โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
อาตมาจะขอถวายพระพร ในจริต ๖ ประการ ที่พระมหาบพิตรมีพระราชประสงค์ แต่ว่าเวลากาลที่เนิ่นช้ามา อาตมาไม่ได้บันทึกเสียงถวาย ทั้งนี้ก็เพราะว่าคอไม่ดี พูดเสียงไม่ออก ไม่สามารถจะบันทึกได้เป็นเวลานาน มาในโอกาสนี้เสียงพอจะใช้ได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ปกติ เห็นว่าสมควรจะบันทึกถวายได้แล้ว จึงบันทึกถวายมา
สำหรับ จริต ๖ ในตอนนี้ อาตมาจะขอปรารภเรื่อง ราคะจริต ที่พระมหาบพิตรเคยตรัสว่า บางคนเขาเข้าใจว่าตัวเขาเองไม่มีราคะจริต ความจริงคำว่า ราคะจริต ไม่ได้หมายถึงว่า เป็นผู้ใคร่ในกามารมณ์เสมอไป ทั้งนี้ก็หมายถึงว่า บุคคลใดก็ตาม ยังมีความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย การสัมผัสเป็นที่พอใจ อย่างนี้เป็นต้น ก็ชื่อว่าบุคคลเป็นผู้มีราคะจริต เพราะคำว่าราคะจริต หมายถึงว่า การรักสวยรักงาม เป็นต้น มิได้หมายความว่าเป็นผู้มักมากในกามารมณ์
นี้คนส่วนใหญ่ถ้ากล่าวกันว่าราคะจริต ก็มักจะมีความเข้าใจว่า ตนเองจะเป็นผู้มักมากในกามาารมณ์ จึงจัดว่าเป็นราคะจริต ความเห็นเช่นนี้ย่อมมีการพลาดจากความจริงไปมาก เป็นเหตุให้บุคคลนั้นมีความประมาท คิดว่าตนเป็นผู้ไม่มีราคะ ฉะนั้น ในการที่พระมหาบพิตรทรงมีพระราชประสงค์ ต้องการจะให้บันทึกเฉพาะจริตต่อจริต หรือว่าจริตหนึ่งต่อหนึ่งเทป อาตมาเห็นชอบด้วย
สำหรับราคะจริตนี้ เป็นอันว่าพอจะเข้าใจได้ว่า คนใดก็ตาม ถึงแม้ว่าไม่มีความรู้สึกทางเพศ ถ้ายังมีความต้องการรูปสวย ภาชนะสวย ดอกไม้มีลักษณะสวย อย่างนี้เป็นต้น ก็ยังชื่อว่ามีราคะ และอีกประการหนึ่ง อารมณ์ใดที่ปรากฏ อารมณ์นิ่งอยู่ ไม่มีความพอใจในกามารมณ์ อารมณ์นั้นยังจะถือว่าเป็นผู้ไม่มีราคะจริตไม่ได้ ต้องอาศัยการสัมผัสเป็นสำคัญ ถ้าความสัมผัสและการยั่วเย้าทำให้เกิดขึ้น ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ มีอารมณ์ด้านจากกามารมณ์จริงๆ อย่างนี้จึงจะใช้ได้
สำหรับท่านที่มีอารมณ์ด้านจากกามารมณ์โดยอำนาจของธรรมะ ก็จะต้องมีข้อเปรียบเทียบอีกข้อหนึ่ง นั่นก็คือไม่มีอารมณ์โทสะเข้ามาเจือปน คือว่า คนที่ไม่มีราคะจริตจริงๆ ตัดความรู้สึกในเพศได้จริงๆ ก็ต้องตัดโทสะร่วมกันได้ด้วย ทั้งนี้เพราะว่าเป็นองค์ของพระอนาคามี
ทีนี้ต่อไปนี้ อาตมาจะขอปรารภเรื่อง ราคะจริต ที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ได้ทรงตรัสว่า มีกรรมฐาน ๑๑ อย่างควบคู่กัน เป็นผู้เข้าทำลายหรือประหัตประหารราคะจริต สำหรับกรรมฐาน ๑๑ อย่างนั้น อาตมาจะขอย่อลงมาเหลือเป็น ๒ คือ หนึ่ง กายคตานุสสติ การพิจารณากายว่ามีแต่อาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น และทุกส่วนของร่างกาย องค์สมเด็จพระจอมไตรให้พิจารณาว่าเต็มไปด้วยความสกปรก คำว่าเห็นสกปรกเป็นของน่าเกลียด อย่างนี้เป็นลักษณะของ อสุภกรรมฐาน อีก ๑๐ อย่าง
แต่อาตมาจะไม่จำแนกแต่ละอย่าง จะขอถวายพระพรแบบรวบๆ ทั้งนี้เพราะว่าพระมหาบพิตรทรงมีความเข้าพระทัยดีแล้วในเรื่องนี้ แต่ว่าพระมหาบพิตรทรงมีความสงสัยหรือแคลงใจในด้านการพิจารณากาย ว่าจะทำอย่างไร จึงจะเห็นว่าร่างกายสกปรก นี้เป็นส่วนที่มหาบพิตรทรงมีความสงสัยมาก แล้วก็จะรู้สึกว่าเห็นด้วยไม่ได้ ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตรัสสั่งว่า หรือว่าจริตของผมจะไม่ตรงกัน อันนี้อาตมาก็ขอถวายพระพรว่า ข้อนี้เป็นความจริง
เรื่องการที่จะทำลายนิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งก็ดี หรือจะทำลายกิเลสจุดใดจุดหนึ่งก็ดี ซึ่งเป็นจุดใหญ่ อันนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาให้มุ่งจริตเป็นสำคัญ อย่างบุคคลผู้มีพุทธจริต เป็นบุคคลที่มีความฉลาดมาก อย่างนี้อาตมาเคยประสบมาในสมัยที่เคยฝึกร่วมกัน ว่าเขาผู้นั้นไม่สามารถจะเจริญในอสุภกรรมฐานได้ และไม่สามารถที่จะเจริญในกายคตานุสสติได้ ทั้งนี้เพราะว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อปานวัดบางนมโค เคยเตือนท่านผู้นั้นว่า เธอไม่เหมาะสมที่จะไปพิจารณาอสุภกรรมฐาน ทั้งนี้ก็เพราะว่าจริตของเธอไม่เหมาะสม
สำหรับพระมหาบพิตรก็เช่นเดียวกัน อาตมาพิจารณาแล้วเห็นว่า พระมหาบพิตรมีพระจริตไปในด้านพุทธจริตเป็นสำคัญ แล้วนอกจากนั้นก็มีศรัทธาจริตเจือปนผสมอยู่ จึงมีกำลังมาก หากว่าจะมาพิจารณาในด้านอสุภกรรมฐานและกายคตานุสสติกรรมฐาน ย่อมจะเห็นยาก หากว่าจะตรัสถามว่า ถ้าไม่สามารถจะใช้อสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้อารมณ์สมาธิจะมีผลไหม อาตมาก็ต้องขอถวายพระพรว่า สมาธิมีผลแน่ ไปตามสายของโลกียฌาน
แต่ในเมื่ออารมณ์สมาธิจะก้าวเข้าสู่โลกุตตรฌานในขั้นพระโสดาบัน ก็ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ กายคตานุสสติกรรมฐานและอสุภกรรมฐานเป็นกำลังใหญ่ ต่อเมื่อกำลังใจก้าวเข้าไปสู่สกิทาคามี ตอนนี้กายคตานุสสติกรรมฐานกับอสุภกรรมฐาน เริ่มมีบทบาทเล็กน้อยพอสมควร ไม่มากนัก ถ้ากำลังจิตก้าวเข้าสู่พระอนาคามีมรรค ตอนนี้มีความสำคัญ ต้องใช้กายคตานุสสติและอสุภกรรมฐานเป็นกำลังใหญ่ ควบคู่กับพรหมวิหาร ๔ ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระอนาคามีจำต้องตัดราคะ คือ ความกำหนัดยินดีในเพศ และปฏิฆะ-อารมณ์กระทบกระทั่งแห่งจิต
ตอนนี้ถ้าพระมหาบพิตรจะทรงตรัสถามว่า ถ้าไม่ฝึกฝนในด้านราคะจริตไปแล้ว คือ ไม่เจริญอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติกรรมฐานไปในตอนต้น บุคคลที่จะก้าวเข้าสู่เป็นพระอนาคามีจะมิไม่มีผลหรือ ทั้งนี้อาตมาภาพก็ต้องถวายพระพรว่า กาลเวลาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการนำอารมณ์จิตก้าวเข้าสู่ในความเป็นพระโสดาบัน ย่อมมีกำลังมากกับฌานโลกีย์ คืออารมณ์ทรงตัว
ทีนี้ตอนที่จิตจะก้าวเข้าสู่พระสกิทาคามี ย่อมเป็นของไม่ยาก เมื่อก้าวเข้าสู่เป็นพระสกิทาคามีมรรค ในตอนนี้ก็ใช้อสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติกรรมฐานมากขึ้น อาศัยฌานเป็นฌานโลกุตตระ มีอาการทรงตัว จะทำลายความรู้สึกในเพศได้เล็กน้อยพอสมควร เมื่อทรงความเป็นพระสกิทาคามีแล้ว คราวนี้จิตมีกำลังเข้มแข็งขึ้น การจะใช้อารมณ์เข้าประหัตประหารกามารมณ์ ด้วยอำนาจกายคตานุสสติและอสุภกรรมฐาน เป็นของไม่ยาก
ทั้งนี้ข้อเปรียบเทียบก็จะเหมือนกับนักเรียน ที่ศึกษามาตั้งแต่ชั้นอนุบาล แล้วขึ้นประถมปีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ถ้าศึกษาตามลำดับนี้ จะรู้สึกว่าไม่หนัก ถ้าอยู่ๆ โตแล้วเรียนลัด ก็รู้สึกว่าจะหนักมากกว่า และก็คนที่มีความพยายาม มีวิริยะอุตสาหะจริงๆ ก็สามารถทำได้
สำหรับพระราชปรารภของพระมหาบพิตรก็เช่นเดียวกัน ซึ่งทรงถามว่า จะทำยังไงจึงจะเห็นว่าร่างกายสกปรก พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สกปรก เหมือนกับเอามือไปหยิบของสกปรกมา แล้วก็มาล้างมันก็สะอาด
ทีนี้การพิจารณา ในอสุภกรรมฐานก็ดี ในกายคตานุสสติกรรมฐานก็ดี องค์สมเด็จพระชินสีห์ ทรงปรารภว่า ต้องพิจารณากายของตนเองด้วย พิจารณากายของบุคคลอื่น และสัตว์อื่นนอกจากตัวเองด้วย พิจารณาวัตถุธาตุต่างๆ ด้วย ว่าเป็นสิ่งสกปรก และที่ทรงตรัสว่า สมมติว่าเอามือไปหยิบอย่างอื่นมา มันเป็นของสกปรก เราล้างเสียมันก็สะอาด ทีนี้ส่วนที่หยิบ ขอให้พระมหาบพิตรทรงพิจารณาว่า ส่วนที่หยิบมันเป็นของสกปรกน่ะมันเป็นอะไร เป็นวัตถุธาตุ หรือว่าเป็นร่างกายส่วนชิ้นส่วนของร่างกายของคนและสัตว์
ถ้าเป็นวัตถุธาตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถก็กล่าวว่า นั่นธาตุดินถ้ามันเป็นของแข็ง ธาตุดินมีสภาวะสกปรก ถ้าเป็นของเหลวก็จัดว่าเป็นธาตุน้ำ ก็แสดงว่าน้ำสกปรก ทีนี้สำหรับธาตุดินกับธาตุน้ำนี่ ในร่างกายมีหรือเปล่า มีดินไหม หรือว่ามีน้ำไหม เมื่อมาพิจารณาเห็นธาตุดินกับธาตุน้ำในร่างกายมี ว่าส่วนใดที่มีความเข้มแข็ง สิ่งนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเป็นธาตุดิน ถ้าส่วนใดเป็นของเหลวในร่างกาย องค์สมเด็จพระจอมไตรเรียกว่าธาตุน้ำ
ทีนี้มาพิจารณาธาตุดินกับธาตุน้ำในร่างกายของตนเอง ว่าธาตุน้ำส่วนไหนในร่างกายที่ไม่สกปรก ถ้าจะบ้วนน้ำลายออกมา เขฬะ น้ำลายในปากอมได้ แต่พอบ้วนออกมาแล้ว ทุกคนพากันรังเกียจว่าน้ำลายสกปรก ก็ต้องถอยหลังเข้าไปพิจารณาน้ำลายว่าเป็นของอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นของอยู่ในร่างกาย ก็แสดงว่าส่วนของร่างกายมีความสกปรก
ถ้าจะสั่งน้ำมูกออกมา น้ำมูกออกมาจากร่างกาย แล้วก็พิจารณาว่าน้ำมูกนี่สกปรกหรือสะอาด เมื่อพิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นว่าน้ำมูกสกปรก ต้องถอยหลังคิดว่าน้ำมูกนี่มาจากไหน
ถ้าน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ไหลออกมาจากร่างกาย ทุกคนก็ทราบว่า น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง สกปรก อันนี้ก็ต้องทวนคิดว่า น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองอยู่ที่ไหน หันไปอีกที จะเห็นว่าอยู่ในร่างกาย นี้ส่วนย่อยแค่นี้ ถ้าพิจารณาแล้วก็เห็นว่า ส่วนที่เป็นน้ำในร่างกายเป็นของสกปรก เป็นของไม่สะอาด
ทีนี้มาพิจารณาธาตุดิน ว่าธาตุดินที่อยู่ในร่างกายเป็นของสกปรกหรือว่าของสะอาด ทวนถอยหลังถึงสรีระร่างกายภายนอก ส่วนที่มีความสำคัญที่สุดก็คือหนังกำพร้า หนังกำพร้านี่ปกติจะมีความเกลี้ยงเกลาอยู่ แต่ทว่าอาศัยการซึมออกมาจากเหงื่อ เมื่อเหงื่อซึมออกมาจากร่างกาย คนทุกคนก็จะต้องยอมรับว่า เวลานี้ร่างกายสกปรก
แต่ว่าเมื่อร่างกายสกปรกมีความเหนียวๆ เหนอะไปด้วยเหงื่อ ทุกคนก็จะพากันอาบน้ำและเช็ดตัว ชำระร่างกายให้สะอาด ความรู้สึกว่าสกปรกก็หายไป เลยมีความเข้าใจว่าร่างกายสะอาด ถ้าหากว่าการชำระล้างครั้งเดียวสะอาดตลอดกาล ก็ควรจะยอมรับว่าร่างกายสะอาดได้ แต่ทว่าก็ไม่สะอาดจริง เพราะต้องอาศัยการชำระล้างร่างกายเป็นสำคัญ จึงมีอาการเช่นนั้น ถ้าร่างกายสะอาดจริงๆ ตั้งแต่เกิดมาจนวันตาย ก็ไม่ต้องชำระล้างร่างกาย
นี่การชำระล้างร่างกาย มีการอาบน้ำ มีการเช็ดตัวกันตามปกติ ก็เพราะว่าร่างกายเป็นของสกปรก แต่อาศัยความเคยชินของจิต จึงไม่มีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้สกปรก มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เหมือนกับร่างกายนี้สะอาด แต่ความจริงการพิจารณาว่า ร่างกายสกปรก หรือร่างกายสะอาดนี้ ต้องค่อยๆ ทำไปตามกำลัง
คำว่ากำลัง อันนี้อาตมาก็จะขอถวายพระพรว่า กำลังของจิตมีความไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าจะใช้ในด้านของกำลังฌานโลกีย์ ในตอนนี้พระมหาบพิตร ถ้าหากว่าทรงตำรับตำราต่างๆ หรือรับฟังมาจากที่ไหนก็ตาม จะเห็นว่าบุคคลผู้ทรงฌานโลกีย์ ยังมีสติแห่งสมาธิไม่แน่นอน ทั้งนี้ก็หมายถึงว่า ยังมีอาการขึ้นลงของจิต บางขณะจิตทรงฌานได้ดี บางขณะอารมณ์ของฌานก็เสื่อมตัวลง หาความทรงตัวแน่นอนไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะจิตของบุคคลผู้ทรงฌานโลกีย์ ยังมีความไม่มั่นคง ยังมีความโยกโคลง จิตยังตกเป็นทาสของนิวรณ์ ๕ ประการ คือ อารมณ์ที่เป็นอกุศล นอกจากนิวรณ์ ๕ ประการแล้ว อารมณ์ที่เป็นอกุศลอย่างอื่น ก็ยังมีอีกมากที่ยังมีอำนาจเหนือจิต
ฉะนั้น ตามที่พระมหาบพิตรตรัสว่า การพิจารณาร่างกายเป็นของสกปรกนี่ กระผมเห็นจะทำไม่ได้ เพราะว่าคงจะไม่ใช่จริตของตน อันนี้อาตมาก็ขอรับรองว่า จริตของพระมหาบพิตรไม่ตรงกับราคะจริต ความจริงมี แต่ว่ากำลังของราคะจริตมีเป็นกำลังส่วนน้อย กำลังส่วนใหญ่ของพระมหาบพิตร นั่นก็คือพุทธจริตเป็นสำคัญ แล้วก็มีศรัทธาจริตเป็นกำลังหนุนใหญ่ น้ำพระทัยก็ทรงเต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหาร ๔ ถ้าอาการอย่างนี้มีกำลังใหญ่ ย่อมไม่สามารถจะมองเห็นราคะจริตได้ง่ายนัก แต่ก็เป็นผลดีเพราะว่าเป็นปัจจัยสำคัญ พุทธจริตก็ดี ศรัทธาจริตก็ดี กำลังพรหมวิหาร ๔ ก็ดี เป็นกรรมฐานที่มีกำลังใหญ่ และเป็นกุศลที่มีกำลังใหญ่ ที่สามารถจะนำกำลังใจให้เข้าสู่ความเป็นอริยมรรค อริยผลได้โดยไม่ยาก
นี่เป็นอันว่า กำลังของจิตของท่านที่จะพิจารณาในด้านราคะจริต คือ พิจารณากายคตานุสสติและอสุภกรรมฐาน มีความสำคัญ ต้องวัดระดับจิต แต่ความจริงอาตมาก็ดี ดูเหมือนว่าอาจารย์องค์อื่นก็จะมีหลายองค์เหมือนกัน ที่เทศน์สอนบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เลยเขียนเป็นตำรับตำรากันออกมา ก็มักจะบอกว่าให้ทำลายอารมณ์ราคะจริตให้หมดไปในอันดับของฌาน
นี่การพูดแบบนี้ของอาตมาและการเขียนก็ตาม ตามที่พระมหาบพิตรทรงตรัสว่าเป็นของยาก เป็นปัจจัยให้อาตมามีความรู้สึกตัวว่า การเขียนตำราก็ดี การแนะนำบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ก็ดี ผิดจากพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะว่าไม่ได้พิจารณาว่าคนที่จะรับฟังนั้น เป็นคนอันดับไหน ทั้งนี้ก็เพราะว่า อาตมาเองก็ได้เคยถวายพระพร และกล่าวกับบุคคลทั้งหลายว่าไม่ใช่สัพพัญูวิสัย แต่ทว่าถึงกระนั้นก็ดี ก็ยังแบกความโง่ไปสอนคนอื่น อาตมาขอขอบพระคุณในพระมหากรุณาธิคุณในข้อนี้ที่ทรงเตือน
คำว่าเตือน ก็หมายความถึงว่า พระองค์ทรงตรัสว่า เข้าใจได้ยาก เป็นการตัดได้ยาก ในการที่จะตัดราคะ อันนี้ก็ต้องหมายถึงว่า ถ้าเป็นกำลังฌานโลกีย์ เค้าตัดกันเพียงแค่นี้ คนที่ปฏิบัติเพียงแค่ฌานโลกีย์ จะเห็นว่า ยังมีการสมสู่กันอยู่ระหว่างสามีภรรยา ยังมีความรักในเพศ ยังมีความโกรธคิดจะประหัตประหารบุคคลอื่น ยังมีความหลงในความต้องการต่างๆ ในด้านวัตถุและบุคคล เป็นอันว่าคนในระดับขั้นฌานโลกีย์ ไม่อยู่ในเกณฑ์ตัดอะไรได้ทั้งหมด
คำว่าตัดอารมณ์ ยังไม่มีเลย สำหรับบุคคลผู้ทรงฌานประเภทนี้ นี้ฌานโลกีย์เป็นแต่เพียงระงับอารมณ์ได้เล็กน้อยเท่านั้น ถ้าจะปฏิบัติ ในด้านฌานโลกีย์ในราคะจริต คือใช้กายคตานุสสติกับอสุภกรรมฐาน เอาตามที่ปฏิบัติกันมา ถ้าจะว่าเฟ้ยไปตามตำราก็เป็นของยาก เพราะมองเห็นได้ยาก ตามที่ปฏิบัติกันมาจริงๆ ต้องถอยหลังนิด เพราะว่าการก้าวเลยไปนานๆ อาจจะลืมหลังได้
แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขอขอบพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหาบพิตรทรงติงมาให้เข้าใจ มีความรู้สึกตัวว่า ถอยหลังลงไปในอดีต ขณะที่ปฏิบัติกันอยู่ในขั้นกรรมฐานเบื้องต้น อันนี้จะมีความรู้สึกตนอยู่ว่า ทรงอารมณ์ดีอยู่ในด้านขณะที่คุมจิตเป็นสมาธิเท่านั้น แต่ความจริงในเวลาที่ทรงสมาธิจริงๆ บางครั้งก็ไม่มีอะไรเป็นผล หรือว่ามีผลบ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น คือ อารมณ์อาจจะซ่านไปสู่ หาความสวยสดงดงามตามระหว่างเพศ หรือสีสันวรรณะของวัตถุ ความรักในวัตถุ ในทรวดทรงของวัตถุ ในสีสันวรรณะของวัตถุ ในกลิ่นของวัตถุก็ตาม ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คนหรือสัตว์ ก็จัดว่าเป็นราคะจริต
ทีนี้ในบางครั้งที่ทรงฌานโลกีย์ เวลานั้นกิเลสมันยังเข้าสิงใจได้ง่าย เป็นของไม่ยาก บางคราวขณะที่ทรงจิตเป็นสมาธิ ทรงได้ดี ระงับตัดอารมณ์ความรู้สึกในความสวยสดงดงามของคน และสัตว์ และวัตถุทั้งหมด ข่มใจได้ปกติก็ทรงสมาธิได้แนบสนิท
เมื่อเวลาที่จิตถอนออกมาจากสมาธิ อารมณ์แห่งการรักในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส และความสัมผัสระหว่างเพศ มันก็ยังเกิดขึ้นมาอีก อันนี้แสดงว่า บุคคลที่ทรงจิตในด้านฌานโลกีย์ ไม่มีอะไรดีจริงๆ หาความดีที่เที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ จะคุมอารมณ์ได้ ไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส คือระงับ ไม่ใช่ไม่พอใจ หยุดไว้เฉยๆ เหมือนกับเครื่องจักรกลที่กำลังวิ่งอยู่ หรือรถที่กำลังวิ่งอยู่ แต่อยู่ๆ ก็ถอดเกียร์ ก็เหยียบเบรค กดไว้เฉยๆ เครื่องยังเดินแต่ไม่ให้เพลาวิ่ง
ข้อนี้ก็เปรียบเทียบได้กับคนที่กำลังทรงจิตอยู่ในฌานโลกีย์ หรือขั้นพระโสดาบัน สกิทาคามี ทั้ง ๓ ประเภทนี้ ยังไม่สามารถจะตัดอารมณ์ของราคะจริตได้ เพราะยังอยู่ในอำนาจของราคะจริต แต่ว่ามีอารมณ์จิตยับยั้งตามขั้น สำหรับท่านที่ทรงฌานโลกีย์ ก็จะพึงยับยั้งได้แต่ชั่วขณะที่ทรงจิตเป็นสมาธิเท่านั้น เมื่อจิตไม่ทรงสมาธิ ก็สามารถจะละเมิดพรหมจารีย์ได้ หมายความว่า มีความเกลือกกลั้วในกามารมณ์ ดีไม่ดีก็ทำกาเมสุมิจฉาจารก็ยังได้ เพราะท่านผู้ทรงฌานโลกีย์จริงๆ ก็ยังไม่มีอารมณ์สามารถจะคุมศีลได้เป็นปกติ
ฉะนั้นอารมณ์จิตของท่านผู้ทรงฌานโลกีย์จริงๆ ยังมีอาการขึ้นลงอยู่มาก ยังไม่มีการทรงตัว หากว่าจะพิจารณาในขั้นฌานโลกีย์ ตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรัส พิจารณาถอยหลังในด้านการปฏิบัติ ก็เพียงให้มีการฝึกจิตยับยั้ง ว่าเวลานี้เราจะหยุดความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ยับยั้งอารมณ์ความใคร่ในกามารมณ์เสียชั่วคราว ข่มใจ ยังไม่ใช่ตัดใจ เป็นแต่เพียงข่มใจเข้าไว้ พิจารณาหาความจริงเพียงแค่ด้วยความลำบากๆ สักหน่อย หมายความว่า คิดว่าร่างกายเป็นของไม่ดี ร่างกายเป็นของสกปรก จะเปรียบเทียบกับอสุภกรรมฐาน คือ พิจารณาคนตายกับสัตว์ตายมีสภาวะเหมือนกัน ว่าร่างกายเขาสกปรกได้ ร่างกายเราก็สกปรกได้ ต่างคนต่างก็มีความสกปรกสม่ำเสมอกัน ไม่น่าจะถึงปรารถนาซึ่งกันและกัน
การพิจารณากายว่าเป็นของสกปรก สำหรับในด้านฌานโลกีย์ องค์สมเด็จพระชินสีห์ให้พิจารณาชั่วขณะ คือหมายถึงว่า ขณะที่จะรวบรวมกำลังใจให้ทรงอารมณ์เป็นสมาธิ พิจารณาข่มใจไว้ว่า จะไม่ยอมเป็นทาสของกามารมณ์ จะไม่ยอมให้อารมณ์ของกามารมณ์มีอำนาจเหนือหัวใจทั้งหมด และข่มใจทรงจิตให้ทรงตัว พิจารณาตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ตับ ไต ไส้ ปอด อาหารใหม่ อาหารเก่า อุจจาระ ปัสสาวะ ว่าเป็นของสกปรกโสโครก
อารมณ์ในขั้นนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ไม่มาก จะสามารถพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ได้เพียงชั่วระยะสักสองสามนาที ต่อหนึ่งวาระ ก็มีประโยชน์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงบีบบังคับ ไม่ทรงเร่งรัด ให้ทรงปฏิบัติเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
คำว่ามัชฌิมาปฏิปทา ก็หมายถึงว่า ทำแบบสบายๆ กลางๆ ไม่ขี้เกียจเกินไป ไม่ขยันเกินไป การเคร่งเครียดเกินไปเป็นการทำลายอารมณ์ของตัวเองให้เกิดความงุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน มีความลำบาก มีอารมณ์เครียดเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้เป็นโรคประสาท แล้วถ้าหากว่าจะมีการเกียจคร้านเกินไป ก็ใช้ไม่ได้ เอาดีไม่ได้ พยายามรักษาหาอารมณ์ใจให้สบายๆ
ทั้งนี้ก็เพราะว่า อารมณ์ใจของคนทั้งหมดที่เกิดมาในโลกนี้ ยังหมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์ คือในราคะจริต จิตพอใจในความสวยสดงดงาม ซึ่งเป็นของตรงกันข้ามกับความเป็นจริง มานับเป็นหลายๆอสงไขยกัป สะสมมานาน สิ่งสกปรกที่สะสมมานาน อยู่ๆ ก็จะมาล้างให้หมดไปภายในพริบตาเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับแท่งเหล็กใหญ่ ปล่อยให้สนิมเกาะมาเป็นแสนปี อยู่ๆ ก็จะมาเคาะหนึ่งทีสองทีให้สนิมหมด อันนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะชั้นของสนิมมันหนามาก
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ให้ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ คิด แต่ว่าคิดไม่หยุด พิจารณาไม่หยุด ใช้เวลาใคร่ครวญไม่หยุด เวลาพิจารณาก็ใช้ปัญญาให้ถึงความเป็นจริง ดึงลิ้นออกมาดูว่าลิ้นสกปรกหรือสะอาด เวลาถ่ายอุจจาระออกมา ก็พิจารณาดูว่าอุจจาระสกปรกหรือสะอาด ถ่ายปัสสาวะออกมา ก็พิจารณาดูว่าปัสสาวะสกปรกหรือสะอาด น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง หลั่งไหลออกมา ก็พิจารณาดูว่า น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง สกปรกหรือสะอาด
อาหารที่กำลังบริโภคอยู่ เคี้ยวๆ เวลาที่จะบริโภค คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้พิจารณาเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา มักจะมีความรู้สึกว่าอาหารนี่มีรสอร่อย อาหารนี่มีสีสวย อาหารนี่มีกลิ่นดี มีความเรียบร้อยเป็นกรณีพิเศษ มีความพอใจ ถ้าเคี้ยวอาหารได้เล็กน้อย หรือละเอียดพอสมควร ก็บ้วนออกมา บ้วนออกมาหลายๆ คราว แล้วกลับบริโภคเข้าไปใหม่ อาตมาคิดว่าหาคนทำได้ยาก ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่า ทุกคนก็จะพากันเห็นว่า อาหารนี้มันสกปรกเสียแล้ว
ทีนี้การพิจารณาเห็นว่าสภาวะสกปรกในร่างกายของตนมีความสำคัญ พอเห็นว่าร่างกายของตนเองมีความสกปรก ก็พิจารณาเห็นร่างกายของบุคคลอื่นที่เราต้องการมีความสกปรกได้
มีเรื่องหลายเรื่องที่อาตมาจะไม่ขอถวายพระพรให้ทรงทราบ เพราะว่าพระมหาบพิตรก็ทรงทราบดีแล้ว เพราะว่ามีพระราชจริยาวัตร ความสามารถในด้านนี้เป็นกรณีพิเศษ สามารถทรงวินิจฉัยได้ละเอียดยิ่งไปกว่านี้ และจะกล่าวไปก็ยาวความ
กล่าวออกมาเพียงเท่านี้ ก็เข้าใจว่าพระมหาบพิตรทรงทราบได้ตลอดว่า การพิจารณาจิตในด้านอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสติ ในระหว่างที่ทรงฌานโลกีย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าเป็นปุถุชน ในตอนนี้เพียงแค่ใช้อารมณ์ระงับชั่วคราวเท่านั้น และก็การระงับชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งครั้งละ ๒-๓ นาทีก็ตาม ถ้าทำไปบ่อยๆ อารมณ์จิตก็จะเกิดความชิน เหมือนกับคนเรียนหนังสือ เรียนวันแรก ตัว ก. ก็อ่านไม่ได้ จำไม่ได้ เขียนไม่ได้ พอเรียนนานๆ ไป ความเคยชินปรากฏ ก็สามารถทำอะไรได้ทุกอย่างในหลักวิชาความรู้
ทีนี้การเจริญพระกรรมฐานในด้านอสุภสัญญาก็เช่นเดียวกัน และการปราบราคะจริตก็เช่นเดียวกัน ค่อยๆ ทำไปครั้งละเล็กครั้งละน้อย หนักเข้าๆ จิตก็สามารถจะคุมเวลาได้สักครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง คุมอารมณ์ให้จิตไม่เข้าไปยุ่งกับกามารมณ์ด้วยประการทั้งปวง ทั้งบุคคล ทั้งสัตว์ และวัตถุ
คำว่า กามารมณ์ อารมณ์ประกอบไปด้วยกาม คำว่า กาม แปลว่า ความใคร่ อยากจะได้เข้ามา ไม่ใช่หมายความถึงร่วมรักในระหว่างเพศเสมอไป การตีปัญหาความหมายเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คนทั้งหลายที่ไม่เข้าใจก็มักจะคิดเอาว่า ราคะจริตต้องเป็นเรื่องของเพศ ระหว่างเพศ เสมอไป ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น แม้แต่ความพอใจในความสวยสดงดงามของวัตถุ พอใจในความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย พอใจในความเรียบร้อย ความสะอาดของพื้นที่ อะไรก็ดี อย่างนี้จัดว่าเป็นราคะจริตหมด
สำหรับพระมหาบพิตรอาตมาทราบว่าถวายพระพรมาเพียงเท่านี้ พอเข้าพระทัยดีมาก เพราะมีพระสติปัญญาเฉียบแหลมเป็นกรณีพิเศษ แต่คนอื่นอาจจะมีความไม่เข้าใจว่า ทำไมนะคนแต่งตัวให้เรียบร้อยจึงมีราคะจริต จัดบ้านให้สะอาดทำไมจึงเรียกว่าราคะจริต จัดความเรียบร้อยของพื้นที่หรือจริยา ทำไมจึงเรียกว่ามีราคะจริต คำว่า จริต แปลว่า จิตเที่ยวไป ราคะ เนื่องในความสวยงาม
ถ้าจะถามว่าการจัดบ้านให้เรียบร้อย แต่งกายให้เรียบ ทำพื้นที่ให้สะอาด ทำวัตถุให้สะอาดเป็นบาปหรือเป็นบุญ อันนี้อาตมาก็ต้องขอตอบว่า การทำความดีเป็นบุญ เพราะบุญแปลว่าความดี จัดบ้านสะอาด ทำให้จิตใจสบาย ใจสะอาดไปด้วย จัดเครื่องแต่งกายให้สะอาด ใจก็สะอาดไปด้วย ใจไม่สกปรก หมายถึงใจสบาย การทำจริยาให้เรียบร้อยเป็นความดีเพราะทำจิตใจให้เป็นสุข คนที่มองเห็นก็มีความสุข อย่างนี้เป็นความดี
แต่ว่าถ้าจะถามว่า ถ้าเป็นความดีแล้วทำไมองค์สมเด็จพระชินสีห์ จึงเรียกว่า ราคะจริต ต้องหาทางตัดกัน อันนี้ก็ต้องถวายพระพรว่า ยังเนื่องอยู่ในฐานะปุถุชนคนธรรมดา
เรื่องความสะอาดนี้แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงใช้ และมีการบังคับให้บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายปฏิบัติให้เคร่งครัด ถ้าพระองค์ใดไม่มีความสะอาด ปล่อยให้เล็บมือมีขี้เล็บนิดเดียวเท่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ก็ทรงปรับเป็นโทษ อันนี้จะมองเห็นว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ทรงต้องการความสะอาด แต่ความสะอาดในที่นี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรัสเพื่ออนามัยเท่านั้น ไม่ใช่มีความผูกพัน
สำหรับบุคคลที่เป็นปุถุชนคนธรรมดา มีความผูกพันมากเกินไป หมายความว่า มีความพอใจในความสะอาดมากเกินไป ถ้าร่างกายไม่สะอาด ทุกสิ่งทุกอย่างไม่สะอาด ก็รู้สึกว่าจะมีความไม่สบายใจ ความไม่สบายใจเกิดขึ้น เป็นปัจจัยของความทุกข์ ฉะนั้นต้องวางอารมณ์เสีย ทำใจให้สบาย ว่าส่วนใดที่จะรักษาความสะอาดได้ดีก็ทำ ถ้าทรงความสะอาดได้ดีไม่ได้ มันจะไม่สะอาด ก็จำจะต้องปล่อยมัน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
นี่เป็นอันว่ากำลังของปุถุชนคนธรรมดาคนหนาแน่นไปด้วยกิเลส องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ไม่ได้คาดคั้น ว่าจะต้องตัดกายคตานุสสติ เมื่อเห็นว่าร่างกายเป็นของสกปรกจนกระทั่งไม่ยึดถือเอาเลย หรือว่าพิจารณาเห็นว่าร่างกายเป็นอสุภะ จนกระทั่งไม่ยึดถือเอาเลย เป็นแต่เพียงว่าให้ยับยั้งให้มีความรู้สึกไว้บ้างในบางขณะ ว่าเวลานี้เรามีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ร่างกายเป็นของไม่สะอาด ร่างกายของบุคคลอื่นก็เป็นของไม่สะอาด ไม่ควรที่จะมามัวเมาในร่างกายของตัวและร่างกายของบุคคลอื่น แต่ทว่าเวลาที่ไม่ได้ควบคุมอารมณ์เช่นนี้ บางครั้งก็ทำกามารมณ์หรือทำเป็นปกติ ดีหรือไม่ดีก็ทำกาเมสุมิจฉาจารไปเลย นี่สำหรับพวกฌานโลกีย์
ทีนี้ก้าวเข้ามาสู่อารมณ์ของฌานโลกุตตระ ถ้ามีอารมณ์เป็นพระโสดาบัน ในด้านกายคตานุสสติ อสุภกรรมฐานก็ยังไม่มีความหมาย ยังมีกำลังอ่อนมาก หรือเกือบจะไม่มีเลย เพราะว่าพระโสดาบันก็ยังมีการแต่งงาน มีสามี มีภรรยา มีลูกมีเต้า ดูตัวอย่างนางวิสาขากับภรรยาของพราหมณ์กุกกุฎมิตร หญิงทั้งสองคนนี้เป็นพระโสดาบันมาตั้งแต่อายุ ๗ ปี แต่ทั้งสองคนก็มีสามี มีบุตรมีธิดาเหมือนกัน เป็นอันว่าเรื่องกามารมณ์ยังเต็มอยู่สำหรับพระโสดาบัน และก็ยังมีความรักสวยรักงาม
แต่คนที่ไม่รักสวยรักงาม เขาก็ไม่แต่งงานแล้ว อย่างนางวิสาขาก็มีเครื่องประดับราคาถึงสิบหกโกฏิ อย่างนี้เป็นต้น และสร้างวิหารให้องค์สมเด็จพระทศพล ผ้าแต่ละผืน หญิงผู้เป็นเพื่อน มีผ้าอยู่ผืนหนึ่งราคาห้าแสนกหาปณะ ปูลงไปไม่ได้ เพราะผ้าในกุฏิแต่ละผืน ราคามากกว่านั้น ของที่จัดถวายก็จัดว่าเป็นของเลิศทุกอย่าง ต้องสวยทุกอย่าง ต้องดีทุกอย่าง นี่แสดงว่าพระโสดาบันก็ยังมีกามราคะ ยังมีราคะจริตเต็มตัว ยังไม่ยับยั้ง แต่ว่ากั้นไว้ได้ด้วยกาเมสุมิจฉาจาร เอาอำนาจศีลกั้นไม่ให้ทำกาเมสุมิจฉาจารเท่านั้น ความรักสวยรักงาม การวางในร่างกายยังไม่ได้วางเลย
ทีนี้ต่อไปเข้าถึงพระสกิทาคามี ในตอนนี้ตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรัสว่า พระสกิทาคามีละสังโยชน์ได้เท่าพระโสดาบัน คือสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิของพระโสดาบันกับสกิทาคามี ยังไม่เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มีความรู้สึกเบาๆ ที่ท่านกล่าวว่าพระโสดาบันกับสกิทาคามี เป็นด้านอธิศีลสิกขา เป็นผู้มีศีลดีเท่านั้น ยังไม่ถึงอธิจิตสิกขา
ฉะนั้นในด้านสักกายทิฏฐิ จึงพิจารณาเห็นแต่เพียงว่า ร่างกายมันจะต้องตายเป็นปกติ เราไม่สามารถจะยับยั้งมันไว้ได้ แต่ว่าก็ยังเห็นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเราอยู่ เพียงรู้ตัวดีกว่าปุถุชนคนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ที่ไม่เคยคิดว่าตัวจะต้องตาย มีความเมาในร่างกายเป็นปกติ คิดว่าตนจะทรงอยู่
นี่ถ้าพิจารณาตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระบรมครู จะมีความรู้สึกว่าพระโสดาบันยังปกติในด้านกามารมณ์หรือราคะจริต ในด้านความรักสวยรักงาม ยังไม่ถอนตัว แต่ทว่าไม่เผลอ ไม่ละเมิดศีลในด้านกาเมสุมิจฉาจารเท่านั้น
มาถึงพระสกิทาคามี ท่านบอกว่า ทำโลภะ-ความโลภ ทำโทสะ-ความโกรธ ทำโมหะ-ความหลง ให้เบาบางลง ยังไม่ได้บอกว่าตัดกามราคะ หรือ ตัดความรักสวยรักงาม นี่เป็นอันว่า ถ้าถึงพระสกิทาคามี ก็ทรงความดีเท่าพระโสดาบัน แต่ว่ากำลังน้ำใจของพระสกิทาคามีนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารสี่ มีความเมตตาปรานีแก่บุคคลและสัตว์ผู้มีความลำบาก บริจาคทานเป็นการสงเคราะห์อยู่เป็นปกติ ถ้าสิ่งใดไม่เกินวิสัยที่ตนจะให้ได้ก็เต็มไปด้วยการสงเคราะห์ คนใดที่มุ่งการสงเคราะห์บุคคลอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน นั่นชื่อว่าเป็นผู้บรรเทาความโลภได้เป็นอย่างมาก เป็นอาการของพระสกิทาคามี
ทีนี้มาในด้านของความโกรธ พระสกิทาคามีก็ยังมีความโกรธ แต่ทว่ามีการให้อภัยแก่บุคคลผู้ทำผิด และจัดเป็นอภัยทาน ทั้งนี้เว้นไว้แต่ว่าสิ่งใดที่เป็นไปตามระเบียบ ตามวินัย ตามกฎหมาย ตามกฎข้อบังคับที่วางไว้ จะให้อภัยไม่ได้ ต้องทำตามแบบฉบับทุกส่วนสัด เพราะอะไร เพราะว่าท่านผู้นี้เป็นพระอริยเจ้า ทรงเคารพในระเบียบวินัยเป็นอย่างมาก ไม่ทำลายระเบียบวินัย
ทีนี้ว่ากันถึงด้านความหลง พระสกิทาคามีก็ทำจิตให้มั่นคงในกายคตานุสสติ สักกายทิฏฐิ พิจารณาเห็นว่า ร่างกายนี้นอกจากจะตายแล้ว มันมีสภาพไม่เที่ยงอยู่ ก็มีความรู้สึกเล็กน้อย คำว่าไม่เที่ยง เห็นบ้างและก็ไม่เห็นบ้าง ยังทำใจไม่แน่นอน ไม่ทรงอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์นัก แต่มีความไม่ประมาทในชีวิตยิ่งขึ้น เพราะคิดว่าความตายอาจจะมีกับเราในวันนี้ก็ได้ จิตใจใกล้ มีความรู้สึกใกล้กับมรณานุสสติมากขึ้น เป็นอารมณ์มากขึ้น นี่ความไม่ประมาทจึงมี คิดว่าถ้าจะตายชาตินี้ ถ้าเกิดไปชาติหน้าใหม่ ถ้าจะต้องเกิดก็ขอให้เป็นคนรวย จะรวยได้ก็เพราะว่าการให้ทาน ตัดโลภะ-ความโลภไปบ้างตามสมควร คนที่ให้ทานได้แสดงว่าคนนั้นมีความโลภน้อย
ทีนี้ประการหนึ่งก็ต้องการมีความสุข มีความสำราญในสมัยที่จะเกิดขึ้นใหม่มีร่างกายรูปร่างหน้าตาสะสวย มีปัญญาสมบูรณ์บริบูรณ์ จึงได้มีทรงพรหมวิหารสี่และมีอภัยทานเป็นปกติ จิตใจเป็นสุข เมื่อจิตใจเป็นสุขร่างกายก็เป็นสุข ถ้าอารมณ์ในชาตินี้เป็นสุข อารมณ์ในชาติหน้าในการเกิดใหม่ก็เป็นสุข เพราะเป็นจิตดวงเดิม
ในด้านโมหะความหลง ท่านตัดใจตรงเพื่อความไม่ประมาทในชีวิต นี่จะเห็นว่า องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ก็ทรงรับรองว่า พระสกิทาคามีนี่ ยังไม่สามารถทำลายราคะจริตลงไปได้
ทีนี้ที่อาตมาเคยเขียนไว้ในหนังสือก็ดี อธิบายไว้ก็ดี ว่าทุกคนให้ตัดใจทำลายราคะจริตให้หมดในอันดับต้นนั่นผิด อาตมาขอยอมรับว่าเป็นการผิดพลาดที่ไม่ควรแก่การให้อภัย เพราะว่าการพูดไปไม่ได้คิดถึงกำลังใจของบุคคลอื่น คิดถึงกำลังใจของตนเองเป็นสำคัญ คิดว่าตนทำแบบไหนได้คนอื่นจะทำแบบนั้นได้ ลืมคิดไปว่าจริตของบุคคล จริยาของบุคคล กำลังใจของบุคคลย่อมไม่สม่ำเสมอกัน ไม่ได้เอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์ตามลำดับมาพูดให้แก่บรรดาพุทธบริษัทฟัง ฉะนั้น การที่พระมหาบพิตรทรงติงมาจึงจัดว่าเป็นประโยชน์ใหญ่
นี่ก้าวต่อไปถึงบุคคลที่จะทำลายราคะจริตให้เด็ดขาด อันนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ กล่าวถึงพระอนาคามี สำหรับพระอนาคามีนี่ตัดเด็ดขาดแน่ แต่ว่าถ้าพระมหาบพิตรจะสงสัยว่า ตอนต้นกำลังใจยังไม่ดีตัดไม่ขาด จะมาขาดกันได้ยังไงในตอนนี้ อาตมาก็ต้องขอถวายพระพรว่า ถ้าจะทบทวนกำลังใจกัน ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงอนาคามี จะเห็นว่ามีความเข็มแข็งของกำลังใจมากขึ้นตามลำดับ
เพราะในลำดับแรก คนเราที่เป็นปุถุชนคนธรรมดา ผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส คนประเภทนี้ เป็นคนที่มีความใจร้าย คือมีความโหดร้าย มือไว ใจเร็ว พูดปด หมดสติ โหดร้าย ได้แก่ ศีลข้อที่หนึ่ง ทำลายศีลข้อปานา มือไว ได้แก่ การลัก การขโมย แย่งชิงวิ่งราว เป็นต้น คดโกงเขา ใจเร็ว ก็หมายถึงว่า ละเมิดในกามารมณ์ ในด้านกาเมสุมิจฉาจาร พูดปดเป็นปกติ ชอบพูดคำที่ไม่จริง หมดสติ เอาน้ำเมาเข้ามาย้อมใจไว้เสมอ คือกินเข้าไปในกาย ใจมันก็ประมาท นี่คนที่จิตเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ได้ทรงความชั่ว ๕ ประการครบถ้วน
บางคนจะดีขึ้นมาบ้าง ก็เว้นได้บางข้อ แต่บางท่านบอกว่า ทำไปละเมิดเพียงแค่บางข้อสองข้อเท่านั้น ข้ออื่นไม่ทำ แต่บางทีก็เชื่อไม่ได้เหมือนกัน ถ้ายังไม่ได้สัมผัส สิ่งที่มันยังไม่เกิดขึ้นมา จะคิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราสามารถจะเว้นได้มันก็ไม่ถูก
นี่เป็นอันว่ากำลังใจของคนที่เป็นปุถุชน สร้างความชั่ว ๕ ประการได้ครบ และทำมากกว่านั้นก็ได้ แต่ต่อมา มาควบคุมกำลังใจบ้างเล็กๆ น้อยๆ ด้วยกำลังของฌาน ก็เป็นคนมีศีลดีบ้าง มีศีลชั่วบ้าง คำว่าศีลชั่ว ก็หมายถึงว่าศีลขาด
พอจิตใจก้าวเข้ามาถึงเป็นพระโสดาบัน คราวนี้ความมั่งคงของจิตเกิดขึ้นคือ
๑. มีความเคารพในพระพุทธเจ้ามั่นคง
๒. เคารพในพระธรรม
๓. เคารพในพระอริยสงฆ์
๔. มีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์
๕. มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ถ้าจะเสริมอีกนิด ก็ต้องมีพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ และก็มีหิริและโอตัปปะเป็นปกติ นี่เป็นอันว่าสำหรับพรหมวิหาร ๔ ก็เป็นอย่างแบบเบาๆ พระโสดาบันจะเห็นว่า มีจิตเข้มแข็งกว่าบรรดาปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลสมาก
ต่อมาถ้าก้าวไปถึงพระสกิทาคามี ก็ทำลายความโลภเสียด้วยการจาคะ ตามที่พระมหาบพิตรเคยพิจารณา คือวินิจฉัยมาให้ ทรงให้ทราบ ว่าใช้คำว่าละ สละ หรือว่า ละ เพื่อความสุขของบุคคลอื่น คำว่าละจริงๆ ต้องเป็นอรหันต์ อาตมาขอใช้คำว่า สละ ไม่ใช่เสียสละ เสียสละตามที่พระมหาบพิตรวินิจฉัยมาบอกว่า เป็นเรื่องของปุถุชน นี่อาตมาเห็นชอบด้วย
แต่สำหรับพระสกิทาคามีนี่ ใช้คำว่าสละ สละอย่างชนิดไม่มีเยื่อใยอาลัยนัก แต่ต้องดึง เพราะอารมณ์ใคร่ยังมีอยู่ในทรัพย์สิน เป็นการผ่อนปรนความโลภให้หมดไป และมีกำลังใจในด้านพรหมวิหาร ๔ สูงขึ้นละเอียดขึ้น จนเป็นอภัยทาน คือว่าโกรธ แต่ให้อภัยได้ เป็นของหนักไม่ใช่ง่ายนัก และความหลงคลายตัว คิดถึงความตายถี่เข้ามา อารมณ์ที่จะทรงได้อย่างนี้ นั่นก็ต้องแสดงว่ามีความเข้มข้นของจิตมาก ไม่ใช่เล็กน้อย มีความเข้มข้นจัด
ทีนี้ตอนที่จะก้าวเข้าไปสู่พระอนาคามี จึงเป็นของไม่ยาก การที่จะทรงอารมณ์ทำลายราคะจริต เห็นว่าร่างกายสวย วัตถุธาตุสวยให้หมดไป ทำความรู้สึกในเพศให้สิ้นไป อันนี้จึงเป็นของไม่ยาก เพราะว่าเป็นการก้าวมาตามลำดับ
เวลาเหลืออีกเล็กน้อย อาตมาก็ขอสรุป เป็นอันว่าสำหรับราคะจริต ขอพระมหาบพิตรและบรรดาท่านพุทธบริษัทผู้รับฟัง ได้โปรดทราบว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้พิจารณา ไม่ใช่กรรมฐานภาวนา พิจารณาหาความจริงในร่างกายของตน และร่างกายของบุคคลอื่น พยายามหาความสกปรกให้พบ ถ้ายังไม่พบก็แสดงว่าอารมณ์ยังมืดอยู่
ทั้งนี้เพราะว่าองค์สมเด็จพระบรมครูทรงยืนยันว่า ธรรมส่วนใดที่องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตรัส ธรรมส่วนนั้นเป็นความจริง ไม่ใช่ความเท็จ นี่ก็ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณากัน ว่าธรรมใดหนอแลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัส ว่าร่างกายเป็นของสกปรก ร่างกายเป็นชิ้น เป็นท่อน เป็นตอน เป็นสัด เป็นส่วน ไม่ใช่เป็นแท่งทึบ ข้อนี้เป็นความจริงหรือไม่จริง ใช้ปัญญาคลำ
หยิบผมลงมา ดูที่ผมกับเนื้อ ลักษณะมันเหมือนกันไหม ถ้าไม่เหมือน ผมปล่อยไว้นานๆ สะอาดหรือว่าสกปรก ก็จะเห็นได้ว่าเป็นของสกปรก และดูส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เสลด น้ำลาย เป็นต้น หรือว่าวัตถุธาตุต่างๆ ดอกไม้ที่เห็นว่าสวยสดงดงาม ไปหยิบไปจับเอามาเอาตั้งทิ้งไว้ คลายออกมาจากต้น ตัดมาแล้วไปวางไว้เฉยๆ หรือใส่แจกันไม่มีน้ำ เพียงแค่ไม่สิ้นวัน ก็แสดงถึงอาการเหี่ยวย่นความสกปรก กลิ่นหอมจะหายไป
อันนี้อาตมาภาพขอถวายพระพรพระมหาบพิตร และก็ขอกล่าวบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านว่า การใช้อสุภสัญญาก็ดี กายคตานุสสติกรรมฐานก็ดี เป็นการทำลายราคะจริตนั้น ก็ใช้ตามกำลังจิตของตน จะสามารถ ไม่สามารถจะระงับได้ทั้งวัน ก็ใช้เฉพาะเวลา เฉพาะ ๒-๓ นาทีต่อวาระ ให้จิตมีอารมณ์ชิน เมื่อจิตมีอารมณ์ชินแล้วภายในไม่ช้านานเท่าไร ก็สามารถจะทำลายได้ตามประสงค์ สำหรับราคะจริตนี้ ก็ขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้.