ปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน(๖)

หลวงพ่อฤๅษี ตอบปัญหาการปฏิบัติพระกรรมฐาน

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อครับ กสิณนี่เป็นมโนภาพใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ:- “กสิณไม่ใช่มโนภาพนะ กสิณนี่ต้องใช้นิมิตตรง”

ผู้ถาม:- “ต้องใช้ดูวัตถุ ใช่ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ:- “ใช่ ต้องใช้ดูวัตถุแล้วจำภาพ ไม่ใช่มโนภาพ ถ้าเราจะตั้งก็ได้ แต่เป๋ ถ้าดูวัตถุยังไม่ค่อยจำ นี่เล่นมโนภาพ ระวังกสิณโทษจะเกิด

อย่างเราเจริญปฐวีกสิณ จะต้องเอาจิตจับไว้เฉพาะปฐวีกสิณอย่างเดียว ถ้าภาพอื่นข้ามาแทรกต้องตัดทิ้งทันที นั่นเขาถือว่าเป็นกสิณโทษ จนกว่ากสิณกองนั้นเข้าถึงฌาน ๔ แล้วก็คล่องตัว จึงจะย้ายไปเป็นกสิณกองอื่นต่อไป

ถ้ากสิณกองต้นเราได้แล้ว ถ้าภาพอื่นเข้ามา เราตัดเลย เพราะว่าเราเจริญปฐวีกสิณ ดูดิน ถ้าบังเอิญกสิณอย่างอื่นเข้ามาแทน เช่น กสิณน้ำ กสิณลม กสิณไฟ มันแจ่มใสกว่า เราจะยึดเอาไม่ได้ ต้องตัดทิ้งทันที จนกว่ากสิณกองนั้นจะจบถึงฌาน ๔ ให้มันคล่องจริง ๆ ไม่ใช่แต่ทำได้นะ

คำว่าคล่องจริง ๆ หมายความว่า ถ้าเรากำลังหลับอยู่ ถ้าเราตื่นขึ้นมา เราจะจับฌาน ๔ ถ้าคนกระตุกพั้บเราจับฌาน ๔ ได้ทันที กสิณกองนั้นจึงชื่อว่าคล่อง

ถ้าเหน็ดเหนื่อยมาแต่ไหนก็ตาม ถ้าจะจับฌาน ๔ ต้องได้ทันทีทันใด เสียเวลาแม้แต่ ๑ วินาที ใช้ไม่ได้ ถ้าคล่องแบบนี้ละก็กสิณอีก ๙ กอง เราจะได้ทั้งหมด ไม่เกิน ๑ เดือน เพราะว่าอารมณ์มันเหมือนกัน เปลี่ยนแต่รูปกสิณเท่านั้น

ฉะนั้นการได้กสิณกองใดกองหนึ่ง ก็ต้องถือว่าได้ทั้ง ๑๐ กอง เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ยาก ของเหมือนกัน แต่เพียงแค่เปลี่ยนสีสันวรรณะเท่านั้นเอง มันจะขลุกขลักแค่ครึ่งชั่วโมงแรก เดี๋ยวก็จับภาพได้ แล้วจิตก็เป็นฌาน ๔ นี่เราฝึกกันจริง ๆ นะ ถ้าฝึกเล่น ๆ ก็อีกอย่างหนึ่ง”

ผู้ถาม:- “การปฏิบัติพระกรรมฐาน ถ้าเราจะไม่ใช้กสิณ แต่เราใช้กำหนด อัสสาสะ ปัสสาสะได้ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ:- “ได้ ถือว่าอัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าออก

คือ จริตของคน พระพุทธเจ้าทรงจัดแยกไว้เป็น ๖ อย่าง คือ ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต พุทธจริต และก็พระพุทธเจ้าตรัสพระกรรมฐานไว้ ๔๐ แต่ว่าเป็นกรรมฐานเฉพาะจริตเสีย ๓๐

อย่างพวก ราคะจริต ถ้าใช้ อสุภ ๑๐ กับ กายคตานุสสติ ๑ เป็น ๑๑

และพวก โทสะจริต มีกรรมฐาน ๘ คือ มีพรหมวิหาร ๔ แล้วก็กสิณอีก ๔ สำหรับกสิณ ๔ คือ กสิณสีแดง กสิณสีเหลือง กสิณสีเขียว กสิณสีขาว

สำหรับ วิตกจริตกับโมหะจริต ให้ใช้กรรมฐานอย่างเดียวคือ อานาปานุสสติ อย่างที่โยมว่า อัสสาสะ ปัสสาสะ

แล้วก็ ศรัทธาจริต ใช้กรรมฐาน ๖ อย่าง คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ แล้วก็เทวตานุสสติ

ต่อไปเป็น พุทธจริต พุทธจริตนี่ก็มีกรรมฐาน ๔ คือ มรณานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุตธาตุวัตถาน อุปสมานุสสติ

รวมแล้วเป็น ๓๐ เหลืออีก ๑๐ เป็นกรรมฐานกลาง

ฉะนั้นการเจริญพระกรรมฐาน ถ้าหากเดินสายสุกขวิปัสสโก จะต้องใช้กรรมฐานให้ถูกกับจริต ถ้าไม่ถูกกับจริต กรรมฐานนั้นจะมีผลสูงไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังหักล้าง

ทีนี้ถ้าหากว่านักเจริญกรรมฐานทั้งหมด ไม่ต้องการอย่างอื่น จะใช้อานาปานุสสติก็ได้ ถ้าคนทุกคนคล่องในอานาปานุสสติกรรมฐาน จะมีประโยชน์

เมื่อป่วยไข้ไม่สบาย เมื่อทุกขเวทนามันเกิดขึ้น ถ้าใช้อานาปาเป็นฌาน ทุกขเวทนามันจะเบามาก จะไม่มีความรู้สึกเลย นี่อย่างหนึ่ง

แล้วก็ประการที่สอง คนที่ชำนาญในอานาปาจะรู้เวลาตายของตัว แล้วก็จะรู้ว่าตายด้วยอาการอย่างไร

แล้วก็ประการที่สาม อานาปานุสสติสามารถควบคุมกำลังฌาน สามารถเข้าฌานได้ทันทีทันใด ประโยชน์ใหญ่มาก”

ผู้ถาม:- “เมื่อกำหนดลมหายใจด้วย ภาวนาด้วย สมาธิมันวอกแวก ๆ ครับ…”

หลวงพ่อ:- “ก็แสดงว่าจริตของคุณโยมหนักไปในด้าน วิตกจริต กับ โมหะจริต ฉะนั้นคนที่มี วิตกจริต ต้องใช้ อัสสาสะ-ปัสสาสะ ไม่ต้องภาวนา ขืนภาวนาแล้วยุ่ง พระพุทธเจ้าทรงจำกัดไว้เลยว่า เรามีจริตอะไรเป็นเครื่องนำ ต้องใช้เป็นกรรมฐานอย่างนั้นเฉพาะกิจ ถ้าใช้ผิดก็ไม่ได้ ผลมันไม่มี ที่โยมถามก็เหมาะสำหรับคุณโยม”

.
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๖๐-๖๒ (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

เรื่องนี้ถูกเขียนใน หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร