ศรัทธาจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย

ศรัทธาจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย
โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      สำหรับในตอนนี้ อาตมาก็ขอถวายพระพรในเรื่องของ ศรัทธาจริต สำหรับศรัทธาจริตนี้ก็รู้สึกว่า ถ้าจิตใจของบุคคลใดหนักในด้านศรัทธา จะมีกำไรมาก แต่ทว่าทั้งนี้ก็เว้นไว้แต่ว่า จะต้องมีผู้นำในทางที่ดี คนที่มีศรัทธาจริต องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ทรงตรัสว่า เป็นคนเชื่อง่าย ในเมื่อท่านผู้นั้นเป็นคนเชื่อง่าย ถ้าใครจูงไปในทางที่ผิดก็ผิดง่าย ถ้าผู้จูงจูงไปทางที่ถูกก็ถูกง่าย ถ้าจูงไปหาความเลวก็เลวง่าย จูงไปหาความดีก็ดีง่าย ทีนี้ถ้าหากว่า ท่านผู้ชัก ผู้จูง ผู้แนะ ผู้นำ เป็นผู้ที่ทรงความดีอยู่เป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าท่านผู้นั้นเป็นพระอริยเจ้า ก็จะสามารถดึงเอาบุคคลผู้มีอารมณ์ทรงศรัทธาจริตเป็นพระอริยเจ้าได้ง่าย

ฉะนั้น สำหรับท่านที่ทรงศรัทธาจริตอยู่ อาตมาเห็นว่า เป็นจริตที่มีกำไรมาก เพราะว่าเขาสามารถจะเข้าถึงฌานสมาบัติ เข้าถึงมรรคถึงผลตั้งแต่เบื้องต่ำถึงเบื้องสูงได้โดยไม่ยาก เพราะว่าเป็นคนเชื่ออยู่แล้ว

ทีนี้ความเชื่อที่จะต้องแก้ เพราะว่าความเชื่อมีได้ ๒ สถาน คือ เชื่อในทางที่ผิดเขาก็เชื่อ ในทางที่ถูกก็เชื่อ การเชื่อในทางที่ผิด ใครแนะนำประการใดมา ก็เชื่อทันที อันนี้องค์สมเด็จพระมหามุนีกล่าวว่าเป็น อธิโมกขศรัทธา การน้อมใจเชื่อ เป็นของไม่ดี มักจะเดินทางไปในสายที่ผิดได้

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงแนะนำไว้ว่า ถ้าจะเชื่อก็ควรใช้ปัญญาช่วยพิจารณาด้วย ที่ตามพระบาลีบอกว่า ต้องใช้ศรัทธาสัมปยุตไปด้วยปัญญา คำว่า สัมปยุต ก็แปลว่า ประกอบ เอาปัญญาช่วย เชื่อด้วย ใช้ปัญญาพิจารณาด้วย ตัวปัญญาตัวนี้น่าจะเป็นพุทธจริต

ถ้าคนที่มีความเชื่อด้วย รู้จักใช้ปัญญาประกอบด้วย ก็ต้องถือว่าเป็นจริตบวก คือ มีความเชื่ออยู่ เป็นศรัทธาจริต มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาร่วมด้วย เป็นพุทธจริต ถ้าเหตุทั้ง ๒ ประการนี้ มีการร่วมกันแบบนี้ บุคคลผู้นั้นก็ชื่อว่า เป็นบุคคลผู้มีกำไรมาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านผู้นั้นจะเข้าถึงมรรคถึงผลได้โดยง่าย

ทีนี้ในฐานะที่เขาเป็นคนที่มีความเชื่ออยู่แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ป้องกันความเชื่อนั้น ไม่ให้หลงไปในทางที่ผิด ฉะนั้นท่านที่มีศรัทธาจริต องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์จึงทรงแนะนำ ให้ใช้กรรมฐาน ๖ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ทางที่ดีแล้วก็ควรจะใช้หมดทั้ง ๖ อย่าง เพราะว่าถ้าใช้กรรมฐานครบทั้ง ๖ อย่าง ก็เป็นพระโสดาบันชั้นดี เพราะว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรัสว่า ท่านทั้งสองนี้จะมีอารมณ์จิตหนักไปในด้านของอธิศีลสิกขา

ทีนี้สำหรับบุคคลที่มีศรัทธาจริต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำกรรมฐานไว้ ๖ อย่างคือ
๑.พุทธานุสสติ นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า เป็นอารมณ์
๒.ธัมมานุสสติ นึกถึงความดีของพระธรรม เป็นอารมณ์ นี่เป็นกรรมฐานคิด
๓.สังฆานุสสติ นึกถึงความดีของพระอริยสงฆ์ เป็นอารมณ์
๔.สีลานุสสติ นึกถึงความดีของการปฏิบัติศีล เป็นอารมณ์
๕.จาคานุสสติ นึกถึงทานการบริจาค การสละทรัพย์สินให้เป็นประโยชน์ความสุขของส่วนรวม เป็นอารมณ์
๖.เทวตานุสสติ นึกถึงคุณงามความดี คือคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา เป็นอารมณ์ได้แก่ หิริและโอตตัปปะ

ทีนี้ถ้ามาพิจารณาในกรรมฐานทั้ง ๖ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ ว่าท่านที่มีศรัทธาจริต ก็ควรจะมีอารมณ์จิตหนักอยู่ในกรรมฐานทั้ง ๖ ประการ ทีนี้พระกรรมฐานทั้ง ๖ ประการนี้ เช่น พุทธานุสสติกรรมฐาน ที่มาสอนกันเป็น ๒ แบบ แบบที่เป็นปกติ ก็ให้ภาวนาว่า พุทโธบ้าง สัมมาอรหังบ้าง เป็นต้น อย่างนี้เป็นการทรงอารมณ์จิตให้เป็นสมาธิ

แต่เนื้อแท้จริงๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ทำแบบสบาย คือให้เป็นการใช้ปัญญาแทน นี่เป็นเนื้อแท้ของกรรมฐานกองนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ให้ใช้ปัญญา คือ ทั้งพุทธานุสสติก็ดี ธัมมานุสสติก็ดี สังฆานุสสติก็ดี สีลานุสสติก็ดี จาคานุสสติก็ดี เทวตานุสสติก็ดี เนื้อแท้จริงๆ ของกรรมฐานทั้งหมด ไม่ใช่เป็นกรรมฐานที่ทรงอารมณ์ปัก คือไม่ได้ทรงอารมณ์แนบสนิทเหมือนกับอานาปานุสสติหรือกสิณ เป็นกรรมฐานสำหรับอารมณ์คิด เช่นเดียวกับกายานุสสติและอสุภกรรมฐาน ต้องใช้ปัญญาเป็นเป็นเครื่องคิดพิจารณาถึงความดี

พิจารณาดูว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีตรงไหน ทำไมเราจึงต้องยกย่องสรรเสริญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นคนดีและเป็นพระดี ท่านเป็นผู้นำที่ดี ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้คนทั้งหลายปราศจากทุกข์ ให้พยายามแสวงหาความสุขในด้านต่างๆ ทั้งในด้านโลกและด้านธรรม โดยจริยาของพระพุทธเจ้ามี ๓ อย่าง

๑.พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติในฐานะที่เป็นพระพุทธเจ้า สอนคนให้รู้จักรักษาความสุข สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นชาวโลกชั้นดี สอนคนให้รู้จักความดี ทำตนให้เป็นเทวดา สอนคนให้ทำความดีสูงไปกว่านั้น ทำตนให้เข้าไปถึงความเป็นพรหม และก็โดยที่สุด สอนให้ตัดความทุกข์เสียทั้งหมด คือ ตัดความเกิด ตัดความแก่ ตัดความเจ็บ ตัดความตาย ตัดความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ โดยทำใจของตนให้เข้าถึงพระนิพพาน นี่ความดีขององค์สมเด็จพระพิชิตมารในฐานะที่เป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญในฐานะพุทธัตถจริยาทำอย่างนี้

ทีนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็มีจริยาอีกอย่างหนึ่ง คือ
๒.โลกัตถจริยา ทรงประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก อันนี้พระพุทธเจ้า ถ้าพิจารณาเห็นว่าบุคคลประเภทนี้ จะเริ่มแนะนำขั้นสวรรค์ ขั้นพรหมโลก ขั้นนิพพาน ไม่มีผล องค์สมเด็จพระทศพลก็ทรงแนะนำให้ปฏิบัติตนให้เป็นความสุขในฐานะฆราวาสที่ดี เช่น ในคิหิปฏิบัติ เป็นข้อวัตรปฏิบัติสำหรับฆราวาสโดยตรง เพื่อให้มีความสุข อยู่เป็นสุข

๓.ญาตัตถจริยา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำหรือสงเคราะห์พระญาติให้เป็นสุข นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงมีจริยา ๓ ประการ เป็นประโยชน์ใหญ่แก่ชาวโลกอย่างยิ่ง พระญาติถือว่าเป็นผู้มีความสำคัญในตระกูลแห่งการเกิด ก็ทรงสนองคุณแห่งพระบรมญาติของพระองค์ให้มีความสุข

และในคราวที่วิฑูฑภะ จะเข้าไปเข่นฆ่าพระประยูรญาติ องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถก็เสด็จไปนั่งอยู่ข้างทาง เพื่อเป็นการห้ามปราม แต่ว่าเป็นการห้ามปรามโดยเฉพาะอาการดุษณี นิ่งเฉยๆ ไม่ได้พูดห้าม เมื่อวิฑูฑภะได้เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างทาง ก็เสด็จลงจากคอช้างไปถวายนมัสการ แล้วก็พากองทัพกลับ

ครั้งที่สองไปอีก ก็ทรงทำแบบนั้น วิฑูฑภะก็กลับ ครั้งที่สามเขาจะยกไป องค์สมเด็จพระจอมไตรเห็นว่า เป็นกฎของกรรมที่เป็นอกุศลเดิม จะให้ผลแก่หมู่พระประยูรญาติบางท่าน เรื่องกฎของกรรมนี่ องค์สมเด็จพระพิชิตมารไม่มีการต้านทาน เพราะเป็นของที่ห้ามปรามไม่ได้ ต้องปล่อยไปตามกรรม ในวาระที่สาม วิฑูฑภะยกทัพไป พระองค์ก็ทรงยับยั้งไม่ไปประทับนั่งในที่เดิมเป็นการห้ามปราม เพราะว่าถือว่า กฎของกรรมห้ามไม่ได้

และในหมู่พระประยูรญาติทั้งหลาย ไม่มีความเลื่อมใสพระองค์ เห็นว่าพระองค์เป็นเด็กกว่า ตอนที่จะไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดหมู่พระประยูรญาติ มีพระราชบิดาเป็นต้น องค์สมเด็จพระทศพลก็ทรงทำปาฏิหาริย์ให้ปรากฏ จนหมู่พระประยูรญาติทั้งหลายเหล่านั้นพากันละพยศ ให้ถือตัวว่าดีกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้ามีประโยชน์แก่หมู่พระประยูรญาติ

ที่มีประโยชน์แก่ชาวโลกก็ตามที่ถวายพระพรมาแล้ว ว่าสอนในด้านคิหิปฏิบัติ เพราะพวกนี้สอนขั้นสวรรค์ ขั้นพรหม ขั้นนิพพานไม่ได้ ก็ให้เขารู้จักรักษาความสุขในฐานะที่เป็นปุถุชนคนธรรมดา เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีประโยชน์แก่ชาวโลกมาก

และคำสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ถ้าจะสรุปรวมให้สั้นลงมา ก็ได้เป็น ๓ อย่างคือ
๑.ทรงสั่งสอนให้ละความชั่ว
๒.เมื่อละความชั่วแล้ว ก็ประพฤติความดี
๓.ทำความดีแล้ว ทำจิตให้ผ่องใส ให้มีอารมณ์ใจไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ทำลายล้างซึ่งกันและกัน

นี่จะเห็นว่า ความดีขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์ ทรงเสด็จไปสอนพุทธบริษัท โดยไม่มีค่าจ้างรางวัลใดๆทั้งสิ้น ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย ที่อยู่ไม่มีความแน่นอน มีป่าเป็นที่อาศัย มีถ้ำเป็นที่อาศัย นอนกลางแจ้ง นอนโคนต้นไม้ แม้ว่าพระวรกายจะลำบากเพียงใดก็ตามที องค์สมเด็จพระชินสีห์ไม่ทรงท้อถอย อันนี้จัดว่าเป็นความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ควรจะระลึกนึกถึง ว่าคนที่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มีความสุขจริง มีผลสุขจริงในชาติปัจจุบัน ไม่ต้องหมายถึงสัมปรายภพ

 

ทีนี้มาพิจารณาความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในด้านพระธรรม พระองค์ทรงนำพระธรรม ตั้งแต่ต่ำถึงสูง มาสอนบรรดาท่านพุทธบริษัทตามความต้องการ บุคคลใดที่มีนิสัยพอจะไปนิพพานได้ ก็สอนสายนิพพาน บุคคลใดจะไปพรหมได้ ก็สอนธรรมระดับพรหม บุคคลใดจะไปสวรรค์ได้ ก็สอนธรรมระดับสวรรค์ ถ้าบุคคลใดไม่มีวิสัยจะไปสวรรค์ได้ ก็สอนให้มีความทรงอยู่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ให้มีความสุขทั้งในชาติปัจจุบันและสัมปรายภพ ให้หลีกเลี่ยงส่วนแห่งความทุกข์ ๔ ประการ คือ ๑.นรก ๒.เปรต ๓.อสุรกาย ๔.สัตว์เดรัจฉาน

นี่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร ถ้ารับแล้วปฏิบัติตามจะมีผลตามนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงให้สนใจใคร่ครวญในพระธรรมของพระองค์เป็นสำคัญ

 

และสำหรับพระอริยสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร ที่เรียกกันว่า อนุพุทธะ ก็เพราะว่า ท่านผู้นี้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอน ให้ละความชั่ว ท่านก็ละความชั่ว ให้ประพฤติความดี ท่านก็ประพฤติความดี ให้ทำใจให้ผ่องแผ้วใสเป็นแก้วไม่มีกิเลสเจือปน ท่านก็ปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระทศพล ไม่ละถอย ไม่ท้อถอย ไม่เกียจคร้าน ทำจนสำเร็จมรรคผล แล้วก็นำพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทศพล มาสอนบรรดาท่านพุทธบริษัท

ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ไม่มักมากไปด้วยกามารมณ์ ไม่ติดอยู่ในโลกีย์วิสัย ทำใจให้ปลอดจากโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ หมายความว่า โลกธรรม ๘ ประการกระทบใจของท่านก็จริงแหล่ แต่ทว่าท่านไม่ยอมรับนับถือ จะมายังไงก็ช่าง จะไปยังไงก็ช่าง ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชาวโลก เมื่อคนเกิดมาในโลกแล้ว หลบโลกธรรมไม่พ้น

เมื่อเขาให้ลาภ ก็พอใจในการให้ของผู้ให้ แต่ก็ไม่ติดใจในลาภ

เมื่อลาภเสื่อมสลายตัวไปก็ไม่เสียใจ ไม่ตกใจ

เมื่อเขามอบหมายให้ยศ ท่านก็รับยศตามความพอใจ เป็นการเจริญศรัทธาของบุคคลผู้ให้

ถ้าเขาถอดถอนยศกลับไป ก็ไม่ตกใจถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็ไม่เมาในยศ

ถ้าหากว่าอารมณ์มีความสุขในด้านของโลกีย์วิสัย ท่านก็ถือว่าเป็นอนัตตา มันไม่สุขจริง ไม่ติดอยู่ในความสุขของโลก

ถ้าความเบียดเบียนอันเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ เกิดจากชาวโลก ท่านก็วางเฉยเป็นอุเบกขา ที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ ทำจิตสบาย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

คำนินทาเกิดขึ้น ท่านก็เฉย เพราะถือว่า นัตถิ โลเก อนินทิโต คนไม่ถูกนินทาเลย ไม่มีในโลก แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ถูกนินทาอย่างหนัก ท่านไม่หวั่นไหวในคำนินทา

ใครจะมาสรรเสริญ ก็ไม่ยินดี แต่ก็ไม่ปฏิเสธ เพื่อรักษากำลังใจของบุคคลผู้สรรเสริญ โดยเนื้อแท้ของน้ำใจไม่ได้ยินดีไปตามนั้น เพราะทราบอยู่ว่า เราจะดีหรือจะชั่วไม่ใช่ถ้อยคำวาจาของบุคคลที่กล่าว จะดีจะชั่วได้เกิดจากการกระทำของตนเองเป็นสำคัญ

แล้วนำพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระภควันต์ มาสอนพุทธบริษัท ประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง นี้ชื่อว่าเป็นความดีของพระสงฆ์ที่ควรจะปฏิบัติตาม

 

สำหรับศีล คนที่มีความเคารพในพระพุทธเจ้าก็ดี มีความเคารพในพระธรรมก็ดี มีความเคารพในพระสงฆ์ก็ดี เมื่อปวารณาตัวว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ เป็นต้น ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ขอถึงพระธรรม ขอถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ได้กล่าวว่า ถ้าท่านต้องการเราเป็นที่พึ่ง เราขอให้ที่พึ่งอันดับแรกแก่ท่าน คือ

หนึ่ง ท่านจงเป็นผู้มีจิตเมตตาปรานี มีความสงสาร คือ มีความรัก มีความสงสาร เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน จะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม ไม่มีความสำคัญ เรารักเขา เสมอไปด้วยเรารักชีวิตของเรา เราพอใจในการเกื้อกูลเขา เสมอด้วยการเกื้อกูลตัวเรา ถ้าไม่เกินวิสัย ไม่ประหัตประหาร ไม่ประทุษร้ายซึ่งกันและกัน เพราะการประหัตประหารการประทุษร้ายซึ่งกันและกัน เป็นปัจจัยนำมาซึ่งความทุกข์ เขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ เราทำร้ายเขา เขาก็มุ่งทำร้ายเรา ไม่มีความสุข ถ้าเรามีความรักกัน มีความสงสารเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เจอะหน้ากันเมื่อไร ความสุขใจมีเมื่อนั้น นี่ด้านศีล สีลานุสสติกรรมฐาน นึกไว้

แล้วต่อไป จงเคารพในสิทธิทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น มีความสันโดษ คำว่าสันโดษนี่ไม่ได้แปลว่าขี้เกียจ คือ ยินดีในทรัพย์สินที่เราหามาได้โดยชอบธรรม ไม่ใช่ว่ายินดีเฉพาะทรัพย์ที่พึงมีอยู่ ถ้าแปลอย่างนี้ไม่ตรงกับความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระบรมครู ให้ยินดีเฉพาะทรัพย์ที่เราหามาได้เองโดยชอบธรรม ไม่ลัก ไม่ขโมย ไม่ยื้อ ไม่แย่ง ไม่คด ไม่โกงเขา ถ้าทำอย่างนี้เราก็มีความสุข บุคคลอื่นก็มีความสุข เมื่อเราเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต จะไปที่ไหนก็มีแต่มิตร ศัตรูหายาก เมื่อมีมิตรมาก ศัตรูหายากเพียงใด ความสุขกายความสุขใจก็เกิดขึ้นกับเรา

ข้อที่สาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ต้องการท่านเป็นที่พึ่ง ก็จงอย่าละเมิดในสิทธิความรัก คือสตรีหรือสามีที่เป็นที่รักของบุคคลอื่น เรียกว่า อย่าละเมิดในกาเมสุมิจฉาจาร ทำชู้ ลูกเขา เมียเขา ผัวเขา คนในปกครองของเขา คำว่า กาเม นี่ไม่ได้หมายเฉพาะภรรยาของเขา สามีของเขา ไม่ใช่อย่างนั้น ลูกเขา หลานเขา คนในปกครองชองเขาทั้งหมด ถ้าต้องการต้องได้รับอนุญาตจากท่านผู้ปกครองเสียก่อน ถ้ายังไม่ได้รับอนุญาตจากท่านผู้ปกครอง ก็หมายความว่า ต้องมีโทษในฐานกาเมสุมิจฉาจาร นี้คนรัก เรารัก เราไม่ต้องการให้ใครมาล่วงเกินคนที่เราปกครองฉันใด เราก็ไม่ทำกับบุคคลอื่นเช่นนั้น ทีนี้เรากับท่านทั้งหลายเหล่านั้น ต่างคนต่างก็จะเป็นมิตรกัน มีความรักซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างก็มีความสุข

ในข้อที่สี่ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงตรัส พระสงฆ์นำมาบอกแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ว่าจงรักษาสัจจะวาจา คือ ความจริงไว้ อย่าพูดคำเท็จ ทั้งนี้เพราะเราเอง เราก็ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นพูดเท็จ เมื่อไม่พูดเท็จแล้ว ก็จงอย่าพูดคำหยาบเสียด้วย เพราะวาจาหยาบ ถึงแม้พูดจริงแต่เป็นวาจาหยาบ เป็นที่สะเทือนใจ เราไม่ต้องการฉันใด ท่านผู้มีการรับฟัง ก็ไม่ต้องการฉันนั้น

และก็จงอย่าใช้วาจาส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกร้าวกัน ด้วยอำนาจความอิจฉาริษยา หรือปรามาสซึ่งกันและกัน เราไม่ต้องการอย่างนั้น ชาวบ้านเขาก็ไม่ต้องการ แล้วจงอย่าใช้วาจาที่ไร้ประโยชน์ เพ้อเจ้อ เหลวไหล หาประโยชน์อะไรมิได้ วาจาเช่นนั้นเป็นที่สะเทือนใจของบุคคลผู้รับฟัง เราไม่ต้องการรับฟัง เขาก็ไม่ต้องการรับฟัง

ต่างคนต่างทรงวาจาในด้านของความดี คือพูดจริงตามความเป็นจริง ใช้วาจาอ่อนหวาน คือ ไม่กล่าววาจาหยาบ ใช้วาจาที่เป็นสุภาษิต ไม่มีจิตอิจฉาริษยา ส่อเสียดซึ่งกันและกัน จะไม่ใช้วาจาเหลวไหลไร้ประโยชน์ จะพูดแต่เฉพาะในส่วนที่เป็นประโยชน์ อย่างนี้เรากับเขา ต่างคนต่างไม่มีโทษ รักกันจนวันตาย มีความสุข

ข้อสุดท้าย องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงแนะนำ ว่าปกติประสาทของเรามันก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า ถ้าเอาของมึนเมาเข้ามาใช้ผสมเข้าอีก สติสัมปชัญญะมันก็จะฟั่นเฟือน สามารถจะทำความชั่วได้ทุกอย่าง แม้แต่พ่อกับแม่ก็สามารถจะฆ่าได้ ทั้งๆ ที่ท่านมีคุณใหญ่ เพราะความเมาจากน้ำเมา ทำลายประสาท ทำให้ไร้สติสัมปขัญญะ

ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงแนะนำว่า ถ้าเจ้าต้องการให้เราเป็นที่พึ่ง จงปฏิบัติในกฏ ๕ ประการนี้ ถ้าปฏิบัติๆ ได้ดี ผลที่จะพึงได้ก็คือ

สีเลนะ สุคติง ยันติ เมื่อปฏิบัติได้ในชาตินี้ ท่านจะมีความสุข สุขเพราะเป็นคนที่ไม่มีเวรไม่มีภัย มีมิตรมากกว่ามีศัตรู

สีเลนะ โภคสัมปทา เมื่อทรงความดีอย่างนี้ได้ ทรัพย์ทั้งหลายที่มีอยู่จะไม่สลายตัวไปด้วยเหตุที่ไม่สมควร ทรัพย์จะเยือกเย็น

สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ศีลจะเป็นปัจจัยให้มีน้ำใจสงบ หมดอารมณ์ฟุ้งซ่าน หมดอารมณ์ของความเป็นทุกข์ มีแต่ความสุขตลอดเวลา นี่พูดถึงในชาติปัจจุบัน

นี่เป็นอันว่า องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงแนะนำให้ปฏิบัติใน สีลานุสสติกรรมฐาน ศีลนี่ใช้อารมณ์คิดพิจารณาใคร่ครวญไว้เสมอ เมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายต่างคนต่างพิจารณาศีล ใคร่ครวญศีล แล้วก็ทรงศีลให้เป็นปกติ มีความมั่นอยู่ในศีล ไม่ทำให้ศีลขาด ศีลต่าง ศีลพร้อม เป็นอันว่าเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ เรียกว่า สีลานุสสติกรรมฐาน ความสุขก็จะเกิดขึ้นกับตน

 

ทีนี้ในอันดับต่อไป องค์สมเด็จพระทศพลทรงแนะนำให้ตั้งอยู่ใน จาคานุสสติกรรมฐาน คำว่า จาคานุสสติกรรมฐาน ก็ได้แก่การคิดจะบริจาคทรัพย์สิน หรือว่ากำลังกาย กำลังปัญญา ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนสาธารณชน

ทีนี้ศีลก็ดี การปฏิบัติในจาคานุสสติก็ดี ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้ทรงอยู่ได้จริงๆ ก็ต้องมีกรรมฐานควบคุม คือกรรมฐานที่มีอารมณ์ควบคุม มีอารมณ์คิดอยู่เสมอ นั่นก็คือ พรหมวิหาร ๔ พรหมวิหาร ๔ นี่เป็นหลักใหญ่ ถ้าพรหมวิหาร ๔ ไม่ทรงตัว อารมณ์ไม่มั่นคงในพรหมวิหาร ๔ ก็รักษาศีลให้บริสุทธิ์ตลอดกาลตลอดสมัยไม่ได้ เพราะว่าพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาเขา พลอยยินดีเมื่อบุคคลอื่นได้ดี อุเบกขา ทรงอารมณ์วางเฉย ในเมื่อกฏของกรรมเข้ามาถึงตัว หรือว่าไม่ซ้ำเติมบุคคลผู้เพลี่ยงพล้ำมีความทุกข์ ให้ได้รับความทุกข์ยิ่งขึ้นไป

ทีนี้พระมหาบพิตรจะทรงเห็นได้ว่า พรหมวิหาร ๔ เป็นหลักใหญ่ในการทรงศีล และจาคานุสสติกรรมฐาน อยู่ๆ จะมาคิดว่าเราจะให้คนนั้น จะแจกคนนี้ จะทำประโยชน์กับคนนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีกำลังใจเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหาร ๔ ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมตตา กรุณา มุทิตา ๓ ประการ และอุเบกขาก็มีความสำคัญ

เพราะว่าจาคานุสสติกรรมฐานในข้อนี้ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงแนะนำให้ ให้ๆหมด คำว่าหมด ไม่ใช่หมายถึงว่าหมดของ คือไม่เลือกบุคคลผู้ให้ หวังใจให้เป็นประโยชน์ บุคคลนั้นจะเป็นญาติหรือไม่ใช่ญาติ จะเป็นพวกหรือไม่ใช่พวกก็ตาม ถ้าเขามีความทุกข์ พอจะแบ่งปันให้มีความสุขให้ เราก็ต้องการสงเคราะห์ เต็มใจให้ ให้ด้วยความเต็มใจ หวังในการเกื้อกูลจริงๆ ไม่หวังผลตอบแทน

ตามที่พระมหาบพิตรทรงวินิจฉัยมา ว่าเพียงแค่จาคะตัวเดียว สามารถไปนิพพานได้ ข้อนี้อาตมารับรอง ว่าคนถ้าไม่มีจาคะ จะไปสวรรค์ก็ไม่ได้ จะไปพรหมโลกก็ไปไม่ได้ แล้วจะไปนิพพานได้อย่างไร แต่ถ้าจะกล่าวกันไปว่า คนปราศจากจาคะเสียอย่างเดียว จะเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังเกิดไม่ได้ เพราะว่าไม่มีการเสียสละในการเห็นแก่ตัว ถ้ายังเห็นแก่ตัวเพียงใด บุคคลนั้นไม่สามารถจะกลับมาเกิดได้แม้แต่เป็นมนุษย์

ถ้ามี จาคะ เสียสละ อันนี้คำว่า เสีย ยังมีอยู่ ตามที่ทรงวินิจฉัยไว้ อันนี้ถือว่ากำลังใจยังต่ำ ยังมีจิตดึง เท่าที่ทรงวินิจฉัยไว้นั้น ตรงตามความเป็นจริงทุกประการ

และข้อต่อไปตัดคำว่า เสีย ออกไป เหลือแต่สละ ที่ทรงวิจารณ์มา ที่ทรงเห็นว่าข้อนี้ก็ยังไม่ดีแท้ ถ้าใช้คำว่าตัดคำว่าเสียออก ใช้คำว่า สละ อย่างนี้เป็นเทวดาได้ เป็นพรหมได้

ถ้ายังใช้คำว่า เสียสละ เห็นจะเกิดได้แค่มนุษย์เท่านั้น ถ้าตัดตัด ส ออก เหลือแต่ตัว ละ ตัวเดียว คำว่า ละ ตัวนี้กินความหมายหมด คือ ว่าละกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ไม่มีการผูกพันใดๆ ในโลกีย์วิสัย กำลังใจของทุกคนถ้าทำได้อย่างนี้ ไปนิพพานได้ในชาติปัจจุบันทั้งหมด

อันดับแรกก็ละเล็ก คือละวัตถุ ต่อไปก็ละกำลังใจในด้านความชั่ว แล้วก็มาสร้างสมความดีในด้านโลกีย์วิสัย หรือกามาวจร ต่อไปก็ละความกระสับกระส่ายอารมณ์ของจิต จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ฌาน เป็นพรหมได้ เมื่อทรงความเป็นฌานได้ ก็ละต่อไป คือละสังโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

สักกายทิฏฐิ การเห็นว่าอัตภาพร่างกายเป็นเราเป็นของเราก็ดี ข้อนี้ตามบาลีเรียกว่าขันธ์ ๕
ละความสงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ละอารมณ์ที่เข้ามาทำลายศีล
ละอารมณ์ที่มีความพอใจในกามารมณ์
ละความโกรธความพยาบาท อารมณ์ที่เข้ามากระทบกระทั่งจิตให้ไม่พอใจ
ละความยึดมั่นถือมั่นในรูปฌานและอรูปฌาน ถือว่ารูปฌานและอรูปฌาน เป็นบันไดก้าวเข้าไปสู่พระนิพพานเท่านั้น ไม่ใช่ดีแค่นั้น
ละความถือตัวถือตน
ละอารมณ์ฟุ้งซ่าน
ละฉันทะกับราคะที่เห็นว่าโลกมนุษย์ เทวโลก พรหมโลก เป็นของดี
มีความต้องการอย่างเดียว คือความบริสุทธิ์ของจิตเพื่อพระนิพพาน

ทีนี้คำว่า ละ ที่มหาบพิตร พระราชสมภารทรงวินิจฉัยมา เป็นประโยชน์แก่บรรดาท่านพุทธบริษัทมาก อาตมาจึงได้ขอพระราชทานนำถ้อยคำทั้งหลายเหล่านี้ ไปสอนบรรดาท่านพุทธบริษัทให้เป็นประโยชน์ต่อไป และพระมหาบพิตรก็ทรงอนุญาตแล้ว อันนี้ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ ที่อาตมาก็ต้องจดและก็จำไว้ ว่าเป็นประโยชน์กับบรรดาท่านพุทธบริษัทและเป็นประโยชน์กับอาตมามาก

นี่เป็นอันว่า จาคะจะทรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยพรหมวิหาร ๔ พรหมวิหาร ๔ คุมศีล คุมจาคะ

 

และต่อมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ ให้ปฏิบัติพิจารณาใคร่ครวญและปฏิบัติในเทวดานุสสติกรรมฐาน ในเทวดานุสสตินี้มีธรรมอยู่ ๒ ประการคือ หิริ และ โอตตัปปะ

หิริ อายเสมอเป็นคนขี้อาย อายความชั่ว เกรงว่าความชั่วจะเห็นตัวเข้า คอยหลบความชั่วอยู่ตลอดเวลา ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ไม่ยอมให้ความชั่วเห็นหน้า หนีให้ไกลแสนไกล หลบไว้เสมอ ไม่ยอมสู้หน้ากับความชั่ว เพราะความอาย

ประการที่สอง โอตตัปปะ มีความหวาดหวั่นครั่นคร้ามเกรงอันตรายที่จะเกิดจากความชั่ว หลบอยู่เสมอ หนีเสมอ ไม่ยอมให้ความชั่วเข้ามาถึงตัว เพราะกลัวมาก นี่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแนะนำบุคคลที่มีศรัทธาจริต จิตคิดเชื่ออยู่เสมอ ปกติชอบใจในการเชื่ออยู่แล้ว ไหนๆ ก็เชื่อแล้ว ก็ให้เชื่อในด้านความดี

 

ทีนี้ถ้าหากว่าท่านผู้ทรงศรัทธาจริต ยอมรับนับถือถ้อยคำ คำสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์ในข้อนี้ทั้งหมด ตามที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงแนะนำ ผลที่จะพึงได้มีอะไรบ้าง ควรที่จะพิจารณา ถ้าจะกล่าวว่าบุคคลนี้เป็นสาธุชน คนดี ก็ใช้ได้ ถ้ากำลังใจต่ำ นี่อาตมาถือว่าคนนั้นเชื่อต่ำ ถ้าเชื่ออย่างกลางก็เรียกกันว่าเป็นกัลยาณชน แล้วก็เชื่ออย่างสูงก็เป็นพระโสดาบัน

ที่เชื่ออย่างต่ำ ก็เชื่อตามเขาว่า ถ้าจะทำอะไร ไม่ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ยอมรักษาศีล ไม่ยอมให้ทาน ไม่ยอมเกรงกลัวความชั่ว อายความชั่ว เพราะเกรงว่าชาวบ้านเขาจะว่าเอา เพราะอยู่ในกลุ่มของเขา เขาทำอย่างนั้น เราก็จำจะต้องทำตาม เรียกว่าทำเหมือนกัน แต่ว่าไม่เต็มใจนัก กำลังใจไม่เต็มเปี่ยม อย่างนี้เรียกว่าเป็น สาธุชน เป็นคนพอมีความดีอยู่บ้าง ที่สามารถเอาตัวรอดไม่ลงนรก

ถ้าเชื่ออย่างกัลยาณชน ขั้นกลาง เชื่อในขั้นปานกลาง ดีขึ้นมาหน่อย ทำใจให้ทรงตัวอยู่ด้วยอำนาจพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ทรงศีลเป็นอารมณ์ มีจาคะเป็นปกติ มีหิริโอตตัปปะเป็นประจำ แต่กำลังใจยังเข้มข้นน้อย มีความมั่นเหมือนกัน แต่ยังไม่มั่นถึงที่สุด อย่างนี้เป็น กัลยาณชน สามารถจะเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกได้ แต่ว่าอย่างต่ำก็เกิดเป็นเทวดา อย่างดีเกิดเป็นพรหม

ถ้าอารมณ์นิยมจริงๆ ถือว่ากฎทั้ง ๖ ประการนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องถือเป็นสรณะ ตัวจะตายก็ยอมตาย ดีกว่าจะปล่อยให้สรณะทั้ง ๖ ประการนี้สลายตัวไป คำว่า สรณะ ถือเอาเป็นที่พึ่ง สรณะแปลว่าที่พึ่ง ต้องคิดไว้เสมอว่า

จะต้องยึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง จริยาใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงปฏิบัติมาแล้ว จะปฏิบัติจริยานั้นตามจริยาขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงก็ตาม จะพยายามทำที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ จะรักษาความดีนั้นไว้ด้วยชีวิต จะไม่ยอมคิดคลายความดีนั้นแม้ว่าตัวจะตาย

พระธรรมคำสั่งสอนใดๆ ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบอกว่าควรปฏิบัติ พร้อมที่จะปฏิบัติ และจะทรงทำความดีนี้ไว้ด้วยชีวิต และไม่คิดจะทำความชั่วที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ถึงแม้ว่า ใครจะบังคับว่าท่านจงดื่มสุรา ถ้าไม่ดื่มสุราเราจะฆ่าให้ตาย เราก็ยอมตายเสียดีกว่า ไม่ยอมดื่ม นี่เป็นประการที่สอง

ประการที่สาม ธรรมใดที่บรรดาพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย นี่อาตมาจำกัดลงไปในคำว่าพระอริยสงฆ์ ไม่ใช่ว่าพระสงฆ์ทั้งหลาย ความจริงคำว่า พระแปลว่าประเสริฐ แต่บางทีสงฆ์ท่านก็ไม่ประเสริฐนักก็มี ที่ปฏิบัติตัวปู้ยี่ปู้ยำ ไม่สมควรแก่ฐานะที่เป็นสมณะก็มีถมไป ฉะนั้น ขอพระมหาบพิตรจงทรงกำลังใจในส่วนของพระอริยสงฆ์เป็นสำคัญ ว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้นั้นพ้นจากทุกข์มาได้ ก็เพราะปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา คำแนะนำขององค์สมเด็จพระจอมไตร เว้นข้อที่ทรงห้าม ประพฤติตามในข้อที่ทรงแนะนำให้ทำตาม จะต้องปฏิบัติตามปฏิปทาของพระอริยสงฆ์อยู่ตลอดเวลา จะไม่ยอมคลายจากความดีอันนี้ แม้ตัวจะตายก็ตามที

มาอันดับที่สี่ ศีลห้าประการนี้จะทรงไว้ด้วยชีวิต จะไม่ยอมคิดทำลายศีล ถึงแม้ว่าตัวจะตาย ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด

ประการที่ห้า ที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถทรงแนะนำ ว่าจงบริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณะประโยชน์ การกระทำอย่างนี้เป็นปัจจัยที่ให้พ้นจากโทษคือความทุกข์ การบริจาคทรัพย์เป็นปัจจัยของความสุข คือจะมีมิตรเป็นที่รัก ทั้งๆที่เราไม่ต้องการให้เขารัก เขาก็รัก ไม่ต้องการให้เขายินดี เขาก็ยินดี ไม่ต้องการให้เขามาคุ้มภัยอันตราย เขาก็คุ้ม เพราะเขามีความรัก ถ้าลงรักเสียแล้วก็ไม่อยากจะจากกัน ไม่ต้องการให้คนรักมีความทุกข์ ต้องการส่งเสริมความรักให้มีความสุข

จาคะ จาคานุสสติ ถือว่าเป็นตัวสำคัญตัวหนึ่ง ที่ทำจิตใจให้ชุ่มชื่น ทำให้มีความสุข เป็นการทำลายกิเลสตัวสำคัญ คือโลภะ สำหรับศีลเป็นการทำลายกิเลสตัวสำคัญ คือโทสะ เพราะมีอารมณ์มั่นคง เพราะศีลต้องมีเมตตาและกรุณาเป็นเบื้องหน้า คือเมตตาและกรุณาทั้งสองเป็นตัวนำ ถ้าไม่มีเมตตากรุณาทั้งสองประการ ศีลทรงอยู่ไม่ได้ ถ้ามีเมตตากรุณาทั้งสองประการประจำใจ โทสะก็ต้องถูกทำลาย คือมีกำลังต่ำลงไป เมื่อโทสะมีกำลังต่ำ ก็ไม่สามารถจะประหัตประหารใครได้ ความโหดร้ายของจิตไม่มี เป็นอันว่าจาคะก็ดี ศีลก็ดี จะรักษาด้วยชีวิต

และข้อสุดท้าย องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ให้เจริญในเทวตานุสสติกรรมฐาน ข้อนี้ต้องรักษามั่นด้วยชีวิตเหมือนกัน ขึ้นชื่อว่าความชั่ว เราจะเป็นคนอายเสมอ คนขี้อาย อายชั่ว หลบหน้าความชั่วอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าใครจะบังคับคิดว่าจะเข่นจะฆ่า จะบังคับ ถ้าไม่ปฏิบัติความชั่วจะฆ่าให้ตาย ก็ยอมตายดีกว่า ยังไงๆ ก็ไม่ยอมสบตากับความชั่ว ไม่ยอมคบหาสมาคม แล้วก็ทำตนเป็นคนขี้ขลาดหวาดหวั่นต่อความชั่ว กลัวความชั่วจะเข้ามาถึงตัว เขาจะทำอันตราย

 

นี่ถ้ากำลังใจของบุคคลทั้งหลายทรงอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน องค์สมเด็จพระพิชิตมารกล่าวว่า ท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน หรือว่าพระสกิทาคามี การที่อาตมาถวายพระพรมาอย่างนี้ ก็ถือหลักที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรัสว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ คืออธิศีลสิกขา สำหรับพระอนาคามีเป็นผู้มีอธิจิตสิกขา คือทรงฌานยิ่ง ตอนนี้ต้องใช้กำลังสูง กำลังฌาน เพราะต้องประหัตประหาร กามราคะ กามฉันทะ กับ ปฏิฆะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ให้พินาศไปจากจิต

ในตอนนี้ก็ขอวนอยู่แค่พระโสดากับพระสกิทาคามี ถ้าพิจารณาให้ดี ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส ตามสังโยชน์ว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีละสังโยชน์ ๓ นั่นก็คือ สักกายทิฏฐิ พิจารณาทราบอยู่เสมอว่า สภาพร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา แต่ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า พระโสดาบันกับสกิทาคามี มีสมาธิเล็กน้อย และมีปัญญาเล็กน้อยยังไม่มากนัก เป็นของเบาๆ

ฉะนั้น การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า พระโสดาบันกับสกิทาคามี ตัดสักกายทิฏฐิ ตัวนี้ก็เพียงเบาๆ คือ มีความรู้สึกอยู่เสมอไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าสักวันหนึ่งข้างหน้าเราต้องตาย และการตายนี้ไม่มีเวลาเที่ยงแท้แน่นอน อาจจะตายเดี๋ยวนี้ อาจจะตายวันนี้ อาจจะตายวันหน้า ตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายตอนค่ำ ตอนกลางคืน ตอนดึก จะตายด้วยอาการปกติ หรือจะตายด้วยอาการอุบัติเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตายได้ทั้งหมด เป็นอันว่า ท่านที่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระบรมสุคต คิดในข้อนี้ สำหรับพระโสดาบัน คือไม่เผลอจากความตาย

ตัวอย่างที่พึงถือเอาง่ายๆ ก็ได้แก่ เปสการีธิดา ซึ่งเป็นลูกสาวของนายช่างหูก เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง ขอเธอทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต จงประกอบกิจความดีไว้เสมอ นี่เธอคิดอย่างนี้เป็นปกติว่าถึงความตาย แล้วต่อมาเธอก็เป็นพระโสดาบัน

เป็นอันว่าพระโสดาบันตัดสักกายทิฏฐิได้แบบเบาๆ โดยคิดถึงความตายเป็นเบื้องต้น มีความไม่ประมาทในชีวิต โดยไม่ได้คิดว่าชีวิตจะอยู่ยืนยาวนานแสนนาน เชื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารในตอนนี้

และสังโยชน์ข้อที่สอง ท่านกล่าวว่า พระโสดาบันไม่สงสัยในคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสั่งหมายถึงข้อควรเว้น คำสอนหมายถึงสิ่งที่ให้ปฏิบัติตาม แนะนำให้ปฏิบัติ ว่าเป็นความดี

สังโยชน์ข้อที่สาม องค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสว่า พระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์

นี่ถ้าจะกล่าวโดยสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการ ก็จะเห็นว่า พระโสดาบันไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าตนจะต้องตาย มีความเคารพในองค์สมเด็จพระจอมไตร คือ เชื่อฟังอยู่เสมอ ไม่สงสัยในคำสอน รักษาศีลด้วยบริสุทธิ์ด้วยชีวิต และก็ถ้าสำหรับบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาจริต ทรงคุณธรรมทั้ง ๖ ประการด้วยชีวิต ถ้าจะไม่กล่าวว่าเป็นพระโสดาบัน จะกล่าวว่าอย่างไร

นี่ถ้าจะมองไปอีกจุดหนึ่งที่กล่าวว่า องค์ของพระโสดาบันที่กล่าวไว้แล้ว เป็นสังโยชน์ที่จะพึงละ เมื่อละแล้ว อารมณ์จะต้องทรงอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง ทีนี้จุดที่พระโสดาบันทรงอยู่ นั่นก็คือ องค์ของพระโสดาบัน
๑.มีความเคารพในพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง
๒.มีความเคารพในพระธรรม
๓.มีความเคารพในพระสงฆ์
รวมความว่าสรณะทั้ง ๓ ประการนี้มีความมั่นคงจริงๆ และ
๔.มีศีล ๕ บริสุทธิ์

นี่พระโสดาบันทรงคุณธรรมจริงๆ เพียงแค่ ๔ ประการ ถ้าจะกล่าวกันไปอีกที ก็ดูเหมือนว่าหญ้าปากคอก เป็นของที่เรามองกันเห็นอยู่เสมอ เป็นของที่ประสบพบเห็นอยู่ง่ายๆ ไม่ใช่มีอะไรเป็นของยาก ไม่ไกลนักและก็ไม่ใกล้นัก เป็นอันว่า ตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัส ว่าพระโสดาบันมั่นคงในพระพุทธ มั่นคงในพระธรรม มั่นคงในพระสงฆ์ มีศีล ๕ บริสุทธิ์ อันนี้จะพิจารณาได้จากพระสูตร

เช่น ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ ที่ฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บรรลุพระโสดาปัตติผล เพราะอาศัยท่านเป็นคนจน เป็นขอทาน เมื่อจิตใจเข้าถึงพระโสดาบัน ความชุ่มชื่นก็เกิด ความปลื้มปิติปรากฏล้นพ้น คิดว่าถ้าองค์สมเด็จพระทศพลทรงทราบว่าเราเป็นพระโสดาบัน พระองค์คงจะดีใจมาก ในตอนเช้าจึงตั้งใจจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ความปรารถนาจะกราบทูลให้ทรงทราบว่า บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว

ในขณะเดียวกันพระอินทร์ก็มาทดลองสุปปพุทธะ ผู้มีใจเป็นแก้วว่า สุปปพุทธะเธอเป็นคนจน แล้วก็เป็นโรคเรื้อน เธอจงกล่าววาจาอย่างนี้ตามคำเราว่า ไม่ตั้งใจก็ไม่เป็นไร ถ้ากล่าวแล้ว เราจะบันดาลให้ท่านหายจากความเป็นโรคเรื้อน แล้วจะบันดาลทรัพย์สินมาให้เป็นมหาเศรษฐี วาจาให้กล่าวตามนี้ คือว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ กล่าวอย่างนี้ ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม กล่าวเล่นๆ ก็ได้

ท่านสุปปพุทธะ ชี้หน้าพระอินทร์หาว่า พระอินทร์ถ่อย ท่านมาหาว่าเราเป็นคนยากจนเข็ญใจ เราจนก็จริงแหล่ แต่ทว่าเป็นการจนโลกียทรัพย์ สำหรับอริยทรัพย์ของเรามีมากมาย ท่านกล่าววาจาเช่นนั้น เรากล่าวไม่ได้ ท่านจงหลีกไปให้พ้น

นี่จะเห็นว่ากระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระทศพล ทรงรับรองว่า คนที่เป็นพระโสดาบันนั้น มีความมั่นในคุณพระพุทธเจ้า ในคุณพระธรรม และคุณของพระสงฆ์ และจิตตั้งตรงลงเฉพาะในศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่ยอมขาดสาย

อันนี้อาตมาก็ขอถวายพระพร ว่าสำหรับท่านผู้ใดที่มีอารมณ์ใจหนักไปในทางศรัทธาจริต ก็ขอให้ท่านทั้งหมดปฏิบัติ ตามคติที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ ในพระกรรมฐานทั้ง ๖ อย่างเป็นอารมณ์คิด ไม่ใช่อารมณ์ภาวนา เป็นอารมณ์ใคร่ครวญ ไม่ใช่ไปนั่งภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ สีโล จาโค เทวตา ไม่ใช่ทำอย่างงั้น ใช้อารมณ์คิด ให้อารมณ์จับเข้าถึงจุดจริงๆ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงปฏิบัติได้แบบนี้จริงๆ ด้วยความทรงตัว ท่านเป็นพระโสดาบันตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส ไม่ใช่อาตมาพยากรณ์

เอาละสำหรับในด้านของศรัทธาจริต ที่สมเด็จพระมหาบพิตร ทรงมีความประสงค์ให้อาตมาบันทึกให้ถวาย เวลานี้มองนาฬิกาเห็นว่าเทปจะหมดแล้ว ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

จริต ๖ ชุดทูลถวาย    ราคะจริต      โทสะจริต     วิตกจริต-โมหะจริต     ศรัทธาจริต     พุทธจริต    เสียงธรรม

เรื่องนี้ถูกเขียนใน จริต ๖ และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

หนึ่งความเห็นตอบกลับที่ ศรัทธาจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย

  1. สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ความเห็นถูกปิด