พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๔

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๔
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

        พรหมวิหาร ๔ นี่เป็นอารมณ์คิด เป็นอารมณ์ใช้ปัญญามากกว่าการใช้อารมณ์ทรงตัว แต่ทว่าขอบรรดาท่านพุทธบริษัทและพระโยคาวจรทั้งหลาย จงอย่าทิ้งอารมณ์สมาธิ ที่เคยบอกไว้แล้วว่าการเจริญพระกรรมฐานกองใดก็ดี ถ้าทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานเสียแล้ว กรรมฐานกองนั้นก็เลอะ เลอะหรือว่าเละ คือใช้ไม่ได้ เพราะว่าสภาวะจิตของเราชอบกระสับกระส่ายมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ฉะนั้นอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานแก้อารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต

นอกจากจะใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน จะใช้อนุสสติอื่น ๆ หรือว่า กสิณ หรือว่า อสุภ ควบคุมก็ได้ตามใจชอบ แต่ว่าจุดใหญ่จริง ๆ ต้องยึดอานาปานุสสติกรรมฐานไว้เป็นอารมณ์ นี่เพื่อป้องกันจิตโยกโคลง

 

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๔
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปโปรดตั้งใจสดับเรื่องราวของพรหมวิหาร ๔

สำหรับพรหมวิหาร ๔ นี้ ได้พูดมาแล้วว่าเป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญที่สุด บุคคลใดมีกำลังใจทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ คนประเภทนั้นตายแล้วหาอบายภูมิเป็นที่ไปไม่ได้ จะต้องกลายเป็นคนโง่ในอบายภูมิ คือไม่รู้จักตกนรก ไม่รู้จักเป็นเปรต ไม่รู้จักเป็นอสุรกาย ไม่รู้จักเป็นสัตว์เดรัจฉาน

แต่ถ้าจะบังเอิญเกิดมาเป็นคน ก็เป็นคนที่มีรูปร่างลักษณะสวยสดงดงามเป็นกรณีพิเศษ และก็จะอยู่ในเขตที่เพียบพร้อมด้วยความสุขสำราญ ถ้าเป็นเทวดาก็เป็นเทวดาที่มีบุญวาสนาบารมีมาก มีรัศมีกายผ่องใสเป็นพิเศษ ถ้าอารมณ์มั่นคงจริง ๆ พรหมวิหาร ๔ นี่เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นพรหม นี่ว่ากันถึงด้านโลกียวิสัย คือมีพรหมวิหาร ๔ แบบชาวโลก

ทีนี้หากว่าจะใช้พรหมวิหาร ๔ นี้แบบชาวโลกุตตระ โลกเหมือนกัน แต่ว่าเหนือโลกขึ้นไป โลกุตตระ แปลว่า เหนือโลก ก็ได้แก่ พระนิพพาน เป็นจิตระดับของพระอริยเจ้า ฉะนั้นการเจริญพรหมวิหาร ๔ จึงมีความสำคัญ

พรหมวิหาร ๔ นี่เป็นอารมณ์คิด เป็นอารมณ์ใช้ปัญญามากกว่าการใช้อารมณ์ทรงตัว แต่ทว่าขอบรรดาท่านพุทธบริษัทและพระโยคาวจรทั้งหลาย จงอย่าทิ้งอารมณ์สมาธิ ที่เคยบอกไว้แล้วว่าการเจริญพระกรรมฐานกองใดก็ดี ถ้าทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานเสียแล้ว กรรมฐานกองนั้นก็เลอะ เลอะหรือว่าเละ คือใช้ไม่ได้ เพราะว่าสภาวะจิตของเราชอบกระสับกระส่ายมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ฉะนั้นอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานแก้อารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต

นอกจากจะใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน จะใช้อนุสสติอื่น ๆ หรือว่า กสิณ หรือว่า อสุภ ควบคุมก็ได้ตามใจชอบ แต่ว่าจุดใหญ่จริง ๆ ต้องยึดอานาปานุสสติกรรมฐานไว้เป็นอารมณ์ นี่เพื่อป้องกันจิตโยกโคลง คือหมายความว่า จิตมีความสะทกสะท้านมาก จิตไม่ทรงตัว ถ้าจิตของเราไม่ทรงตัวมีการหวั่นไหวมาก การเจริญพระกรรมฐานก็ไร้ผล คำว่า ไร้ผล ก็หมายความว่า การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานนี่ไม่มีผล คือว่าบางคราวจิตเราจะกระสับกระส่ายมากเกินไป บางคราวจิตก็จะทรงตัวดีพอสมควร

ฉะนั้น เพื่อให้จิตทรงตัวดี การเจริญพระกรรมฐานทุกอย่าง อันดับแรก ถ้าจิตชอบคิด เราก็ใช้อารมณ์คิดก่อน คิดอยู่ในขอบเขตของอารมณ์ของกรรมฐานที่เราต้องการ ถ้าเห็นว่าคิดจะฟุ้งซ่านมากไป ก็ทิ้งอารมณ์คิดเสีย กลับมาจับอานาปานุสสติใหม่ พออารมณ์จิตสบาย เราก็ใช้อารมณ์คิดต่อไป สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ ไม่ช้ามรรคผลก็เกิด เพราะปัญญาเกิดขึ้นมาก

วันนี้ก็จะขอพูดถึงพรหมวิหาร ๔ ต่อจากเมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้ดูเหมือนว่าจะพูดเรื่อง การเมตตา กรุณา คือ ความรักความสงสารตัวเอง ความจริงการรักการสงสารนี่ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า เราต้องรักเราต้องสงสารตัวเองให้มาก ถ้าเรารักเราสงสารตัวเองมากเพียงใด ความรักความสงสารในบุคคลอื่น ก็มีมากเพียงนั้น ถ้าเราจะเมตตาก็ต้องเมตตาตัวเราเองก่อน ถ้าเราจะกรุณาก็ต้องกรุณาตัวเราเองก่อน

ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะช่วยคนอื่นให้รู้เรื่องของนรก สวรรค์ พรหม และนิพพาน และก็สามารถจะสอนคนผู้นั้นให้ปฏิบัติเข้าถึงได้ สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงทำพระองค์เองให้เป็นพระอรหันต์ก่อน แล้วจึงช่วยคนอื่นให้มีความสุข ข้อนี้มีอุปมาฉันใด

ฉะนั้น เมตตานี่ก็เช่นเดียวกัน สมมุติว่าในอันดับต้น ในสมัยที่เป็นโลกีย์วิสัย การที่เราเมตตาชาวบ้าน รักชาวบ้าน สงเคราะห์ชาวบ้าน ยินดีกับความดีของชาวบ้าน มีความวางเฉยเมื่อชาวบ้านเขาเพลี่ยงพล้ำ เราไม่ซ้ำเติม นั่นหมายความว่า เรารักตัวของเราเอง ต้องการให้เราเองมีความสุข ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเราไม่ประกาศตนเป็นศัตรูกับใคร เรารักเขาเขาก็รักตอบ เราสงสารเขาเขาก็สงสารตอบ เราไม่อิจฉาเขาเขาก็ไม่อิจฉาตอบ เขาเพลี่ยงพล้ำเราไม่ซ้ำเติมเขาก็ไม่เกลียด อย่างนี้ชื่อว่าเรารักเราสงสารตัวเอง คือ เรามีมิตรที่ดีอยู่เสมอ นี่ว่ากันถึงด้านโลกีย์วิสัย

สำหรับตอนนี้เป็นตอนของพระอนาคามี เราจะรักเราจะสงสารตนตรงไหน พระอนาคามีนี่มีความสำคัญอยู่ ๒ ระดับ นั่นก็คือ กามฉันทะ กับ ปฏิฆะ สำหรับท่านที่ทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ ข้อที่เรียกว่า ปฏิฆะ ไม่มีความสำคัญ เพราะว่าเราลบล้างมามากแล้ว ส่วนที่หนักก็คือ กามฉันทะ

คำว่า กามฉันทะ ก็หมายความว่า มีความพอใจในรูปสวย พอใจในเสียงเพราะ พอใจในกลิ่นที่หอม พอใจในรสอร่อย พอใจในการสัมผัสระหว่างเพศ เราพูดกันง่าย ๆ อันดับแรกก็มาพูดกันถึงว่า อยากมีสามี อยากมีภรรยา คิดว่ามันมีความสุข อันนี้เป็นอารมณ์คิด คิดว่าการแต่งงานมันมีความสุข

ทีนี้ถ้าเรามีพรหมวิหาร ๔ เราก็มานั่งรักตัวเอง สงสารตัวเองเสียก่อน ว่าการมีคู่ครองจริง ๆ คนที่เขามีกันอยู่แล้วน่ะ เขามีความสุขหรือว่าเขามีความทุกข์ ไปนั่งพิจารณาหาความจริงให้พบ สัญญา ความจำของเรามี ปัญญา ความรอบรู้ของเรามี เราอย่ายอมให้จิตโง่เกินกว่ากิเลส อย่าให้กิเลสเข้ามาจูงจิตเราเป็นสำคัญ ต้องหักห้ามกำลังใจ อาศัยที่เจริญสมาธิจิตโดยใช้อานาปานุสสติกรรมฐานเป็นตัวนำ นั่นก็หมายความว่าต้องการให้มีกำลังใจเข้มแข็ง

เรามานั่งดูคู่วิวาห์ที่เขาแต่งงานกัน วันที่จะแต่งงาน รู้สึกว่าจะมีความชุ่มชื่นใจมาก มีศักดิ์มีศรี แต่ทว่าก่อนจะแต่งพอเริ่มรักกันเข้ามาแค่นี้ อารมณ์มันก็เริ่มเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร

อันดับแรก จิตเริ่มรัก ยังไม่ได้ตกลงในเรื่องรักแน่นอน อารมณ์มันก็เริ่มเป็นทุกข์แล้วว่า คิดว่าคนที่เราอยากจะรักเขาน่ะ เขาจะรักเราหรือเปล่า ใจเริ่มไม่สบาย ถ้าเห็นคนที่เราคิดว่าจะรักและกำลังรักเขาอยู่แต่ยังไม่ตกลง เดินไปกับใคร ไปไหนมาไหนกับใคร ดีไม่ดีเขาไปกับพี่น้องของเขา เราก็คิดเสียว่าบางทีเขาจะไปกับคนอื่นเสียแล้ว เขารักคนอื่นเสียแล้ว อารมณ์มันก็ไม่เป็นสุข

พอตกลงรักกันขึ้นมาได้ ความระแวงระไวมันก็มากขึ้น เกรงไปว่าความรักของเราจะไม่แน่นอน นี่มันเริ่มทุกข์ ใจไม่สบาย นอนไม่หลับ

พอเริ่มแต่งงานกันแล้วอยู่ด้วยกัน ภาระหนักมันเกิดขึ้นได้ กิจการงานต่าง ๆ ที่เคยเกียจคร้านได้ ไม่ทำอะไรได้ หนาวก็นอน ร้อนก็นอน มีกินแค่นี้ก็พอ ไม่ต้องทำต่อไป แต่พอเริ่มแต่งงานเข้า มันต้องขยันมากขึ้น ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเรามันเป็นคนสองคน นอกจากคนสองคนแล้ว ยังญาติทางฝ่ายสามี ญาติฝ่ายภรรยา เพื่อนฝ่ายสามี เพื่อนฝ่ายภรรยา เราก็จะต้องนั่งเอาใจฝ่ายละหลายสิบคน เริ่มภาระแห่งความทุกข์เกิดขึ้น

นี่ในที่นี้ในเมื่อเป็นคนสองคนก็ต้องมีงานหนักมากขึ้น เพราะการจับจ่ายใช้สอยมันก็มากขึ้น และก็ยังต้องเป็นห่วงอารมณ์ซึ่งกันและกัน เกรงว่าจะเป็นที่ขัดเคืองซึ่งกันและกัน ต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น นี่ความทุกข์มันรัดตัวเข้ามามากทุกที

ต่อมาพอมีบุตรมีธิดาเกิดขึ้น ตอนนี้สิ ดีไม่ดีกำลังนอนหลับสบาย ๆ ในยามดึก พ่อเจ้าประคุณร้องขึ้นมาในเวลาดึก ทั้งพ่อทั้งแม่ก็ต้องลุกขึ้นมาทั้ง ๆ ที่นอนยังไม่เต็มตื่น อาการทางร่างกายจะเปลี้ยเพลียเพียงใดก็ตามที เพราะอาศัยความรักลูกสงสารลูกก็ต้องทำทุกอย่าง ถ้าลูกเกิดป่วยไข้ไม่สบายขึ้นมา ยามใดก็ดีก็ต้องรีบไปหาหมอ การไปหาหมอนะ ดีไม่ดีไปกลางค่ำกลางคืนถูกฆ่าตายเมื่อไรก็ได้

และกว่าจะเลี้ยงลูกโตขึ้นมาแต่ละคนต้องใช้กำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์เท่าไร ถ้าลูกเป็นคนดีก็รู้สึกว่าจะเป็นที่พอใจ ถ้าลูกเป็นเด็กร้ายอกตัญญูไม่รู้คุณพ่อคุณแม่ อย่างเด็กสมัยนี้ที่เขาพูดกันว่าบิดามารดา คือ พ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจให้เขาเกิด เขาเกิดกันมาเอง พ่อแม่อาศัยมีความปรารถนาในกามารมณ์มากกว่า แล้วเขาจึงเกิดมา แล้วก็เอาใจออกห่างไปเป็นคนทำลายชาติ หวังจะเปลี่ยนแปลงระบบความเป็นอยู่ของชาติให้เป็นทาสกันทั้งเมือง

อันนี้เคยพบมาแล้ว พ่อแม่ถึงกับน้ำตาไหล เคยพบมาเป็นนักเรียนสตรี โรงเรียนที่มีชื่อแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พ่อเป็นนายพลทหาร อาจารย์ตักเตือนเธอเท่าไรเธอไม่เชื่อฟัง เขาเรียกว่าเป็นหัวซ้ายหัวขวาอะไรก็ไม่ทราบ ต่อมาท่านอาจารย์ก็คิดว่าบิดา มารดาคงจะตักเตือนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อเป็นนายพล จึงได้เชิญบิดามารดาไปเพื่อพบเพื่อพูดกับลูก

แต่พอเรียกลูกสาวมาพบกับบิดามารดา ลูกสาวไม่ยักไหว้พ่อไหว้แม่ ไหว้แต่ท่านอาจารย์ใหญ่ แล้วกลับพูดกับท่านอาจารย์ใหญ่ว่า ไปเรียกเขามาทำไม หนูพูดกับเขาไม่รู้เรื่อง เขากับหนูพูดกันไม่รู้เรื่อง หนูคิดว่าเขากับหนูขาดกันแล้วตั้งแต่วันเกิด นี่ความจริงแกยังเรียนหนังสืออยู่ แกยังใช้เงินของพ่อของแม่ เครื่องแต่งตัวเครื่องเรียนทุกอย่าง อาหารการบริโภคยังกินของพ่อของแม่อยู่ แกพูดอย่างนั้น ท่านผู้เป็นบิดาผู้เป็นนายพลกับมารดาถึงกับก้มหน้าน้ำตาไหล

นี่ถ้าหากว่าเราบังเอิญมีลูกเป็นอย่างนี้เข้า มันจะมีสุขหรือมีทุกข์ นี่ก็หวนกลับไปอีกที ความรักระหว่างคนที่จะแต่งงานกัน มักจะเพ่งกันอยู่ เฉพาะในวัยที่มีความผ่องใสแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า แต่ว่าสภาพของคู่แต่งงานทั้งคู่ จะทรงสภาพอย่างนั้นเป็นปกติหรือว่าเสื่อมลงไป สิ่งที่เรามองเห็นได้ง่าย คนที่เขาแต่งงานมาก่อน อย่างบิดามารดา ปู่ย่าตายายเรา ท่านก็เป็นหนุ่มเป็นสาวกันมาก่อน แล้วเวลาที่เราจะเริ่มมีสภาวะพอจะแต่งงานกับเขาได้นี่ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นหนุ่มสาวแล้วหรือยัง หรือว่าแก่ไปเสียแล้ว บางรายเราก็เห็นหง่อม

ต้องเอาวิสัยของพระเรวัตมาใช้ นี่พระเรวัต ที่บรรดาญาติฝ่ายหญิงซึ่งมีอายุ ๑๒๐ ปี หนังตกกระ หลังงอ ผมหงอก ตาฝ้า หูฟาง มารดน้ำสังข์ บรรดาญาติทั้งหลายก็บอกว่า “ขอเธอทั้งหลายจงครองคู่อยู่กันไป จนกระทั่งแก่เฒ่าถือไม้เท้ายอดทอง เหมือนกับคุณยายของฝ่ายเจ้าสาว”

พระเรวัตมองดูแล้วก็ใจหาย ถามว่า “ต่อไปเจ้าสาวของผมจะมีสภาพอย่างนี้ไหม”

คนทั้งหลายก็บอกว่า “ถ้ามีอายุยืนอย่างนี้ ก็มีสภาพอย่างนี้เหมือนกัน”

พระเรวัตก็เลยตัดสินใจว่า เจ้าสาวของเราเวลานี้กระปรี้กระเปร่า ผิวพรรณผ่องใส แต่ต่อไปข้างหน้าต้องแก่อย่างนี้ก็ไม่เอาแล้ว ขอบอกศาลา เลยหนีบวช บวชแล้วก็เป็นพระอรหันต์

นี่เราควรจะมีความเมตตา คือความรัก กรุณา ความสงสารตัวเอง ว่าเราจะแบกกายแบกใจของเราไปรับความทุกข์เรื่องในการแต่งงานเพื่อประโยชน์อะไร เพราะการแต่งงาน การมีสามี การมีภรรยา มีบุตรธิดา มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราจะแบกความทุกข์หาที่สุดมิได้จนกว่าจะตาย

แล้วก็มานั่งนึกดูว่า สภาวะของร่างกายของเราก็ดี ของเจ้าสาวเจ้าบ่าวก็ดี ร่างกายของแต่ละคนนี้หรือแม้ว่าคนอื่นก็เหมือนกัน มันเป็นทรัพย์สินสมบัติของเราจริง ๆ หรือว่าเป็นสมบัติของใคร ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาท่านบอกว่า

“ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายมันเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ เข้ามาประชุมกัน มีอาการ ๓๒ มีวิญญาณธาตุ มีอากาศธาตุผสม มีจิตเข้ามาอาศัย จิตก็คือเรา”

ทีนี้ร่างกายทั้งหลายเหล่านี้ เราบังคับมันได้ไหม เราปรนเปรอมันทุกอย่าง ไม่ต้องการให้มันแก่ แล้วมันแก่ไหม เราไม่อยากให้มันป่วย มันจะป่วยไหมล่ะ เราไม่อยากให้มันตาย ห้ามมันได้ไหมในเรื่องความตาย

นี่ความจริง เนื้อแท้จริงๆ เราก็ห้ามไม่ได้ ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของเจ้าสาวเจ้าบ่าวก็ดีที่เรารัก คิดกันดูให้ดีว่าร่างกายของใครเป็นร่างกายที่สะอาดมีไหม คนที่เกิดมาแล้วตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย ไม่ต้องอาบน้ำชำระร่างกายเหมือนเทวดาเหมือนพรหมน่ะมีไหม เทวดากับพรหมนี่เขาเกิดขึ้นมาแล้ว นับตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันจุติ เขาไม่มีเหงื่อ ไม่มีไคล ไม่มีสิ่งสกปรกในร่างกาย ร่างกายหอมตลอดเวลาแล้วก็ร่างกายของมนุษย์เรานี่ มีสภาพอย่างนั้นไหม

นั่งทำใจนึกให้ดีว่า ร่างกายที่เราอาศัยอยู่นี้ มันแสนจะสกปรก มีทั้งอุจจาระ มีทั้งปัสสาวะ มีทั้งน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง มันขังอยู่ในร่างกาย เรามองไม่เห็น แต่พอมันหลั่งไหลมาจากร่างกายนิดเดียว เราก็มีความรังเกียจ คิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้สกปรก แต่ว่าบางทีเรามันเป็นคนลืมง่าย ถ้าสิ่งสกปรกผ่านไป ชำระร่างกายแล้ว เราก็นึกว่ามันสะอาด

ข้อนี้องค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสอนว่า “จงอย่าลืม” เพราะมันเป็นความจริง ไม่ว่าร่างกายของชายหรือหญิง มันเต็มไปด้วยความสกปรก สกปรกและก็เสื่อมลงทุกวัน มีอาการเต็มไปด้วยความทุกข์ ด้วยการบริหารร่างกาย มีความเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเลี้ยงร่างกายด้วยทรัพย์สิน จะกินก็ไม่สะดวก จะนอนก็ไม่สะดวก การแสวงหาทรัพย์ไม่ใช่ของง่าย กว่าจะได้มาต้องพบกับอุปสรรคทุกประการ

เราทำงานกับผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาไม่ดี เราก็กลุ้ม หรือบางทีผู้บังคับบัญชาดี เพื่อนร่วมงานด้วยกันไม่ดี เราก็กลุ้ม เวลาป่วยไข้ไม่สบายจะพักจะผ่อนบ้าง ถ้าวันลาหรือไปลาผู้บังคับบัญชาเขาไม่ยอมให้ลา เราก็ลำบากกายลำบากใจ เป็นอันว่าเราเกิดมาเป็นคนนี่มันมีทุกข์

ถ้ายิ่งเราจะแสวงหาความสุขจากการแต่งงาน แทนที่มันจะคลายความทุกข์ มันจะเพิ่มความทุกข์มากขึ้น ก็เป็นอันว่า เราไม่พบกับความสุข เราพบกับความทุกข์

แล้วก็มานั่งคิดในใจว่า เราเป็นคนมีเมตตา ความรัก เราเป็นคนมีความกรุณา ความสงสาร เราควรจะสงสารตัวเราไหม ว่าถ้าเราคิดว่าเราจะรักใครสักคนหนึ่ง หวังผลในการแต่งงาน ถ้าแต่งงานแล้วมันเป็นความทุกข์ นี่เราควรจะแต่งหรือว่าควรจะไม่แต่ง ถ้าหากว่าเราคิดว่ามันเป็นความสุข เราก็ควรแต่ง ถ้าคิดว่ามันเป็นความทุกข์ เราก็ต้องสงสารตัวเราเอง ว่าแค่ตัวเราเองแค่นี้เรายังแบกเกือบจะไม่ไหว และไม่สามารถทรงกำลังกายให้มันเป็นสุขอยู่ได้ ถ้าเราไปแบกอีกคนหนึ่งเข้ามา แล้วมันต่อมาอีกหลายคน คือ ลูกสาว ลูกชาย ความทุกข์ใหญ่มันก็เกิด

เราก็หันกลับมามีเมตตา ความรักตัวเอง กรุณา ความสงสารตัวเองว่า “โอหนอ เราอยากโง่ไปทำไม ร่างกายของเราก็สกปรก ถ้าเราต้องการมีคู่ครอง ร่างกายของคู่ครองก็สกปรก เราคนเดียวแบกหนึ่งทุกข์ ทุกข์เท่านี้ คือ ขันธ์ ๕ ไปมีคู่ครองเข้าอีกคนหนึ่ง ก็แบกมาอีก ๕ ขันธ์ กลายเป็น ๑๐ ถ้ามีลูก มีหลาน มีเหลนออกมา ไปกันใหญ่”

องค์สมเด็จพระจอมบรมไตรโลกศาสดาทรงตรัสว่า “ภารา หเว ปัญจขันธา ขันธ์ทั้งหลาย ๕ เป็นภาระอันหนัก” คือเราคนเดียวมี ๕ ขันธ์ หนักแค่นี้ ถ้าเพิ่มอีกคน เป็นขันธ์ที่ ๑๐ เพิ่มอีกคน เป็นขันธ์ที่ ๑๕ เพิ่มอีกคนเป็นขันธ์ที่ ๒๐ มันจะหนักปานไหน

ตอนนี้เราก็เริ่มรัก เริ่มสงสารตัว ขอตัดกำลังใจ เพราะว่าไม่คิดจะพึงหาคู่ครอง เห็นโทษจากความรัก ความปรารถนาที่มีคู่ครอง เพราะมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ มันหาความสุขไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ครองก็ดี เราก็ดี ย่อมทรุดโทรมลงไปทุกวัน ไม่ช้าก็จากกันด้วยความตาย

ถ้าเรายังมีความหลงใหลใฝ่ฝันด้วยอำนาจตัณหาแบบนี้อีก เราก็ต้องเกิดอีก มันจะหาความสุขอะไรไม่ได้ ควรจะตัดสินใจ แล้วก็จำพระบาลีของค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาไว้ว่า “ปิยโต ชายเต โสโก ปิยโต ชายเต ภยัง ความเศร้าโศกเสียใจเกิดจากความรัก ภัยอันตรายเกิดจากความรัก” และสิ่งที่เรารัก มันจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัยหรือไม่ สมบัติของโลกมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง แล้วก็สลายทั้งหมด

องค์สมเด็จพระบรมสุคตเห็นโทษอย่างนี้ สมเด็จพระมหามุนีจึงได้หนีพระนางพิมพากับพระราหุล ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ บำเพ็ญตนเป็นพระอรหันต์หมดความทุกข์ มีแต่อารมณ์ความสุข ฉันใด เราก็ขอตัดกำลังใจ คือ จะรักเราและสงสารตัวเราเข้าไว้ว่า กรรมใดที่เนื่องจากกามารมณ์ เป็นปัจจัยของความทุกข์ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราไม่ต้องการ เราจะแสวงหาความสุข คือ อยู่แต่ผู้เดียว

ตามที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า “เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา” เป็นต้น แปลว่า “ทางของบุคคลผู้เดียวเป็นทางเอก เป็นทางนำมาซึ่งความสุข”

เราก็พยายามจับเอากายคตานุสสติกรรมฐาน กับอสุภกรรมฐาน พร้อมกับสักกายทิฏฐิ มาบวกกันเข้าว่า ร่างกายนี่เป็นเพียงธาตุ ๔ มีสภาพสกปรก มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว ทำไมเราจึงไปรักร่างกายเขาเพื่อประโยน์อะไร เพราะมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ หาความสุขไม่ได้

ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีความรักตัว สงสารตัว คิดอย่างนี้เป็นปกติ ไม่ช้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ก็จะชนะอำนาจกามกิเลสเสียได้ จัดว่าเป็นครึ่งหนึ่งของพระอนาคามี ยังไม่หมด แต่เวลามันหมด

ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต จงพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อยู่ในอิริยาบถที่เห็นว่าสมควร ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควรว่าควรจะเลิก สวัสดี.

พรหมวิหาร ๔     ตอนที่ ๑    ตอนที่ ๒    ตอนที่ ๓    ตอนที่ ๔    ตอนที่ ๕    ตอนที่ ๖    เสียงธรรม

เรื่องนี้ถูกเขียนใน พรหมวิหาร ๔ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร