พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๑

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๑
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      ความจริงพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นธรรมะกลาง ที่ว่ากลางก็เพราะว่า ถ้าบุคคลใดมีอารมณ์ใจทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ บุคคลนั้นจะมีศีลบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา จะมีจิตทรงฌานอยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะเป็นคนมีความฉลาดในด้านปัญญา สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้โดยง่าย ถ้าจะกล่าวกันว่า กรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานใหญ่ก็ว่าได้

นี้กล่าวกันโดยอีกนัยหนึ่ง ก็ถือว่าพรหมวิหาร ๔ เป็นอาหาร อาหารเลี้ยงศีลให้อ้วนมีกำลัง เป็นอาหารเลี้ยงสมาธิให้มีกำลัง อาหารเลี้ยงปัญญาให้มีคมกล้า สามารถจะฟาดฟันกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานเมื่อไหร่ก็ได้

 

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๑
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลายและบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เวลานี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปจงสำรวมใจ ตั้งใจสดับคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน ขณะที่ท่านนั่งฟังอยู่ เสียงได้ยิน หูได้ยินเสียงทุกถ้อยคำ จิตมีความรู้สึกไปตามกระแสเสียง โดยไม่เอาจิตไปส่งในอารมณ์อย่างอื่น อย่างนี้ชื่อว่าอารมณ์ของท่านทรงสมาธิ การทรงสมาธิเพื่อการรับฟังเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา

และอีกประการหนึ่ง ขณะใดที่ท่านตั้งใจฟังเสียงธรรมะซึ่งไม่มีอารมณ์อื่นมารบกวน ขณะนั้นชื่อว่าจิตของท่านว่างจากกิเลส ถ้าบังเอิญจิตของท่านว่างจากกิเลส จากหู เนื่องจากหูฟังเสียงธรรมะอยู่เสมอๆ ต่อไปอารมณ์จิตจะชิน จะมีอารมณ์ว่างจากกิเลสจนชิน ในที่สุดกิเลสก็จะหมดไปจากจิตของท่าน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สุสฺสูสัง ลภเต ปญฺญํ การฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา

ฉะนั้นเวลาที่ท่านฟัง จงตั้งใจฟังด้วยความสงบ ถ้าบังเอิญจะให้มีกำไรยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่ท่านฟังแล้ว ก็คิดตามไปด้วย เอาจิตน้อมยอมรับเหตุผลในการรับฟัง แต่ทว่าอย่ารับด้วยการไร้ปัญญา ใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วย ว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง และภิกษุสามเณรทุกท่าน หากว่าท่านมีกำลังของจิตพอ แล้วก็ไม่ละอารมณ์แบบนี้ ความเป็นพระอริยเจ้าย่อมง่ายสำหรับท่าน เพราะว่าการฟังทุกวัน ขณะที่ฟัง ตั้งใจฟัง ด้วยความเคารพ จงคิดว่าเสียงที่ได้ฟังนี้ เป็นเสียงที่นำเอาพระธรรมคำสั่งสอน ขององค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาสอน และจงจำไว้ให้ดีว่า เมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าจะนิพพาน ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเรานิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัยที่เราสอนไว้ จะเป็นศาสดาสอนเธอ” คำว่า ศาสดา แปลว่า ครู

เป็นอันว่าเสียงที่ฟังอยู่ จงคิดว่านี่เป็นกระแสเสียงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ความจริงนะ จงอย่านึกว่าอาตมาเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง เราคิดอย่างนั้น คิดว่านี่เป็นเสียงของพระพุทธเจ้า และธรรมะนี่เป็นธรรมะที่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้ากำลังสอนเราโดยตรง โดยน้อมจิตเข้าไปนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเวลานี้กำลังประทับอยู่เฉพาะหน้าของเรา และก็กำลังพูดกับเราโดยตรง จิตจะชื่นบาน แล้วก็ตั้งใจสดับฟังเสียงนั้น แล้วก็คิดตาม และก็คิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เกินวิสัยสำหรับเรา ถ้าเกินวิสัยแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วไม่สอนเรา สร้างธรรมปีติให้เกิดในใจ สร้างกำลังใจ คิดว่าเราสามารถ สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงโปรด

ถ้าคิดไว้อย่างนี้เสมอ บรรดาท่านพุทธบริษัท คิดไว้ ฟังบ่อยๆ ถ้ามีเทป สำหรับฟัง ฟังไว้เรื่อยๆ ขณะที่ฟัง ขณะใดใจตั้งอยู่ ในการฟัง ตั้งใจฟัง จิตจะว่างจากกิเลส ถ้ามันว่างบ่อยๆ เพราะจิตเราไม่คบกิเลส กิเลสมันก็ไม่อยากคบกับจิตของเรา ในที่สุดจิตของเราก็จะกลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ กลายเป็นผู้หมดกิเลสไป

เอาละสำหรับวันนี้ ก็จะขอนำเอาพรหมวิหาร ๔ มาแนะนำกับบรรดาท่านพุทธบริษัทตามกำลังปัญญา การแนะนำกันนี้ จงอย่าคิดว่าเป็นการแนะนำละเอียดลออ ความจริงใช้เวลาอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าจะใช้ได้ท่านฟังตั้งแต่วันเกิดถึงวันตาย เรื่องพรหมวิหาร ๔ ก็ไม่จบ การฟังนี่ก็ถือว่า เป็นการให้รับฟังเพื่อใช้ปัญญาเท่านั้น คือว่าใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วย ฟังด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆก็จะมานั่งสอนกันจบอรหันต์ในวันนี้ แต่ก็ว่าไม่ได้ คนที่รับฟังอยู่ มีทั้งคนดีและก็คนไม่ดี คนดีฟังแล้วเกิดปัญญา ใช้ปัญญาพิฆาตเข่นฆ่ากิเลส ก็เป็นของไม่หนัก แต่ว่าสำหรับคนไม่ดี ฟังแล้วมีหูก็คล้ายกับหูกระทะ มีตาเหมือนตากระทู้ ทั้งนี้เพราะอะไร ตากระทู้ มองอะไรไม่เห็น หูกะทะฟังอะไรไม่ได้ยิน สำหรับคน ตามองเห็น หูฟังได้ยิน แต่ไม่สนใจกับเสียงที่ฟัง คนประเภท นี้องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงโปรด เพราะว่าโปรดมากเท่าไหร่ คนประเภทนี้ก็ลงนรกมากเท่านั้น

ฉะนั้น บรรดาท่านทั้งหลายจะพิสูจน์ตัวของท่านได้ ว่าท่านรับฟังกันทุกวัน วันละหลายครั้ง ท่านละความเลวได้มากน้อยเพียงใด จิตใจของท่านดี หรือว่าจิตใจของท่านเลว ต่อไปนี้ธรรมะในด้านของพรหมวิหาร ๔ เป็นเครื่องวัดจิตใจว่าดีมากหรือเลวมาก

คำว่า พรหมวิหาร วิหาร แปลว่า ที่อยู่ พรหม นี้แปลว่าประเสริฐ หมายความว่า เอาใจไปจับอยู่ในอารมณ์แห่งความประเสริฐ หรือเอาใจไปขังไว้ในความดีที่สุด ที่เรียกว่า ประเสริฐ ประเสริฐ นี้แปลว่า ดีที่สุด

พรหมวิหาร ๔ อย่างคือ
๑.เมตตา ความรัก
๒.กรุณา ความสงสาร
๓.มุทิตา มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร
๔.อุเบกขา วางเฉย

ความจริงพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นธรรมะกลาง ที่ว่ากลางก็เพราะว่า ถ้าบุคคลใดมีอารมณ์ใจทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ บุคคลนั้นจะมีศีลบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา จะมีจิตทรงฌานอยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะเป็นคนมีความฉลาดในด้านปัญญา สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้โดยง่าย ถ้าจะกล่าวกันว่า กรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานใหญ่ก็ว่าได้

นี้กล่าวกันโดยอีกนัยหนึ่ง ก็ถือว่า พรหมวิหาร ๔ เป็นอาหาร อาหารเลี้ยงศีลให้อ้วนมีกำลัง เป็นอาหารเลี้ยงสมาธิให้มีกำลัง อาหารเลี้ยงปัญญาให้มีคมกล้า สามารถจะฟาดฟันกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานเมื่อไหร่ก็ได้

จึงขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านจะดี หรือว่าท่านจะเลว ท่านจะเป็นคน หรือว่าท่านจะเป็นมนุษย์ ความจริงมนุษย์นี่ เขาแยกไว้หลายอย่าง

คำว่า มนุสโส แปลว่า ผู้มีใจสูง มีศีลบริสุทธิ์ หรือ มีกรรมบท ๑๐ บริสุทธิ์

มนุสสเทโว ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ว่ากำลังใจเป็นเทวดา คือ มีหิริ และโอตตัปปะ

มนุสสพรหมา หมายความว่า ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ตายแล้วเป็นพรหม

แล้วก็ มนุสสติรัจฉาโน ร่างกายเป็นมนุษย์ ใจไม่ยอมมาเคารพนับถือในสิทธิซึ่งกันและกัน ขาดความเมตตาปรานี ร่างกายเป็นมนุษย์ ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตายแล้วเป็นสัตว์เดรัจฉาน

มนุสสนิรยโก มนุษย์สัตว์นรก หมายความว่า คนประเภทนี้หาความดีอะไรไม่ได้ ไม่มีความรู้สึกตัว ไม่รู้ดีไม่รู้ชั่ว ขาดความเมตตาปรานี คนประเภทนี้ร่างกายเป็นมนุษย์ ใจเป็นสัตว์นรก ตายแล้วก็เป็นสัตว์นรก

ในหมู่คณะของเราจะพอมีอยู่บ้างไหม ที่อยู่กันมาแล้วหลายหลายปี ยังไม่หมดความเลว ยังบูชาความเลวว่าเป็นความดี เข้ากับคนนั้นก็ไม่ได้ เข้ากับคนนี้ก็ไม่ได้ ถืออารมณ์ใจตัวเป็นสำคัญ ถ้าเรามีความเลวอย่างนี้ ก็ตั้งหน้าตั้งตาจำไว้ว่า ถ้าเราตายคราวนี้ อีกหลายแสนกัป ถึงจะได้กลับมาเป็นมนุษย์ แล้วก็เป็นมนุษย์อีกหลายแสนวาระ ที่จะเป็นมนุษย์สมบูรณ์บริบูรณ์ จะต้องเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความยากลำบากยากแค้น มีแต่ความทุกขโทมนัสอยู่ตลอดเวลา ถ้าบังเอิญยังมี กลับเนื้อกลับตัวเสีย จะได้เป็นคนกับเขาบ้าง ถ้าเป็นคนมันก็ยังยุ่ง เกิดมาในโลกก็รกโลก ถ้าเป็นมนุษย์ก็ยังสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่มีความดีอะไร ยังมีทุกข์ ไปเป็นเทวดา หรือพรหม พบสุขเล็กน้อย ไม่ช้าก็มาทุกข์ใหม่ ทุกคนเขาตั้งใจไปนิพพานกัน แต่เราทำไมตั้งใจเป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน มันจะมีประโยชน์อะไร

ต่อนี้ก็ฟังกัน พรหมวิหาร ๔ นี่ความจริงไม่ต้องอธิบายก็ได้ แต่ทว่าเวลานี้ถือว่าเป็นการแนะนำกรรมฐานรวม อันดับแรกก่อนที่จะทรงพรหมวิหาร ๔ คือว่า ทำกรรมฐานทุกกอง ก็จงอย่าทิ้ง อานาปานุสสติกรรมฐาน กับ พุทธานุสสติกรรมฐาน

แม้แต่กำลังฟังอยู่นี้ก็เช่นเดียวกัน ควรจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย และก็ตั้งใจฟัง เวลาฟังก็คิดว่า เวลานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังทรงประทับอยู่ข้างหน้าของเรา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระมหากรุณาธิคุณ มาหาเราถึงที่อยู่ และกระแสเสียงขององค์สมเด็จพระบรมครู ก็ก้องอยู่ในโสตประสาท ความดีขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ยากที่เราจะบูชาให้ครบถ้วน ตั้งใจไว้อย่างนี้นะ

ตั้งใจไว้อย่างนั้น คิดว่า เสียงนี้เป็นเสียงของพระพุทธเจ้า และก็พระองค์กำลังประทับอยู่ข้างหน้าของเรา ใจจะได้เป็นสุข จะได้มีอารมณ์ชุ่มชื่น นี่ไม่ใช่อาตมาจะมาอวดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะการทำใจอย่างนี้ จิตใจมันสบาย มีความสุข แล้วจิตจะหมดกิเลสได้ง่าย ต่อไปก็มาฟังพรหมวิหาร ๔ คือ

เมตตา ความรัก คำว่า ความรัก ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ความรักที่ประกอบไปด้วยกามคุณ เหมือนหนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่ม หรือ หญิงรักชาย ชายรักหญิง ปรารถนาจะครองคู่ นั่นเป็นเรื่องความรักเกี่ยวกับราคะ อำนาจของกิเลส ไม่ใช่พรหมวิหาร ๔ ที่เรามีความรัก ก็เพราะว่า ใจของเราเป็นคนใจดี มีความเมตตาปรานี มีความรู้สึกอยู่เสมอ ว่าคนและสัตว์ ว่าคนทุกคนในโลก แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ที่เกิดมานี่ มีความรู้สึกเสมอกัน รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกันหมด เรามีความรักสุขฉันใด เขาก็มีความรักสุขฉันนั้น

สำหรับเมตตา ความรัก ต้องอยู่ในขอบเขตของความดี อย่ารักแบบโง่ ในคณะของเรานี่มีทั้งฆราวาสก็ดี พระก็ดี ที่มีเมตตาแบบโง่ก็มีอยู่ ผมสลดใจมาก คือว่า บางทีเห็นพระบางองค์ เห็นฆราวาสบางคน พอฟังเสียงพูดในคำสงสัย ก็รู้สึกเสียดายแรงที่สั่งสอน เพราะอะไร เพราะว่า คนที่เขาได้ดีกัน เขาฟังแล้วก็คิด คิดแล้วก็จำ ไม่ใช่ว่าจะมานั่งตั้งหน้าตั้งตาสงสัย ปัญญามี เพียงแค่ของเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่รู้จักจะคิด ที่น่าเสียดาย สงสารองค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ ที่ทรงทรมานพระกายมาถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป รวบรวมความดีมาเพื่อแจกจ่ายแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท แล้วผมเองผมก็เสียดายแรงงานของผมเหมือนกัน เพราะตัวผมเองไม่เคยจะเรียนแบบนี้ ฟังคำสอนจากอาจารย์นิดหนึ่ง ก็ไปปฏิบัติให้ได้ ถ้าไม่ได้ เกินวิสัย ก็มาถามหน่อยหนึ่ง แล้วก็กลับไปทำ ถ้าสิ่งนั้นยังไม่ได้ จะไม่ยอมกลับมาหาครูบาอาจารย์

อย่างกับบรรดาท่านทั้งหลายที่สงสัยว่า จำภาพพระพุทธรูป ลืมตาแล้วก็หลับตา นึกถึงภาพ ภาพมันเลือนไป แล้วก็ลืมตามาดูใหม่ แค่นี้ก็ยังสงสัยกัน ว่าทำไมภาพนั้นยังนึกถึงเห็นไม่ชัด มันก็สิ่งที่ไม่น่าจะถาม ถ้าใช้คำถามอย่างนี้ ก็แสดงว่าเป็นบรมโง่ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กอมมือก็ยังรู้ การจะจำภาพและนึกถึงภาพอะไรก็ตาม อยู่ๆจะให้อารมณ์มันแจ่มใสจำได้ถนัด ไม่ได้ ถ้าฝึกฝนเรื่อยๆไป อารมณ์นั้นมันก็ปรากฏ วันเวลาตั้งแต่ตื่นอยู่ถึงหลับ จงอย่าทิ้งอารมณ์นั้น ทำอารมณ์ให้มันชิน คิดถึงภาพ นึกว่าในสมัยที่เราเคยรักใคร ซึ่งเป็นคู่รัก เวลาหลับตาก็เห็น ลืมตาก็นึกเห็นภาพ หรือว่าถ้าเรามีบ้านอยู่ เราจากบ้านไปไหน เวลานึกถึงบ้านขึ้นมาเมื่อไหร่ มันก็นึกถึงภาพบ้านเมื่อนั้น จิตใจของเราไม่ลืมเลือน ไม่ปล่อยสติสตังให้มันพลั้งเผลอ นี่เขาทำกันอย่างนี้ มันเป็นของธรรมดาๆ

สำหรับด้านอารมณ์เมตตานี่ก็เหมือนกัน ให้ใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริง ไอ้เรื่องเมตตานี่มีความสำคัญ ถ้าเมตตาแบบโง่ๆ มันมีภัยต่อตัวเอง อย่าลืมว่าคนที่เราจะต้องเมตตานะ พระพุทธเจ้าแบ่งคนไว้เป็น ๔ พวก คือ

๑.อุคฆฏิตัญญู คนมีปัญญาดี
๒.วิปจิตัญญ ปัญญาต่ำมานิดหนึ่ง
๓.เนยยะ
อันนี้คน ๓ จำพวกนี้ พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ
๔.ปทปรมะ เอาดีไม่ได้
นี่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงเสด็จหลีก ไม่ทรงสั่งสอน จะถือว่าพระองค์ขาดเมตตาไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะสอนเขา เขาก็ไม่รับฟัง

สำหรับพวกเราก็เหมือนกัน ถ้าจะแสดงเมตตาจิต ก็ดูเสียก่อน ว่าคนประเภทนั้นเราควรจะเมตตาไหม แต่เห็นว่าแนะนำแล้ว ไม่ได้ผล ก็จงอย่าสงเคราะห์คนประเภทนั้น หลีกไปเสีย อย่างพระพุทธเจ้าทรงหลีก ตัวอย่างก็มีอุปกาชีวก เป็นต้น เขาพบองค์สมเด็จพระทศพลก่อนใครทั้งหมด แต่ทว่าเขาไม่เลื่อมใส ในองค์สมเด็จพระบรมสุคต ไม่เชื่อพระสัพพัญญู สมเด็จพระบรมครูก็ไม่ทรงสั่งสอน นี่ดูเป็นตัวอย่าง

ไม่ใช่ใครไปใครมาก็เมตตาเสียดะ เมตตาโง่ๆ แบบนั้น จะสร้างความเดือดร้อน เหมือนกับเราจะให้ของเขา เขาไม่รับ ไปให้เขาทำไม ไม่ต้องไปอ้อนวอน ไม่ต้องไปแค่นเขาให้รับ และอีกประการหนึ่ง วันเวลากำหนด ระเบียบวินัยเป็นของสำคัญ จงอย่าเมตตาคนเกินกว่าระเบียบวินัย ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา มีพระมหากรุณาไม่มีขอบเขต แต่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ทรงวางวินัยไว้ลงโทษพระ ลงโทษเณร ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าไม่มีระเบียบวินัย คนนั้นเราเมตตาไม่ได้ เพราะเป็นคนเลว พระพุทธเจ้าทรงวางวินัยไว้ กี่พันข้อ ๒๒๗ นี่มันยังไม่หมด ยังมีส่วนอภิสมาจารบ้าง ยังมีส่วนธรรมะบ้างที่พระองค์ทรงห้าม

นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้ามีพระมหากรุณาธิคุณก็จริงแหล่ แต่ทว่าทรงเลือกเอาแต่เฉพาะคนดีเท่านั้น ไม่ใช่คนเลวก็ทำ นี่เมตตาของเราก็เหมือนกัน ใครจะมาจากไหนก็ช่าง จะมียศถาบรรดาศักดิ์ฐานะเช่นใดก็ช่าง ถ้าผิดระเบียบวินัย อันนี้เราจงถือว่า นั่นเขาเป็นคนเลว ไม่ควรแก่การเมตตา จำไว้ไห้ดีนะ แม้แต่พระก็เหมือนกัน พระที่บวชอยู่พรรษานี้น่ะ บางองค์ก็ลืมตัวบ้างก็มี จงระวังให้ดีนะว่าเราเป็นพระ ถ้าหากว่าผิดพระธรรมวินัยเกินไป ผมก็จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงขับพระวักกลิได้ฉันใด ผมก็จะขับทั้งพระ ทั้งคนที่ไม่รักระเบียบวินัย เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าเหมือนกัน

นี่เป็นอันว่าเมตตาเราต้องมีขอบเขต คือเมตตาเฉพาะคนดี ไม่ใช่ไปเมตตาคนเลว คนเลวถ้าหากว่าจะดีได้ เราเมตตาได้ ถ้าอย่างพวกเราที่อยู่ในที่นี้ รับฟังกันอยู่ตลอดเวลายังเลว เราก็ไม่ต้องเมตตาแล้ว คำสั่งคำเดียวคือ ไปจากที่นี้ ก็ต้องไปทันที เพราะการที่จะติดตามสั่งสอนกันไม่มีอีกแล้ว นี่เป็นอันว่า ขอบเขตของการเมตตาปรานีนี้มีอยู่ ไม่ใช่สักแต่ว่าเมตตา ใครจะมาจากไหนก็ช่าง ในเมื่อเข้ามาในขอบเขตนี้ จะต้องอยู่ในระเบียบทุกอริยาบถ จะถือว่าเป็นแขกมาไม่รู้ ไม่ได้ ถ้าคนดีนี่เขาต้องเคารพในระเบียบวินัยของสถานที่ จะถือว่าอยู่ที่บ้านฉัน ฉันไม่ได้ทำอย่างนี้ ที่โน่นไม่ทำอย่างนี้ นั่นมันที่อื่น ไม่ใช่ที่นี่ ถ้าคนไม่รักระเบียบวินัย จงอย่าปรานี ช่วยกันจัดการไปให้พ้นที่นี่ทันที โดยไม่ต้องบอกผมก็ได้ ไอ้คนประเภทนี้เป็นคนเลว

อีกประการหนึ่ง คนพูดมากปากพล่อย ทำลายศรัทธาของคน พระก็มี คนก็มีเหมือนกัน มีบ้างไหม พระของเราที่มีปากเลวๆ ไม่ได้ใช้ปัญญาคือ พูดก่อนคิด ใครเขาทำอะไรผิด ใครเขาทำอะไรถูก ต้องคิดว่าถ้าเขาทำด้วยเจตนาดี อันนี้เราก็ควรจะให้อภัย การพลั้งพลาดเป็นของธรรมดา การมีความรู้สึกให้อภัยซึ่งกันและกัน รู้สึกสงสารในการพลั้งพลาด ทั้งๆที่เขาทำด้วยเจตนาดี แต่ว่ามันผิดไปบ้าง อันนี้ก็ต้องมีจิตให้อภัย อย่างดีที่สุด ก็ควรจะปลอบกำลังใจ ว่าเราทำผิดไปแล้ว วันหน้าความดียังมีอยู่ ถ้าเราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู เราก็ควรจะยับยั้งตั้งต้นใช้ปัญญาเสียใหม่

นี่สำหรับวันนี้ เราก็คงจะได้กันในขอบเขตของการเมตตาเท่านั้น ความจริงก็เรื่องเมตตานี้ ไม่ต้องสอนกันก็ได้ แต่ว่าไม่สอนก็เห็นจะไม่ไหว เพราะว่าทั้งเก่าทั้งใหม่ มองๆดูแล้ว บางท่านก็ดีแสนดี แต่บางคนก็เลวแสนเลว เพราะไม่มีความรู้สึกสำนึกในตัว บางคนอยู่กับผมตั้ง ๑๐ ปีก็ยังเอาดีไม่ได้ก็มี นี่คนประเภทนี้เขาเรียกว่ามนุสสเปรโต คือ มนุษย์เปรต หรือมนุสสติรัจฉาโน มีร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราจะสังเกตเห็นได้ว่า การเลี้ยงสัตว์ ถ้าคนใดคิดว่า หมาไม่จำเป็นต้องกินดี คนประเภทนี้ ขาดความเมตตาปรานี อย่างนี้เขาเรียก มนุสสติรัจฉาโน มนุษย์สัตว์เดรัจฉาน หรือมนุสสเปโต กายเป็นมนุษย์ ใจเป็นเปรต หรือมนุสสนิรยโก ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์นรก

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัทและพระโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้เราก็ได้กันในขอบเขตของความเมตตาเท่านั้น แต่ยังไม่หมด แต่เวลามันหมด

ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย จงกำหนดใจตั้งอยู่ในความดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำรวจศีลให้บริสุทธิ์ ว่าตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเวลานี้ เรามีความบกพร่องในศีลบ้างหรือเปล่า
ประการที่สอง สำรวจกำลังใจของเรา ว่าเรามีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์หรือเปล่า
ประการที่สาม นึกถึงความตายหรือเปล่า
ประการที่สี่ เห็นว่า โลกเป็นทุกข์ หาความสุขไม่ได้ ใจรักพระนิพพานหรือเปล่า

ถ้าบกพร่องจุดใดจุดหนึ่ง รักษากำลังใจจุดนั้นให้สมบูรณ์ จะมีความสุข นั่นคือความเป็นพระอริยเจ้า

ต่อแต่นี้ไป ขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนา แล้วพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะเห็นว่า เวลานั้นสมควรจะเลิก สวัสดี.

พรหมวิหาร ๔     ตอนที่ ๑    ตอนที่ ๒    ตอนที่ ๓    ตอนที่ ๔    ตอนที่ ๕    ตอนที่ ๖    เสียงธรรม

เรื่องนี้ถูกเขียนใน พรหมวิหาร ๔ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร