พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๕

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๕
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      ปิยโต ชายเต โสโก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวว่า ความเศร้าโศกเสียใจ เกิดจากความรัก พอพลัดพรากจากกัน ตามกฎธรรมดาเท่านั้นแหละ ร้องไห้กันงอแง ทำไมจึงไม่คิดว่า คนเราเกิดมาแล้ว มันต้องตาย ญาติผู้ใหญ่คนอื่น เขาตายให้ดู ทำไมจึงไม่มอง ไปคิดว่า ไอ้คนที่เรารัก ของที่เรารัก มันจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัย พอจากกันหน่อยตามกฏธรรมดาก็ร้องไห้ อันนี้น่าสังเวชจิต

นี่เราใช้เมตตา คือ อารมณ์แห่งความคิดรักตัวเองว่า จงอย่าก้าวเข้าไปหาความทุกข์ประเภทนั้นเลย จงใช้อสุภกรรมฐานกับ กายคตานุสสติกรรมฐาน เข้ามาพิจารณา และก็จับมรณานุสสติกรรมฐาน คือ ความตายเข้ามาร่วมด้วย

 

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๕
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับเวลานี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปก็ขอได้โปรดสดับเรื่องราวของพรหมวิหาร ๔

สำหรับการเจริญพระกรรมฐาน บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ขอได้โปรดจงอย่าทิ้งอารมณ์ของอานาปานุสสติกรรมฐาน หรือว่าคำภาวนาใดๆ ที่สามารถทำกำลังใจของท่านให้พ้นจากความฟุ้งซ่านของจิต หมายความว่า จิตเอาอารมณ์อื่นเข้ามาคิดแทน การฝึกสมาธิย่อมมีประโยชน์ ในการที่ให้จิตมีกำลังควบคุมด้วยอำนาจของสมาธิ เมื่อจิตมีกำลังควบคุมด้วยอำนาจของสมาธิแล้ว เมื่อจิตเยือกเย็น ปัญญาก็เกิด เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

การเจริญพระกรรมฐานที่ทำกันได้ดี ก็เพราะว่า ถ้าจิตต้องการคิด เราก็หาทางคิดในขอบเขตในวงการของกรรมฐานบทนั้นๆ ถ้าเห็นว่าจิตซ่านออกไป กำลังใจคุมไม่อยู่ อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมครู ทรงแนะนำให้ทิ้งอารมณ์คิดเสีย หันมาจับอานาปานุสสติกรรมฐาน คือ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-หายใจออก ถ้ากำลังจิตเป็นสุข ทรงตัวดี ที่เรียกกันว่า เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์สบายใจ ไม่สอดส่ายไปหาอย่างอื่น ก็หันเข้าไปใช้การพิจารณาใหม่ เค้าทำกันแบบนี้ ผลดีจึงเกิด ถ้าหากว่าทำกันประเภทส่งเดช มันก็ใช้อะไรไม่ได้

และอีกประการหนึ่ง อารมณ์สมาธิก็ดี อารมณ์คิดก็ดี คิดไหมว่า ต้องคิดอยู่ในขอบเขตของวงการกรรมฐานที่เราต้องการ ก็จงอย่ามีแต่เฉพาะเวลาที่เราใช้อารมณ์สงัด หรือว่าเวลาสงัด เช่น ตั้งเวลาไว้ว่า เวลา ๒ ทุ่ม บ้าง ๓ ทุ่มบ้าง ตี ๑ บ้าง ตี ๒ บ้าง ถ้าใช้เฉพาะเวลาอย่างนี้ล่ะก็ บรรดาท่านพุทธบริษัท ไม่มีผล

กำลังใจของเราที่เรียกกันว่าสมาธิ คือ การทรงกำลังจิต ให้มันคิดอยู่ในขอบเขตของกรรมฐาน ที่เราต้องการ ว่ากันตามปกติก็คือทั้งวัน ถ้าจิตเรามีงานอย่างอื่น ก็ทำอย่างอื่นไป จิตว่างจากงานนั้นเมื่อไร ก็หันเข้ามาจับอารมณ์ของกรรมฐาน อย่างนี้ ทั้งสมถะและวิปัสสนาจะมีผลกับท่านโดยรวดเร็ว และก็เกินคาด

อย่างที่บรรดาท่านพุทธบริษัท ใช้อารมณ์ฝึกมโนมยิทธิก็ดี ฝึกทิพจักขุญาณก็ดี ที่ได้ยากนั่น ก็หมายความว่า ทิ้งอารมณ์ คือ ไม่ทรงอารมณ์ไว้ นี่อย่างหนึ่ง และ ประการที่ ๒ เวลาที่กระทำ ตั้งใจคิด อยากจะเห็น อยากจะไปเกินไป จัดว่าเป็น อุทธัจจะ ในนิวรณ์ ๕ ประการ อย่างนี้ไม่ได้ผล

เขาต้องใช้คำภาวนาให้จิตมันทรงตัว ถ้าจิตทรงตัวมีอารมณ์เป็นสมาธิ สมาธิเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จิตมีอารมณ์เป็นทิพย์เมื่อนั้น ถ้าต้องการทิพจักขุญาณ พอเข้าถึงอุปจารสมาธิชั้นสูง อันดับสูงใกล้จะถึงปฐมฌาน ผลก็เกิด

ถ้าต้องการมโนมยิทธิ ถ้าจิตทรงสมาธิถึงฌาน ๔ เมื่อไหร่ ผลก็เกิด ผลจะเกิดหรือไม่เกิด มันอยู่ตรงนี้ วันทั้งวันเราไม่ทิ้งอารมณ์นั้น ผลมันจึงจะเกิด ไม่ใช่ว่าจะมาเลือกเวลากันเฉพาะเวลาฝึก เฉพาะเวลาฝึกเราถึงจะใช้อารมณ์นั้น อย่างนี้นานหน่อย ที่ได้เร็วก็หมายความว่า ต้องเป็นคนที่เคยได้มาแต่ในกาลก่อน

ทีนี้สำหรับวันนี้ ก็จะขอพูดเรื่องพรหมวิหาร ๔ คือ มี เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มุทิตา จิตใจอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร อุเบกขา วางเฉย วันนี้เห็นจะเป็นการครบคุณของพระอนาคามี ความจริงท่านทั้งหลายที่ทรงพรหมวิหาร ๔ เริ่มมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งชนในระดับนี้ การทรงพรหมวิหาร ๔ ของท่านทรงตัว กว่าจะมาถึงพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันนั้น พรหมวิหาร ๔ มันต้องดีแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าถ้าไม่ดี เป็นพระโสดาบันไม่ได้ แต่ว่าคนที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ถ้ามีความจริงจัง เขาก็คิดว่าเริ่มต้นขั้นประถมของ พรหมวิหาร ๔ ควรเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่ฌานโลกีย์

การเจริญพระกรรมฐานต้องรู้จุด คือ ต้องรู้จุดที่จะต้องลง ไม่ใช่เป็นนักบินที่ไม่รู้จักสนามบินที่จะลง ถ้าไม่รู้จักสนามบินลง ไม่ช้าน้ำมันหมดตกลงมาตาย อย่างกับนักเจริญพระกรรมฐานทั้งหลาย หาจุดไม่ได้ ก็ว่ากันเรื่อยไป คุยกันถึงเรื่อง นั่งนาน ภาวนานาน เดินนาน ยืนนอนนาน นั่งนาน เอานานๆ เข้าว่ากัน ไม่มีอะไรเป็นผล ผลมันอยู่ที่จิตบริสุทธิ์ หรือที่จิตทรงตัว คือผลจริงๆ ที่เราต้องการก็คือความเป็นพระอริยเจ้า อย่างเลวที่สุดเราควรจะเป็นพระโสดาบัน นี่ผมพูดตามความต้องการของพระพุทธเจ้า อย่างดีที่สุดเราต้องการความเป็นพระอรหันต์

ฉะนั้น หากว่าท่านผู้ตั้งใจทรงพรหมวิหาร ๔ อย่าลืมนะครับว่า นักปฏิบัติไม่ว่าปฏิบัติทางโลกทางธรรม ชั้นต่ำชั้นสูง ถ้าขาดอิทธิบาท ๔ ก็ไม่มีทางมีผล อิทธิบาท ๔ คือ

๑.ฉันทะ มีความพอใจในอารมณ์ทีเราต้องการ คือ ในกรรมฐานอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่เราต้องการ พอใจ คือ จิตนึกถึงอยู่เสมอ เหมือนกับชายหนุ่มหญิงสาวที่เริ่มรักกัน ก็นั่งนึกถึงกันอยู่ตลอดเวลา จะอยู่ใกล้ อยู่ไกล ก็นึกถึงกันได้เสมอ นี่ฉันทะความพอใจ

ประการที่ ๒ วิริยะ ความเพียร ในเมื่อไม่มั่นใจว่าเขาจะรักเราแน่ ก็ต้องเพียรทำทุกอย่าง เพื่อให้เขารัก จะอยู่ไกลแสนไกล เพียงใดก็ตาม ก็ต้องเพียรเข้าถึงกันให้ได้ ข้อนี้ฉันใด การเจริญพระกรรมฐาน ก็เหมือนกัน เพราะกำลังใจเรา กลับจาก อารมณ์แห่งความชั่ว มาเป็นอารมณ์ของความดี มันก็ต้องต่อสู้ เพราะว่าความชั่วมันเข้ามาครองจิตอยู่ก่อน เราจะเอาความดีเข้ามาครองเมื่อภายหลัง ผู้ครองก่อนก็ต้องประกาศสงครามกัน เราก็ต้องใช้ความพยายามห้ำหั่นตัวร้ายที่ครองในจิตใจของเรา ให้พินาศไปให้ได้ นี่เป็นความเพียร เราจะไม่ยอมแพ้ วันนี้แพ้พรุ่งนี้สู้ใหม่ เวลานี้แพ้ เวลาหน้าสู้ใหม่ คำว่า แพ้ หมายถึงการทรงกำลังใจ มันทรงไม่อยู่ แพ้ แพ้ก็เลิก ซ่านเกินไปก็เลิก อารมณ์สบาย ตั้งท่าว่ากันใหม่ อย่างนี้ไม่ช้าไม่นานเท่าไหร่ เราก็ชนะ

๓.จิตตะ เอาใจจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้นตลอดเวลาที่ตื่นอยู่

๔.วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญ ว่าการปฏิบัติ การใช้อารมณ์แบบนี้ ถูกต้อง ตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์ คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนแล้วหรือยัง ถ้าไม่ถูกต้องตามนั้น แสดงว่าใช้ไม่ได้

ต้องใช้หลัก ๔ ประการนี้คุมใจอยู่ตลอดเวลา ความจริงที่พูดไปถามว่ายากไหม ผมไม่เห็นยากเลย ถ้าเราเป็นคนเอาจริง เสียอย่าง ไม่มีอะไรจะยาก ไอ้คำว่ายาก นี่ก็หมายความว่า กำลังใจไม่มีความจริง หาจริงไม่ได้ สักแต่ว่าทำผลุบๆ โผล่ๆ เป็นประเภทศรัทธาหัวเต่า ผลุบเข้าผลุบออก แบบนี้มันไม่ได้ ทำศาสนาเขาเสื่อมเสียด้วย

ต่อแต่นี้ไปก็มาพูดกันถึง การเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มุทิตา จิตอ่อนโยน อุเบกขา วางเฉย ตัวนี้ถ้ามีจริงๆจังๆ เป็นกำลังของฌานทรงตัว และจิตน้อมเข้าไปถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ เริ่มต้นก็เป็นพระโสดากับสกิทาคา

ตอนนี้มาว่ากันถึงเรื่องของพระอนาคามี ได้กล่าวมาแล้วว่า เราควรจะมีความรักในจิตใจของเราว่า จงอย่ามัวเมาในกามคุณ ๕ เพราะการมัวเมาในกามคุณ ๕ คือ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ไม่ได้สร้างประโยชน์ ไม่ได้สร้างความสุข มันเป็นปัจจัยของความทุกข์

คนที่เขาแต่งงานกันน่ะเห็นไหมว่า เขาทะเลาะกันมีบ้างหรือเปล่า เวลาก่อนที่จะแต่งงานกัน เลือกแล้วเลือกอีก สวยหรือไม่สวยดีหรือไม่ดี แหมเลือกกันจ้ำจี้จ้ำไช เลือกน้อย เลือกใหญ่ สืบสาวราวเรื่อง สืบตระกูลกันไม่หวาดไม่ไหว พอแต่งงานกันไม่เท่าไหร่ ทะเลาะกันแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายอย่างอื่น มันก็ติดตามเข้ามา ความสวยความสง่าผ่าเผยที่ต้องการในระดับแรก ในที่สุดความเศร้าหมองมันเกิด ทรุดโทรมลงไปทุกวันๆ ดูคนที่เขาแต่งงาน ผ่านระยะเวลามาประมาณ ๒๐ ปี แล้วไปขอดูรูปถ่าย ที่เขาถ่ายเมื่อวันแต่งงานน่ะ มันคล้ายคลึงกันไหม ดีไม่ดีเราอาจจะจำไม่ได้ คิดว่าผีหลอกก็ได้ เพราะมันทรุดโทรมขนาดนั้น

มีลูกมีเต้าออกมา มันมีความสุขหรือความทุกข์ แบกภาระต้องการลูกอย่างหนัก ในที่สุดต่างคนต่างตาย แล้วร่างกายของคนที่เรารักมันสกปรกหรือว่ามันสะอาด ตอนนี้เราต้องรักจิตของเรา เรียกว่า เรารักตัวเรา คือ จิต คิดว่า อารมณ์อย่างนี้ อาการอย่างนี้ มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราแสวงหาความสุข ทำไมจึงจะก้าวเข้าไปสู่ในกฎของกามคุณ มันดึงชาวบ้านให้เขาทุกข์ยากลำบาก ต้องพลัดพรากจากกัน

“ปิยโต ชายเต โสโก” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวว่า “ความเศร้าโศกเสียใจ เกิดจากความรัก” พอพลัดพรากจากกัน ตามกฎธรรมดาเท่านั้นแหละ ร้องไห้กันงอแง ทำไมจึงไม่คิดว่า คนเราเกิดมาแล้ว มันต้องตาย ญาติผู้ใหญ่คนอื่น เขาตายให้ดู ทำไมจึงไม่มอง ไปคิดว่าไอ้คนที่เรารัก ของที่เรารัก มันจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัย พอจากกันหน่อยตามกฏธรรมดาก็ร้องไห้ อันนี้น่าสังเวชจิต

นี่เราใช้เมตตา คือ อารมณ์แห่งความคิดรักตัวเองว่า จงอย่าก้าวเข้าไปหาความทุกข์ประเภทนั้นเลย จงใช้อสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติกรรมฐานเข้ามาพิจารณา และก็จับมรณานุสสติกรรมฐาน คือ ความตายเข้ามาร่วมด้วย ช่วยคิดว่าไอ้สิ่งสกปรกของร่างกายเราก็ดี ร่างกายเขาก็ดี นี่ว่ามันอยู่ประคองกันอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยไปได้หรือเปล่า หรือว่ามันตายในวันสุดท้าย ก็ปรากฏว่ามันตาย ถ้ามันตายจากกัน จะไปสร้างความลำบากทำไม อยู่คนเดียวไม่ดีกว่าหรือ

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา” แปลเป็นใจความตามเนื้อความว่า “ทางของบุคคลผู้เดียว จัดว่าเป็นทางเอก เป็นทางนำมาซึ่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง” นี่หมายความว่า แค่ตัวเราตัวเดียวเท่านั้น มันก็ทุกข์ พระพุทธเจ้ายังแย้งเข้ามาอีกว่า ไอ้ร่างกายของเรา ที่เราเรียกว่า มันเป็นเรา เป็นของเรานี่ มันก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา นี่เราไม่ต้องการเขา แล้วเลยไม่ต้องการเราเสียด้วย คำว่าเราในที่นี้คือร่างกาย

เราจริงๆ ไม่ใช่กาย กายเป็นเพียงร่างกายที่อาศัยชั่วคราว เราคืออทิสสมานกาย หรือที่เรียกกันว่า จิต เข้ามาสิงสถิตอยู่ในกาย ใช้กายเป็นเครื่องเป็นที่อยู่ ใช้กายเป็นแดนอาศัย จะทำอะไร จะพูดก็ใช้กายพูด จะทำใช้กายทำ เราจริงๆ ไม่ใช่กาย คือ จิต ที่มีความรู้สึกนึกคิด อะไรต่ออะไรต่างๆ นั่นคือ เรา

และก็มองดูร่างกาย ว่ามันเป็นเรา เป็นของเราไหม มองเห็นไม่ยาก ตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า ร่างกายมันเป็นธาตุ ๔ คือ ตัณหาสร้างขึ้น อาศัยธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มีอากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (คำว่าวิญญาณธาตุนี่ เราเรียกกันว่า ประสาท คือ ความรู้สึก) แล้วจิตก็ใช้ทำงานต่างๆ เกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ทรุดโทรมลงไปทุกวัน มีโรคภัยไข้เจ็บรบกวน มีความหิวความกระหายตลอดเวลา ไม่ช้ามันก็ตาย ถ้ามันเป็นเราจริงเป็นของเราจริง มันจะตายได้อย่างไร

เป็นอันว่าปลงใจเสียว่า ร่างกายของเราก็สกปรก มันทรุดโทรมทุกวัน มันเป็นของไม่ดี กายนี้เราไม่ต้องการมันอีก และกายคนอื่นเราก็ไม่ต้องการ วัตถุธาตุใดๆ ที่จะเป็นสมบัติต่อไปในเบื้องหน้า ไม่มีสำหรับเราคือชาติหน้า ชาตินี้ต้องมีเพราะต้องกินต้องใช้ ถ้าตายจากชาตินี้เมื่อไหร่ ก็เลิกกัน ถ้าคิดอย่างนี้ มันก็เลยเป็นพระอรหันต์กันไปเลย พระอรหันต์เขาคิดแค่นี้

แต่ตอนนี้เราเอาแค่ตัดกามฉันทะกันก่อน ย้อนกล่าวถึงกามฉันทะ แต่ทีนี้อนาคามีก็ต้องมีปฏิฆะอีกอันหนึ่ง คือ ตัดระงับกามฉันทะได้ ตัวนี้ไม่ระงับมันตัดขาดไปเลย ความรู้สึกในเพศไม่มี เจอะหน้าคนที่เราเคยรัก ลักษณะอย่างนี้ เราเคยรัก เจอะสีสันวรรณะ ที่สวยสดงดงาม ที่เราเคยชอบ ฟังเสียงที่เราเคยหลง ดมกลิ่นที่เราเคยปรารถนา แตะรสที่เราต้องการว่าอร่อยเหลือเกิน สัมผัสระหว่างเพศที่เราต้องการ อาการอย่างนี้ไม่ปรากฏในจิต

มีความรู้สึกอยู่ว่า รูปก็ดี รูปสวยมันโกหก เดี๋ยวก็พัง เสียงเพราะมันโกหก เสียงเพราะๆนี่ไม่แน่หรอก วันนี้เราได้ฟังเสียงหวานๆ ชื่นใจชะโลมใจ พูดจาดี สละสลวยช่วยให้มีความสุข แต่นี้ไม่ดีประเดี๋ยวก็ด่าส่ง จะไปสนใจอะไรกับเสียง ไอ้กลิ่นก็เหมือนกัน กระทบจมูกแล้วก็หายไป อย่างรสนี่สัมผัสปลายลิ้นกับกลางลิ้น มีความรู้สึกถึงโคนลิ้นก็หายไป การสัมผัสร่างกายซึ่งกันและกัน

ทุกสิ่งทั้ง ๕ ประการ ไม่ได้สร้างความสุข ไม่ได้สร้างความทรงตัว เราได้มาทั้งหมด เราก็แก่ไปทุกวัน มันไม่ได้ห้ามความแก่ เราได้มันมาทั้งหมด เราก็มีการป่วยไข้ มีความทุกข์ มีความเหน็ดเหนื่อย ไม่ได้ช่วยให้เราหายเหนื่อย เราได้มันมาแล้วเราก็ตาย ไปคบมันทำไม เลิก พูดกันอย่างย่อๆ

ต่อนี้ไปก็ว่ากันถึงปฏิฆะ คือความกระทบกระทั่งอารมณ์ ความจริงท่านที่ทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นพระอนาคามีง่าย ผมอยากจะบอกว่า บุคคลใดมีความชำนาญในพรหมวิหาร ๔ ผมไม่อยากจะบอกว่า ท่านได้เป็นพระโสดาบันเมื่อนั่น เป็นสกิทาคามีเมื่อนี่ ผมไม่อยากจะพูดอย่างนี้ ผมอยากจะพูดว่า บุคคลใดถ้าทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ คนนั้นควรจะเริ่มต้น เป็นพระอริยเจ้าด้วยพระอนาคามี เห็นไหม พรหมวิหาร ๔ นี้ คุณประเสริฐมาก

ตอนนี้เรามาพูดถึงปฏิฆะ คือ การที่ไม่ชอบใจ อารมณ์ที่มันไม่ชอบใจ ที่มันเกิดขึ้นกับเรา เราก็มานั่งคิดว่า ทำไมเราถึงต้องไม่ชอบใจ วาจาที่เขากล่าว จริยาที่เขาแสดงออก มันมีเหตุมีผลอะไร แล้วมันดีไหม การแสดงความไม่ชอบใจนี้ มันดีหรือมันชั่ว ถ้าไม่ชอบใจเล็ก มันก็บ้าเล็ก ถ้าไม่ชอบใจใหญ่ มันก็บ้าใหญ่ คือว่า ไม่ชอบใจเล็ก จิตมันโกรธอารมณ์ขุ่น หน้ามันชักนิ่ว คิ้วไม่สวย อาการที่แสดงออกก็ไม่งาม นี่เริ่มบ้าเล็ก ถ้าไม่ชอบใจใหญ่ มันทนไม่ไหว ปากด่ามือตี นี่เป็นอันว่าบ้าใหญ่ เพราะไม่ชอบใจใหญ่

แล้วอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ มันเป็นปัจจัยของความสุขหรือความทุกข์ นั่งนึกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ นี่มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ไม่ใช่ความสุข ทุกข์ตรงไหนล่ะ ถ้าโกรธเขาขึ้นมาแล้ว กินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดไว้เสมอว่า เมื่อไหร่กูจะฆ่ามึง ให้ได้หนอ เมื่อไหร่เราจะทำร้ายมันให้ได้ เมื่อไหร่จะแกล้งให้มันฉิบหายเสียให้ได้ นั่งคิด นอนคิด คิดมากเท่าไหร่ อารมณ์ฟุ้งซ่าน ใจก็ไม่เป็นสุข มีแต่ความเร่าร้อน นอนก็เลยไม่หลับ เมื่อนอนไม่หลับมันก็กินไม่ได้

แล้วใครตายก่อนละ คนที่ถูกโกรธตายก่อน หรือคนที่โกรธตายก่อน ถ้าบังเอิญคนที่เขาถูกโกรธ เขายังไม่รู้ เขานอนหลับสบาย กินได้นอนหลับ จิตเป็นสุข เราก็มีแต่อารมณ์กระสับกระส่าย หาความสบายไม่ได้ มีแต่ความเร่าร้อน เมื่อนอนไม่หลับกินไม่ได้ ร่างกายมันก็ทรุดโทรม ผ่ายผอมลงไปทุกวัน ประสาทก็เริ่มมีอาการเสื่อม จิตมีกำลังใช้มากเกินไป ประสาททนไม่ไหว ในที่สุดก็โทรม โทรมแล้วก็ตาย มีประโยชน์ไหม

ถ้าสมมุติว่าเราจะฆ่าเขาได้ เราจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ คนที่ทำให้เราไม่ชอบใจ ฆ่ามันเสียเลย ไม่เอาไว้เฉพาะหน้า ขืนอยู่ร่วมโลกกันไม่มีความสุข ถ้าเราฆ่าได้โดยสะดวกเขาไม่ต่อสู้ ก็ลองนึกถอยหลังมาว่า มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ เพราะคนในโลกนี้ไม่มีแต่เขากับเราสองคน มันมีคนอื่นอยู่ด้วย ถ้าเราไปฆ่าเขาตาย ญาติพี่น้องของเขา เพื่อนที่รักของเขา ก็จะสร้างความแค้นเคืองให้เกิดขึ้นกับเรา ทีนี้เราก็ต้องคอยหลบคอยระวัง เกรงว่าเขาจะมาแก้มือ หรือมิฉะนั้นคนที่รับอาสาแก้มือ ที่มีความสำคัญก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะต้องจับเราไปขัง หาว่าเป็นอาชญากร หมดอิสรภาพ หมดความสุข และต่อไปเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ก็ตัดสินเข้าคุกเข้าตะรางหรือถูกประหารชีวิต

นี่อาการที่เราโกรธ แต่ทำได้ตามความประสงค์ของเรา มันก็เป็นความทุกข์ เราจะนั่งโกรธทำอะไรกันล่ะ ก็คนที่เขาสร้าง เขาทำไม่ดีด้วยทางกาย พูดไม่ดีทางวาจา ก็คนผู้นั้นมันคนบ้า เราก็นั่งคิด พวกคนบ้านี่จะไปถือมันทำไม โบราณท่านบอกว่า อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา เขาบ้าอะไร บ้าอำนาจวาสนา อยากจะเป็นคนเก่ง บ้าความอิจฉาริษยาคนอื่น อยากจะดีแต่ผู้เดียว รวมความว่า บ้าทำลายความสุข คือ ทำลายความเป็นมิตร คนประเภทนี้ ปัญญาไม่มีจะคิด มีแต่อารมณ์บ้าเข้าครองใจ ไอ้คนบ้าประเภทนี้ มันไม่มีความสุข มันมีแต่ความทุกข์ ตลอดกาลตลอดสมัย ทำไมเราจะต้องบ้าตาม

ตอนนี้ต้องหันมาเมตตาตัวเราเองก่อน โอหนอ คนนี้ช่างโง่เหลือเกิน เขาไม่น่าจะทำลายความเป็นมิตรของเรา ถ้าเขาเป็น มิตรกับเรา เขายังมีความสุข เขาจะไม่มีอะไรมาเป็นเครื่องทุกข์ เพราะเราไม่ได้เป็นศัตรู การที่เขาประกาศเป็นศัตรูกับเรานี่ เค้าตัดความสุขกับคนไปพวกหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะเรา พรรคพวกของเราอีกหลายคนที่ต้องเกลียดเขา เป็นศัตรูกับเขา

และถ้าเราไปโกรธกับเขาด้วย มันจะช่วยให้มีความสุขไหม มันก็ไม่มีความสุข อาการที่เขาแสดงออกด้วยความไม่พอใจ มันสร้างให้เราแก่เร็วลงไปไหม ถ้าเราอ้วนอยู่มันทำให้ผอมหรือเปล่า เราเป็นคนร่างกายแข็งแรงทำให้เราป่วยหรือเปล่า ถ้าเราไม่รับเสียอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรมาถึงเรา เรานอนเป็นสุข แต่อยากจะด่า บ้าไปคนเดียวก็ด่าไปคนเดียว มันบ้า ยิ่งนินทาว่าร้ายเขามากเท่าไหร่ ชาวบ้านเขาก็เกลียดมากเท่านั้น เราก็เฉยเสีย

ต้องดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า ใครว่าอะไร ท่านก็เฉย ตัวเฉยตัวนี้แสดงว่าพรหมวิหาร ๔ ตัวสุดท้าย เรานำมาใช้ เรานึกเมตตาว่า คนนี้ไม่ควรจะสร้างศัตรู สงสารคิดว่าถ้าเขาไม่เป็นมิตร เค้ายังมีความสุข ที่เขาต้องมีความทุกข์ เพราะประกาศตนเป็นศัตรูกับเรา ใช้ข้อท้าย อุเบกขา เข้ามาระงับกับอารมณ์ของใจ ว่าใครเขาจะบ้าอย่างไรก็ช่างเขา เราจะไม่ดี เราจะไม่ชั่ว ทั้งคนรัก ทั้งคนเกลียด เราจะดีหรือจะชั่ว จะมีความสุขหรือความทุกข์ ที่อาศัยความสงบของจิต คือไม่รับทั้งชั่ว ไม่รับทั้งดี ไม่รับทั้งคำสรรเสริญ และนินทา เป็นสำคัญ

เราจะขอยึดคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา เป็นอุเบกขา ความวางเฉย ทำใจให้เป็นสุข นึกสนุกว่า โอหนอ โลกนี้ยังมีคนบ้าอยู่มาก ถ้าหากว่าเราบ้าตามเขาเมื่อไหร่ ตายเราก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ ถ้ากำลังใจของเราเป็นสุข ไม่ถือคนบ้า ไม่ว่าคนเมา ช่างเขา เขาอยากจะตกนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นคนที่ใช้การไม่ได้ต่อไปข้างหน้า มันเป็นเรื่องของเขา เราขอเอาความสุข คือ ยอมจิตสงบ ไม่ยอมรับนับถือคน วาจาของคนชั่วประเภทนั้น

คิดตามแบบขององค์สมเด็จพระภควันต์ที่ตอบกับพราหมณ์ พราหมณ์ด่าพระพุทธเจ้า หาว่าพระพุทธเจ้าแพ้เพราะไม่ตอบ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ฉันคิดว่าคนที่ด่าฉัน แล้วฉันด่าตอบ ฉันคิดว่าฉันเลวกว่าคนที่เขาด่าฉัน นี่เป็นอันว่า คนที่ด่าเราว่าเรา ทำให้เราไม่ชอบใจ เขาเลว เราจงอย่าเลวมากกว่าเขา ถ้าเราไม่ยอมรับซะเพียงใด เขาก็เลวแต่ผู้เดียว

เป็นอันว่า ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท คิดไว้อย่างนี้ ความเป็นพระอนาคามีก็เกิดขึ้นกับท่าน จะรู้ได้ต่อเมื่อบุคคลใดด่า จิตเรามีความสุข ไม่สะทกสะท้านในคำด่า เมื่อเขายังด่ามาก ออกท่ามาก เราจะคิดว่า โอ๊ยนี่มันบ้ามากอย่างนี้ เราไม่เอาด้วย ไม่ยอมบ้าแล้ว อย่างนี้ชื่อว่า ท่านปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว อาศัยพรหมวิหาร ๔ เป็นพระอนาคามีได้สบาย

เอาล่ะบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เวลาการที่จะแสดงกันพูดกันก็หมดแต่เพียงเท่านี้ สำหรับต่อนี้ไป ขอทุกท่านตั้งกาย ให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก ใช้คำภาวนา แล้วพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่าน เห็นว่าสมควร สวัสดี

พรหมวิหาร ๔     ตอนที่ ๑    ตอนที่ ๒    ตอนที่ ๓    ตอนที่ ๔    ตอนที่ ๕    ตอนที่ ๖    เสียงธรรม

เรื่องนี้ถูกเขียนใน พรหมวิหาร ๔ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร