีลบริสุทธิ์ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ไม่สงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทำยังไง
เวลานี้เราเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน เราก็ต้องไม่ไปสนใจกับอะไร ใช้อานาปานุสสติกรรมฐานเป็นวิปัสสนาญาณเครื่องควบคุม อานาปานุสสติได้แก่การนึกถึงลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้าจะภาวนาก็ภาวนาว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ นี่เป็นความต้องการของเราที่จะสร้างความดี
ขณะที่เราภาวนาว่าพุทโธ เพื่อรู้ลมหายใจเข้าออก ปัญญามันเกิด ทำไมจึงว่าปัญญาเกิด ก็เพราะจิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ปัญญามันก็เกิด ถ้าปัญญาของพวกท่านทั้งหลายไม่เกิด ก็แสดงว่าจิตของท่านไม่มีสมาธิ
ท่านจะถามผมว่า จิตเป็นสมาธิอันดับไหนปัญญาจึงเกิด ก็ต้องขอตอบว่า ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไม่ว่าสมาธิจุดไหน ปัญญาเกิดทั้งหมดนี้ ถ้าปัญญาเราไม่เกิด ก็แสดงว่าจิตไม่เป็นสมาธิ อันนี้ต้องจำไว้ครับ
การศึกษามีวัดเราแห่งเดียวที่รับฟังคำสอนเป็นปรกติ แต่ทว่าเป็นที่น่าเสียดายอยู่นิดหนึ่ง บางทีเรารับคำสอนกันมากเกินไป จนกระทั่งมีใจหยาบไม่มีความรู้สึกละอายในความชั่ว คือถ้าอารมณ์ใดๆ ถ้ามันเป็นความชั่วมีอยู่ล่ะก็ นึกถึงตรงนี้นะครับ นึกว่าเราเลวจริงๆ นะ
เหมือนกับปลาที่อยู่ในน้ำแต่ไม่รู้คุณของน้ำ นกที่จับอยู่กับต้นไม้ก็ไม่รู้คุณของต้นไม้ ว่าต้นไม้เป็นที่อาศัยให้ความสุขสำหรับนก น้ำเป็นที่อาศัยให้ความสุขสำหรับปลา แต่นกกับปลาก็มีจิตหยาบ มีจิตเลว ไม่ได้รู้สึกถึงคุณของต้นไม้และน้ำ ฉันใด
สำหรับคนที่มีจิตเลวก็เช่นเดียวกัน อยู่กับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังเป็นปรกติ แต่ว่าไม่สามารถจะทำจิตเป็นสมาธิ ไม่สามารถจะทรงความเป็นพระโสดาบันได้ ก็รู้สึกว่าจะเป็นที่น่าหนักใจ ถ้าพูดตามประสาชาวบ้านก็เรียกว่าเลวเต็มที ความเป็นพระไม่มีความหมาย ความเป็นเณรไม่มีความหมาย ความเป็นอุบาสกอุบาสิกาไม่มีความหมาย
เรามาพูดถึงคนที่มีปัญญา เวลาเขาจับลมหายใจเข้าหายใจออก เขาก็จะนั่งคิดว่าร่างกายของเราที่ทรงอยู่ได้ก็เพราะอาศัยผัสสาหาร อาหารคือลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นสำคัญ สำหรับกวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าวก็มีความสำคัญ มโนสัญญเจตนาหาร อาหารที่เราต้องการตามอารมณ์ของใจก็มีความสำคัญ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต นั่นก็คือลมหายใจ ถ้าเราหายใจเข้าแล้วเราไม่หายใจออกมันก็ตาย หายใจออกแล้วเราไม่หายใจเข้ามันก็ตาย นั่งมองดูชีวิตตามความเป็นจริง ว่าความตายนี่มันอยู่ที่ปลายจมูกของเราเท่านั้น มันไม่ได้อยู่ที่ไหน วันเวลาที่มันจะตายบอกไม่ได้ว่าเมื่อไรกันแน่ นี่เราจะปล่อยชีวิตของเราตอนนี้ให้มันตายไปโดยการไร้ประโยชน์จนไม่สร้างความดี มันจะเป็นการสมควรมั้ย
การที่เราไม่สร้างความดี เราสร้างความชั่ว มันก็เป็นปัจจัยของความทุกข์ ในเมื่อชาตินี้เราทุกข์ ชาติหน้าเราจะสุขได้ยังไง วันนี้เราเลว วันพรุ่งนี้มันจะดีได้ยังไง หรือว่าใครเขาเห็นเราว่าวันนี้เราเลว วันพรุ่งนี้ใครเขาเห็นหน้าเรา เขาก็คิดว่าเราเลวอยู่นั่นแหละ
เป็นอันว่าเราก็ประณามตัวเราเอง
คอยจับจุดที่ศีล ศีลของเราบกพร่องมั้ย
จับจุดที่กามคุณ กามคุณของเราฟุ้งซ่านมั้ย
จับจุดที่โลภะ ความโลภ เรามีความโลภมั้ย
จับจุดที่ใจอำมหิตโหดร้าย มีความโกรธคิดประทุษร้ายคนอื่น อันนี้เรามีมั้ย
จับจุดที่เป็นความหลง หลงว่าเราจะยังไม่ตาย ยังจะมีชีวิตต่อไป อยากจะเกื้อกูลกิเลสให้มันมาก คิดว่าร่างกายจะทรงตัวตลอดกาลตลอดสมัย อยากทะนงตนเป็นคนดี อยากจะดีอยากจะเด่น
อันนี้มีหรือเปล่า ถ้ามีเราก็เลว นี้เป็นส่วนย่อสำหรับพระโสดาบันแล้วก็หันเข้าไปอีกทีว่า เอ๊ะ นี่เรากำลังจะตายแล้วนี่ หายใจเข้าแล้วเราไม่หายใจออกมันก็ตาย หรือว่าเราหายใจออกแล้วเราไม่หายใจเข้ามันก็ตาย แล้วเราจะทำยังไง ทำยังไงเมื่อเวลาอยู่มันถึงจะเป็นสุข เวลาตายแล้วถึงจะเป็นสุข สุขจริงๆ ก็คือพระนิพพานในเวลาตาย ในเวลาอยู่ที่เราจะอยู่อย่างเป็นสุขได้ก็เพราะอาศัยอยู่อย่างจิตไม่ติดในโลกธรรม ไม่มีอารมณ์ของความชั่ว
ความจริงพระโสดาบันยังมีโลกธรรมติดอยู่มาก เราก็ถอยหลังไปดู โอ้หนอ ชีวิตของเราก็ดี ชีวิตของบุคคลอื่นก็ดี ไม่มีการทรงตัวเสียเลย จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้
ถ้าเราคิดว่าเราจะมีอายุอยู่นาน เราก็จงดูคนที่เกิดพร้อมเรา หรือว่าเกิดทีหลังเรา เขาตายก่อนเรามีบ้างมั้ย ถ้ามีก็แสดงว่าชีวิตของเราก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน มันจะพลันตายเมื่อไหร่เราก็ไม่รู้
อันนี้จับอานาปานุสสติให้ดี คิดว่าโอ้หนอ ลมหายใจนี่เป็นที่พึ่งชั่วคราวสำหรับเรา ถ้ามันไม่ทำงานเมื่อไรเราก็ตาย ชีวิตของเราต้องตายแน่ แต่ทว่าถ้าปรกติเรามีความรู้สึกชั่ว จะชั่วตรงไหนก็ตาม เราปัจจุบันเราก็มีทุกข์ ตายจากความเป็นคนเราก็มีทุกข์
ฉะนั้นเราต้องหาความสุขขั้นต้นซะก่อน อันดับแรกถือลมหายใจเข้าออกเป็นสำคัญ ว่าเจ้ากับเรานี้มาอยู่กันไม่นาน ไม่ช้าเจ้าก็ไม่ทำงาน ไม่ทำงานฉันก็ตาย เมื่อร่างกายมันตายแล้วฉันก็ต้องไป ไปสู่ภพสู่ชาติตามความดีและความชั่วของฉัน แต่การสู่ภพสู่ชาติมันจะดีไม่ได้ เพราะชาตินี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ชาตินี้เต็มไปด้วยความเดือดร้อน ชาตินี้เต็มไปด้วยความกระวนกระวายของใจ
เป็นอันว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่มีความประมาทในชีวิต อารมณ์จิตของเราจะทรงไว้ซึ่งความดี เมื่อจิตของเราดี เมื่ออยู่ในชาตินี้เราก็เป็นสุข ตายไปชาติหน้าเราก็เป็นสุข เป็นสุขตรงไหน เป็นสุขที่ว่าเรามันดี ถ้าเราทำความดีเสียอย่างเดียว ไม่มีใครเขามาว่ามากล่าวมาติมาเตียนเรา
ทีนี้ความดีจริงๆ อยู่ที่ไหน ผู้ให้ความดีจริงๆ คือพระพุทธเจ้า แล้วความดีที่พระพุทธเจ้าให้ก็คือพระธรรม ผู้ที่นำเอาความดีคือพระธรรมมาแนะนำเราก็คือพระอริยสงฆ์ เป็นอันว่าทั้งสามจุดนี่ เราถือว่าเป็นที่พึ่งของเรา เกาะติดในพระพุทธเจ้า เกาะติดในพระธรรม เกาะติดในพระสงฆ์
ความจริงวันก่อนผมก็พูดเรื่องเกาะติดมาแล้ว ติดจริงๆ เกาะติดในอารมณ์อานาปานุสสติกรรมฐาน ไม่ยอมให้อารมณ์ว่างจากอานาปาฯ ไม่ยอมปล่อยให้ความชั่วส่วนใดส่วนหนึ่งเข้ามายุ่งกับจิตความชั่วต่างๆ มันจะเข้ามายุ่งไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะจิตของเรามันติดอยู่ในอานาปานุสสติ ติดอยู่ในลมหายใจเข้าหายใจออก แล้วใจมันจะคิดเรื่องอื่นได้ยังไง
ถ้าเราจะทำงาน ก็จับลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นพื้นฐาน ให้จิตทรงตัว เอางานเป็นสรณะ เอางานเป็นที่พึ่ง
เหมือนกับพระที่กำลังทำงานอยู่นี่ พาหนะที่เราใช้มันเก่าไป สีมันไม่เหมาะสม พอเห็นว่าสีมันไม่เหมาะสม จงรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็นอนิจจัง ความจริงสีนี่มันดี คนทำก่อนเขาเห็นว่าสวย แต่เวลานี้มันเศร้าหมองเพราะอะไร เพราะกาลเวลาผ่านไป มันก็เริ่มใช้ไม่ได้ ไม่ถูกกับกาลสมัย เราก็ต้องทำใหม่ให้มันดี แต่ไอ้คำว่าดีที่เราทำใหม่มันก็ไม่ดีตลอดกาลตลอดสมัย สีเก่ามันสลายตัวได้เสื่อมได้ฉันใด สีใหม่ก็มีสภาพแบบนั้น
ในเมื่อสีมันเป็นยังงั้น ร่างกายเราก็เป็นยังงั้นเหมือนกัน ไม่ช้ามันก็ทรุดมันก็โทรม มันทรุดมันโทรมไปทุกวันเหมือนกับสีที่พ่นใหม่ มันก็เก่าลงไปทุกวัน ในที่สุดสีก็ใช้ไม่ได้ฉันใด ร่างกายของเรามันก็เหมือนกัน ไม่ช้ามันก็พัง
นี่เป็นอันว่าเรื่องของร่างกายและก็อานาปาฯ ลมหายใจเข้า หายใจเข้าไปแล้วและเราก็หายใจออก เวลาหายใจออกและเราหายใจเข้า มันไม่ใช่ลมเก่าที่ออกไป มันเป็นลมใหม่ นี่ร่างกายของเราก็มีสภาพแบบนี้
ความจริงความตายมันมีทุกวัน เวลากาลผ่านไปเพียงใด ความตายปรากฎเท่านั้น แต่ที่มันอยู่กันได้ ก็อาศัยสันตติคือการสืบเนื่องติดต่อ การติดต่อซึ่งกันและกันในระหว่างอาหาร สำหรับอาหารคือคำข้าว ช่วยเชื่อมให้ร่างกายโตขึ้นและทรงตัว สำหรับอาหารที่มีความสำคัญคือ ผัสสาหาร นั่นคือลมหายใจเข้าออก เป็นการให้ชีวิตทรงอยู่
แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ องค์สมเด็จพระบรมครูกล่าวว่าไม่ช้ามันก็สลายตัว เมื่อมันเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องเกาะติดศีล เกาะติดศีลจะติดได้ยังไง เกาะให้ดีจริงๆ คือ เกาะพรหมวิหาร ๔
จิตมีเมตตา ความรักในคนหรือสัตว์อยู่เสมอ ไม่คิดว่าเราจะเป็นศัตรูกับใคร ไม่คิดว่าใครจะเป็นศัตรูกับเรา
กรุณา จิตมีความสงสาร ปรารถนาจะเกื้อกูลให้คนอื่นมีความสุขอยู่เสมอ เมื่อจิตมีความรักความสงสาร ศีลขาดไม่ได้
ต่อไป จิตมีมุทิตา คือจิตอ่อนโยน ไม่มีอารมณ์อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เห็นใครดีเพียงใดเราพอใจเพียงนั้น ไม่ใช่จะไปนั่งอิจฉาริษยาความดีของบุคคลอื่น เป็นอันว่าเราพอใจในความดีของท่าน เขาดีเราพลอยดีใจด้วย ดีใจและก็ทำตามเขา เห็นเขาดีเราไม่เดือดร้อน เจอะคนดีเมื่อไรชื่นใจเมื่อนั้น นี่เป็นลักษณะของพรหมวิหาร ๔
อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบกระทั่ง จะเป็นคำนินทาหรือคำสรรเสริญก็ช่าง ลาภจะมีหรือไม่มีก็ช่าง ยศจะมีหรือไม่มีก็ช่าง มันมีแล้วมันสลายไปก็ช่างมัน ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา
ถ้าหากว่าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายโดยถ้วนหน้า จิตทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ ประการ เรื่องความเป็นพระโสดาบันไม่มีความสำคัญสำหรับท่าน ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่า เรื่องความเป็นพระโสดาบันก็เป็นของเล็ก
เพราะพระโสดาบันก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี มีความสำคัญอยู่ที่ศีล ถ้าหากว่าศีลของเราบริสุทธิ์ ก็มีความเป็นพระโสดาบันได้ ทีนี้ถ้าเรามีจิตเมตตากรุณาทั้ง ๒ ประการ แม้ไม่มีมุทิตา อุเบกขาก็ตาม ศีลของเราก็บริสุทธิ์แล้ว
เพราะฉะนั้นขอบรรดาท่านทั้งหลาย ที่มีความหวังดีกับตัวของท่านเอง ความจริงความดีที่เราทำ เราทำเพื่อเรา เพื่อเรามีความสุข
ฉะนั้น ขอทุกท่านหวังความเป็นพระโสดาบัน ขอทุกคนจงอย่าเว้นนึกถึงความตาย พิจารณาความดีเข้าไว้ ทรงพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วน เมื่อพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วนเพียงใด ชื่อว่าท่านทั้งหลายทรงศีลบริสุทธิ์ แถมจิตอีกนิดหนึ่งว่าเราขอไปพระนิพพานเป็นที่สุด ชีวิตนี้เป็นชีวิตสุดท้ายสำหรับเรา การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ไม่พึงเป็นที่ปรารถนาของเรา เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน
เอาละบรรดาท่านทั้งหลาย มองดูเวลาที่จะพูดกับท่านเห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก และใช้อารมณ์พิจารณาหรือภาวนาก็ได้ตามอัธยาศัย และขอให้อยู่อิริยาบถตามสบาย จะนั่งก็ได้ จะนอนก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ ตามอัธยาศัยของท่าน จนกว่าว่าท่านเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร.
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ มีทั้งหมด ๑๘ ตอน
ตอนที่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน
ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ
ตอนที่ ๓ อุปจารสมาธิ
ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน
ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
ตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑)
ตอนที่ ๗ อารมณ์พระโสดาบัน (๒)
ตอนที่ ๘ พระสกิทาคามีมรรค
ตอนที่ ๙ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๑
ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒
ตอนที่ ๑๑ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๓
(รออ่านต่อ)
ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑
ตอนที่ ๑๓ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๒
ตอนที่ ๑๔ พระสกิทาคามีมรรค-โมหะ
ตอนที่ ๑๕ พระอนาคามีมรรค ๑
ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค ๒
ตอนที่ ๑๗ พระอรหัตตมรรค
ตอนที่ ๑๘ พระอรหัตตผล (ตอนจบ)