ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน
ฌานนี่แบ่งออกเป็น ๔ คือ ปฐมฌานมีองค์ห้า คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์สาม คือ ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๓ มีองค์สอง คือ สุขกับเอกัคคตา สำหรับฌาน ๔ มีองค์สอง คือ มีเอกัคคตากับอุเบกขา
ที่พูดมานี้ เพื่อประสงค์ที่ให้ท่านทั้งหลายทราบว่า อาการของฌานมันเกิดขึ้นจะมีความรู้สึกเป็นยังไง แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ นักปฏิบัติถ้าจะปฏิบัติกันให้ดีล่ะก็ จงอย่าสนใจว่าเวลานี้มันจะได้ฌานอะไร จะเข้าถึงฌานหรือจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จะเป็นฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ช่าง ไม่สนใจ
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย และบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย วันนี้ ก็จะขอพูดเรื่องอานาปานุสสติกรรมฐาน ส่วนที่แล้วมานั้นได้พูดถึง ด้านขณิกสมาธิ กับ อุปจารสมาธิ สำหรับวันนี้จะได้พูดถึง อารมณ์ของฌาน
การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน อารมณ์เข้าสู่ความเป็นฌาน ความจริงก็เป็นเครื่องสังเกตไม่ยาก เมื่อผ่านอุปจารสมาธิมาแล้ว ตอนนี้จิตจะมีความสุข มีความเยือกเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฌานนี่แบ่งออกเป็น ๔ อย่าง คือ
อารมณ์ปฐมฌาน
ปฐมฌานนี่มีองค์ ๕ คือ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาคำว่า วิตก ก็ได้แก่ อารมณ์นึกที่เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก
วิจาร ก็ได้แก่ การรู้ว่าเวลานี้เราหายใจเข้าหรือว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น หรือว่าจะพูดกันถึงในกรรมฐาน ๔๐ เราก็จะมีอารมณ์รู้ว่าเวลานี้ลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ สำหรับลมหายใจเข้า ถ้าสำหรับลมหายใจออก ก็จะกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือว่าริมฝีปาก อย่างนี้เป็นอาการของวิจาร จำไว้ให้ดีด้วย
และก็
ปีติ เป็นความเอิบอิ่มใจ ตามที่กล่าวมาแล้ว มีความชุ่มชื่น มีความเบิกบาน ไม่มีความอิ่ม ไม่มีความเบื่อ ในการเจริญพระกรรมฐาน สามารถจะรวบรวมกำลังสมาธิเมื่อไหร่ก็ได้สุข ก็ได้แก่ ความสุขเยือกเย็น ที่หาความสุขเปรียบเทียบใดๆ ไม่ได้ และมีความเอิบอิ่มใจมาก
เอกัคคตา มีอารมณ์เดียว หมายความว่า ในขณะนั้นจิตจะจับเฉพาะอารมณ์ลมหายใจเข้าออกอยู่ตามปรกติ จิตจะไม่รับอารมณ์ส่วนอื่น
อันนี้เป็นอาการของที่เราจะทราบได้ตามจริยา คือ อาการของปฐมฌาน มีองค์ ๕
แต่ทว่าจะพูดถึงความรู้สึก ขณะที่จิตของเราเข้าถึงปฐมฌาน จิตจะจับลมหายใจเข้าออก ลมหายใจจะเบา มีความสุขสดชื่น หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส แต่ทว่าไม่รำคาญในเสียง
จะเป็นเสียงดังจะเป็นเสียงเบา เสียงเพลง เสียงทะเลาะกัน เอะอะโวยวายของขี้เมา ขี้เหล้าเมายาก็ตาม เราไม่รำคาญในเสียง สามารถจะคุมอารมณ์ได้ตามปรกติ อย่างนี้เรียกว่า ปฐมฌาน
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังจิตสำหรับผู้ฝึกที่จะเข้าปฐมฌานนั้น ก็มีความสำคัญอยู่จุดหนึ่ง คือ ขณะที่จิตก้าวเข้าไปสู่ปฐมฌานเบื้องแรก กำลังของจิตยังไม่มั่นคง
ตอนนี้เวลาที่เราจับลมหายใจเข้าออกจะมีอารมณ์สงัด จะมีสภาพนิ่งคล้ายๆ อาการเคลิ้ม บางทีเราคิดว่าเราหลับแต่ความจริงไม่หลับ ถ้าหลับมันจะโงกหน้าโงกหลัง
อาการเช่นนั้นที่เกิดขึ้นกับเรา มีอาการเฉยๆ ตัวตั้งตรง แต่ว่ามีอาการเคลิ้มลืมตัวเหมือนหลับ สักครู่เดียวหรือประเดี๋ยวเดียว จะมีอาการหวิวคล้ายตกจากที่สูง และเราก็ไม่สามารถจะนำอารมณ์นั้นขึ้นมาใช้ได้อีก เพียงแค่รักษาอารมณ์สบาย
อาการอย่างนี้ ขอท่านทั้งหลายพึงทราบ ว่านั่นสมาธิจิตของท่าน ขณะที่มีอารมณ์สบายเงียบสงัด มีอาการคล้ายเคลิ้มเหมือนหลับ เป็นอาการจิตหยาบของอารมณ์หยาบของปฐมฌาน เป็นการก้าวขึ้นสู่ปฐมฌานแบบหยาบๆ
แต่ทว่าจิตไม่สามารถจะทรงฌานอยู่ได้ จิตพลัดจากฌาน จะมีอาการหวิวคล้ายกับตกจากที่สูง ถ้ามีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ก็จงอย่าสนใจ มันจะเป็นยังไงก็ช่าง เราก็รักษาอารมณ์ปรกติไว้ ได้เท่าไหร่พอใจเท่านั้น
มาเข้าถึงตอนทุติยฌาน คือ ฌานที่ ๒
ฌานที่ ๒ นี่มีองค์ ๓ คือ ตัด วิตก วิจารเสียได้ เหลือ ปีติ สุข เอกัคคตาในตอนนี้จะรู้สึกว่าจิตเข้าไปจับลมหายใจเข้าลมหายใจออกจะวางไว้ คือจิตจะไม่สนใจ ลมหายใจจะเบาลง มีแต่ความสดชื่นหรรษา มีความนิ่งสนิท
ถ้าหากว่าเราจะสังเกตให้ง่าย นั่นก็คือถ้าเราภาวนาไปด้วย สมมติว่าเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้าเรานึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ อันนี้จะสังเกตง่าย ในขณะที่เข้าฌานที่ ๒ ในขณะจิตเข้าถึงฌานที่ ๒ คำภาวนาจะหายไป จิตจะตั้งอารมณ์ทรง มีความเอิบอิ่ม มีอารมณ์สบาย มีอารมณ์ละเอียด สงัด มีอารมณ์สงัดมาก
แต่พอจิตเคลื่อนจากฌานที่ ๒ ลงมาสู่อุปจารสมาธิ จะมีความรู้สึกว่า โอหนอ นี่เราลืมไปเสียแล้วหรือ หรือว่าเราเผลอไปแล้ว นี่เราไม่ได้ภาวนาเลย การกำหนดรู้จับลมหายใจเข้าออกเราก็ไม่ได้ทำ ตายจริงนี่เราเผลอไป แต่ความจริง นั่นไม่ใช่อาการของความเผลอ เป็นอาการของจิตที่ทรงสมาธิสูงขึ้น ขอท่านทั้งหลายพึงเข้าใจตามนี้
สำหรับอาการของฌานที่ ๓ นั้น มีองค์ ๒ คือ เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ตัดปีติหายไป
อาการของฌานที่ ๓ นี่ที่เราจะสังเกตได้ง่าย ความชุ่มชื่นสดชื่นหายไปของจิต จิตมีความสุข และก็มีจิตทรงตัวมากในอารมณ์ที่ตั้งไว้ ดีกว่าฌานที่ ๒
แล้วทางร่างกายจะสังเกตว่า มีอาการคล้ายๆ กับนั่งหรือยืนตรงเป๋งเหมือนอะไรมาผูกเข้าไว้ สำหรับลมหายใจจะรู้สึกว่าเบาลงไปมากเกือบไม่มีความรู้สึก หูได้ยินเสียงภายนอกเบาๆ ถึงแม้ว่าเสียงนั้นจะดัง แต่ก็เสียงที่เราได้ยินเบามาก อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๓
เมื่อเข้าถึงฌานที่ ๔ จะมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้หายใจ แต่ทว่ากำลังใจไม่มืด มีความสว่างโปร่งทรงอารมณ์อยู่ตามปรกติ มีอารมณ์เด็ดเดี่ยวตั้งมั่น คือมีความมั่นคงมาก ไม่รู้การสัมผัสจากภายนอก ยุงจะกิน ริ้นจะกัด เสียงจะมาจากทางไหนไม่รู้หมด ปรากฎว่ามีจิตนิ่งเฉยๆ
สำหรับฌาน ๔ นี้มีองค์ ๒ คือ มีเอกัคคตากับอุเบกขา
เอกัคคตา หมายความว่า ทรงอารมณ์เป็นหนึ่ง อารมณ์ไม่เคลื่อน อุเบกขาหมายถึงว่า เฉยไม่รับสัมผัสอารมณ์ใดๆ ทั้งหมด
ที่พูดมานี้ เพื่อประสงค์ที่ให้ท่านทั้งหลายทราบว่า อาการของฌานมันเกิดขึ้นจะมีความรู้สึกเป็นยังไง แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ นักปฏิบัติถ้าจะปฏิบัติกันให้ดีล่ะก็ จงอย่าสนใจว่าเวลานี้มันจะได้ฌานอะไร จะเข้าถึงฌานหรือจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จะเป็นฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ช่าง ไม่สนใจ
นี่เราพูดกันถึงว่าในแง่ของการปฏิบัติที่เอาดีกัน ถือว่าวันนี้ได้ดีเพียงใด พอใจเท่านั้น เราทำตามอารมณ์สบายของเรา มันได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น เมื่อวานนี้ดีกว่าวันนี้ วันนี้เลวกว่าเมื่อวานนี้หน่อยก็่ช่าง คิดว่าเราเป็นผู้สะสมความดี จะทรงอารมณ์จิตให้อยู่ในด้านของสมาธิตามความพอใจที่เราต้องการเท่านี้พอ
ถ้าจิตตั้งอยู่อย่างนี้ อารมณ์จะเป็นสุข ไม่มีอาการดิ้นรน จงอย่าสนใจกับภาพที่เห็น จงอย่าสนใจกับอารมณ์ของจิต ว่าเมื่อวันก่อนนี้มันเลวกว่าวันนี้ หรือว่าวันนี้ดีกว่าวันก่อน ถ้าไปสนใจอย่างนั้น จิตจะไม่ทรงตัว จะหาอารมณ์ที่แนบสนิทไม่ได้
ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายพึงตั้งใจไว้โดยเฉพาะ เพื่อผลของความดี นั่นก็คือเวลาที่เจริญสมาธิจิต จะด้านอานาปานุสสติก็ตาม กรรมฐานกองอื่นใดก็ตาม จงทราบว่า เวลานี้จะตกอยู่ในสภาพของฌานอะไรก็ช่าง อย่าไปตั้งหน้าตั้งตาว่าเราต้องการได้ฌานนั้น เราต้องการทรงฌานนี้ มันจะเกิดอารมณ์กลุ้ม
ถ้าอารมณ์กลุ้มเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ตัดความดีทั้งหมด ผลที่สุด วันนั้นเราจะไม่ได้อะไรเลย เป็นอันว่าขณะใดที่ทำไปขณะนั้นเรามีความพอใจ ได้แค่ขณิกสมาธิคือสมาธิเล็กน้อยเราก็พอใจ ได้ถึงอุปจารสมาธิเราก็พอใจ จิตตกอยู่ในฌานใดฌานหนึ่งเราก็พอใจ พอใจเสียทั้งหมด
ถ้าทำจิตอย่างนี้ อารมณ์จิตจะสบาย ก็ได้แก่การฝึกจิตเข้าถึงอุเบกขารมณ์นั่นเอง เมื่อการฝึกจิตแบบนี้แล้ว ต่อไปจิตจะเป็นเอกัคคตารมณ์และอุเบกขาคือจิตจะทรงฌาน ๔ ได้ง่าย
ตอนนี้มาก็ขอพูดกันถึงหลักแห่งการปฏิบัติ การปฏิบัติที่จะให้ผลกันจริงๆ ผมเคยพูดมาแล้วในตอนก่อนว่าจงใช้เวลาจุกจิกๆ ของเราเป็นเครื่องการกระทำสมาธิ
อย่างที่พูดมาวันวานนี้ว่า เวลาทำการทำงานก็ดี ใช้งานเป็นสมาธิ เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ จะทำอะไรก็ตาม อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก พยายามนึกถึงลมหายใจเข้าหายใจออกไว้เสมอ
แต่ว่าถ้างานนั้นไม่เหมาะสมแก่การใช้ลมหายใจเข้าหายใจออก เราก็ใช้จิตจับอยู่ที่งาน ว่าเวลานี้เราทำอะไร เราดายหญ้ารึ เราก็เอาใจจับไว้เฉพาะเวลาที่เราดายหญ้า มือเราถือจอบ จอบเราฟันดิน หรือเราถากหญ้า จะถากตรงไหน ตั้งใจไว้โดยเฉพาะ อย่างนี้ก็เป็นอาการฝึกอารมณ์ของสมาธิไปในตัว
เราจะทาสี เราจะตอกตะปู เราจะเลื่อยไม้ เราจะโบกปูน เราจะทำอะไรทุกอย่าง ตั้งใจทำในกิจนั้นโดยเฉพาะ เอาจิตจับไว้โดยเฉพาะในเรื่องนั้น อย่างนี้เป็นการทรงสมาธิ ทำสมาธิให้ทรงตัวไปในตัว เป็นการฝึกในงาน
สำหรับวันนี้ยังไม่พูดถึงด้านวิปัสสนาญาณ ก็จะพูดในวงแคบๆ ของสมาธิเท่านั้น มีอีกวิธีหนึ่งที่เคยฝึกกันมา ผมก็ดี เพื่อนของผมก็ดี หลายๆ ท่านก็ดี เขาใช้วิธีฝึกต่อสู้กันแบบนี้
หนึ่ง ซ้อมการต่อสู้กับความเหนื่อย เราเหนื่อยมาก็ดี เราร้อนมาก็ดี เดินทางไกลมาเหนื่อยๆ และกำลังร้อนจัด สมัยโน้นมันไม่มีรถไม่มีเรือ มันหายาก จะไปมาติกาบังสุกุล จะไปไหนกันทีก็ใช้การเดิน
เดินมาร้อนๆ และก็เหนื่อยจัด พอมาถึงที่ เปลื้องผ้าออก ถ้าไม่ร้อนไม่เป็นไร เข้าห้อง ในขณะเดียวกันนั่นเอง เราก็อยู่ในห้องของเราโดยเฉพาะ ไม่ยอมให้เหงื่อแห้ง ไม่ยอมคลายความเหนื่อย นั่งปับหรือว่านอนลงจิตจับสมาธิทันที จับลมหายใจเข้าหายใจออกว่าจิตมันจะทรงตัวมั้ย ถ้าจิตยังไม่ทรงตัวดีเพียงใด เราจะไม่เลิก แต่ว่าอาการอย่างนี้ท่านทั้งหลาย มันเป็นการระงับความเหนื่อย คือดับความร้อน ดับความเหนื่อยไปในตัว
เมื่อจิตเข้าถึงสมาธิเล็กน้อย คือขณิกสมาธิ ความเหนื่อยมันก็คลาย พอจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ มีปีติเป็นอารมณ์ ตอนนี้เองมันจะหายเหนื่อยทันที ความร้อนความกลุ้มมันจะหายไป และความเหนื่อยจากทางร่างกายมันก็จะไม่มี ต้องพยายามต่อสู้อย่างนี้นะครับ
การสำเร็จมรรคผลหรือได้ฌานสมาบัติ ไม่ใช่ได้มาจากป่า ส่วนใหญ่จริงๆ เขาได้ในที่มวลชนมากๆ และการเจริญสมาธิจากป่าในแดนสงัดที่ว่าได้ผลดีนั้นไม่จริง ถ้าหากว่าจิตยังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้าเพียงใด ท่านกลับเข้ามาหาหมู่ชนเมื่อไหร่ เมื่อนั้นมันเกิดการกลุ้มทันที ต้องมาฝึกกันใหม่
ถ้าหากว่าจะถามว่าทราบเรื่องนี้ได้ยังไง กระผมก็ต้องขอตอบว่าผมชนกับมันมาแล้วทุกอย่าง การอยู่ในป่าช้า การอยู่ในป่าชัฏ การอยู่ในถ้ำ ผมทำมาแล้วทุกอย่าง แต่ผลจริงๆ ที่ได้ทรงตัว ก็คือต้องเข้ามาต่อสู้กับกลุ่มคน
นั่นเราอยู่คนเดียวมีการสงบสงัด ไม่มีอะไรรบกวนใจ เราจะทรงอารมณ์อย่างใดก็ได้ เหมือนเราปักไม้ไว้ในที่สงัด ลมไม่พัด น้ำไม่ไหล ไม่มีใครไปจับเขย่า ไม้มันก็มีอาการทรงตัว ปักแน่นหรือไม่แน่นมันก็ทรงตัวอยู่ได้ ถ้าไปปักที่น้ำมันไหลเชี่ยว ลมพัดแรง มีคนเขย่า ถ้ามันไม่แน่นจริงๆ มันก็ทรงตัวไม่ไหว ข้อนี้มีอุปมาฉันใด จิตของเราก็เหมือนกัน ที่จะได้ดีกันจริงๆ ก็ต้องต่อสู้กับอารมณ์ที่เข้ามาขัดขวาง
อาการที่ต่อสู้กับความเหนื่อยและความร้อนนี่ ผมเคยทำแบบนี้นะ เคยทำแบบนี้ บางทีผมทำงานเหนื่อยๆ ดีไม่ดีกำลังเหนื่อยหอบแฮ่กๆ นั่นแหละ ผมหยุดพักนั่งพิงสันหลังพิงฝาปับจับอารมณ์สมาธิ จับเมื่อไรมันทรงตัวเมื่อนั้น อารมณ์สบายทันที
นี่ฝึกมันต้องฝึกแบบนี้ เวลาทำงานเหนื่อยๆ แต่ว่าเวลาที่จะนั่งทำแบบนั้นระวังนะ อย่าให้ใครเขาเห็น การนั่งสมาธิให้คนเห็น พระพุทธเจ้าท่านทรงปรับว่าเป็นอุปกิเลส มันจะมีการโอ้การอวดอยู่ในตัวเสร็จ ใช้ไม่ได้ ต้องใหัลับนั่งเฉยๆ สบายๆ ใครจะว่ายังไงก็ช่าง ประเดี๋ยวหนึ่งเราก็ลุกไปทำงานของเราใหม่
ประการที่สอง ต้องพยายามต่อสู้กับเสียง เวลานี้สะดวก ในการต่อสู้กับเสียงนี่ อย่าใช้เสียงให้มันดังนัก ชาวบ้านเขาจะรำคาญ
วิธีต่อสู้กับเสียงก็คือ ขณะที่เราพบกับเสียงที่เราไม่พอใจ เขาคุยกันเอะอะโวยวาย เราย่องเข้าไปใกล้ๆ ถ้ามันไม่มีที่ลับ เราก็เข้าไปใกล้ๆ ทำตามองเหม่อดูอะไรซะก็ช่าง เอาจิตจับลมหายใจเข้าหายใจออก ลองดูซิว่ามันรำคาญในเสียงมั้ย
ถ้าทำอย่างนั้นไม่สะดวก เวลานี้วิทยุของเรามี บันทึกเสียงของเรามี เวลาเราจะทำเปิดเบาๆ นะ อย่าไปให้คนข้างๆ เขารำคาญ เปิดวิทยุฟังเบาๆ มันจะเป็นเพลงละครอะไรก็ตาม ขณะเดียวกันนั้น เราก็ใช้อารมณ์กำหนดอานาปานุสสติกรรมฐานและภาวนาไปด้วยก็ได้ หูได้ยินเสียงเพลง เสียงพูดในวิทยุชัด แต่ว่าถ้าจิตของเราไม่รำคาญในเสียงนั้นอย่างนี้ใช้ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำไปๆ จนกระทั่งหูไม่ได้ยินเสียงเลยยิ่งดีใหญ่ นั่นเป็นอาการของฌาน ๔
เท่าที่เคยฝึกกันมา ผมเคยฝึก อันดับแรก ใช้แผ่นเสียงชุดหนึ่งให้เด็กเล่น เมื่อเด็กเล่น เด็กก็เอะอะโวยวายไปตามเรื่อง และใช้เสียงมันก็เปิดเสียงเพลงด้วย สมัยก่อนก็ใช้วิทยุขยายเสียงแผ่นเสียงแบบไขลาน ต่อมาแผ่นเสียงเดียวหรือสายเดียวเราสู้ได้ ก็ไปซื้อใหม่อีกเครื่องหนึ่ง เพลงไม่เหมือนกันให้เด็กอีกพวกหนึ่งเล่น มันก็เถียงกันมาเถียงกันไป ฝ่ายนี้เปิดเพลงอย่างนั้น ฝ่ายนั้นเปิดพลงอย่างโน้น เรานอนกลาง นอนจับลมหายใจเข้าออกภาวนาไปจนไม่รำคาญในเสียง ในที่สุดเสียงอันดังมันก็ดังแว่วน้อยลงมาทุกทีๆ จนกระทั่งถึงระดับไม่ได้ยินเสียงเลยนี่ใช้ได้
ต้องต่อสู้แบบนี้เสมอๆ จนกระทั่งมีอารมณ์ชิน อารมณ์ชินขึ้นมา เสียง ได้ยินเสียงที่เราไม่พอใจเมื่อไหร่ หรือว่าเราพอใจเมื่อไหร่ก็ตาม เราจะเข้าสมาธิได้ทันทีทันใด นี่ว่ากันถึงการฝึกจิตให้คล่องในการเข้าสมาธิ ถ้าทำได้อย่างนี้อารมณ์จิตจะทรงตัว พยายามทำ
จงอย่าคิดว่าทำไม่ได้ ไม่มีใครเขาทำได้มาตั้งแต่เกิด ทุกคนต้องมาฝึกกันเหมือนกัน จนถึงพระอรหันต์ทุกองค์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ฝึกกันมาแบบนี้ ค่อยทำค่อยไปทีละน้อยละน้อย ในที่สุดมันก็เข้าถึงจุดจบ ถ้าเราไม่ละความพยายาม ตอนนี้พูดเฉพาะอานาปานุสสติกรรมฐาน ดีไม่ดีเดี๋ยวก็เผลอเอาอะไรมาป้วนเปี้ยนเข้ามันจะยุ่งกันใหญ่
ที่นี้ต่อมาอีก เราก็พยายามฝึกระงับอารมณ์ที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คืออนิฏฐารมณ์
คำว่าอนิฏฐารมณ์ก็ได้แก่อารมณ์ที่เราไม่ชอบใจ อารมณ์ใดก็ตามที่มันจะเกิดขึ้นกับเราเป็นอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจเกิดขึ้น ตอนนี้เราต้องพยายามระงับด้วยกำลังของสมาธิ
คิดว่าใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เขาจะนินทาอย่างไรก็ช่างเขา มันเป็นปากของเขา และก็มันเป็นหน้าที่ของเขาที่เขาจะชมก็ได้ เขาจะด่าก็ได้ มันเป็นเรื่องของเขา
เวลาที่รับคำด่าหรือคำชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำด่า เราอย่าพึ่งไปโกรธ ใช้จิตพิจารณาเสียก่อนว่า ไอ้เรื่องที่เขาด่ามันจริงหรือไม่จริง ถ้าเป็นอาการที่ไม่ตรงความเป็นจริง เราก็ยิ้มได้ ว่าท่านผู้ด่านี่ไม่เห็นจะมีอาการน่าเลื่อมใสตรงไหน ด่าส่งเดชโดยไร้เหตุไร้ผล ไม่เหมาะกับฐานะที่เกิดมาเป็นคนของพระพุทธศาสนา แต่จงอย่าโกรธ จงยิ้มเสียว่าเราดีกว่าเขาเยอะ
แล้วต่อจากนั้นไปก็ใช้อารมณ์ใจเอาเสียใหม่ ถ้าพบอารมณ์ที่ทำให้เราไม่พอใจ เราก็ใช้อารมณ์จับอารมณ์ลมหายใจเข้าออกให้จิตมันทรงตัว จะด่าก็ช่างจะว่าก็ช่างนินทาก็ช่าง ช่างเขา เรารักษาอารมณ์ของเราให้มีความสุขใช้ได้ ถือว่าอารมณ์ความสุขเป็นปัจจัยให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานโดยง่าย
อันนี้เป็นอารมณ์แบบสบายๆ ที่เราสามารถจะทรงตัว จิตระงับอารมณ์ที่มากระทบที่เราไม่พอใจ ทีหลังก็มาพยายามหาทางระงับความอยากด้วยกำลังของฌาน
ความจริงกำลังของฌานนี่มันจะระงับกิเลสได้ทุกอย่าง โลภะ ความโลภ ราคะ ความรัก โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง มันระงับได้ทุกอย่าง แต่มีอารมณ์หนัก
เมื่ออารมณ์จิตของเรามีการทรงตัวจริงๆ อารมณ์แห่งความสุขมันจะยืนตัวกับจิตของเรา มันจะไม่หวั่นไหวในเมื่อเห็นคนหรือวัตถุที่มีความสวยสดงดงาม จะไม่เกิดอาการทะเยอทะยาน จากอาการที่ได้ลาภสักการะ จะไม่มีความหวั่นไหวในกำลังจิต แม้ขณะที่มีบุคคลเขายั่วให้โกรธ อาการอย่างนี้มันจะไม่มีในจิตของเรา และสิ่งที่เราจะยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรามันก็ไม่มี
ความจริงกำลังสมาธินี่สามารถจะกดกิเลสทุกตัวให้มันจมลงไปได้ แต่อย่าลืมว่ากิเลสมันไม่ตายเพราะมันถูกฝังไว้เท่านั้น แค่เราเผลอเมื่อไหร่มันก็โผล่มาเล่นงานเราเมื่อนั้น
สำหรับคนที่ทรงจิตถึงฌาน ๔ หรือทรงอารมณ์สมาธิถึงฌานใดฌานหนึ่ง จนกระทั่งมีอารมณ์ชิน มักจะมีอาการเผลอคิดว่าเราเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้ผมเองก็พบมา แม้แต่ตัวผมเองก็เหมือนกัน ตัวผมเองนี่บางครั้งในตอนที่กำลังฝึกผมคิดว่าเอ๊ะนี่เราเป็นพระอรหันต์เสียแล้วหรือเนี่ย มันไม่พอใจอะไรทั้งหมด รักมันก็ไม่เอาไหน โลภมันก็ไม่เอาไหน โกรธมันก็ไม่เอาไหน หลงอะไรมันก็ไม่มี
แต่ทว่าทำมาทำไป อารมณ์นานๆ เข้ากำลังใจตกลง ไอ้เจ้าตัวรักมันก็เริ่มโผล่นิดๆ เจ้าตัวโลภ เจ้าตัวโกรธ เจ้าตัวหลงมันก็มาหน่อยๆ ตอนนี้จึงรู้ตัวว่าโอ้หนอ นี่เราพลาดไปเสียแล้วที่คิดว่าตัวเป็นอรหันต์ เป็นแค่กำลังฌานโลกีย์เท่านั้น
แต่ความจริงแม้เราเป็นฌานโลกีย์ แต่สามารถจะระงับอาการเช่นนี้ได้ ก็ควรจะพอใจ เพราะว่ากิเลสสามารถจะกดมันให้จมลงไปได้ ไม่ช้าเราก็สามารถจะห้ำหั่นให้มันให้พินาศได้ด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ
เอาละบรรดาท่านทั้งหลาย มองดูเวลาเห็นว่าหมดเสียแล้วสำหรับวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ มีทั้งหมด ๑๘ ตอน
ตอนที่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน
ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ
ตอนที่ ๓ อุปจารสมาธิ
ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน
ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
ตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑)
ตอนที่ ๗ อารมณ์พระโสดาบัน (๒)
ตอนที่ ๘ พระสกิทาคามีมรรค
ตอนที่ ๙ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๑
ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒
ตอนที่ ๑๑ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๓
(รออ่านต่อ)
ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑
ตอนที่ ๑๓ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๒
ตอนที่ ๑๔ พระสกิทาคามีมรรค-โมหะ
ตอนที่ ๑๕ พระอนาคามีมรรค ๑
ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค ๒
ตอนที่ ๑๗ พระอรหัตตมรรค
ตอนที่ ๑๘ พระอรหัตตผล (ตอนจบ)