วิตกจริตและโมหะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย

วิตกจริตและโมหะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย
โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      สำหรับตอนนี้ อาตมาขอถวายพระพรพระมหาบพิตร ในเรื่อง วิตกจริต กับ โมหะจริต สำหรับวิตกจริตและโมหะจริตทั้ง ๒ ประการนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงแนะนำให้ใช้กรรมฐานข้อเดียวกัน เป็นเครื่องระงับความฟุ้งซ่าน และความไม่แน่นอนของจิต

สำหรับพระกรรมฐานที่องค์สมเด็จพระพิชิตมาร ทรงประทานให้เป็นเครื่องระงับหรือคู่ปรับกับกรรมฐานคู่นี้ หรืออารมณ์แห่งวิตกจริตและโมหะจริต ก็ได้แก่ อานาปานุสสติกรรมฐาน

ตอนนี้อาตมาจะขอถวายพระพรในลักษณะของวิตกจริตและโมหะจริตก่อน

สำหรับ วิตก แปลว่า ตรึก นึก คิด ไม่ตกลงใจ มีอารมณ์ที่มีความไม่แน่นอนใจ สำหรับโมหะจริตก็มีความหลงเป็นปกติ คนที่มีวิตกจริตกับโมหะจริตทั้ง ๒ ประการนี้ มีอาการคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นคนที่ตัดสินใจไม่ตกลง มีอารมณ์คิดอยู่เสมอ หาความแน่นอนอะไรไม่ได้ และไม่แน่นอนว่าจะควรตัดสินใจเป็นประการใด ถ้ามีใครมาบอกเหตุสำคัญหรือไม่สำคัญ ผลประโยชน์ที่จะพึงได้หรือไม่ได้ ความไม่แน่ใจก็เกิดขึ้นแก่บุคคลประเภทนี้

ลักษณะที่จะเห็นง่ายๆ คนที่มีวิตกจริตเป็นคนที่มีอารมณ์ซึม ไม่ค่อยมีการกระปรี้กระเปร่า ไม่กล้าตัดสินใจที่มีความสำคัญใดๆ ถ้ามีเรื่องอื่นที่จะพึงเกิดขึ้น เป็นเรื่องราวที่ต้องรับผิดชอบเกิดขึ้น มักจะชอบโยนกลองให้แก่บุคคลอื่นเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งนี้เพราะหากำลังใจที่ตัดสินใจแน่นอนไม่ได้

สำหรับท่านที่มีโมหะจริต โมหะแปลว่าความหลง ท่านประเภทนี้ก็มีอารมณ์คิดมากเหมือนกัน คิดอยู่เสมอว่า นั่นเป็นเรา นี่เป็นของเรา โน่นเป็นของเรา ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ของเล็กของน้อย ก็มีความหวงแหนเป็นปกติ มีความหลงในทรัพย์สิน ความหลงในชีวิต คิดอยู่เสมอว่าตัวจะไม่ตาย และมีความคิดอยู่เสมอว่า ทรัพย์สินทั้งหลายของเราที่หามาได้ด้วยความเหนื่อยยาก เราจะไม่ยอมแบ่งปันให้ใคร จะกอบโกยไว้บำรุงความสุขฝ่ายตนแต่ผู้เดียว

อารมณ์ทั้ง ๒ ประการนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าเป็นอารมณ์แห่งความฟุ้งซ่านของจิต คือจิตไม่มีการปลง ไม่สามารถจะตัดสินใจ ไม่สามารถจะทำงานใดๆ ให้ลุล่วงไปได้โดยรวดเร็ว และก็มีความหวง มีความยึดเหนี่ยวอยู่เป็นปกติ อารมณ์ก็มีความฟุ้งซ่าน

เฉพาะนักวิตกจริตก็คิดไว้เสมอ เกรงว่าความผิด เกรงความพลาดพลั้งจะเกิดขึ้น ไม่กล้าตัดสินใจ สำหรับท่านที่มีโมหะจริตนั้นก็หลง ไม่รู้ความเป็นจริง ไม่แสวงหาความสุขด้วยการเกื้อกูล ไม่แสดงหาความสุขด้วยการละ หรือการเสียสละ การสงเคราะห์บุคคลอื่น และก็หลงในชีวิต คิดว่าจะไม่แก่ คิดว่าจะไม่ป่วย คิดว่าจะไม่ตาย ถ้าความเร่าร้อนใจเกิดขึ้นเพราะอำนาจความแก่ก็ดี ความป่วยก็ดี ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็ดี อาการอย่างนี้เกิดขึ้น จิตก็เป็นทุกข์ หาความสุขไม่ได้

เมื่ออารมณ์ของบุคคลประเภทนี้มีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นในใจ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา จึงทรงแนะนำให้ใช้กรรมฐานที่มีความสำคัญ มีอารมณ์ละเอียด และก็เป็นพื้นฐานใหญ่ในการทรงจิตให้เป็นสมาธิ ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าต้องพยายามรักษาอารมณ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับความคิดใดๆ ทั้งหมด

องค์สมเด็จพระบรมสุคต ทรงประทานให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ก็รู้อยู่ ไม่ต้องใช้คำภาวนาหรือการพิจารณาใดๆ ทั้งหมด

ถ้าใช้คำภาวนาและการพิจารณาแล้ว อารมณ์จิตก็จะชวนให้เกิดความฟุ้งซ่านมากขึ้น ฉะนั้นต้องระงับการภาวนาและพิจารณาใดๆ ให้สิ้น ไม่ใช้อารมณ์จิตให้คิด ระวังอยู่อย่างเดียวคือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้พยายามกำหนดรู้อยู่ เป็นอันดับแรก และอันดับต่อไป เมื่อจิตใจเริ่มมีความสบาย จิตใจคลายจากอารมณ์ความคิด ความฟุ้งซ่าน ก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้ายาวหรือสั้น ออกยาวหรือสั้น นี่ทางด้านของมหาสติปัฏฐานสูตร

และการใช้เวลากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อันนี้ตามที่เคยฝึกกันมา อาตมาเห็นว่าไม่ควรจะใช้เวลาให้มากเกินพอดี นี้คำว่าพอดีของแต่ละบุคคลก็อาจจะไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าการควบคุมอารมณ์จิตไม่สามารถจะทรงอยู่ได้ตามความต้องการ ถ้าใช้เวลามากก็จะเกิดความกลุ้ม ควรจะใช้เวลาแต่เพียงน้อยๆ

ทว่าตามธรรมดาของจิตก็มีสภาพคิดฟุ้งซ่านอยู่ตลอดกาล อาการเช่นนี้ของจิตมิใช่เป็นมาเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น ถ้าจะถอยหลังไปหลายอสงไขยกัป นับตั้งแต่เกิดมาในระยะต้น ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย เป็นลำดับมา จิตก็คงทรงอยู่คุ้นเคยอยู่กับความฟุ้งซ่านของจิตเป็นปกติ

นี่ถ้าหากว่าจะใช้เวลาในการบังคับจิตให้ทรงอยู่ในอารมณ์รู้ลมหายใจเข้าหายใจออก จะกะจะเกณฑ์เวลาให้แน่นอน ว่าต้องการเวลาสักครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมง อย่างนี้ ก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะว่าเป็นการบังคับจิตมากเกินไป เพราะจิตมีสภาพท่องเที่ยวเหมือนกับคนที่มีอิสรภาพ ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของใครมาในกาลก่อน เคยเป็นอิสระ จะไปไหนเมื่อไรก็ได้ จะทำงานเมื่อไรก็ได้ จะหยุดเมื่อไรก็ได้ ทำมาแบบนี้เป็นนิสัยเป็นปกติ นานแสนนาน

ถ้าอยู่ๆ ก็จะมาบังคับบุคคลประเภทนี้ให้อยู่ในขอบเขต จะไปไหนอยู่ในเกณฑ์บังคับ โดยฉับพลัน ให้เขามีความพอใจหรือความเต็มใจ โดยที่มีอารมณ์ใจไม่กลุ้ม ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าถูกกักขัง ถูกบีบบังคับมากเพียงใด จิตใจก็จะเกิดความสะทกสะท้าน มีความกลุ้มเป็นปกติ ความไม่สบายกายไม่สบายใจก็จะบังเกิดขึ้น

ข้อนี้มีอุปมาฉันใด แม้การควบคุมจิตที่มีอารมณ์ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจของการตัดสินใจไม่แน่นอน หาความมั่นคงของจิตไม่ได้อย่างหนึ่ง และจิตที่ประกอบไปด้วยความหลง คิดว่านั่นเป็นเรา เป็นของเราไปเสียหมด โดยไม่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา และจะมานั่งบังคับว่า จิตจงอยู่ในขอบเขตนี้ที่เราต้องการ โดยใช้เวลาบังคับ คือฝึกอันดับแรกก็ใช้เวลานานตั้งครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ถ้าขืนทำอย่างนี้ แทนที่จะได้ดีก็กลายเป็นคนอารมณ์ฟุ้งซ่าน เป็นการบีบบังคับใจเกินไป ไม่ช้าก็จะเป็นโรคประสาท

ฉะนั้นองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ทรงแนะนำการระงับอาการฟุ้งซ่านของจิต ด้วยอานาปานุสสติกรรมฐาน โดยที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงแนะนำว่า ลองบังคับจิตดูก่อน โดยใช้เวลายาวสักนิดหนึ่ง หรืออาจจะตั้งเวลาไว้สักครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงก็ได้ ตามอัธยาศัย แต่ทว่าจะบังคับ จะซื่อสัตย์ต่อเวลามากเกินไป ให้ดูกำลังใจว่า สามารถจะมีความเข้มแข้งพอที่จะบังคับอารมณ์จิต ให้รู้ลมหายใจเข้าหายใจออกได้ ตามความต้องการหรือไม่

ลองคิดทำไป พิจารณาไป การควบคุมจิตจะได้ในขณะไหน ถ้าหากว่าทำไป ควบคุมจิตได้ในเวลาครึ่งชั่วโมงตามต้องการ อย่างนี้ก็ชื่อว่าคนนั้นเก่งมาก ต้องถือว่าเป็นคนที่มีพื้นฐานเดิมมาดีมาก ถ้าจะพูดกันตามนักปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็แสดงว่าคนบุคคลนั้นในชาติก่อนได้ฌานสมาบัติมาก่อน และอารมณ์ของฌานสมาบัติเข้ามาถึงจิต จึงสามารถควบคุมอารมณ์จิตได้ถึงครึ่งชั่วโมง นี่เป็นเหตุผลที่พอจะยืนยันได้

แต่ทว่าถ้ากำลังของบุคคลนั้นไม่เคยทรงฌานมาในกาลก่อน หรือว่าทรงฌานมาในกาลก่อน แต่ส่วนกุศลอันนั้นยังไม่บันดาลผลในปัจจุบัน ท่านผู้นั้นก็ไม่อาจจะสามารถทรงอารมณ์ให้รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้นาน แม้แต่เพียงสิบนาที ถ้าทำให้ได้เพียงแค่นิดๆหน่อยๆ ไม่ช้าเพียงเท่านี้จิตก็เกิดอารมณ์ฟุ้งซ่าน มีอารมณ์อื่นจรเข้ามา ดีไม่ดีก็ลืมลมหายใจเข้าหายใจออก ไม่ยอมรับรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก จิตไปจับอารมณ์อื่นเข้ามาแทนที่ คือหมายความว่าท่องเที่ยวไปสู่อารมณ์ต่างๆ

นี่อาการอย่างนี้ จะมีกับนักปฏิบัติส่วนใหญ่ ตามที่เห็นมาในกาลก่อนหรือในปัจจุบัน มีสม่ำเสมอกัน ตลอดกาลตลอดสมัย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าใช้เวลามากเกินไป เกินกำลังของจิตใจที่สามารถจะควบคุมอารมณ์ให้คงที่ ถ้าความฟุ้งซ่านมีมากอย่างนี้ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงแนะนำให้ใช้เวลาแต่เพียงน้อยๆ คือว่าใช้เวลาไม่มากเกินไป

ตามนัยที่พระองค์ทรงแนะนำไว้ในมหาวิสุทธิมรรค ในหนังสือวิสุทธิมรรคที่เรียกว่าปกรณ์พิเศษ อันเป็นหนังสือที่พระพุทธโฆษาจารย์สมัยก่อนโน้น สมัยเมืองสุธรรมวดี รจนาไว้ ท่านผู้นี้ทราบข่าวว่าเป็นพระไทยใหญ่ ไม่ใช่พระแขก รจนาไว้ว่า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ ถ้าอารมณ์จิตมีความฟุ้งซ่านจริงๆ ไม่สามารถจะบังคับในระยะยาวได้ ก็ให้พยายามฝึก โดยใช้เวลาน้อยๆ คือว่าให้นับหนึ่ง หายใจเข้าหายใจออกนับเป็นหนึ่ง ขึ้นต้นหนึ่ง แล้วก็หายใจเข้าหายใจออกขึ้นต้นหนึ่ง และต่อมาจับอีกคู่หนึ่งเป็นสอง แล้วขึ้นต้นหนึ่ง สอง สาม ขึ้นต้นหนึ่ง สอง สาม สี่ อย่างนี้ไปจนถึงสิบ ทดลองกำลังจิตว่าจิตจะทรงจะได้ชั่วระยะใดแน่

แต่มีวิธีที่เขาแก้ปฏิบัติกัน รู้สึกว่าจะง่ายกว่านั้นสักนิดหนึ่ง โดยใช้เวลาสั้นๆให้พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก นับเป็นหนึ่ง หรือจะนับเป็นคู่ บังคับจิตคิดว่าเราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี้ประมาณสิบคู่ คือหนึ่งถึงสิบโดยตรง นับรวดเดียวไม่ย้อนไปย้อนมา

ถ้าภายในระยะหนึ่งถึงสิบคู่นี้ บังเอิญจิตจะคิดฟุ้งซ่านไปนอกขอบเขตที่ต้องการ จากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ก็จะต้องลงโทษจิต คือว่าไปพลาดจุดไหน จิตไปสู่อารมณ์อื่น คือแลบออกไป ไม่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกในระยะไหนก็ตาม จะต้องทรมานจิต คือคิดตั้งต้นหนึ่งกันใหม่ จนกว่าจะถึงสิบ เมื่อขณะตั้งต้น ตั้งแต่หนึ่งถึงสิบ จิตสามารถจะทรงอยู่ได้ตามความต้องการ

แต่ว่าในระยะแรกๆ ก็รู้สึกว่าจะเป็นการทรมานจิตไม่น้อยเหมือนกัน เพราะจิตเป็นม้าพยศ การจะมาบังคับให้อยู่ในขอบเขต ในระยะสั้นๆ ย่อมเป็นของลำบาก แต่ถึงกระไรก็ดี ถ้านับหนึ่งถึงสิบได้ ถ้าจิตมีความลำบากมาก ก็พักเสีย คือว่าไม่พยายามทำต่อไป ปล่อยอารมณ์จิตให้คิดไปตามสบาย เพราะว่าการกักขัง แกเคยเที่ยว มาบังคับขู่เข็ญให้อยู่ในสถานที่เดียวในเวลานานๆ ย่อมเกิดความลำบาก ก็ปล่อยอารมณ์ให้คิดไปตามเรื่องตามราว หากพอมีอารมณ์จิตสบายเข้า ก็เริ่มตั้งต้นใหม่ ว่าหนึ่งถึงสิบอีก

ถ้าความลำบากมากขึ้นก็ไม่ต้องทน เลิกไปเสีย เป็นการยืดหยุ่น ปล่อยให้จิตบังคับบ้าง ปล่อยตามอัธยาศัยบ้าง ถ้าทำแบบนี้บ่อยๆ ถ้าจะกำหนดเวลาอย่างง่ายๆ สมมุติว่านักปฏิบัติเป็นคนที่มีเวลามากในการทำงาน วันทั้งวันไม่มีเวลาจะพักผ่อน ก็ใช้เวลานอนไม่ต้องนั่ง

และการปฏิบัติหรือการฝึกจิต องค์สมเด็จพระธรรมสามิตรตรัสว่า จะนั่งก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ สำหรับการนั่งควรหาที่นั่งแบบสบายๆ ไม่จำเป็นต้องบังคับให้นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ จะนั่งในท่าไหนก็ได้ ถ้าร่างกายมันสบายท่าไหน ก็นั่งท่านั้น อันนี้หมายถึงว่าในระยะการฝึกระยะแรก ระยะการฝึกระยะแรกไม่ควรจะทรมานหรือจะฝืนกายเกินไป พยายามรักษากำลังใจเป็นสำคัญ ต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เราฝึกจิต เราไม่ได้ฝึกกาย กายจะสบายท่าไหน ปล่อยไปท่านั้น

การฟังแบบนี้ บางทีท่านผู้ฟังจะคิดว่า นี่มานั่งสอนให้คนขี้เกียจ ไม่มีระเบียบ แต่อาตมาก็เห็นว่าเป็นผลดีสำหรับนักปฏิบัติ แม้แต่ผู้พูดเอง หรือว่าอาตมาเองก็เช่นเดียวกัน ระยะใหม่ๆ ระยะกลางๆ บางครั้งที่ร่างกายมีความไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถจะนั่งได้นาน ด้วยอำนาจของการนั่งขัดสมาธิ หรือว่านั่งพับเพียบ ก็ใช้อิริยาบถที่มีความสบาย คือนั่งแบบเป็นสุข นั่งท่าไหนก็ตาม ถ้าร่างกายสบายก็ทำท่านั้น รักษากำลังใจเป็นสำคัญ

มาว่ากันถึงชาวบ้านที่มีงานมาก กลางวันทำงานเต็มวัน หาเวลาพักผ่อนได้ยาก บางทีกลางคืนก็แถมมีงานอีก ถ้ามีงานมาก ประเภทนี้ก็ควรจะตั้งเวลาไว้ ๒ จุด ให้เป็นเวลาแน่นอน คือเวลานอนก่อนจะหลับ ไม่ต้องนั่งก็ได้ นอนให้สบาย จะนอนท่าไหนก็เป็นไปตามอัธยาศัย นอนให้สบายและก็บังคับจิตว่า เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก

ในอันดับแรกยังไม่ต้องรู้ยาวรู้สั้น เอาเพียงแค่รู้ลมเข้าลมออกเสียก่อน สิบครั้ง เมื่อได้สิบครั้งก็เลิก ปล่อยอารมณ์ไป จิตจะคิดยังไงหรือว่าจะหลับไป ก็ให้เป็นไปตามอัธยาศัย ไม่บีบบังคับ และก็ตั้งใจไว้อย่างนั้นว่า ถ้าตื่นจากนอนเมื่อไร ก็จะพยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อีกสิบครั้ง ก่อนจะลุกไปสู่ที่ทำงาน ถ้าพยายามทำอย่างนี้ได้ไม่นาน เท่าที่เคยทดลองมาแล้ว ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือน จิตจะมีอารมณ์เรียบ สามารถจะทรงสมาธิได้แนบสนิท ไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง บางรายก็เกินกว่านั้น นี้ที่ฝึกเป็นมาจริงๆ ตามนี้มีผลจริงๆ

ทีนี้การฝึกการนับแบบนี้ ความจริงอันดับแรก รู้แต่ลมเข้าลมออก ถ้าพยายามฝึกอย่างนี้เสมอๆ ไม่เกินสิบวัน จิตก็จะเริ่มมีสมาธิละเอียดขึ้น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ขึ้น ก็สามารถจะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ทั้งยาวทั้งสั้นได้ตามอัธยาศัย และจิตใจก็จะเริ่มสบาย ความสุขในอารมณ์ของจิตจะมีมากขึ้น คำว่าบังคับจะไม่มีกับจิต เพราะว่าจิตมีอารมณ์สมัครใจ รู้สึกว่ามีอารมณ์เป็นสุข

ความสุขจากอานาปานุสสติกรรมฐานนี่มีมาก เพราะว่าท่านผู้ใดสามารถทรงสมาธิจากอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ท่านผู้นั้นจะมีความสุขกายและสุขใจมากเป็นที่สุด เพราะว่าพระกรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานที่ระงับกายสังขาร หรืออีกประการหนึ่งก็เป็นกรรมฐานที่มีภาคพื้นใหญ่ จะเจริญพระกรรมฐานบทใดกองใดก็ตาม หรือจะเจริญวิปัสสนาญาณก็ตาม ต้องขึ้นต้นด้วยอานาปานุสสติเสียก่อน

ถ้าไม่ขึ้นต้นด้วยอานาปานุสสติเสียก่อน จิตจะคุมได้ยาก จะเป็นสมาธิยาก กรรมฐานกองนั้นๆ อาจจะไม่มีผล หรือว่าถ้าจะมีผลก็เต็มไปด้วยการทุลักทุเล ต้องปลุกปล้ำกันเป็นอย่างมาก ถ้าใช้อานาปานุสสติเป็นพื้นฐานแรก เริ่มจับอานาปานุสสติก่อน จนจิตใจเป็นสุข มีอารมณ์สบายจึงน้อมจิตเข้าไปสู่กรรมฐานตามที่ต้องการ หรือว่าจะพิจารณากรรมฐานกองใดกองหนึ่งในด้านสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาก็ได้ ตามอัธยาศัย จะมีผลดี รวดเร็ว อารมณ์จิตจะสบาย นี่ว่ากันตามพื้นฐานของมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านให้ใช้แบบเบาๆ แบบนี้มีผลดี

ถ้าจะพูดตามในแบบของวิสุทธิมรรค ที่พระพุทธโฆษาจารย์ทรงรจนาไว้ตามบทนี้ก็ดีเหมือนกัน แต่ว่าต้องมีกำลังใจเข้มแข็งมาก ถ้ากำลังใจอ่อนแอ ก็รู้สึกว่าอาจจะทำไม่ได้เลย หรือจะทำได้ก็ต้องใช้กำลังบังคับกันมาก แต่ทว่าถ้ามีความฉลาดก็ไม่หนัก ถ้าไม่ฉลาดในการปฏิบัติ ก็รู้สึกว่าจะหนักมากพอดู ดีไม่ดีก็ล้มเหลว ต้องเลิกกันไปตามๆ กัน

ตามแบบฉบับของพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านบอกไว้ว่า การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ต้องกำหนดรู้ในจิตสามฐาน คือ ให้จิตรู้กองลมสามฐาน เวลาหายใจเข้า ลมจะกระทบที่จมูก และจะกระทบที่หน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย ภายในไม่ใช่ภายนอก เวลาลมหายใจออก ให้มีความรู้สึกว่าลมกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก ถ้าเป็นคนมีริมฝีปากเชิด จะกระทบริมฝีปากบน ถ้าหากว่าเป็นคนมีริมฝีปากงุ้ม ก็จะมีความรู้สึกว่ากระทบที่จมูก ท่านว่าการกำหนดจิตรู้ฐานลมทั้งสามฐาน จะเป็นกำลังให้จิตมีสมาธิมั่นคง ทว่าจิตจะเป็นฌานได้ง่าย

แต่ทว่า วิธีนี้นักปฏิบัติใหม่ๆ ก็ขอได้โปรดทราบ อยู่ๆ ก็จะมาแบกช้างไปอาบน้ำ มันก็จะเป็นของหนัก หรือว่าจะเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงก็ลำบาก จะเอาด้ามพร้าที่มีความแข็งมากมาเอาเข่าดันให้หัก ก็เห็นจะไม่สะดวกนัก นักปฏิบัติที่มีความฉลาดจะต้องรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ถ้าหากว่าหินก้อนใหญ่เราจะตีให้พังทีเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยๆเลาะไปทีละน้อยๆ จึงจะสำเร็จผล

ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้ปฏิบัติในอานาปานุสสติกรรมฐาน ต้องใช้ปัญญาพิจารณาเหตุนั้นเปรียบเทียบกันไป ที่พระพุทธโฆษาจารย์ท่านบอกว่า ควรกำหนดรู้ลมสามฐาน หายใจเข้ากระทบจมูก กระทบอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ หายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบอก กระทบริมฝีปากหรือจมูก ถ้าอันดับแรกจู่โจมทำแบบนี้ และก็สามารถจะทรงได้สัก ๒-๓ นาที อันนี้รู้สึกว่าเก่งมาก ต้องขอชมเชยว่าท่านผู้นั้นเป็นคนเก่ง เพราะมีกำลังจิตเข้มแข็ง

แต่ส่วนใหญ่แล้วจะทรงได้ไม่เกิน ๒-๓ ครั้ง ก็เกิดความกลุ้ม กลุ้มเพราะอะไร กลุ้มเพราะไม่สามารถจะรับการสัมผัสของลมหายใจเข้าออกได้ตามความต้องการ ถ้าเมื่อรับความสัมผัสตามความต้องการไม่ได้ ความกลุ้มมันก็เกิด เหตุแห่งการกลุ้มนี้ เป็นปัจจัยให้คนเลิกเจริญพระกรรมฐานเสียไม่น้อย

สำหรับนักปฏิบัติ ถ้ามีความฉลาดในการเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน ตามแบบฉบับที่พระพุทธโฆษาจารย์ทรงรจนาไว้ ก็จะต้องปฏิบัติตามนี้ ในอันดับแรก พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก เพียงแค่จมูกกับริมฝีปากก่อน ควบคุมกำลังจิตให้กำหนดรู้เพียงแค่นี้ได้ ถือว่าเป็นการดีในอันดับแรก ต่อมาเมื่อจิตละเอียดลง จิตเริ่มเป็นสมาธิมากขึ้น ก็จะมีความรู้สึกเองว่า ลมกระทบที่หน้าอกข้างใน เวลาลมไหลเข้าไปถึงข้างใน จะมีความรู้สึกว่าลมกระทบ และถ้ามีจิตละเอียดขึ้นไปกว่านั้น สมาธิสูงขึ้น ก็จะรู้สึกว่ากระทบทั้งสามฐาน ทั้งนี้ก็ต้องดูกำลังใจ หรือกำลังสมาธิของตนเองเป็นสำคัญ

ถ้ากำลังใจยังอ่อนอยู่ ก็ใช้ฐานเดียวเป็นฐานแรก อันนี้เป็นเครื่องสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าหากว่า สามารถรู้ลมหายใจเข้าออก กระทบได้ฐานเดียว อย่างนี้ท่านบอกว่า จิตของท่านผู้นั้นมีระดับสู่ขณิกสมาธิ เรียกกันว่าสมาธิเล็กน้อย และก็ยังไม่สามารถจะทรงอารมณ์ได้นานนัก อารมณ์แห่งการเจริญสมาธิในด้านอานาปานุสสติกรรมฐาน ควรจะปล่อยไปตามความสบายของจิต อย่าใช้อารมณ์บังคับมากเกินไป เพราะว่าถ้าใช้อารมณ์บังคับมากเกินไป จะกลายเป็นโรคเส้นประสาท ร่างกายจะกลายเป็นร่างกายทุพพลภาพ บังคับให้นั่งนานเกินไป ยืน เดิน นานเกินไป อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อจิตจะทรงความฟุ้งซ่านก็จะต้องดึงเข้าไว้ แต่การดึงระหว่างนี้จิตใจจะไม่ทรงสมาธิ จะเกิดความกลุ้ม ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ท่านนักปฏิบัติทุกท่านต้องระมัดระวัง รู้จักอาการยืดหยุ่นของจิต รู้จักการผ่อนสั้นผ่อนยาว ตามแบบฉบับที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ

เพราะว่าในวิสุทธิมรรค เช่นเดียวกัน ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้แนะนำไว้ว่า องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงตรัสแนะนำว่า การเจริญสมาธิจิตในด้านอานาปานุสสติกรรมฐาน คือจะควบคุมอารมณ์จิตของตนนั้น ไม่ให้เกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านในด้านของโมหะจริตและวิตกจริต พวกนี้มีอารมณ์ฟุ้งซ่านมาก ควบคุมกำลังใจไม่อยู่ อารมณ์จิตไม่มีความเข้มแข็ง ฉะนั้นจะต้องดูกำลังใจของตน

ถ้าวันไหน มีอารมณ์พอสบาย สามารถจะทรงได้ตามเวลาที่ต้องการ อย่าให้มากนักในระยะต้น การทรงเวลามากนี่ เป็นเรื่องของบุคคลผู้ฝึกเวลา ใช้เวลาน้อยๆ คุมให้ทรงอยู่ แต่ว่าเวลาน้อยๆ อย่างนี้ ก็อย่าพึงคิดว่าจะสามารถบังคับจิตได้ทุกขณะหรือทุกคราวที่ต้องการ ในกาลบางครั้งจะใช้เวลาเพียง ๓ นาที ก็ไม่สามารถจะคุมอารมณ์จิตได้ และก็ไม่ต้องพูดกันถึงฐานสามฐาน เอาเพียงแค่ฐานเดียว ฐานแรกคือที่ปลายจมูก ก็ไม่สามารถจะบังคับได้

อารมณ์ใจของคนมีความไม่แน่นอน การเจริญสมาธิ ขึ้นอยู่กับร่างกายเป็นสำคัญเหมือนกัน ถ้าร่างกายไม่ดี สมาธิก็ไม่ทรงตัว ถ้าร่างกายดี สมาธิทรงตัวง่าย ทั้งนี้ก็ต้องยกเว้นพระอริยเจ้า ถ้าพระอริยเจ้าแล้ว คำว่าร่างกายดีหรือไม่ดี ไม่มีความหมาย

และอีกประการหนึ่ง กรรมฐานที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงสอน ก็ไม่ใช่สอนแต่เฉพาะอารมณ์ทรงตัวอย่างเดียว มีกรรมฐานที่ต้องใช้ปัญญาคิด มีอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าวันไหนหรือเวลาใดจิตต้องการคิด ก็พยายามหากรรมฐานที่มีอารมณ์คิด ซึ่งมีมากด้วยกัน เช่น ในอนุสสติ ๙ เว้นอานาปานุสสติ หรือ อสุภกรรมฐาน พรหมวิหาร ๔ กายคตานุสสติ จตุธาตุววัตถาน ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และมรณานุสสติ เห็นจะเป็นอนุสสติ ๘ ที่ต้องเว้น ก็ไม่แน่นัก ยังมีอุปสมานุสสติ นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์

มีมากด้วยกัน กรรมฐานที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงแนะนำให้ฝึก โดยใช้อารมณ์คิดในสมถภาวนามีมาก หรือในมหาสติปัฏฐานทั้งหมด เว้นอานาปานุสสติ ก็เป็นกรรมฐานใช้อารมณ์คิดทั้งหมด ถ้าจิตต้องการคิด ก็คิดอยู่ในขอบเขต ในกรรมฐานที่เราพอใจ นี่เป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติพระกรรมฐานที่จะให้ได้ดี

เพราะว่าจิตมีสภาพคล้ายๆ กับม้าพยศ พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น จิตเจ้านี่มีสภาพคล้ายม้าพยศ การจะฝึกม้าพยศ ให้อยู่ในขอบเขตตามที่เราต้องการ จะให้มันปฏิบัติ เป็นของยาก ขณะใดถ้ากำลังใจมันดี มันมีความอ่อนโยน เรียกว่าไม่ดื้อไม่ด้าน ขณะนั้นเราก็ฝึกได้ตามที่เราต้องการ แต่ขณะที่มันจะเกิดพยศขึ้นมา ความดื้อด้านปรากฏ จะทำอย่างไรก็ดี เจ้าม้าตัวนี้ มันจะไม่ยอมรับฟังคำสั่ง และคำแนะนำของเราทั้งหมด มันจะต้องพยศไปตามแบบฉบับของมัน

ทีนี้เราทำยังไง ทำยังไงจึงจะบังคับม้าให้เข้าเส้นทาง และปฏิบัติตามที่เราต้องการได้ ตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ทรงแนะนำไว้ว่า ถ้าจิตมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน บังคับไม่ได้จริงๆ ก็จงเลิกเสีย หยุดไปเสียเลย ไม่ทำ แบบนี้ประการหนึ่ง ปล่อยไปจนกระทั่งมีอารมณ์เรียบสบาย จึงเริ่มทำ นี่สำหรับท่านที่นิยมอัตตกิลมถานุโยค ถ้าฟังก็อาจจะคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีขี้เกียจ ทางที่ดีก็ควรจะบังคับจิตให้มันทรงตัวให้ได้ ถ้ามันไม่สามารถจะเป็นไปตามที่เราต้องการ ก็ต้องบังคับมัน จะเป็นจะตายเราก็ยอม แต่อาตมาคิดว่าวิธีนี้อาจจะพอทำได้ แต่ว่าขอยืนยันว่าทำดีไม่ได้ เพราะไม่ใช่โอกาสที่จะพึงได้ ทำได้อย่างนั้นในระยะแรก

การที่จะบังคับอารมณ์จิตได้อย่างนั้น ต้องเป็นเรื่องของบุคคลผู้ทรงฌาน เคยทรงฌานมาได้แล้ว เคยบังคับจิตให้อยู่ในขอบเขตได้ แต่บางวัน คือ บางขณะ บางโอกาสที่จิตมีอารมณ์ซ่านเกินปกติ อันนี้จะบังคับจิตได้ว่า ถ้าไม่ดีจะไม่ยอมเลิก ถ้าทำอย่างนี้ ถ้าบังคับจิต อย่างไรตัดสินใจเด็ดขาดว่า เลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไปก็ตามที ชีวิตจะสิ้นลมปราณก็ตามที จะไม่ยอมเลิก ในเมื่อถ้าจิตไม่ทรงอารมณ์เป็นฌานตามปกติ เท่าที่เคยได้มา

ถ้ามีอารมณ์เข้มข้นอย่างนี้ จิตที่เคยทรงสมาธิไว้แล้ว เราก็สามารถจะบังคับให้ทรงตัวได้ภายในอย่างช้าเพียง ๒ นาที จิตก็จะทรงอารมณ์เป็นฌาน อย่างนี้บังคับได้ การบังคับในตามกาล ตามเวลา ที่ต้องการ ต้องรู้กำลังของจิต ไม่ใช่ว่าเห็นเขาทำได้ เราก็จะทำได้ มันจะเกิดความลำบากใจ

ทีนี้ตามนัยยะที่องค์สมเด็จพระจอมไตรท่านทรงตรัส ที่พระพุทธโฆษาจารย์นำมารจนาไว้ ท่านบอกว่า ถ้าเผอิญจิตบังคับไม่ได้จริงๆ มันฟุ้งซ่านมาก แต่เราก็ไม่ยอมเลิก ถือว่าถ้าวันนี้ถ้าไม่สามารถจะบังคับจิตให้ได้ดีเพียงไรตามที่เราต้องการ เราจะยอมตายเสียดีกว่า แต่ก็ทว่าต้องใช้วิธียืดหยุ่น อย่าใช้เกณฑ์บังคับเครียด คนเราถ้าบังคับกันจริงๆไม่ไหว ก็ต้องใช้การปลอบโยน ตามใจกันบ้าง เพื่อให้เขานั้นมีใจอ่อน เห็นเหตุเห็นผล

ข้อนี้มีอุปมาฉันใด แม้แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงแนะนำเรื่องจิตนี้เหมือนกันว่า เห็นท่าว่าจะฟุ้งซ่าน มีความดื้อด้านแข็งแกร่งจริงๆ พระองค์ก็ทรงแนะนำบอกว่า ปล่อยไปเสีย ไม่ควบคุม ไม่บังคับ ไม่ทรมาน ปล่อยจิตให้คิดพล่านไปตามประสงค์ แต่ต้องคอยทรงสติสัมปชัญญะเข้าไว้ คุมไว้ว่า ถ้าเลิกคิดเมื่อไร จะจับให้ทรงสมาธิทันที

ทรงตรัสว่ามีอุปมาเหมือนกับคนฝึกม้า คนที่ฝึกม้านี่เห็นว่าม้ามันพยศไม่เข้าเส้นทาง ท่านสอนให้กอดคอม้าไว้ แล้วปล่อยให้ม้าวิ่งไปจนกว่าสุดฤทธิ์ มันจะไปไหน ก็ให้มันไปของมันตามอัธยาศัย ให้วิ่งไปตามบทตามเพลงของมัน วิ่งหนักๆเข้า ม้าก็มีสภาพมีจิตเหมือนคน รู้จักเหนื่อย รู้จักเมื่อย รู้จักล้าเหมือนกัน วิ่งไปนานๆเข้า ในที่สุดก็เหนื่อย เมื่อเหนื่อยแล้ว ตอนนี้เราจะบังคับให้ม้าเดินไปทางไหนก็ได้ เพราะมันหมดฤทธิ์ จะบังคับให้เข้าเส้นทางตามที่เราต้องการได้โดยง่าย

ข้อนี้มีอุปมาฉันใด องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงแนะนำว่า ถ้าจิตมีอารมณ์ฟุ้งซ่านจริงๆ บังคับไม่อยู่ องค์สมเด็จพระบรมครูทรงแนะนำให้ปล่อยให้มันคิดไปตามอัธยาศัย และทรงสติสัมปชัญญะคิดว่า ถ้าเลิกอารมณ์ฟุ้งซ่านเมื่อไร จะจับลมหายใจเข้าออกให้อยู่ตามความต้องการ

สำหรับข้อนี้ อาตมาเคยพิสูจน์มาแล้ว ทำแล้ว บทที่พูดมานี่ ทุกประการที่ถวายพระพรมา อาตมาเคยฝึกมาทุกอย่าง ทดลองคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผลจริงตามนั้น การนับลมหายใจเข้า-ออกก็ดี นับหนึ่งถึงสิบเพียงแค่ ๒-๓ วัน อารมณ์จิตก็สบาย นับไปถึงยี่สิบ สามสิบ จิตก็ยังไม่เลิกสบาย ยังทรงตัว ถ้านับไปถึงหนึ่งเดือน นี่จิตจะทรงเป็นสมาธิได้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงแบบสบายๆ เป็นปกติ น้อยวันนักที่จิตจะมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน อันนี้ฝึกมาแล้ว ทำแล้ว จึงกล้ายืนยัน

และอีกแบบฉบับหนึ่งที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงตรัสว่า จิตมีสภาพคล้ายม้าพยศ อันนี้อาตมาก็ทดลองแล้วเหมือนกัน วิธีนี้รู้สึกว่าเป็นวิธีที่ดีมาก เพราะการนับ นั่นหมายถึงว่าจิตที่มีอารมณ์แข็งกร้าวไม่มากนัก ยังพอทนนับกันได้ แต่จิตบางขณะ จริงๆ อย่าว่าแต่นับหนึ่งถึงสิบเลย หนึ่งถึงสามนี่มันก็ข่มไม่ไหว มันฟุ้งซ่านเสียจริงๆ

ถ้าหากว่าตกอยู่ในอารมณ์อย่างนี้ละก็ ต้องใช้วิธีหลัง คือการฝึกม้าพยศ ปล่อยให้จิตคิดไปตามอัธยาศัย เท่าที่สังเกตมา ไม่เคยเห็นว่าจิตจะคิดไปถึงยี่สิบนาที ไม่ถึงแน่ ประเดี๋ยวเดียวคือชั่วครู่หนึ่งก็ทรง ไม่อยากคิด ตอนนี้จับอารมณ์ของจิต คือจับลมหายใจเข้าออกให้ทรงตัว จิตจะสามารถทรงอารมณ์ได้แนบสนิท มีความสุข มีความสบาย มีความเยือกเย็น อย่างเลวที่สุด จิตจะตั้งอยู่ในปฐมฌาน นี่เป็นอย่างเลว ถ้าอย่างดีจะดีกว่านั้น และก็ทรงอารมณ์แนบสนิท มีความสุขมาก

ฉะนั้นขอพระโยคาวจรทั้งหลาย ที่เป็นนักปฏิบัติในด้านอานาปานุสสติกรรมฐาน จงพยายามอย่าฝ่าฝืนคำสั่งและคำแนะนำขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร ให้มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เวลานี้เรากำลังเป็นผู้รับการฝึก ไม่ใช่เป็นแชมป์ และไม่ใช่ผู้ชนะเลิศ ยังเป็นผู้ที่ต้องมีการต่อสู้ หรือมีการฝึกซ้อมเท่านั้น เตรียมไว้ต่อสู้กับข้าศึกจนกว่าจะมีกำลังใหญ่

ทีนี้สำหรับอานาปานุสสตินี้ ถ้าปฏิบัติได้จริงๆ เป็นกรรมฐานที่มีกำลังสูงมาก สามารถทรงได้ถึงฌานสี่ แต่ตามแบบท่านบอกว่า ถ้าบุคคลผู้ปรารถนาพุทธภูมิ สามารถทรงได้ถึงฌานห้า แต่ความจริงฌานห้ากับฌานสี่ มีอะไรไม่แตกต่างกัน มีสภาวะเช่นเดียวกัน แต่แยกเอาเป็นวิตกกับวิจาร สองประการนี้เป็นอันดับต้นเสีย เป็นปฐมฌาน แต่สำหรับฌานสี่ก็ใช้วิตก วิจาร กับปีติ สามอย่าง เป็นปฐมฌาน

สำหรับฌานที่สองก็ตัดวิตก วิจาร นับตั้งแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา ขึ้นไปเป็นฌานที่สอง ฌานที่หนึ่ง ก็มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา คือนับห้าเป็นหนึ่ง ถ้าฌานที่สองเหลือสาม คือ มีปิติ สุข เอกัคคตา ถ้าฌานที่สาม ตัดปีติทั้งไป เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ถ้าฌานที่สี่มีสอง ตัดสุขทิ้งไป เหลือเอกัคคตากับอุเบกขา

สำหรับข้อนี้อาตมาจะไม่อธิบาย เพราะตามแบบมีอยู่แล้ว จึงขอถวายพระพรมาเพียงคร่าวๆ สำหรับพระมหาบพิตรก็ทรงทราบได้ดี ทีนี้วิธีที่ขอร้องมา อาตมาทราบว่าต้องการจะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบุคคลที่ปฏิบัติใหม่ จึงขอถวายพระพรมาเพียงย่อๆ และอาการที่จะทรงกำหนดรู้จิตว่า ฌานที่หนึ่งมีลักษณะเป็นอย่างไร ตอนนั้นก็กำหนดรู้แบบนี้

สำหรับปฐมฌานยังมีอารมณ์หยาบ มีความรู้สึกลมหายใจเข้า หายใจออก รู้สั้นรู้ยาว และจิตใจมีความปลาบปลื้ม มีความอิ่มเอิบ มีความสุข จิตทรงอารมณ์ หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส รู้เรื่องที่เขาพูดหรือว่าเขาทำอะไร เขากล่าวอะไรหูฟังได้จำได้ทุกอย่าง แต่ทว่าอารมณ์ไม่รำคาญในเสียง นั้น ขณะที่จิตทรงสภาพแบบนี้ท่านเรียกกันว่า ปฐมฌาน

สำหรับฌานที่สองและที่สาม อาตมาจะไม่ขอกล่าว ขอกล่าวเฉพาะฌานที่สี่ สำหรับฌานที่สี่นั้น แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ อย่างหยาบกับอย่างละเอียด สำหรับอย่างหยาบก็พิจารณาไป ภาวนาไป พิจารณาลมหายใจเข้าออกไป จะรู้สึกว่าลมเบาลงไปทุกทีทุกที ในที่สุดจะมีความรู้สึกเหมือนว่าไม่หายใจ แต่อารมณ์ใจจะทรงตัว จิตจะมีความสุข หูได้ยินเสียงภายนอก แม้แต่เสียงดังมากๆ อย่างเครื่องขยายเสียงอยู่ใกล้ๆ แต่จะฟังเสียงแว่วๆ นิดๆ เท่านั้น อย่างนี้เป็นฌานสี่หยาบ

ถ้าเป็นฌานสี่ละเอียด หูจะดับเสียงหมด เรียกว่ากายกับจิตแยกกันเด็ดขาด เวลานั้นยุงจะกิน ริ้นจะกัด ไม่มีความรู้สึกตัว เพราะจิตไม่ยอมรับรู้เรื่องการสัมผัสทางร่างกาย ถ้าจะตรัสถามว่าจิตไปไหน ก็จะต้องขอถวายพระพรว่า จิตอยู่ที่เดิม แต่ว่าไม่รับทราบในเรื่องการับสัมผัสของประสาท เรื่องกายก็เป็นเรื่องกาย เรื่องของจิตก็เป็นเรื่องของจิต จิตไม่ยอมรับรู้เรื่องของร่างกายทั้งหมด

ในตอนนี้บางท่านอาจจะคิดว่า บางทีไปเห็นท่านผู้ทรงฌานสี่ ไปเรียกไม่ได้ยิน ท่านนั่งก็ยังดีอยู่ ถ้านอนไป ดีไม่ดีก็คิดว่าท่านผู้นี้ตายไปเสียแล้ว ถ้าบังเอิญท่านผู้นั้นตั้งเวลาอารมณ์จิตไว้ว่า จะทรงฌานสี่อยู่นี้ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง จะนั่งก็ดี จะนอนก็ดี จะยืนก็ดี จะเดินก็ดี อารมณ์ของจิตก็จะตัดความรู้สึกของประสาท ภายในระยะที่ต้องการไว้ ในขณะนั้น คนจะไปเรียก หรือจะไปสั่นกาย จะไม่มีความรู้สึก

เรื่องนี้ก็มีมามาก ที่เกิดการเอะอะโวยวายกัน หาว่าท่านผู้นั้นตาย แต่ถึงเวลาที่ท่านตั้งกำหนดไว้ ก็ปรากฏว่าท่านก็มีความรู้สึก มีความปกติของร่างกาย มีหน้าตาอิ่มเอิบ มีความผ่องใส มีอารมณ์ชื่นบาน มีอารมณ์จิตที่เป็นฌาน แม้แต่ปฐมฌานก็ดี หรือต่ำลงมาขั้นปีติก็ตาม จิตจะเป็นสุข หน้าตาจะชื่นบานเป็นปกติ มีความแจ่มใสจากใจ เมื่อใจแจ่มใส มีความเป็นสุข มีความชื่นใจ หน้าตาก็ผ่องใส รื่นเริง เรียกว่าเป็นหน้าที่ไม่มีอาการเศร้าหมอง เวลานั้นจิตจะมีความสุข เมื่อถอนจากฌานแล้ว วันทั้งวันอารมณ์จะมีความสุข ปัญญาจะมีความเฉลียวฉลาด สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แบบสบาย และโดยคล่องแคล่ว

นี่ถ้าหากว่าท่านนักปฏิบัติ สามารถทรงอารมณ์จิตในอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ตั้งแต่ฌานที่หนึ่งขึ้นไป จนกระทั่งถึงฌานสี่ จะเป็นตอนใดก็ดี ก็รู้สึกว่าเป็นคุณเป็นประโยชน์มาก เพราะว่าอารมณ์แห่งปฐมฌาน ไม่มีความรำคาญในเสียง สามารถทรงอารมณ์ตามที่ต้องการได้ อย่างนี้ก็ชื่อว่ามีประโยชน์ใหญ่ ถ้าหากว่าสามารถทรงฌานสี่ได้ ก็จะดีนัก เพราะปัญญาเกิดมาก

ทีนี้เวลาที่จะเจริญปัสสนาญาณก็ดี หรือ พิจารณาในสมถะกองใดกองหนึ่งก็ตาม ในด้านแห่งการเจริญภาวนา หมายถึงว่าพิจารณาให้รู้เหตุรู้ผล ในอันดับแรก ถ้าหากว่าทรงอารมณ์จิตในด้านอานาปานุสสติของตน อย่างเลวที่สุดเข้าถึงปฐมฌาน แล้วก็คลายจิตนิดหนึ่ง แต่ความจริง คำว่าคลายนี่ไม่ต้องคลาย หมายถึงว่าถอยหลังจิตมาคิดจะใคร่ครวญ มันก็มาเอง

การคลายสมาธิ ถ้าพูดตามแบบก็รู้สึกว่าหนัก แต่วิธีปฏิบัติจริงๆ ก็ไม่มีอะไร เป็นแต่เพียงว่า ตั้งใจว่าจะใคร่ครวญกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง ก็สามารถใคร่ครวญอยู่ได้นานตามความต้องการ และความรู้สึกของปัญญาก็จะมีความเฉียบแหลม มีความฉลาด สามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว ถ้ายิ่งจิตทรงสมาธิถึงฌานสี่ด้วย ก็ยิ่งมีกำลังปัญญาแจ่มใสมาก มีความเข้มแข็งมาก มีความคมกล้ามาก สามารถจะวินิจฉัย พิจารณาเหตุใดๆ ในสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี ให้เข้าถึงจุดของความจริงได้ง่ายแสนง่าย

แต่ความรู้สึกในการพิจารณาหาเหตุหาผล ปัญญาของตนที่เกิดในขณะนั้น ทุกท่านที่ผ่านมาแล้ว อาตมาเคยถามทุกท่านว่าความแจ่มใสของจิต ความคมกล้าของปัญญาในตอนนี้ ใครจะสามารถนำมาอธิบายหรือเขียนได้บ้างไหม ทุกท่านไม่มีใครตอบว่าอธิบายหรือเขียนให้คล้ายคลึงได้ แม้แต่เหมือน คำว่าเหมือน ไม่มีทางหรือจะเขียนเทียบเคียงเข้าไปหาความจริง สักสิบเปอร์เซ็นต์ ในร้อยเปอร์เซ็นต์ ของความรู้สึกในขณะนั้น ก็ไม่สามารถจะทำได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่า อารมณ์ในตอนนั้นละเอียดมาก มีปัญญาเฉียบแหลมมาก พรรณนาด้วยตัวหนังสือหรือวาจาไม่ไหว

นี่การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ถ้าท่านผู้ใดสามารถเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน ทรงฌานสี่ได้ตามความต้องการ ทีนี้ถ้าจะใช้อารมณ์ไปพิจารณาหรือวิปัสสนาญาณเพื่อหวังมรรคผล อันนี้เป็นของไม่ยากเลย เป็นของง่าย เพราะว่าถ้าสมาธิจิตดี ความจริง สมาธิจิตนี่กว่าจะปลุกปล้ำมาถึงขั้นฌานสี่ได้ มันเป็นของแสนยาก เพราะว่าเป็นการคุมกำลังใจให้ทรงตัวและมีกำลังมาก พอไปเจริญวิปัสสนาญาณเข้า จะรู้สึกว่าเข้าทางผล หมายถึงว่าเข้าถนนเรียบ การเจริญสมาธิก็เหมือนการเดินบุกป่า มีความสบายกว่ากันมาก มีความสะดวกมาก ผลที่จะเกิด ก็เกิดง่ายกว่า ทั้งนี้เพราะกำลังของสมาธิดี

และสำหรับท่านที่ทรงอานาปานุสสตินี้มีประโยชน์หลายอย่าง ถ้ามีทุกขเวทนาเกิดขึ้นกับร่างกาย จะเป็นทางใดทางหนึ่งก็ตาม เข้าฌานในอานาปานุสสติกรรมฐาน สามารถระงับทุกขเวทนานั้นได้แบบสบาย เจ็บปวดมากๆ ถ้าเข้าฌานสี่ได้ ความรู้สึกเจ็บปวดจะสลายตัวไป ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า เจ็บมันเจ็บที่กาย ไม่ใช่เจ็บที่ใจ ใจไม่ยอมรับรู้อาการของกายเสียแล้ว ความรู้สึกเจ็บมันก็หมดไป เพราะตามลำพังกายมันไม่รู้สึกว่าเจ็บ ตัวที่รับรองความเจ็บปวดก็ได้แก่จิต เพราะฌานสี่นี่ สามารถแยกจิตออกจากประสาทของกายได้ จึงไม่มีความรู้สึกว่ามีทุกขเวทนาใดๆ

ทีนี้อีกประการหนึ่ง สำหรับท่านผู้ทรงฌานในอานาปานุสสติกรรมฐานได้ถึงฌานสี่ ท่านผู้นี้สามารถกำหนดรู้เวลาตายของตนได้ตามความต้องการ ไม่ใช่ว่าต้องการตาย รู้เวลาแน่นอนว่าเราจะตายเมื่อไร อายุเท่าไร เวลาใด อาการที่จะตายนั้นจะตายด้วยอาการอย่างไหน นี้รู้ได้ละเอียดลออ จะบอกได้แม้แต่วินาทีที่จิตจะเคลื่อนออก นี่เป็นกำลังของอานาปานุสสติกรรมฐาน ย่อมมีผลอย่างนี้

เป็นอันว่า สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐานนี้ อาตมาก็ขอถวายพระพรโดยย่อไว้แต่เพียงเท่านี้ เพราะว่าจะถวายพระพรมากไปกว่านี้ ก็เห็นว่าเทปหมดแล้ว.

จริต ๖ ชุดทูลถวาย    ราคะจริต      โทสะจริต     วิตกจริต-โมหะจริต     ศรัทธาจริต     พุทธจริต    เสียงธรรม

เรื่องนี้ถูกเขียนใน จริต ๖ และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร